วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เห็นอวัยวะภายในแบบลางๆขณะนั่งสมาธิ

ถาม : ช่วงหลังๆพอปฏิบัติ มันเหมือนว่าบางทีเห็นภาพอวัยวะภายในครับ ประมาณเหมือนเห็น แต่ไม่รู้ว่าสภาวะนั้นจริงหรือเท็จครับ

รับฟังทางยูทูบ :   https://youtu.be/VbYdEba9A_M
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๔
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
มันเห็นเลือนๆ ตอนที่เรารู้สึกชัดไง รู้สึกว่าร่างกายปรากฏชัดเนี่ย มันจะเหมือนกับมีอะไรเป็นโพรงอยู่ข้างใน เหมือนกับมีเนื้อ ก้อนเนื้ออะไรที่อัดหนักอยู่ อะไรอย่างนี้นะ มันเห็นจริง แต่เห็นแบบลางๆ ไม่ได้เห็นแบบชัดๆ คือถ้าเห็นชัดเนี่ยจิตต้องสว่าง จิตต้องสว่าง อันนี้เหมือนกับเป็นสมาธิอยู่เฉยๆแต่ยังมันไม่มีความสว่าง

วิธีที่จะให้มันสว่างแจ้งขึ้นมานะ ก็คือเรา..อย่างเมื่อกี้นี้พอนั่งสมาธิไป ความสว่างของเรามันเป็นแบบวูบๆวาบๆ มันวูบมาแล้วหาย วูบแล้วหาย วูบแล้วหาย อย่างเมื่อกี้รู้สึกว่าตอนที่นั่งอยู่ด้วยเนี่ย มันเหมือนจะสว่างขึ้นมาแล้ว แต่มันก็หด หดกลับมา คล้ายๆใจ เวลามันเปิด มันเปิดไม่เต็มที่ พอเปิดไปแป๊บนึงแล้วมันกลับมาใหม่
   
เราแค่อยู่กับตรงนั้นน่ะ รับรู้ไป ลองสังเกต สังเกตอย่างเดียว อย่าพยายามนะ เพราะของเราพอเกิดความพยายามหรือเกิดความอยาก มันกลายเป็นความมืดขึ้นมาทันที กลายเป็นอาการที่จิตเนี่ยมันหดตัวลงมาทันที เราลองสังเกตนะว่า นั่งดูลมหายใจเข้า นั่งดูลมหายใจออกไปน่ะ จะมีบางภาวะที่ปลอดโปร่ง ตรงนั้นเนี่ยไม่มีความดิ้นรน ไม่มีอาการพยายามหรือว่าอยากได้อะไรทั้งสิ้น แต่พอมันสว่างไปแป๊บนึง แล้วเราอยากให้มันสว่างขึ้น หรือว่าอยากที่จะดูเข้ามาในอวัยวะภายใน ตัวนี้มันทำให้จิตเกิดอาการหดตัวทันที หรือเกิดความมืดความหม่นขึ้นมาทันที

เราสังเกตอยู่อย่างนี้เกี่ยวกับความจริง ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับสภาวะของใจ ถ้าเราไม่คิดไม่คาดหวังอะไรเลย ใจมันจะปล่อย ใจมันจะสบาย มันจะเบิกบาน แต่ถ้าคิดอยากอะไรขึ้นมามันจะหด มันจะหดมันจะกลับเข้ามา พอรู้สึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับสภาวะของจิตได้แล้วพักนึง ค่อยไปใส่ใจความสว่าง คือพอใจปลอดโปร่ง ใจไม่คาดหวังอะไร เห็นแต่ว่าอะไรเกิดดับก็ช่างมัน จิตจะดีจิตไม่ดีไม่สนใจ เห็นแต่ว่าความจริงของจิตเป็นอย่างไร จากนั้นพอมันสว่างจริงๆค่อยใส่ใจความสว่าง อาการใส่ใจความสว่าง ก็คือ อยู่กับความสว่าง อยู่กับความรู้สึกสบาย อยู่กับความรู้สึกเปิด โดยไม่ไปวอกแวกหาสิ่งอื่น
จำให้ดีนะ ขั้นตอนนะ อันแรก เราสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างความคิด คิดอยาก กับ ภาวะทางใจ มันจะหุบเข้าหุบออกอย่างนี้ มันจะเปิดสบายตอนที่ใจเราไม่คาดหวัง เรามีแต่ความรู้จริงๆ แล้วก็มันหุบกลับเข้ามา ของเราจะรู้สึกใช่ไหม มันเหมือนกับมีอะไรหุบ เป็นไมยราพอย่างนั้นน่ะ ไม่ต้องไปเสียใจไม่ต้องไปอะไรทั้งสิ้น แต่สังเกตเห็นอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดมันจะค่อยๆเปิด ค่อยๆเบิกบานออกไปนานขึ้น ตรงนั้น
..ค่อยใส่ใจความสว่างที่เกิดขึ้น แล้วมันจะสว่าง แล้วก็ค่อยๆเต็มขึ้น เต็มขึ้น จำได้นะ เพราะถ้าผิดขั้นตอนจะไม่มีทางไปถึงตรงนั้น อยู่ๆเราจะไปอยากสว่างเลย หรือจับความสว่างที่มันเกิดขึ้นเนี่ย เมื่อกี้นี้พอไกด์ เรารู้สึกเหมือนทำได้ เสร็จแล้วพอเราจะไปทำเอง ไปนึกถึงภาวะนั้นทันที มันกลายเป็นความกระวนกระวาย อยากจะให้เกิดความสว่าง ความอยากนี่แหละจะปิดบัง ไม่ให้เกิดความเห็น ไม่ให้เกิดความรู้อะไรเลย

ผู้ถาม : ความสว่างที่ว่า เราเรียนรู้อะไรได้จากมันครับ

ดังตฤณ: 
ถ้าสว่างเต็มแล้ว มันมีความตั้งมั่นเต็มแล้วเนี่ยนะ อย่างหนึ่งที่เห็นประโยชน์ได้ทันที ก็คือเมื่อจิตเกิดความฟุ้งซ่านจะเห็นเป็นเงามืด จะเห็นเป็นภาวะคล้ายๆกับคลื่นรบกวนความสว่าง แล้วเราก็จะสามารถเห็นความไม่เที่ยงของคลื่นรบกวนได้โดยง่าย อันนี้คือเห็นได้ทันที

แต่ถ้าหากจะให้แอดวานซ์ (advance) ไปกว่านั้น เรารับรู้เข้ามาในภาวะอิริยาบทที่เป็นปกติอยู่นี่แหละ นั่งอยู่อย่างไร มันมีความรู้สึกอย่างไร รับรู้ไปอย่างนั้นนานๆ ในที่สุดมันจะค่อยๆเห็นเข้าไป เหมือนอย่างที่น้องเห็นมันเป็นเงาเฉยๆ แต่ตอนที่เรานั่งสมาธิแล้วเห็นเข้าไป มันคล้ายๆยังมืดๆอยู่ มันไม่ได้ประกอบด้วยความสว่าง มันไม่ได้มาจากฐานของความสว่าง

แต่นี่พอเราพูดถึงฐานความสว่าง เวลาที่พระจะเจริญอสุภะกรรมฐานแบบของจริงเต็มพิกัด ท่านไม่ได้เริ่มจากการมาดูผมขนเล็บฟันหนัง อย่างที่ฝึกกันง่ายๆ ท่านฝึกอานาปานสติมาก่อน ฝึกจนกระทั่งมีความสว่าง มีความตื่นโพรง มีความหนักแน่น จิตตั้งมั่นแล้ว แล้วค่อยสำรวจเข้าไป จะเห็นออกมาเหมือนกับกล้องเอ๊กซเรย์ (X-Ray) จริงๆ ตอนแรกๆท่านก็เห็นเป็นเงาลางๆแบบน้องนี่แหละ เพียงแต่ว่าเวลาท่านเห็น ท่านจะเห็นออกมาจากความสว่าง ของน้องจะรู้สึกเหมือนกับเห็นก็จริง แต่เป็นความรู้สึกเฉยๆมันยังมืดๆอยู่ ยังอยู่ในห้องที่ไฟยังไม่เปิด เหมือนกับมีแสงลอดเข้ามานิดเดียว ตรงนั้นเป็นเพราะว่าเราเริ่มมีสมาธิอยู่บ้าง แต่เป็นสมาธิแบบอ่อนๆที่ยังไม่มีแสง

ผู้ถาม : การสวดมนต์ หลังจากที่เฝ้าดูไปเรื่อยๆอย่างนี้จะช่วยได้ไหมครับ

ดังตฤณ: 

ของน้องสวดมนต์ มันสวดด้วยความฟุ้งซ่าน คือเป็นเพราะเราสวด..แล้วไปฝากความหวัง หรือไปอธิษฐานอะไรอย่างนี้ เราชอบไปนึกว่าขอให้สำเร็จอย่างนั้น สำเร็จอย่างนี้ ฌานขั้นนั้นขั้นนี้ ได้ญาณอะไรต่อมิอะไร เนี่ย เป็นการสวดมนต์ที่ประกอบไปด้วยความคาดหวังผิดๆ  ที่ถูกต้อง..เวลาเราสวดมนต์เนี่ยนะ อิติปิโส ภควา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ คาดหวังว่าเราจะได้ความสุขจากการสวดน่ะพอแล้ว เพราะนั่นจะทำให้จิตมันมีความเป็นกุศลเต็มดวง เวลาที่มีความสุขแล้วอยู่กับบทสวดจริงๆ นั่นแหละคือจิตที่มีอานุภาพสูงสุด จิตมีอานุภาพสูงสุด จิตมีคุณภาพสูงสุด เราสามารถจะเอามาเจริญสมาธิต่อยอดเป็นอะไรก็ได้ แต่ด้วยอาการคาดหวังคือ คือเหมือนกับสวดมนต์ไปแล้วคิดไป จะได้ไหม จะได้ไหม มันเป็นกลายความฟุ้งซ่านไป มันกลายเป็นว่าเราสวด..สวดไปเพื่อที่จะสะสมความอยาก ไม่ใช่สวดไปเพื่อสะสมความปล่อยวางนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น