ผู้ถาม : คุณพ่อ คุณแม่ เป็นคนที่ชอบพูดลบๆ ใส่ เช่น อีกหน่อยอนาคต เธอจะลำบาก เธอจะแย่ หรือไม่บางทีบอกเธอทำแบบนี้ฉันจะแช่งนะ หรือบางทีก็พูดว่า เดี๋ยวเราจะเป็นไปในทางที่ไม่ดีบ้างล่ะ
ซึ่งพอเป็นคำของพ่อแม่ ก็เหมือนเป็นประกาศิตของเราเลย และยิ่งถ้าเขาแช่งนี่
ยิ่งแบบฝังเข้าไปเลย เหมือนจิตใต้สำนึกเรา จะรับคำนั้นเลยว่า จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ
เลยจะถามว่า จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่าคะ แล้วเราจะทำอย่างไรกับคำพูดลบๆ
คำพูดไม่ดีของพ่อแม่ดี
ดังตฤณ : พูดแบบสุดโต่งเลยนะ พูดแบบสุดโต่งไปในทางหนึ่ง
ก่อนเลย
พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ว่า ที่เราจะรู้สึกว่า เราตอบแทนพ่อแม่ได้
คือ การเปลี่ยนมิจฉาทิฎฐิในใจของพ่อแม่ ให้กลายเป็น สัมมาทิฏฐิ
คำว่า ‘มิจฉาทิฏฐิ’ ในที่นี้ก็เหมือน
ถ้าไม่มีศรัทธาที่ถูกต้อง ก็ให้มีศรัทธาที่ถูกต้องเสีย
ถ้าไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม ก็ให้เชื่อเรื่องผลของกรรมเสีย
ถ้ายังไม่รู้จักคำว่าสติ ยังไม่รู้จักการเจริญสติ ก็ให้รู้จักการเจริญสติ
อันนี้ เป็นตัวอย่างนะว่า เราให้ที่พึ่งที่แท้จริงกับพ่อแม่ เป็นศรัทธา
ทาน ศีลภาวนา นะ
การทำให้พวกท่านมีความเข้าใจพระพุทธเจ้า จะเป็นการตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ
ทีนี้ ย้อนกลับมา เมื่อกี้ไม่ได้ตอบคำถามนะ แค่ยกว่า ถ้าพ่อแม่เราไม่ดี
สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุดก็คือ ทำให้ท่านดีขึ้นมา
โดยความเป็นลูกนี่ พอยังไม่ได้คิดนะ เราก็จะมีความรู้สึกว่า
พ่อแม่ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องกับเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีกับเรา
ทุกสิ่งทุกอย่าง สมกับความเป็นพ่อเป็นแม่
นั่นคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคน มนุษย์ลูก จะสันนิษฐานไว้ในใจ จะตั้งความคาดหวังไว้ในใจ
แต่ในทางปฏิบัติ มีพ่อแม่น้อยคนในโลกครับ ที่จะมีสัมมาทิฏฐิหรือว่ามีทัศนคติ
หรือท่าทีต่อการเป็นพ่อเป็นแม่ที่ถูกต้อง
ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์ ที่ไม่เคยผ่านการเป็นพ่อเป็นแม่มาก่อน
แล้วพอเป็นพ่อเป็นแม่ ก็เป็นกันตามสัญชาตญาณ
เช่นอยากได้อะไรจากลูกบ้าง คาดหวังว่าลูกจะเป็นอย่างไรบ้าง
บางคนนี่ ลูกยังไม่ทันออกจากท้องเลย คาดหวังแล้วว่า
เกิดมาลูกจะเป็นอัจฉริยะ เกิดมาลูกจะมาเลี้ยง มาทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น
หรือว่า พ่อแม่บางคนนี่ตั้งธงไว้เลยว่าจะขายลูก ถึงขนาดนั้นเลยนะ
อันนี้พูดเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ได้มาพูดกันตามอุดมคติอะไร
ทีนี้พอ เราตั้งมุมมองไว้ถูกต้อง ตรงตามจริงที่โลกเป็นอยู่
เราก็จะมองเห็น ..อย่างเรา มาคุยกันในรายการนี้ได้ แปลว่าเราต้องมีต้นทุนอะไรบางอย่าง
มีต้นทุนทางธรรม ที่สามารถจะยกระดับตัวเอง แล้วก็มีสิทธิ์จะยกระดับพ่อแม่ได้
คือมุมมองจะเปลี่ยนไปหมดเลยนะ
จากเดิม ที่เราตั้งคำถามว่า ทำไมพ่อแม่ถึงต้องพูดอย่างนี้กับเรา
ทำไมพ่อแม่ ถึงไม่คิดถึงหัวอกเรา ทำไมพ่อแม่ไม่รู้เลยเหรอว่า
คำพูดของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่ลบๆ เป็นอัปมงคลแก่ลูก
ฝังความรู้สึกแย่ๆ กับตัวชีวิตตัวเองให้กับลูก
เราจะเปลี่ยนไปเป็นมุมมองที่ว่า ถ้าเราอยากทำบุญ
ถ้าอยากตอบแทน ที่พ่อแม่ให้เราเกิดมาในแบบที่ สามารถรู้จักกับพุทธศาสนาได้
รู้จักกับธรรมะได้ มีโอกาสยกระดับจิตวิญญาณของตัวเองได้นี่
ทำอย่างไรเราจะช่วยให้ทั้งพ่อแม่และทั้งเราเองนี่รอด จากนรกทางใจ
หรือว่า เหตุการณ์ที่เหมือนกับมาบั่นทอนจิตใจนี่นะ
คือเราไม่ยกให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แต่เอามาเป็นหน้าที่ของเราเอง
ว่าเราจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เราจะเป็นฝ่ายเริ่มก้าวแรก
คนที่มีกำลังใจเป็นฝ่ายเริ่มก้าวแรก ที่จะยกระดับชีวิตของครอบครัวให้ดีขึ้น
นั่นแหละ คนที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ
เวลาที่โดนคำพูดลบๆ คำพูดแรงๆ มา ท่าทีของเราจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง
ต่อไปนี้ ลองสังเกตนะ ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด หรือว่าวิธีมองนี่
ใจเราจะเป็นเหมือนเดิม เราก็ย้อนกลับไปโต้ตอบกับพ่อแม่
ด้วยวาจาที่ดุร้าย หรือว่าที่หยาบคายเหมือนเดิมอีก ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น
ครอบครัวเหมือนกับ ตกอยู่ในภัยพิบัติที่ไม่มีใครมาช่วยกู้
แต่ถ้า เราเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ตอนนี้เราเป็นฝ่ายที่มีธรรมะ
หมายถึงธรรมะในใจ ไม่ใช่ธรรมะทางความคิดนะ
ไม่ใช่ว่า ท่องจำเรื่องศีลห้า ไม่ใช่ว่าเรื่องมีเมตตา
การแผ่เมตตา การเจริญสติอะไร ไม่ใช่ท่องแบบนั้น
แต่มีธรรมะอยู่ในใจจริงๆ ธรรมะในแบบที่ เรารู้สึกถึงความเป็นตัวตั้ง
ว่าอะไรๆ จะดีขึ้น เริ่มขึ้นจากใจ
ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน อะไรๆ ก็ไหลมาแต่ใจ
ถ้าหากว่าใจเราตั้งอยู่ในทิศทางที่จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ร้ายๆ ให้ดีขึ้น
ท่าทีของเราจะเปลี่ยนไป
คือเวลาที่ถูกด่ามา เราจะไม่ใช่มาคิดแล้วว่า นี่เราเป็นลูกที่ถูกพ่อแม่กระทำ
แต่จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เราเป็นคนที่มีสิทธิเป็นคนแรก
ที่จะทำให้อะไรๆ ในครอบครัวของเรา ยกระดับขึ้นเป็นกุศล
จากที่อยู่ก้นเหวที่เป็นความมืด ให้ปีนป่ายขึ้นไปบนหน้าผา
แล้วก็สามารถเอาตัวรอดได้ ย้อนกลับมาฉุดดึงพ่อแม่ ให้ตามขึ้นไป
เริ่มจากก้าวแรกตรงนี้ ก้าวที่เราตัดสินใจว่า จะเอาไหมว่า
เราจะเป็นคนเริ่มต้น ว่าเราจะเป็นคนฉุด ไม่ใช่คนที่จมลงไปด้วยกัน
แล้วจิตใจที่มีความรู้สึกสว่างขึ้น สบายขึ้น แล้วก็มีกำลังใจมากขึ้น
จากธรรมะ จากการคุยกัน จากการมีกัลยณมิตรที่ร่วมสนทนาอยู่ด้วยกัน
ที่เป็นกำลังใจให้กันได้ บนเส้นทางเดียวกันนี่
บนเส้นทางที่จะไม่มีใครว่าคุณ ว่าไปยอมทำไม
หรือว่าทำไมยอมโง่อยู่ ถูกกระทำฝ่ายเดียว
แต่เป็นพวกที่ เป็นกลุ่มที่พร้อมจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
ช่วยพ่อแม่สิ ช่วยตัวเองให้รอดสิ ช่วยให้อะไรๆ ในครอบครัวเราดีขึ้นสิ
การที่มีกลุ่มกัลยาณมิตรนี่ดีอย่างนี้ จะมีกำลังใจ และเห็นว่า
เราไม่ได้เป็นบ้าไปคนเดียว เราไม่ได้แปลกอยู่คนเดียว
ทุกคน เคยผ่านมาหมดแหละ เรื่องร้ายๆในครอบครัว
แต่ใคร ..เท่านั้นแหละ ที่จะได้คิดว่า ฉันขอเป็นคนเริ่ม
ที่จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น
เวลาที่เรามีความรู้สึกอย่างนี้ ที่แข็งแรงพอนี่ เวลาโดนคำพูดอะไรแย่ๆ
มา
เราจะคิดใหม่ คิดถึงคำที่ดีขึ้น คิดถึงอารมณ์ของตัวเองที่
ทำอย่างไร จะให้ใจของเรา กลายเป็นน้ำจืด น้ำสะอาด
ที่ไปล้าง หรือไปดับไฟ ที่เกิดจากคนในบ้านเดียวกัน
ไม่ใช่มองโลกสวยๆ แล้วก็ทำได้ตั้งแต่ครั้งแรก
แต่ถ้าพยายามทำ จะรู้สึกเหมือนกับตัวเอง เป็นนักกีฬา
ที่ค่อยๆ ฝึก แล้วก็ค่อยๆ มีความสามารถ ค่อยๆมีฝีมือ
ค่อยๆ มีสกิล มีทักษะที่จะตอบโต้ แบบอยู่ในสถานะการจริงๆ
แล้วก็รับมือได้จริงๆ รู้สึกถึงใจของเรา ที่มีกำลังวังชามากขึ้นเรื่อยๆ
มีแก่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ มีสกิลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็สมองที่จะคัดคำ
ที่ฉลาดๆ บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น รวมทั้งวิธีการทางจิต
ที่จะใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ใช้ความเย็นดับความร้อน
ใช้ความมีสติไปชำระล้าง
โมหะ ที่เรารู้สึกได้กับคู่สนทนา ไม่ว่าจะเป็นใครนะ
ถ้าเรามีความเคยชิน ที่จะมองเข้ามาที่ใจของเราเองเป็นตัวตั้ง
แล้วสำรวจรู้ว่า มีสติอยู่ หรือว่ามีโมหะอยู่
มีความยุ่งเหยิงอยู่ หรือว่ามีความสงบอยู่
ตรงนี้ จะค่อยๆ เห็นชัดขึ้นๆ
ไม่ใช่ทำได้ในทีเดียว แต่ว่ายิ่งทำไป ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีสกิลมากขึ้นสตรองมากขึ้น
ผู้ถาม : คือตั้งแต่เกิด หนูศึกษาเรื่องธรรมะมานานแล้ว
หนูมีความรู้สึกอยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ดีขึ้นทางด้านจิตใจศีลธรรมอยู่แล้ว แต่คนละส่วนกับเรื่องที่ว่า
คำพูดของเขาที่.. แบบว่าเข้าไปอยู่ในใจเรา
ดังตฤณ : บั่นทอนกำลังใจเรา
นั่นแหละ ที่ผมพูดไปทั้งหมดนี้คือจุดนี้ คือถ้าเรายังมองอยู่ว่า
ทั้งหมดที่เขาพูดมา คือการบั่นทอนกำลังใจเรา
เราก็จะอยู่ในฐานะนั้นไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าเราสวิทช์กัน เปลี่ยนมาเป็นว่า
เราโตพอ ที่จะทำให้เขากลับใจ หรือว่าสำนึกได้
จะไม่ใช่เริ่มจากการพูด ให้เขารู้สึกสำนึกผิด
แต่บางที เป็นการโต้ตอบ
เขาใช้คำรุนแรงมา เราใช้คำที่นุ่มนวลกลับ
เขาใช้คำที่ทิ่มแทงมา เราใช้คำที่เหมือนมีความอ่อนโยน
มีความเข้าอกเข้าใจ
คือทำให้เขารู้สึกว่า เรามีความเติบโตทางจิตวิญญาณมากขึ้น
จากเดิมที่เราเป็นพวกเดียวกับเขา คือเหมือนกับถูกเขากระทำได้
ถูกเขาบั่นทอนกำลังใจได้
เปลี่ยนเป็นว่า เขาพูดอะไรมา ก็ไม่สามารถบั่นทอนกำลังใจเราได้อีกแล้ว
เราต่างหากเป็นฝ่ายเลือก ที่จะให้กำลังใจเขา
การให้กำลังใจ ในที่นี้ ก็คือการให้ธรรมะกับเขา
ธรรมะในที่นี้ คือความสว่างความเย็น ความนุ่มนวล
แล้วก็ความมีสตินะครับ
ขอให้กำลังใจนะ ไม่ใช่ผมไม่เข้าใจนะ ว่าที่คุณประสบอยู่ยากลำบากอย่างไร
แต่เห็นมาแล้วนะครับว่า คน.. ถ้าเราตั้งจิตไว้ถูก
จะสามารถพาคนอื่นที่อยู่รอบตัวเรา ที่อยู่ใกล้ตัวเรา ถูกตามไปด้วย
มาตามทางที่ถูกได้ ตามเราไปด้วยนะครับ
_________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=pfBhBrqH0Y0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น