วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำบุญอย่างไรให้ชาติหน้าบรรลุธรรมง่าย


ดังตฤณ : หลายท่านสนใจการเจริญสติ จริงๆพูดอย่างนี้ดีกว่า หลายท่านสนใจการบรรลุธรรม แต่ไม่ค่อยจะสนใจ หรือ ถนัดในการเจริญสติเท่าไหร่ ก็เลยอยากทราบว่า มีบุญแบบไหนมั้ย ไปทำบุญกับพระที่ไหน หรือว่า จะต้องอธิษฐานอย่างไร ชาติหน้าถึงจะได้เป็นผู้ที่มีสิทธิบรรลุธรรมเร็ว เป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีความสามารถที่จะถึงมรรค ถึงผล ได้ฌานอย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่ได้พบได้เจอในพระไตรปิฎก หรือคำบอกเล่า เสียงเล่าเสียงลือว่า มีบางท่านได้บรรลุธรรมเร็ว อย่างพวกอาจารย์เซน อะไรแบบนั้น

หลายท่านมีคำถามมาว่า ทำอย่างไรถ้าต้องเกิดไปเรื่อยๆ แล้วจะได้มีสัมมาทิฏฐิ ไปทุกชาติทุกภพ หรือทำอย่างไรจะได้พบพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ หรือถ้าไม่มีวาสนาขนาดนั้น ทำอย่างไรถึงจะได้รู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วบรรลุธรรมเร็วๆ หน่อย เพราะชาตินี้ สารภาพกันแบบแมนๆ สารภาพกันแบบลูกผู้หญิงว่า ท่าทางตัวเองอาจไม่ค่อยสันทัดกรณีเดินทางไปนิพพาน ยังรู้สึกอยากจะทำโน่น อยากจะทำนี่ แล้วก็มีกิเลสที่ทำให้รู้ตัวว่า ทำท่าจะไปไม่ถึงไหน ก็เลยเกิดความอยากจะหวังพึ่งพาตัวเองในอนาคต อัตตาตัวตนในอนาคตว่า จะได้มีความสบาย คือช่วยให้ตัวเองเอาตัวรอดได้แบบลัดๆ สั้นๆ ง่ายๆ

เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เอาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “เวไนยสัตว์ หรือผู้ที่มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ มีหลายพวก หลายเหล่า” บางพวก มีธุลีในดวงตามาก อันนั้นท่านก็จะไม่พยายาม ไม่ขวนขวายที่จะไปโปรด แต่บางพวกมีธุลีในดวงตาน้อย คือพูดไม่เท่าไหร่ เขี่ยผงไม่เท่าไหร่ ก็จะสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ อย่างที่ยกเป็นตัวอย่างกันมากเลยก็เช่นท่านพาหิยะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสแค่บอกว่าอย่ายึดมั่นอะไรๆ เป็นตัวเป็นตน เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน คิดสักแต่ว่าคิด สุขสักแต่ว่าสุข ทุกข์สักแต่ว่าทุกข์

ฟังแค่นี้ จิตของท่านซึ่งมีธุลีในดวงตาน้อยมากก็สามารถที่จะสว่างโพล่ง คือรู้ว่า สิ่งที่เป็นเปลือกห่อหุ้ม หรือเป็นเหยื่อล่อที่เป็นกายเป็นใจอย่างนี้ นึกว่าเป็นตัวนึกว่าเป็นตน จริงๆ แล้วเป็นแค่ของหลอก แล้วจิตก็ทะลุออกไป และบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าในนาทีแรกๆ ที่ได้พบพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

ตรงนี้ที่ผมจะเอามาเป็นตัวตั้งว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกเวไนยสัตว์ที่บรรลุธรรมได้ง่ายๆว่าเป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย

ผู้มีธุลีในดวงตาน้อยหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า มีอุปาทานอยู่น้อย มีความยึดมั่นสำคัญผิดน้อย ความยึดมั่นสำคัญผิดของจิต อาการยึดมั่น ถือมั่น ตัวนี้แหละ ที่เราจะเอามาเป็นประเด็นคำตอบ

ถ้าตราบใดจิตยังมีความยึดมั่นถือมั่นสูง ยังมีอัตตาตัวตน อยากได้โน่น อยากได้นี่ ไม่คิดแบ่งใคร โกรธใครแล้วคุมแค้นอยู่เป็นชาติๆ แบบนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นมาก เป็นผู้มีธุลีในดวงตามาก หนาเตอะเป็นโคลนป้ายตาเลยทีเดียว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า กลุ่มนี้ท่านปล่อยไป

แต่พวกที่มีธุลีในดวงตาน้อย ท่านจะเข้าหา คือไม่ต้องมาเข้าเฝ้า ไม่ต้องพยายามเข้าเฝ้า บางทีพระองค์เสด็จไปโปรดเองเลย คือตอนตีสี่ของทุกเช้า พระพุทธเจ้าท่านจะแผ่พระญาณไปว่าวันนี้ควรโปรดใคร ถ้าพบผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ท่านก็จะไปโปรดคนนั้นก่อน นี้เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ คือไม่ได้ขอ แต่ว่าไปโปรดเองเลย ด้วยความเป็นเส้นทางแบบที่ท่านปรารถนาไว้ คือ อยากจะช่วยขนสัตว์ออกจากสังสารวัฏให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วก็พวกที่เหมาะจะให้ท่านช่วย ก็คือพวกที่มีธุลีในดวงตาน้อยนั่นเอง

ถามว่า ทำบุญแบบไหน ถึงจะให้เป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ... เอ้า ตั้งโจทย์ใหม่ ประพฤติตนอย่างไร ทำกรรมแบบใด จึงจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่ำๆ ไม่ใช่ผู้มีความยึดมั่นถือมั่นสูง ไม่ใช่ผู้มีอัตตามาก

ถามตัวเองง่ายๆ เลยว่า ใจของเรา ถึงวันนี้เดี๋ยวนี้ มีความยึดมั่นถือมั่นสูงแค่ไหน มีอัตตาแรงเพียงใด ถ้าหากว่าได้คำตอบว่า อัตตาลดลงเรื่อยๆ มีความรู้สึกขึ้นมาเป็นวูบๆว่า กายนี้ ใจนี้ เหมือนกับไม่ใช่ตัวของเรา เหมือนกับอะไรอย่างหนึ่งที่กำลังแสดงความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนอยู่ เห็นแวบๆ นานๆทีเห็นที แต่ว่าความรู้สึกโดยรวมถึงขณะปัจจุบัน ดูเหมือนกับว่า อัตตาเบาบางลง ไม่แรงเหมือนแต่ก่อน ไม่ใช่คนที่มีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ เหมือนช่วงที่ก่อนจะสนใจปฏิบัติธรรม ก่อนที่จะสนใจธรรมะ

เอาความรู้สึกโดยรวมตรงนี้ เป็นเครื่องวัด เป็นมิเตอร์ แล้วตอบตัวเองได้แบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปบอกคนอื่น ไม่ต้องอวดคนอื่น ตอบตัวเองนี่แหละ บอกตัวเองเงียบๆ อยู่ข้างในนี่แหละว่า เออ อัตตาของเราเบาบางลงจริงๆ ข้างในเหมือนใสๆ ข้างในเหมือนเบาๆ โล่งๆ ตัวเหมือนกับไม่ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้จมลงมากเกินไป ใจสบายขึ้น มีความทุกข์น้อยลง

ความรู้สึกตรงนี้แหละ ความรู้สึกเบาหัวอก ความรู้สึกว่า อัตตามันมีน้ำหนักน้อยลงนี่แหละ ตัวนี้คือมิเตอร์วัดว่า กรรมของเรา บุญของเราที่ผ่านมา สะสมมาในทางสละออกได้มากพอที่จะยึดมั่นถือมั่นน้อยลง และมีสิทธิที่จะไปเกิดใหม่ แล้วบรรลุธรรมได้ง่าย

จริงๆ แล้ว คำที่เป็นคีย์เวิร์ด (
Keyword) ในการบรรลุมรรคผล พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้หมดแล้ว อย่างเช่นคำว่า ยึดมั่นถือมั่นสูง จะเป็นตรงกันข้ามกับ ยึดมั่นถือมั่นน้อย แล้วที่จะยึดมั่นถือมั่นน้อย พระพุทธองค์ท่านมีคีย์เวิร์ดของท่านคำหนึ่งคือคำว่า “สละออก

“สละออก” เป็นแนวทางของการให้ทาน ถือศีล แล้วก็เจริญสติ ในแบบพุทธ สละออกคำเดียวเลยนะ นึกถึงคำว่าสละออก ใจจะเบา ถ้าใจเบาเป็น ถ้ารู้ทาง ได้ยินคำว่า สละออกแล้ว เออ เข้าใจ คือการยก เอาของหนักๆ ออกจากอก อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มีความเป็นพุทธที่อยู่บนเส้นทางการให้ทาน รักษาศีล แล้วก็เจริญสติ

แต่ถ้าวันๆ แม้แต่กระทั่งว่า เราจะมีความปรารถนา มีความอยากเหลือเกินที่จะบรรลุมรรคผล มีความอยากได้ใคร่ดี เหมือนกับคนที่ท่านบรรลุมรรคผลกัน มีแต่อยากๆๆ แบบนี้ ใจไม่มีทางเบา เราจะพบว่า ใจที่มีความอยาก คือใจที่มีอัตตาตัวตน มีความยึดมั่นถือมั่นสูงเสมอ ยิ่งอยากมากเท่าไหร่ ยิ่งอยากแรงเท่าไหร่ อัตตายิ่งมาก อัตตายิ่งแรง เป็นเงาตามตัวไปเท่านั้น

ถ้าอยากจะทำบุญในแบบที่จะบรรลุธรรมง่ายในชาติต่อไป หรืออาจในชาตินี้ก็ได้ ตอนท้ายๆ ใครจะรู้ ถ้าหากว่าทำบุญตรงจุด ทำบุญในแบบที่สำรวจใจตัวเองไปด้วยว่า บุญที่เราทำ เป็นบุญแบบสละออกหรือเปล่า ถ้าใจเบา ถ้าใจโล่งขึ้นทุกที อย่างนี้ถือว่าเป็นบุญในแบบสละออก แต่ถ้ายิ่งทำบุญ อัตตายิ่งแรง ยิ่งอยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้มรรค อยากได้ผล อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ ตามอำนาจบันดาลของกิเลส อย่างนี้บุญแบบนั้นที่ทำมา จะทำมามากขนาดไหนก็ตาม อย่างมากก็เป็นเงาให้ทอด เป็นต้นของเงาที่ทอดสู่สวรรค์เท่านั้น ยังไปไม่ถึงนิพพาน

มาจาระไนกันสั้นๆ แบบกระทัดรัด รวบรัด การให้ทานแบบไหน ที่เป็นการสละออก
การให้ทานแบบที่ท่านตรัสว่า นึกอยากช่วย แล้วลงมือช่วยทันที อย่างนี้เป็นการสละออก นึกอยากให้เปล่าโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังว่าจะให้เขามาตอบแทนอะไรเรา หรือกระทั่งใจใหญ่ขนาดรู้ทั้งรู้ เดี๋ยวอาจมีสิทธิโดนเนรคุณแต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าอยากช่วยเสียอย่าง นี่เรียกว่าสละออก

ทาน ถ้าไม่หวังว่า ลงทุนไปร้อยจะได้มาล้าน ถ้าไม่หวังว่า ลงทุนกับวัดนั้นวัดนี้ที่โฆษณาว่าจะได้ไปนิพพานเร็ว หรือว่าจะได้สวรรค์เป็นรางวัลตอบแทน อะไรต่างๆ ถ้าเราไม่ไปอยากได้ใคร่ดี ในแบบที่เขาโฆษณาหลอกลวง อย่างนี้เรียกว่า การรู้ทันการให้ทานแบบผิดๆ

การให้ทานแบบถูกเป็นอย่างไร ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าบอก เป็นการให้ทานโดยมีจุดประสงค์เดียวคือ ทำลายความตระหนี่ การทำลายความตระหนี่ทิ้ง ก็คือการสละออกนั่นแหละ พอให้ทานจนใจเบาเป็น แม้กระทั่งใครทำให้โกรธเคืองก็ ไม่เป็นไร ให้อภัยได้ง่ายๆ นี่สละออกได้ง่ายๆ ความโกรธแค้น คุมแค้น หรือว่าพยาบาท พอรู้สึกว่าใจเบา ใจโล่ง อยากจะให้สะอาดมากกว่านั้น ก็สละออกซึ่งความอยากดิบๆ ประเภทที่อยากจะไปฆ่าแกง อยากจะไปทำร้ายร่างกายหรือจิตใจใครเขา หรือความอยากที่จะไปหลอกลวงชาวบ้าน ไปคดโกง ไปขโมย หรือว่า ผิดลูกเขาเมียใคร หรือว่าอยากจะโกหก เอาประโยชน์เข้าตัว อยากจะนินทาว่าร้ายใครให้เขาเสียหาย พูดจาหยาบคาย หรือพูดจาเพ้อเจ้อ ถ้าสละความอยากจะพูดแบบที่จิตเศร้าหมองแบบนั้นได้ ก็เป็นการรักษาศีลเพื่อที่จะทำให้ใจเบาลง สะอาดขึ้น แล้วก็มีเรื่องของการเสพสุรา เมายาอะไรต่างๆ ถ้าหากว่าสละสิ่งสกปรกเหล่านี้ สิ่งที่รุงรัง สิ่งที่รกจิตรกใจเหล่านี้ออกไปได้ ถือว่าเป็นการทำบุญในแบบที่จะทำให้บรรลุมรรคผลเร็วเช่นกัน

แต่การที่ใจเราจะสละออกในแบบที่จะได้มรรคได้ผลจริงๆ ไม่ใช่แค่การให้ทาน ไม่ใช่แค่การถือศีล เพราะการสละออกในระดับของการให้ทาน กับระดับของการถือศีล เป็นการสละออกแบบหยาบๆ เป็นตัวตนแบบหยาบๆ เป็นตัวตนแบบที่ร้ายๆ เราสละตัวตนร้ายๆ ออกไปเท่านั้น แต่ยังไม่ได้สละ อุปาทาน ว่ามีตัวตนออกไปเลย

การที่จะให้ใจของเรามีอาการแผ่ผาย และสละออกอย่างแท้จริง สละอุปาทานในตัวตนได้ จะต้องเจริญสติ ซึ่งไม่ต้องตกใจไป เราอาจไม่ขยัน หรือว่ารู้สึกว่าจิตใจไม่พร้อมจะมานั่งสมาธิ ไม่พร้อมจะไปเดินจงกรมอะไรต่างๆ เอาเป็นแค่ว่ามีสติขึ้นมาแวบๆ เห็นว่าที่กำลังรู้สึกอยู่เป็นตัวของเราชัดๆ ร่างกายของเราชัดๆ ถ้าสำรวจเข้าไป บางทีอาจวันละครั้ง อาจจะวันละหน ทีละนิดทีละหน่อย เออ ... ลมหายใจมีเข้ามีออก แล้วถ้าตอนตาย เราเห็นว่าลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก พอออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีก ก็แปลว่ามันแสดงความไม่ใช่ตัวเราออกมาเป็นที่บริบูรณ์แล้ว

แค่คิดแบบนี้ง่ายๆ พูดง่ายๆ มีมรณสติ นิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสละออกซึ่งอุปาทาน ว่ากายนี้ใจนี้ เป็นตัวเป็นตนของเรา กายนั้นใจนั้น เป็นตัวเป็นตนของเขา พูดง่ายๆ ว่า เจริญสติทีละนิดทีละหน่อย วันละนิดวันละหน่อย จนกระทั่งรวมๆ แล้วหลายเดือนผ่านไป หลายปีผ่านไป ใกล้ๆ จะตาย รู้สึกไม่ใช่กายของเราจริงๆ ด้วย นี่กำลังจะตายดับอยู่เดี๋ยวนี้ ตัวนี้แหละ ตัวใกล้ๆ ตาย มีความหมายมาก เพราะจิตขณะใกล้ตาย จะมีความหนักแน่น เป็นตัวตัดสิน เป็น
direction เป็นตัวกำหนดทิศทางใหม่ว่าเกิดครั้งต่อไปจิตที่มาสืบต่อ ที่มาเกิดสืบต่อจากจิตสุดท้าย จะเป็นจิตแบบไหน

พูดง่ายๆ แค่เจริญสติแบบนึกถึงความตาย วันละนิดวันละหน่อย หรือ เดือนละครั้งก็ได้ เดือนละครั้งนี่กว่าคุณจะตายก็ได้หลายสิบครั้งนะ ก็เริ่มทำใจได้ ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ที่ยอมไม่ลง ที่จะตาย กลัวตาย กลัวไปเจออะไรข้างหน้าก็ไม่ทราบ

คนที่เจริญสติแล้ว รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออก เดี๋ยวก็ต้องหยุด กายนี้ เดี๋ยวก็ต้องพัง จะค่อยๆ เกิดความรู้สึกสละออกในแบบที่เป็นการสละอุปาทาน ไม่ใช่แค่สละตัวตนร้ายๆ ออกไป แต่เป็นสละอุปาทานว่า กายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตนของเรา ความสามารถที่จะรู้ได้เห็นได้ แล้วก็สละอุปาทานได้ ตัวนี้แหละที่จะทำให้เกิดปัญญาข้ามภพข้ามชาติต่อไปนะ

วันนี้ หัวข้อประเด็นที่เอามาพูดถึงคนที่บอกว่าตัวเองฝ่อ ท้อ ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองจะขยันเจริญสติอะไรได้ในชาตินี้ ก็เอามาพูดพอสังเขปให้เกิดความเข้าใจ อย่างน้อยเห็นภาพนิดหนึ่งว่า การบรรลุธรรมไม่ใช่การได้มา ตรงกันข้าม เป็นการเสียไป  ... เสียสละออก ซึ่งต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของความยึดมั่นถือมั่น ว่าอะไรๆ เป็นของๆ เรา เป็นตัวของเรา

จำไว้ว่า บุญที่จะทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้ ไม่ใช่บุญที่ได้ไปทำกับพระอรหันต์องค์นั้นองค์นี้ ไม่ใช่บุญที่เกิดจากการไปวัดนั้นวัดนี้ ไม่ใช่บุญที่เกิดจากการทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แบบใดแบบหนึ่งอย่างเดียว แต่ต้องทำหลายๆ อย่าง หลายอย่างคือให้ทานด้วย รักษาศีลด้วย แล้วก็เจริญสติด้วยในแบบที่ใจจะเปิดออก สละ แล้วก็แผ่ออกไป
!

1 กันยายน 2561
https://www.youtube.com/watch?v=hOkKLBWII54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น