วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เคลิ้มระหว่างนั่งสมาธิ ฟุ้งซ่านแบบไหลไปเรื่อยระหว่างวัน

ถาม : มาให้พี่ตุลย์แนะนำเรื่องการปฏิบัติเพิ่มเติมค่ะ จากเมื่อก่อนที่ปฏิบัติแล้วรู้สึกว่า เราจะเบลอๆ คือมันนิ่ง แต่มันเหมือนลอยๆ ตอนนี้เหมือนมันมีสติและก็รู้ตัวมากขึ้น แต่บางครั้งมันจะรู้สึกเหมือนเราเบลอๆน่ะค่ะ เบลอในที่นี้หมายถึงว่าเหมือนคนสายตาสั้น

รับฟังทางยูทูบ :   https://youtu.be/Y_5Vm9nE-Yk
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๗
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๙ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ :
คืออย่าไปแคร์ อย่าไปแคร์ว่าเราเบลอหรือว่าเราชัด แต่ให้แคร์ว่าเรารู้รึเปล่า ว่าเนี่ย ตอนนี้ลมหายใจนี้กำลังเบลออยู่นะ ถ้ารู้ว่าลมหายใจนี้กำลังเบลออยู่ ดูไปอีกสักลมสองลม ของเรานี่ก็อาจจะสักสิบลมหายใจ มันจะเปลี่ยนไป มันจะชัดขึ้น มันจะใส มันจะมีน้ำหนักหรือไม่มีน้ำหนักยังไงก็ตาม มันจะแสดงความแตกต่างให้เห็น แล้วพอแสดงอาการแตกต่าง ระหว่างเบลอ ระหว่างชัด ระหว่างมีน้ำหนัก ระหว่างไม่มีน้ำหนัก  ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร มันก็สามารถเอามาใช้เปรียบเทียบได้หมด ว่าเออ ภาวะอย่างนี้มันต่างไปแล้ว คือถ้าเบลอแล้วเราไปพยายามบอกว่า ทำยังไงถึงจะชัด อย่างนี้ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อย มันจะใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าเอา คือไปพยายามจ้อง ไปพยายามตั้งอกตั้งใจมากๆ ที่จะให้มันชัด แล้วพอไม่ได้ความชัด เราก็จะพยายามอยู่ไม่เลิก เห็นอาการเบลอเป็นศัตรูหรือว่าเป็นภาวะที่ไม่ดี ไม่น่าชอบใจ ตัวอาการเบลอเนี่ย จริงๆแล้วมันก็คือ อาการเคลิ้มนั่นแหละ พอปฏิบัติไปจนเกิดความรู้สึกสบาย มันมักจะมาพร้อมกับความเคลิ้ม คือขี้เกียจที่จะมาโฟกัส ขี้เกียจที่จะมารับรู้อะไร อยากจะปล่อยสบายๆเฉยๆ

ทีนี้ พอมันเริ่มมีความเคยชินที่จะเข้าสู่ความไม่ทำอะไรเลย อาการเบลอตรงนี้มันก็จะเบลอมากขึ้นๆ แต่ถ้าหากในอาการเบลอนั้น อย่างน้อยที่สุดเรารู้ว่ามันมีอาการเบลออยู่ในลมหายใจนี้ แล้วอีกลมหายใจนึง เออ  มันชัดขึ้นหรือเปล่า โดยอาการเปรียบเทียบอยู่อย่างนี้เนี่ยนะ อย่างน้อยที่สุด สติมันเกิดขึ้นแล้ว มันเกิดขึ้นเพื่อรู้ว่ากำลังเบลอ ไม่ใช่ว่าเราปล่อยให้มันเบลอแบบ ปล่อยให้มันเคลิ้ม ปล่อยให้มันหลงไป

ผู้ถาม : ก็เห็นค่ะ เพราะว่าพอเรารู้ว่าเราเบลอปุ๊บเนี่ย มันก็จะเห็นว่า เดี๋ยวมันก็จะดับไป หายไป สักพักเขาก็มา

ดังตฤณ :
อ้า อย่างนั้นดี ดีอยู่แล้ว

ผู้ถาม : เราก็มาดูอีก แล้วบางทีมันก็จะเป็นอีก หรือมันจะมีอะไรฟุ้งเข้ามา ก็จะดูไปทุกๆกระบวนการของมัน เวลานั่งนะคะ เพราะว่ามันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยค่ะ

ดังตฤณ :
จริง อย่างตอนนี้ พอเรากลับมาทำงานมากขึ้น มันมีความฟุ้งซ่านที่มากขึ้นด้วย คือในระหว่างวันจิตมันไม่ได้อยู่นิ่งๆเหมือนเมื่อก่อน

ผู้ถาม : ใช่ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนจะนิ่ง และบางทีก็ฟุ้งลอย

ดังตฤณ :
ประเด็นก็คือ พี่ไม่ได้จะให้เราแคร์ ว่าเออ มันฟุ้งซ่าน ประเด็นคือว่า ระหว่างวันเนี่ย เราฝึกไปด้วยว่าหายใจครั้งนี้ เราฟุ้งซ่านแค่ไหน มันจะมีอาการเหมือนกับฟุ้งซ่านแบบไหล ลักษณะของเรามันไหลจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งแบบ โดยที่เราไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนตอนไหนนะ มันไหล แล้วมันไหลค่อนข้างแรง ถ้าเป็นตอนภาวนา โอเค เรารู้นั่นรู้นี่ แต่ว่าตอนอยู่ระหว่างวัน พอฟุ้งแล้วมันก็ไปตามอาการฟุ้งเลย

ทีนี้ ลองไปฝึกดูใหม่นะ เตือนตัวเองบ่อยๆ ว่าตอนที่กำลังฟุ้งซ่านแบบไหลไปเรื่อยๆเนี่ย มีการแบ่งตอน ว่านี่หายใจครั้งนี้มันไหลแค่นี้นะ แล้วดูต่อไปว่า หายใจครั้งต่อไปมันมีเว้นวรรคไหม หรือว่ามีอาการแบ่งท่อนไหม ตัดเป็นท่อนๆไหม ถ้าหากว่าไม่ตัดเป็นท่อนๆ ไหลไปเรื่อย เราก็ยอมรับไป ว่ามันไหลไปเรื่อย มันยังไหลไม่หยุดนะ แต่ถ้ารู้สึกว่า เออเนี่ย สังเกตเข้ามาว่า ลมหายใจนี้มันไหล มันไหลยังนี้ อีกลมหายใจหนึ่งต่อมา มันรู้สึกหยุดๆว่างๆ เราก็จะเกิดกำลังใจขึ้นมานิดนึง เราสามารถเห็นอาการเว้นวรรคของความฟุ้งซ่านได้

แล้วเวลาที่ใจมันรู้สึกเหมือนปล่อยวาง ดูดีๆ ว่ามันปล่อยวางหรือว่ามันกำลังเคลิ้มไปในอาการสบาย ถ้าเคลิ้มไปในอาการสบายเนี่ย มันจะถูกย้อมด้วยความสุข ถูกย้อมด้วยความรู้สึกว่า เออ มันดีจัง แต่ถ้าปล่อยวางจริง มันมีความพร้อมที่จะรับรู้อะไรก็ได้ โดยไม่เกิดความรู้สึกว่าดีจัง มันจะแค่รู้สึกเหมือนกับว่าเฉยๆ จะเกิดอะไรขึ้นเปลี่ยนแปลงให้ดูก็ช่างมัน  อันนี้บางทีมันยังเหมือนกับเลือกอยู่

ผู้ถาม : ก็เหมือนเพิกเฉย ไม่ใช่ว่าปล่อย แต่ว่าไม่สนใจ

ดังตฤณ :
ว่าเอาภาวะ เออ ถ้าไม่ดีเราจะเพิกเฉย แต่ว่าถ้าดี จะรู้สึกชอบ จะรู้สึกว่าดีจัง เนี่ย ตัวนี้มันยังมีชอบมีชังอยู่

ผู้ถาม : เอาแค่ให้รู้

ดังตฤณ :
คือสังเกตให้ออก ว่ามันเกิดภาวะยังไงกันแน่ ถ้าภาวะที่เราชอบใจมากๆ มันจะเป็นภาวะเดียวกับที่มันหลงคิดไป หลงยึดไป คืออย่างน้อยโอเคล่ะ มันไม่อยู่กับภาวะงอมืองอเท้า ไม่แบบมืออ่อนเท้าอ่อน ไม่ทำอะไรเลย มันเป็นความเคลิ้มในแบบที่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำงาน ลุกขึ้นมานู่นนี่นั่นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น