วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อยากมีเหตุผล แต่ก็ติดนิสัยเอาแต่ใจ

รู้สึกขัดแย้งกับตัวเอง ตั้งใจจะเป็นคนมีเหตุผล แต่อดเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้
รับฟังทางยูทูบ https://youtu.be/mNsUixe2Xd4
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ถาม : หนูมีปัญหาเรื่องโทสะที่เกิดบ่อย พอมันเกิดแล้วพยายามอยากจะเข้าไปจัดการแต่มันไม่ได้

ดังตฤณ : 
ของคุณคือข้างในมันเอาแต่ใจ แต่ว่าข้างนอกมันพยายามมีเหตุผล คือความคิดเนี่ย เราพยายามสอนตัวเอง คือว่าถูกคนอื่นสอนมาเยอะนะ แล้วเราก็เชื่อด้วย เชื่อว่าควรจะคิดอย่างมีเหตุผล แต่ว่าอารมณ์มันยังอยากจะเอาแต่ใจไม่เลิก เหมือนตอนเป็นเด็กๆ น่ะ ฉันต้องได้  เอ๊ะทำไมไม่อย่างนั้นทำไมไม่อย่างนี้นะ แล้วอารมณ์แบบนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันเหมือนกับคนสองคนมาพยายามเถียงกัน เถียงกันกับความคิด อารมณ์กับความคิดมันเถียงกันอยู่ เราเห็นตัวนี้ก็แล้วกัน ตัวเถียงกัน มันเกิดความรู้สึกอึดอัด 

ตอนแรกที่เราทำถามพี่ก็คือว่า เอ๊ะ ที่มันเกิดโทสะหรืออะไรเนี่ย ประเด็นคือมันจะแก้ยังไง มันไม่ใช่จะแก้ได้ด้วยคำสั่งว่า เอ๊ยอย่าโกรธ โกรธไม่ได้ หรือว่าอะไรอย่างโน้นอย่างนี้ไม่เหรอ มันชอบคิด บางทีเสียใจกับตัวเองหรือน้อยใจตัวเองด้วยนะ ว่าทำไมมันทำไม่ได้สักที ฝึกมาตั้งนานแล้ว แต่จริงๆ คือ มันทำได้มาเยอะแล้วนะ เพราะว่าวิธีที่เราคิดเนี่ย มันเป็นวิธีที่ถูกต้อง คือเราคิดอะไรได้หมด แต่ว่าอารมณ์มันจะยอมหรือไม่ยอมนั่นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคาดหวัง ว่าเราคิดอะไรได้ แล้วอารมณ์มันจะต้องคล้อยตามไปตามนั้น อารมณ์กับความคิดมันอยู่คนละฝั่งกันเสมอ จำไว้เลยนะ ในกรณีของเรา คือมันอยู่คนละฝั่งกันเสมอ 

เราบอกว่าตัวเราพยายามจะเจริญสติ พยายามจะพัฒนาให้มันอย่างโน้นมันอย่างนี้ แต่ตัวอารมณ์เนี่ย มันคอยดึงวกกลับไปหาโลกๆ ตลอด ก็อย่าไปให้มันเกิดความทรมานใจ แต่ให้เกิดความสบายใจว่า เราได้เห็นว่าอารมณ์กับความคิดมันทะเลาะกัน อารมณ์ของเราเวลามันเกิดขึ้นมานะ มันจะเหมือนมีอะไรหมุนจี๋ขึ้นมา แล้วก็แบบต้องเอาให้ได้ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ความคิดของเรามันผุดขึ้นมาในลักษณะใส่เบรก เหมือนกับไม่เอาน่า อย่างนี้ไม่ควร อย่างนั้นไม่ได้ อะไรต่างๆ เนี่ย มันเหมือนในที่สุดแล้ว เราพัฒนาตัวสองตัวให้มันทะเลาะกัน ตัวหนึ่งคอยจะเดินหน้าไป ตัวหนึ่งคอยจะใส่เบรกหรือว่าใส่เกียร์ถอยอะไรแบบนี้นะ คือผลัดกันรุกผลัดกันรับ ผลัดกันเป็นตัวดึง บางทีความคิดฝ่ายดีมันดึง แต่บางทีอารมณ์มันกลายเป็นเหมือนกับยิ่งเร่งยิ่งผลักไส หรือว่าลากให้เรากลับไปใช้ชีวิตโลกๆ แบบธรรมดาเถอะน่า มันเหนื่อยนะ เจริญสติ จะเอามรรคผลนิพพาน ไม่รู้เมื่อไรจะได้ 

คือของเราเนี่ย พอไม่ได้อย่างใจแล้ว จะเกิดอารมณ์คุณหนูนะ อยากจะกรี๊ด โอ๊ยมันอีกกี่ปีกี่ชาติล่ะเนี่ย ตัวนี้นะ เวลาดู ดูตัวที่มันทะเลาะกันเนี่ยแหละ สรุปแล้วมันมีโฟกัสอยู่โฟกัสเดียวที่เรารู้ได้ก็คืออารมณ์ขัดแย้ง อารมณ์กรี๊ดน่ะ อารมณ์ที่มันรู้สึกว่า สองฝักสองฝ่ายที่มันสู้กันอยู่เนี่ย มันมีแรงเค้น เข้าใจไหม? คือเมื่อไรที่มีกำลังที่จะเดินหน้า แล้วมีอีกแรงหนึ่งที่จะถอยหลัง มันจะมีความเค้นเกิดขึ้นมา แม้กระทั่งธรรมชาติของใจก็เหมือนกัน ใจทางความคิดอยากไปด้านหนึ่ง แต่อารมณ์อยากไปอีกด้านหนึ่ง มันก็เกิดแรงเค้นขึ้นมา 

แรงเค้นตรงนี้เนี่ย เวลาเราดูนะ ดูง่ายๆ อย่างตอนนี้พอพี่พูดถึงแล้วมันก็ไปก่อให้เกิดความคุกรุ่นตรงนี้ ที่มันขัดแย้งขึ้นมา เราก็ดู เนี่ยมันจะหายไปเห็นไหม? คือเวลาดู ดูแค่ตรงนี้ ของเราดูแค่ตรงที่มันเกิดความรู้สึกถึงแรงเค้น พอดูแค่ตรงเนี้ย ด้วยความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่เดิมเราไม่ได้คิดไง ว่าจริงๆ แล้วเราก็คิดดีมาตั้งเยอะแล้วนะ เราจะมองแต่ว่ามันยังมีโทสะ มันยังอะไรต่อมิอะไร คือมองด้านเดียว แต่ไม่ได้มองว่า สิ่งที่มันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจริงๆ เนี่ย มันเป็นแรงเค้น มันเป็นความขัดแย้ง เข้าใจที่พี่พูดไหม? คือเรามองว่าเป็นโทสะ เราไปโฟกัสตรงนั้น เข้าใจนะ 

เวลาที่มันเกิดความขัดแย้งขึ้นมา แล้วเราเห็นด้วยความเข้าใจว่า ความคิดเราอย่างหนึ่งไปทางหนึ่ง อารมณ์ไปอีกทางหนึ่ง มันอีกอย่างหนึ่ง แล้วเกิดความขัดแย้งขึ้นมาเนี่ย มันจะปลอดโปร่ง มันจะรู้สึกว่า ไม่ต้องเถียงกับตัวเองแล้ว แค่เห็นตัวโปรดักสุดท้ายที่มันออกมาเป็นความขัดแย้ง ที่มันออกมาเป็นความรู้สึกฝืน ความรู้สึกต่อต้าน ความรู้สึกว่ามันเค้นกันอยู่เนี่ย ให้เห็นตัวนี้ตัวเดียวจบเลย เพราะมันเห็นด้วยความเข้าใจ เห็นว่าความคิดกับอารมณ์มันขัดแย้งกัน เท่านี้พอนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น