วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ติดบันเทิงดูหนังฟังเพลง อยากตั้งใจภาวนา

ถาม ชอบดูหนังฟังเพลง จะดึงตัวเองให้กลับมาตั้งใจภาวนาอย่างไร?
รับฟังทางยูทูบhttps://youtu.be/PiRTtP0dQmE
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
๓๐สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
เราเป็นคนที่ชอบความบันเทิง ใจจะชอบคิดถึงความบันเทิง จะเสียงเพลงจะอะไรก็แล้วแต่ที่เราเคยชินอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของฆราวาสเรา แต่ลองสังเกตถึงอาการปล่อยจิตปล่อยใจ มันจะไม่เท่ากันในแต่ละวัน บางทีปล่อยเตลิดไปจนกระทั่งเหมือนจิตมีอาการฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ เข้าใจใช่ไหม แต่บางทีมันรู้สึกว่าบันเทิงพอหอมปากหอมคอ แล้วเรากลับมาเจริญสติใหม่ได้  คือความแตกต่างกันที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง คือถ้าอะไรมันเกิน ถ้าอะไรมันเลอะเทอะ เลื่อนลอยไปแล้ว มันเหมือนกับคิดแบบคนในโลกที่มันไม่มีขีดจำกัด ไม่บันยะบันยัง นั่นแสดงว่าหลุดออกนอกทาง เยอะเกิน คือมันตามใจตนเอง ของเราเป็นคนชอบตามใจตัวเองในทางบันเทิง


แต่ลองสังเกตช่วงไหนมีความใส่ใจในการเจริญสติ มันจะเหมือนมีตัวเบรก (Break – หยุด) มันจะเหมือนมีตัวบันยะบันยัง ว่าเอ ตรงนี้เพลินมากเกินไปแล้วนะ มันจะรู้สึกผิดขึ้นมา จะเหมือนไม่ได้ทำหน้าที่ให้มันดี ให้มันถูก ให้มันครบ ตัวนี้จะตะล่อมให้เรากลับเข้าทาง มาเจริญสติ มาเดินจงกรม เราก็สังเกตนี่แหละ อันนี้เฉพาะตัวเลยนะ ถ้าจะสังเกตง่ายๆก็คือ อาการไม่บันยะบันยัง จิตจะพร่าเลือน มันจะออกแนวแบบเพ้อเจ้อ เพ้อพกไป อะไรมาดึง เราก็ไปตามนั้น

ฉะนั้นบางที คือเรารู้อยู่นะ อะไรที่เกินๆ ถ้าหากว่าไม่เบรกมัน เราจะโดนฉุดไปเรื่อย คือมันเหมือนกับบอกตัวเอง เดี๋ยวเรากลับมาใหม่ เดี๋ยวค่อยกลับมาใหม่ เดี๋ยวค่อยเอาใหม่ ... มันไม่จริงนะ มันเอาใหม่ไม่ได้เสมอไป เพราะบางทีถ้าไปสร้างความเคยชินไว้แล้ว ว่าตามใจตัวเองก็ได้ ในที่สุดจะเจอตัวเองหลงอยู่ในทะเลทราย หาทางกลับไม่เจอ
คือต้องมีความใส่ใจ เพราะของเรานี่ตั้งใจเบรกไม่ได้นะ ใจมันไม่ยอมเชื่อนะ คือพอหยุดตัวเองบ่อยๆ เดี๋ยวมันหลุดเลย บอกไม่เอาแล้ว ชอบตามใจตัวเอง 

ทีนี้ถ้าหากว่าเราเพิ่มความใส่ใจ เพิ่มฉันทะในการเจริญสติ ในการฟังธรรม ในการไปอยู่กับบุญกุศล เอาตรงนั้นดีกว่า เพราะบางทีขาดกำลังใจ ขาดกำลังความสว่าง แล้วก็เลยหันไปหาความเคยชินแบบเดิมๆ ถ้าเราเหมือนเอาขนมหวานมาล่อ ขนมหวานในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นขนมหวานที่ไม่ใช่ช็อคโกแลต แต่มีหวานเคลือบขม คือจะต้องทวนกระแส

ถ้าหากว่าเราหาจุดที่มันเป็นตัวสร้างฉันทะได้ อะไรก็แล้วแต่ในทางธรรม อย่างสวดมนต์ บางทีเราก็ยังไม่ได้สวดแบบที่สวดแล้วมีความสุข คือเราสวดเป็นหน้าที่ ลองดูอาการของใจตัวเองนะ เวลาสวด คือถ้าสวดให้บ่อยขึ้น หมายถึงว่าสวดมากรอบมากขึ้น ใช้วิธีนี้เลย สวดตั้งใจสักสามจบ รอบแรก ดู ดูเฉยๆว่ามีความสุขหรือไม่มีความสุข มีความฟุ้งซ่าน หรือไม่มีความฟุ้งซ่าน ดูเฉยๆนะ เสร็จแล้วรอบที่สอง เปรียบเทียบดู ของเราขึ้นรอบที่สอง น่าจะดูดีขึ้นแล้ว รอบที่สาม มันแย่ลง คือยอมรับความจริงว่า ภาวะจิตของแต่ละรอบ แตกต่างกันอย่างไร เอาแค่นั้น

ไม่นานเราจะรู้สึกว่าตรงนี้จะเป็นขนมล่อได้ คือพอนึกถึงการสวดมนต์ จะนึกถึงความสุขอันเกิดจากการเห็นความไม่เที่ยงของจิต แต่เดิมมันมาด้วยความรู้สึกว่าต้องทำ แล้วมันสวดแล้วฟุ้งๆ มันฝืนๆ คือ ถ้ารอบแรกสวดแล้วฟุ้งๆฝืนๆ ก็ยอมรับไป ว่ามันฟุ้งๆ ฝืนๆ พอรอบสองมันจะรู้สึกสบายขึ้น ก็บอกตัวเองว่า มันฟุ้งน้อยลง รอบสาม ถ้าหากว่ามันสบายขึ้นหรือกระทั่งมีปีติเลย ก็ให้เปรียบเทียบ อย่าดีใจ เปรียบเทียบไปว่ามันดีกว่าสองรอบแรก แล้วถ้าหากว่ามันมีแก่ใจจะเอารอบสี่ต่อ ก็ดูไป ค่อยเอาใหม่เป็นรอบสี่ แต่ถ้าไม่มีแก่ใจ ก็หยุดก็ได้ มันจะได้ไม่ฝืน ทำไปด้วยความรู้สึกว่า สุดท้ายแล้วลงเอยด้วยความสุข


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น