วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ฝึกเห็นอาการทางใจไม่เที่ยง ทั้งในและนอกรูปแบบ

ถาม : คือทำๆไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าช่วงนี้เรามีติดอะไรอยู่หรือเปล่า เหมือนกับจะนิ่งๆไปน่ะค่ะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/xESIFYUP9ow
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๔
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส 
๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
อย่างเวลานั่งสมาธิ จะมีอาการซึม คือไม่ใช่นิ่งแบบตื่น มันนิ่งแบบซึมลงมา เราจะสังเกตได้ คือช่วงแรกๆมันเหมือนกับคนรู้งาน เข้าใจว่าเกิดอะไร แต่ตนหลังๆไป มันค่อยๆห่อเหี่ยวลงมา คือไม่ใช่เหี่ยวแบบหดหู่นะ แต่จะซึมคล้ายๆคนที่กำลังจะพักนอน เราสังเกตเป็นอาการทางใจ ว่าตอนแรกมันมีความตื่นรู้ดี แล้วมันค่อยๆซึมลงมา หรือถึงแม้ว่ามีความสงบ มันก็ยังมีอยู่หลายแบบ 

ของคุณบางทีมันมีความสว่าง มันจะรู้สึกถึงความสว่าง ไม่ใช่ตอนนั่งสมาธิอย่างเดียวนะ ในระหว่างวันเนี่ย เวลาเราเจริญสติ เราพยายามที่จะรู้เข้ามาข้างในกายใจ บางทีมันรู้สึกเหมือนสว่าง มันเป็นความเป็นกุศล คือจิตมันคิดดี มันรู้สึกดี อย่างตอนนี้ก็เรียกว่าสว่าง แต่บางครั้งมันก็จะคล้ายๆกับถูกยื้อ ถูกยื้อไว้ด้วยภาวะอะไรที่ติดๆขัดๆ พอจะเข้าใจไหมว่าผมพูดถึงยังไง มันเหมือนกับจะรู้ก็ไม่ใช่ จะหลงก็ไม่เชิง

ผู้ถาม : ค่ะ

ดังตฤณ:
อ่า..ตรงนี้เข้าใจใช่ไหม ที่มันยื้อๆเหมือนกับติดๆขัดๆ เราก็แค่เปรียบเทียบเป็นสภาวะ ตอนที่เรารู้สึกสว่างสบายมันเป็นแบบหนึ่ง ตอนที่รู้สึกติดๆขัดๆมันเป็นอีกแบบนึง คือจะได้เจริญสติทั้งภาวะที่ดีและไม่ดี โดยการเห็นว่ามันไม่เหมือนกัน ทั้งสองภาวะนี้ ภาวะที่สว่าง กับภาวะที่ไม่สว่าง ภาวะที่ติดๆขัดๆ กับภาวะที่ปลอดโปร่ง มันมีทั้งสองภาวะที่ปรากฏสลับๆกัน คืออย่าไปตั้งข้อสงสัยว่าเราจะทำอย่างไรกับมัน 

คือพ้อยท์ (Point) โจทย์ของคุณคือว่า จะเอาอย่างไรกับมันใช่ไหม? แต่คือพ้อยท์ (Point) ที่ผมให้สังเกตก็คือว่ามันเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดภาวะอะไรคล้ายๆอย่างนี้แหละ บางทีมันก็ปลอดโปร่ง บางทีมันก็รู้สึกอึดอัด บางทีมันก็รู้สึกติดขัด สำคัญคือว่า เมื่อแต่ละภาวะเกิดขึ้นเราแค่เปรียบเทียบให้ถูก คือรู้ให้ถูกต้องตรงตามภาวะว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น จะได้เปรียบเทียบว่า เออ..มันไม่เหมือนกัน มันต่างกันไปเรื่อยๆ แล้วก็จะค่อยๆเห็นความไม่เที่ยงของจิตไปเอง

ผู้ถาม : ค่ะ ไม่ใช่ว่าผิดพลาด?

ดังตฤณ:
ไม่ใช่ไม่ใช่ มันเป็นธรรมดา เพราะว่างานของคุณ วิธีทำงานของคุณ บางทีเป็นพวกที่ทำงานด้วยความหนักใจ

ผู้ถาม : ค่ะ หนักใจมาก

ดังตฤณ:
คือพอมีความหนักใจ สังเกต..บางทีไม่อยากตัดสินใจ บางทีไม่อยากที่จะรับรู้ที่เกิดอะไรขึ้น ตัวนี้ที่มันทำให้สภาวะของใจเข้าไปสู่ภาวะติดขัด พูดง่ายๆว่าจะปฏิบัติมาถูกหรือผิดอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ต้องเกิดภาวะติดขัด รู้สึกอึดๆอัดๆแบบนี้ นั่นเพราะว่าเราสะสมวิธีการทำงานมาแบบนี้ เข้าใจพ้อยท์ (Point) นะ

จริงๆแล้วคนมักจะนึกว่าปฏิบัติไป ถ้าถูกต้องเนี่ย ทุกอย่างจะดีหมด ทุกอย่างต้องไม่มีความรู้สึกขาดๆเกินๆเลย แต่แท้ที่จริงมันขึ้นอยู่กับว่า วิธีใช้ชีวิตของเราเป็นมาอย่างไร วิธีทำงานของเราเป็นมาอย่างไร วิธีคิดเกี่ยวกับคนของเราเป็นมาอย่างไร เหล่านี้มันนับหมด มันเอามารวมหมด เพราะว่าสิ่งที่เราสะสมมา มันมากกว่าการปฏิบัติหลายเท่าตัวนัก ภาวะความเคยชินทางธรรมชาติ ที่เราจะทำงาน หรือที่เราจะดีล (deal) กับผู้คน ตัวนี้ที่มันจะมาปรากฏบ่อย และถ้าเราสังเกตอยู่ ว่ามันปรากฏโดยความเป็นอย่างนี้ ไม่ไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน เราก็จะค่อยๆเห็นไปทีละภาวะ ทีละภาวะ ว่าภาวะตอนนี้กำลังปรากฏอยู่ และมันต่างกับอีกภาวะอย่างไร 

วิธีง่ายๆที่จะแบ่งว่า ภาวะไหนเป็นภาวะไหน ก็ดูเอา เหมือนถามตัวเองว่า ในลมหายใจนี้ กำลังเกิดความรู้สึกอึดอัดหรือว่าสบาย อีกลมหายใจนึงอึดอัดขึ้นหรือว่าสบายลง สบายผ่อนคลายลงกว่าเมื่อครู่ ฝึกถามตัวเองไปอย่างนี้ มันก็จะได้หายสงสัย ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่แล้วเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป

คือถ้าไปพยายามที่จะทำอย่างไรต่อไปอยู่เรื่อยๆ มันจะเหมือนกับเราหาอุบายเพิ่ม ว่าต้องแก้อย่างนั้น ต้องแก้อย่างนี้ ตรงนี้ติด..ติดขัดรู้สึกอึดอัดขึ้นมาควรจะต้องทำอย่างไร มันกลายเป็นพยายามที่จะทำอะไรอย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเราคอยเปรียบเทียบ ภาวะนี้ลมหายใจนี้กำลังเป็นแบบนี้ อีกลมหายใจนึงกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้ไม่ได้พยายามอะไรเลย มันแค่ปล่อยให้ทุกอย่างปรากฏตามจริง แล้วเราสังเกตเอาในแต่ละลมหายใจเข้าออกเท่านั้นเอง


เวลาที่พระพุทธเจ้าสอนอานาปานสติ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้แหละ หายใจเข้าหายใจออกรู้สึกอย่างไรอยู่ กำลังมีอาการปรุงแต่งอย่างไรอยู่ รู้ตามจริง นี่แหละอันนี้คือ อานาปานสติ แล้วมันจะค่อยๆเห็นความไม่เที่ยงของแต่ละภาวะไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น