วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ขณะนั่งสมาธิ ดึงใจไม่ให้วอกแวกเสียจนอึดอัด

ถาม : อยากจะถามว่าที่ผ่านมานี่ทำถูกไหม พยายามจะทำแต่ไม่ทราบว่าถูกหรือผิดอย่างไร
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/8eakOAkccrU
ดังตฤณวิสัชนา ๒/๒๕๕๖ การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
คือ ตรงที่เรากังวลนั่นแหละ มันทำให้เกิดความพยายาม อย่างเมื่อกี้นี้เราก็พยายามให้มันดี เห็นไหมลักษณะความพยายามนี่  คือโอเค เราพยายามทำความเข้าใจก็จริงนะ แต่ตัวความพยายามนั่นแหละ บางทีมันมาบล็อกความเข้าใจไว้ คือเวลาฟังพี่พูดนี่ มันฟังได้แค่สักประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ มันอยู่กับความพยายามระวังไม่ให้จิตเราเนี่ยมันวอกแวก ไม่ให้ใจเรานี่มันออกนอกเส้นทาง ซึ่งของน้องนี่มันจะต้องพยายามอย่างนี้มานานแล้วล่ะ เพราะว่าเรารู้ตัวนะว่าใจของเรานี่มันตามใจตัวเองมานาน มันชอบตามใจตัวเอง แล้วก็ชอบให้คนอื่นตามใจเราด้วย มันก็เลยเหมือนกับ มีความรู้สึกว่าถ้าใจมันอยากแวบออกไปหรือใจมันอยากได้อะไรนี่ มันไปทันทีโดยที่เราห้ามมันไม่ได้ ทีนี้อย่างพอเรามาฝึกสมาธิเนี่ย โดยความเข้าใจก็คือว่า เราต้องพยายามไม่ให้ใจมันวอกแวกออกไป มันก็เลยเหมือนมีอาการยื้อ อย่างเมื่อกี้นี้ตอนเราฝึกเนี่ย เราจะรู้สึกถึงว่า ฟังพี่พูดไปด้วยเราก็ตั้งใจฟัง บางทีมันก็สบายๆ บางทีมันก็ เอ้ะ!เดี๋ยวต้องเรียกสติกลับมาอย่างนี้นะ ซึ่งอาการยื้อตรงนี้นี่ อย่างน้อยมันทำให้เรารู้สึกไม่มีความสุขแล้ว มันไม่ปลอดโปร่ง

ต่อไปนี่ พอมีอาการยื้อ ลองสังเกตดูมันมีความอึดอัดอยู่แค่ไหน ถ้าไม่สังเกตนี่เราจะปล่อยให้มันอึดอัด แต่ถ้าเราสังเกตนี่ มันจะเป็นแบบนี้ เห็นไหม ที่มีความรู้สึกมันคลายออกมาจากความอึดอัด อย่างนี้เราก็เป็นอยู่แล้วใช่ไหม เคยสังเกตไหม พอสังเกตความอึดอัดแล้วมันจะคลายออกไปได้ แต่บางทีมันลืม เพราะว่าพอทำอะไรอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอเราตั้งใจว่าจะทำสมาธิเนี่ย  ใจมันคิดถึงอาการของความสงบ ใจมันคิดถึงอาการของสติที่มันจะต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่แวบออกไปไหน

ทีนี้พอเราเอาใหม่นะ  พอน้องรู้ตัวว่าใจมันแวบออกไปแล้ว  ของน้องมันไม่ใช่แค่แวบ มันจะเป็นอาการอยากคิด อยากคิดเรื่องอื่น พอจะมองทบทวนไปแล้วนึกออกไหมว่าพี่พูดถึงอาการแบบไหน คือมันอยากคิดถึงเรื่องอื่น

ถาม : แล้วก็พยายามจะดึงกลับมา

ดังตฤณ: 
ทีนี้พอเราพยายามดึงนี่ อาการดึงตรงนั้นมันเหมือนกับก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ชอบ มันมีความฝืน มันมีความอึดอัด ถ้าเราไม่รู้สึกถึงอาการฝืน จะพยายามมาจับลมหายใจทันที มันจะกลายเป็นความรู้สึกว่า ฝืนตรงนั้นน่ะ มันก่อตัวพอกพูนมากขึ้นๆ แต่ถ้าเราสละเวลานิดหนึ่ง มาดูความฝืนนั้นน่ะ หน้าตามันเป็นอย่างไร มันจะรู้สึกเหมือนกับขืนๆ มันจะรู้สึกเหมือนกับเครียดๆ อยู่ข้างใน มันจะรู้สึกเหมือนมืดๆ อยู่หน่อยๆ อย่างนี้ ถ้าหากว่าเรามองเห็นลักษณะอาการของอาการฝืนนั้น ว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไรอยู่ในใจของเรา แค่นั้นมันจะคลายออกมา แล้วเราก็จะรู้สึกเหมือนทางเปิด ทางเปิดให้เรากลับเข้ามา เข้าลู่เข้าทางใหม่ ไม่อย่างนั้น มันจะถูกบล็อกไว้ เข้าใจพอยท์นะ

ถาม : แล้วบางครั้งเวลานั่งสมาธิ แล้วก็จะเผลอหลับอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ เป็นอย่างนี้ตลอด

ดังตฤณ: 
เป็นเพราะว่าเรายื้อไง คือพอยื้อแล้วมันเหนื่อย เข้าใจไหมอาการที่มันฝืนใจ เสร็จแล้วมันก็ทนอึดอัดแล้วบอกตัวเอง มันคล้ายๆสั่งตัวเอง ต้องนั่งนะ ต้องนิ่งนะ ต้องสงบนะ ต้องอยู่ในสมาธินะ ต้องรู้นะ เสร็จแล้วบางทีเราสั่งตัวเองนะ บอกเออ สักแต่รู้ไป สักแต่รู้ไป กลายเป็นท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เข้าใจอาการตัวเองไหม
 รู้ รู้ รู้ รู้ แต่มันอยู่ในอาการมืดๆน่ะ อยู่ในอาการบล็อกตัวเอง มันไม่ใช่อาการรู้จริงๆ ไม่ใช่อาการยอมรับ ลองบอกตัวเองนะ ยอมรับตามจริงไป เมื่อวานที่ฟังพี่พูดนะ เอาล่ะทีนี้ อันนี้คือตอบคำถามแล้วนะ

ถาม : แล้วแนวทางที่ทำมา ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่เด็กล่ะคะ

ดังตฤณ: 

คือ ของน้องเนี่ย อย่างที่พี่บอก พอยท์มันอยู่ตรงนี้ ว่าเราเนี่ยเคยตามใจตัวเองมามาก แล้วช่วงนี้มันอยู่ในช่วงกลับเนื้อกลับตัวนะ คือพยายามที่จะฝืน พยายามที่จะ พยายามน่ะ เข้าใจคำว่าพยายามใช่ไหม ทีนี้มันมากเกินไป เพราะว่าเราเนี่ยมาทางนี้ต้องการความสบายใจ เพราะมันอึดอัดใจมาเยอะแล้วนะ ทีนี้พอมาฝืนใจตัวเองนี่ มันก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับจะต้องออกแรง แล้วบางทีมันเหนื่อย แล้วก็บอกตัวเองว่ามันไม่ซัคเซส(success) สักทีอะไรอย่างนี้นะ ก็เลยกลายเป็นบางทีเนี่ย เหมือนเราก็รู้สึกว่าตัวเองมีสติดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถห้ามใจตัวเองได้มากกว่าแต่ก่อน แต่ว่ามันก็ยังไม่หายอึดอัดสักที ก็เพราะตรงนี้แหละ พี่ก็เลยชี้พอยท์ ที่มันเป็นคีย์จริงๆ  สำหรับการภาวนาของเราเนี่ยนะ แต่ว่าตัวสติเนี่ยขอให้ดูด้วยว่าพอเรารู้สึกว่ามีสติอยู่เนี่ย มันเหนื่อยมันหนักไหม ถ้าหากว่ามันเหนื่อยหรือว่ามันหนักอยู่ สังเกตว่าความเหนื่อย หรือความหนักนี่ มันเป็นเพียงส่วนเกินที่เกิดขึ้นมาที่ก่อตัวขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง ที่เราอยู่ในอาการพยายามน่ะ ตรงนี้ท่องไว้เป็นคีย์เวิร์ด(keyword) เลย คือไม่ใช่ว่า พี่บอกว่าต่อไปอย่าพยายามอีกเลยนะ ไม่ใช่นะ คือพยายามมันมี ๒ ระดับ ระดับที่ตั้งหน้าตั้งตาทำแล้วรู้สึกเหนื่อย กับพยายามในแบบที่ว่า คอยระวังสังเกตไม่ให้จิตนี่มันเลื่อนไหลเพ้อเจ้อเกินไป การสังเกตเนี่ยมันออกแรงแค่นิดเดียว ณ จุดที่มันเกิดเหตุ พอเราสังเกตแล้วเห็น มันก็จะรู้สึกถึงลักษณะ อย่างตอนนี้ที่บางทีเรายังกลับไปพยายาม ใช้ความพยายามอยู่ แล้วเราสังเกตเห็นว่าหน้าตาความพยายามเนี่ยมันเหมือนกับทุ่มไป หนักเกินไป แบบขี่ช้างจับตั๊กแตนอะไรแบบนั้นน่ะ มันก็จะเกิดอาการคลายขึ้นมา ลักษณะของความคลายนี่แหละมันจะเป็นสภาวะที่มาให้เปรียบเทียบ มาให้ดูว่ามันแตกต่างกันกับความพยายามอย่างไรนะ ตรงนี้มันก็จะเข้าลู่เข้าทางชัดเจนขึ้น น้องจะรู้สึกว่าเหนื่อยน้อยลง สว่างมากขึ้น ที่บางทีมืดเนี่ย มันไม่ใช่มืดเพราะว่าเรามีจิตอกุศล แต่มืดเพราะว่าจิตเราปิด อย่างถามง่ายๆ เลยคือถามตัวเองง่ายๆ เลย จากตอนที่พี่บอกว่าเราพยายาม เรารู้สึกเหมือนมัวๆ หม่นๆ เนี่ย แล้วพอเราเห็นความพยายามใจมันเปิด ใจมันเผยออกมาเนี่ย เราจะรู้สึกสว่างขึ้น คือไม่ใช่สว่างแบบแสงนีออน แต่ว่ามันมีความรู้สึกสบายโปร่งโล่งมากขึ้น เหมือนออกที่โล่ง เหมือนออกที่สว่าง นั่นแหละเป็นจุดเปรียบเทียบได้ว่า ลักษณะของจิตที่มันแตกต่างกันระหว่างมืดกับสว่าง ระหว่างพยายามมากเกินไปกับสังเกตพอดีๆ มันเป็นอย่างไรนะ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น