วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อานาปานสติที่ถูกวิธี ไม่ใช่เห็นแต่ลมหายใจอย่างเดียว

ถาม : คือยังเกร็งๆ บ้างค่ะ  

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/elFY_7SLDCA
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๐
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
คือที่มันเกร็งๆ มันเป็นอาการตกค้างที่เคยชินมา แต่เมื่อกี้เข้าใจแล้วล่ะ เพราะเมื่อกี้น้องก็ พอสำรวจเท้าสำรวจมืออะไรเนี่ย เราก็รู้สึกสบาย แต่พอเริ่มหายใจมันจะยังรู้สึกสับสนอยู่นิดๆ คือ มันจะมีอาการเหมือนกับฝืนๆ อยู่หน่อยๆ นั่นเพราะว่าเราไม่แน่ใจว่าหายใจยังไงมันถึงจะถูกต้องนะครับ คือการหายใจของเรายังไม่เกื้อกูลกับอานาปานสติ เป็นการหายใจแบบคนธรรมดา บางทีหายใจสั้นเป็นส่วนใหญ่

ทีนี้ถ้าหากว่าน้องค่อยๆ ไปฝึกอย่างที่พี่ไกด์ (guide) ไปเมื่อกี้นี้นะครับ ถ้าจำไม่ได้ว่าเมื่อกี้ผมไกด์ไปว่าไง ก็เข้าไปที่ soundcloud.com/dungtrin นะ ก็จะมีเสียงไกด์ (guide) แบบเมื่อครู่นี้แหละ และก็ถ้าหากว่าเราเปิดไปด้วย แล้วก็ทำตามไปด้วยนะครับ มันจะค่อยๆ เข้าใจ แต่ระยะแรกๆเนี่ย มันต้องทำบ่อยหน่อย จนกระทั่งเกิดความเคยชินที่จะหายใจในแบบไม่บังคับ ในแบบที่มันเป็นธรรมชาติ อย่างพอร่างกายมันสบายอยู่อย่างเนี้ย เห็นมั้ยคือ เวลาหายใจมันจะรู้สึกสบาย แต่พอน้องตั้งใจขึ้นมาแม้แต่นิดเดียวเนี่ย มันจะรู้สึกทันทีว่า ไปหายใจแบบด้วยความเคยชินเดิมน่ะ มันมีความรู้สึกเกร็งๆ ฝืนๆ ขึ้นมาหน่อยนึง

พอเกร็งๆ ฝืนๆ ขึ้นมาหน่อยนึงนะครับ วิธีง่ายๆเลย ถ้ายังรู้สึกอย่างนี้อยู่ ให้กลับไปสำรวจใหม่ ไล่ขึ้นมาฝ่าเท้าเนี่ยมันจะเกร็งทันทีนะ ลองสังเกตดู พอเรารู้สึกฝืนกับลมหายใจ หรือมือเนี่ย มันจะกำขึ้นมานิดๆ คือ มันไม่ได้กำแบบกำแน่น แต่ว่ามีอาการเกร็ง มันจะไม่มีอาการผ่อนพัก เหมือนกับตอนที่เราสำรวจตอนแรกนะครับ

คือ ของเรามันอยู่กับตรงนี้แหละ วิจิกิจฉาเนี่ย คือ ความไม่แน่ใจนะ มันไม่แน่ใจอย่างนั้น ไม่แน่ใจอย่างนี้ คือ มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการภาวนา มันหลายๆเรื่อง ที่เราปล่อยให้ใจมันปักอยู่กับความรู้สึกไม่แน่ใจนะครับ อย่างในชีวิตประจำวันเนี่ย ถ้าเรื่องไหนที่เรารู้ชัดๆ รู้ดีแล้วเนี่ยมันก็จะไม่สงสัย แต่เรื่องไหนที่เรายังไม่รู้แล้วอยากรู้ ลองสังเกตนะ มันจะวนเวียนอยู่ในหัว เหมือนกับเราลืมไม่ได้ มันจะไม่หยุด มันจะไม่หยุดคิด มันจะไม่พอใจ ถ้าหากว่าไม่ได้รู้ชัดๆ แล้วความไม่พอใจที่เราไม่สามารถรู้ได้ชัดๆเนี่ย มันกลายเป็นของที่ทำให้จิตมันฟุ้งซ่านไป มันเหมือนกับมีอาการปั่นป่วนน่ะ เหมือนมีอาการที่ว่าแตกต่างกับตอนที่เรารู้ชัด แล้วก็รู้สึกว่าอิ่มใจว่าเรารู้จริง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทางธรรมนะ เรื่องทางโลกด้วย เรื่องการทำงาน เรื่องคน อย่างเวลาเราสงสัย เอ๊ะ ตกลงเค้าดีหรือไม่ดีกันแน่เนี่ย มันจะวนเวียนอยู่ในหัวอยากหาคำตอบ แล้วก็หยุดไม่ได้ มันจะไม่สบายใจถ้าไม่รู้จริง

ลักษณะนิสัยแบบนี้นะ พอมาพยายามเจริญสติ มันกลายเป็นความรู้สึกไม่ไว้ใจวิธีที่เราทำอยู่ ไม่ไว้ใจว่าตรงนี้เนี่ยถูกหรือผิด มันจะคอยจ้อง จ้องเอาถูกเอาผิด แล้วอาการจ้องเอาถูกเอาผิดนั้นน่ะ มันทำให้เกิดความฟุ้งซ่านไม่รู้จบ คือยิ่งปฏิบัติยิ่งฟุ้งซ่าน นี่ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า วิจิกิจฉา หรือความลังเลสงสัยเนี่ย เป็นนิวรณ์  คำว่านิวรณ์ ก็คือเครื่องขวางไม่ให้สติมันเจริญขึ้นได้นั่นเอง

อย่างเมื่อกี้เนี้ย สำรวจมือสำรวจเท้ามันง่าย พอเรารู้สึกผ่อนคลาย มัน เอ้อสบาย แต่พอพี่เริ่มบอกให้หายใจปุ๊บเนี่ย มันเกิดความสงสัยขึ้นมาทันที ที่เกร็งที่ฝืน อาการฝืนนั้นน่ะ เรารู้อยู่ว่ามันไม่สบาย  และในอาการไม่สบายเนี่ย เราไม่รู้จะทำอย่างไรให้มันหาย ให้มันสบายขึ้น ตัวความสงสัยพอมันก่อตัวปุ๊บ ไปบวกกับนิสัยเก่าของเราที่มันจะเอาถูกเอาผิด มันก็วนเวียน และไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ว่าจะเอาคำตอบจากตัวเองตรงไหน

นี่พี่ถึงบอกว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้นะ ทุกครั้งที่เราหายใจแล้วรู้สึกอึดอัด รู้สึกฝืนๆขึ้นมา ของเราเนี่ยจะเริ่มต้นมาจากตรงนี้ แล้วมันจะค่อยๆลามขึ้นไปเป็นความฟุ้งซ่าน ลองสังเกตดู ก็ให้กลับมานับหนึ่งใหม่เลยนะครับ เริ่มต้นจากดูเท้าสบาย มือสบาย ใบหน้าผ่อนคลาย มันจะเหมือนหายไป จากนั้นก็หายใจใหม่ มันจะต้องมีสักครั้งนึงที่ลองผิดลองถูกแล้วรู้สึกว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เองหายใจสบายๆ ก็คือหายใจตามปกติอย่างที่เราหายใจแล้วไม่เคยรู้สึกอึดอัดมาทั้งชีวิต แต่พอมาตั้งใจดูลมหายใจ อึดอัดทันที เนี่ย มันผิดตรงที่ตั้งใจมากเกินไปนั่นเอง แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าความตั้งใจมากเกินไปเนี่ย มันเป็นอาการเดียวกับความทะยานอยาก หรือที่เรียกว่า ภวตัณหา พอเราเห็นตัวภวตัณหาผ่านอาการพยายามมากเกินไป เราก็จะรู้สึกว่าอาการพยายามมากเกินไปนั้นเนี่ย มันก็คลายตัวให้ดูได้

ทุกครั้งที่เราสามารถเห็นตามจริง ยอมรับตามจริงว่าเกิดอาการพยายาม เกิดอาการฝืนขึ้นมา นี่อย่างเรานั่งทำไปด้วย นั่งดูไปด้วย มันเหมือนบางครั้งมันก็ยังฝืนๆอยู่นิดๆ บางครั้งมันก็รู้สึก เออ สบาย ต้องจับจุดให้ถูกว่าตรงไหนที่มันเป็นธรรมชาติจริงๆ ตรงไหนที่มันเกิดความรู้สึกพยายาม พยายามจะเอาให้ดี พยายามจะเอาให้ได้ เนี่ยตอนนี้คลาย ลักษณะที่คลายออกเนี่ย เราเห็นอาการคลายของใจเนี่ย แล้วหายใจสบายๆ ตามมา มันก็จะเริ่มหายสงสัย การหายสงสัยในที่นี้ ไม่ใช่คำตอบจากพี่ แต่เป็นคำตอบจากธรรมชาติในตัวเราเอง ที่รู้สึกว่า อ้อ พอกายมันไม่เกร็ง พอใจมันไม่อยาก ลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกเนี่ย เหมือนกับที่เคยผ่านมาทั้งชีวิตนั่นแหละ เราแค่เป็นผู้สังเกตเห็น แต่การเป็นผู้สังเกตเห็น ไม่ใช่สังเกตแค่ครั้งเดียว มันสังเกตไปเรื่อยๆ ครั้งนี้ ครั้งหน้า ครั้งต่อๆ ไป เรายังมีความพอใจที่จะสังเกตอยู่ อาการพอใจที่จะสังเกตไปเรื่อยๆ นั่นแหละที่จะทำให้เกิดสมาธิ

คำว่าสมาธิคืออะไร อาการของใจอาการของจิตเนี่ยมันจะอยู่ในสภาพรู้ สภาพเห็น มีความคงเส้นคงวา และความคงเส้นคงวานั้น ทำให้เกิดอะไรขึ้น ทำให้รู้สึกว่าลมหายใจเนี่ย มันผ่านเข้าผ่านออก เหมือนกับธาตุลมที่พัดเข้าพัดออก พัดเข้าพัดออกจริงๆ อาการของลมที่พัดเข้าพัดออกพัดเข้าพัดออกเนี่ย มันไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย มันกำลังแสดงความไม่เที่ยง และกำลังฟ้องเราว่าที่นึก ที่ยึด ที่หลงมาตั้งน้านนานเนี่ย ว่าลมหายใจเป็นลมหายใจของเรา ลมหายใจของฉัน ลมหายใจของเธอ มันไม่ใช่เลย มันเป็นแค่ธาตุลม ตัวนี้แหละที่เราต้องการในการฝึกอานาปานสติ ตอนที่จิตมันตั้งอยู่ในสัมมาสมาธิ ก็คือ ตอนที่มีความคงเส้นคงวา รู้อยู่เห็นอยู่ว่าลมหายใจไม่เที่ยงนั่นเองน่ะ

ตัวนั้นแหละ ที่พี่พยายามบอก ว่าเวลาที่เราเกิดความไม่รู้ชัดขึ้นมาเนี่ย เราจะมีความทุรนทุรายอยู่ข้างในอยากจะรู้ให้ชัด ทีนี้พอมีความทุรนทุรายอยากจะรู้ให้ชัด คือ บางทีมันมาในลักษณะที่ว่าอยากแบบอ่อนๆ แต่จริงๆ เนี่ยอยากแบบอ่อนๆ นี่นะ ถ้าหากว่ามีความต่อเนื่องทุกวันเนี่ย มันกลาย ที่แท้มันกลายเป็นภวตัณหา ที่แท้มันกลายเป็นสิ่งครอบงำจิตเรา ให้อยากเห็น อยากรู้ เพื่อตัวเราจะได้ก้าวหน้า

แต่ทีนี้ถ้าเราเริ่มสังเกตเห็นว่า สภาวะของใจที่เห็นบ้างไม่เห็นบ้างเนี่ย มันเป็นธรรมชาติของจิตที่โฟกัสได้บ้าง โฟกัสไม่ได้บ้าง ไม่ใช่เรื่องของเรา มันจะเริ่มเห็นจิตเนี่ย ไม่แตกต่างจากลมหายใจ ไม่แตกต่างจากธาตุลม บางทีเข้ามาบ้าง ออกมาบ้าง บางทีเห็นบ้าง บางทีไม่เห็นบ้าง อาการของสติอาการของใจเนี่ย มันก็ปนๆ อยู่ด้วยกันนั่นเอง คือ เราจะไม่แคร์ว่าจะเห็นชัดหรือไม่ชัด แต่เราจะแคร์ว่าเรารู้หรือไม่รู้ว่าตอนนั้นเนี่ย มันมีสติอยู่หรือเปล่า มันอยู่ในโฟกัสที่ดี หรือโฟกัสที่เบลอๆ เพราะว่าการแคร์ที่จะเห็นแค่ความไม่เที่ยงของสติเนี่ยนะ มันจะนำไปสู่คุณภาพในการรับรู้ที่แท้จริง

คุณภาพในการรับรู้ที่แท้จริง คือไม่มีความอยากเข้ามาปนเปื้อน และพอไม่มีความอยากเข้ามาปนเปื้อน ไม่มีความลังเลสงสัยเข้ามากลั้วอยู่เรื่อยๆ ในที่สุด ภวตัณหามันหลุดไป ภวตัณหาในแง่ที่เราอยากจะเป็นคนรู้ชัดมันหายไป พอไม่มีตัวผู้อยาก ว่าฉันจะต้องเป็นผู้รับรู้ให้ชัด มันจะมีสภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมดา คือ เห็นชัดบ้าง เห็นแบบเบลอๆ บ้าง แล้วมันจะมีตัวตระหนัก คือ ปัญญานั่นเอง ตัวปัญญามันจะเกิดขึ้นว่า เออ นี่เองที่เค้าเรียกว่าอนัตตา อันนี้เองที่เรียกว่าตัวความไม่แน่ไม่นอน และนี่เองที่พระพุทธเจ้าบอกว่า มันไม่มีตัวตน

ตอนแรกๆ เนี่ย เราต้องสมมุติเรียกไปก่อนว่า จิตที่มันเห็น สติที่มันเห็นเนี่ย เป็นผู้รู้ เหมือนกับว่ามีเราเป็นผู้รู้อยู่ แต่พอเห็นไปจริงๆ เห็นไปเรื่อยๆ เราจะทราบว่าสิ่งที่เรียกว่าผู้รู้นั้นน่ะ เป็นแค่จิตดวงนึง และจิตดวงนั้นเนี่ย มันไม่ได้มีหน้าตา มันไม่ได้มีตัวตนของใคร

คืออย่างเมื่อกี้เนี้ย ตอนที่น้องรู้สึกถึงความว่างขึ้นมาเป็นวูบๆนะ ตอนที่ร่างกายผ่อนพัก ตอนที่ร่างกายสบาย แล้วไม่มีอาการลังเลสงสัยเนี่ย ตอนนั้นมันจะไม่มีมโนภาพ ว่าเราเป็นผู้หญิง ไม่มีมโนภาพว่าเราหน้าตาเป็นยังไง ปกติเนี่ยนะ คนเราไม่เคยเห็นหน้าตัวเองหรอก แม้แต่เห็นในกระจกก็เห็นแบบกลับด้าน แต่กลับจะมีมโนภาพว่าเรามีหน้าตาแบบนั้นแบบนี้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา บอกว่าเป็นผู้ชายบอกว่าเป็นผู้หญิง อย่างการปรุงแต่งของเสียงเนี่ย จำได้ว่าเนี่ยเสียงของผู้ชาย เสียงแบบเรา มันก็เกิดการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ว่าเสียงแบบนี้ปะปนอยู่กับหน้าตา ตัวตน มือไม้แบบนี้ และเสร็จแล้วมันสรุปเอานะ ว่าหน้าตาตัวตนหรือสุ้มเสียงนี่ ดีหรือไม่ดี สวยไม่สวย บางวันเรารู้สึกแย่ บางวันเรารู้สึกดี หน้าตามันเปลี่ยนไป มโนภาพมันต่างไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนะ ถ้าบางวันเนี่ย คนมองมากๆ เรารู้สึกมโนภาพข้างในเนี่ย มันบรรเจิดเลย แต่บางวันคนไม่เหลียวแลเลย เราก็จะรู้สึกห่อเหี่ยว ฟีบลงมา

เหมือนกับมโนภาพมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เราไม่สังเกตนะ คือ ไปเชื่อว่าสิ่งที่เป็นตัวเราเนี่ย คือรูปร่างหน้าตาที่มันมีความตายตัวแบบใดแบบหนึ่ง แต่ถ้าสังเกตจากมโนภาพภายในนั้น หน้าตาตัวตนของเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนจิตหดหู่มันรู้สึกว่าหน้าตาแย่ที่สุดเลย ใครจะชมว่าหล่อว่าสวยนะ ข้างในมันไม่ยอมรับ ข้างในมันรู้สึกเหมือนฝืนๆ มันอาจจะภูมิใจ มันอาจจะดีใจ แต่มันรู้สึกว่าไม่จริงอ่ะ ตรงกันข้าม ตลอดมาคนไม่ได้มองเรานะครับ รูปร่างหน้าตาอาจจะไม่ดี แต่ว่าวันไหนมีความรู้สึกบรรเจิดขึ้นมา รู้สึกสว่างรู้สึกมั่นอกมั่นใจในตัวเองขึ้นมา แล้วมันดึงดูดสายตาคนได้ เราก็รู้สึกเหมือนกับเราเนี่ยนะครับ คือ ไม่ใช่หล่อไม่ใช่สวย แต่มีความดึงดูด มีมโนภาพแบบนึงที่สามารถดึงดูดสายตาคนได้

เนี่ยตัวนี้ถ้าเราสังเกตนะว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกขึ้นมาว่า เออ สภาพความปรุงแต่งภายใน ที่แท้แล้วมันก็ไม่ต่างจากลมหายใจ คือ เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น เดี๋ยวมันก็สว่างเดี๋ยวมันก็มืดนะ จิตเนี่ย เห็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ เนี่ย ตัวความสงสัยมันจะหายไปนะครับ

แล้วเราจะรู้สึกเหมือนกับตอนที่เราไม่ได้พยายามทำอะไรเลยเนี่ย มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดอยู่แล้ว จิตแบบนี้เนี่ยคือ ตอนที่กำลังไม่พยายามทำอะไรเลย ให้ลองทำอะไรดู ลองทำอะไรสักกอย่าง เช่น รู้ลมหายใจก็ตาม หรือว่าจะรู้มามือเท้าให้มันมาอยู่กับเนื้อกับตัวนะครับ แล้วก็ตอนที่เราจะเห็นได้ชัดที่สุด ว่าความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นก็คือ การสังเกตว่าลมหายใจนี้ภาวะนึง มันเป็นอย่างนี้ อีกลมหายใจนึงภาวะนั้นมันแตกต่างไปแล้วหรือยัง

ยกตัวอย่างเช่น พอเรารู้สึกเหมือนกับเบาๆ สบายๆอยู่ แล้วมันเกิดความอึดอัดขึ้นมา ให้ดูว่าตอนเบาเนี่ย มันอยู่ลมหายใจไหน ตอนหนักมันอยู่ลมหายใจไหน เนี่ยเราจะเลิกรังเกียจความหนัก เลิกรังเกียจความรู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกฝืน แต่มันจะสนุกกับการดู ว่าลมหายใจนี้มันอึดอัด มันรู้สึกยื้อๆ รู้สึกฝืนๆ พออีกลมหายใจหนึ่งมันต่างระดับไป ตัวนี้นะครับ พอเห็นความไม่เที่ยงในแต่ละลมหายใจชัดขึ้นๆ คราวนี้จะหมดคำถามเลยว่า ดูยังไงถึงจะถูก


นี่คือหลักการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้นะ อานาปานสติเนี่ย คือไม่ใช่เอาแต่จ้องลมหายใจ เพื่อที่จะเห็นลมหายใจอย่างเดียว แต่อาศัยลมหายใจ อาศัยความคุ้นที่จะรู้สึกถึงลมหายใจ มาเป็นตัวตั้งในการสังเกตว่า ลมหายใจนี้ เรารู้สึกอย่างนึง ปรุงแต่งอย่างนึง อีกลมหายใจเรารู้สึกไปอีกอย่าง ปรุงแต่งไปอีกอย่าง ต่างระดับกัน นี่อยู่ในอานาปานสติ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน แต่คนส่วนใหญ่ พอพูดถึงอานาปานสติปุ๊บไปนึกถึงการจ้องลมหายใจ จ้องเอาๆ แล้วมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมาเลยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น