วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โรคเข้าข้างตัวเองลดลง เมื่อดูลมหายใจไม่เที่ยงเป็น

ถาม :อยากทราบว่า จริงๆแล้วสังหรณ์ในการตัดสินใจในแต่ละเรื่องของเรา เวลาที่เรามีความคิด เราจะมองเห็นว่าสภาวะจิตใจเกิดอกุศลหรือกุศล เบาหรือหนักใช่ไหมคะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/3OrjeE1eJEI  
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๐
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ:
เอางี้พูดตรงๆ นะ คือของน้อง บางครั้งมันจะรู้สึกว่า อะไรยังไงเนี่ย มันก็ใช่แหละ แต่ส่วนใหญ่เราจะเข้าข้างตัวเอง เราเป็นคนเข้าข้างตัวเองเข้าใจไหม คนเข้าข้างตัวเองนะต่อให้เดิมมันมีเซ้นส์ (sense) อยู่ มันก็เพี้ยน น้องตั้งโจทย์อย่างนี้ไม่ได้ ว่าทำยังไงจะให้เป็นกลาง เพราะมันจะฝืนขึ้นมาทันที มันฝืนกับตัวเอง ใจเราจริงๆ อยากจะเข้าข้างตัวเองเต็มที่เลย พอเราตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าทำยังไงจะให้เป็นกลาง มันฝืนกับตัวตนเดิมแล้ว มันต้องไปสู้ เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง มันเป็นไปไม่ได้ 

แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า ณ เวลาที่เราเกิดความรู้สึกหนักๆ ขึ้นมาในหัว เหมือนกับอยากจะเอาอะไรให้ได้อ่ะ  เราเข้าใจใช่ไหม ว่าหน้าตามันเป็นยังไง นั่นแหละตัวนั้นแหละ เข้าข้างตัวเอง คือเริ่มไปมองเห็นไง ว่าอาการเข้าข้างตัวเองหน้าตามันเป็นยังไง

ตอนที่เราบอกว่า เอาให้ได้ไม่ยอม แล้วมันรู้สึกหนักๆ อึ้งๆ ขึ้นมาในหัว รู้สึกเหมือนจะนอนไม่หลับ รู้สึกเหมือนกับว่า เอ๊ย ทุกข์ทรมานเหลือเกิน รู้สึกเหมือนกับว่าจะเรียกใครต่อใครทั้งโลกเลยมาเข้าข้างเรา
นี่แหละเข้าข้างตัวเอง เมื่อกี้พอน้องเห็น เห็นไหมมันรู้สึกเบา มันรู้สึกเหมือนกับว่าอาการเข้าข้างตัวเองเป็นอะไรที่เราเห็นมาตลอด แต่เราไม่รู้สึกถึงมัน ไม่รู้สึกว่ายอมรับมัน เพราะมันเป็นของติดตัว เราไปมัวแต่ตั้งโจทย์ว่าจะเอาชนะมันยังไง

แล้วมีอะไร ที่จะเป็นเกณฑ์ว่าไม่เข้าข้างตัวเองแล้ว? คือขืนเราไปเอาหลักเกณฑ์เป็นคำพูด ว่าทำแบบนี้ถึงจะไม่เข้าข้างตัวเอง ทำอย่างนี้ถึงจะมีเหตุผล สรุปแล้วเอาเข้าจริงมันลืม ลืมเหตุผลเหล่านั้นหมด เพราะคนเราจะไม่จำคำพูดนะ จำไว้นะ มันจะจำเป็นอารมณ์ คือจะจำว่า อย่างเนี้ย หนักๆ เนี่ย คือเราจะต้องเอาให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราจำมาตลอด แต่เมื่อกี้พี่พูดใหม่ บอกว่าถ้ารู้สึกหนักๆ ขึ้นมา ให้แปะป้ายบอกเลยว่า นี่เค้าเรียกว่าเข้าข้างตัวเองแล้ว เห็นไหมคราวนี้มันไม่มีอะไรต้องจำ มันมีแต่ความเข้าใจ แล้วมุมมองที่ถูกจูน (tune) ให้ตรงตามกับที่มันเป็น ถ้าเรารู้สึกหนักๆ ในหัวขึ้นมาเมื่อไหร่ จำไว้เลยว่านั่นแหละเริ่มคิดเข้าข้างตัวเอง

พอเห็นไปเรื่อยๆ มันจะรู้สึกขึ้นมาว่า อาการหนักๆ เนี่ย มันเป็นของสูญเปล่า ไม่ต้องหนักก็ได้ พอเห็นปุ๊บจะเบาลงทุกครั้ง ตอนที่พี่บอกว่ามีอะไรหนักๆ ในหัว แล้วเรารู้สึกนึกออก ว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วมันเบาโล่งลงทันที นั่นแหละอาการแบบนั้นแหละ ที่พี่บอกว่าควรจะเห็นและให้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ไปบังคับให้มันเกิดขึ้นนะ เพราะตอนนี้เรากำลังคุยกันอย่างเป็นธรรม มันจะมีกุศลจิตมาช่วยทำให้มันง่าย 

แต่พอออกไปข้างนอก ความรู้สึกอยากเข้าข้างตัวเองจะกลับมารุนแรง แล้วตอนที่มันกลับมารุนแรงเนี่ย บางทีเรายอมรับว่ามันหนักก็จริง แต่มันจะไม่เบาให้ดูเหมือนอย่างนี้ ตอนนี้มันพร้อมที่จะยอมรับ เพราะอยู่กับธรรมะ แต่ถ้าออกไปเราแค่สังเกตเป็นลมหายใจ ว่าลมหายใจนี่มันหนัก อีกลมหายใจต่อมาเท่าเดิมไหม อีกลมหายใจต่อมามันโล่งไปหรือกลับมาใหม่ อย่าคาดหวังว่ามันจะไปแล้วไปลับ แต่คาดหวังว่ามันจะกลับมาให้ดูใหม่เรื่อยๆ เราแค่มีหน้าที่เทียบว่าแต่ละลมหายใจ มันหนักมากหรือหนักน้อยในหัว 

พอดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แทนที่มันจะมีอาการทางความคิดว่าอยากจะตามใจตัวเอง มันจะเปลี่ยนเป็นว่าอยากจะดูความไม่เที่ยงของอาการหนัก แล้วความอยากจะตามใจตัวเองมันหายไปเอง ตรงนั้นแหละเหลืออะไรอยู่ในใจ ตรงนั้นแหละคือความไม่เข้าข้างตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น