วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วิธีสังเกตความฟุ้งซ่านสำหรับคนเก็บกดง่าย ฝังใจแรง

ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๒
วิธีสังเกตความฟุ้งซ่านสำหรับคนเก็บกดง่าย ฝังใจแรง
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/qplfH7Q0Dww  
 

ถาม : ปฏิบัติมาได้สักพักหนึ่ง ได้เข้าวัด ก็เลยอยากจะถามว่าที่ทำอยู่นี่มันโอเค ถูกไหม แล้วก็มีอะไรที่ขาดตกบกพร่องที่ต้องปรับปรุงเป็นพิเศษ (ผู้ถอดความ: คุณดังตฤณแนะนำได้) เต็มที่เลยครับอยากจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

 

ดังตฤณ:  ของเรานี่นะ คือ ให้ไปสังเกตว่า เราเป็นคนที่บางทีนี่ สมมุติเราไม่พอใจใครนี่ มันคิดมากและจำแม่น มันมีอาการเหมือนกับเก็บ สมมติว่าเราไม่มีโอกาสพูด ณ จุดเกิดเหตุที่เราไม่พอใจนั่น เราจะเก็บไว้ในใจ ทำนองเดียวกันกับความรู้สึกอาฆาตแค้นนะ แต่จริงๆไม่ได้ตั้งใจจะเอาคืนหรือจะไปทำอะไรรุนแรงนะ แต่นึกออกไหม บางทีนะ เราไม่พูดก็จริง ไม่แสดงออกก็จริง แต่อาการทางใจของเรานี่มันเหมือนเก็บแน่น เก็บความแค้นไว้ ฝังไว้แน่น เข้าใจความรู้สึกตรงนี้ใช่ไหม แต่เจตนาบางทีไม่ได้จะเอาอะไรคืนนะ ไม่ได้ไปคิดว่า อันนี้เดี๋ยวจะชกมัน หรือว่าไปทำให้มันเจ็บปวด หรือว่าไปแก้คืน เพราะว่าหลังๆนี่ เริ่มไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากยืดเยื้ออะไรอย่างนี้ แต่ตอนที่ใจเราเจ็บ ใจเราจำ ใจเราฝังแน่น ตรงนั้น น้องนึกออกใช่ไหม ที่พูดถึงภาวะอย่างไร คือมันมีความรู้สึกแน่นๆ ในใจ (ผู้ถาม: คือมันจะมีความรู้สึกแน่นๆ จุกๆ เกิดขึ้นบ่อยๆ) จุกๆ น่ะ ก็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ

นั่นแหละ ตัวนี้ คือ สิ่งใดก็ตามที่มันเกิดขึ้นบ่อย สิ่งนั้นเราเอามาเจริญสติ สติมันจะได้เจริญขึ้น ยิ่งบ่อยเท่าไหร่ สติยิ่งเจริญขึ้น มากขึ้นเท่านั้น ขอให้น้องดูตัวภาวะที่มันรู้สึกเก็บ อัด หรือว่ากดดัน เราจะรู้สึกว่าหน้ามืด เหมือนโลกมืด พอหน้ามืดอย่างเดียว โลกทั้งโลกมืดหมด มันมีความรู้สึกเหมือนกับโลกนี่แคบลง เห็นไหมว่ามันแตกต่างจากตอนนี้เยอะเลย ตอนนี้พอเราพูดถึงภาวะนั้น น้องรับรู้ มันกลายเป็นเปิดกว้าง โล่งเลย นี่แสดงว่าจิตแรงใช้ได้นะนี่ คือมันมีกำลัง (ผู้ถาม: ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามันคลายออก)

และมันโล่งด้วย กว้างด้วย (ผู้ถาม : เราก็ตามดูไปว่าอันนี้ คือการดับของมันถูกไหมครับ) ใช่ เปลี่ยนจากมืดเป็นสว่าง เปลี่ยนจากคับแคบมากๆกลายเป็นโล่ง

 ถาม : แล้วคราวนี้ ตรงนี้นี่ เราพิจารณาไตรลักษณ์ได้เลยใช่ไหมครับ หรือว่าไม่เกี่ยว

 ดังตฤณ:  ตอนพิจารณาไตรลักษณ์นี่ มันมี 2 ระยะ ที่เหมาะสมที่จะให้พิจารณาไตรลักษณ์

1.   คือตอนที่เราเริ่มฟัง เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับคำว่าไตรลักษณ์ อย่างเช่น สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เที่ยง แล้วอะไรบ้างที่ไม่เที่ยง ตัวนี้แหละ เป็นภาวะที่เหมาะสม

2.   กับในอีกภาวะหนึ่ง คือจิตของเราเป็นสมาธิแล้ว แล้วเห็นถึงความไม่เที่ยง เห็นการแสดงตัวของไตรลักษณ์อย่างชัดเจน

แต่แบบนี้เขาเรียกว่าอยู่ในภาวะ อยู่ในช่วงที่ควรแค่เปรียบเทียบเฉยๆ อย่าเพิ่งไปจ้องมองว่า ไตรลักษณ์มันอยู่ตรงไหน ยิ่งจ้องมันจะยิ่งไม่เห็น เราแค่เปรียบเทียบไปก่อน นี่อย่างที่พี่ชี้ให้ดูว่า ตอนมืด ตอนอัดแน่น ตอนที่มันเก็บอัด หน้าตามันเป็นแบบนี้ มันจะรู้สึกเหมือนกับว่าโลกแคบ แล้วพอเราดูเข้ามาในตัวเองปุ๊บนี่ มันนึกออกว่า เออ ภาวะนี้มันเกิดบ่อยๆนี่ มันกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง น้องแค่เห็นพอ ว่านี่มันไม่เหมือนกัน และยิ่งเราเอาไปทำให้มันเกิดขึ้นบ่อย ความเห็นเปรียบเทียบตรงนี้ สติมันจะค่อยๆมีกำลัง และก็รับรู้ไปเองว่า ตอนที่มันเปลี่ยน มันเปลี่ยนตอนไหน มันจะแสดงอาการคลายอย่างเห็นได้ชัด

คือไม่ใช่ว่าเราไปคิดว่า นี่เขาเรียกว่าไม่เที่ยง แต่ค่อยๆใช้ อาศัยสติ อาศัยจิตที่มันกำลังเห็นภาวะต่อหน้าต่อตา มันเปลี่ยนไปให้เห็นอย่างชัดเจน มันแตกต่างไปให้เห็นอย่างชัดเจนนั่นแหละ เป็นเครื่องทำให้เจริญ ทำให้สติเจริญ จำไว้ๆ ยิ่งเห็นความแตกต่างบ่อยขึ้นเท่าไหร่ สติมันจะยิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น มันจะเห็นความจริงนะ มันไม่ใช่คิดเอา

แล้วก็ ของเราจะมีความรู้สึกเหมือนกับถูกปิดกั้นไว้ด้วยเพดานบางอย่างนะ พอเราพยายามทำสมาธิหรือว่าเจริญสติก็ตาม ทำไปสักพักหนึ่งมันจะหยุด มันจะเหมือนกับเข็นไม่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นั่งสมาธินี่ ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้สึกว่าแป้กอยู่แค่ตรงนั้น ไปต่อไม่ถูก มันจะกลายไปเป็นภาวะฟุ้งซ่านขึ้นมาแทน หรือกลายเป็นภาวะที่ว่าเราอยากออกจากสมาธิ แล้วก็เป็นภาวะแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ต่อไปนี่คือให้ดูว่า ตอนที่ใจมันเหมือนกับอยู่ในภาวะที่ไปต่อไม่ถูกน่ะ พอนึกออกไหม ภาวะไปต่อไม่ถูกเป็นอย่างไร คือมันจะมัวๆ มันจะฟุ้งซ่าน มันจะรู้สึกเหมือนไม่ก้าวหน้าขึ้นไปกว่านั้นแล้วนี่ ตรงนั้นนี่แหละ คือ ให้สังเกตภาวะนั้นให้เป็น ตรงนั้นคือเพดานที่มันทำให้เราไม่สามารถยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ถาม : หมายความว่า เช่นตอนที่นั่งสมาธิ เริ่มสงบแล้ว และเริ่มมีเรื่องคิดขึ้นมา เริ่มฟุ้งซ่าน  ให้พยายามมีสติขึ้นมา ก็จะ...

ดังตฤณ:  ให้เห็น ว่าตรงความฟุ้งซ่าน หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ให้ดู ไม่ได้แค่ให้ตระหนักรู้ว่าตรงนั้นฟุ้งซ่านแล้ว แต่ให้ดูว่าความฟุ้งซ่านหน้าตามันเป็นอย่างไร ของน้องนี่ หน้าตามันจะประมาณว่ามีอะไรวนๆอยู่ในหัว ยุ่งๆ แล้วก็รู้สึกว่า พอจะย้อนกลับมาทำสมาธิน่ะ มันกลับมาทำไม่ถูก นึกออกไหม มันเหมือนกับติดกับดักไปแล้ว เหมือนกับโดนอะไรมันงับไปแล้วนี่ แล้วขาเราก้าวต่อไม่ได้ เข้าใจความรู้สึกนี้ไหม คือ พอฟุ้งแล้วฟุ้งเลย กลับมาอยู่กับสมาธิอีกไม่ได้ นึกออกใช่ไหม ภาวะตรงนั้นเป็นอย่างไร

แทนที่เราจะพยายามกลับมาหาสมาธิ พี่ให้ทำอย่างนี้ว่า มองให้เห็นอาการฟุ้งปั่นไม่หยุด ปั่นป่วนไม่หยุดนี่ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร มันจะเหมือนกับมีอะไรกระจุกอยู่ข้างในแล้วก็ยุ่งๆ แบบยุ่งไม่เลิกนะ ให้เราแค่สังเกต อย่ากลับมาพยายามทำสมาธิ แต่ให้สังเกตว่านี่ ตอนนี้ ที่มันยุ่งๆ อยู่นี่ มันกำลังหายใจเข้า หายใจออกอยู่ครั้งนี้ เมื่อหายใจเข้าหายใจออกครั้งต่อมา ให้ดูว่าภาวะยุ่งๆนี่ ตรงนั้นนี่ มันยังเท่าเดิมอยู่หรือเปล่า เป็นการเห็นความฟุ้งซ่าน แล้วเปรียบเทียบว่ามันเท่าเดิมอยู่หรือเปล่า หรือว่าอ่อนกำลังลง ที่ผ่านมาพอมันยุ่งๆนะ น้องอย่าสับสนอยู่กับว่า เออ ไปตามมัน หรือไม่ก็พยายามดึงกลับมา เข้าใจพอยท์ (point) ใช่ไหม

แต่ทีนี้ถ้าหากว่า เราเปลี่ยนมุมมองใหม่ เห็นว่าภาวะยุ่งๆนั้น มันไม่เท่าเดิมในแต่ละลมหายใจ ความรู้สึกมันจะต่างไปเป็นคนละเรื่อง นี่อย่างเมื่อสักครู่นี้ ก็นึกออกว่าความฟุ้งซ่านที่เป็นตัวปิดกั้นสมาธิ หน้าตามันเป็นอย่างไร
ถาม : เหม่อๆใช่ไหมครับ ความรู้สึกเหม่อๆ

ดังตฤณ:  ที่เห็นนี่ มันไม่ใช่เหม่อไง มันคิดแบบคิดมากน่ะ คิดแล้วไม่มีเรื่องที่แน่นอนที่คิดด้วยนะ เหมือนกับในหัวของเรานี่ มีหลายๆเรื่องปนกัน อย่างที่พี่บอกไง ว่าเราเป็นคนเก็บกดมาก เก็บกดแรง คิดแรง ตอนที่เก็บ แต่ทีนี้มันเก็บหลายเรื่อง มันทั้งในบ้านด้วย ทั้งที่ทำงานด้วย บางทีเรื่องแฟนเรื่องอะไร มันทุกอย่าง พอเรารู้สึกเจ็บปวดหรือรู้สึกว่าน้อยใจ อารมณ์น้อยใจน่ะ ที่มันเก็บอัดแล้วก็รู้สึกว่ามืดนี่ ตัวนี้แหละ พอมาทำสมาธินะ มันปรากฏเหมือนกับมันแย่งกันเข้ามา มันชิงกันเข้ามาอยู่ในหัวเรา

 ทีนี้เนื่องจากว่าเราฝังแรงหลายเรื่อง มันแยกไม่ถูก คือในหัวมันเหมือนจะมีเรื่องชัดๆ เพราะมันฟุ้ง ฟุ้งมากไง ดูเหมือนคนกำลังฟุ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ชัดๆ แต่ถามตัวเอง มันเหมือนกับแวบเปลี่ยนเรื่องไปเร็วมาก รู้สึกไหม ตอนนั่งสมาธิอยู่ มันเหมือนกับมีคลื่นรบกวน มันเหมือนกับรู้แล้วว่าฟุ้งซ่าน และรู้ด้วยว่า บางทีนี่ ฟุ้งซ่านเรื่องอะไร แต่เรื่องนั้นนี่มันไม่ชัดเจนอยู่นาน สักพักหนึ่งมันจะมีเรื่องอื่นมาแทรก นี่แหละเป็นอาการของคนที่เก็บ เก็บทุกเรื่องด้วยน้ำหนักเท่ากัน คือมันไม่ได้แยกไง ว่านี่เจ็บเรื่องนี้มาก เจ็บเรื่องนั้นน้อย มันเจ็บทุกเรื่องและเก็บอัดทุกเรื่อง เข้าใจประเด็นใช่ไหม

นี่อย่างตอนนี้ที่รู้สึกโล่ง เพราะมันเหมือนกับมองเห็นไง ว่าภาพความฟุ้งซ่านนี่มันเป็นความสับสน มันเป็นอาการชิง ชิงกันของความฟุ้งซ่านหลายๆเรื่อง มันเลยโปร่ง เพราะเห็น ทีนี้เวลาเรานั่งสมาธิแล้วสามารถรู้สึกได้ว่า เออนี่ ลมหายใจนี้ฟุ้งมากฟุ้งน้อย เห็นความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่านได้ มันจะเริ่มรู้ว่าแต่ละเรื่องที่เข้ามานี่ จริงๆแล้วมันไม่ได้มีค่าจริง แต่ตอนที่เราฟุ้งนี่ เราจะยังรู้สึกอยู่ไงว่าแต่ละเรื่องนี่มีค่าจริง เข้าใจที่พี่พูดไหม ชัดเจนนะ

ถาม : แล้วบางทีมันจะมีเหมือนอาการแบบ เหมือนผงะน่ะครับ ด้วยรู้แล้วแบบเด้งๆ

ดังตฤณ:  อาการ ผงะ ใช่ไหม เป็นอาการของการที่ว่า... นี่ปมของเรามันอยู่ตรงนี้ไง คือจิตนี่มันอัดแน่นอยู่ด้วยความยึด ยึดแรงเวลาที่เจ็บ เสร็จแล้วพอมานั่งสมาธิ แรงยึดต่างๆเหล่านั้น บางทีมันดีดผึงออกมาเฉยๆ ตอนที่จิตมันพยายามจะเป็นอิสระไง ตอนที่จิตมันพยายามจะรวมตัว ตอนที่จิตมันพยายามจะนิ่ง ตอนที่มันพยายามจะสบายขึ้นนะ มันดีดผึงออกมา ดีดออกมาด้วยอาการคำว่า ผงะ นี่ มาจากอาการที่มันมีความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่าง อย่างรุนแรง จากอัดแน่นเป็นคลายออก จากอาการที่มันยึดมั่นถือมั่น เป็นการพยายามที่จะคลาย เห็นความต่างใช่ไหม ตอนที่ผงะนี่ ลองทบทวนไป ใจมันเหมือนเกือบๆจะสบายอยู่แล้ว มันเหมือนๆ จะเริ่มเปิดกว้างแล้ว แต่มีอะไรสักอย่างหนึ่ง คือมาทำให้ตรงนั้นมันสะดุด มันชะงักไป นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงทางใจนั่นเอง คือใจนี่ มันยังไม่เปิดจริง มันยังไม่เหมาะสมที่จะผ่อนคลาย ที่จะวางได้จริง มันก็เลยแสดงอาการแบบนี้

 แต่ถ้าหากว่าในชีวิตประจำวัน เราเอาใหม่ เวลาที่เกิดความรู้สึกเก็บอัด เกิดความรู้สึกเหมือนหน้ามืดนี่ แล้วเรารู้สึกถึงภาวะตรงนั้นตามจริงเลย เหมือนกับที่พี่พูดไป แล้วเราสามารถรู้สึกตามได้นี่ มันก็จะคลายออก ณ จุดเกิดเหตุเลย คือไม่ใช่เก็บอัดแล้วฝังแน่นอยู่ ฝังอยู่เงียบๆ

ดังนั้น การทำสมาธิก็ดี การเจริญสติก็ดี มันจะแตกต่างไป พูดง่ายๆนะ เอาแค่จุดเดียว จุดที่เราจะเกิดความเก็บอัดเข้ามานี่ รู้สึกถึงมันได้ยิ่งบ่อยเท่าไหร่ ตรงนั้นน่ะมันจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเราได้เลยนะ

 ถาม : จะถามว่าที่ผมปฏิบัติในรูปแบบ เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือว่าสวดมนต์บ้างอย่างนี้มันถูกไหมครับ

 ดังตฤณ:  ตัวนี้แหละถึงบอกไง คือตราบใดที่ยังมีอาการเก็บอัดอยู่นี่นะ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมนี่มันไม่สุด อย่างตอนเดินจงกรมนี่ อย่าเดินก้มหน้า เพราะเดินก้มหน้ามันจะเป็นอาการ เดินแบบคนคิดมาก ลองทบทวนดูนะ เจตนาของเราจะเดินจงกรมนะ แต่โดยอาการทางใจนี่ เหมือนเดินไปแล้วก้มหน้าคิดไป มันไม่ใช่มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว เวลาเดินนี่เดินเร็วนิดนึง อย่าเดินช้า เดินเงยหน้าสบายๆ อย่าเดินด้วยอาการก้มหน้า แบบคนคิดมาก และเดินไปนี่รู้สึกถึงเท้ากระทบเอา เพราะเท้ากระทบนี่มันเป็นของจริง ไม่ใช่ของที่คิดเอา ความรู้สึกที่กระทบๆ นี่ไม่ใช่จินตนาการ และก็ไม่ใช่ไปเพ่งไปฝืนว่าจะเอาเท้ากระทบชัด หรือว่าไม่ชัดอะไรแบบนี้นะ มันกระทบแค่ไหน ส่งความรู้สึกมาแค่ไหน เราก็รู้สึกตามจริงอยู่แค่นั้น เหมือนกับที่เห็นลมหายใจนี่ เดี๋ยวมันก็เข้าเดี๋ยวมันก็ออก เราไม่ต้องไปมีจินตนาการเอา มันเห็นเอานะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น