วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ความอยากได้ดีคือความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ความเพียร

ผู้ถามฝึกเจริญสติหลายวิธี รู้สึกว่าตัวเองเพียรมากเกินไปจนอึดอัด คุณดังตฤณชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่ความเพียร แต่เป็นอาการฟุ้งซ่านอยากได้

รับฟังทางยูทูบ :   https://youtu.be/ZjxkroIVV5M
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๗
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๙ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 

ดังตฤณ :
ของคุณนี่คือ ถ้าฟุ้งซ่านมันจะฟุ้งกระจาย แต่พอนิ่ง เราก็จะรู้สึกว่า เออ มันสามารถนิ่งได้นี่ มันมีอยู่สองแบบ มีอยู่สองโหมด ฟุ้ง..ฟุ้งกระจาย พอนิ่ง..ก็นิ่งได้ ที่นิ่งได้นี่เป็นเพราะของใหม่ ที่เรามาเจริญสติ เรามารู้อาการเคลื่อนไหวหรือดูลมหายใจก็แล้วแต่ แต่ที่ฟุ้งเนี่ยของเดิม เป็นสมบัติเก่า ที่ติดตัวมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนเกิดมันก็ฟุ้งมาก่อนทุกคนแหละ 

แต่ว่าอันนี้ของคุณนี่ นิสัยทางจิตเวลาที่ฟุ้งเนี่ย มันจะฟุ้งแบบโอดครวญน่ะ เข้าใจคำว่าฟุ้งแบบโอดครวญไหม มันมีอาการร่ำร้องอยู่ข้างใน รู้สึกไหมว่าเวลาที่ฟุ้งซ่าน มันจะฟุ้งแบบที่ว่าดันๆออกไป เข้าใจคำนี้ไหม คือไม่ได้ฟุ้งอยู่แค่ข้างใน แต่มันเหมือนจะเอาอะไร จะเอาอะไรอย่างหนึ่ง พอจะเข้าใจไหม

ผู้ถาม : รู้แต่ว่าเวลาฟุ้งมันจะไป ไปแล้วก็ค่อยกลับมาใหม่แบบนี้ค่ะ

ดังตฤณ :
คือไม่ใช่ฟุ้งแบบธรรมดา คือฟุ้งแบบมาอาการอยากได้อะไรด้วย

ผู้ถาม : อ๋อ มีความอยากตลอดค่ะ

ดังตฤณ :
นั่นแหละ ตัวนั้นแหละ คือบางทีคนทั่วไปฟุ้งซ่านเนี่ย มันจะไม่ได้อยากได้โน่นอยากได้นี่เสมอไป แต่ของคุณคือฟุ้งแล้ว ฟุ้งด้วยอาการอยากได้นั่นอยากได้นี่ มีอาการเหมือนกับเรียกร้องจะเอาอะไรให้ได้อย่างใจซักที อะไรทำนองนั้น ขอให้สังเกตตรงนี้ พอยท์ของการสังเกต ความฟุ้งซ่านของเราตอนที่มันอยากเอาอะไรเข้าตัวเนี่ย มันจะมีอาการยื้อไม่หยุด เข้าใจไหม คือตราบใดที่เรายังไม่ได้สิ่งที่ต้องการมันจะมีอาการยื้อ แล้วตัวนี้ ความฟุ้งซ่านมันจะวนด้วยอาการยื้อนี้

แต่พอเราเห็นอาการยื้อ ถ้าเราเห็นอาการยื้อได้ จะเห็นความฟุ้งซ่านมันค่อยๆซาตัวลง คือเห็นตรงนี้นะ เห็นออกมาจากเครื่องปั่น มันมีเครื่องปั่นอยู่ข้างในเรา เครื่องปั่นความอยาก ตัวเครื่องปั่นเนี่ย ตราบใดที่เราไม่เห็นว่ามันปั่น มันจะปั่นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเห็นมันปั่น มันจะรู้สึกว่าซาตัวลง สงบลง หรือว่าปั่นช้าลง ของคุณจะเห็นได้ชัด เหมือนอาการที่มันยื้อ พยายามยื้อเนี่ย มันจะน้อยลง ตัวนี้แหละคืออาการที่แสดงความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่านในแบบของคุณ เข้าใจพอยท์นะ คือที่ผ่านมาเราไปดูอยู่ไง ว่ามัน คิด คิด คิด แล้วจับจุดไม่ถูก มันก็ไม่แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น แต่ถ้าไปจับตรงกลาง อย่าบอกว่ากลางอกเลย ตรงกลางๆน่ะ เราจะเห็นอาการยื้อ เนี่ย อย่างตอนนี้มันเบาลง เห็นไหม เมื่อกี้มันก็มีอาการออกมานิดๆเพราะเราพูดถึงมัน แล้วก็เลยเกิดอาการทบทวน

ถาม : ค่ะ มันย้อนกลับไปตอนที่นั่งภาวนา แล้วมันเห็นอาการฟุ้ง

ดังตฤณ :
อาการคล้ายๆยื้อน่ะ เนี่ย ตัวนี้มันจะแสดงความไม่เที่ยงของความฟุ้งให้เห็น แต่ถ้าเราไปดู อย่างที่ผ่านมาคุณดูความคิดในหัวอย่างเดียว มันก็เหมือนกับไม่เห็นอะไรเลย เข้าไปกลางพายุที่มันปั่นไม่หยุด มันก็จับไม่ถูกว่าจะเอาอันไหนดีนะ คราวนี้มันจะเริ่มเห็นแล้ว เริ่มเห็นอาการขาด ขาดท่อนของกระแสความคิด แล้วมันเริ่มมาจากอาการนี้ ตัวนี้

ผู้ถาม : ประเด็นที่สอง ก็คือว่าเวลาอยู่ระหว่างวัน ก็จะมีลมหายใจหรืออะไรอย่างเนี่ยค่ะ มันชอบไปติดเพ่ง มันชอบไปอยู่กับความอึดอัด

ดังตฤณ :
เพราะนี่แหละ อาการยื้อนี่แหละ มันเริ่มจากอาการอยากทั้งนั้นเลยไง อยากจะทำให้ได้ แล้วมันก็มีอาการร่ำร้องกับตัวเอง เมื่อไหร่จะได้สักที เมื่อไหร่จะได้สักที

ผู้ถาม : ก็เมื่อไหร่จะได้สักที

ดังตฤณ :
นี่แหละ ได้แล้ว เมื่อกี้นี้ ได้พอยท์ในการสังเกตว่าอาการยื้อนี่แหละ ที่ทำให้ไม่ได้สักที เมื่อกี้ตอนที่เห็น แล้วมันวูบให้เห็นน่ะ ว่า เออเนี่ย มันขาดตอนได้จริงๆด้วย ถ้าเราดูถูกจุด แต่ที่ผ่านมามันดูแต่ความคิดในหัว แล้วก็ไปรบกับตัวเอง เหมือนกับเอาความคิดไปรบกับความคิด มันก็ยิ่งคิดกระเจิงเข้าไปใหญ่

ผู้ถาม : คำถามสุดท้ายค่ะ บางทีเหมือนจะเพียรมากเกินไปอ่ะค่ะ

ดังตฤณ :
ไม่ได้เพียรมากเกินไปนะ มันอยากได้มากเกินไป

เห็นพอยท์ไหม คือเพียรเนี่ย มันเหมือนกับร่ำร้องกับตัวเองอ่ะ เมื่อไหร่จะได้สักที เมื่อไหร่จะได้สักที มันก็เลยไม่หยุด ที่ผมพูดไงว่า มันเหมือนมีมอเตอร์ปั่น ปั่นอยู่ไม่หยุด จนกว่าจะยื้อได้สิ่งที่ต้องการ นี่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะทางธรรมนะ ทางโลกด้วยนะ คือมีอาการยื้อแบบนี้ในลักษณะเดียวกัน แต่ทางธรรมจะมากกว่า จะแรงกว่า แต่มันเริ่มต้นมาจากทางโลกนั่นแหละ วิธีเดียวกัน

ผู้ถาม : เข้าใจแล้วค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น