วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ศึกษาธรรมะมาเยอะ แต่ถอนแค้นไม่ได้

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/xWTbmRpE3oI
ดังตฤณวิสัชนา Live #๕ ทางเฟสบุ๊ก
๒๙ เมษายน ๒๕๕๙


ดังตฤณ: 
การที่เราปักใจอยู่กับอารมณ์แค้น แล้วอยากหายแค้นทันทีทันใดเนี่ย มันจะแค้นเพิ่มขึ้น อธิบายครอบจักรวาลก็คือว่า เมื่อเราอยากได้อะไร ใจเราจะกระวนกระวาย และก็เป็นทุกข์มากขึ้น
 
อย่างในกรณีของการรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนแค้นเคือง หรือว่ามีความไม่สามารถจะอภัยให้ใครสักคน แล้วเราไปตั้งโจทย์ให้ตัวเอง บังคับตัวเองว่าจงหายแค้น รู้สึกว่าไม่ดีเลยที่จิตเป็นอกุศลแบบนี้ รู้สึกเป็นทุกข์ ฟังธรรมะมาเยอะ รู้แหละว่าความพยาบาท ความอาฆาตแค้นมันไม่ใช่ของดี มันเป็นความร้อน แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะถอนจิตออกมาได้ ก็เลยเกิดความอยาก อยากจะดับแค้น อยากจะหายแค้นแบบทันทีทันใด คนส่วนใหญ่นะ ไม่มีหรอก ที่บอกว่า เออ รอได้ อีกเดือนนึงค่อยหายแค้น อีกสองเดือนค่อยเลิกคิดพยาบาท เลิกคิดอาฆาตกัน ส่วนใหญ่จะบอกว่า ต้องวันนี้ถึงจะมีความสุขที่จะหายแค้นได้ เนี่ยนะ คือไม่ใจเย็นพอ แล้วก็จะเรียกร้องเอาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พอเกิดความกระวนกระวายเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันก็ทำไมครับ คือจิตมันก็ยิ่งมีความฟุ้งซ่าน มีความกระเพื่อมหนักขึ้น มีความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ หรือว่าสังเวชตัวเองหนักขึ้น

มันเป็นเรื่องของ ตัวตน
มันเป็นเรื่องของ ความอยาก
ที่จะได้ตัวตนที่มีความสงบ สบาย เบา
มันเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจ
กลไกการทำงานของจิต
ธรรมชาติของจิต

เมื่อใดก็ตามจิตมีความเร่าร้อน วิธีที่ถูก เราควรจะทำให้เหตุของความเร่าร้อนนั้นมันระงับลงใช่ไหม แล้วก็ทำให้จิตมันไหลลงสู่ความเย็น แต่นี่เราไปโกรธตัวเองเพิ่ม ว่ามันไม่หายแค้นสักที มันยังแค้นอยู่ได้ 
ทั้งๆที่รู้จักธรรมะมา อ่านหรือฟังธรรมะมาตั้งเยอะตั้งแยะ โกรธขึ้นมามันแค้น แล้วก็ไม่สามารถจะถอนความแค้นออกไปได้ หรือมีเรื่องมีราวกับคนบางคน แล้วมันไม่สามารถจะลืม มันไม่สามารถจะทำใจ กับใครอีกเป็นร้อยเป็นพันทำใจได้ แต่คนๆเดียว มีหมากปราบเซียนหรือว่าโค่นเซียนขึ้นมาคนหนึ่ง ทำให้เราหายแค้นไม่ได้ ก็เจ็บใจตัวเอง
 
ความเจ็บใจตัวเอง หรือ
ความเรียกร้องจะให้ตัวเองหายแค้น
นึกว่าจิตนี่เป็นของเรา ที่บังคับได้
ตัวนี้แหละ ที่มันทำให้แค้นหนักขึ้น!
คือแค้นเค้าไม่พอ แค้นเราอีก
โกรธเค้าไม่พอ ยังมาโกรธตัวเองอีกนะ
 

 
อันดับแรกก็คือทำความเข้าใจว่า อย่าพยายามเรียกร้องสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้เดี๋ยวนี้ โอเคเรามีทิศทางแหละว่าเราจะพยายามดับโกรธ พยายามจะละความพยาบาท ด้วยการแผ่เมตตาด้วยการที่จะให้อภัยเป็นทาน เราอยู่ในทิศทางนี้ แต่ไม่ใช่มากดดันตัวเอง หรือว่าเรียกร้องให้ตัวเองหายแค้นเดี๋ยวนี้เลยนาทีนี้เลย หายทุกข์วันนี้เลย ไม่ข้ามไปวันพรุ่งนี้ 


ใจเย็นๆ แล้วก็เห็นความจริงที่มันเกิดขึ้น
ทุกครั้งที่เรามีมโนภาพ
กี่ยวกับใครขึ้นมาคนหนึ่งนะ
ที่มันทำให้จิตของเราร้อน
มันจะมีความคาใจ มันจะมีความติด
มันจะมีความรู้สึกว่า
ถอนออกจากมโนภาพที่ทำให้จิตร้อนไม่ได้
 
ดูความจริงตรงนี้ให้ได้ก่อน!

หาความจริงตรงนี้ให้เจอก่อน เมื่อมีความรู้จัก อาการทางใจของตัวเอง’ นะ ว่ามีมโนภาพของใครคนหนึ่งเกิดขึ้นในใจ แล้วจิตเกิดความร้อนเกิดความดิ้นรน เกิดความค้างคา เกิดความติดข้อง หรือกระทั่งเกิดความมืดขึ้นมาห่อหุ้ม นี่ตัวนี้เรียกว่ามีสติเห็นความจริงแล้ว
 
การที่เรามีสติเห็นความจริงอยู่บนทิศทางของการให้อภัยนี่ มันจะทำให้จิตนะ เกิดความค่อยๆทำความเข้าใจกับตัวเองว่า นึกถึงภาพของบุคคลที่ทำให้แค้นแล้วนี่ มันมีความดิ้นรนแรงขนาดไหนในแต่ละครั้ง มันมีความเร่าร้อน มันมีความเหมือนกับถูกหนามทิ่มแทง รู้สึกยังไง เจ็บปวดแค่ไหน หรือว่าปวดแสบปวดร้อนแค่ไหน คือท่านให้ยอมรับให้หมด ยอมรับแบบที่ว่าไม่มีเงื่อนไขกับตัวเอง

แล้วค่อยๆสังเกตไปว่า การที่เรายอมรับตามจริงอย่างเดียวว่าเจ็บแค่ไหน แต่ไม่คิดต่อ ไม่คิดที่จะไปเบียดเบียน ไม่คิดที่จะไปทำร้าย เพราะเราอยู่บนเส้นทาง อยู่บนทิศทางที่จะอภัยกัน พอจิตมันไม่คิดที่จะไปเอาคืน หรือว่ามีความกระเหี้ยนกระหือรือ มีความรู้สึกคันอกคันใจ อยากจะไปด่ากลับ อยากจะไปทำร้ายตอบ
 
ในที่สุดความรู้สึกเจ็บปวด
ความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเนี่ย
มันจะค่อยๆคลายออกไป
 
แต่อาการคลายบางทีกินเวลา อาจจะเป็นนาทีนะ จะกี่นาทีไม่สำคัญ แต่เราจะค่อยๆเห็น เราจะค่อยๆเรียนรู้ว่า ความเจ็บปวดหรือความทุกข์อันเกิดจากความแค้นนั้น มันค่อยๆลดระดับลงได้จริงๆ
 
แล้วเดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่!

การที่เราเห็นบ่อยๆ เห็นว่าระดับความแค้นมันสามารถลดระดับลงได้เอง โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามนะ ไม่ต้องด่าตัวเอง ไม่ต้องไปตำหนิติเตียนตัวเอง ไม่ต้องมาพยายามปลอบใจตัวเอง มันทำให้เกิดกำลังใจขึ้นมาทุกครั้ง
แต่ละครั้งอาจจะเกิดกำลังใจขึ้นมาทีละนิด แต่ทีละนิดนั่นนะ พอมันหยอดกระปุกเข้าไปจนเต็ม
 
มันเกิดความรู้สึกว่า
จิตเนี่ยมันมีความตื่นขึ้นมา
ตื่นขึ้นมาจากความอิ่ม
ความอิ่มที่ได้เห็นว่าความโกรธมันไม่เที่ยงจริงๆ
 
มันแสดงความไม่เที่ยงให้เราดูได้ มันสอนเราได้ว่า แม้แต่ความโกรธ แม้แต่ความแค้นเนี่ย ก็เอามาเจริญสติได้ อะไรที่เราสามารถเห็นประโยชน์มันได้ เราจะไม่ดิ้นรนหนีจากมันไปเร็วนัก อะไรก็ตามที่มันเป็นบทเรียนให้จิตวิญญาณของเราได้พัฒนาสว่างขึ้น มันจะกลายเป็นสิ่งที่เรารู้สึกเป็นมิตรด้วย ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจว่า จะต้องขับไล่ออกไปให้ได้เดี๋ยวนี้ 

การเจริญสตินี่นะ ยิ่งเราเจริญสติไปมากขึ้นเท่าไร เรายิ่งเห็นอะไรแตกต่างไปมากขึ้นเท่านั้น จากเดิมเนี่ยที่เรานึกว่า เออ นึกแค่ง่ายๆว่าความโกรธไม่ดี จงออกไปจากตัวเรา มันกลายเป็นเห็นว่า เออ ความโกรธนี่ก็มีดีเหมือนกัน ความโกรธนี่แสดงความไม่เที่ยงได้ชัดเจนกว่าราคะ โทสะมันมาเร็วแล้วก็ไปเร็ว ถ้าหากว่าเราไม่ติดค้างยืดเยื้อ

มันไม่มีกิเลสชนิดไหน ราคะ โทสะ โมหะ ที่จะมาเร็วไปเร็วเท่าโทสะนะครับ ระหว่างสามตัวเนี่ย โทสะมาแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นได้เร็วที่สุด โทสะที่มันแปรรูปเป็นความเกลียด เป็นความอาฆาตแค้นเล้วนี่ มันอาจจะมีความยืดเยื้อก็จริง มันอาจจะมีความรู้สึกติดค้างคาใจแน่นเหนียวก็จริง แต่สังเกตเถอะ
 
ถ้าหากว่าเราเท่าทันนะ
ว่าจิตมีมโนภาพ
ที่ทำให้เกิดความร้อนขึ้นมาวูบหนึ่งเมื่อไร
เราสามารถเห็นวูบของความร้อนนั้น
เป็นของไม่เที่ยงได้ง่าย
 
แต่ถ้ามันกัดกินลึกแล้ว
คือเราปล่อยให้มโนภาพนั้นห่อหุ้มจิตใจ
ครอบงำจิตใจเราได้เป็นนาทีๆแล้ว
อย่างนี้ยากละ 

อันนี้ก็ขอให้ตั้งเป็นข้อสังเกตละกัน ค่อยๆใช้มันเป็นบทเรียนที่จะเจริญสตินะ คีย์เวิร์ดง่ายๆคือ ถ้าเห็นแค่ ณ ขณะที่มันเกิดความโกรธขึ้นมา แรกๆเกิดมโนภาพขึ้นมา แล้วจิตมันร้อน อย่างงี้เรียกว่าโทสะ เราดูโดยความเป็นของไม่เที่ยงง่ายๆ 

แต่ถ้าหากว่ามโนภาพนั้นมันครอบงำจิตใจเราได้เป็นนาที อันนี้ยากแล้ว เราก็ค่อยๆเห็นว่า เออ ถ้าปล่อยให้มันลุกลาม ถ้าปล่อยให้มันครอบงำจิตใจเราได้นาน มันจะถอนไม่ออก มันจะมืดละ แม้กระทั่งเห็นความจริงตรงนี้ก็มีประโยชน์แล้ว  คือเห็นว่าเราปล่อยมันนานเกินไป มันครอบงำเราจนกระทั่งไม่สามารถที่จะเอาชนะมันได้ ไม่สามารถเห็นมันโดยความเป็นของไม่เที่ยงนะ

อย่างงี้ก็มีประโยชน์นะ มันค่อยๆเก็บจิ๊กซอว์มาที่ละชิ้น ทีละชิ้นนะ มันค่อยๆมีการตื่นขึ้นมา มีความเข้าใจขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้เห็นแต่ด้านที่เป็นโทษของโทสะอย่างเดียวเห็นด้านที่เป็นคุณด้วยนะครับ ตอนที่เราเป็นมนุษย์เราสามารถที่จะเรียนรู้อะไรได้เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆอย่างนี้แหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น