วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วิธีดูลมหายใจ อย่างมีสัมมาสมาธิและสัมมาสติ

ฝึกใช้ลมหายใจเป็น "เครื่องตรึงจิต"
รับฟังทางยูทูบ :
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๖
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๗ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ:
(เสียงช่วงต้นขาดตอนไปเล็กน้อย)
แค่ไมได้ตั้งใจที่จะบริกรรม คำใดคำหนึ่ง ทั้งที่ จิตยังไม่พร้อม แต่เมื่อร่างกายมีความอ่อน มีความควรพร้อมแล้วเนี่ยนะ จิตมันก็จะพร้อมเป็นสมาธิได้ง่ายเช่นกัน

เริ่มต้นที่จะเข้าสู่สมาธิจริงๆเนี่ย มันต้องมีเครื่องตรึงจิต ลักษณะของเครื่องตรึงจิตก็คือ สิ่งที่จิตสามารถระลึก รู้ได้อยู่เรื่อยๆ ไม่ได้มีอาการที่ขาดหายไปไหน แหว่งวิ่นไปไหน จิตที่อยู่กับเครื่องตรึงจิตที่ดีพอนะ มันสามารถที่จะเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องไปพยายามฝืน ไม่ต้องไปพยายามสร้างความนิ่ง แต่การรู้อยู่เรื่อยๆนั้นแหละ มันจะสร้างความนิ่งสร้างความมั่นคงให้กับจิตใจไปเอง

สิ่งที่พระพุทธเจ้าคะยั้นคะยอ เหลือเกิน ให้ชาวพุทธ ได้อาศัยเป็นเครื่องตรึงจิต ก็คือลมหายใจที่อยู่ติดตัวเราเนี่ยแหละ ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ต้องไปหาอะไรอุปกรณ์ที่ไหนมา แต่อยู่ติดตัว เป็นของติดตัวเลย มันอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เราจะเห็น หรือไม่เห็นเท่านั้นเอง มันรอท่าอยู่แล้ว

วิธีที่จะดูลมหายใจ ไม่ใช่ไปพยายามที่จะบังคับให้ลมมันเข้า หรือลมมันออก แต่ว่าให้สังเกตว่า ร่างกายเขาต้องการดึงลมเข้าแล้วหรือยัง ถ้าหากถึงเวลาที่ ลมควรจะเข้า ร่างกายเขาจะรายงานให้ใจทราบ ว่าเขาหิวลมหายใจ มีอาการขาดลมหายใจ ตรงนั้น ถ้าหากว่า เราลากลมเข้าสบายๆไปจนสุด แล้วก็ระบายลมออกสบายๆ ออกมาจนหมด ก็จะรู้สึกว่าเราเป็นผู้ดู ไม่ใช่เป็นผู้บังคับลมหายใจ เพราะอะไร  เพราะว่า ร่างกายเขาทำของเขาเองตามธรรมชาติ ฝ่ายจิตใจเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เป็นเพียงผู้รู้ ผู้ดู เฉยๆ เมื่อระบายลมหายใจออกไปจนหมด ก็ แค่สำรวจ สังเกตเหมือนถามตัวเองว่า ถึงเวลาที่ลมหายใจจะเข้าแล้วหรือยัง บางคนพอระบายลมหายใจออกจนหมด มันรีบกระชากลมหายใจใหม่เข้าทันที ทั้งที่ไม่มีการสำรวจ ไม่มีการถามร่างกายเลยว่า พร้อมแล้วหรือยัง ยังอยากได้ลมหายใจใหม่แล้วหรือยัง

เราจะพบว่า ช่วงที่ขาดลมหายใจไปชั่วคราว เป็นช่วงที่จิต มีความนิ่งได้ เพราะว่ากายสงบระงับ
ไม่ได้มีอาการไหวติง ไมได้มีอาการที่ขยับเคลื่อนไหวเพื่อให้ลมเข้าลมออกแบบปกติ แต่เมื่อร่างกายหิวลมใน ระลอกต่อไป ลากลมหายใจเข้ามา มันก็จะเกิดความรู้สึกสดชื่น ที่ได้หายใจไปเติมเต็มความหิว
ไปทำให้มันเกิดความรู้สึกอิ่ม

แต่พอมันอิ่มจนแน่นแล้ว ก็เกิดความอึดอัด แล้วก็พร้อมที่จะระบายลมหายใจออกมา พอเราระบายลมหายใจออกมา มันก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับคลายอก การอึดอัด คลายจากความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง ทั้งสุขทั้งทุกข์ปรากฎอยู่ตลอดเวลาที่ภายในร่างกาย แต่เราจะเห็นหรือไม่เห็น สังเกตหรือไม่สังเกต อันนี้ก็คือ ความต่างกัน ระหว่าง คนที่เจริญสติกับคนที่ไม่เจริญสติ

พอลมหายใจมันเข้ามันออก ตามจังหวะธรรมชาติ แล้วมีจิตเข้าไปรับรู้อยู่ เห็นอยู่ ก็จะเกิดความรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นมา ที่ปลอดโปร่งก็เพราะว่า มันไม่มีความอยาก ไม่ได้มีความอยากจะสงบ ไม่ได้มีความว้าวุ่น กระสับกระส่าย คิดไปข้างหน้า ย้อนไปข้างหลัง แต่ว่าอยู่กับปัจจุบัน ที่มันดีอยู่แล้ว แค่ลมหายใจเข้า แค่ลมหายใจออกอย่างนี้นะ เราสามารถเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของมัน เราสามารถเห็นถึงอนิจจลักษณะ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสชี้ให้ดู คะยั้นคะยอนักคะยั้นคะยอหนาให้ดู  ดูซ้ำไป ซ้ำมา แค่นี้แหละ แต่อาการซ้ำไป ซ้ำมาของลมหายใจเข้าออก มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ภายในใจ
ใจเนี่ยมันสว่างขึ้นเรื่อยๆ ใจมันมีความปลอดโปร่งขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ต้องการพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอกขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ต้องการพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอกเหมือนปกติ

ยิ่งคนที่เคยคิดฟุ้งซ่านย้อนไปข้างหลัง หรือว่าหวังไปข้างหน้าเนี่ย จะเห็นได้ชัดเลยนะ ถ้าหากว่าลมหายใจ กลายเป็นสิ่งตรึงจิตแทนอดีตและอนาคตเนี่ย มันมีความสุขแตกต่างกันมาก จิตมันจะเหมือนกับอยู่นิ่ง หยุดอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไปไหน แล้วมีความสว่าง ในความสว่าง นั้นมีความรู้แจ้งว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมหายไปดับไปเป็นธรรมดา

ด้วยความรับรู้ ด้วยความที่อยู่กับปัจจุบันเนี่ย จิตแบบนั้น พร้อมที่จะเห็นทุกสิ่ง ทุกอย่างที่มันปรากฏขึ้น จะในตัวก็ดี นอกตัวก็ดีตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามอาการของใจที่อยาก เราจะเห็นว่าบางลมหายใจ มันเกิดความรู้สึก สุข สบาย มีอาการผ่อนคลาย มีอาการรีแลกซ์ (relax) ทั้งกายทั้งใจ มันรีแลกซ์ไปหมด แต่เดี๋ยวๆ มันก็กลับมาตึงใหม่ เคร่งใหม่ อย่างเท้าเนี่ย บางทีก็แสดงอาการให้เห็น มือ บางทีก็มีอาการกำให้เห็น ถ้าหากว่าเรารู้สึกเข้าไปถึงกาย ไม่ว่าจะส่วนใดก็ตามที่ มันกลับเกร็งขึ้นมาใหม่ ก็ให้ผ่อนคลายซะ นั่นก็คือการเห็นอนิจจังเช่นกัน เห็นอนิจจังของร่างกายที่มันสบายอยู่ แล้วมันกลับเกร็งขึ้นมาใหม่

หรือลมหายใจก็ตาม บางทีมันก็เหมือนกับจะเข้ายาวได้ บางทีมันก็เข้าแค่สั้นๆ แต่บางครั้ง มันก็มีความรู้สึกเหมือน ว่าลมหายใจหายไป ทิ้งช่วงไปนาน ไม่ว่าจะมีปรากฏการอะไรก็แล้วแต่ อย่าเห็นเป็นของแปลก แต่ให้เห็นเป็นของจริงที่กำลังแสดงอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ ว่ามันไม่เที่ยงทั้งนั้น

บางที่จิตใจของเราก็เกิดความสงบตามอาการของร่างกาย แต่บางครั้งมันก็เกิดความฟุ้งซ่าน รู้สึกอึดอัด ขึ้นมาได้ใหม่ อาการต่างๆทั้งกายและใจเนี่ยนะ มันมาเพื่อให้เห็น ไม่ใช่มาเพื่อให้ยึด ถ้าหากว่าทั้งหลายทั้งปวง มาเพื่อให้ใจเห็น ใจก็จะเห็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ามาเพื่อให้ยึด ใจก็จะยึดผิดขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ยึดว่ามันจะต้องเป็นตัวเรา ยึดว่ามันต้องเป็นของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะดีๆเนี่ย ต้องเป็นเราเท่านั้น ต้องเป็นของๆเราเท่านั้น แต่ถ้าภาวะไหนไม่ดี มันปฏิเสธหมด นี่เรียกว่าเป็นผลสะท้อนของอาการยึด แต่ถ้าหากว่าเราอยู่ในอาการเห็นจิต เข้าโหมดเห็น เข้าโหมดรู้ ไม่ว่าจะเกิดภาวะอะไรขึ้นมา มันไม่ยึดไปหมด
มันเห็นไปหมด แม้กระทั่งภาวะฟุ้งซ่าน ที่ดูไม่ดี ที่ดูไม่น่าเอา มันก็รู้สึกเหมือนเฉยๆ เออ มันก็แย่ของมัน แป๊บนึง แล้วเดี๋ยวมันก็ดีใหม่ มันไม่เกี่ยวกับเรา เพราะมันไม่มีตัวเราตั้งแต่ต้น

ด้วยความรับรู้อย่างนี้ มันจะเกิดสมาธิขึ้นอีกแบบนึง ไม่ใช่สมาธิที่เป็นความสงบ ไม่ใช่สมาธิที่เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องตั้งของการรับรู้อย่างเดียว แต่เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในเวลาปัจจุบัน มาเป็น อารมณ์สมาธิ อารมณ์สมาธิที่ดีที่สุดในโลก ที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ก็คือ สิ่งที่มันแสดงความไม่เที่ยงให้จิตเห็น
อะไรก็แล้วแต่แสดงความไม่เที่ยงอยู่ อะไรนั้นเนี่ยน่าสนใจที่สุด เพราะว่ายิ่งสนใจมากขึ้นเท่าไหร่
จิตยิ่งเป็นสมาธิแบบที่เรียกว่า สัมมาสมาธิมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าเราสนใจอยู่แต่อะไรดีๆ เราก็จะตั้งหน้าตั้งตายึดเอา หวังเอา แบบนั้นเนี่ย ต่อให้เป็นสมาธิ มันก็เป็นสมาธิที่เรียกกันว่ามิจฉาสมาธิ

มิจฉาสมาธิเนี่ยมีหลายระดับเลย  มิจฉาสมาธิขั้นรุนแรงในแบบที่จะทำให้เกิดความเห็นผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว กับมิจฉาสมาธิในแบบที่คนทั่วๆไปเขาทำกัน คือรู้สึกว่า ความสงบเป็นของดี ความนิ่งเป็นของดี น่ายึด น่าเอา

แต่ถ้าสัมมาสมาธิเนี่ย มันมีความปกติ คงเส้นคงวาอยู่ในอาการเห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับลงเป็นธรรมดา ในที่สุด พอเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง โดยความเป็นของที่ต้องเกิดขึ้น และต้องดับลงเป็นธรรมดา ทั้งหลายทั้งปวง โลกทั้งโลก ก็จะปรากฏเป็นของว่าง พอโลกปรากฏเป็นของว่าง ใจมันก็ว่าง ว่างจากอาการยึด ว่างจากอาการหวัง ว่างจากอาการที่มีความผิดปกติใดๆทั้งปวง นั่นแหละที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการของการทิ้งเหตุแห่งทุกข์ ด้วยใจที่มันมีความสะอาด มันมีความเบา มีความสบาย  ไม่หวัง ไม่อยาก แต่แค่รู้ แค่ยอมรับ อยู่แต่สภาวะตรงหน้าที่ มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่

ตัวนี้แหละที่เขาเอามรรคเอาผลกัน มันไม่ใช่ตัวอื่นที่ จะลุกขึ้นมานึกอยากทำสมาธิ นึกอยากทำวิปัสสนา ก็อยากได้มรรคผลทันที  มันไม่ใช่แบบนั้นนะ อาการที่ยังอยาก ยังหวัง ยังเปรียบเทียบกับคนอื่น เทียบเขาเทียบเรา เขาได้เราไม่ได้ เขาดีเราไม่ดีนะ หรือว่าเราดีกว่าเขา เราเหนือกว่าเขา เราใกล้มรรคใกล้ผลแล้ว
อาการพวกนี้ เป็นอาการของจิตที่หลอกตัวเอง หรือไม่ก็ถูกสภาวะบางอย่างหลอกไปให้หลงนะ ว่ามีตัวมีตนอะไรบางอย่างกำลังจะได้มรรคได้ผล การได้มรรคได้ผลที่แท้จริงเนี่ย มันคืออาการที่จิตมันทิ้งอุปทาน ทิ้งความยึดมั่นถือมั่น


ถ้าหากว่าเราได้ตัวอย่างความ เห็นตามจริง รู้ตามจริง สะอาดจากอุปทาน ชั่วคราว จากการฝึกอานาปานสติอย่างถูกต้องที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เราก็จะเข้าใจ เราจะเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่บนเส้นทางของการเป็นชาวพุทธที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น