วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เจริญสติแก้นิสัยขี้รำคาญ ขี้เบื่อ


ถาม : คำถามเกี่ยวกับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน คือผมก็ทำไป แต่ไม่รู้ต้องเน้นส่วนใดเพิ่ม
รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/SXzre_p6OVY
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 

ดังตฤณ: 
อย่างเมื่อกี้ที่มันจะว่างไปแวบนึง ว่างแล้ว เสร็จแล้ว ก็กลับมาปรุงแต่งใหม่ เราดูตรงนี้ ถ้าหากว่าไม่มีงานทำ ไม่มีอะไรที่ต้องจดจ่อเป็นพิเศษ ว่างๆก็ดูอย่างนี้ก็แล้วกัน คือสังเกตลมหายใจเฮือกสองเฮือก ไม่ต้องหลับตาก็ได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่างๆคลายๆขึ้นมา ก็รู้ว่าสภาพของจิตมันมีอาการไม่ยึดมั่นถือมั่น มันมีอาการโล่งๆ เห็นแต่ความไม่เที่ยงของลมหายใจชั่วขณะหนึ่ง แล้วพอรู้สึกกลับไปปรุงแต่งเป็นฟุ้ง ยุ่งๆใหม่เราก็รับรู้ไปว่าจิตมันแตกต่างกันอย่างไร เห็นสลับไปสลับมาอย่างนี้

แล้วตอนทำงาน พวกงานรูทีน (routine)  เราก็มีสติโฟกัสกับงานดีใช่ไหม

ผู้ถาม : มีครับ ถ้าไม่น่าเบื่อ

ดังตฤณ: 
ถ้าเรามีความสนใจ มีโฟกัสจริง ส่วนใหญ่สติมันก็จะไปกับงานได้ดี เราเป็นคนขี้รำคาญ คือพอไม่ชอบ หรือว่าไม่โฟกัสแล้วเนี่ย มันจะไม่อยากจดจ่อ แล้วความฟุ้งซ่านมันก็เข้ามาได้ง่าย รู้สึกไหมว่าเราเป็นคนขี้รำคาญ พอเรารู้สึกได้ถึงความเป็นคนขี้รำคาญเนี่ย มันใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน

เวลาที่จิตไม่อยากไปจดจ่อ ไม่อยากไปโฟกัสอยู่กับอะไร มันจะมีอาการไม่รวม ไม่นิ่ง ไม่สามารถที่จะอยู่กับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน เพราะว่ามันอยากไปจดจ้องอย่างอื่นมากกว่า หรืออยากจะหนีจากภาวะการงานตรงหน้ามากกว่า อันนั้นเป็นความปรุงแต่งแบบฟุ้งซ่าน อุทธัจจะ เป็นอุทธัจจะ เป็นตัวความรู้สึกรำคาญใจ

เราก็ดูได้เหมือนกัน ว่าความรำคาญใจเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่สามารถดึงดูดใจเราได้ พอเห็นว่าเออ นั่นเป็นความรำคาญใจ ในที่สุดมันก็จะเหลือแต่ความมีสติรู้ ว่าความรำคาญใจนั้นมันเกิดขึ้นในชั่วขณะที่เราไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าเรารู้ตัวรำคาญใจ มันก็เป็นสติชนิดหนึ่ง แล้วถ้าหากว่าเราเห็นตัวรำคาญใจนั้นหายไป มันก็จะเหมือนกับโฟกัสกลับมา อย่างน้อยกลับมาที่ใจ ใจที่ปราศจากความรำคาญใจ เข้าใจที่พี่พูดใช่ไหม พ้อยท์ (point) คือว่าเราเอาตัวความรำคาญใจมาใช้ ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความรำคาญใจกับความมีสติ รู้ว่าความรำคาญใจเป็นแค่ภาวะปรุงแต่งชั่วขณะหนึ่ง

ผู้ถาม : ถ้าเกิดผมดูลมหายใจ บางทีดูอิริยาบถ

ดังตฤณ: 
ไม่ว่าเราจะดูอะไรก็แล้วแต่ ให้สังเกตเข้ามาที่ใจว่ามันยังมีอาการยึดไหม อย่างเมื่อกี้ที่ชี้ให้ดูว่าใจมันว่างไปชั่วขณะหนึ่ง เข้าใจใช่ไหมว่าพูดถึงภาวะแบบไหน  ที่มันรู้สึกโล่งๆ ที่มันรู้สึกเหมือนไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เหมือนกับปล่อยไปเฉยๆ เห็นแต่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ชั่วขณะนั้นเนี่ยมันเป็นจุดตั้งต้นที่ดี คือเป็นจุดตั้งต้นที่เราจะสังเกตถูกว่าจิตที่มันไม่มีความยึด จิตที่มันไม่มีความฟุ้งซ่านหน้าตามันเป็นอย่างไร

ไม่ว่าจะดูลมหายใจหรือดูอิริยาบถอะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากว่าจำจิตแบบนี้ได้ แล้วจิตแบบนี้เกิดขึ้น เราก็ใช้เป็นตัวตั้งในการรับรู้ เปรียบเทียบ สังเกต ตอนที่ว่างกับตอนที่ว้าวุ่น หน้าตาความแตกต่างของจิตมันเป็นอย่างไร ดูอยู่อย่างนี้เนี่ยเรียกว่าเข้ามาถึงจิต

แต่ถ้าหากว่าเราดูลมหายใจหรือว่าอิริยาบถอะไรก็แล้วแต่ แล้วเข้ามาถึงจิตไม่ถูก คือไม่รู้จะจับจุดสังเกตอาการของจิตตั้งแต่ตรงไหนเนี่ย มันก็จะดูลมหายใจอย่างเดียว ดูแต่เปลือกนอก ดูแต่ความไม่เที่ยงภายนอก ซึงมันเป็นของผิวๆ มันไม่ค่อยสะกิดไอ้ตัวความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นตัวตนเท่าไหร่ แต่ถ้าลงมาถึงจิต ลงมาถึงความรู้สึกว่า เออ..เนี่ยจิตมันเปลี่ยน จิตมันไม่เหมือนเดิมได้ นี่แหละที่มันจะเริ่มรู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่าไม่มีเรา

ผู้ถาม : สรุปว่าเน้นดูความแตกต่าง

ดังตฤณ: 
ดูอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ลงมาถึงใจ ความแตกต่างของใจ ความแตกต่างของจิต




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น