วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

จิตตื่นจริง หรือแค่คิดไปเอง (ปกติจิตซึมขี้เหงา)

ถาม : ฝึกดูจิตดูกายอยู่ค่ะ ที่บอกให้ดูเหมือนกับดูหนังเรื่องหนึ่งใช่ไหมคะ แต่บางครั้งเรารู้สึกว่า มันไม่ใช่ตัวเรา แต่บางทีเราก็กลับมาคิดว่ามันก็คือตัวเรานี่นา เราจะแยกอย่างไรว่าเราคิดไปเอง หรือจิตเรารู้จริงๆ คะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/tgWBGpuBaIk
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๙
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
ตอนที่เรารู้สึกเป็นปกติ ว่านี่มันไม่ใช่เรา อันนั้นน่ะ ถูกต้องแน่นอน แต่กว่าจะเป็นปกติแบบนั้นได้ จิตต้องตั้งมั่น เป็นสิ่งที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ ฉะนั้นถ้ามันวูบๆ วาบๆ เหมือนกับบางทีก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรา แล้วเสร็จแล้วมันก็กลับมาเป็นตัวเราอีก อันนั้นขอให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่ฝึกเจริญสติใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือว่าเราทำผิดอะไร

จิตเป็นอนัตตา มันไม่ได้เห็นตัวเองเป็นอนัตตาอยู่ตลอดเวลา มันกลับมามีอุปาทานว่ามันเป็นอัตตาได้เสมอ เพราะสั่งสมมาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ แล้วมาฝึกอยู่แค่ไม่มีปีจะไปเอาชนะได้อย่างไร การที่เรารู้สึกถึงความไม่เที่ยงก็ดี หรือรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตัวเราก็ดี มันเป็นแค่วูบของจิตหนึ่ง เรามองเป็นอย่างนี้ก็แล้วกัน ว่าจิตนั้นหลุดพ้นจากอุปาทานชั่วขณะ และพอมันกลับมายึดใหม่ ไม่ต้องเสียใจ แต่ให้มองว่านั่นเป็นจิตที่กลับมามีอุปาทานอีกครั้งหนึ่ง ถูกอุปาทานครอบงำอีกครั้งหนึ่ง เห็นไหม มันจะได้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรผิดปกติ มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

บางทีเนี่ย จิตของเรามันจะออกแนวแบบว่า บางทีซึมๆบ่อยนะ อาการซึมเนี่ย มันก็มีซึมมาก ซึมน้อย มันไม่ได้ซึมเท่าเดิมเสมอ บางทีมันก็เหมือนกับครึ่งๆ กลางๆ เหมือนจะตื่นขึ้นมา แต่บางครั้งมันก็เหมือนจะหดหู่ซึมเซาลงไปใหม่ ให้ดูว่าแต่ละลมหายใจ มันแตกต่างกันอย่างไร และการดูโดยอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกตเนี่ย มันจะทำให้สติ ตื่นมากกว่าซึม เนี่ยอย่างตอนนี้ ในหัวเหมือนจะเข้าใจ แต่มันยังมีอะไร นิดหนึ่งนะ

ผู้ถาม : มันงงๆ ค่ะ

ดังตฤณ: 
เราก็แค่ดูว่ามันงงๆ มันก็หายไปแล้วอาการงงๆ การงงๆ เนี่ยมันก็เกิดจากการที่เราพยายามทำความเข้าใจมากเกินไป พยายามจะจำให้แม่น จะจำให้เอาไปปฏิบัติได้ มันจะได้ไม่พลาดนะ อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ พอเค้นมากเกินไปมันก็เลยเกิดอาการงง ขึ้นมาได้ 

จริงๆ หลักการมีอยู่แค่นี้ รู้สึกถึงลมหายใจ และก็รู้สึกว่าลมหายใจนั้นน่ะมีอาการซึม หรือมีอาการตื่น สังเกตเห็นความไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ และก็ฝึกสมาธิเอานะ ถ้าไม่ฝึกสมาธิ จิตแบบนี้มันไม่มีทางตื่นจริง  มันจะมีแต่อาการซึมๆ เรื่อยๆ ไปตลอด เพราะว่าสั่งสมมาเยอะ คือปล่อยให้ตัวเองซึม แล้วไม่ว่าตัวเอง อยากจะซึมก็ให้มันซึมไป ไม่ว่าจะในเวลางานหรือเวลาส่วนตัวอะไรอย่างนี้ โดยเฉพาะเวลาส่วนตัวเนี่ย พอซึมขึ้นมาจะรู้สึกได้เหมือนคนขี้เหงา เหมือนคนที่ทั้งๆที่มีคนอยู่รอบตัวก็เหงา

ผู้ถาม : เหมือนแบบไม่อยากทำอะไรเลยค่ะ

ดังตฤณ: 
นั่นน่ะ มันมีอาการเหมือนอยากจะงอมืองอเท้า หรือว่าเสพอารมณ์เหงาน่ะ ชอบโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ชอบนะ แต่มันเหมือนกับชอบ เพราะปล่อยตัวปล่อยใจ อาการของคนมันขัดแย้งกัน จริงๆ แล้วเป็นคนที่เกลียดอารมณ์เหงา แล้วก็รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำให้หายเหงาได้อย่างไร แต่ไม่ทำ เพราะว่ามันเหมือนกับว่าเคยชินไปแล้ว

ต่อไปเนี่ย พอเกิดอารมณ์เหงาขึ้นมา เกิดอารมณ์เหมือนกับอยากงอมืองอเท้าขึ้นมาเนี่ย ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรทันที คือดูอย่างเดียวไม่ได้ หายใจอย่างเดียวไม่ได้ จำไว้เลยว่า ตัวแก้อารมณ์เหงาเนี่ย มีตัวเดียวเลย คือการทำให้ใจมันมีงาน ตอนที่อยู่ในอารมณ์เหงาน่ะ ใจมันไม่มีงาน ให้เราท่องไว้ให้แม่นๆว่า ใจไม่มีงาน ใจไม่มีงาน มันจะเกิดแรงผลักดันให้ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ให้มันออกจากโหมดนั้นน่ะ โหมดไม่รู้จักทำอะไร

ผู้ถาม : ค่ะ บางทีอยู่กับคนอื่น แล้วคนอื่นพูดเรื่องทางโลกเยอะๆ จะรู้สึกหงุดหงิดมาก มากจนรู้สึกว่าไม่อยากฟังเลยค่ะ

ดังตฤณ: 
ถึงได้เหงาไง สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่า ของเราไม่ใช่ว่าไม่มีเพื่อน ไม่ใช่ไม่มีคนที่แคร์เรา แต่เราเนี่ยจะไม่พอใจและก็ไม่อยากไปแคร์เรื่องแบบโลกๆ  ทีนี้การที่เรารู้สึกหงุดหงิดมันเป็นเรื่องธรรมดา ก็ให้มองว่าเรื่องโลกๆ ที่มันประเคนเข้ามาใส่เราเนี่ย ใส่หู ใส่ตาเนี่ย มันเป็นสิ่งกระทบ ที่ทำให้เกิดความระคาย ที่ทำให้เกิดความรำคาญ ดูความรำคาญ ว่าอันนี้ดูได้ เพราะมันไม่ได้เป็นความรำคาญถึงขนาดที่เกินทน มันเป็นความรำคาญชนิดที่มันเหมือนมีอะไรมายุบยิบๆ อยู่ในใจ

ผู้ถาม : และมันแบบอึดอัดๆ อย่างนี้ค่ะ

ดังตฤณ: 
เพราะอย่างนั้นล่ะ ก็มองไปว่า ณ ลมหายใจนั้น มันมีความรำคาญแค่นั้น มันมีความอึดอัดแค่นั้น ลมหายใจต่อมามันจะเห็นความไม่เที่ยงไปเอง แต่ขออย่างเดียวว่า อย่าปล่อยให้เกิดอารมณ์ซึมและอึดอัดควบคู่กันไปนานเกินกว่าที่มันจะกู้กลับนะ เพราะเมื่อมันนานจนถึงจุดหนึ่งแล้วเราจะจมลงไป ด้วยอำนาจความเคยชินน่ะที่จะปล่อยตัวเองให้อยู่ในอาการจมนะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น