ถาม : เวลาที่เราเข้าสมาธิก็คือ อยากจะเข้าสมาธิตอนที่เกิดทุกข์เยอะๆ
พอเข้าไปปุ๊บเราก็เห็นทุกข์ของเรา พอเห็นทุกข์ปุ๊บมันก็มีความรู้สึกว่า
มันก็แค่นั้น แต่หลังจากนั้นมันก็ผุดขึ้นมาอีก ซึ่งมันเป็นของเก่าๆในอดีตเป็นสิบปีที่แล้ว
บางทีมันก็ผุดขึ้นมาเองนะคะ พอผุดขึ้นมา ความคิดปรุงเข้าไป
เหมือนเรากระโจนเข้าไปกับความคิดอันนั้น สักพักนึง มีสติกลับมา เราก็ถอยกลับมาดู
เอ้อ..มันก็แค่นั้น
มันเป็นอะไรที่ทำร้ายตัวเราเอง มากกว่าที่คนอื่นมาทำร้ายเรา
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/eiNCCqZHiyQ
เสวนาดังตฤณวิสัชนาครั้งที่ ๙
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
ดังตฤณ:
เสวนาดังตฤณวิสัชนาครั้งที่ ๙
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
ดังตฤณ:
จะนิยามมันก็ได้ว่ามันคือขยะทางอารมณ์ คือขยะทางอารมณ์เนี่ยนะ
บางทีเราลืมมันไปแล้ว มันเหมือนกับซุกใต้พรมไว้ แต่พอเรานั่งสมาธิเนี่ย
มันจะปรากฏขึ้นมา
ผู้ถาม : คือที่นี้พอปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ
เราก็จะเห็นมันไปเรื่อยๆ ทีนี้ทุกข์ใหม่มันก็กลับมา
มันเหมือนกับทับไปเรื่อยๆ พอทับไปเรื่อยๆปุ๊บเนี่ย เกิดจิตที่ว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยง
แต่ความไม่เที่ยงอันนี้ เกิดจากความคิด เกิดจากการอ่าน ฟังๆมาว่ามันไม่เที่ยง มันก็ไม่เที่ยงจริงๆ
แต่ว่าอยากจะให้เห็นตัวตนของความไม่เที่ยงของมันจริงๆ โดยจิตของเราเองน่ะค่ะ
เพราะว่าปฏิบัติมาไม่ใช่ว่าจะต่อเนื่อง แต่ว่าก็ได้เห็นอะไรบางอย่างที่คุณดังตฤณพูด แล้วก็ได้ฟังจากที่วันพฤหัสที่พักร้อนก็ได้ฟัง
เป็นเวลา ๖ ชั่วโมงจากเทปอันนั้น สิ่งต่างๆที่ทุกคนถาม มันเหมือนกับที่เราเป็นมาหมดแล้ว
แล้วก็สิ่งที่คุณดังตฤณแนะนำหรือตอบโจทย์เนี่ย มันใช่เลย
แล้วเราก็ลองทำอานาปานสติดู ปรากฏว่า ตอนนี้ เรารู้ชัดถึงลมหายใจ
แล้วเข้าใจว่า การหายใจเข้ากับการหายใจออก ลมมันไม่เท่ากัน แล้วการหายใจครั้งที่หนึ่งเนี่ย หายใจไปปุ๊บ พอหายใจออกมันก็จะพรึ่บๆ มันเหมือนกับไม่หมด พอครั้งที่สอง ลมเข้าและลมออก มันก็หายใจออกหมด
เราก็สังเกตดูว่าการที่เราหายใจออกหมดเนี่ย มันมีความรู้สึกอย่างไร แต่ตอนนั้นที่ฟังจากเทป
มันมีความรู้สึกว่าปลอดโปร่ง โล่ง สบาย
ซึ่งมันไม่เคยเป็นมาก่อน ในตลอดมาที่นั่งสมาธิหรือเรียนครูสมาธิมา มันเหมือนกับว่าพอเราเรียน
เราเพ่งน่ะค่ะ พยายามกำหนดฐานจิตของเราอยู่ที่ปลายจมูก แล้วก็พุทโธๆๆๆ จนวันนึงเนี่ยมันเหมือนกับมันเป็นอะไรไม่รู้
มันพัดเข้าภวังค์ มันเห็นสติ สติเราลอยอยู่มันก็จะสว่างโล่ง เราก็ เอ๊ะมันคืออะไร
ที่เรียนบอกว่าเกิดปีติ เอ๊ะ แล้วปีติเกิดยังไง
ก็บอกว่าเกิดการยิ้มข้างในเอง เค้าเรียกว่าปีติ
อ๋อ อย่างนี้เหรอ เรียกว่าปีติ
แต่จริงๆแล้วเหมือนกับว่าพอมาทำที่คุณดังตฤณสอนน่ะค่ะ เมื่อวันพฤหัสได้ทำจริงๆนะคะ
ก็มีความรู้สึกว่ามันแปลก แล้วแตกต่างจากสิ่งที่ทำคือ มันไม่อัดอั้น
มันไม่โดนกระแทก คือปกติแล้ว มันจะเหมือนที่คุณดังตฤณพูดว่า ถ้าเรามีกรรมอะไรที่เราก่อหนักๆไว้ มันจะกระแทก มันกระแทกจริงๆค่ะ
มันกระแทกแบบ อึ้บ! เข้ามาเลยแล้วเหมือนกับว่าเราเจ็บปี๊ดขึ้นมาในหัวใจ
ทั้งๆที่เราไม่เป็นโรคอะไร ณ ตอนที่เรานั่งสมาธิ แล้วมันก็จะมีแบบเห็นหลอดลมน่ะค่ะ
บีบๆๆๆขึ้นมาเลย เราก็ดูความบีบของมัน
แต่เราก็ไม่ได้เอาจิตของเราไปบีบด้วย คือมันเห็นว่ามันเป็นรูปบีบ
มันเห็นเป็นรูปโดนกระทบ แล้วมันเห็นอารมณ์ที่มา หลังจากอันนี้เสร็จ
มันก็จะมีอารมณ์เข้ามา เราก็จะเห็นเป็นน้ำเข้ามา
เอ๊ะ! มันเป็นอารมณ์ เราก็รู้สึกว่ามันไม่มีใครน่ะ
มีแต่จิต จิตของเราที่ดู เฝ้าดู
เฝ้ารู้แค่นั้น แต่ว่า เมื่อเราไปเผชิญกับสภาวะจริงๆเข้า บางทีเหมือนที่คุณดังตฤณว่าสภาพแวดล้อม ถ้าเราไม่ปฏิสัมพันธ์กับเค้า
สิ่งที่เป็นวจีกรรมของเค้า ก็จะไม่กระทบเรา แต่ถ้าเราเกิดปฏิสัมพันธ์กับเค้า
สิ่งหนึ่งที่เราอยากได้คือการเอาชนะ พอเกิดการเอาชนะปุ๊บ มันเกิดการอัดอั้น พอเกิดการอัดอั้นปุ๊บ
วาจาที่ออกไปเนี่ย เราปรุงแต่งให้มันสวยงาม แต่สิ่งที่ออกไปที่สวยงามนั้นมันเป็นหนี้
ดังตฤณ:
มันเป็นแค่ฉากนอก
ผู้ถาม : มันเป็นหนี้ที่เชือดๆๆเค้า แล้วเค้ากลับไปเนี่ย เค้าเพิ่งรู้ว่าเราเชือดเค้า แล้วเค้ากลับมาเป็นอีกแบบนึงกับเรา
ทีนี้เราพยายามที่จะไม่ทำแบบนั้น มันก็เหมือนกับเราอัดเข้าไปของเรา แล้วพอเรานั่งสมาธิปุ๊บ
มันตู้ม ตู้มมาเลยค่ะ มันก็เลยคิดว่าเราควรจะหาทางออกอย่างไร
ดังตฤณ:
คือจริงๆแล้ว ที่ไปฝึกอะไรมาโดยพื้นฐานเนี่ย
ไม่เสียเปล่านะครับ มันได้กำลัง เพราะว่าพอมาทำอานาปานสติแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนจริงๆ
ก็คือ ทำให้จิตอยู่ในสภาพพร้อมจะยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันปรากฏอยู่
อย่างตอนนี้
สิ่งที่ติดอยู่มันไม่ใช่รูปแบบการปฏิบัติที่ถูกหรือผิด แต่มันอยู่ที่จิตของเราเริ่มกระบวนการรื้อถอนนิสัยเก่าๆทิ้ง
มันจะรู้สึกเลยว่ามีอาการปั่นป่วนๆอยู่ตลอดเวลา คือเหมือนกับว่าสงสัย เราก็น่าจะทำสมาธิมาถูก น่าจะเจริญสติมาใช้ได้แล้วนะ แต่ทำไมมันมีอาการปั่นป่วนๆ ใช่ไหม บางทีอยู่ๆมีอาการรู้สึกหมองๆขึ้นมาเฉยๆ
โดยที่หาสาเหตุไม่เจอ อันนั้นมันเป็นกระบวนการที่กำลังรื้อถอน
กระบวนการรื้อถอนในการเจริญสติมันมีอยู่สองขั้น สองขั้นคร่าวๆ แต่จริงๆมันมียิบย่อยออกเป็นร้อยๆ ร้อยๆขั้นเลย แต่ จะพูดแบบให้เข้าใจง่ายที่สุด
เห็นภาพชัดที่สุด มีอยู่สองขั้น
ขั้นแรกคือ
รื้อถอนนิสัย นิสัยทางใจนะ จะเป็นคนยึดมั่นถือมั่น จะเป็นคนอารมณ์ร้าย
จะเป็นคนที่มีความอยากเอาชนะ หรือว่าจะมีอารมณ์แบบไม่ยอมรับอะไรตามจริง
ระหว่างที่มีอาการรื้อถอนนิสัยนะ มันจะมีอาการต่อสู้กับตัวเอง เหมือนกับมีคน ๒
คนสู้กัน แต่เราอธิบายไม่ถูก รู้แต่ว่ามันมีอาการยื้อกันอยู่
อาการยื้อกันอยู่เนี่ย
ถ้าเรามองไม่ออกว่าเค้ากำลังสู้กัน ตัวเดิมเนี่ยก็พยายามยึดไว้
ตัวใหม่ก็พยายามจะฉุดกระชากลากถูออกไป เราจะมองอารมณ์ตรงนี้ เป็นอารมณ์ปั่นป่วน
และสงสัยว่ากำลังทำอะไรผิดอยู่รึเปล่า
จริงๆไม่ได้ทำอะไรผิด
ทำถูกแล้วต่างหาก มันถึงเกิดอาการแบบนี้ขึ้นมา
พอกระบวนการรื้อถอนนิสัยมันจะสิ้นสุดลง
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง คือพูดง่ายๆว่านิสัยใหม่กลายเป็นปกติของเรา
ตอนนี้มันยังไม่ปกติไง มันยังกลั้วอยู่ ๒ ขั้ว ๒ ข้าง ระหว่างขั้วที่จะเอาไว้ตามเดิม
กับขั้วที่จะเปลี่ยนแปลงใหม่
วิธีที่จะสังเกต
วิธีที่จะดูนะ ก็คือ ความรู้สึกปั่นป่วน อารมณ์ที่มันรู้สึกหมองๆมัวๆ มีความเศร้าหมอง
มีความอาลัยอาวรณ์ที่บอกไม่ถูก รู้แต่ว่าอารมณ์มันซับซ้อน มันมีความรู้สึกเหมือนกับอาลัย..
อาลัยอะไรบางอย่างที่เราก็ไม่สามารถมองเห็นว่าเรากำลังอาลัยอาวรณ์อะไร
ในอาการแบบนี้เราดูตัวอาการอาลัยอาวรณ์ หรือตัวอาการที่มันมีอาการปั่นป่วน
หรือตัวอาการที่มันมีอาการสู้กันนะ อะไรที่กำลังปรากฏเด่น เราดูตรงนั้นแหละ
อย่างตอนนี้ มันมีความรู้สึกตั้งอกตั้งใจฟังเป็นพิเศษ
เพราะว่ารู้สึกว่านี่คือทางออก เห็นไหม มันจะมีอาการปั่นๆอยู่ข้างในลึกๆ
ผู้ถาม : ไม่ใช่ปั่นค่ะ มันจะมีอาการแบบแน่นๆนิดนึง
ดังตฤณ:
เอ้อ นั่นน่ะ
ผู้ถาม : มีความรู้สึกกำลังเปรียบเทียบว่า
อารมณ์อันนั้นจริงอย่างที่คุณดังตฤณว่า คือไปนึกคิดน่ะค่ะ คือใช้ความคิดมากกว่า
แทนที่จะเห็นว่าอารมณ์อันนั้น
ดังตฤณ:
ครับ
ทีนี้คืออารมณ์ที่ยกตัวอย่างได้ จะนิยามว่าอึดอัดหรืออะไรก็แล้วแต่ ตัวนี้เป็นตัวที่ปรากฏเด่น
เวลาที่มันมีอาการสู้กัน คุณก็จะรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน มันเหมือนกับอารมณ์เนี่ยมันไม่ชัดเจน
ผู้ถาม : มันเหมือนกับคน ๒ บุคลิกค่ะ
ดังตฤณ:
เอ้อ ใช่
ถาม: มันเหมือนกับพยายามที่จะกดอารมณ์เก่า ที่มันเป็นอาสวะ
ที่คิดว่ามันไม่ดี แล้วเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มันดีขึ้น
แล้วเวลาพรีเซ้นต์ (present) ออกมาเนี่ย เหมือนคนอารมณ์ไม่ปกติ เค้าจะมองเราเป็นคนอารมณ์ไม่ปกติ
แต่จริงๆแล้วเนี่ย เหมือนกับเราสู้กันเองภายใน
เรานั่งมาแล้ว
เราทำมาแล้ว
ดังตฤณ:
ตัวที่มันปรากฏชัดอยู่
ตัวที่มันกำลังเด่นอยู่ เราดูตัวนั้น พอดูเนี่ย อย่างเมื่อกี้มันมีความอึดอัดมากกว่านี้
เห็นไหม ตอนนี้มันแตกต่างไปแล้ว มันคลายตัวลง พอได้อธิบาย
เพราะฉะนั้นทุกครั้ง
ที่มีอาการเหมือนยื้อ เหมือนต่อสู้กับตัวเอง เหมือนมีอาการกดข่ม มีอาการที่เราอึดอัดคัดแน่นยังไงก็แล้วแต่
ดูด้วยอาการยอมรับว่ามันจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นอย่างไร พอดูไปๆ ตอนแรก มันจะเห็นแต่อาการเด่นๆนั้นแสดงความไม่เที่ยงนะ
แต่พอดูด้วยอาการยอมรับไปเรื่อยๆ มันจะมีความรู้แยกย่อยตามมาอีก ว่า อารมณ์ที่มันขัดแย้ง
ปั่นป่วน อึดอัด หรือมีอาการยื้อ อะไรก็แล้วแต่ มีสาเหตุมาจากอะไร
แรกๆเราจะไม่รู้สึก
แต่พอมองไปๆมันจะชัดขึ้นเรื่อยๆว่า อารมณ์ยื้อแบบนี้เนี่ย เป็นเพราะของเก่ามันอยากได้อะไร
ของใหม่อยากให้เป็นอย่างไรแทน เข้าใจพ้อยท์ (point)
ใช่มั้ย
ผู้ถาม : เข้าใจเลยค่ะ
ดังตฤณ:
เอ้อ เนี่ย ตัวนี้คือมันจะเห็นความอยากปรากฏชัด
อยากจะเป็นแบบเดิม กับอยากจะเป็นแบบใหม่ มันสู้กัน พอเห็นอาการอึดอัดหายไป
ตัวความอยากทั้งคู่มันก็หายตาม คือไม่ว่าจะอยากแบบเก่าหรืออยากแบบใหม่ มันเป็นภวตัณหาทั้งคู่
แต่เมื่อเรารู้สึกถึงความไม่เที่ยงของอาการอึดอัด อาการยื้อ แล้วอย่างเมื่อกี้พอมันหายไป
ตอนแรกๆเราจะรู้สึกแค่รู้เฉยๆ รู้ว่ามันหายไป แต่พอมันเกิดอาการยื้อ
คราวนี้มันจะเห็นเลยว่า ความอยาก ๒ ขั้วกำลังรบกัน แล้วความอยากแบบนั้นมันจะชัดเจน
ตอนแรกๆอาจจะมัวๆนะ
ไม่ชัดเจนว่ามันอยากอะไร แต่ยิ่งจิตมีคุณภาพ ยิ่งจิตสะอาดจากความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นเท่าไหร่
มันก็จะยิ่งเกิดความแหลมคม คือแยกแยะออกเลยว่ามันอยากอย่างนี้ มันออกมาเป็นคำๆเลยนะ เห็นไหม
ตัวใหม่มันอยากจะเป็นอีกอย่างนึง มันจะอธิบาย ซึ่งไม่ใช่ความคิด แต่มันออกมาจากความจริงที่จิตประจักษ์
เข้าใจหลักการนะ
คือสรุปสั้นๆแค่ว่า พอเห็นอาการยื้อ รู้อาการยื้อนั้นไป พอเห็นอาการยื้อนั้น ยอมรับอาการยื้อนั้นนะ
ยอมรับตามจริงว่ามีอาการยื้อ ไม่ต้องทำอะไรเลย มันจะค่อยๆคลายตัวออกให้ดู
พอคลายตัวออกแล้ว คือรอว่าเดี๋ยวมันจะยื้อใหม่อีกเมื่อไร
ไม่สนใจว่ามันจะกลับมาอีกกี่ร้อยกี่พันครั้ง แต่เราสนใจแค่ว่าจะยอมรับตามจริง และ
อย่างนึงที่พูดไว้เมื่อกี้เป็นแค่แผนที่ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าไปพยายามแยกแยะด้วยวิธีคิด
ว่าเรากำลังยื้อด้วยอารมณ์แบบนี้
พอความคิดเข้ามาขัดจังหวะปุ๊บ
มันจะกลายเป็นกำหนดให้ตัวเองเนี่ย มันจะปรุงไปว่าเรา ของเก่าเราอย่างนั้นอย่างนี้
มันจะกลายเป็นวิเคราะห์ไปแล้ว อารมณ์วิเคราะห์เนี่ยมันก่อให้เกิดสภาพที่เรียกว่า
จินตามยปัญญา แล้วเสร็จแล้วมันไปตัดทางเจริญของภาวนามยปัญญาทิ้งไป
ทางที่ถูกคือยอมรับว่าเกิดอาการยื้อขึ้นมา
แล้วเห็นมันหายไป เห็นเรื่อยๆจนกระทั่งมันเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาเองว่า อารมณ์อยาก
อารมณ์ยื้อต่างๆ มันมีเหตุมีผลอย่างไร โดยไม่ใช้วิธีคิด เข้าใจที่พูดไหม
คือของคุณจะเป็นเหมือนกับนักวิเคราะห์ ชอบวิเคราะห์ว่ามันเพราะอย่างนั้น
เพราะอย่างนี้ ด้วยอารมณ์เคยชินแบบนั้น มันจะนำไปสู่การสรุป ซึ่งไม่ใช่การรู้
เวลาเจริญสตินะ
ถ้าจะให้ก้าวหน้าจริงๆ คือต้องไม่ให้มีการสรุปด้วยวิธีคิด
แต่ฝึกให้มันยอมรับตามจริงจนเห็นภาวะความจริงตัวนั้นมันสลายตัวไปต่อหน้าต่อตา
ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง ไม่แคร์ว่าจะกี่ครั้ง
แต่แคร์ว่าเราจะแค่รู้ ไม่ใช่ไปวิเคราะห์ พูดง่ายๆว่า ช่วงนี้ตั้งสเปคไว้เลย ผมกำหนดให้ง่ายๆเลย
ภายใน ๗ วันนี้ เวลาเกิดอารมณ์ยื้อขึ้นมา แล้วเราเห็นนะครับ ห้ามคิดว่า
เนี่ยเหตุผล ว่ามันอยากเป็นของเก่าหรือของใหม่ มันคืออะไร ห้ามคิด
แต่ให้รู้แบบเมื่อกี๊นี้ว่า
มันมีอาการยื้อจริง ยอมรับแล้วก็เห็นมันหายไป เอาแค่นี้อย่างเดียว พ้น ๗ วันไปนะ
เราจะเริ่มรู้สึกขึ้นมาเองว่า ด้วยอาการรู้ในลักษณะนี้ ไม่ไปวิเคราะห์สรุป
มันเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาอีกแบบนึง คือที่นึก บางทีนะ เรานึกว่าเรามีเหตุผลอย่างนี้
จริงๆแล้วมันลึกซึ้งกว่านั้น มันจะเห็นเป็นอดีตสัญญาผุดขึ้นมา บางทีเป็นภาพเลยนะ
ลองนึกดูเถอะ เวลาที่เราใช้วิธีคิดวิเคราะห์ มันจะไม่ออกมาเป็นภาพ
มันจะออกมาเป็นข้อสรุป เป็นคำพูด
แต่ถ้าหากว่าเราดูโดยความเฉยๆ
และไม่ไปวิเคราะห์อะไรมันเลย ในที่สุดผลลัพธ์จะออกมาเป็นนิมิตเลยนะ
ความเข้าใจว่าต้นสายปลายเหตุของความอยาก ต้นสายปลายเหตุของ ของใหม่อะไรต่างๆเนี่ย
มันจะออกมาเป็นภาพเลย ว่าเนี่ย เราเคยทำอย่างนี้ เคยพูดอย่างนี้
ซึ่งมันลึกซึ้งกว่ากันเยอะ มันลึกซึ้งกว่าการสรุปด้วยความคิด คือด้วยความคิดเนี่ยบางทีเราแค่อาศัยจดจำ
แต่ตอนที่มันมาเป็นนิมิตนี่นะ มันแสดงเป็นภาพยนตร์เลย ภาพยนตร์สั้น อย่างใจตอนนี้มีปีติขึ้นมานิดๆ
ตรงที่รู้สึกปีติขึ้นมาเนี่ย
ผู้ถาม : ใช่ ใช่คือมีความรู้สึกว่า เออ เราก็เคยทำแบบนี้ค่ะ
แล้วก็เห็นภาพแบบนี้เหมือนกัน แต่เพียงแต่ว่ามันขาดความต่อเนื่องหรือคำชี้แนะจากใคร
เพราะเราปฏิบัติคนเดียวที่บ้าน และก็ไม่ได้ไปฟุ้งซ่านกับคนอื่นเค้า เพราะว่าไม่ชอบการทดสอบอารมณ์
ไม่ชอบฟังอะไรแบบนี้
ชอบเรียนรู้ด้วยตนเอง
ดังตฤณ:
อย่างตอนนี้
เวลาที่เกิดปีติขึ้นมาเนี่ยนะ ให้มองว่าปีติตรงนี้ไม่ได้เกิดจากวิธีคิดวิเคราะห์ แต่มันเกิดจากการที่เรารู้
ค่อยๆซึมซาบ แล้วก็เหมือนจะผุดขึ้นมาเป็นห้วงๆนะ คือไม่ได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
เราก็เห็นไปว่าอาการปีติที่มันผุดขึ้นมา เหมือนกับน้ำพุพุ่งขึ้นมาทีละระลอกๆเนี่ย
เป็นแค่สภาวะที่แสดงความไม่เที่ยงอีกอย่างหนึ่ง
เนี่ย ตรงนี้มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเคยชินว่าไม่ต้องไปวิเคราะห์ว่ามันมาจากไหน
แต่แค่รู้ว่ามันค่อยๆผุดขึ้นมาทีละระลอกๆ
ผู้ถาม : สรุปว่า อย่างความอยากก็เหมือนกันใช่มั้ยคะ อยากได้อย่างโน้น
อย่างเป็นอย่างนี้ อยากให้เค้าทำอย่างนี้ให้ ทำไมไม่ทำตามที่เราคิด
ดังตฤณ:
คือถ้ามันอยากขึ้นมา
แค่เราดูให้ออกว่าอาการดิ้นรน อาการที่มันยื่นออกไป คล้ายๆ โดยภาพทางใจนะ
มันจะเหมือนกับมือออกไปบีบคอเค้า หรือมือออกไปยื้อยุดฉุดกระชากน่ะว่า
ทำไมไม่เข้าใจซะทีนะ เนี่ย มันง่ายๆ อธิบายชัดที่สุดแล้ว
เหมือนกับจะไม่รู้สึกรู้สา เหมือนกับจะไม่มีจิตสำนึก อะไรทำนองนี้
มันจะมีอาการคล้ายๆไปเขย่าคอเค้า เขย่าไหล่เค้าอย่างนี้ ภาพทางใจ ลักษณะของอาการอยากของเรามีลักษณะอย่างไร
เรารับรู้ตามจริงนะ
ผู้ถาม : อย่างนี้ ถ้าเวลาปฏิบัติ ก็เริ่มต้นจากอานาปานสติที่คุณดังตฤณสอน ใช่มั้ยคะ
ดังตฤณ:
ใช่
ผู้ถาม : คำถามสุดท้ายนะคะ
สมมติว่าเรานั่งไปถึงจุดนึงแล้วเนี่ย มันจะมีเหมือนลมพัดวูบนึง แล้วเราตกไปอยู่ในภวังค์นั้นมันหมายความว่าอย่างไรคะ
แล้วมันมีแสงจ้าขึ้นมา
ดังตฤณ:
ก็เป็นอาการที่จิตรวม
เป็นอาการหนึ่งของจิตรวม คือทำมาพอสมควรแล้ว ที่ทำมาเนี่ยไม่สูญเปล่า
มันสั่งสมกำลังมา เพียงแต่ว่าเรามาปรับมุมมองให้ชัดเจน มุมมองภายใน
คือไม่พูดถึงวิธีการภายนอกนะครับ วิธีการภายนอกถูกหมดละ
แต่ว่าวิธีการภายในเนี่ย ทำยังไงเราถึงจะมองเห็นตามจริงได้ ที่มันวูบตรงนั้น
คือการรวมของจิตนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น