วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อย่าล็อคอยู่กับความไม่ยินดียินร้าย ให้สังเกตความไม่เที่ยง

ถาม : เวลาที่อารมณ์ของเราเป็นแบบ ไม่มีความรู้สึกว่าทุกข์หรือสุข เวลาได้ยินหรือว่าเห็นก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่ทราบว่าอารมณ์แบบนี้มันเป็นอารมณ์อย่างไรครับ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/XlWUPYj9E90
เสวนาดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๗ | คำถามที่ ๔.๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖

ดังตฤณ: 
พระพุทธเจ้าจำแนกความรู้สึกไว้เป็น ๓ พวกใหญ่ ๆ  คือ
มีความรู้สึกยินดี 
เป็นสุข
มีความรู้สึกยินร้าย 
เป็นทุกข์ มีความอึดอัด
และก็มีความรู้สึกคือไม่ยินดียินร้าย เรียกว่าเป็น
อทุกขมสุขเวทนา 


ตัวอทุกขมสุขเวทนานี้ เราดูว่ามันไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง จะชื่นใจก็ไม่ใช่ สบายก็ไม่ใช่ จะอึดอัดหรือว่าเกิดความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์มันก็ไม่เชิง มันมีแต่ความรู้สึกเหมือนกับอยู่เฉยๆ ยืนอยู่นิ่งๆ ไม่หือไม่อือ ไม่มองซ้าย ไม่มองขวา ตัวความรู้สึกไม่ยินดียินร้าย รู้สึกเฉยๆก็ยังมีแยกย่อยออกไป บางทีมันมาจากจิตที่มีคุณภาพดีระดับหนึ่งแล้ว มันมีความเฉยในแบบที่เป็นปัญญา กับจิตอีกแบบหนึ่งคือจิตธรรมดาๆ ที่บางครั้งมันรู้สึกไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากซ้ายไม่อยากขวา ไม่อยากโน่นไม่อยากนี่

อย่างของคุณเนี่ย บางครั้งที่รู้สึกเฉยๆ มันเป็นความรู้สึกเฉยๆที่ออกมาจากความไม่สนใจ ไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว มันคล้ายๆว่าลอยอยู่ในอากาศ เหมือนเห็นตัวเองอยู่คนละโลกกับคนที่มีอยู่ทั่วไป และบางครั้งเรารู้สึกว่า เราแยกตัวออกไปเป็นต่างหากนานพอสมควรด้วยนะ คือมันจะมีความนิ่งแบบหนึ่ง ที่เรารู้สึกว่านี่มันเป็นอีกภาวะหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร 

ทีนี้เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านให้ดูนี่ ท่านให้ดูว่า แม้กระทั่งความรู้สึกว่าหลุดออกจากโลก พ้นไปจากโลก มันก็เป็นแค่ภาวะของจิต เป็นความปรุงแต่งทางจิตชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแป๊บหนึ่ง คำว่าแป๊บหนึ่งของพระองค์ บางทีมันอาจจะเป็นชั่วโมงๆ ก็ได้นะ อาจจะนานแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่ขอให้สังเกตว่าเดี๋ยวมันก็กลับมา กลับมาคิดอะไรแบบโลกๆใหม่ นี่ก็เป็นเครื่องยืนยัน เป็นหลักฐานว่าความรู้สึกที่พ้นออกไปจากโลกตรงนั้นเนี่ย มันเป็นแค่ของชั่วคราว ตราบใดมันยังตกกลับมาสู่ภาวะแบบโลกๆได้ ภาวะแบบนั้นไม่เที่ยง ต้องนับว่าไม่เที่ยงแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่ามันอยู่นานแค่ไหน

เรื่องของเรื่องเนี่ย มันเหมือนกับคุณไปมีความยินดีในภาวะนั้นอยู่พอสมควร แล้วมันเหมือนสะสมกำลังที่จะรักษาความนิ่งแบบนั้นมานานพอสมควร มันก็เลยมีความรู้สึกเหมือนกับเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตเข้าไปอยู่ตรงนั้น เข้าไปอยู่กับความพอใจตรงนั้น ทีนี้เรายังมาสร้างความพอใจใหม่ได้ คือทำความเข้าใจว่าภาวะนิ่งแบบนั้น จะตั้งอยู่นานแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดแล้ว มันก็จะตกกลับมาคิดอะไรแบบโลกๆ 

ลองสังเกตนะ บางทีมันเหมือนกับว่างๆ ไม่มีความคิดอะไรเลยอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่พอมันตกกลับมาคิดอยากโน่นอยากนี่แบบโลกๆ มันกลายเป็นฟุ้งซ่าน เหมือนมีอะไรยุ่งเหยิงอยู่ในหัวเต็มไปหมด  คล้ายๆว่าตอนแรกมุงหลังคาไว้ดี ฝนตกลงมาเข้ามาไม่ได้ แต่พอหลังคาเปิดปุ๊บมันรั่วเข้ามา อะไรก็ไม่รู้ นี่แสดงให้เห็นว่าภาวะตรงนั้นยังไม่ใช่ภาวะของสมาธิที่มีคุณภาพจริง พอเราพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ ภาวะแบบนี้หมดไปเมื่อไหร่ หายไปเมื่อไหร่ มันกลายเป็นภาวะฟุ้งซ่านกระเจิดกระเจิง มันก็จะได้มีแก่ใจสังเกต แล้วก็ปลูกฝังความพอใจใหม่ คือมาดูความไม่เที่ยงดีกว่า

ที่ผ่านมามันมีความพอใจที่จะล็อคอยู่ในสภาวะแบบนั้น แล้วพอภาวะแบบนั้นพัง มันก็เหมือนกับทำนบแตก เขื่อนพังน้ำก็เข้ามา  ช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่มา ๒ – ๓ ครั้งมันก็ต่างไปแล้วนะ มันก็เริ่มต่าง คือเวลาที่ความฟุ้งซ่านมันกลับมา มันกลับมาไม่มากเท่าเดิม แต่ก่อนพอความฟุ้งซ่านมันกลับมา สังเกตเห็นไหม คือบางทีมันไม่ใช่ความคิดของเรา มันเหมือนมีความคิดอะไรปะปนมั่วเข้ามาหมด แล้วมันไม่ใช่ตัวเราเป็นคนคิดน่ะ แต่นี่พอมีความฟุ้งซ่านแล้วเรายังเป็นตัวของตัวเอง ก็เริ่มเห็นว่ามันมีกลุ่มก้อนความคิด ความฟุ้งซ่าน แล้วก็ค่อยๆเบาบางลง คือมันไม่ใช่รบกวนเราอยู่ตลอดเวลา 

แต่ก่อนของคุณมันเป็นสภาพปรุงแต่งจิตชนิดแปลกแยก มันแปลกแยกออกจากโลก มันจะมีความรู้สึกด้วยว่าคล้ายๆกับมีการเชื่อมกับอีกมิติหนึ่งที่มันแตกต่างไป มันก็เลยมีความพอใจ เอาง่าย ๆ เลย ถามตัวเองง่ายๆเลยว่า ความพอใจตรงนี้มันเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน หรือเป็นไปเพื่อความสงบ มันบอกตัวเองได้เลยนะ ว่ามันฟุ้งซ่านไป กระเจิดกระเจิงไป เปรียบเทียบกับตอนนี้ที่เราค่อยๆเข้ามาดู ค่อยๆเข้ามาเห็น ค่อยๆเข้ามาศึกษาเรื่องความไม่เที่ยงเนี่ย มันมีความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความพอใจที่มันเป็นของจริง 

เนี่ย อย่างความรู้สึกตรงนี้ มันเป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เป็นคนธรรมดาที่มันมีความพร้อมที่จะทุกข์น้อยกว่าคนทั่วไป คือมันมีเหตุของความเป็นอิสระจากอุปาทาน เหตุนั้นก็คือเราเห็นความจริง เห็นความจริงธรรมดาๆ แต่เดิมมันไขว่คว้าอะไรที่มันพิเศษ วิเศษ มันลงเอยตรงความฟุ้งซ่าน บางทีอย่างตอนก่อนจะนอน บางทีคุณจะรู้สึกเหมือนมีกำลังอะไรไม่รู้ กำลังขับดันออกมาจากข้างใน มีกำลังมาก แต่เป็นกำลังมากในแบบที่ทำให้นอนไม่หลับใช่ไหม? มันเหมือนกับจะต้องทำอะไรแล้วยังทำไม่เสร็จ ทำอะไรก็ไม่รู้ เหมือนมีภาระ เหมือนมีอะไรที่เรายังต้องจัดการ

ผู้ถาม : เป็นบ่อยมากเลยครับ

ดังตฤณ: 
นั่นแหละ แสดงให้เห็นว่าการพยายามที่จะอยู่กับมิติอื่น มันเป็นไปเพื่อความทุกข์ คนที่มีความสุขต้องนอนสบาย นี่นอนแล้วมันมีความดิ้นไปดิ้นมา คือร่างกายไม่ได้ดิ้นนะ แต่เราจะรู้สึกเหมือนข้างในมีกำลังใหญ่ๆอะไรอย่างหนึ่ง ที่มันต่างจากมนุษย์ มันผิดจากธรรมดา

ผู้ถาม : แล้วการแก้ไขคือต้องทำอย่างไรครับ

ดังตฤณ: 
นี่ไง ก็คือมาปลูกฝังความพอใจใหม่ ที่จะเห็นความไม่เที่ยงของจิต ที่จะเห็นความไม่เที่ยงของอาการฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่ไปอยากล็อค ล็อคไว้อยู่ในสภาพที่มันเฉยเมยกับโลกธรรมดา เลิกที่จะล็อคตัวเองเข้ากับอะไรอีกมิติหนึ่งที่มันพิเศษหรือวิเศษวิโส กลับมาเป็นคนธรรมดาที่มันเป็นอิสระจากทุกข์ดีกว่า 

ที่คุณฟังมาและก็ที่มาเจริญอาปานสติด้วยกัน มันละลายไปได้เยอะแล้วนะ แต่ลองสังเกต ตอนแรกๆ ที่ทำอานาปานสติ มันจะมีใจต่อต้าน คือหมายความว่า ความที่จะยอมรับสภาพว่าตรงนี้มันฟุ้งซ่าน ตรงนี้มันสงบ ตรงนี้ไม่สงบ อะไรต่างๆ นี่มันจะมีใจฝืนอยู่ เพราะเราต้องการที่จะล็อค ล็อคอยู่กับภาวะที่มันดูวิเศษกว่านั้น

แต่ตอนหลังๆ มันเริ่มเข้าถึงภาวะที่จะยอมรับ ความสามารถที่จะยอมรับสภาพที่มันกำลังปรากฏที่มันเกิดขึ้นอยู่จริงๆ บางทีมันฟุ้งซ่านอยู่ก็จริง แต่เรามีความสามารถที่จะยอมรับตรงนั้นได้ แต่ก่อนมันยอมรับไม่ได้ มันมีความรู้สึกเหมือนกับต้องสู้กับมัน เดี๋ยวมันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เจริญอานาปานสติไป แล้วก็ดูไปในระหว่างวัน เวลาที่มันเกิดอะไรขึ้น เกิดแรงอัด มันจะกลับมาอีกพวกแรงอัดอะไรอย่างนี้ แต่ว่าก็มองไปว่าตอนนี้อัดมาก ลมหายใจนี้อัดมาก ลมหายใจต่อมาอาจจะยังอัดมากอยู่ แต่สิบลมหายใจต่อมามันจะเริ่มแสดงความไม่เที่ยง จะเข้มข้นขึ้นหรือเบาบางลงก็แล้วแต่ เราเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง พอเห็นว่าอะไรๆ ไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ จิตจะเป็นอิสระ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น