วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รู้ทันจิตพอสมควรแล้ว จะก้าวหน้าต่ออย่างไร?

ถาม :  ภาวนามาประมาณสักครึ่งปี ตอนแรกก็จะมีโทสะเยอะ ก็จะตามดูโทสะ ดูไปดูมา ก็ ดูแล้วดับ ดูแล้วดับ หลังจากนั้นผ่านไปช่วงนึงก็เหมือนกับไม่ค่อยมีโทสะแล้ว แล้วก็เลยไม่รู้จะดูอะไร ก็เหมือนกับว่างเว้นการปฏิบัติพักนึง เพราะว่า...
รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/OL9kNxKw2KE
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๘
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๒ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
แต่มันมีความไม่พอใจอยู่นะ คือเราจะไม่พอใจอะไรได้ง่าย สังเกตไหม

ผู้ถาม :  ใช่ ค่ะ ไม่พอใจ คือ

ดังตฤณ: 
อ่า เพียง เพียงแต่ว่ามันไม่ได้พุ่งพล่านขึ้นมาเหมือนแต่ก่อน

ผู้ถาม :  ช่วงหลังมานี่ ก็เริ่มรู้สึกว่าตามดูอารมณ์ทุกอย่างอ่ะค่ะ อย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นโทสะ หรือว่า ความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในใจ หรือแม้แต่ความเฉยๆ ก็ตามดู ความสุขก็ตามดู ช่วงเนี้ย จะมีความรู้สึกว่า พอดูบ่อยๆ จะมีความรู้สึกว่า เราห่างออกมาจากโลกอ่ะ คือเหมือนกับ

ดังตฤณ: 
มีอะไรกัน

ผู้ถาม :  พอเหมือนกับเราไม่เอาจิต

ดังตฤณ: 
มีความว่างกัน

ผู้ถาม :  จิตเราไม่ออกไปตะครุบอารมณ์แล้วอ่ะค่ะ

ดังตฤณ: 
จ้ะ

ผู้ถาม :  เพราะเหมือนกับว่า ดูไป ก็เหมือนกับรู้ทันจิต มันก็จะไม่ค่อยออกไปตะครุบอารมณ์ ช่วงนี้เลยเหมือนกับ ไม่ค่อยมีอะไรจะดู เหมือนกับมันเบื่อๆ อะไรอย่างเงี้ยอ่ะค่ะ มัน..

ดังตฤณ: 
ถ้าช่วงที่รู้สึกเหมือนไม่มีอะไรจะดูเนี่ยนะ ฝึกสมาธิดีที่สุดเลย

ผู้ถาม : นั่งสมาธิทีไร หลับทุกทีเลยค่ะ

ดังตฤณ: 
เพราะว่าเราไม่ได้.. เอ่อ คือจริงๆแล้ว การนั่งสมาธิที่ดีที่สุดนะ ควรจะเดินจงกรมควบคู่ไปด้วย แล้วเดินเร็วนิดนึง เล่นกีฬาบ้างหรือเปล่า

ผู้ถาม :  เล่นค่ะ

ดังตฤณ: 
ใช่ไหม เป็นคนเล่นกีฬาใช่ไหม เนี่ย อย่างถ้าเกิดกระทบอะไรเนี่ย เรารู้ เพราะว่าจริงๆ จิตของเราเนี่ยมีความตื่นตัวอยู่นะ มีความแอคทีฟอยู่ระดับนึง แต่ถ้ามันเข้าไปพบกับอารมณ์สบาย อย่างเช่น นั่งสมาธิไป แค่ดูลมนิ่งๆเนี่ย มันกลายเป็นความอยากจะหายไปเลยได้ อยากจะหายไปเลยนี่ก็คือ หลับ นั่นเองนะ

ผู้ถาม :  ถ้านั่งสมาธิ จะมีอยู่สองอย่าง คือ ถ้าไม่ฟุ้งมาก ก็หลับไปเลยอ่ะค่ะ ฟุ้งนี่ฟุ้งแบบไม่เข้าใจว่าฟุ้ง

ดังตฤณ: 
อย่างเมื่อกี้ที่น้อง เมื่อกี้ที่น้องนั่งอ่ะ เมื่อตอนที่พี่ไกด์อ่ะ คือมันยังมีความพยายาม เห็นความพยายามไหม พยายามที่จะตั้งหน้าตั้งตา

ผู้ถาม :  ค่ะ

ดังตฤณ: 
ซึ่งตอนที่พยายามอยู่เนี่ย มันจะอยู่ในโหมดตื่น แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยเมื่อไหร่ ขี้เกียจที่จะพยายามแล้ว มันจะเริ่มเข้ามาหาจุดที่สบาย น้องดูเป็นอาการทางใจที่มันเป็นขั้นเป็นตอน

ตอนแรกอ่ะ มันจะมีความพยายามทำให้ดี มันจะไม่สนใจความสบาย แต่พอมันเริ่มรู้สึกว่า เอ้อ ดูไปไม่เห็นเกิดอะไรขึ้น มันจะเริ่มหาอารมณ์สบาย คือ อยู่ในจุดที่แบบเหมือนไม่ต้องทำอะไร เหมือนไม่แอคทีฟ แล้วมันก็จะค่อยๆบอกตัวเองให้สงบไป ทีละน้อยนะ จนกระทั่งไม่รู้สึกตัว ตรงนี้ ถ้าเราสามารถเห็นอาการทางใจอย่างที่พี่ว่ามานะ ลองไปสังเกตดู

ในแต่ละครั้งที่เริ่มหาอารมณ์สบายเนี่ย มันจะมีอยู่จุดนึงที่รู้สึกอยากจะพัก ให้หายใจยาวขึ้นนิดนึง ลากลมหายใจยาวขึ้นนิดนึง พอเราบอกตัวเองได้ว่า นี่ยังเห็นลมหายใจชัดๆอยู่ ให้ดูต่อ ว่าครั้งต่อไปร่างกายต้องการลากเข้าสั้น สั้นกว่านั้น สั้นลงกว่านั้นไหม หรือว่ายังอยากหายใจเข้ายาวๆ ได้อยู่ เนี่ย มันจะเริ่มมีมุมมองที่แตกต่างละ คือไม่ใช่มุมมองของการทรมานตัวเอง หรือว่ามุมมองของการพยายามที่สูญเปล่า แต่มันจะเห็นความแตกต่างว่า เออ ถ้าหากเราลากลมหายใจยาวๆ เข้าครั้งนึงได้นะ ครั้งต่อไปเนี่ย มันอาจมีความเปลี่ยนแปลง คือ ร่างกายไม่ได้ต้องการเอาเข้ายาวตลอดเวลา แต่ครั้งต่อมาอาจจะเข้าสั้นก็ได้ แล้วเราจะมีจุดสังเกตต่อว่า เอ่อเนี่ย พอลากสั้นแล้วครั้งต่อไป ยาวต่ออีกได้ไหม ยาวขึ้นได้ไหม มันจะเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง คือ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงที่จิต แต่เป็นอาการเปลี่ยนแปลงที่ร่างกาย ธรรมชาติของกายเค้าเนี่ยนะ ต้องการแตกต่างกันไปในแต่ละระลอกลมหายใจ

พอจิตของเรามีจุดสังเกตเนี่ย มันจะตื่นตัวขึ้น แล้วก็มีความต่อเนื่องได้มากขึ้น หมายถึงว่า ต่อเนื่องในความตื่นตัว ต่อเนื่องอยู่ในอาการตื่นตัว ที่ผ่านมามันไม่มีพ้อยท์ มันไม่มีพ้อยท์ชัดเจน คือ อย่างผ่อนคลาย เราก็ผ่อนคลายได้ เสร็จแล้วพยายาม  พอหยุดอยู่ในอาการพยายามตั้งหน้าตั้งตาทำเนี่ย เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ เนี่ย เราอยู่ในกรอบแล้วนะ เราอยู่ในวินัยแล้วนะ แต่มันไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นมา

จริงๆที่ไม่เกิดอะไรขึ้นมา เพราะเรายังสังเกตไม่ถูกจุด ในอาการที่มีอาการตั้งหน้าตั้งตาเนี่ย เราเห็นแต่ลมหายใจเป็นหลัก แต่ไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ เข้าใจพ้อยท์ไหม มันนิดเดียวนะ แต่มันตัดเชือกเลยว่า เราจะไปต่อบนเส้นทางของการเจริญอานาปานสติ ก้าวหน้าหรือว่าถอยหลัง หรือว่าย่ำอยู่กับที่ คน ที่ฝึกกันมาร้อยคนเนี่ย จะมี เก้าสิบเก้าคน หรือเกินกว่า เก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้า..

พูดง่ายๆ หนึ่งในพัน หนึ่งในหมื่น ที่จะเริ่มสังเกตออกว่า เนี่ย ลมหายใจที่มันเข้า ที่มันออกอยู่เนี่ย มันเป็นลมหายใจคนละชุดกันตลอดเวลา คือจิตมันจะเข้าไปอยู่ในมุมมอง อีกมุมมองนึง ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตา จับลมหายใจท่าเดียว แต่เป็นการสังเกต ว่าลมหายใจที่มันเข้า ที่มันออกเนี่ย มันไม่เท่าเดิม

พอเราเริ่มสังเกตว่าลมหายใจ.. คือเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าลมหายใจมันไม่เท่ากันจริงๆด้วย น้องลองสังเกตต่อไปว่า จิตเนี่ย มันจะเหมือนกับทำตัวเป็นผู้รู้ผู้ดูมากขึ้น คือ มันจะไม่มีอาการตั้งหน้าตั้งตานะ แต่มีอาการที่รู้อยู่ เห็นอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยไม่ต้องไปคาดคั้น

แล้วก็ดูอารมณ์ของตัวเองนิดนึง เวลาที่เรารู้สึกว่า เอ๊ะ เนี่ย กำลังตั้งหน้าตั้งตาอยู่เนี่ย มันชอบมีอารมณ์ประมาณว่า ทำไปไม่เห็นได้อะไร อะไรทำนองเนี้ยนะผุดขึ้นมา นึกออกไหม เวลาเราดูไปอ่ะ เอ๊ มัน แบบ มันจึ๊ก มันจึ๊กๆจั๊กๆ แบบคนที่ไม่พอใจ มีความขัดเคือง

ผู้ถาม :  คือจริงๆแล้วปกติ จะไม่นั่งสมาธิ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนนั่งสมาธิไม่ได้อ่ะค่ะ แต่ว่าพอไปฟังครูบาอาจารย์ ก็จะมีบอกว่าต้องทำสมาธิให้เรามีกำลัง ก็เลยนั่งๆไป คิดว่าถ้าไม่นั่ง เดี๋ยวไม่มีกำลังดูจิต อะไรอย่างเนี้ยอ่ะค่ะ

ดังตฤณ: 
คือตั้งต้นมาเนี่ยพี่เข้าใจ ทุกคนน่ะ จะมองอย่างงี้เหมือนกันหมดว่า ตัวเองไม่ถูกจริตกับอานาปานสติ แต่จริงๆแล้วมองไม่ถูกต่างหาก มันยังไม่เกิดอานาปานสติ สติยังไม่เจริญขึ้นต่างหากนะ อานาปานสติที่แท้จริง ไม่ใช่การดูลมหายใจ แต่เป็นการเอาลมหายใจมาเป็นตัวตั้งใจการสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นในขอบเขตของกายใจนี้

พอเราทำความเข้าใจอย่างนี้แม่นยำจริงๆ มันจะเริ่มเห็น แม้กระทั่งอาการที่เราจึ๊กขึ้นมา เหมือนกับเนี่ย น้องนึกทบทวนนะ เวลาเราตั้งหน้าตั้งตาดูลมหายใจ มันจะมีอาการเหมือนเมินๆ มันจะมีอาการเหมือนแบบ เหมือนอยากจะหันหน้าออกห่าง เข้าใจไหม คือแบบไม่พอใจอ่ะ ว่าจะต้องมาบังคับให้นั่งดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เข้าออกๆอยู่แค่นี้ มันมองไม่เห็นพ้อยท์ แล้วมันจะมีความรู้สึกขัดเคืองขึ้นมา อยากหันหน้าหนี

นี่ตรงนี้ ถ้าหากว่าเราเข้าใจอานาปานสติจริง ๆ เราก็จะเห็นอารมณ์นี้ อย่างที่พี่ว่ามาเนี่ย คือไม่ใช่มาทบทวนตอนนี้นะ แต่เห็น ณ ขณะที่มันเกิดขึ้นเลย ว่าในลมหายใจนี้เรากำลังเกิดโทสะขึ้นมาอ่อนๆ อารมณ์โทสะของเรา จะเป็นประมาณว่า เหมือนกับเราคุยกับใคร ละ ฮึม คนนี้คุยด้วยแล้วไม่มีประโยชน์ อยากหันหน้าหนี เห็นไหม นี่คือภาพทางใจ ที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตัวเอง แล้วเมื่อเราสามารถเห็นได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ทำสมาธิ มันจะเห็นพ้อยท์ของสมาธิ ว่าไม่ใช่เอานิ่ง แต่เอารู้ และยิ่งรู้มากขึ้น มากขึ้นเท่าไหร่เนี่ย มันจะยิ่งติดมาเป็นนิสัยทางใจ ในขณะที่ลืมตา ออกมาหาโลกความจริงภายนอก

เวลาที่น้องเกิดคำถามขึ้นมา เกิดคำถามกับตัวเองนะ ว่าไม่เห็นมีอะไรให้ดู ตอนนี้ไม่ได้โกรธแล้ว เราจะเริ่มรู้สึกขึ้นมาว่า ที่เรานิยามคำว่าโทสะเนี่ย มันคืออาการพุ่งปรี๊ด มันมีอาการร้อนๆ มันมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายอย่างชัดเจน แต่แท้ที่จริงแล้ว โทสะมาในรูปของเมฆหมอกความรู้สึกมืดๆได้ด้วย มันมีอาการเหมือนกับขัดเคืองไม่พอใจ แล้วมีอารมณ์มืดๆ ขึ้นมา นี่คืออาการเห็นภาพทางใจนะ มันไม่ใช่อาการที่แบบประจักษ์ชัดว่า นี่..ต้องมีอาการปรี๊ดขึ้นมา แล้วไปนิยามว่านั่นถึงจะเรียกว่าโทสะ แม้อาการรู้สึกว่าอึดอัดขัดใจเล็กๆน้อยๆ ที่มันไม่ได้อย่างใจ นี่ก็เรียกว่าโทสะได้เหมือนกัน แต่มันจะเป็นโทสะที่ดูยากขึ้นกว่าตอนที่มันปรี๊ด

และอารมณ์นึงคือ อย่างของเราจากนิ่งๆว่างๆที่เรารู้สึกเนี่ย คือ บางทีมันชัด มันปรากฎขึ้นมาชัด เพราะว่า แต่เดิมเนี่ย มันไหลตลอด มันคิดตลอด นี้พอมันเว้นวรรคไปเนี่ย เราเลยเกิดความรู้สึกยึดว่าตรงเนี้ยเราว่าง แต่จริงๆขอให้ดูนะ แป๊บนึงเนี่ย มันจะไหลๆ ไหลกลับมา มันพรั่งพรูกลับมา ไอ้กระแสความคิดฟุ้งซ่าน กระแสความคิดแบบว่า จะทำยังไงดีตอนนี้ จะเอาอะไรดี จะตั้งจิตไว้ตรงไหน เนี่ยตัวเนี้ยะ ที่มันไหลกลับมาเนี่ย คือ เราจะมองไม่เห็น ว่าเป็นกระแสความฟุ้งซ่าน อุธธัจจะ กุกุจจะที่มันปรากฎขึ้นมาในหัว เราจะไปมองแต่ว่า เนี่ย ตอนนี้เราจะทำอะไรดี ปฏิบัติอะไรดี เพราะเมื่อกี้ มันถือว่าประสบความสำเร็จมาแล้วในการเว้นวรรค ความฟุ้งซ่าน พอกลับมาใหม่ มันกลับมาในรูปของคำถาม ว่าจะเอายังไงดี ทำอะไรต่อ ตรงนั้นแหละ ที่ถึงเวลา ที่เราสามารถดูได้ คือแค่ยอมรับไป เออ เนี่ยตอนเนี้ย มันมีอะไรป่วน ๆ อยู่ในหัวนะ

ของเรามันจะมีลักษณะความคิดแบบนึง ที่เอาไปสังเกต เดี๋ยวค่อยๆสังเกตนะ ตอนที่เราเว้นวรรคจากความฟุ้งซ่าน เราจะรู้สึกสว่างๆ เหมือนออกที่โล่ง แต่เมื่อไหร่ที่ความฟุ้งซ่านกลับมา แม้กระทั่งถามตัวเองว่า อยากจะทำสมาธิต่อ หรือว่าจะ เจริญภาวนายังไง ถึงจะต่อยอดตรงนี้ได้ ตรงนั้นมันจะเกิดความมืดขึ้นมา คือจากที่อยู่ที่โล่ง สว่างๆ มันจะเหมือนกับเข้าป่า เข้าป่ารกใหม่

เดิมเนี่ย เราจะรู้สึกเหมือนกะว่าเราอยู่ในป่ารกตลอด แล้วพอมาเจริญสติ เราออกที่โล่ง ออกทุ่งโล่งกว้าง สบาย สว่าง ขอให้สังเกต แม้กระทั่งคำถามว่าจะทำอะไรต่อ ตรงนั้น กลับเข้าป่ารกใหม่แล้ว แต่เราจะไม่รู้สึก เพราะมันจะมีความรู้สึกบอกตัวเองว่า นี่เรากำลังปฏิบัติอยู่ เราผ่านการปฏิบัติที่สำเร็จมาแล้ว ระดับนึง และเรากำลังแสวงหาทางต่ออยู่ต่างหาก แต่แท้ที่จริงไม่ใช่ มันกลับมาฟุ้งซ่านเรียบร้อย เพียงแต่มาอีกในรูปแบบความคิดนึง ที่เราจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไปหลงกลมันเรียบร้อย นะ

ผู้ถาม :  แล้วคือเรา ก็แค่ตามรู้ว่าเราฟุ้งซ่านมากไป อะไร...

ดังตฤณ: 
ของเราอ่ะ ตามรู้อย่างเดียวไม่พอนะ พี่บอกจริงๆ คือเราต้องนั่งสมาธิ ที่เราจะเห็นปฏิกิริยาทางใจ หรือว่าอะไรที่มันผุดขึ้นมาจริงๆ มันตอนที่นั่งสมาธิ แล้วก็เห็น เห็นให้ได้ก่อน แล้วตอนที่ลืมตาอยู่เนี่ย บางทีแม้กระทั่งความคิดว่าจะปฏิบัติเนี่ย เรามองไม่เห็นแล้วว่า ตอนนั้นน่ะ ณ เวลานั้นน่ะ มันมีความมืดปรากฎและมันมีความฟุ้งซ่านปรากฎแล้ว แต่ถ้าหากว่าเราหลับตา ทำสมาธิอยู่นะ แล้วเห็นว่าแต่ละลมหายใจ.. ไปซ้อมให้ชำนาญนะ ว่าแต่ละลมหายใจเนี่ย เกิดอะไรขึ้น
ระหว่างความมืดกับความสว่าง
ระหว่างความโล่งกับความรู้สึกเหมือนป่ารกทึบ
เนี่ย ไปดูแค่สองสามอารมณ์พวกเนี้ย เอาง่ายๆเลย พี่นิยามให้ชัดๆ เลย
เหมือนออกทุ่งโล่ง กับ เหมือนเข้าป่า

คือแม้กระทั่งตอนที่เราอึดอัด โอ๊ย ทำไมเราต้องมานั่งทำสมาธิ ตอนนั้นก็ให้นิยามว่าเหมือนเข้าป่า แต่ถ้าใจไม่มีอะไร ไม่ได้มีคำถาม ไม่ได้มีความสงสัย ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากจะนั่นอยากจะนี่ ให้นิยามว่าเหมือนออกทุ่งโล่ง แล้วดูไปว่าแต่ละลมหายใจอยู่ในทุ่งโล่งหรือว่าเข้าป่า ดู ดูแค่เนี้ย ดูอยู่แค่เนี้ย การเจริญสติของเรามันจะก้าวหน้าขึ้นแล้ว มันก้าวหน้าขึ้นจากการเห็นความไม่เที่ยงของทุ่งโล่ง กับป่ารก มันไม่ใช่ว่าเกิดความก้าวหน้าขึ้นมาจากการที่เราไปได้อุบายวิธี หรือเห็นอะไรที่มันพิสดาร เห็นอะไรที่มันละเอียดอ่อน เห็นอะไรเกิดดับป๊อปแป๊บๆ แต่มันค่อยๆเห็นความต่างในแต่ละลมหายใจ เป็นภาวะ นะ แต่ละภาวะเนี่ย พอเราเริ่มคุ้นกะมัน เอ้ยนี่ ออกทุ่งโล่ง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีคำถาม ไม่มีความสงสัย ไม่ได้มีความอยากอะไรเพื่อตัวตน ลมหายใจต่อมา มันคิดโน่นคิดนี่ เอ๊ะ ถูกหรือเปล่าวะ ทำอะไร โน่น นี่ นั่น เดี๋ยวจะต้องไปทำอะไร

คือพอมีอาการเข้าป่ารก กับมีทุ่งโล่งแบบนี้มาเปรียบเทียบเรื่อยๆนะ ตัวนี้แหละ มันจะปรากฎเป็นสภาวะขึ้นมาเอง ที่เรากำลังอยู่ด้วยตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง คือภาวะของอนัตตาทั้งนั้นเลย แต่ใจจะเห็นหรือไม่เห็นเท่านั้น และใจจะไม่มีทางเห็น ตราบเท่าที่เรายังอยากทำโน่นอยากทำนี่อยู่ แม้กระทั่งอยากเจริญสติให้มันก้าวหน้า เราเข้าใจพ้อยท์จริงๆนะ มันจะเห็นเลยว่า จริงๆแล้ว เนี่ย แค่เอาความอยากออกไป ที่เหลือเนี่ยคืออนัตตาอยู่แล้ว เรากำลังเห็นอนัตตาตลอดเวลาได้อยู่แล้ว แต่ที่มันมองไม่เห็นเพราะมีความอยาก มีความสงสัย หรือมีความรู้สึกขัดเคืองมาบังชั่วขณะนั้นเท่านั้นเอง 

เนี่ย แล้วมันจะก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆนะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น