วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

ภาวนาโดยบริกรรมและขยับตัว แต่เปลี่ยนท่าบ่อย ผิดไหม

ผู้ถาม : มีคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัตินะครับ

คือ ที่ผ่านมานี่ ก็ปฏิบัติโดยการบริกรรมไปด้วย แล้วก็ขยับร่างกายไปด้วย

เช่น เอานิ้วโป้งมากระทบนิ้วชี้ หรือว่าอะไรอย่างนี้

 

แต่ว่าปัญหาคือ ผมไปเปลี่ยนท่าทางบ่อย 

เดี๋ยวก็นิ้วโป้งกระทบนิ้วชี้บ้าง อีกสักพัก ก็สลับไป เปลี่ยนข้างบ้าง

เดี๋ยวก็เอานิ้วชี้กระทบกับแขนบ้าง อีกสักพัก ก็เปลี่ยนไปกระดิกเท้าบ้าง

ก็เลยไม่แน่ใจว่า เป็นการ..คล้ายๆ เราเปลี่ยนวิหารธรรมบ่อยเกินไปไหม 

หรือว่าโอเคอยู่แล้วครับ

ไม่แน่ใจว่า จะทำให้ฟุ้งซ่านหรือเปล่าครับ

 

ดังตฤณ : ไม่ว่าจะปฏิบัติในรูปแบบไหน

เราจะขยับย้าย หรือว่าเปลี่ยนกระทบอย่างไร ก็แล้วแต่

 

สิ่งที่เราแต่ละคนทำไปนี่นะครับ เรียกว่า รูปแบบเฉพาะ

ที่เราคิดว่าเป็นการปฏิบัติ

 

สิ่งที่สำคัญเหนือรูปแบบของการปฏิบัติ 

ไม่ว่าจะเป็นการดูลมหายใจ การบริกรรมพุทโธ

การยกก้าว แล้วก็บริกรรมคำกำกับไปด้วย หรือว่า พองยุบ

หรืออย่างของผู้ถามก็คือว่า ใช้ผัสสะกระทบ

 

จะเป็นรูปแบบไหนก็แล้วแต่ ก็คือ การที่เราพยายามดึงสติ

เข้ามาอยู่กับสภาพทางกาย หรือสภาพทางใจนะครับ

 

ทีนี้ สิ่งที่สำคัญกว่ารูปแบบ ก็คือ ความเข้าใจ

ว่าสิ่งที่ทำไปจะมีผลเพื่ออะไร เป็นไปเพื่ออะไร

 

ถ้าหากว่า เรามีความเข้าใจนะครับว่า

ผลของการที่เราเอาสติเข้ามาอยู่กับ สภาพทางกาย สภาพทางใจ นี่ 

 

เป็นไปเพื่อเห็นว่า กายนี้ใจนี้ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

นั่นคือ เราอยู่บนเส้นทางการเจริญสติแบบพุทธแล้ว

ไม่ว่าจะรูปแบบไหน

ขอแค่เรามีความเข้าใจว่า ที่เห็นไป เพื่อที่จะเห็นความไม่เที่ยง

เพื่อที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวเดิม

แล้วก็ทนอยู่ในสภาพความเป็นตัวเดิมไม่ได้

 

ตัวนี้แหละ ที่ในที่สุด จะได้ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการ

คือ ให้เรารู้ว่า กายนี้ ใจนี้ ไม่น่ายึดมั่น ไม่น่าถือมั่น 

ใจเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงได้นะครับ

 

ตรงนี้แหละ ที่จะเริ่มต้นกระบวนการถ่ายถอน ความยึดติดอุปาทาน 

ที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ออกไปจากใจเราได้

 

ทีนี้ คุณต้องถามตัวเองนะครับ

อันดับแรกเลย ที่จะให้ถามตัวเอง

 

นั่นก็คือว่า เรามีความเข้าใจไหม ในแต่ละครั้งที่เรามีการขยับ

ขยับนิ้ว ขยับตัว เห็นความเคลื่อนไหวของสภาพทางกายแล้วนี่ 

รู้ไหมว่าไม่เที่ยง กำลังฟ้องตัวเองอยู่ว่า นี่ไม่เหมือนเดิม ต่างไป

 

เคยสังเกตไหม

 

ผู้ถาม : ถ้าเป็นความไม่เที่ยงนะครับ เหมือนจะเป็นสภาวะทางใจมากกว่า

แต่ถ้ากาย จะเห็นคล้ายประมาณว่า เราเห็นเป็นก้อนที่แยกๆ อยู่นี่ครับ

แต่ก็ไม่ถึงกับเห็นความไม่เที่ยงน่ะครับ

 

ดังตฤณ : เห็นความไม่เที่ยงทางใจ นี่ เห็นตอนไหน

 

ตอนที่เรากำลังรู้สึกฟุ้งซ่าน แล้วเปลี่ยนมาเป็นสงบ

หรือว่า ตอนที่โกรธ แล้วกลายเป็นหายโกรธ 

ตอนไหน ที่ผู้ถามเห็นความไม่เที่ยงของทางใจครับ

 

ผู้ถาม : ตามที่พี่ตุลย์บอกเลยครับ

แล้วก็เวลามีอารมณ์ มีโทสะ อะไรอย่างนี้ครับ 

จะมีบางอารมณ์ที่เห็นได้ง่ายน่ะครับ 

ว่าเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วก็บรรเทาลงแล้ว อย่างนี้น่ะครับ

แล้วก็อารมณ์ต่างๆ ที่จะมีอารมณ์ที่แบบเห็นชัดบ้าง

แล้วก็อันที่ไม่ค่อยชัดบ้างนะครับผม

 

ดังตฤณอันนี้นะ เราอยู่ในลู่ในทาง ที่จะเห็นความไม่เที่ยงได้

 

ทีนี้ เรื่องของความเข้าใจนะครับ ตัวนี้ ที่สำคัญ 

คือ ถ้าเรารู้ว่า เราสามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยงทางใจได้ 

อันนี้ เป็นเรื่องดีแล้ว

 

อย่างน้อยที่สุด มีการเปรียบเทียบบ้างว่า ใจไม่เหมือนเดิม ใจต่างไป 

ใจไม่ใช่ตัวอะไร ที่เป็นของคงที่ นะครับ

 

ทีนี้ อย่างร่างกาย นี่ เราขยับนิ้ว ขยับตัว แล้วเกิดการเห็น การขยับนั้นๆ 

ตัวนี้ เราต้องถามตัวเองแล้วว่า เราเห็นไป แล้วมีส่วนช่วย

ให้เกิดการเห็น หรือ เกิดสติ ที่รู้ว่าสภาพทางกาย สภาพทางใจ ไม่เที่ยงบ้างไหม

 

ถ้าหากว่า เราเห็น ตอบตัวเองได้ว่า ช่วยให้เราเกิดการรับรู้ได้ 

อันนี้ อยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง

 

แต่ถ้าหากขยับไป แล้วไม่รู้อะไร ที่จะมาช่วยส่งเสริม

ให้เกิดความเห็น ความแปรปรวน ความไม่ใช่ตัวเดิมเลย 

อย่างนี้ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ ในเรื่องของเส้นทางการเจริญสติเท่าไหร่

 

ถามว่า มีประโยชน์จริงๆ ไหม .. อย่างน้อยก็มีสติ

 

แต่ถามว่า มีประโยชน์บนเส้นทางของการเจริญสติ เพื่อดับทุกข์ไหม 

อันนี้ อาจจะต้องตอบตัวเองว่า อาจจะยังน้อยอยู่

 

ทีนี้ ข้อแนะนำ ก็คือว่า 

แทนการรู้สึกว่า เราขยับตัว ขยับนิ้วแล้วเปลี่ยนท่าทางบ่อย 

จะมีผลอะไรไม่ดีหรือเปล่า

 

เปลี่ยนเป็นมุมมองว่า ที่เปลี่ยนบ่อยน่ะ ดีแล้ว จะได้เห็นว่า

ท่าทางของร่างกาย ไม่สามารถคงสภาพอยู่ในท่าทางนั้นๆ ได้

ไม่ว่าจะอยู่ในท่าทางใดก็ตาม

ไม่สามารถทนอยู่ในท่าทางนั้นได้ ไม่สามารถรักษาตัวเองไว้ได้

อันนี้ คือ ประเด็นแรกนะครับ

ประเด็นที่สอง ..บนเส้นทางการเจริญสติ ที่เราบอกว่า รู้กาย รู้ใจ ที่จะช่วยส่งเสริมให้จิต ถอนออกจากความยึดมั่นถือมั่น ทางกาย ทางใจ ได้จริงๆ 

การรับรู้นั้น ต้องมีความคงเส้นคงวา 

ไม่ใช่ว่า สภาพอิริยาบถต้องอยู่ที่เดิม

หรือว่าต้องค่อยๆ เปลี่ยนช้าๆ ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ

ความคงเส้นคงวาในที่นี้ หมายถึง สติ

ที่จะเห็นสภาพทางกาย ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

อันนี้ ที่เป็นเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงสอนให้เราหัดดูสิ่งที่เกิดขึ้น

อยู่เรื่อยๆ เสมอๆ อย่างเช่นลมหายใจ

หรืออย่างบางที เราเดินไปไหนมาไหน  

มีวิธีเดินไหมที่ จะทำให้การรับรู้ทางกายของเรามี สติ

รู้ท่าเดินนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

เดินอย่างไร ให้มีสติชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

 

คุณจะลองกี่วิธีก็ได้ กี่ร้อยวิธีก็ได้

แต่ขอให้ได้ข้อสรุปว่า ท่าเดินนี่ มาอยู่ในใจของเรา 

ถูกสติของเรา นี่ เห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

อันนี้แค่ยกตัวอย่างเฉยๆ นะครับ จะลองทำตามหรือไม่ทำตามก็แล้วแต่

 

ลอง.. ลองวิ่งเหยาะ ดู แล้วไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

สนใจอย่างเดียวว่า ที่มีความรู้สึกกระทบๆๆ ระหว่างเท้ากับพื้น

รู้สึกอย่างไร

 

ถ้าหากว่า ความรู้สึกที่เท้ากระทบกับพื้นชัดขึ้นเรื่อยๆ 

ลองดูว่า เห็นขึ้นมาทั้งตัวได้ไหม

 

ถ้าหากว่า จุดเริ่มต้นที่เห็นเท้ากระทบๆ ไป พาให้รู้สึกทั้งตัวขึ้นได้เอง 

อันนี้เป็นตัวอย่างนะว่า ทำให้เราเกิดสติ เห็นกายชัดขึ้นๆ 

 

พอมีสติเห็นกายชัดขึ้น อยู่กับตัวโดยอัตโนมัติ

มีสติ อยู่โดยตัวของเอง โดยไม่ต้องเค้น

ไม่ต้องพยายามเพ่ง ไม่ต้องพยายามฝืน

 

แล้วเราสังเกตต่อว่า เรารู้สึกถึงความเป็นกาย 

สักแต่ว่าอยู่ในท่าทาง อยู่ในอิริยาบถหลัก 

จะยืนเดินนั่งนอน แบบใดแบบหนึ่ง ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ไหม

 

ถ้าหากว่า เห็น สักแต่เป็นกาย อยู่ในอิริยาบถอยู่ในท่าทางหนึ่งๆ 

และจะต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ 

อันนี้ ส่งเสริมแล้ว ที่จะเห็น ความเป็นกายไม่เที่ยง

 

และกายที่ชัดขึ้นๆ จะพาไปหาอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง

คือ อารมณ์รู้สึกว่า ไม่ใช่ของเรา

สักแต่เป็นท่าทางแป๊บหนึ่ง แล้วท่าทางนั้นๆ ก็จะต้องต่างไป

ตัวนี้ จะเริ่มเข้าโหมดกายานุปัสสนาเต็มรูป

อย่างที่ฝึกมานี่ ไม่ใช่สูญเปล่านะ 

ได้สติเข้ามาอยู่กับกาย

แต่เป็นกายส่วนย่อย เป็นกายเฉพาะจุด 

ที่ไม่ได้อยู่บนเส้นทาง ไม่ได้อยู่ในทิศทาง 

ที่จะทำให้จิต หรือว่า สติใหญ่ขึ้น

 

ถ้า จิต หรือว่า สติ ใหญ่ขึ้น 

จะเห็น ทั้งกาย ทั้งตัว ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง 

ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ นี่ สำคัญมากนะ ในสติปัฏฐาน

ท่านบอกว่า พอรู้จักที่จะหายใจยาว หายใจสั้น เป็น

เห็นว่า ลมหายใจไม่เที่ยงได้ ..ให้ดูอิริยาบถต่อ

 

ซึ่งท่านตรัสไว้ชัดเจน 

อิริยาบถหลัก.. ยืน เดิน นั่ง นอน 

 

อันนี้ คนมักจะผ่านกัน มักจะไม่ได้สนใจนะว่า

จะทำให้เกิดการเห็นอาการ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้อย่างไร

 

พอไม่เห็น ก็ไม่รู้ ก็ไม่เข้าใจ 

ว่า บันไดขั้นที่ 2 ที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ในกายานุปัสสนา สำคัญอย่างไร

คือ พอคนเรา เห็นว่ากายนี้ทรงอยู่ในอิริยาบถไหน อยู่ในท่าทางไหน

ทั้งตัว มีหัว มีคอ มีหลัง มีแขน มีขา

เห็นทั้งตัวแบบสบายๆ ในท่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

 

อย่างตอนนี้นั่งอยู่ ถ้าเห็นทั้งตัว ที่กำลังนั่งอยู่ 

จิต จะเต็ม สติ จะเต็ม 

จะไม่จี้เข้าไปเฉพาะจุดแคบๆ ใจจะเปิดกว้างนะ 

 

และทิศทางที่เรามี สติ รู้สภาพความเป็นกาย ในอิริยาบถปัจจุบันแบบนี้

ชัดขึ้นๆ จะกลายเป็นเครื่องตั้งของสมาธิ

 

คือ อย่างเวลาเราตั้งใจทำสมาธิ 

เราตั้งใจบริกรรมพุทโธบ้าง ตั้งใจสวดมนต์บ้าง ตั้งใจดูลมหายใจบ้าง

แล้วเราก็มองใช่ไหมว่า อันนั้นน่ะ เป็นเครื่องตั้งสมาธิ

 

ทีนี้ ถ้าลองเปลี่ยนดู ลองปรับดู นะครับ

เอาเป็นว่า กาย ที่ตั้งอยู่ทั้งวัน นี่ 

อยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ที่เปลี่ยนท่าเปลี่ยนทางไปเรื่อยๆ นี่

 

ถ้าเรารู้ ทั้งหัว ทั้งตัว ทั้งแขน ทั้งขา ที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริงอย่างนี้

โดยความเป็นเหมือนกับ เครื่องตั้งสมาธิ

จะรู้สึกว่า จิตเต็มขึ้นเรื่อยๆ 

จะรู้สึกว่า จิตไม่คับแคบลงไปจี้อยู่กับจุดใดจุดหนึ่งนะครับ

 

แล้ว จิต ที่เต็มขึ้นเรื่อยๆ จิต ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี่

จะเห็นกาย เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ที่มีขนาดเล็ก 

ที่มีขนาดที่ จิต จะมองเห็นเป็น object ได้

 

แล้ว พอมองเห็นเป็น object นะครับ

ผลก็คือว่า สติ หรือว่า จิต ในขณะนั้นๆ 

จะเห็นว่า object นั้นๆ กำลังมีความเคลื่อนไหว 

มีความต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

ไม่สามารถเป็นตัวเดิม ไม่สามารถเป็นท่าทางเดิม 

 

ตัวนี้แหละ สติ ..ที่เริ่มเข้าที่เข้าทางของเส้นทาง กายานุปัสสนา นะครับ

 

ผู้ถาม : พอจะเข้าใจบ้างแล้วครับ

อย่างเมื่อกี้ ที่ผมฟังพี่ตุลย์ไปเรื่อยๆ แล้วก็กระดิกเท้าไปเรื่อยๆ ฃ

แล้วทีนี้ เหมือนใจนิ่งขึ้น แล้วก็เริ่มสัมผัสได้ถึง สัมผัสของร่างกายครับ

เช่น แขนที่วางอยู่บนโต๊ะ หรือว่าก้น หรือหลังที่สัมผัสเก้าอี้ อยู่ครับ

เลยสงสัยว่า นี่คือ สภาวะที่พี่ตุลย์กำลังอธิบายเมื่อกี้หรือเปล่า

 

ดังตฤณ : เอาตอนนี้เลย คือ แทนที่เราจะกระดิกเท้า หรือ กระดิกมือ

เราลองดูว่า ตอนนี้หลังตรง หรือว่า หลังงอ

ถ้า คอตั้งหลังตรงอยู่ เราจะรู้สึกถึงตัวขึ้นมาตัวหนึ่ง

ที่อยู่ในท่านั่ง ถูกไหม

 

แล้วคราวนี้ ถ้าคอตั้งหลังตรง ลองกระดิกเท้า กระดิกมือใหม่ 

อย่างรู้ว่า คอตั้งหลังตรงอยู่ด้วย แบบรู้ไปพร้อมกัน

เห็นความต่างไหม 

 

คือ ถ้าเรากระดิกเท้าอย่างเดียว ใจเรา ก็จะจี้ไปที่เท้าอย่างเดียว

แต่ถ้าเรามาอยู่ในท่านั่ง.. อิริยาบถนั่งก่อนเป็นตัวตั้ง

เราจะเห็นว่า การกระดิกมือกระดิกเท้าของเรา

กระดิกออกมาจากท่านั่ง เข้าใจความต่างไหม

 

จากเดิม ที่เรามีแค่เท้ากับมืออยู่ในใจ

ตอนนี้ เรามีทั้งตัว ที่เป็นอิริยาบถนั่ง เป็นตัวตั้ง

แล้วค่อยตามมาด้วยอิริยาบถย่อย คือ กระดิกเท้ากระดิกมือ

ตรงนี้ จิต ต่างกันนะ .. จิต จะเต็มกว่า

 

คือ ไม่ใช่ไปฝืน ไม่ใช่ไปมีความรู้สึกว่า

พยายามที่จะรู้ทั้งตัว แต่เอาความรู้สึกสบายๆ นี่ 

ถามตัวเองง่ายๆ ก่อนว่า หลังงอ หรือ หลังตรง อยู่

คอตั้งอยู่ หรือว่า มีอาการก้มอยู่ นะครับ

 

ด้วยความรับรู้แบบง่ายๆ ที่เป็นไปเอง อยู่ในปัจจุบัน 

จะทำให้เราสำรวจตัวเองได้ถูกต้องว่า ที่เรากำลังรู้อยู่นี่ 

คำว่า รู้กาย รู้อยู่ในอิริยาบถหลักขึ้นมาก่อน เป็นตัวตั้ง

หรือว่า รู้อิริยาบถย่อย เช่น เท้ากับมือเป็นหลัก

 

จิต จะต่างกัน

รู้เท้า รู้มือ จิตจะแคบ

 

แต่ถ้ารู้อิริยาบถหลัก รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ 

อย่างนี้ จิต จะใหญ่กว่า 

จิต จะเต็มกว่า สติ จะเต็มกว่า 

 

ผู้ถาม : ก็คือ รู้อิริยาบถหลัก ก่อน 

แล้วค่อยตามไป เหมือนสัมผัสถึงอิริยาบถย่อยทีหลัง


ดังตฤณ : ใช่ คือ ตอนเริ่มต้น อาจจะเห็นแค่ความแตกต่างนิดหน่อย

ว่า จิต เต็มขึ้นนะครับ

แต่ถ้าหากว่า ฝึกอยู่ในทิศทางที่ จิต จะใหญ่ขึ้นๆ 

สติจะเต็มมากขึ้นๆ 

 

นี่ ในที่สุดเราจะพบคำตอบนะว่า จิตของคนเราจะเป็นสมาธิ 

รู้ สภาพความเป็นกาย 

รู้ สภาพความเป็นใจ ได้นี่ 

ก็ต่อเมื่อ จิตยังไม่เพ่งเล็งคับแคบ

 

แต่จิต นี่ อยู่ในสภาพที่เปิดพร้อม มีความสบายมากพอนะครับ 

__________________

ปฏิบัติธรรมโดยการบริกรรมและขยับตัว เช่น ขยับนิ้ว แต่มักเผลอเปลี่ยนท่าทางบ่อย แบบนี้นับเป็นการเปลี่ยนวิหารธรรมบ่อยเกินไปไหม?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ 

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=Hq_M98an0xQ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น