ผู้ร่วมรายการ : ปกติสวดมนต์และนั่งสมาธิบ้างแต่ไม่ได้สม่ำเสมอ มีไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมบ้าง ช่วงที่เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมจิตจะสงบมาก ตอนที่ไม่ได้อยู่คอร์สปฏิบัติธรรมเป็นคนหลงคิดอดีตกังวลไปในอนาคต บางทีมีแค้นมีโกรธบ้าง มีวิตกกังวล จะรู้ตัวว่ามีอุปนิสัยอย่างนี้ ก็พยายามสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่เหมือนกำลังจิตยังอ่อนยังแก้ตรงนี้ไม่ได้ ก็เลยอยากขอคำแนะนำว่าเราควรฝึกจิตอย่างไรต่อไปดี คะ
ดังตฤณ : ต้วคำถามจริงๆก็คือว่า ทำยังไงที่จะทำให้เราเอาชนะความอ่อนไหวของตัวเองความคิดมากของตัวเอง เพราะว่ามันทำได้เฉพาะตอนที่รู้สึกสงบมากๆตอนปลีกวิเวก
คำตอบนะครับ ขอให้มองอย่างนี้นะครับ ภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ภาวะที่เกิดขึ้นมากที่สุดมันก็เกิดขึ้นภายในกายภายในใจนี้แหละ และถ้าเกิดขึ้นภายในกายภายในใจนี้ แล้วเรารู้ถุกต้อง นั่นแสดงว่าเรามีพื้นที่ในการปฏิบัติมาก
สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้ดู ท่านไม่ได้ให้ดูแต่ของดี ท่านให้ดูของไม่ดีด้วย แต่พวกเราจะไม่ค่อยเคยชินทีจะดูของไม่ดี เรามักจะชอบที่จะดูของดีๆเท่านั้น แล้วก็ละเลยและมองข้ามไม่พยายามฝึก เพราะไม่น่าฝึกเห็นอะไรที่ไม่ดีในตัวเอง เห็นภาวะที่มันเกิดขึ้นเป็นภาวะคิดมากยุ่งเหยิงเจ้าคิดเจ้าแค้น หรือว่าวนไปวนมาพายเรือในอ่าง ไม่ออกไปจากความคิดแบบเดิมๆอะไรแบบนี้นะครับ ภาวะแบบนี้มันไม่ค่อยน่าดู เพราะว่ามันไม่น่าปลื้ม ภาวะที่น่าปลื้มอย่างตอนที่คุณบอกว่าสงบมากตอนที่ปลีกวิเวก หรือว่าตอนไปเข้าคอร์สปฏิบัติ อย่างนี้มันถึงจะน่านับว่าเป็นการปฏิบัติเป็นเรื่องเป็นราว โดยความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไปมันก็จะอย่างนั้นนะครับ
ทีนี้ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ คือเราไม่ตั้งโจทย์ว่าทำยังไงเราจะเลิกเจ้าคิดเจ้าแค้น เราไม่ตั้งโจทย์ว่าทำยังไงเราจะดีได้เหมือนกับตอนเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม เราตั้งโจทย์เป็นว่า ทำยังไงเราจะมีสติยอมรับได้ว่ากำลังเกิดของไม่ดีขึ้นในเรา โจทย์นี้จะเป็นโจทย์สำคัญที่ยกระดับการปฏิบัติของเราให้คืบหน้าขึ้นแบบผิดหูผิดตาในสามวันเจ็ดวันเลยนะครับ
ทุกคนฟังมาหมดแล้วล่ะว่า ให้ดูภาวะอะไรเกิดขึ้น ก็ให้ยอมรับว่าจะไปท่องว่า คิดหนอ หรือว่า แค้นหนอ อะไรก็แต่นะครับ ทุกคนน่ะรู้หลักการมาหมดแล้ว แต่อดไม่ได้ที่จะคาดหวังว่าเราเนี่ยจะมีแต่ดีกับดีอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จโดยการไม่คิดไม่แค้นไม่คิดมากอีกเลย เนี่ยโจทย์ของเรามักจะเป็นแบบนี้กันทุกคน ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ จะคาดหวังอย่างนี้
ทีนี้ถ้ามาเปลี่ยนมุมมองจริงๆแล้วเอามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราจริงๆ เวลาเกิดความคิดแค้นขึ้นมาเนี่ย คือแทนที่เราจะตั้งคำถามว่าทำยังไงมันจะไม่เกิด เปลี่ยนเป็นว่า ทำยังไงจะรู้ว่าเนี่ยที่มันอยู่ มันอยู่ได้นานแค่ไหน อันนี้เป็นคำถามเปลี่ยนโลกจริงๆนะ ผมย้ำนะย้ำให้เข้าใจ เพราะว่านี่คือจุดที่ยากที่สุดที่จะทำความเข้าใจนะครับ คือฟังเนี่ยมันเหมือนกับเข้าใจง่ายนะ แต่เอาเข้าจริงเวลาที่เกิดสถานการณ์ทางจิตขึ้นมาเนี่ยมันไม่ง่าย มันจะย้อนกลับไปสู่ความยึดมั่นแบบเดิมๆว่า คิดแบบนี้ไม่ชอบไม่อยากให้มันเกิดขึ้น
ทำยังไง ณ จุดที่เราเกิดความรู้สึกว่าฉันไม่ชอบภาวะแบบนี้ ฉันไม่อยากเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นให้มันแปรมากลับด้าน เป็นความรู้สึกว่าชอบใจ นี่มันเกิดขึ้นให้ดูอีกแล้ว ณ ขณะนั้นเลยที่มันเจ้าคิดเจ้าแค้นขึ้นมาเนี่ย ถามตัวเองว่า กำลังนั่งหลังตรงหรือหลังงอ หายใจยาวหรือหายใจสั้น เสร็จแล้วยอมรับไปตามจริงว่า อารมณ์เจ้าคิดเจ้าแค้นมันหนาแน่นขึ้นมา หรือว่าเจ้าคิดเจ้าแค้นขึ้นมาอ่อนๆ ด้วยความรู้สึกว่ามันเจ้าคิดเจ้าแค้นมาก ตรงนี้ไม่ต้องไปโมโหตัวเอง ไม่ต้องไปไม่พอใจตัวเอง ให้ถามตัวเองไปว่า ที่มันคิดมันแค้นหรือว่ามีอาการวกวนหนาแน่น มันหนาแน่นได้กี่ลมหายใจ ถามตัวเองผ่านลมหายใจนะ ไม่ใช่ถามตัวเองด้วยอาการรีบกระโดดไปถึงลมหายใจที่สิบที่มันยังไม่มาถึง เนี่ยถามตัวเองที่ลมหายใจนี้ว่า อาการคุมแค้นอาการที่มันคิดมากมันอยู่ด้วยลมหายใจนี้กับลมหายใจต่อมาเนี่ย มันยังอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า มันยังสถิตอยู่ในจิตของเรา หรือว่าเริ่มตีตัวออกห่างจากจิตไปแล้ว มันเริ่มแปรตัวออกจากจิตไปแล้ว
ถ้าหากว่ามองเห็นครั้งแรกได้ มันจะเป็นจุดสำคัญเลย ให้ฝึกต่อที่จะดูอีก ดูไปอย่างนี้แหละ ดูไปอย่างยอมรับว่า แต่ละลมหายใจของการคิดแค้นเนี่ย มันเป็นลมหายใจที่อึดอัดมากหรืออึดอัดน้อยแค่ไหน แล้วเทียบไปเรื่อยๆกับลมหายใจต่อๆมาว่า มันอึดอัดน้อยลง หรือว่าอึดอัดมากขึ้น มันมีความคุมแค้นแบบร้อน หรือว่าคุมแค้นแบบที่มันค่อยๆบรรเทาเบาบางลงมาเป็นเย็น
พอเห็นความต่างได้เรื่อยๆอย่างนี้ คุณจะรู้สึกว่าการตั้งโจทย์การตั้งมุมมองมีความสำคัญขนาดไหน ถ้าตั้งโจทย์แบบนี้ แล้วเห็นได้ว่าตัวเองมีความก้าวหน้าขึ้น คือทุกครั้งมันมีการเห็นมีสติขึ้นมารู้ว่าความคุมแค้นอยู่ได้นานแค่ไหน ในที่สุดมันจะไปถึงจุดนึงนะ มันยังคุมแค้นอยู่ มันไม่หายไปไหน มันยังอยู่ในจิต แต่ว่าอยู่ได้ไม่นานเท่าสติ คืออยู่ได้แค่สองสามอึดใจ หรือว่าสองสามวินาที แล้วสติมันเกิดขึ้นมา แทนที่จะให้ใจของเราแล่นไปตามความคุมแค้น มันกลายเป็นว่าสติเนี่ยดึงให้จิตของเราอยู่กับที่แบบยอมรับ ด้วยอาการยอมรับตามจริงว่าคุมแค้นเกิดขึ้นได้นานแค่ไหนนะครับ........................................................
๖
มีนาคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค
คำถามเฟสบุค : ตอนอยู่ในคอร์สปฏิบัติธรรมสงบมาก แต่ในชีวิตประจำวันมีความแค้น จิตอ่อนไหว ควรทำอย่างไร?
คำถามยูทูบ : ออกจากคอร์สปฏิบัติธรรมแล้วความสงบหายไป
ระยะเวลาคลิป ๘.๑๖ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=yOAoe2hIuQA&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=16
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น