ดังตฤณ : อันนี้เราต้องพูดตามตำรานะครับ พูดแบบสันนิษฐานไม่ได้
คือพระโสดาบันเนี่ย คุณสมบัติอย่างหนึ่งก็คือท่านเคยเห็นนิพพานแล้ว อย่างเช่นชาติที่แล้วเคยเป็นพระโสดาบันมาก่อน ก็หมายความว่าเห็นนิพพานมาแล้ว แล้วจิตเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงแล้ว ไม่เอาอบายแล้ว อะไรก็แล้วแต่ที่จะเป็นเส้นทางกรรมไปสู่อบาย ท่านไม่เอาแล้ว คือไม่เอาออกมาจากในมุ้งนะครับ ไม่ใช่มีใครมาบอกว่าเรื่องการละเมิดศีลห้าไม่ดีแล้วค่อยไปเชื่อเขา อันนี้ไม่ใช่นะครับ ท่านไม่เอาออกมาจากข้างใน เพราะมีความรู้สึกว่าเป็นของต่ำจะพาตกต่ำ มันมีอะไรอีกอย่างหนึ่งที่เห็นแล้วว่ามันพ้นไปจากโลกหยาบๆแบบนี้ ความรู้สึกแบบนั้นก็จะติดตัวท่าน คือถ้าไม่ใช่ความรู้สึกติดตัวเนี่ย พระพุทธเจ้าไม่กล้ารับประกันนะครับว่าปิดอบายได้
คำว่า ปิดอบายได้ หมายความว่า เกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก จะไม่มีทางที่จะอยู่บนเส้นทางสีดำ จะต้องอยู่บนเส้นทางกรรมสีขาวเท่านั้น คืออย่างเรื่องศีลมันจะต้องมีเป็นอัตโนมัติของตัวเอง
ทีนี้พระโสดาบันเกิดใหม่แล้วจะระลึกได้ว่าท่านเป็นอริยเจ้า อริยบุคคลเนี่ย ไม่ใช่เห็นนิมิตตัวเองเป็นเทวดา หรือว่าไม่ใช่มารู้สึกว่า ข้านี่อยู่เหนือโลก ไม่ใช่เลยนะครับ ตรงกันข้ามเลยนะ คือพระโสดาบันเป็นผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร ไม่ได้มีอะไรเหนือใครเขา เป็นอนัตตาธาตุ เป็นของไม่มีตัวไม่มีตนเหมือนกับคนอื่นนั่นเอง
ความรู้สึกนี้ต่างหากที่มันจะต้องติดตัวไป ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ความรู้สึกว่ากูเป็นเทพนะครับ ไอ้ความรู้สึกว่ากูเป็นเทพเนี่ย มันคือมนุษย์ มนุษย์กิเลสหนาทั่วไปนั่นแหละ บางคนเนี่ยไม่มีอะไรดีเลย ไม่ได้ทำดีอะไรเลย ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเทพได้ นี่คืออัตตาดิบๆแบบมนุษย์
แต่ถ้ามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นอะไรเลย เราไม่ได้มีอะไรที่ดีไปกว่าใคร เราก็เป็นแค่สภาพที่มันต้องเน่าเปื่อยผุพังแบบคนอื่น แล้วก็เป็นแค่สภาพทางจิตชั่วคราว เดี๋ยวมันก็สว่าง เดี๋ยวมันก็มืด เดี๋ยวมันก็ถูกครอบงำด้วยราคะ ถูกครอบงำด้วยโทสะ ถูกครอบงำด้วยโมหะ เนี่ยลักษณะจิตแบบนี้ต่างหาก ที่เป็นลักษณะจิตประจำตัวของพระโสดาบันที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มาเฝ้าบอกตัวเองว่า ฉันเป็นโสดาบัน แต่ขอให้มีจิตที่เข้าข่ายที่รู้สึกว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นสักแต่ว่ามีความเป็นธาตุ ๔ มีความเป็นขันธ์ ๕ มีความเป็นอายตนะ ๖ แค่นี้ก็คือใช้ได้แล้วนะครับ เข้าข่ายแล้วว่าเกิดใหม่อย่างโสดาบันที่เคยบรรลุมาแต่ชาติเก่าชาติก่อน
ทีนี้โดยธรรมดาเนี่ย คือพระโสดาบันจะมีบุญขนาดที่ว่า ถ้าในโลกมนุษย์ไม่มีศาสนาดีๆพอที่จะสอนเรื่องบุญเรื่องบาปอะไรแบบนี้นะครับ ท่านก็จะยังไม่ลงมาเกิด
คือบุญของพระโสดาบันไม่ใช่ว่าจะอยู่บนสวรรค์ได้ตลอดไปนะครับ แต่เลือกเกิดได้ แล้วไม่ใช่ว่าใจท่านจะอยากมาที่นั่นที่นี่แล้วกดปุ่มจิ้มเอาแบบนั้น ไม่ใช่นะครับ
คือเส้นทางกรรมของพระโสดาบันแล้วก็ภูมิจิตภูมิธรรมแบบพระโสดาบัน จะส่งท่านลงมาอยู่ในที่ๆเหมาะสม ถ้าเกิดในช่วงพุทธศาสนายังมีอายุอยู่ยังไม่สูญสลายหายไปจากโลก ก็ไปเกิดในที่ๆบ้านอยู่ปากประตูวัดนี่เอง หรือว่าพอพบครูบาอาจารย์ก็จะเป็นครูบาอาจารย์ที่ทรงธรรม ที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมจริงๆ แล้วก็เข้าใจจริงๆว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร
ประเภทที่บอกว่าเกิดมามีบุญแล้วได้อยู่กับวัดรวยๆ แต่สอนให้ทำบุญหวังสวรรค์ สอนให้ทำบุญด้วยเงินทองเยอะๆแล้วจะได้บุญมากๆ ไอ้แบบนี้เนี่ยคือไม่มีบุญจริงนะครับ คือเป็นโอกาสที่จะได้ไปเจอแค่อวดอ้างพุทธศาสนาเอามาเป็นโลโก้
แต่ว่าตัวเนื้อแท้แก่นธรรมจริงๆเนี่ย ถ้าพระโสดาบันท่านจะได้ใครเป็นครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์นั้นจะต้องสอนว่า ทำทานนะ แม้สาดน้ำในภาชนะไปในน้ำก็ขอให้อาหารเศษอาหารที่ติดจานได้เป็นประโยชน์แก่สัตว์ในน้ำ แค่นี้เป็นทานแล้ว นี่!อย่างนี้ ท่านจะสอบแบบที่พระพุทธเจ้าสอน จะไม่มีการไปสอนเด็ดขาดนะว่า .. ไปเจออาจารย์ประเภทสอนที่ทำบุญต้องทำเยอะๆ ต้องทำด้วยเงินมากๆแล้วถึงจะได้บุญเยอะ ไอ้แบบนี้เนี่ยพระโสดาบันจะไม่ได้ไปเจอแน่นอน จะไม่ได้ไปยึดเป็นอาจารย์แน่นอน แล้วตัวที่จะมาต่อยอดให้ได้ปฏิบัติต่อก็คือ พูดง่ายๆว่ามีภูมิธรรมเหนือกว่าตัวเอง หรือว่าสามารถทำให้ตัวเองกลับมาประติดประต่อได้ว่า การเจริญสติของตัวเองมาถึงตรงไหนแล้ว
อย่างพระโสดาบันเนี่ย ขึ้นต้นมาจิตท่านก็จะมีธุลีในดวงตาน้อยแน่นอน คือสามารถเห็นได้ว่า เวลาที่ครูบาอาจารย์สอนตรงกับที่พระพุทธเจ้านะ บอกว่า
ลมหายใจไม่เที่ยง
ก็จะรู้สึกว่า เออใช่ลมหายใจไม่เที่ยงจริงๆด้วย
ลมหายใจไม่ใช่ตัวตน
ก็จะรู้สึกว่า เออเราเข้าใจ
------------------------------------------
๙
มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน อยากได้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม
คำถาม : พระโสดาบันหากเกิดชาติใหม่จะรู้ตัวหรือไม่ว่าตนเองเป็นโสดาบัน?
ระยะเวลาคลิป ๗.๑๔
นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=zYbHF2SB8tk&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=5
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
** IG **
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น