วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กับดักของคนที่ยึดภาพตัวเองเป็นนักปฏิบัติ

ถาม : มีความรู้สึกตั้งมั่น ตั้งเป้าหมายว่าไม่อยากเกิดอีก ก็มีหลายคนบอกว่าตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไป ทำไม่ได้หรอก แต่ในใจก็ตั้งอยู่อย่างนี้

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/VI-0WsOw0P8   
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๔
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก


ดังตฤณ: 
อย่างนี้ก็เรียกว่า ของเรามีมุมมองที่มันเป็นพุทธจริง ในขณะที่คนอื่นอาจจะยังไม่เข้าใจว่าความเป็นพุทธคืออะไร แท้จริงแล้วการเป็นชาวพุทธ หรือว่าเป็นคนพุทธ ควรจะตั้งเป้าหมายนี้ไว้นะ นี่คือเป้าหมายที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นี่คือเป้าหมายที่ถูกต้อง นี่คือเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง ตราบใดที่เรายังมีกล้ามเนื้อ มีลมหายใจ มีไออุ่นอยู่อย่างนี้ มันมีโอกาส มันมีสิทธิทั้งสิ้น ขอให้เป็นความตั้งใจที่ประกอบด้วยความสามารถที่จะเห็นตามจริงในกายใจนี้เถอะ

อย่างเมื่อครู่นี้ ของคุณมันเข้าถึงความนิ่งได้นะ เข้าถึงความเห็นว่าลมหายใจมันเข้ามันออกอยู่ ตอนที่มีความปลอดโปร่ง ลองสังเกตดูนะ เราจะรู้สึกถึงลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออกได้ชัด แต่พอกลับมาฟุ้งซ่าน กลับมาวุ่นวาย มันจะเหมือนกับลมหายใจเลือนหายไป เหมือนกับมีเมฆหมอกอะไรขุ่น ๆ มาบดบัง บดบังทัศนวิสัยไม่ให้เกิดความเห็นถึงลมหายใจได้

ทีนี้เราก็สังเกตดู มันจะสลับ ๆ อย่างนี้แหละ บางทีมันก็เกิดความรู้สึกปลอดโปร่ง เหมือนสามารถเห็นลมหายใจได้ แต่บางทีมันมีความรู้สึกฝืน ๆ นิด ๆ ตอนที่เราอยากจะให้มันปลอดโปร่งอยู่ได้ตลอดเวลา ที่รู้สึกฝืนนิด ๆ และอยากให้ปลอดโปร่ง ตัวนี้แหละ ที่เมื่อกี้ผมพูดถึงเรื่องความอยาก เข้าใจใช่ไหม คือพอมันเกิดความอยาก อยากจะเอาแต่ดีปุ๊บ ตรงนั้นมันกลายเป็นความกระวนกระวายแล้ว เมื่อกี้ยังไม่ถึงขั้นเครียด มันแค่กระวนกระวาย มันอยากจะเอากลับมาอีก คือเมื่อกี้มันมีความสว่าง มีความรู้สึกเหมือนกับโล่ง ๆ สามารถที่จะเห็นลมหายใจเข้าออกได้ชัด เสร็จแล้วพออีกสองสามระลอกลมหายใจ มันไม่ชัดแล้ว มันเหมือนมีเมฆหมอก

ต่อไปเวลากลับไปทำเอง ให้ดูแค่นี้แหละว่า มันมีเมฆหมอก มันจะสนุกขึ้น ไม่ใช่ว่าพอฟุ้งซ่านแล้วเกิดความกระวนกระวายอยากกลับไปเห็นอะไรที่มันโล่ง ๆ ใหม่ แต่มันจะเห็นเหมือนการสลับฉาก เหมือนเห็นเป็นภาพทางจิตว่าเดิมทีตอนแรกจิตฟุ้งซ่าน มันมองไม่เห็นอะไรเลย แล้วพอเกิดความรู้สึกสว่างเกิดความโล่งขึ้นมา เราสามารถเห็นลมหายใจได้ แต่แค่สองสามลม มันกลายเป็นความรู้สึกขุ่น ๆ มีเมฆหมอก เราก็เห็นอย่างนั้นต่อไปอีก เห็นด้วยอาการยอมรับ ไม่ใช่ด้วยอาการดิ้นรนอยากจะให้มันกลับไปโล่ง แต่เห็นด้วยความรู้สึกว่า เรากำลังรู้อยู่กับอะไรอย่างหนึ่งจริง ๆ ที่เป็นภาวะที่เป็นของจริงที่กำลังปรากฏอยู่

ด้วยอาการอย่างนี้แหละ ที่มันจะทำให้เกิดพุทธิปัญญา คำว่า พุทธิปัญญา หมายความว่า จิตมีความสามารถเห็นสภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริง เพื่อที่จะรู้ว่ามันไม่เที่ยง และมันไม่ใช่ตัวตน แต่อย่างเมื่อกี้เนี่ย พอคุณมีความรู้สึกขึ้นมาว่า อยากกลับไปโล่งอยากกลับไปว่างใหม่ ตอนนั้นมันไม่เห็นความจริงแล้ว มันอยากได้อะไรที่เราต้องการมาแล้ว และถ้าหากว่ายังมีอาการอยากได้สภาวะที่ต้องการอยู่ หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นภวตัณหา มันจะไม่มีทางเข้าถึงมรรคผล ไม่มีทางเข้าถึงที่สุดของทุกข์ได้ เพราะว่าต้นเหตุของทุกข์มันยังอยู่ มันยังปั่นตัวเองต่อไป นั้นคือความอยากได้ภาวะอย่างนั้นภาวะอย่างนี้ เข้าใจหลักการนะ

ทีนี้ ในชีวิตประจำวันจะมีเครื่องสังเกต คล้าย ๆ อย่างนี้ บางครั้งเราก็รู้สึกเหมือนกับว่า จิตมันสามารถนิ่งได้แป๊บนึง มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ฐานของความรู้สึกนิ่ง ว่าง นี่มันมาจากข้างใน และก็ไม่ใช่ไปล๊อคมันไว้กับภาพใดภาพหนึ่ง บางครั้งมันจะมีความรู้สึกเหมือนเราเป็นผู้ปฏิบัติ นึกออกใช่ไหม คือระหว่างวัน บางทีพอมันมีความนิ่งขึ้นมา เราจะผูกไว้กับภาพของผู้ปฏิบัติ เข้าใจใช่ไหม ตรงนั้นเป็นอุปปาทานชนิดหนึ่ง คือคนปกติจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติ แต่จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไรอย่างหนึ่ง ทำอาชีพอะไร เป็นชายเป็นหญิง แต่ภาวะของผู้ปฏิบัติ ผู้พยายามจะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน มันจะมีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นโยคาวจร เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นอุบาสิกา เป็นนั่นเป็นนี่ ตามภาวะที่เราอยากได้นั่นแหละ ตามภาวะที่เรากำลังปฏิบัติอยู่

ทีนี้ ถ้ามันเกิดภาวะอย่างนั้นระหว่างวัน ลองไปสังเกตดูใหม่นะ ว่าจิตมันเป็นแบบนี้แหละ มันล๊อคขึ้นมาแป๊บนึง มันอยู่นิ่ง ๆ ว่าง ๆ ขึ้นมาแป๊บนึง และมันก็กลายเป็นความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้ มันจะได้เห็นเป็นภาวะจิต ไม่ใช่ว่าเกิดภาวะจิตนิ่งขึ้นมาแล้ว เราเกิดความรู้สึกผูกโยงเข้ากับความเป็นผู้ปฏิบัติ พอยึดปุ๊บ เราจะนิ่งไปเฉย ๆ แบบไม่มีความรู้ คำว่าสติ ไม่ใช่สติแค่เห็นแล้วนิ่ง แต่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับความรู้สึกของเรา ถ้าตราบใดเรายังรู้สึกว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ ตราบนั้นนี่มันจะไม่เห็นความจริงเกี่ยวกับจิต มันจะเห็นแค่ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ และก็จะยึดอยู่อย่างนั้น ไม่มีอาการปล่อยไม่มีอาการคลาย

อย่างระหว่างวัน พอเกิดความไม่พอใจ เกิดความอึดอัดอะไรขึ้นมา มันจะมีความรู้สึกแน่น ๆ ขึ้นมา บางทีมันไม่มาในรูปของโทสะเต็มรูปแบบ แต่จะมีความรู้สึกอึด ๆ อัด ๆ อยู่ นึกออกใช่ไหม คือที่มันเกิดขึ้น บ่อย ๆ ผมพูดถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นประจำ เพื่อที่จะได้ให้พี่เห็นว่า เราจะดูอะไรได้บ้าง จะอาศัยภาวะทางอารมณ์แบบไหนมาใช้เจริญสติได้บ่อย ๆ อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เราสามารถใช้เป็นพื้นที่ เป็นสนามเจริญสติได้ทั้งสิ้น

ของพี่มันจะมีอยู่สองสามแบบ โทสะนี่ขอให้สังเกตตัวเองนะ โทสะแบบที่กระวนกระวาย มันจะรู้สึกเหมือนงุ่นง่าน ๆ อยู่ข้างใน กับอีกอันหนึ่งคืออึดอัด เกิดความรู้สึกหนัก ๆ ของบางคนเนี่ยพี่ก็เคยผ่านมาแล้ว อย่างโทสะแบบร้อนรุ่ม หรือว่าปึงปังอะไรแบบเนี้ย แต่ตอนนี้มันจะมีอาการเหมือนเราเหวี่ยง ๆ อยู่ข้างใน หรือไม่ก็อึดอัด เกิดความรู้สึกหนัก ๆ ทึบ ๆ ขึ้นมา ไอ้ภาวะหนัก ๆ ทึบ ๆ หรือว่าภาวะที่มันเหวี่ยง ๆ อะไรก็แล้วแต่ ที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริง เราแค่ยอมรับสภาพว่านี่กำลังเกิดขึ้น คือบางทีพี่ไปฝืน เข้าใจไหม คืออยากจะรู้สึกว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติที่ไม่โกรธแล้ว มันมีภาพของผู้ปฏิบัติล๊อคอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่สบประมาทเราว่า เราตั้งเป้าไว้สูงเกินไปแล้วนี่ เราจะไม่อยากแสดงอาการขึ้นลงให้เค้าเห็น มันเป็นเรื่องดีที่เราจะไม่แสดงอาการขึ้นลงให้เค้าเห็น แต่ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่า เราไม่อยากยอมรับว่าเราไม่ได้โกรธ

ผู้ถาม ไม่ให้หลอกลวงตัวเอง ?

ดังตฤณ: 
อย่าไปหลอกตัวเอง เวลาโกรธยอมรับว่าเกิดภาวะนี้ขึ้นมา ไหน ๆ มันเกิดแล้ว เรามาดูความจริงเกี่ยวกับมันดีกว่า เพราะว่าบางทีเรานิ่งได้ แต่ยังไม่อยากยอมรับ ปอดไม่นิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่กำลังเกิดกิเลส ตอนที่เกิดภาวะที่เค้าเรียกว่า พิสูจน์ใจนักปฏิบัติกัน นักปฏิบัติที่แท้จริงไม่ใช่คนที่ไม่โกรธ ไม่ใช่คนที่ไม่โลภ ยังมีความโลภ ยังมีความโกรธ แต่ที่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ก็คือ จิตมันสามารถจะเห็นความจริงได้ว่า กำลังเกิดความโลภอยู่ กำลังเกิดความโกรธอยู่ และที่จะสามารถเห็นความจริงตรงนั้นได้ มันต้องมีอาการยอมรับตามจริงให้ได้ก่อน

ถ้าหากว่ามีแต่อาการอยากให้ตัวเองเป็นอย่างนั้น อยากให้ตัวเองเป็นอย่างนี้ ในที่สุดแล้วมันกลายเป็นอาการหลอกตัวเองไปทั้งหมด มันไม่ใช่อาการเห็นตามจริง 

และขอให้ท่องไว้เลยเป็นคีย์เวิร์ด (key word) นะ 
ถ้าไม่สามารถที่จะเห็นตามจริง 

ไม่สามารถยอมรับตามจริงได้ 
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อให้คุณรู้สึกนิ่ง 
ต่อให้คุณรู้สึกสงบอย่างไรก็ตาม 
มันจะไม่เรียกว่าสติเด็ดขาด 

คำว่า สติ นิยามของพระพุทธเจ้า 
อย่างที่เราพูดกันว่า สัมมาสติ 
คือ การสามารถระลึกรู้ตามจริง
ที่มันกำลังปรากฏอยู่ในภาวะเป็นปัจจุบัน 

แต่ถ้าภาวะปัจจุบันมันเกิดขึ้น จะเป็นความโกรธ จะเป็นความขุ่น จะเป็นความฟุ้งซ่านอะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณไม่อยากยอมรับ มันจะเป็นสติขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้ตรงนี้ เริ่มจากตรงนี้ก่อน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น