ถาม : ขอเรียนถามเรื่องการปฏิบัติเรื่องศีลนะคะ
คือรู้สึกว่าเป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาในออฟฟิศได้ เป็นที่คาดหวังของใครหลายๆคน
อัตตามันเริ่มจะขึ้น ต่อมาเนื่องจากพยายามจะแก้ปัญหา ก็ไปขวางคนเรื่องเงิน
ถ้าเราดูตามกฎเกณฑ์ ไม่ให้เค้า ก็รู้สึกว่าเหมือนกับยึดหลักการถูก เราไม่ผิดศีลเรื่องเงิน
แต่พอตัดสินใจว่าทำตามหลักเกณฑ์ไปแล้ว ก็รู้สึกจิตใจมันไม่โปร่งเพราะว่าเค้าเศร้า
เค้ามองว่าเงินแค่นี้มันไม่ได้มากมายอะไร ถ้าเราปล่อยเลยตามเลยไป ทุกคนก็มีความสุขดี
และต่อไปยิ่งรู้สึกว่าจะต้องมีการขวางกันเกิดขึ้นอีก
และถ้าไปขวางกันอีกก็อาจก่อให้เป็นเวรเป็นกรรม ทำให้เค้ามีปัญหาในการทำงาน เลยรู้สึกไม่สบายใจว่าควรจะต้องตัดสินใจ
หลับตาดี หรือว่า ยึดหลักการ หรือว่าทำอย่างไร ถึงจะเหมาะสมที่สุด
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๘ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
ดังตฤณ:
๑๘ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
ดังตฤณ:
ถ้ามองเป็นอาการทางใจนะ การเสียจุดยืนไปเนี่ย มันก็เท่ากับเราเสียที่ตั้งของสมาธิไป
มีบางคนที่ใช้ชีวิตแบบอะลุ้มอล่วย ประนีประนอม พยายามทำให้ทุกฝ่ายพอใจ
ปรากฏว่าจริงๆแล้วไม่สามารถทำให้ใครพอใจได้สักคนเดียว แล้วผลเสียทางใจก็คือ
พอมาทำสมาธิมันเห็นเลยนะ มันเหมือนกับว่าไม่สามารถตั้งอยู่กับตรงใดตรงหนึ่งได้ มันขาดน้ำหนัก
มันไม่สามารถโฟกัส
พี่ให้โจทย์อย่างนี้ก็แล้วกันนะว่า จะเลือกอย่างไรจะตัดสินใจอย่างไร
แบบประนีประนอม หรือ แบบที่ว่าโลกไม่ให้ช้ำธรรมไม่ให้เสีย รายละเอียดเป็นอย่างไรก็ได้
แต่ขออย่างเดียวอย่าให้ขาดจุดยืน ต้องจำจุดยืนของตัวเองให้ได้ว่า ที่เรารู้สึกดีกับตัวเอง
ที่เรารู้สึกว่าใช่ตัวเอง มันอยู่ที่ตรงไหน บางทีมันคุยกันได้เจรจากันได้
เราว่าโอเค เรารู้เราเห็นนะว่ามันเป็นอย่างนี้นะ ลดลงสักครึ่งนึงได้มั้ย
คืออย่างน้อยมันไม่ทำให้เค้ารู้สึกว่าเราเป็นอากาศธาตุ
ไม่ทำให้เค้ารู้สึกว่าเค้าผ่านไปได้ง่ายๆ อย่างน้อยมันมีจุดยืนของเราอยู่ แต่ก็ไม่ได้แบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า
ไม่ได้ชนิดที่จะเอาชนะกันให้คว่ำกันไป หรือตายกันไปข้างหนึ่ง อะไรแบบนี้
รายละเอียดวิธีพี่บอกไม่ได้ แต่บอกได้อย่างหนึ่ง สังเกตเข้ามาที่ใจตัวเอง ถ้าตราบใดจุดยืนเดิมของเราที่มันดีที่มันถูกต้องยังอยู่
ใจของเราจะมีโฟกัส
เรื่องอีโก้เนี่ย ในทางโลก ในทางการใช้ชีวิตแบบฆราวาส
มันหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก มันทำอะไรดี ทำอะไรเด่น หรือว่าทำอะไรที่เป็นสิ่งที่คนอื่นเค้าต้องหันมาหาเราเนี่ย
ยังไงมันก็ต้องมีอีโก้ ประเด็นก็คือเราใช้อีโก้มาทำประโยชน์ ในแบบที่มันควรจะเป็นไปตามหน้าที่ของเราหรือเปล่า
จากนั้นพอเจริญสติ เราค่อยมาดูที่หลังก็ได้ว่าเนี่ย
ตอนนี้มันมีความรู้สึกอึดอัดขึ้นมาเยอะนะ มีอัตตา มีมานะ มีความรู้สึกมืดๆทึบๆ และความรู้สึกมืดๆทึบๆนั่นแหละ
ดูๆไปแล้วมันก็เห็นแต่ละลมหายใจมันก็ไม่เท่ากันหรอก บางทีมันรู้สึกมืดๆทึบๆ เป็นอัตตาตัวตนแบบเดิมอยู่เป็นชั่วโมงๆ
เสร็จแล้วพอมันเริ่มเข้าสู่สมาธิในแบบหนึ่ง เห็นแต่ลมหายใจ เห็นแต่ความรู้สึกว่ามีธาตุลมเข้า
มีธาตุลมออก ไม่รู้สึกว่านี่มันเป็นที่ตั้งของอัตตา
ตัวนี้มันก็ค่อยๆเห็นไปทีละนิดๆ
แต่ไม่ใช่เราจะไปบังคับเอาได้ว่า เออ..เราทำหน้าที่อะไรเต็มที่แล้ว คนอื่นหันมาแล้ว
มันจะไม่มีอีโก้เลย มันไม่ใช่วิสัยนะ มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งนะ
แล้วหลายคนจะรู้สึกว่า เอ๊ะ..ที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันขวางความก้าวหน้านี่ มันขวางตั้งแต่ตอนยังไม่ไปบวชแล้วล่ะ
มันไม่ใช่พึ่งมาขวางตอนที่เราเกิดอีโก้ตอนไปทำหน้าที่อะไรได้ เป็นฆราวาสเนี่ยเราหวังแค่นี่
เราเห็นตามจริงตามสภาวะที่มันกำลังจะปรากฎเป็นเรื่องๆ
แต่อย่าไปคาดหวังถึงขึ้นที่ว่า ทำงานไปแล้วมันจะไม่เกิดอีโก้เลย
ทำงานไปแล้วมันจะไม่เกิดความขัดแย้งเลย แต่เราคาดหวังว่าทำงานไปแล้ว ให้มันมีจุดโฟกัสของงานที่ทำให้จิตของเราเป็นสมาธิขึ้นมาได้
เราจะได้เอามาต่อยอดเป็นการเจริญสติ คิดอย่างนี้นะ
ถาม : แล้วการที่ขวางไปแล้วนี่ ควรไปคุยกับเค้าสักนิดมั้ยค่ะ ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เพื่อให้มันดูนุ่มขึ้น หรือว่าปล่อยให้มันผ่านแล้วผ่านเลยไป
ดังตฤณ:
ของเรา เวลาคุย มันคุยแรงน่ะ
คือดูเหมือนมันไม่ได้ใช้คำอะไรก็จริง แต่ว่าเราจะตั้งหน้าตั้งตา แล้วจะมีท่าทีที่แข็งนิดนึง
เพราะว่าในความรู้สึกของเราน่ะ มันมีข้อมูลอยู่เต็มหัว บางทีมันเห็นอะไรชัดกว่า
เรารู้สึกว่าเราเห็นอะไรชัดกว่าคนที่เราคุยด้วย เพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างเราเข้าใจเป็นภาพรวม
ในขณะที่หลายๆคนส่วนใหญ่จะเข้าใจเป็นภาพที่อยู่ตรงหน้า ว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไร
ถ้าน้องสามารถเห็นอาการพูดของตัวเองนะ คือพอเริ่มต้นขึ้นมาเนี่ย
มันจะเข้าฟอร์มเดิม มันจะเข้าแพทเทิร์น (pattern) เดิม แบบที่เราเคยชินน่ะ
คือมันจะมีอาการตั้งหน้าตั้งตาขึ้นมา แล้วก็พูดทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้
แล้วก็พยายามจะเอาชนะด้วยเหตุผล ที่เราคิดว่าเนี่ยมันเป๊ะแล้ว มันไม่มีทางเป๊ะไปกว่านี้แล้ว
เนี่ยมันไม้บรรทัดแล้ว ทีนี้คนในโลกเค้าไม่ต้องการไม้บรรทัด เค้าต้องการสิ่งที่เค้าอยากได้
ไม่รู้หรอกว่ามันโค้ง งอ บิดเบี้ยว หรือผิดเพี้ยน แค่ไหน
รู้แต่ว่าถ้าหากเค้าไม่ได้สิ่งที่เค้าต้องการ เค้าก็ไม่หยุด นี่เราจะหยุดเค้าได้ ไม่ใช่ด้วยไม้บรรทัด
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ไปโค้งแบบที่เค้าโค้งอยู่ซึ่งมันจะไม่มีอะไรดีขึ้น
แต่เราต้องเป็นไม้บรรทัดที่ งอ นิดนึง
เริ่มจากอาการทางใจที่รู้สึกว่า เค้าไม่ได้ผิดเต็ม
๑๐๐ เพราะถ้าเรารู้สึกว่าถูกคือของเรา แล้วผิดคือของเค้าเนี่ย
ตรงนี้มันก็จะเข้าฟอร์มเดิม พูดออกมาจากสิ่งที่เรารู้สึก แต่ถ้าเรามีสติเจริญขึ้นในขณะที่กำลังจะพูด
แล้วเห็นว่านี่เรารู้สึกว่าเนี่ยถูกนั่นผิด มันจะอ่อนลง มันจะรู้สึกถึงอาการอยากประนีประนอม
ความรู้สึกอยากประนีประนอมนั่นแหละคือ
ความรู้สึกที่พี่ว่าไม้บรรทัดสามารถที่จะงอได้นิดนึง ที่พูดเป็นน่ะอาการทางใจ พูดง่ายๆว่า
ถ้าเราเห็นอาการทางใจของตัวเอง ณ เวลานั้นเรารู้ว่าจะพูดอะไรต่อ มันจะรู้ขึ้นมาเอง
มันจะเห็นรายละเอียดขึ้นมาเอง คือขึ้นต้นมาไม่ใช่ว่าแกผิด
แต่ว่าขึ้นต้นมาว่ามันมีทางออกอื่นมั้ย เอ่อเนี่ยคุณ
มันจะเริ่มมีโทนของสีหน้าสีตาและการใช้น้ำเสียงที่แตกต่างไป
ถาม : คือถ้าเช่นนั่น ถ้าอยากพูดก็พูดได้ แต่ต้องตั้งสติก่อนพูด
ดังตฤณ:
พูดได้
คือเห็นเข้ามาที่ใจ ว่าเราถูกเต็ม ๑๐๐ เค้าผิดเต็ม ๑๐๐ รึเปล่า ถ้าตรงนั้นอย่าเพิ่ง
แล้วพอรู้สึกว่า เอ่อ..ไม่ต้องถูกเต็ม ๑๐๐ ก็ได้นะ ไม่ต้องผิดเต็ม ๑๐๐ ก็ได้
เราถูก ๗๕ เค้าผิด ๗๕ ได้มั้ย เนี่ยแล้วมันจะค่อยๆจูน มาอยู่ตรงที่พอจะคุยกันได้
เจรจากันได้ เสียงเราจะอ่อนลง แต่นี่ที่เห็นคือเหมือนกับไม้บรรทัดเป๊งเลยนะ คือของเราไม่มีอะไรผิดหรอก
มันถูกหมดแหละ แต่ที่ถูกหมดน่ะ คนเค้าไม่ต้องการ มันผิดสำหรับเค้า
ถาม : คำถามสุดท้ายแล้วค่ะ ขอแนวทางในการปฏิบัติธรรมนิดนึงค่ะ
ดังตฤณ:
นี่แหละคือการปฏิบัติ
พอเราเห็นใจในขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน มันจะเริ่มรู้สึกถึงภาวะ อย่างที่พี่บอกน่ะ
ว่าเราเป็นเหมือนไม้บรรทัดที่ตรงเป๊ง เราก็นึกออก เนี่ยสภาวะแบบนั้นน่ะ ให้เห็นก็แล้วกันในเวลาที่มันมาปรากฎ
ตรงนี้การเจริญสติมันจะอยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่จำไว้ด้วยนะ จำคีย์เวิร์ด (keyword) ไว้ด้วย
พี่ไม่ให้เสียจุดยืนนะ เพราะถ้าเสียจุดยืนเนี่ย ใจเราจะเป๋ อาการที่จะไปยอมๆ มันจะเหมือนกับเราอ่อนเปียกไปเป็นอีกคนนึง
พอเสียความเป็นตัวของตัวเองไป สมาธิมันก็จะเสียโฟกัสไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น