วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พูดอย่างไม่หลง ต้องตั้งต้นที่รู้อิริยาบถใหญ่ก่อน

ถาม : สนทนาอย่างไร ให้จิตเป็นกุศล

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/eh50KCyeV3s
ดังตฤณวิสัชนา Live #๘ ทางเฟสบุ๊ก
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙


ดังตฤณ: 
การเจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในสติปัฏฐานสูตรนะครับ มันมีข้อหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยผ่านตา แต่ไม่ได้เอาไปทำจริง แล้วก็จะไม่เข้าใจว่าเราจะเจริญสติส่วนนั้นไปเพื่อได้บุญอย่างไร ส่วนนั้นก็คือ ส่วนของ สัมปชัญญะบรรพ การเจริญสติทางกายนี่แหละ

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ตอนอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน ให้รู้ เพื่อที่จะเอาสติของเราเข้ามาที่กายในขณะที่กำลังปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้ก่อน และพอข้ามไป สัมปชัญญะบรรพ เนี่ย พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ว่าจะมีอาการเคลื่อนไหว จะงอแขน จะหมุนหัว หันหน้าไปทางซ้ายหรือทางขวา หรือว่าจะมีการเจรจาพูดคุยอย่างไรอยู่ ให้มีสติรู้ไปตามนั้น คือให้เอาอาการทางกายเป็นตัวตั้ง เป็นจุดสังเกตเพื่อให้เกิดสติ

ถ้าเราเริ่มฝึกที่จะเจริญสติในขณะที่กำลังพูด กำลังขยับเคลื่อนไหวต่างๆอยู่คนเดียวก็ตาม หรือว่าอยู่กับคนอื่นก็ตาม อยู่กับคนใกล้ชิดก็ตาม หรืออยู่กับคนแปลกหน้าก็ตาม กำลังคุยกันเรื่องส่วนตัวก็ตาม หรือว่าคุยกันเรื่องการงานก็ตาม แล้วเราสามารถรู้อยู่ รู้อยู่อย่างนี้นะ นั่งอยู่แล้วก็มีอาการขยับปากพูดไป คือไม่ใช่ว่าเราจะไปจดจ้องอยู่ที่ริมฝีปากนะ แต่เรามีความรู้สึก ที่ตัวนั่งนี้ขึ้นมาก่อน จากนั้นเนี่ย ค่อยรู้ว่าตัวนั่งเนี่ยมันอยู่ในอาการพูดนะ คือไม่ใช่ไปจดจ้องที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ให้รู้ว่าในอาการนั่งเนี่ย ร่างกายมันขยับพูดอยู่ ขยับอยู่ในอาการพูด

ตัวที่มันมีความรู้อยู่ว่ากำลังพูดเนี่ย ไม่ใช่ว่าจิตเราจะคับแคบลงมาอยู่ที่จุดใจจุดหนึ่งของร่างกาย มันมีสติคิดพูดไปตามปกตินี่แหละ แต่ในอาการมีสติคิดพูดไปตามเรื่องตามราวนะ มันมีความรู้สึกถึงร่างกายอยู่ด้วย มันมีความรู้สึกว่า เออนี่กำลังขยับ ขยับปาก แต่ร่างกายส่วนอื่นๆ อวัยวะส่วนอื่นๆมันอยู่นิ่ง  หรือบางทีมีอาการขยับท่าทาง ก็รู้ไปตามนั้น

พอรู้ไปตามนั้น เกิดอะไรขึ้น เกิดความมีที่ตั้งของสติ สมมุติว่ากำลังคุยๆ เจรจาเรื่องการงานไปแล้วเนี่ยนะ นึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร อย่างน้อยที่สุดเรากลับมามีสติอยู่เงียบๆ แล้วอาการมีสติอยู่เงียบๆ นะ มันจะทำให้จิตมีความต่อเนื่อง มีความไหลลื่น มีความรู้ว่า ณ จุดนั้น ควรจะพูดถึงอะไร หรือถ้าหากว่า ณ จุดนั้น ควรจะเงียบ จิตก็จะฉลาดพอที่จะเงียบ ไม่งั้น บางทีเนี่ย ตอนไม่มีสติ ตอนขาดสติเนี่ย ทั้งๆที่ไม่มีเรื่องควรพูด มันก็หาเรื่องพูดไป นี่เรียกว่าโมหะมันทำงานแล้วนะ มีแรงขับดันอยู่ตลอดเวลา นึกว่าจะต้องพูดตลอดเวลา

การพูดตลอดเวลา ไม่ได้แสดงความฉลาดเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความฉลาดทางจิตนะ ความฉลาดทางจิตที่แท้จริงเนี่ย มันจะรู้ว่าจังหวะไหนควรพูดอะไร แล้วจังหวะไหนควรเงียบ ความเงียบที่ถูกจังหวะ เป็น ความฉลาดทางจิต ชนิดหนึ่ง

ถ้าหากว่าเราทดลองตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนะ  คือ นั่งอยู่รู้ว่านั่งอยู่ แล้วขยับปากพูดรู้ว่าท่านั่งนี้มันขยับปากพูดอยู่ ไม่ใช่เพ่งไปที่ริมฝีปาก อันนี้ย้ำนะ หลายคนเลยที่พยายามจะมีสติรู้ อาการพูดเนี่ย ไปพยายามเพ่งที่ริมฝีปาก เสร็จแล้วมันก็ไปบล็อคความคิดหมด ว่าจะพูดอะไรดี การที่มีจิตใจคับแคบ เพ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนะ มันไม่ใช่การเจริญสติ แต่มันเป็นการทำให้จิตคับแคบอย่างสูญเปล่า

แต่ถ้าเรารู้ว่ามีอาการนั่ง แล้วรู้ว่าอาการนั่งนี้ขยับปากพูดอยู่ สติมันจะเกิดขึ้น สติที่เกิดขึ้นจะทำให้จิตเบา สติที่เกิดขึ้นจะทำให้ความคิดไหลอย่างต่อเนื่อง อย่างมีเป้าหมายนะ แล้วเป็นระเบียบ แล้วก็มีความฉลาดทางจิต รู้ว่าควรจะพูดอะไร ใช้คำว่าอะไร สิ้นสุดประโยคที่ตรงไหน และที่สำคัญ คือฉลาด ที่จะรู้ว่าควรเงียบเมื่อไหร่ ไม่ใช่พูดอยู่ตลอดเวลา นี่แหละมันถึงจะคงความเป็นกุศลไว้ได้ ตอนที่เราว้าวุ่นใจ คิดว่าจะต้องพูดๆๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง นั่นแหละโมหะทำงาน ไม่ใช่สติทำงาน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น