วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

นิสัยสวนกลับแรง ย้อนเป็นสภาวะให้เห็นขณะทำสมาธิ

ถาม : ปฏิบัติโดยดูลมหายใจและดูเวทนาตามมาค่ะ เคยครั้งหนึ่ง ขณะที่นั่งอยู่ มันเหมือนเห็นความคิดมันพุ่งเข้ามาหาในหัว เหมือนเป็นลูกศรที่พุ่งมาทุกทิศทาง สักพักหนึ่งมันก็เหมือนมีความกลัวขึ้นมาที่ใจค่ะ เป็นความกลัวที่ก้อนใหญ่มากที่มันทนไม่ได้ รู้สึกว่าอยู่ตรงนั้นไม่ได้ ก็เลยกลับมาที่ลมหายใจใหม่ พอกลับมาที่ลมหายใจ นับหนึ่งไม่ถึงสอง มันก็สลัดลมหายใจทิ้ง คือเราไม่เอาลมหายใจ กลับมาที่ความกลัวของความคิดนั้นใหม่ ที่นี้ก็จัดการกับมันไม่ได้ คือมันอยากจัดการ มันวางไม่ได้ค่ะ สุดท้าย ไปๆ มาๆ จนอดทนนั่งไม่ได้ ต้องลุกออกไปจากห้องปฏิบัติ อยากให้พี่ตุลย์ช่วยแนะนำว่า จริงๆ ณ เวลานั้น ถ้ามันเกิดอารมณ์เช่นนั้นอีก เราควรจะต้องดูยังไงและทำยังไงคะ  

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/xkzjsgKGFx0
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๐
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
จำได้ไหม ตอนที่น้องถกเถียงหรือว่าทะเลาะกับใครเนี่ย มันจะแรงเหมือนคนรบกันน่ะ เหมือนกับคนที่พร้อมจะเอามีดดาบมาปราบกัน ถึงเลือดถึงเนื้ออะไรแบบนั้น จำอาการของตัวเองได้ใช่ไหมว่ามันแรง แล้วมันไม่ยอม จะเอาเป็นเอาตาย ตรงนั้นแหละ รากคือกรรมตรงนั้นแหละ ที่มันส่งสะท้อนมาถึงอาการทางใจ เวลาที่เราจะยื้อกับอะไรเนี่ย มันเหมือนกับต้องไปรบพุ่ง เหมือนกับคนอยู่กลางสนามรบน่ะ

เมื่อกี้ตอนน้องพูดว่าเหมือนมีอะไรพุ่งเข้ามา ความคิดมันไม่แตกต่างจากที่เรารู้สึกเป็นหอกดาบที่พุ่งเข้ามาทำร้ายเรา ความรู้สึกมันประมาณนั้น เหมือนคนถูกทำร้าย เราต้องสู้ สู้ในอาการแบบต้องตายกันไปข้างหนึ่ง นึกออกใช่ไหม นี่คือภาพทางใจที่เกิดขึ้น ตอนที่เราภาวนา มันยังห่างไกลมากกับคำว่าจะยอมรับ ความคิดมันเข้ามา แต่เราพยายามไง คือเราต้องเข้าใจนิสัยตัวเอง นิสัยทางจิต ดูข้างนอกมันเหมือนคนสง้บ สงบ นะเนี่ย มันเหมือน โอ้ แม่พระแน่ๆ เลยนะเนี่ย ใจบุ๊ญ ใจบุญ แต่ข้างในมันไม่ใช่เลย ตายล่ะ (หัวเราะ) อันนี้มาด้วยกัน มิน่าถึงได้รู้

พอน้องเริ่มเข้าใจภาพทางใจเนี่ย และเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปว่าทำไมมันถึงแรงขนาดนั้นนะ ก็เพราะว่านิสัยเก่าของเรา เวลาที่จะถกเถียงเนี่ย มันเอาเป็นเอาตาย เพราะฉะนั้นพอเรามองภาพตรงนี้ออก มันก็จะเห็นภาพรวมว่า ณ เวลาที่เกิดอะไรพุ่งเข้ามา เป็นความคิด เป็นสายการปรุงแต่ง หรือว่าเป็นสภาวะจิตที่มันรุนแรงเข้มข้นอะไรก็แล้วแต่ ปรากฏขึ้นมาเนี่ย ให้มองว่านี่คือนิสัยความเคยชินทางจิต อย่างน้อยมันจะเลิกเข้าไปให้ความร่วมมือในการรบราฆ่าฟันกับความคิดที่พุ่งเข้ามา

ที่ผ่านมาเนี่ย พอมันปะทะเข้ามาแรง ๆ น้องเข้าใจไหม คือมันมีอาการสวนกลับไปไง อยากจะสู้กับมัน ด้วยนิสัยทางจิตแบบเดิมๆ  ที่นี้พอมันมีอารมณ์ปะทะเข้ามาแรงๆ แล้วใจเรามีความเข้าใจว่าที่แรงเนี่ยเพราะของเก่ามันเข้ามา เราก็จะรับมือด้วยสติอีกแบบหนึ่ง สติในการยอมรับว่า เคยทำแบบนี้ มันเลยกลับมาให้ดูแบบนี้

ที่นี้พอท่าทีของจิตที่ตอบรับเป็นปฏิกิริยามันแตกต่างไป มันจะเริ่มรู้สึกว่าที่เข้ามา มันไม่ใช่หอกดาบแล้ว ไม่ใช่ศัตรูแล้ว แต่เป็นเงาของตัวเองในอดีตที่ย้อนกลับมาให้ดู ว่าหน้าตามันเป็นแบบนี้ หน้าตามันมีความรุนแรง หน้าตามันเหมือนจะเอาเป็นเอาตาย หน้าตามันเหมือนกับเป็นหอกเป็นดาบ เพราะเรารู้สึกอย่างนั้น ใจมันสบายๆ ขึ้น คือใจสบายแต่บางทีสิ่งที่มันรุมเร้าที่เปลือกเนี่ย มันอาจจะยังรุนแรงอยู่นะ แต่ใจเราสบาย ตัวใจที่สบายเนี่ยจะเห็นความรุนแรงที่มันเกิดขึ้น

ภาวะบีบคั้นที่เหมือนจะบีบให้เรารู้สึกเป็นทุกข์เนี่ย มันเป็นแค่ของชั่วคราวในลมหายใจหนึ่ง ในอาการที่สามารถยอมรับได้ ลมหายใจต่อมามันจะรู้สึกว่าที่มันเข้มข้นเหลือเกิน ที่มันรู้สึกเสียดแทงจิตใจเหลือเกิน มันอ่อนกำลังลง มันแตกต่างไป และท่าทีที่ดูความคิดระลอกต่อๆ มา มันจะเป็นความเคยชินในอีกแบบหนึ่ง คือเคยชินที่จะเห็นรุนแรงก็ได้ เบาแรงก็ได้ และรู้สึกว่าที่มันไม่เท่าเดิม เขาเรียก อนัตตาจิตเราเนี่ยพร้อมที่จะเปิดออกเห็นอนัตตาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่รู้จะสังเกตยังไง

คำถามแรกที่เราถามพี่คือว่า มันไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องสะบัดถึงขนาดนั้น ทำไมมันต้องรู้สึกรังเกียจถึงขนาดนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ตัวเราที่ไปตั้งแง่รังเกียจอะไร แต่เป็นเพราะว่าตัวสภาวะที่มันรุนแรง ที่มันเข้ามา  มันย้อนกลับมาแสดงเงาในอดีตของตัวเรา ทำให้เรารุ่มร้อน ที่นี้พอมันมีความเข้าใจ ก็จะเริ่มยอมรับ เปลี่ยนจากรุ่มร้อนเป็นยอมรับ

ในชีวิตประจำวัน น้องต้องดูด้วยนะ คือบางทีเนี่ยรู้แหละว่าตอนนี้อยากเปลี่ยนนิสัย และจ้องอยู่ว่าเราจะเป็นตัวเดิมหรือจะเป็นตัวใหม่ มันมีอาการจดจ้องอยู่ เข้าใจคำว่าจดจ้องไหม คือมันเล็งอยู่ เอ๊ะตอนนี้ เดี๋ยวเราจะโต้ตอบยังไง เหมือนเดิมรึเปล่า มันจะมีอาการละล้าละลัง รู้สึกถึงอาการละล้าละลังไหม แบบเหมือนกับเสียจุดยืนแบบเก่า ในขณะเดียวกันก็ไม่แน่ใจในจุดยืนแบบใหม่ ตัวความละล้าละลังเนี่ย มันทำให้จิตเกิดความไม่เด็ดขาด ไม่แน่นอน

วิธีที่ดีที่สุดนะ คือเราตั้งไว้อย่างนี้ก็พอว่า เราจะโต้ตอบหรือว่ามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ กับคนแบบหนึ่งๆ ด้วยความรุนแรงหรือไม่รุนแรงเนี่ย ตรงนั้นเราละไว้ก่อน ขอแค่ว่าเรามีสติในการเลือกคำพูดก็พอ มันจะได้มีความชัดเจน เพราะทุกวันนี้เหมือนกับฝืนน่ะ พยายามพูดดี คือมันไม่ได้เต็มใจจะพูดดีจริงๆ แต่ที่นี้ถ้าเราตัดสินใจเป็นเด็ดเป็นขาด ว่าเราจะไม่เอาความละล้าละลัง และไม่สนใจด้วยว่าอาการทางใจ อาการทางสีหน้าสีตามันจะออกไปแค่ไหนยังไง แต่ขอเลือกคำพูดไม่ให้ไปทำร้ายจิตใจใครก็พอ  หรือเลือกคำพูดที่มันจะก่อให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด มันจะได้มีจุดเดียว คือมันจะได้เป็นซิงเกิ้ลมายด์ (single minded) ว่ามีอยู่หนึ่งเดียวให้ใจจับเป็นสมาธิอยู่กับสถานการณ์ตรงหน้า ไม่งั้นเนี่ยมันละล้าละลัง ไม่รู้จะเอาตรงไหนเป็นจุดที่ว่าจะเลือกปฏิบัติ


เลือกคำพูดอย่างเดียวพอเลยนะ คำพูดนั้นขอให้ออกมาจากใจที่ว่าเรามีเจตนาไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายจิตใจใคร คือไม่ใช่ฝืน แกล้งพูดเพราะว่า จะได้ดูดีหรือว่าจะได้ไม่ต้องมีเรื่องกัน เพราะว่าอาการแกล้งฝืนแบบนั้นเนี่ย มันจะทำให้ใจไม่จบ มันมาคิดฟุ้งซ่านต่อ คือด่าไม่ได้ด้วยปากมาด่าด้วยใจน่ะ มาทำร้ายกันด้วยลักษณะของจิตที่คิดอกุศลต่อกัน แต่ที่นี้ถ้าเราเจาะจงไว้แล้วล่วงหน้า ว่าเราจะเลือกคำพูดไม่ให้เกิดการเบียดเบียน พอเจตนาแบบนี้ปุ๊บ คราวนี้มันไม่ได้แกล้งแล้ว มันคิดแบบนั้นจริงๆ ถึงแม้ว่าข้างในจะอัดอั้น ถึงแม้ว่าข้างในเนี่ยมันจะมีความรู้สึกไม่เต็มใจแค่ไหนก็ตาม มันจะจบลงตรงที่ว่าเราตัดสินใจแล้ว เราเลือกแล้ว เอาคำพูดไม่เบียดเบียนนะ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น