วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ชอบเผลอไปคิดเรื่องอื่นขณะภาวนา

 ถาม : ก็อยากจะถามคำถามที่ ๑  ที่เมื่อกี้ที่พี่ตุลย์นำปฏิบัติน่ะค่ะ ก็จะเห็นตัวเองหายใจ แล้วก็จะวิ่งไปที่เสียงพี่ แล้วก็จะมีภาพเหมือนฝันไป
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/sHzhRV7YCcA
ดังตฤณวิสัชนา ๒/๒๕๕๖ การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
จิตนี่ถ้าหากว่ามันเป็นสมาธิตั้งมั่นจริงนะ มันจะอยู่กับที่ แต่ของเราบางทีมัน คือมีลักษณะของการกระโดดจากอาการจับสิ่งหนึ่งไปหาอีกสิ่งหนึ่งค่อนข้างจะรวดเร็ว ของเราเป็นคนที่เนื่องจากว่าเวลาสนใจอะไรแล้วนี่มันทุ่ม มันมีนิสัยทางจิตอยู่ก็คือว่า มันพุ่งเข้าชนเป้า นึกออกใช่ไหมว่าที่พี่พูดถึงตรงนี้ อาการมันเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าเรายิง ยิงอะไรออกจาก ยิงหนังสติ๊กอะไรแบบนี้นะ เพราะว่าเราเป็น โดยพื้นเป็นคนที่เรียกว่าโทสะจริต แต่ตอนนี้มันเบาลงไปเยอะแล้ว ถือว่าเบาลงมามากแล้ว แต่ก่อนเนี่ยคือจะเป็นพวกที่ว่า พอโกรธแล้วหน้ามืดนะ มันจะรู้สึกเหมือนมืดหมดเลย แล้วก็มีแต่เป้าตรงหน้านี่ ที่มันล็อกเราอยู่ แล้วจิตของเรานี่ก็จะพุ่งไปกระแทก หรือว่ากระทุ้งทำลายอะไรแบบนั้น เพราะฉะนั้นจิตในลักษณะนี้นี่ เวลาที่มาฝึกสมาธิ มันก็จะรู้สึกว่า เอ้ะ! พอแวบไปทีหนึ่งนี่ มันไม่ใช่แค่แวบไปเบาๆ นะ มันแวบไปแรง มันเหมือนโดนกระชากออกไป ทีนี้วิธีนี่ ของน้องมันค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ตามลำดับอยู่แล้ว เราจะรู้สึกว่าบางช่วงมันเบาบางลงมาก เหมือนกับ เออ ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน มันเบา มันเป็นอิสระแล้วก็ไม่มีอาการเหมือนพุ่งไปกระแทกอีก แต่ว่าบางครั้ง อย่างเช่นเวลานั่งสมาธินะ ตั้งอกตั้งใจฟังพี่พูดแล้ว เออ สลับกับลมหายใจ มันยังเหมือนกับกลับมาได้อีกนะ  ถ้าหากว่าเป็นช่วงเริ่มต้นมันก็จะยาก แต่ตอนนี้มันง่ายขึ้นแล้ว

น้องสามารถแค่สังเกตอาการกระชาก หน้าตาของอาการกระชากเป็นอย่างไร มันจะเหมือนถูกดึงออกจากสิ่งหนึ่งไปหาอีกสิ่งหนึ่ง เหมือนกับจิตมันเปลี่ยนที่ น้องนึกออกใช่ไหม มันคล้ายๆ เรายืนอยู่ที่หนึ่งแล้วมันกระโจนออกไปอีกที่หนึ่งอย่างชัดเจน แค่เรารับรู้ ว่ามันมีอาการเปลี่ยนที่ จิตจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งบ่อยๆ นะ เห็นบ่อยๆ เข้านี่ มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง มันเหมือนมีตัวรู้  รู้ว่าจิตเคยอยู่ที่หนึ่ง แล้วมันจับอีกที่หนึ่ง แล้วมันกระโจนไปอีกที่หนึ่ง ตัวนั้นน่ะที่มันจะอยู่นิ่ง คือมันเคยเกิดประสบการณ์คล้ายๆ อย่างนี้มาแล้วล่ะ แต่ว่าน้องไม่ได้จับสังเกต  ให้เอาตรงนี้เป็นหลักสำคัญ จะหลับตาหรือลืมตาก็ตามนะ คือเน้นย้ำที่ตรงนี้แล้วมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จากจุดที่เหมือนจะเข้าใจแค่นิดๆ พอเราเห็นบ่อยๆ มันจะเข้าใจมากขึ้นๆ ว่าที่มันกระโดดไปนี่ มันคือลักษณะจิตแบบหนึ่ง จิตที่จับอยู่กับสิ่งหนึ่ง อย่างเช่นลมหายใจ กระโดดไปจับอยู่กับสิ่งหนึ่ง อย่างเช่นเสียงของพี่นี่ นี่อย่างตอนนี้มันก็ยังมีนิดๆ หน่อยๆ นะ มันไม่ได้สามารถที่จะอยู่กับที่ได้ แต่อย่างตอนนี้นี่สังเกตเห็นไหม คือถ้าเราทำเฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้จะเหมือนมีอีกตัวหนึ่งที่รับฟังด้วย แล้วก็รู้อยู่กับท่านั่งของตัวเองด้วย มันดูเหมือนกับเป็นอะไรง่ายๆ นั่นแหละ แต่ง่ายๆ แบบนี้ถ้าหากว่าเราไม่สร้างความเคยชินไว้มันจะยาก มันยากตรงเปลี่ยนความเคยชินนี่  คือมนุษย์นะชีวิตทั้งชีวิตนะ สิ่งที่ยากที่สุดคือเปลี่ยนความเคยชิน มันไม่ใช่ยากอะไรอย่างอื่นนะ แก้โจทย์เลข แก้อะไรนี่จริงๆ แล้วใช้เวลาเรียนรู้กันไม่นาน แต่ว่าแก้ความเคยชินผิดๆ นี่ บางทีมันใช้เวลาค่อนชีวิต ถ้าหากว่าเราคลำหาทาง หาทิศไม่เจอนะ นี่อย่างพอพยักหน้าไปนี่ เราจะรู้สึกได้ นี่มันเหมือนทุ่มไปที่ความคิดแล้ว แต่พอเรากลับมาอยู่กับท่านั่งแล้วหายใจซักทีหนึ่ง

เออ...อันนั้นแรงเกินไปนะ มันตั้งใจมากเกินไป มันกลายเป็นอาการกดดันตัวเอง เห็นไหม วิธีที่เราจัดการกับตัวเอง มันเป็นวิธีกดดันตัวเองให้อยู่ในสภาพเครียด ให้อยู่ในสภาพเค้น

ต่อไปพอเห็นสภาพเครียดหรือสภาพเค้น คือไม่ต้องตกใจไม่ต้องไปพยายาม โอ้โห ทำอย่างไรดีมันถึงจะเลิกเครียดมันถึงจะเลิกเค้น เราแค่ยอมรับความจริง ว่าความเครียดความเค้นมันกำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาให้ดู หน้าที่เรานี่ เราแค่อุเบกขา แล้วก็ยอมรับมัน ของเรานี่ถ้าหากว่ามีตัวอุเบกขาได้ กำลังมันจะเพิ่มขึ้นกว่านี้  นี่ที่กำลังบางทีเราจะรู้สึกได้ว่ามันแกว่ง ไม่เสถียร ก็เพราะว่ามันไม่มีอุเบกขา มันคอยแต่จะกลับไปสู่ความเคยชินแบบเดิมๆ ที่กระโดดไปแล้วนี่ เราหาทางอยู่ ๒ อย่างนะ คือว่าบังคับให้มันรู้ทั้ง ๒ อย่างหรือไม่ก็สับสน คือเข้าไปหมกอยู่กับอาการสับสนนะ

ถาม : คือก็มาปรับกับชีวิตประจำวัน เพราะบางทีก็จะคิดเรื่องไม่ดีบ้าง คิดถึงอดีตทำให้ทุกข์ใจบ้าง ตอนนี้พอหงุดหงิดก็เปลี่ยนมาสวดมนต์เพื่อตัดช่วงนั้นไป จะได้ไม่ต้องนึกถึง

ดังตฤณ: 
ได้ๆ คือสับไปสับมาน่ะได้ แต่น้องต้องดูว่า ความรู้สึกนี่ มันกระโดดไปกระโดดมาเร็วเกินไปหรือเปล่า ถ้าหากว่าสับไปสับมา แต่ละครั้งที่สับนี่ มีช่วงเวลานานพอสมควรอย่างนั้นโอเค จะสวดมนต์ จะอะไรนี่ เราจะตั้งใจทำอะไรก็แล้วแต่ บอกตัวเองว่าให้เวลามัน ให้เวลามันเต็มที่ ของน้องนี่กังวลไง พอให้เวลากับอย่างหนึ่ง เฮ้ย ไม่ได้ทำตรงนั้นแล้ว มันเหมือนกับเราไม่รับผิดชอบตรงนั้นหรือปล่อยๆ ตรงนั้น ปล่อยงานตรงนั้นมานะ ซึ่งลักษณะแบบนี้นี่ มันก็จะทำให้เกิดวงจรแบบเดิมๆ นะคือกระโดดไปกระโดดมาไม่เลิกนั่นเอง

ถาม : แล้วการดูกระโดดจริงๆ ดูไปเพื่ออะไรคะ ดูไปเพื่อสร้างอุเบกขา?

ดังตฤณ: 
ดูอาการกระโดด เพื่อให้เข้าใจว่าตัวกระโดดนี่ ที่มันจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งนี่ จริงๆ แล้วมันแค่สิ่งที่ถูกสติรู้ได้ คือถ้าเรามีสติ ตัวสตินั้นจะมีความตั้งมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เป็นตัวที่ ๓ เป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นคน observeเฉยๆ  ไม่กระโดดโลดเต้นเสียเอง แล้วมันจะรู้สึกขึ้นมา พอฝึกบ่อยๆ นี่ ทีละครั้ง ทีละหนนี่นะ มันจะนิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตัวสตินี่ ตัวสตินะมันไม่ใช่จิตที่มีอาการกระโดดไปกระโดดมา แต่เป็นอีกภาคหนึ่งของจิตที่มันรับรู้ตัวเอง คือ จิตนี่มันไม่ได้เป็นดวงแบบที่คนเข้าใจกัน มันเป็นสภาพธรรม เป็นธาตุธรรมที่พิเศษที่สุดในธรรมชาติก็คือว่ามันมีภาวะรู้ แต่ทีนี้ภาวะรู้นั่นน่ะ มันไม่ใช่แค่ส่วนเดียวของจิต มันยังมีอาการเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มีอาการกระโดดไปจับโน่นจับนี่บ้าง เดี๋ยวก็กลายเป็นการเห็น เดี๋ยวก็กลายเป็นการได้ยินบ้าง มันมีสารพัดอาการ แต่ว่าอาการที่เราต้องการใช้ฝึกเจริญสติก็คือ ตัวสตินั่นแหละ คำว่าสติ หมายความว่า มีความสามารถในการระลึกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น เราเห็นว่าจิตมันกำลังกระโดดอยู่ นี่ก็คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แล้วตัวสติเป็นผู้รู้ว่า นี่ภาวะนี้มันกำลังปรากฎอยู่เท่านั้นเองนะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น