วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

จิตระลึกถึงบาป และชอบขบคิดปัญหาขณะทำสมาธิ


ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๒
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/9EXkBjKnDnw

ถาม: ช่วงที่ผมนั่งสมาธินะครับ มันจะอยู่ในจิตที่ปกติแล้วก็นิ่งแล้วก็อยู่กับตัวแล้วนะครับ พอเสร็จแล้วมันก็จะมีเรื่องของปัจจุบันมันเข้ามา มันก็ทำให้เราคิดไปเรื่อยๆ พิจารณาไปนะครับ

ดังตฤณ:  ใช่

ถาม: แต่พอเวลาที่สติไปเรื่องของสติ ฟุ้งซ่านหรือเกิดจากการจินตนาการ ผมก็พยายามตบๆเข้ามาให้มันอยู่กับตัวเองต่อ เพราะฉะนั้นที่ผมอยากจะถามก็คือว่าบางทีที่ผมนั่งมันมีการโยงไปถึงเรื่องอื่น อย่างเช่น เรื่องของการนั่งสมาธิบางทีผมเคยขาแพลง แล้วผมไปนึกถึงหมาที่ผมเคยไปเหยียบทับเป็นต้น อย่างนี้นะครับไม่ทราบว่ามันเป็นเรื่องของจิตคิดไปเอง หรืออะไรยังไงครับ ตรงนี้อยากจะขอคำปรึกษาอาจารย์ครับ

ดังตฤณ:  ใช่ จิตมันมีความประหวัดไป อย่างบางทีไปขับรถทับหมาหรือว่าอะไรอย่างนี้  เราดูเจตนา คือทุกครั้งที่มันแวบเข้ามา ถือเป็นโอกาสทบทวน คือระลึกไปเลยชัดๆเลยว่า ณ เวลานั้น ระลึกให้ชัดๆ ย้อนกลับไปว่า นาทีนั้น วินาทีนั้น ชั่วขณะนั้น เจตนาของเราเป็นอย่างไร เจตนาของเราขับไป คือถ้าประมาท ยอมรับว่าประมาท ไม่ได้ประมาทเลย แต่หมามันวิ่งเข้ามาเอง ก็ทบทวนให้ชัดๆ ณ เวลานั้น มันจะได้เคลียร์ กลับไปเห็นปัญหาของตัวเอง ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล เราประมาท หรือว่าไม่ประมาท
ถ้าหากว่าเห็นชัดแล้วเนี่ย มันก็จะเกิดความกระจ่างแจ้งขึ้นมาทีละครั้งทีละหน คือแวบเข้ามาเมื่อไหร่ เราทำเมื่อนั้น ถ้ามันแวบเข้ามาร้อยหน มีโอกาสทบทวนเจตนาร้อยหน คือบางทีนี่ฟังแล้วเหมือน ทำไมต้องมาทำเรื่องซ้ำๆ แต่จิตมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือมันไม่ลืม แล้วก็แวบกลับมาอยู่เรื่อยๆ ถ้าแวบกลับมาเรื่อยๆ แปลว่ามันยังไม่พอ มันยังไม่อิ่ม เราก็ต้องทบทวนต่อว่า เออ มันมีเจตนาอย่างนี้นะ แล้วมันก็จะได้จบได้ มันก็จะได้กลายเป็นคลื่นรบกวนที่หายไป ไม่งั้นอันนี้เข้าใจคือเวลาที่เริ่มจะเข้าสมาธิอะไรเนี่ย มันชอบเหมือนกับมากังวล ว่าตัวเองมีมลทินหรือเปล่า

ทีนี้สำหรับบางคนควรจะแค่รู้แล้วก็ผ่านไป แต่ของคุณมันอาจจะจำเป็นที่ว่า เราทบทวนเจตนา ณ ขณะนั้น ไม่ว่าเรื่องไหนเลย อันนี้แค่เรื่องหมาเรื่องเดียว แต่เรื่องไหนก็แล้วแต่ ที่เข้ามารบกวนจิตใจแล้วทำให้เรากังวล ว่าเราจะไม่บริสุทธิ์มากพอที่จะก้าวหน้าต่อไป ระลึกเข้าไป ณ จุดเกิดเหตุ ว่าเจตนาของเราเป็นอย่างไร ถ้าสมมติว่ารับรู้เข้าไปแล้ว คือตรงนั้นตั้งใจไม่ดีจริงๆ ก็เห็นเข้าไป เพื่อที่จะบอกตัวเองว่าเราจะไม่เป็นแบบนั้นอีก ไม่เกิดเจตนาแบบนั้นอีก ถ้ามันเข้ามาอีกสิบรอบ ร้อยรอบ เราก็ทบทวนสำทับ ซ้ำเข้าไป ทับถมเข้าไป ว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้นอีก ไม่กลับเข้าไปสู่เจตนามืดแบบนั้นอีก

ถาม:   แล้วถ้าผม ปกติก็มีโอกาสได้นั่งอยู่บ้างนะครับ หรือว่าไม่ต้องนั่งก็ได้ครับ คือจะมีในช่วงที่ผมอยู่นิ่งๆ พยายามทำจิตให้นิ่งเนี่ย บางทีมันมีเรื่องของปัญหาปัจจุบันเข้ามาในหัว แล้วเราก็พยายามจะคิดว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน สาเหตุคืออะไร ตรงนี้มันเหมือนกับว่า เป็นการปล่อยใจเกินไปหรือเปล่า หรือว่าต้องคุมให้อยู่ทั้งหมดว่า เราต้องไม่คิดอะไร  เราต้องอยู่นิ่งๆ เพราะภาวะที่ผมคิดไป คือภาวะมันจะเป็นภาพ สุดท้ายมันก็จะเป็นคำตอบ อ้อ อย่างนี้นี่เอง

ดังตฤณ:  โอเค ในช่วงนี้มันยังอยู่ในภาวะสองแพร่ง ภาวะของคุณในช่วงนี้ มันคือว่ายักแย่ยักยัน ระหว่างที่ว่ามันจะสงบนิ่งเข้าสู่อารมณ์สมาธิ  กับอีกภาวะหนึ่งที่มันคอยกังวลนั่นกังวลนี่  ช่วงนี้ถ้าหากว่ามันอดคิดไม่ได้ ก็ให้มันคิดไป เสร็จแล้วหลังจากคิด สำรวจใจตัวเองว่าสบายใจแล้วหรือยัง ถ้าสบายใจแล้วก็นั่งสมาธิต่อ อย่าไปมองว่าวิธีที่กำลังทำอยู่เนี่ย มันผิดหรือถูก แต่เอาตรงว่ามันเป็นเส้นทางของเรา ที่เราต้องผ่านมาแบบนี้นะ พอเราจะเข้าสมาธิมันชอบมีเรื่องโน่นเรื่องนี่มาแย่งสมาธิ มาคิดให้ตก
ประเด็นก็คือ ข้อแรก อย่าเป็นกังวลว่านี่ทำผิดหรือถูก ข้อสอง ถ้าคิด คิดให้สุดแล้วสำรวจใจ  จากนั้น ข้อสาม ก็คือพอรู้สึกว่าสบายใจแล้ว เคลียร์แล้วก็กลับมาทำสมาธิต่อ ตรงนี้มันจะติดนิสัยแบบ นั่งสมาธิไปแล้วก็คิดวิเคราะห์ไป อาจจะนานนิดหนึ่ง แต่ว่าพอถึงจุดหนึ่ง เราจะเริ่มรู้สึกว่านิสัยทางการคิดนี่ มันคิด คิดแล้วคิดตก  นี่มันยังคิดไม่ตกไง มันเป็นคนที่ว่าพอคิดเนี่ย โอเคบางทีโดยเหตุผล โดยตรรกะ มันเหมือนกับเราคิดได้ แต่ใจไม่ยอมรับจริง ใจยังคอยติดอยู่

เพราะฉะนั้นก็อาศัยขณะที่นั่งสมาธินี่แหละ มันย้อนกลับมานี่เราก็คิดให้สุด แล้วสำรวจใจ  ตอนหลับตานี่มันมีข้อได้เปรียบกว่าตอนลืมตาตรงที่ว่า มันสามารถเห็นไงว่านี่สบายใจแล้วหรือยัง หรือยังแหว่งๆวิ่นๆอยู่ หรือว่ายังมีความไม่สบายใจอยู่ แค่ไหน กี่เปอร์เซ็นต์ มันสามารถวัดได้ พอวัดได้ พอเห็นได้ว่า นี่สภาวะทางใจของเรามันปลอดโปร่งแล้ว หรือยังไม่ปลอดโปร่ง หรือยังมีอะไรเคลือบแฝงอยู่ มันก็จะได้เกิดการเทียบวัด
แต่เดิม มันเทียบวัดอาการทางใจไม่เป็น แต่พอนั่งสมาธิแล้วเรามาคิด มาสำรวจ มาวิเคราะห์ อะไรเหตุการณ์เก่าๆ แล้วมาลงเอยตรงที่ถามตัวเอง นี่สบายใจแล้วหรือยัง สบายใจไปประมาณครึ่งหนึ่งหรือเปล่า ยังเหลืออีกสักเสี้ยวหนึ่งหรือเปล่า หัดสังเกต หัดชั่งน้ำหนักแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มเห็นสภาวะทางใจ แล้วมันจะเริ่มพอใจในคำตอบอีกแบบหนึ่ง คือไม่ใช่คำตอบจากความคิด เพราะความคิดของเราเอาชนะความรู้สึกไม่ได้ ทีนี้พอในสมาธิความรู้สึกมันปรากฏชัดเด่นกว่าความคิด มันก็จะได้พอ รู้สึกว่าโอเค เราล็อคไว้ตรงนี้ ตรงความรู้สึกสบายใจหรือไม่สบายใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น