วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

การอธิษฐานจิต โดยที่จิตยังไม่เปิดจะเห็นผลไหม

ผู้ถาม : เมื่อกี้ พี่ตุลย์พูดเรื่องอธิษฐาน ก่อนหน้านี้ก็เคยอธิษฐานจิต ขอเวลาทำบุญ แล้วก็ขอเรื่องงานเรื่องอะไร

ทีนี้ ตอนนี้อยากจะอธิษฐานว่า ขอให้ตัวเองมีปัญญา เพราะเคยมีคนบอกว่า ให้อธิษฐานเข้าตัวเองก่อน เหมือนกับว่าเราแผ่บุญกุศลไปให้ตัวเอง ก่อนที่จะไปแผ่คนอื่น .. แผ่ให้ตัวเอง คิดดีทำดีพูดดี มีกัลยาณมิตรดี แล้วก็ขอให้มีปัญญา

ถ้าขอแบบนี้ ขอได้ไหมคะ เพราะว่าอย่างเมื่อกี้ที่พี่ตุลย์บอกว่า ต้องขอให้ปัญญาเปิดออกไปเรื่อยๆ แต่เราก็อาจจะยังไม่รู้ว่าปัญญาเปิดหรือยัง หรือยังไม่ได้เปิด

 

ดังตฤณ : คุณจูน (tune) ตรงกับที่ผมบอกแล้วนะ ก็คือว่า

ถ้าเรามีจิตแบบไหนเป็นตัวตั้ง หลังสวดหลังทำสมาธิเสร็จ แล้วเอาจิตแบบนั้น เป็นต้นแบบในการอธิษฐานให้ตัวเองนี่ จะเห็นผล

 

คือเห็นผลแล้วตั้งแต่ตอนนั้น แล้วจะเห็นผลในทางที่คืบหน้า

มีความเจริญ มีความเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆนะ

 

แต่อย่างคำอธิษฐานทั่วๆ ไป ที่กว้างเกิน อย่างบอกว่า

ขออธิษฐานให้มีปัญญา ขอให้เกิดปัญญานี่

ในใจของเรานึกไม่ออกนะ ว่าหน้าตาของปัญญาเป็นอย่างไร

 

แต่ถ้าอย่างสมมติว่า คุณเกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า กายนี้ไม่เที่ยง

ไม่มีส่วนไหนสักอย่างที่เที่ยง แล้วเกิดความสว่าง คล้ายอาการตาสว่างขึ้นมา

ตรงนั้นแหละถ้าเราอธิษฐาน ขอให้ความมีตาสว่างแบบนี้

จงเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ อย่างนี่ตรงทิศตรงทาง

แล้วเราจะเข้าใจว่า คำว่าปัญญาคืออะไร

 

เสร็จแล้วเราก็จะมีแก่ใจที่จะเจริญสติ ไม่ว่าจะรู้ลม ไม่ว่าจะรู้อิริยาบถ

ไม่ว่าจะรู้เวทนาด้วยความเป็นของไม่เที่ยง ก็จะเสริมกัน

นี่ ตัวที่เราได้แล้ว ถึงแล้ว หรือว่าประสบความสำเร็จแล้วนี่

เป็นฐานสำคัญ ที่จะให้การอธิษฐานคืบหน้าต่อๆ ไป

 

ยกตัวอย่างง่ายที่สุด สำหรับคนที่อาจจะไม่ได้เจริญสติ

ไม่คิดจะมาเอาดีทางปัญญา เห็นกายใจอะไรแบบนี้

ถ้าทำบุญ ใส่บาตร เสร็จแล้วเกิดความรู้สึก มีความสุขอย่างล้นหลามขึ้นมา

 

ถามว่า บุญนั้นเกิดจากอะไร

เกิดจากการที่เรารู้สึกว่า เราได้ถวายปัจจัยสี่

แด่บุคคลที่ตั้งอยู่ในสมณธรรม ตั้งอยู่ในความศักดิ์สิทธิ์

ยิ่งเรารู้เห็นว่า เป็นหลวงพ่อหลวงปู่ ครูบาอาจารย์

ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากขึ้นเท่าไหร่

เราก็ยิ่งเกิดความเลื่อมใส ยิ่งเกิดความศรัทธา

ยิ่งเกิดความเบิกบานมากขึ้นเท่านั้น

 

ตรงนี้ ถามว่าใจแบบนั้น ควรอธิษฐานอะไร

ก็อาจจะบอกว่า เอาให้ที่ตรงกับใจ

ขอให้ได้พบ ได้เจอครูบาอาจารย์ดีๆ  

แล้วก็ได้มีโอกาสทำบุญอย่างนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ

อันนี้คือตรงแล้ว ไม่ได้เกินตัวแล้ว

 

แต่ถ้าหากว่า เราไปช่วยเด็กกำพร้า ไปช่วยคนอนาถา

ไปช่วยคนแก่ที่ไม่มีลูกหลานมาดูแล หรือว่าบริจาคทรัพย์สิน

เพื่อที่จะให้เกิดสิ่งก่อสร้างอะไร ที่เป็นประโยชน์กับสังคม ต่อสาธารณะ

 

อย่างนี้ ถ้าทำสำเร็จนะ ให้ไปเสร็จเกิดความรู้สึกเบิกบานจัง

แสดงว่านี่ต้องเป็นบุญใหญ่ นี่จะต้องได้ผลกับคนจำนวนมากจริงๆ

ต้องเป็นอะไรที่ดีจริงๆ

เราก็อาจจะตั้งอธิษฐานว่า ขอให้ใจเราสามารถสละกิเลส

สละความยึดติด หรือสละอะไรที่เป็นสิ่งผิดๆ ออกจากชีวิต ออกจากจิตใจ

ได้ง่ายดาย เหมือนกับที่เราได้บริจาคทรัพย์สิน หรือว่าได้มาลงแรง

ช่วยอุทิศเวลาอุทิศสมอง อุทิศกำลังกาย ช่วยเด็กคนชรา ที่อยู่ในสภาพด้อยโอกาสอะไรแบบนี้

 

การสละของเรา เป็นการสละที่เรารู้เลยว่า เกิดประโยชน์สุขกับคนอื่น

เพราะฉะนั้น พอเรามาอธิษฐานว่า ขอให้เราสละสิ่งที่ผิดๆ ออกไป

สละความยึดติดอะไร ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทางได้ง่ายๆ นะ

ก็จะสอดคล้องกัน ก็ตรงกันได้ เป็นไปได้

 

เพราะการช่วยยกระดับ คือไปช่วยยกระดับคนอื่นด้วยการให้ทาน

ก็สามารถยกระดับให้ตนเอง ด้วยการสละออกได้เช่นกัน

สละสิ่งผิดๆ ออกได้เช่นกัน

 

พูดง่ายๆ ถ้าเราทำบุญแบบไหน แม้แต่สวดมนต์

 

สวดมนต์นี่ ดูราวกับว่าเราไม่ได้เสียสละอะไร

แต่จริงๆ แล้ว เราเสียสละทิฐิมานะอัตตาลงไปกราบ บุคคลที่ควรกราบ

เราสละอัตตา เราสละมานะ เราสละความรู้สึก

ว่าตัวเราเจ๋ง ตัวเราแน่ ตัวเราอะไรออกไป

เราก็สามารถอธิษฐานได้ หลังจากสวดเสร็จว่า

ขอให้เรานี่สละทิฐิ สละอัตตามานะ สละกำแพง

ที่กั้นความเจริญเรามาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

 

ขอให้เราเป็นคนไม่มีทิฐิมานะ ขอให้เราได้เป็นผู้ที่มีความเห็นถูกเห็นชอบ

ว่า เหตุคืออะไร ผลคืออะไร โดยไม่มีความรู้สึกในตัวตน เข้ามาขวาง

อย่างนี้ก็ได้ผล เพราะตอนที่เราสวดเสร็จ ได้ผลไปแล้ว

เราเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาประดิษฐาน อยู่ในชีวิตของเราแล้ว

ไม่มีกำแพงทิฐิมานะแล้ว

 

เราก้มลงกราบนี่ กราบสุดมือ แล้วก็ทรุดหน้าผาก

คือทำให้อัตตามานะของเราเหลือศูนย์

ณ จุดที่หน้าผากของเรา ไปแนบอยู่กับพื้นตรงนั้นแล้ว

 

ตรงนี้เราก็อธิษฐานได้ ว่าขอให้อัตตามานะของเรา เบาบางลงเรื่อยๆ เถิด

ขอให้สติปัญญาของเรา อันเกิดจากการเจริญสติ ได้มีความเห็นที่บริสุทธิ์

รู้ว่ากายนี้ใจนื้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด

เห็นไหม ก็สอดคล้องกันแล้ว เราเห็นตั้งแต่ตรงนั้นเลยว่า เป็นไปได้จริงแน่นอน

 

ผู้ถาม : หมายความว่าจะต้องขอตอนที่จิตเรารู้สึกอย่างนั้น ตอนนั้นเลยใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่ว่า ตอนที่เราไม่รู้สึกแล้วไปขอ

 

ดังตฤณ : มีคำหนึ่งในพุทธศาสนา บอกว่า ให้ตั้งสัจจาอธิษฐาน

เวลาหวังจะได้อะไรที่สมเหตุสมผล หรือว่าสอดคล้องกับบุญที่ตัวเองเคยทำมา

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพูดถึงพลังวิเศษเลยนะ อย่างพระพุทธเจ้านี่

พระราหุลไปยืนส่งคนตาย ส่งคนจะตายคือ พระเจ้าสุทโธทนะ

พระบิดาของพระพุทธเจ้า

 

คือพระราหุลนี่ อธิษฐานข้ามชาติเลยนะ คือท่านระลึกชาติได้ว่า เมื่อครั้งเป็นลูกของพระพุทธเจ้าในสมัยที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่พยายามสละ พยายามให้ทานได้แม้แต่บุตรและภรรยานี่ ท่านก็มีใจยินดีด้วย

 

คือ พอระลึกชาติได้ แล้วเอาบุญนั้นมาตั้งเป็นความจริง เขาเรียกว่า เอาความจริงที่เคยทำบุญแบบใดแบบหนึ่งมาเป็นตัวตั้ง แล้วอธิษฐานเอา

คำอธิษฐานนั้นจะมีพลัง โดยมีบุญที่ยกมาเป็นตัวตั้งนั้นให้การสนับสนุน

 

นี่เหมือนกัน คือเวลาเราจะอธิษฐานในทางที่จะเอาไปใช้ได้จริง ถ้ายังไปไม่ถึงตรงนั้น แล้วเสร็จแล้วเราอธิษฐานจะเอาโน่นเอานี่

บางทีไม่สามารถรู้ว่าเข้ากันได้หรือเปล่า หรือว่าสมน้ำสมเนื้อกันรึเปล่า

 

แต่ถ้า ณ จุดที่เราทำได้แล้ว แต่เกิดภาวะที่ดีขึ้นมา แล้วเอาภาวะดีๆ นั้น นี่มาเป็นตัวตั้งในการอธิษฐานจิต ก็จะไม่มีความวอกแวก

จิต จะมีความแน่วแน่ แล้วก็เห็นภาพชัดว่าตัวเองต้องการอะไร อยากได้อะไร แล้วสมเหตุสมผลแก่เหตุปัจจัยที่เราทำมาไหม

 

ผู้ถาม : รบกวนถาม อย่างสมมติถ้าเวลาเราทำบุญ ตอนที่ทำบุญ ใจเราอยากที่จะรู้สึกปลื้มปีติ แต่จริงๆ ลึกๆ ก็ทำไม่ได้ เหมือนใจไม่เปิด สมมติอย่างที่พี่ตุลย์บอกว่า เราควรจะขอตอนที่ใจไปในทางที่ดีแล้ว แต่สมมติเราทำดีอะไรบางอย่างอยู่ แต่ใจอาจจะยังหม่นๆ หมองๆ อย่างนี้ควรจะอธิษฐานอย่างไร

 

ดังตฤณ : ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจว่า

การทำบุญของเรายังไม่สำเร็จบริบูรณ์

 

คือ คนทั่วไป สำเร็จด้วยกาย ไม่บริบูรณ์ด้วยใจ

 

ยกตัวอย่าง นิยามของการทำบุญคือ ไปทำที่วัด เอาสังฆทานถวาย

ถวายสำเร็จด้วยกายแล้ว แต่ใจนี่ยังไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่

ยังไม่รู้สึกเบิกบาน เพราะอะไร?

 

เรามาสำรวจดูนะ ว่าบุญนี่ จริงๆแล้ว ขึ้นต้นด้วยการเห็นว่า

ใครกำลังเดือดร้อน แล้วเรามีแก่ใจไปช่วยเหลือเขา

จนกระทั่งเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

ไปยกระดับความรู้สึกของเขาได้

อย่างน้อยเปลี่ยนความทุกข์ของเขา ให้กลายเป็นความสุข

นี่! ที่เราจะเกิดความแช่มชื่นขึ้นมาเต็มๆ

 

แต่อย่างบางทีไปถวายของ เรารู้ว่า บางทีถวายไป พระก็ไม่ได้ใช้

หรือว่าถวายไปก็สงสัย เดี๋ยวเอาไปเวียนหรือเปล่า

หรือว่า ถวายเสร็จแล้ว สงสัยว่าบุญ จะเกิดขึ้นอย่างไร อะไรแบบนี้

เกิดความสงสัยขึ้นมา

แค่นี้ ก็ไม่สำเร็จด้วยใจแล้ว

 

คือบุญสำเร็จด้วยกาย สำเร็จจริงๆนะ เป็นบุญกิริยาไปแล้ว

แต่ว่าใจนี่ ไม่เอาบุญ ไม่ได้รับความสุขจากบุญ

ไม่ได้เสพสุขอันเกิดจากการช่วย

 

ทีนี้ถ้าเราเริ่มมีเบสิค หัดทำบุญแบบเข้าใจจริงๆ ว่า

เราช่วยอะไรใครไป เพราะเขาเดือดร้อนอะไร แล้วเราช่วยสำเร็จ

เขาได้ดีขึ้นมาอย่างไร เขารู้สึกว่าชีวิตเขาโอเคขึ้นอย่างไร

 

เอาจากตรงนั้นเป็นตัวตั้ง

แล้วให้จิตของเรามีความเป็นทาน ในลักษณะนั้นบ่อยๆ

มีความแช่มชื่น จากการช่วย

ด้วยความอยากจะให้เขาพ้นจากความเดือดร้อนจริงๆ

พ้นจากความทุกข์จริงๆ

 

จากนั้น ค่อยมาไต่ระดับขึ้นมา เป็นทำบุญในแบบที่

มีพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเป็นเครื่องตั้ง

เราเห็นด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่าที่เราไปถวาย ที่เราไปทำทาน

หรือว่าไปช่วยอะไรท่าน ก็คือการช่วยให้พระศาสนาอยู่รอด

คือการช่วยให้พระ ได้มีกำลังวังชาที่จะมาปฏิบัติต่อ

ที่จะมาสืบทอดพระศาสนา

 

ด้วยความเข้าใจอย่างนี้ ก็เกิดความแช่มชื่น

ความแช่มชื่นที่เกิดขึ้น ก็จะมีผลให้เรา

เข้าใจในเรื่องของบุญที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่าเราช่วยสำเร็จ

 

บุญ ก็คือการช่วยสำเร็จ แต่ไม่ใช่แค่ การเอาของไปวางไว้

เเล้วก็มีความรู้สึกว่าสำเร็จแล้ว

 

เพราะพอบางทีเอาของไปวางนี่ ยังมองไม่เห็นว่าเราช่วยอย่างไร

แต่ถ้าเราเข้าใจอยู่ในเบื้องต้นว่า ช่วยให้ท่านได้มีกำลังวังชา

ท่านจะใช้ หรือไม่ใช้ เดี๋ยวก็เอาไปให้เป็นส่วนรวมของสงฆ์ก็ได้นะครับ!

______________

ถาม : การอธิษฐานจิต ถ้าเราขอโดยที่จิตยังไม่เปิดตามนั้น จะเห็นผลไหมคะ เช่น ขออธิษฐานให้มีปัญญา?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์

วันที่ 3 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Kd6Wng35qsA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น