วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เจริญสติแก้นิสัยชอบเก็บทุกเรื่องมาคิด

ถาม : เริ่มปฏิบัติมาได้ประมาณหนึ่งปี บางครั้งนั่งก็รู้สึกสงบ บางครั้งนั่งก็ยังฟุ้งซ่าน แล้วก็ยังรู้สึกว่า เวลาที่เราเอามาใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ บางทีเราเห็นอารมณ์ของเรา แต่เราหยุดไม่ได้

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/YoSJ8AYTTdE
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๔ | คำถามที่ ๑๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
ที่เห็นอารมณ์เพราะบางทีเนี่ย ใจเราจริงๆนะจะวาง มันเจริญปัญญา เหมือนกับคลายจากอาการยึดมั่นถือมั่นได้พอสมควรแล้วแหละ แต่ว่านิสัยทางความคิดมันยังเหมือนเดิม คือเป็นคนคิดหยุมหยิม แล้วก็อะไรเล็กๆน้อยเนี่ย เอาหมด คือไม่ค่อยจะแบ่งความสำคัญ ไม่ค่อยให้คะแนนว่าเรื่องนี้สำคัญ น่าจะโฟกัสความคิดหน่อย เรื่องนี้ผ่านๆไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปยึดมั่นถือมั่น คือมันยังให้คะแนนกับทุกเรื่องเท่าๆกัน คือโลกภายในเนี่ย มันเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของแต่ละคน ว่าจะมีวิธีคิด มีวิธีที่จะให้ชีวิตของตัวเองครึ่งหนึ่งโลกภายในเนี่ยมันเป็นยังไง ของเรามันเหมือนกับยอมตามใจความคิดหยุมหยิม ความคิดเล็กคิดน้อยอะไรเก็บมาหมด มันก็เลยทำให้เหมือนกับยังดูยึดมั่นถือมั่นอยู่

แต่จริงๆแล้วเนี่ย ใจของเรานะมันปล่อยวางมาแล้วระดับหนึ่ง คือว่าจะสังเกตได้ ระหว่างวันมันรู้สึกสดชื่นขึ้นมาเฉยๆ แบบเหมือนกับผ่อนคลาย เหมือนกับรีแล็กซ์ เหมือนกับเป็นคนไม่คิดมาก เหมือนกับ แค่เหมือนกับนะ ไม่ถึงขนาดไม่คิดมาก

แต่ระบบความคิด วิธีคิดเนี่ย คือบางที เนื่องจากไม่เคยชิน กับการแบ่งหรือว่าให้คะแนน ยกตัวอย่างนะ อันนี้เรื่องเพื่อน อันนี้เรื่องของเรา อันนี้เรื่องที่มันเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องโฟกัสอยู่ในขณะนี้ หรือว่าตรงนั้น เรื่องมันผ่านไปแล้ว หรือว่ายังมาไม่ถึง ไม่ต้องไปคิดให้มันมากก็ได้ คือเราไม่แบ่ง ทุกเรื่องเราใช้วิธีคิดเหมือนกันหมด คือปล่อยให้มันวนอยู่ในหัว นี่คือวิธีการคิดที่ผ่านมา

ทีนี้ถ้าเราเริ่มมองเห็น ถามตัวเองง่ายๆ ว่าเรื่องที่กำลังจุกจิกกวนใจอยู่เนี่ย เรื่องที่กำลังรู้สึกว่า เหมือนกับไม่หยุดคิดเสียทีเนี่ย มันเป็นเรื่องอะไร  เราค่อยๆแบ่งเป็นเรื่องๆไปนะ อย่างเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องนี้เรื่องเพื่อน ของเราบางทีชอบเก็บเรื่องเพื่อนมา เหมือนกับพอเขามาเล่าอะไรให้ฟัง หรือว่ามาระบาย มาปรับทุกข์ เราจะคอยฟุ้งซ่านตามเขาไป อย่างนี้นะ เรียกว่าไม่แบ่งแล้ว

แต่ลองสังเกต เราคิดเอาว่าเป็นเรื่องของเรา ตรงนี้ ถ้าหากว่าต่อไป ครั้งต่อไป เรารู้ตัวว่าเรากำลังคิดหยุมหยิม คิดมาก คิดเรื่อยเปื่อยเกี่ยวกับเรื่องเพื่อน เราบอกตัวเองทันที นี่เรื่องเพื่อน นิยามสั้นๆนะ แปะป้ายให้กับมันสั้นๆ นี่เรื่องเพื่อน ตอนแรกอาจจะไม่ต้องไปกำจัดว่าเรื่องเพื่อนจะต้องทำยังไง หรือว่า นี่เรื่องของเรา มันเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว เรื่องหวานแหวว หรือเรื่องที่มันเกิดขึ้นแบบในที่ทำงานอะไรอย่างนี้ ถ้าค่อยๆแปะป้ายไปที่ละเรื่อง นี่เรื่องที่ทำงาน นี่เรื่องส่วนตัว นี่เรื่องที่มันจำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ได้จริงๆ แต่เรื่องบางเรื่องมันยังมาไม่ถึง ของเราบางทีเรื่องมันยังอีกไกล แต่เราเก็บมาคิดราวกับว่าเป็นเรื่องของวันนี้นะ

พอเราเริ่มที่จะจำแนกสิ่งที่มันอยู่ในหัวเราออกเป็นพวกๆ มันจะมีสติมากขึ้น มันจะมีสติในการคิดมากขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องทำอะไรให้มากเลย เพราะตัวที่สามารถ ตัวที่มันมีความสามารถในการจำแนกว่า นี่เป็นเรื่องอะไร ตัวนั้น มันเรียกสติขึ้นมาอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องพยายาม เข้าใจพอยท์ (point) นะ

จากนั้นพอเราเริ่มเห็น นี่เรื่องเพื่อน นี่เรื่องอนาคต นี่เรื่องที่ยังไม่ต้องแก้ปัญหาตอนนี้ก็ได้ มันจะเริ่มฉลาดขึ้น คือ พอคิดไปแป๊บหนึ่ง มันจะหยุด จิตมันจะฉลาดขึ้น นี่เป็นเรื่องของจิตเลยนะ ไม่ใช่เรื่องของความคิดนะ เพราะตัวที่ทำให้จิตฉลาดขึ้น คือ สติ แต่วิธีคิดน่ะ คือของเรา มันเปลี่ยนกันยาก มันคิดหยุมหยิมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จะให้มันมาเปลี่ยนด้วยอุบายอย่างนั้น ด้วยอุบายอย่างนี้ บางทีมันทำไม่ไหว แต่แค่ทำให้จิตมันฉลาดขึ้น ด้วยการจำแนกแยกแยะแต่ละเรื่องเป็นพวกๆ แค่นี้จิตฉลาดขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องพยายาม เข้าใจพอยท์ (point) พี่นะ

แล้วลองสังเกตต่อไปว่า อาการของใจ เวลาที่มันสามารถที่จะแบ่งเรื่องต่างๆ ออกเป็นพวกๆได้นี่ คราวนี้มันจะมีน้ำหนักความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่าเดิม พอเรื่องที่จะต้องแก้ไขจริงๆ เราต้องโฟกัสจริงๆ ใจมันจะรู้สึกเหมือนกับ โอเค มีสมาธิให้กับตรงนั้น มันจะมีความหนักแน่นให้กับตรงนั้น แต่ถ้าเรื่องหยุมหยิม เรื่องของคนอื่น  เรื่องอนาคต เรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้กระทั่งของเราเอง เวลาที่เรารู้ตัวว่านี่ เรื่องไม่เป็นเรื่อง ใจมันจะรู้สึกเหมือนกับไม่เข้าไปโฟกัส ไม่เข้าไปยิงเต็มที่ ไม่เข้าไปจับ ไม่เข้าไปยึดเต็มที่ เนี่ยอย่างใจตอนนี้ พอมันมีความเข้าใจ มันรู้สึกเหมือนมีสมาธิขึ้นมา มันมีสมาธิขึ้นมาก่อน โดยที่ไม่ได้ไปจับ ไม่ได้ไปพยายามโฟกัสอยู่กับอะไร แต่เกิดจากความเข้าใจว่าจะใช้มีดที่มีอยู่เนี่ย ไปเฉือนอะไรให้เกิดประโยชน์ ไปเฉือนกิเลส ไปเฉือนอะไร

ผู้ถาม : อีกเรื่องหนึ่ง เคยอยากนั่งสมาธิให้นานๆ ทีนี้พอนั่งได้สักพักหนึ่ง..

ดังตฤณ: 
ของเรามันนั่งให้นานๆยาก เพราะว่าที่ผ่านมาความคิดมันหยุมหยิมไง คือพอนั่งไปมากๆเนี่ย มันจะเหมือนมีคลื่นความคิดไม่หยุด   คอยรบกวนตลอดเวลา มันยิบๆๆๆๆ คือถึงแม้ว่ามันจะมีความว่าง ถึงแม้จะมีความสว่างอะไรขึ้นมาเป็นพักๆเนียะ แต่ในที่สุดมันกลับมายิบๆๆๆ ทีนี้ถ้าในชีวิตประจำวัน เราทำอย่างที่พี่บอก ไปแยกเรื่องต่างๆเป็นพวกๆ แล้วเราจะเห็นผลเลยว่า เวลาที่เรามาปฎิบัติสมาธิ น้ำหนักของจิตมันจะมากขึ้น แล้วความคิดที่มันผ่านเข้ามาเนี่ย มันจะเหมือนถูกเห็นได้ง่ายขึ้น



ที่ผ่านมา พอเรานั่งสมาธิเนี่ยแล้วเกิดความรู้สึกยิบๆๆๆ ขึ้นมาเนี่ย มันจะมองไม่ออก นั่นเพราะว่าเราไม่เคยเจริญสติไปแยกแยะว่า เรื่องไหนควรคิด เรื่องไหนไม่ควรคิด คนที่ไม่แยกแยะเกี่ยวกับเรื่องความคิด ไม่ลำดับความสำคัญ มันจะถูกความคิดครอบงำรบกวนได้ไม่เลือกเวลา พ้อยท์ (point) ของเรามันเป็นแบบนั้น

แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือ ใจของเราเนี่ย มันดูเหมือนกับพร้อมจะฟุ้งซ่านก็ได้  พร้อมจะนิ่งก็ได้ เราจะรู้สึกอยู่ แต่เราไม่สามารถไปเลือก คือมันบอกไม่ถูกหรอกว่าเวลาไหนจะนิ่งได้ เวลาไหนจะฟุ้งซ่านไป เหตุผลก็เพราะว่า บทจะปล่อยวาง เราปล่อย แล้วก็จะมีความสุขทางใจเต็มที่อ่ะนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเกิดความคิดมากขึ้นมา เราก็ปล่อยให้มันไหลตามกระแสความคิดหยุมหยิมเช่นกัน เนี่ยตัวนี้ ถ้าเรามองภาพรวมออกว่าที่ผ่านมามันเป็นแบบนี้ ต่อไปเราก็จะค่อยๆให้ความสำคัญกับใจมากกว่าความคิดไปเอง

ผู้ถาม : ค่ะ เข้าใจค่ะ

ดังตฤณ: 
เข้าใจนะ  แต่ก่อนมันให้ความสำคัญเท่ากันไง ระหว่างความคิดหยุมหยิมกับใจ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น