ผู้ร่วมรายการ : เพิ่งเริ่มต้นครับ บางครั้งจิตใจมันฟุ้งซ่าน ก็เลยคิดว่าจะดูลมหายใจ เคยฝึกตอนเด็กๆ พอมาเป็นผู้ใหญ่มันก็ทำยากบางทีมันทั้งฝืน บางทีก็หลุด บางทีก็ตามลมหายใจได้แค่แป๊บเดียวไม่นาน
คราวนี้ก็ลองใหม่ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่าแต่พอทำไปแล้วรู้สึกว่าจะประคองไปได้นานขึ้น คือพอลมหายใจสูดเข้า ก็เตรียมตัวไว้เดี๋ยวมันกำลังต้องหายใจออกต่อแล้ว พอหายใจออกเสร็จ อีกสักพักเราจะต้องหายใจเข้า แล้วก็ดูที่ปลายของจมูก มันก็ดีขึ้น แต่ทำแล้วความนุ่มนวลแบบที่อาจารย์พูด ที่ผมฟังก็รู้สึกว่าเราทำผิดไปหรือเปล่า มันเคร่งเครียดไปหรือเปล่า แต่สำหรับตัวผม ผมคิดว่ามันดีกว่าเมื่อก่อนที่ผมปล่อยไปสบายๆในการหายใจ เดี๋ยวก็หลับ เดี๋ยวก็หลุดไปคิดเรื่องอื่น กำลังนับอยู่ก็ไม่เคยนับถึงห้าสิบหกสิบครั้งเลย ก็เลยสงสัยว่าเราทำอย่างนี้มันจะไปถึงจุดที่มันมีความนุ่มนวลความพอดี แล้วก็เกิดความสบายใจได้มั้ยครับ
ดังตฤณ : โอเคครับ ตอนที่ผมเริ่มฝึกใหม่ๆเนี่ย ผมก็สับสนเหมือนกันว่า วิธีการที่จะดูลมหายใจแบบไหนที่เรียกว่าถูก แบบไหนที่เรียกว่าผิด
ทีนี้พอทำไปเรื่อยๆหลายๆปี ทำแบบลองผิดลองถูก ก็ไม่รู้หรอกว่าทำไปเนี่ยมันถูกหรือผิด เคยทำมาทั้งหมดทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนับ หนึ่ง หนึ่ง สอง สอง สาม สาม หรือว่า หนี่ง สอง สาม สี่ หรือว่าบริกรรม พุทโธ กำกับไปด้วย บริกรรมอะไรอย่างอื่นๆกำกับไปด้วย หรือว่ามาตั้งข้อสังเกตอย่างคุณเนี่ยแหละว่า นี่กำลังหายใจเข้านะ เดี๋ยวกำลังจะหายใจออกต่อนะ ให้จดจ้องดูมันไป เสร็จแล้วทุกวิธีมันได้ข้อสรุปจุดเดียวกัน ลงเอยเหมือนกันคือ ไม่รู้จะรู้ไปทำไมลมหายใจเนี่ยนะครับ พอรู้ไปแล้วเนี่ยมันไม่เห็นจะมีสมาธิอะไรขึ้นมา
คือตอนที่ได้สมาธิเนี่ย มันจะเป็นสมาธิแบบแช่นิ่งเหมือนฟรีซ (freeze) จิตมันแช่ช่องแข็ง ฟรีซ
อยู่เฉยๆไม่ได้รู้อะไร
บางทีเนี่ยเกิดสิ่งที่นึกว่าเป็นสมาธิ มันมีอาการนิ่ง
มันมีอาการเหมือนสงัดไปชั่วคราว มันเหมือนกับตัวเราหายไป กลายเป็นจิตอะไรแข็งๆนิ่งๆก็นึกว่าดี
นึกว่าเดี๋ยวเรากำลังจะได้ฌาน แต่สุดท้ายมันวกกลับมาที่เดิม มันได้สมาธิแป๊บเดียว แล้วก็กลับมาตั้งใจฝึกตั้งใจฝืนที่จะดูลมใหม่
จะบริกรรมหรือไม่บริกรรมก็ตาม จะพุทโธหรือว่าคำบริกรรมชนิดอื่นก็ตาม มันให้ผลเหมือนกันหมด
ก็สงสัยว่าเอ๊ะที่เราทำมาตั้งหลายปีเนี่ย ตกลงมันเป็นแค่การที่เรามานั่ง .. อันนี้ผมคิดกับตัวเองนะ เรามานั่งโง่มันสูญเปล่าอยู่หรือเปล่า เสียเวลาไปเปล่าๆหรือเปล่า เพราะความฟุ้งซ่านเนี่ยมันเท่าเดิม ความรู้สึกที่เป็นสมาธิเนี่ย มันไม่ได้เป็นสมาธิจริง นานทีปีหนมันถึงจะรวมได้นิ่งๆ แล้วก็นิ่งแป๊บนึง มันก็ไม่กลับเข้าที่ใหม่ได้ง่ายๆ ต้องรออีกหลายเดือนหรือบางทีเป็นปีๆกว่าที่มันจะกลับมานิ่งขึ้นได้ใหม่
ทีนี้ผมมาได้คำตอบตอนที่มาอ่านอานาปานสติสูตรดีๆ คืออ่านโดยไม่มีความเชื่อ อ่านโดยไม่มีอะไรฝังหัวอยู่ เพราะบอกตรงๆว่าไม่เคยไปเข้าสำนักไหน แล้วก็ปักใจเชื่อกับครูบาอาจารย์ท่านใดที่ท่านสอนแบบของท่านนะครับ มันก็เลยมีอิสระพอสมควร ที่จะมาอ่านอานาปานสติด้วยความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากพอที่จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ยังไง ตรงนี้สำคัญมากเลยนะ มันเป็นจุดเปลี่ยนของการภาวนาเลย
พอมาดูดีๆที่คนเราบอกว่าฝึกอานาปานสติ ฝึกสติปัฏฐาน ๔ กันมาเนี่ยนะ มันไม่ใช่แบบที่พระพุทธเจ้าตรัส ที่พระพุทธเจ้าตรัสคือท่านบอกว่า ให้มีสติรู้ว่ากำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก กำลังหายใจยาวหรือว่าหายใจสั้น
จนกระทั่งจิตสามารถสังเกตได้ว่า จิตมาเป็นผู้สังเกต แยกมาเป็นผู้สังเกตว่า กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ไม่ใช่ต้องมาเค้นสติ จิตมาตั้งอยู่เป็นต่างหาก เป็นผู้สังเกตมีสมาธิมีความตั้งมั่นพอที่จะรู้ว่ากำลังหายใจ มารู้กองลมทั้งปวงกำลังหายใจเข้า หรือหายใจออกหายใจยาวหรือหายใจสั้น เนี่ย!จุดเริ่มต้นมีแค่นี้
ที่เรามาทำๆกันอยู่เนี่ยนะ มาบริกรรมกำกับ หรือไม่ก็มาจ้อง เนี่ยอย่างที่คุณบอกผมก็เคยทำมาก่อน มานั่นจ้องเป็นห้วงๆ เสร็จแล้วมันไม่ได้สมาธิจริง เพราะจิตเนี่ยมันไปโฟกัสมากเกินไป มันไปปักอยู่กับลมหายใจเยอะเกิน
ทีนี้ถ้าเราเอาแบบตามอักษรเป๊ะเลย ลองดูที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ยังอยู่เป็นลายลักษณ์อักษรเนี่ยนะครับ นั่งอยู่กายตรงดำรงสติมั่น ก็คือคอตั้งหลังตรงสบายๆ สำรวจขึ้นมาก่อนก็ได้ เท้าเกร็งมั้ย มือเกร็งมั้ย หน้ายังขมวดอยู่มั้ย ถ้ารู้สึกว่าสบายพอที่จะรู้ว่ากำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก นั่นแหละจุดเริ่มที่ตรงกับพระพุทธเจ้าตรัสแล้ว
แต่ถ้าขึ้นตอนต้นมาเกิดความรู้สึกว่า ฉันจะต้องนั่งดูลมหายใจให้เห็นให้ได้ เนี่ยไอ้อาการฝืนอาการที่มันมุ่งมั่นแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน มันหนักเกินไป อันนี้ไม่ใช่ตัวตั้งของสมาธิแล้ว ไม่ใช่ตัวตั้งของสติที่จะรู้อะไรขึ้นมาจริงๆแล้ว
แต่ถ้าสังเกตออก ขึ้นต้นมานะครับ เนี่ยกำลังนั่งอยู่แบบที่กำลังนั่งอยู่ มือ เท้า ใบหน้า สบายอยู่มั้ย ถ้าไม่สบายคลายออก เนี่ยแล้วพอรู้สึกถึงฝ่าเท้าฝ่ามือ มันก็รู้สึกทั้งตัวขึ้นมาเอง ทั้งตัวที่กำลังสบายผ่อนคลายอยู่เนี่ย แล้วทั้งตัวนี้มันกำลังหายใจเข้าหรือต้องการหายใจออก ตัวนี้แหละที่เริ่มจะตรงกับพระพุทธเจ้าสอนแล้ว รู้อย่างมีสติว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่
ต่อๆมาพอมันหายใจอย่างสบาย มันก็เห็นว่าที่หายใจเข้าหายใจออก มันเป็นลมยาวหรือมันเป็นลมสั้น ถ้าหายใจยาวเนี่ยมันหายใจทั่วท้อง หายใจเนี่ยท้องป่องก่อน แล้วก็พอหายใจออก ท้องก็แฟบลง เห็นอยู่อย่างนี้ จนกระทั้งจิตมันแยกออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู มันจะมีแต่สบายกับสบาย สบายตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนกระทั่งจิตมันมาตั้งตนเป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้สังเกตการณ์กองลมทั้งปวงอย่างเป็นไปเองโดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องบริกรรมอะไรเลย ตรงจุดนี้เราจะเริ่มเห็นว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เพราะอะไร?
เพราะมันจะมีสติมากพอที่จะรู้ว่า
แต่ละขณะที่หายใจเข้าที่หายใจออกเนี่ย หายใจเอาความสุขเข้ามา หรือว่าหายใจเอาความทุกข์เข้ามา
หายใจไปด้วยความอึดอัดทางกาย หรือว่าหายใจด้วยความผ่อนคลายทางกาย
มันจะเริ่มเห็นอย่างชัดเจนเป็นขณะๆ แล้วเมื่อเริ่มเห็นชัดเจนเป็นขณะๆ
ผลที่ตามมาก็คือ เราสามารถที่จะมีสติเปรียบเทียบได้เป็นขณะๆเช่นกันว่า
มันต่างไปเรื่อยๆมั้ยภาวะทั้งปวงนะครับ นับตั้งแต่ลมหายใจไล่มาถึงทางกาย
กล้ามเนื้อเกร็งอยู่หรือคลายอยู่ สภาพจิตใจสงบอยู่หรือฟุ้งซ่านอยู่
ทั้งหลายทั้งปวงปรากฏอยู่ในแต่ละลมหายใจอย่างชัดเจนนะครับ เข้าใจหลักการนะครับ
ผู้ร่วมรายการ : เข้าใจแล้วครับ
พอจะปรับเข้ากับตัวเองได้แล้วครับ กราบขอบพระคุณนะครับ
.....................................................
๒๗
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค
คำถาม : บอกตัวเองว่าสักพักจะต้องหายใจเข้าหรือออก แต่รู้สึกเครียดๆ
ระยะเวลาคลิป ๑๐.๐๖ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=wHVgrVmNRUQ&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=10
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น