วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

สุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ สุข ในที่นี้ หมายถึง กามสุขด้วยหรือไม่


ดังตฤณ : ไม่ใช่นะครับ กามสุขเป็นคนละประเภทกัน 
กามสุข มีความหนืด มีความเหนียว มีความหยาดเยิ้ม
มีความสกปรก เจืออยู่ด้วยความเป็นอกุศลธรรม
อกุศลธรรมในที่นี้ไม่ใช่บาป ถ้าหากอยู่ถูกฝาถูกตัว คู่ผัวตัวเมีย

แต่ที่ท่านว่า กามอยู่ใกล้กับอกุศล เพราะอะไร
คิดง่ายๆ ถ้าหากเราไปเอาลูกเขาเมียใคร
ลูกที่อยู่ในความดูแลอารักขาของพ่อแม่
พ่อแม่ยังเลี้ยงดู ยังมีกรรมสิทธิ์ในตัวลูกอยู่
หรือ ไปเอาเมียของคนที่มีสามีแล้วมาเสพกาม
ก็กลายเป็นประตูนรกเลย
นี่ก็เป็นสาเหตุที่ท่านว่า กามสุข อยู่ใกล้
เฉียดกันนิดเดียวกับอกุศลธรรมนะครับ

แล้วจิตที่หมกมุ่นอยู่ในกามสุขมากเกินไป
จนกระทั่งเกิดความมัวมน เกิดความฟุ้งซ่าน
เกิดความรู้สึกหัวยุ่ง เกิดความรู้สึกแน่นในอก อึดอัด
รู้สึกว่าสุขภาพร่างกายอ่อนแอลง
ตรงนี้ เรียกว่าหมกมุ่นมากเกินไป
นี่ก็ฟ้องถึงความเป็นอกุศลธรรมของกามสุขนะครับ

แต่ถ้ากามสุขที่แค่ ทำให้อ่อนเพลีย หรือแค่เกิดความเคลิ้มไป
(เช่น) ฟังเพลงเพราะๆ แล้วทำให้เกิดความเคลิ้มฝัน จินตนาการไป
ก็ไม่ได้เป็นอกุศลมากนัก ไม่ได้ใกล้กับบาปมากนัก
แต่ว่าไม่เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ
เพราะว่าเหตุให้เกิดสมาธิ เป็นสุขอันเกิดแต่วิเวก

หมายความว่า สภาพทางกายต้องเบา แล้วก็ห่างออกมาจากกาม
สภาพทางใจต้องไม่มีอาการตรึกนึกถึงกามนะครับ

ตรงนี้แหละที่เป็นจุดแบ่งแยกเลยนะ
สุข ระหว่างกามสุข กับ วิเวกสุข หรือ เนกขัมมสุข แบ่งแยกกันตรงนี้
คือตัดกันตรงที่พระสารีบุตรท่านเคยกล่าวไว้ บอกว่า
กาม ยิ่งเสพ ยิ่งอ่อนแอ
ส่วนสมาธิหรือว่า การมีสติ
ยิ่งเสพยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งมีกำลัง
จิตยิ่งมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมที่จะสละ
หรือปลดเปลื้องต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงออกไปนะครับ

++ ++ ++ ++ ++


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ของขวัญจากสมาธิ
▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀
วันที่ 25 พ.ค. 2562


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น