วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อย่าควานหาไตรลักษณ์ แต่ให้ฝึกเปรียบเทียบสภาวะ

ถาม : อยากจะมาเรียนถามอาจารย์สองข้อครับ ผมไปศึกษาเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร แล้วก็เหมือนกับว่าให้เน้นไปลงที่กายกับจิต ในการที่จะเอาสติไปตั้งไว้ เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่ามีความจำเป็นไหม ในการที่เราดูกายหรือจิตใจแต่ละครั้ง ต้องไปลงในไตรลักษณ์

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/Ejb24Pjx8_k
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๙
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส 
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
ไม่จำเป็น เพราะว่าการเห็น ไตรลักษณ์จริงๆแล้วเป็นผล คือตอนที่เราทำความเข้าใจเริ่มต้น เราต้องบอกว่า ฝึกเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้เห็นกายใจโดยความเป็นไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง มีความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่จริงๆไม่ใช่อยู่ๆเราไปตั้งหน้าตั้งตาดูให้เห็นความไม่เที่ยงว่า เอ๊ะ ตอนนี้มันกำลังแสดงความเปลี่ยนแปลงไป วินาทีนั้น วินาทีนี้ จากตอนที่ยังไม่ฟุ้งซ่านวินาทีนี้ เดี๋ยวอีกวินาทีหนึ่งเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมาแล้ว หรือเกิดความสุขขึ้นมาวินาทีนี้ อีกห้าวินาทีมันถึงจะค่อยๆจางไป มันไม่ใช่ในลักษณะอย่างนั้น มันไม่ได้เห็นรายละเอียดแบบนั้นได้ตั้งแต่ต้น สติของคนธรรมดามันไม่คม 

สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้ฝึกก็คือการเปรียบเทียบ ดูว่านี่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ดูว่านี่นะ ลักษณะอิริยาบถกำลังยืน เดิน นั่ง นอน แล้วค่อยๆสังเกตไปว่ามีอิริยาบถแยกย่อยตามมาอย่างไร นั่งอยู่เนี่ย บางทีก็หมุนคอ หรือไม่ก็เหลือบตา บางทีเราเกิดความรู้สึกสบายขึ้นมา ก็ให้รู้ว่าในขณะนั้นมีความสุข แล้วพอสบายขึ้นมาแป๊บๆ อยู่ๆคิดอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ถึงเรื่องเก่าๆ มันเกิดความอึดอัดขึ้นมาแทน อย่างนี้ก็เป็นการเปรียบเทียบ ว่าความสุขมันมีความสบาย มันมีความรู้สึกผ่อนคลาย พอมีความทุกข์ขึ้นมามันอึดอัด มันรู้สึกกระวนกระวาย 

พระพุทธเจ้าให้ดูอย่างนี้ก่อน เปรียบเทียบเป็นภาวะไปเรื่อยๆ  ไม่ใช่ให้เห็นว่ามันแสดงความไม่เที่ยงขึ้นมาตอนไหน

ประเด็นก็คือ เมื่อฝึกเปรียบเทียบไปเรื่อยๆ เดี๋ยวลมหายใจก็เข้า เดี๋ยวลมหายใจก็ออก เดี๋ยวมันก็มีความสุขเดี๋ยวมันก็มีความทุกข์ สติมันจะค่อยๆคมขึ้น ค่อยๆมีความสามารถยอมรับตามจริงมากขึ้น คุณภาพในการรับรู้มันจะค่อยๆทวีตัวขึ้นไป จนกระทั่งจิตมันกลายเป็นจิตใหญ่ พูดง่ายๆว่าจิตใหญ่กว่าอารมณ์ ความสามารถในการรับรู้ มันมีตั้งแต่ก่อนที่อารมณ์หนึ่งๆจะเริ่มต้นขึ้นมา เมื่ออารมณ์นั้นเริ่มต้น เราก็เห็นว่ามันเกิด พออารมณ์นั้นหายจางไป เราก็เห็นว่ามันดับ ไม่แตกต่างจากที่เราเห็นในสมาธิว่าลมหายใจมีเข้ามีออก มียาวมีสั้น

พูดสรุปก็คือว่า ไม่ใช่เราพยายามดูความไม่เที่ยง มันดูไม่ได้ สติของเราไม่มีใครคมพอในจุดเริ่มต้น แต่ให้ดูโดยความเป็นของต่าง ซึ่งทำกันได้ทุกคน อาศัยอานาปานสติเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวตั้งในการสังเกต

อย่างของน้องก็ทำอยู่นะ มันก็เปรียบเทียบอยู่แล้ว คือมันก็ดูลมหายใจว่า ตอนนี้หายใจเข้าหายใจออก อารมณ์เราเป็นยังไง นั่นน่ะถูกแล้ว คือมันเปรียบเทียบอยู่แล้วที่ทำอยู่ทุกวันนี้ว่า เอ๊ะ อารมณ์ตอนนี้มันหงุดหงิด มันอึดอัดนะ เพราะช่วงหลังๆมันจะไม่มาในรูปของความร้อน มันจะมาในรูปของความอึดอัดขัดเคือง ทีนี้พอเปรียบเทียบดู เออหายใจเข้าครั้งนี้มันอึดอัด อีกครั้งหนึ่ง เออ มันแตกต่างไป มันต้องค่อยๆเห็นไปอย่างนี้ อย่าไปกำหนดว่ามันจะต้องเห็นไปนานแค่ไหน แต่อย่างที่มันเกิดขึ้นคือช่วงหลังๆอารมณ์เย็นมันจะมากกว่าอารมณ์ร้อน คือเราจะรู้สึกได้ว่าเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เราจะสงบกายสงบใจมากขึ้นอย่างเป็นไปเอง คือไม่ใช่ไปฝืน ไม่ใช่ไปแกล้งตั้งท่าว่า นี่เราสงบ เรารักษาความสงบอยู่ แต่มันนึกอยากสงบขึ้นมาเอง เพียงแต่ว่าอาการร้อนรน หรือว่าอาการเร่งๆ มันผุดขึ้นมาเป็นครั้งๆ เราก็สามารถเปรียบเทียบโดยอาศัยลมหายใจเป็นข้อสังเกต ลมหายใจนี้เท่านี้ อีกลมหายใจหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ดูไปอย่างนี้เรื่อยๆนั่นแหละ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น