วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

นั่งสมาธิแล้วมีอาการวูบ

วิธีภาวนาสำหรับคนที่นั่งสมาธิแล้วมีอาการ­วูบอันเนื่องมาจากนิสัยที่ตั้งใจมากเกินไป
รับฟังทางยูทูบhttps://youtu.be/YM1wRt9-ZTM
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
๓๐สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ผู้ถาม: วันนี้มาครั้งแรกนะครับ จากที่อาจารย์ให้ทำสมาธิเมื่อกี้ ผมทำไม่ได้เลย ผมวูบไป ๓ ครั้ง แล้วมันก็เริ่มต้นใหม่นะครับ

ดังตฤณ: แต่วูบไป  ครั้ง ถือว่าประสบความสำเร็จนะ ประสบความสำเร็จในการทำสมาธิ แล้วเจออารมณ์วูบ

ผู้ถาม: คือ มันเหมือนกับเริ่มต้นใหม่ทุกที มันเหมือนว่า ท่าดีทีเหลวครับ

ดังตฤณ: ไม่ใช่ทุกคนนะ วูบนี่ถือว่าเก่งนะ วูบได้ เพราะว่าแสดงให้เห็นว่าเราอยู่กับอารมณ์สมาธิพอสมควร ไม่ได้ฟุ้งซ่านอย่างเดียว บางคนรู้สึกว่าท้อแท้ เจออารมณ์วูบแล้วสงสัยจะทำไม่ได้ แต่จริงๆแล้ว การที่นั่งสมาธิไปแล้ววูบ มันเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า เราเกือบๆจะเป็นสมาธิได้แล้ว มันถึงวูบ ถ้าหากว่ามันไม่วูบ แสดงว่าในหัวเราเต็มไปด้วยความคิดฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่ได้อยู่กับอารมณ์สมาธิ เข้าใจพอยต์ (Point) นะ

ผู้ถาม: แล้วผมตั้งใจเกินไปหรือเปล่าครับ

ดังตฤณ: พอยต์ของจิตของคุณมันอยู่ตรงที่ว่า เอาอย่างนี้ พูดง่ายๆ เลยให้เข้าใจ อย่างที่ทำงานมานี่ เรื่องบางเรื่องไม่ต้องทุ่มอารมณ์หนักเกินไป คุณก็ทุ่มหนักเกินไป หรือบางทีปัญหาบางอย่าง พอมันคาราคาซังมากๆ ปล่อยเลย ช่างมัน ช่างหัวมันอะไรแบบนี้ คือจะมีอยู่ ๒ อารมณ์ หนักเกินไป หรือไม่ก็ปล่อยเลย เพราะมันรู้สึกเหมือนกับว่าด้วยอารมณ์ที่มาสุดทาง บางครั้งเราจะเคยชินกับการทุ่มหนักจนกระทั่งมันหมดแรง เข้าใจคำว่าหมดแรงใช่ไหม คือมันหมดกำลังใจ 

โอเค ตรงนี้ถือว่าจูน (Tune) ติดแล้วนะ พอยต์ของจิตของคุณคือว่า ทุ่มหนักเกินไปกับเรื่องที่บางทีไม่จำเป็นต้องหนักก็ได้ พอเรื่องที่หนักจริงๆ รู้สึกมันสุดแรงเลย

 
เวลาที่นั่งสมาธิ พฤติกรรมหรือความเคยชินในการทำงานมันก็ย้อนกลับมาคล้ายๆกัน อย่างตอนจะดูลมหายใจ คือเมื่อกี้คุณฟังผมก็จริง บอกว่าแค่สังเกตฝ่าเท้าไป สังเกตมือไป แต่เห็นไหมมันมีอาการตั้งใจ ตั้งใจปล่อย พอดูฝ่าเท้า ผมแค่ให้สังเกตเฉยๆ ว่ามันเกร็งอยู่ งออยู่ หรือว่ามันวางสบาย แต่คุณไปจ้องฝ่าเท้าเลย นี่จุดเริ่มต้นนะ

พอดูลมหายใจ คุณตั้งใจในลักษณะที่ว่าเรากำลังจะทำสมาธิ อารมณ์ของคนที่แบบตั้งใจกำลังจะทำสมาธิ เข้าใจใช่ไหม จะมีอาการตั้งอกตั้งใจ ไม่ให้หลุด มันจะมีอาการตั้งอกตั้งใจว่าเราจะดูลมหายใจจริงจังนะ นี่ตัวความรู้สึกแบบนั้น ทั้งๆที่ตอนที่ผมพูดว่า แค่สังเกตเฉยๆก็พอ ว่าลมหายใจกำลังจะเข้า หรือกำลังจะออก ฟังแล้วเข้าใจก็จริงนะ แต่ว่าตอนทำตอนปฏิบัติ ก็ยังมีอาการฝืนบังคับ ฝืนกับลม ลมมันเข้ามันออกเฉยๆ

 
อย่างตอนนี้เรียกว่าจิตสบายนะ ไม่หนัก แต่ย้อนทบทวนไปตอนที่เราฝึกกันตอนแรก ไม่ใช่แบบนี้  มันรู้สึกเหมือนอึ้งๆ รู้สึกเหมือนพยายามสบาย เข้าใจคำว่าพยายามสบายใช่ไหม พอพยายาม มันไม่สบายแล้ว แต่ตอนนี้มันไม่มีความพยายาม มีแต่ยอมรับสภาพ ที่คุณฟังผมมานี่ คือ พอมันเข้าใจ ว่าอารมณ์ของเรามันคลาดเคลื่อนที่ตรงไหน ผิดที่ตรงไหน พอยอมรับตรงนั้นปุ๊บมันก็หลุดจากภาวะตรงนั้น แล้วมันก็กลายเป็นสบาย อย่างตอนนี้มันเปลี่ยนแล้ว น้ำหนักมันเบา

พอเริ่มเห็น จำไว้นะ อย่างผมพูดไปนี่เข้าใจแล้วใช่ไหมว่า จะดูหน้าตาความพยายามเป็นอย่างไร รู้แล้วใช่ไหม เข้าใจใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดขึ้นอีกก็ขอให้แค่รู้ รับรู้ ยอมรับว่ามันเกิดภาวะความพยายามหนักๆ อึ้งๆ ขึ้นมา มันจะผ่อนไป เบาไป แล้วก็มีความพร้อมที่จะดูลมหายใจหรือว่าพร้อมที่จะเห็น ฝ่าเท้า ฝ่ามือ ใบหน้าตรงตามจริงต่อไป นี่อาการของจิตแบบนี้ มันเป็นคนละคนกับที่เคยชินมาตลอด 

อย่างตอนนี้ คุณลองคิดดูนะถ้าจะต้องไปแก้ปัญหา ถ้าจะต้องไปรับมือกับหน้าที่การงาน ถ้าด้วยจิตแบบนี้ มันจะเกิดความรู้สึกว่า ไม่ต้องคิดหนักเกินไปก็ได้ มันจะว่ารู้สึกว่าแค่คิดเบาๆสบาย เหมือนกับว่าเรามองเห็น สวิตช์ไฟ มองเห็นว่าผนังสีอะไร มองเห็นว่าตัวหนังสือปรากฏอยู่ในหน้ากระดาษแบบไหน คือ ไม่ต้องเอาความตั้งอกตั้งใจเกินพอดีมานำหน้า

ที่ผ่านมามันพยายามเกินพอดีมาตลอด แล้วจะเหมือนมีอะไรหนักๆอึ้งๆ นำหน้าอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากว่าให้ความเบา ให้ความรู้สึกว่าสามารถที่จะยอมรับอะไรก็แล้วแต่ที่มันกำลังปรากฏต่อหน้าต่อตาได้ตามจริง ด้วยอารมณ์แบบนี้มันจะเปลี่ยนวิธีการทำงานของเราเลย  คือเราจะเริ่มต้นด้วยการสามารถชั่งน้ำหนักถูก ว่าตรงนี้ควรโฟกัสจริงจังหรือว่าแค่มองเฉยๆก็พอ แต่ที่ผ่านมานี่ ทุกอย่างถูกตีค่าเท่ากันหมด มีน้ำหนักเท่ากันหมด คือต้องจริงจัง แต่นี้ไม่ต้องจริงจังก็ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำสมาธินี่ ทำแบบสบายๆ


 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น