วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ละนันทิ สิ่งที่น่าติดใจยินดี

ถาม : ในชีวิตประจำวันก็รู้สึกตัวบ้าง รู้บ้างไม่รู้บ้าง ถ้าเราพยายามละนันทิ ในการละนันทิมันเป็นการเพ่งบังคับไหมคะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/QrqYScePVgs
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๒
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส 
๑๘ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 


ดังตฤณ: 
คือมันจะปล่อยไปดื้อๆแหละ สิ่งที่เราชอบใจหรือสิ่งที่ไม่ชอบใจก็แล้วแต่ ตัวนันทิ หมายถึงตัวที่เราติด ตัวที่เราติดใจอยู่ ทีนี้อาการที่พยายามละเนี่ย มันเป็นอาการเหมือนกับบอกตัวเองดื้อๆว่า จงละเสีย มันไม่ได้ทิ้งจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นฆราวาสเนี่ยนะ การที่เราจะบอกว่า เฮ้ย..ไม่เอาแล้ว บางทีมันยาก เพราะบางที่จิตของเราเนี่ยไม่เห็นเหตุผลที่แท้จริงว่า ละไปแล้วจะได้อะไรมาแทน เห็นไหม

ตรงนี้จริงๆแล้วเนี่ยเป็นจิตธรรมดาของคนที่ยังไม่รู้ว่า ปลายทางเราจะได้รับอะไรเป็นรางวัล บางทีมันมีข้อแลกเปลี่ยน มันมีข้อแม้อยู่ข้างในลึกๆบางทีมันไม่ได้ออกมาในรูปความคิดที่ชัดเจนนะ แต่มันจะออกมาในรูปของความก้ำๆกึ่งๆ ลองนึกดูตอนที่คุณจะพยายามละนันทิเนี่ย มันจะรู้สึกเหมือนคาๆใจ มันคาอยู่เฉยๆ จะทิ้งก็ไม่ทิ้ง จะยึดก็ไม่ยึด

เรามาลองดูภาวะดีกว่า ว่าภาวะคาใจตรงนั้นน่ะ ครึ่งๆกลางๆตรงนั้นนะ หน้าตามันเป็นยังไง หน้าตามันเหมือนไปจดจ้องอยู่เฉยๆ จดจ้องอยู่ด้วยคำสั่งแบบสั่งไว้ก่อนล่วงหน้าว่า ทิ้งมัน แต่ใจเนี่ยมันยังยึดอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ไปเสพเต็มที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วภาวะครึ่งๆกลางๆแบบนี้นะ ถามว่า ดีหรือไม่ดี  ตอบได้เลยว่า ไม่ดี  เพราะว่ามันจะสุขก็ไม่สุข พอสุขก็ไม่สุด แต่ครั้นจะยึดให้ได้เท่าเดิม หรือว่าทิ้งมันออกไป มันก็ทำไม่ได้สักอย่าง

ตัวนันทิจริงๆแล้วเนี่ย ถ้าเป็นการเจริญสติแบบสมบูรณ์จริงๆนะ ที่พระพุทธเจ้าให้ไปบวช ก็เพราะอย่างนี้
ท่านให้ทิ้งเรือนเลย ทิ้งทั้งเรือนเลย นั่นแหละ "นันทิ" นันทิตัวจริงคือ เรือนทั้งเรือนนะ มันไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่ในเรือน มันไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราติดใจ

ทีนี้พอเราตอบโจทย์ตัวเองได้ ตอบคำถามตัวเองได้ว่า เราทิ้งเรือนได้ไหม? ยัง โอเคมันมีแว้บๆบ้าง แต่มันจะรู้สึกถึงยางเหนียวที่ยึดติดอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องบอกตัวเองว่า ตรงนี้เนี่ย นันทิของจริงเนี่ย เรายังทิ้งไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะค่อยๆพัฒนา ค่อยๆเจริญสติขึ้นไป ตามลำดับเท่าที่ภาวะปัจจุบันจะอำนวย

การที่เป็นฆราวาส แล้วไปตั้งสเปคนะว่า เดี๋ยวต้องละนั่น ไม่เอานี่ เดี๋ยวต้องไปทำอย่างงั้นทำอย่างงี้ พูดง่ายๆทำตัวเหมือนพระเหมือนชี แต่เสร็จแล้ว ใจมันยังไม่ใช่พระ ไม่ใช่ชี ทำอยู่เป็นสิบปีมันก็ยังรู้สึกยังละไม่ได้จริงๆสักทีเหตุผลเพราะอะไร เพราะว่าตอนที่จะทิ้งหรือไม่ทิ้งนันทิเนี่ย เค้าพิสูจน์ใจกันด้วยเรื่องของการทิ้งเรือนได้หรือไม่ได้ มันไม่ใช่ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าทิ้งเรือนไม่ได้ ไม่ต้องไปพยายามละนันทิ มันละไม่ได้หรอก แต่เราสามารถที่จะเห็น ณ เวลาที่เราเข้าไปติดใจ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า อาการมันยึดมั่นถือมั่น มากขึ้นเรื่อยๆ หรือว่าน้อยลงเรื่อยๆ ตรงนี้เนี่ยมันตัววัดแท้ๆเลยนะ ตัววัดนันทิว่า มันเอาออกไปได้แค่ไหนแล้ว จากใจของเรา

ถ้าสิ่งที่เราติดใจ แม้กระทั่งสิ่งที่เราติดใจ เรายังสามารถเจริญสติเห็น ภาวะความยึดติด ภาวะความชอบ ภาวะความเบื่อ ภาวะความไม่เท่าเดิม ของสุขเวทนาที่เกิดขึ้น จากสิ่งที่เราเสพติด มันก็ไม่มีอะไรในโลกที่เราจะใช้เจริญสติไม่ได้ เราใช้นันทิในการเจริญสติได้อย่างเดียวนะ ใช้ทุกอย่างที่เหลือในการเจริญสติได้เช่นกัน ไม่งั้นเนี่ยมันไปจ้องอยู่เฉยๆว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง แล้วก็แฝงอยู่ตรงนั้นแหละ มันมาแช่อยู่ตรงนั้น แช่แฝงอยู่ตรงนั้นแหละ ในอาการอยากทิ้งแต่ใจยังเอา

ถาม : ถ้าอย่างนั้นในการพิจารณาประจำวันเนี่ย ถ้าเราดูเวทนา แล้วสมมติมีอาการติดใจชอบ ถ้าเรามองไปในมุมที่ว่า ก็เนื่องจากมีผัสสะเป็นปัจจัย ทำให้เกิดมีความติดใจ ดูไปอย่างนี้ได้ไหมคะ

ดังตฤณ: 
ก็ได้ แต่มันเป็นการพิจารณาชั่วคราว มันไม่ใช่การที่เราเจริญสติให้มันมีความเข้าไปรู้ เข้าไปเห็นจริงๆ คือพอพิจารณาเอาเฉพาะตามโจทย์ที่คุณถามนะ มันเหมือนไปพิจารณาทีละส่วน แต่การเจริญสติที่แท้จริง จำไว้เลย ชัยภูมิอันเป็นที่สุด อันเป็นที่ตั้ง มันต้องเริ่มขึ้นจากขอบเขตของกายใจนี้ก่อน ภาวะที่มันกำลังปรากฎเด่นอยู่ในกายใจนี้เป็นยังไง อย่างตอนที่จะเข้าถึงอายตนบรรพ ที่พระพุทธเจ้าให้ดูนะว่า ตาประจวบรูปแล้วเกิดสังโยชน์แบบใด หูประจวบกับเสียงแล้วเกิดสังโยชน์แบบใด มันมีความติดใจแค่ไหนนั่นเอง แล้วท่านก็ให้พิจารณาว่า เนี่ยสังโยชน์ตรงนั้นน่ะ มันเบาบางลงไหม เมื่อเราเห็นตัวความติดใจ

ทีนี้ อย่างที่คุณถามเนี่ย คือมันตั้งต้นจากความคิด มันไม่ได้ตั้งต้นจากภาวะ การที่จะเริ่มตั้งต้นจากภาวะได้เนี่ย คือมันต้องมีสติเข้ามาหนาแน่นก่อน มันต้องมีความเต็มที่ตรงนี้ก่อน มันเริ่มเห็นกายเบาใจเบาแล้ว แล้วเห็นว่าในกายเบาใจเบานี้เนี่ย พอหันหน้าไป อ้าวนี่ คนนี้เราชอบมาก เราถูกใจมาก เราพิศวาสมาก รู้สึกอาการวูบพิศวาส ขึ้นมาทันที จะเป็นลูก จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แล้วเห็นอาการพิศวาสตรงนั้นเนี่ย ว่าปรากฎขึ้น เมื่อตาประจวบรูปมันมีแรงดึงดูด แล้วเห็นความพิศวาสตรงนั้น มันหายไปให้ดู ณ ขณะที่สติมันเท่าทัน อย่างนี้เรียกว่า อายตนบรรพ

คือมันไม่ต้องพิจารณาเลย ตัวตั้งมันมีขึ้นมา แล้วก็เราทำความเข้าใจไว้ล่วงหน้าไว้เรียบร้อย ว่าจะเห็นโดยความเป็นอย่างไร เห็นว่ากระทบแล้วเกิดความพิศวาส จำไว้เลยว่า ไม่ใช่เห็นแล้ว พยายามที่จะไม่ให้ความพิศวาสมันเกิดขึ้น แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ กระทบปัง รู้สึกพิศวาสเห็นความพิศวาสปรากฎขึ้น แล้วมันครอบงำจิตอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เราเห็นภาวะครอบงำจิต ยังรู้สึกรู้สา ยังมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ได้ แล้วเห็นภาวะพิศวาสตรงนั้นมันค่อยๆคลายตัวไป

หรือในทางกลับกัน พอเราดูเข้ามา เกิดความรู้สึก ความพิศวาสมันยิ่งใหญ่โตขึ้นไปอีก เพราะมันยิ่งอินมากเข้าไปอีก ตรงนี้ก็ให้ยอมรับตามจริงว่าสังโยชน์มันกำเริบขึ้น ความร้อยรัด ความยึดติด มันหนาแน่นมากขึ้น นี่ก็เรียกว่า สติเจริญขึ้นเช่นกัน คือไม่ได้หมายความว่า สติเจริญขึ้นแล้ว กิเลสหายทันที แต่สติเจริญขึ้นแล้วเห็นความไม่เที่ยง ที่มันปรากฎในขอบเขตของปฏิกิริยาทางใจ ที่มันปรากฎตามจริง

ที่ผ่านมาเนี่ย เห็นไหม คือมันพิจารณาถูกทิศถูกทางก็จริงนะ แต่ตอนที่เห็นเนี่ย มันเห็นด้วยความคิด มันไม่ใช่เห็นด้วยสภาวะ ที่มันกำลังปรากฎให้ดูจำไว้ว่า ถ้าหากเห็นถูกทิศถูกทาง ตรงตามที่พระพุทธเจ้าอยากให้เห็นจริงๆเนี่ยนะ อย่างภาวะสังโยชน์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสังโยชน์ในรูปแบบไหนพิศวาส อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น เราจะรู้สึกเข้ามา แล้วพอมันหายไปเนี่ย มันกลายเป็นความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัวแบบที่ มีความว่างจากอุปาทาน ว่างจากการยึดติด

แต่ที่ผ่านมาเห็นไหม บางทีมันยังยึดอยู่ ว่าเรากำลังปฏิบัติ มันมีตัวตนของผู้ปฏิบัติ แต่ถ้าเห็นสังโยชน์เกิดขึ้นแล้วหาย กลายเป็นความรู้สึกว่างๆอย่างนั้นให้อาศัย เป็นเครื่องวัดได้ส่วนหนึ่งว่า ตรงนั้นน่าจะมาถูกทางนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น