วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

ขออุบายให้ใจเลิกแอบรัก

ดังตฤณ : เวลาที่เราเจอใครสักคนหนึ่ง แล้วมีความรู้สึกกับคนๆนั้น

ราวกับว่า เขาเข้ามาในชีวิตเราแล้ว  

พูดง่ายๆ เจอใครแล้ว เขานี่เข้ามาอยู่ในใจแล้ว คือเข้ามาในชีวิตของเรา

ความรู้สึกแบบนี้ อย่างไรก็ห้ามไม่ได้ อย่างไรก็แกล้งให้เป็นอื่นไม่ได้

 

คน ชอบตั้งธงไว้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไร ไม่ควรจะรู้สึกอย่างไร

แค่นี้ ไม่ใช่สติแล้วนะ เป็นการปฏิเสธความรู้สึกตัวเอง

เป็นการที่เราได้เก็บกดไว้ นึกว่าดี นึกว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ควรจะให้เกิด

ความรู้สึกอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่เข้าที่ไม่เข้าทาง

ไปรักคนมีเจ้าของ หรือว่าไปมีความรู้สึก กับคนที่ไม่ควรจะรู้สึกอะไรอย่างนี้

 

จริงๆ แล้วนี่ ถ้าเอาตามหลักของนักเจริญสตินะ

คือต้องยอมรับ ว่ามันเกิดขึ้น

 

อย่างแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านสอน เวลาที่ท่านให้ดูจิต หรือจิตตานุปัสสนา  ท่านบอกว่า เวลาที่ราคะเกิดขึ้นในจิต ให้รู้ว่าราคะเกิด

แล้วพอมีสติ รู้ว่าราคะนี้เกิดขึ้นในจิตแล้ว เดี๋ยวราคะก็หายไป

ก็ให้รู้ต่อว่า นี่ราคะหายไปจากจิตแล้ว เหลือแต่จิตที่ไม่มีราคะ

แล้วเดี๋ยวราคะกลับเข้ามาใหม่ ก็ให้รู้ใหม่ ยอมรับใหม่

ยอมรับเป็นครั้งๆ ไป

 

อันนี้ เราก็ถอดความออกมาได้ว่า ราคะนั้น จะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม

ก็ยอมรับไปตามจริง อย่าไปอย่าไปมองแค่ว่า

ราคะนั้นไม่ดี ราคะนั้นสกปรก ราคะนั้นไม่ถูกต้องตามขนบของสังคม

หรือของมโนธรรมของเรา

 

ให้มองตามจริงว่า ราคะจะเกิดกับบุคคลไหนก็ตาม

ก็คือราคะ เกิดขึ้นในจิต

แล้วพอราคะนั้น ถูกรู้ด้วยสติ เดี๋ยวก็หายไป

พอหายไป เหลือแต่จิตที่ไม่มีราคะ เราก็รู้

 

ถามว่าเราควรจะไปตัดใจ ให้เกิดความดีความงามอะไรขึ้นมา

 

เรายังไม่ได้ทำผิดศีล เรายังไม่ได้ไปเกี่ยวพาราสี

เรายังไม่ได้ไปพยายามแสดงออก ด้วยพฤติกรรมทางกาย

ว่าฉันจะกอดเธอแล้ว ฉันจะหอมเธอแล้ว ฉันจะปล้ำเธอแล้ว

ไม่มีอะไรสักอย่างที่ผิดศีล ข้อสาม

 

ศึลข้อสามนี้จำไว้นะ ท่านไม่ให้พยายามแทะโลมด้วยวาจา

เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ใครมาเป็นของเรา ถ้าเขามีเจ้าของแล้ว

หรือไม่ควรวางแผนที่จะไปใช้กำลัง

เขาจะเต็มใจ ไม่เต็มใจไม่รู้ แต่ฉันจะใช้กำลัง

 

ถ้าเจตนาอย่างนี้ เรียกว่าด่างพร้อยแล้ว ต่อให้ยังไม่สำเร็จ

แล้วถ้าสำเร็จด้วยการที่มีเพศสัมพันธ์กับเขาได้ นั่นแหละถึงจะผิดศีล

 

สิ่งที่น่ากังวล จึงเป็นเรื่องของพฤติกรรมทางกาย และวาจา

ส่วนพฤติกรรมทางใจนะ อันดับแรกเลย

อย่าไปพยายามปฏิเสธ ว่าฉันไม่รัก

อย่าไปพยายามตัดใจว่า จงเลิกคิดเดี๋ยวนี้ จงเลิกรู้สึกเดี๋ยวนี้

อย่าไปพยายามทำแบบนั้น .. ทำไม่ได้

แล้วจะเก็บกด แล้วก็เกิดความขัดแย้งกับตัวเองแบบสูญเปล่า

ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลยนะ

 

สิ่งที่ควรทำก็คือ

ยอมรับว่าเกิดความคิด เกิดความพิศวาสขึ้นมา นั่นไม่ได้บาป

ตอนนั้นไม่ได้เกิดมลทินอะไรขึ้นมา กับเส้นทางกรรมของเราสักเท่าไหร่

แค่ไปพิศวาสคนที่ไม่ควรที่พิศวาสเท่านั้นเอง

 

ทีนี้พอเรามีสติแบบนั้นได้ ก็ทำให้สติเจริญขึ้นต่อ ด้วยการพิจารณาว่า

ราคะ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราจะยอมรับ

ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะผิดหรือถูก เราแค่รู้ เราแค่กรองไว้

เหลือแค่ราคะเกิดขึ้นในจิต จิตมีความตรึกนึก

จิตมีความอุ้มไว้ โอบไว้ เอาไว้ ก็รู้ไป

แล้วพอมีสติ เห็นว่าหน้าตาราคะที่เกิดขึ้นในจิต เป็นแบบนี้

มีความกลุ้มรุม มีความกระสับกระส่าย

มีความรู้สึกเหมือนกับดึงดูดเข้าหาตัว

มาทำให้เกิดปฏิกิริยาทางกาย ร่างกายเป็นอย่างไรก็ตาม

อย่างนั้น สะท้อนว่า ราคะยังมีอยู่ในจิต เราเเค่รับรู้ไป

 

แล้วพอสติของเรา เห็นชัดขึ้นๆ ว่า สภาวะทางกายก็เป็นได้แค่นี้

มีความกระสับกระส่าย มีความว้าวุ่น มีความรู้สึกเหมือนกับ อยากได้มา

แป๊บหนึ่ง ภาวะทางกายที่เกร็ง ก็คลายออก ก็แค่นั้น ก็จบแค่นั้น

ยังไม่ได้ไปต่อ ไม่มีเจตนาใช้ร่างกายนี่ ไปเอาร่างกายเขามา

 

แล้วภาวะทางใจที่ตรึกนึกอยู่ ถึงความน่าพิศวาส

ถึงอะไรที่น่าเอามาเป็นของตัว

ภาวะยื้อเข้ามา เกิดขึ้นนานกี่ลมหายใจแล้วเดี๋ยวก็ซาตัวไป

กลายเป็นความรู้สึกฟุ้งซ่านไปทางอื่น

กลายเป็นความเหม่อลอยไปทางอื่น

หรือกลายเป็นโฟกัสเข้าหาสิ่งอื่น หรือกระทั่งมีสติรู้เข้ามา

ถึงอาการทางใจ ที่แห้งเหือดไป เนื่องจากยางเหนียวของราคะ

 

ยางเหนียวของราคะ ตอนที่ยังอยู่ จิตจะมีความรู้สึกว่า หนืดๆ

มีความรู้สึกว่า ไปไหนไม่ได้ ถูกผูกมัดไว้

แต่พอแห้งเหือดไป เหมือนใจเราเปิดออก เหมือนใจเราสบาย

 

นี่ ราคะมีอยู่แค่นี้ ทำไมเราต้องไปตั้งแง่ว่า มันคือความผิดอะไรมากมาย

เรายังไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร

 

พอยต์ก็คือว่า พอเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ราคะมีอยู่ในจิต เกิดสติขึ้นมาแป๊บหนึ่ง ราคะหายไปจากจิต

เห็นความไม่เที่ยงของราคะ บ่อยขึ้นเท่าไหร่

ในที่สุดเราจะยิ่งมีความรู้สึกว่า ราคะ ก็กระทำกับจิตได้แค่นี้เอง กระจอกจัง

เดี๋ยวก็หายไป ไม่เห็นมาทำให้เกิดอะไรที่เป็นความผิดร้ายแรง

ขึ้นกับชีวิตของเราได้เลย

 

ใจก็ถอนจากความยึดมั่นถือมั่นออกไปเอง

ทั้งในแง่ที่ปฏิเสธ แล้วก็ในแง่ที่อยากดึงดูดเข้าหาตัว

 

เมื่อไหร่ที่ใจของเรา อยู่ในสภาพไม่สน ไม่แคร์

ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด เมื่อนั้นแหละ ที่ใจพร้อมจะถอน

 

แต่ถ้ายังอยู่ในภาวะคำถามแบบนี้ ทำอย่างไร ผมจะตัดใจได้

อย่างนี้ไม่พร้อม .. อย่างนี้ สภาพจิตใจพร้อมจะยึด

ถ้าไม่ยึดในแง่ของการหวงไว้จะเอาตัว

ก็ในแง่ยึดไว้ในฐานของความรู้สึกว่า เราเป็นคนผิด เราเป็นคนไม่ดี

เราเป็นคนที่คิดอะไรไม่เข้าท่าเข้าทาง นี่เป็นความยึดทั้งนั้นเลย

 

แต่เมื่อไหร่ที่ใจเฉยๆ ไม่แคร์ เกิดก็ช่าง ไม่เกิดก็ช่าง

ตรงนั้นแหละ ที่ใจจะไม่ยึดไว้ แล้วพร้อมที่จะให้มัน เมื่อผ่านมา

แล้วผ่านไป ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกผิดใดๆ ทั้งสิ้น!

________________

 

คำถาม : แอบรักคนคนหนึ่ง แค่เห็นก็รัก ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ผมไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ที่มีความรู้สึกในลักษณะแบบนี้ ทำอย่างไรได้บ้างไหมที่ให้ความรู้สึกนั้นหายไปจากใจครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์

วันที่ 3 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=VUgiJuHzSg8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น