มันเป็นความพอใจส่วนตัวนะครับ อย่างผมเองช่วงที่ยังทำสมาธิไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน มันรู้สึกว่าดี อย่างที่ผมฟังประจำก็หลวงพ่อพุธ เสียงของท่านทำให้จิตของเราลงเป็นสมาธิได้เลยนะครับ คือฟังอย่างเดียว ตั้งใจฟังอย่างเดียว
ทีนี้วิธีตั้งใจฟังอย่างเดียวของแต่ละคนมันก็แตกต่างกัน อย่างบางคนก็นั่งอยู่ที่เก้าอี้สบายๆ แล้วก็หลับตาเพื่อที่จะไม่ให้สายตาเอาภาพอะไรมารบกวนจิตใจให้วอกแวก แล้วก็ฟังเสียงของท่านอย่างเดียว ทีนี้ก็ลงเป็นสมาธิกันเยอะแยะเลย เสียงหลวงพ่อพุธ ฐานิโย นะครับ
แต่ละคนก็จะคลิกกับเทศนาธรรมของท่านแตกต่างกันไป แต่ว่าจะมีสักบทหนึ่งแน่ๆที่โดนใจแล้วก็ทำให้ใจของเราลงเป็นสมาธิได้
นอกจากนั้นก็มีหลวงปู่เทสก์ แล้วก็อีกเยอะเลยที่ฟังแล้วรู้เลยว่าใจท่านเบา แล้วก็ทำให้ใจของเราเบาตาม อย่าไปเอาถูกเอาผิดเรื่องทฤษฎีนะครับ คือบางที่พระป่าท่านพูดไม่ตรงกับที่อยู่ในตำราบ้างอะไรบ้าง ก็เน้นปฏิกิริยาทางใจของเรา สำรวจดูว่าเราได้อะไรจากใจของท่านมา
แม้แต่ในพระไตรปิฎกท่านก็เคย มีอยู่ครั้งหนึ่งนะที่บอกว่า เจโตปริยญาณ หรือว่า ญาณดักใจคนได้ ข้อหนึ่งก็คือเป็นคนที่ฟังเก่ง เพราะเสียงมนุษย์มันมากับทั้งอารมณ์ความคิดแล้วก็เจตนาที่แท้จริง มันผสมรวมกันอยู่ ถ้าตั้งใจฟังดีๆมันรู้ได้ว่าจิตเขาเป็นยังไง ความคิดเขาเป็นยังไง อารมณ์เขาเป็นยังไง
อันนี้ก็เหมือนกัน เราเอามาใช้ในทางที่จะเอาประโยชน์เข้าหาจิตหาใจของตัวเอง ถ้าหากว่าฟังพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ท่านมีสมาธิจริง ที่ท่านมีธรรมะจริง ฟังแล้วด้วยความตั้งใจฟังเสียงท่าน ฟังให้เข้าใจว่าท่านพูดอะไร แค่นี้ใจของเราก็จะเกิดความสว่าง แล้วก็มีการก๊อปปี้ลักษณะกระแสจิตของท่าน กระแสจิตใจที่เป็นสมาธิของท่านเข้าสู่ตัวนะครับ ยิ่งเรามีสมาธิในการฟังมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีธรรมะ ส่วนธรรมะ เศษธรรมะ จากท่านมาเข้าตัวเท่านั้น
แต่ทีนี้เราต้องทำความเข้าใจดีๆด้วยว่า นั่นไม่ใช่สมบัติของเรานะครับ เป็นสมบัติของท่าน เรายืมท่านมาชั่วคราว มันก็อยู่ชั่วคราวเหมือนกัน แต่ถ้าเราได้สมบัติของท่านมาเป็นตัวตั้ง เอามาเป็นทุนก่อน แล้วไปต่อยอด จะสังเกตก็ได้ว่า ฟังๆท่านไปแล้วเกิดความรู้สึกว่าใจสงบลง สงบลง แล้วเราก็ดูลมหายใจอย่างเดียวไปเลย แม้แต่หลวงพ่อพุธก็สอนนะครับ ไม่ผิดไม่บาปไม่อะไรทั้งสิ้น
ถ้าหากว่าฟังเทศฟังธรรมไปแล้วความรู้สึกสงบลงได้ด้วยเทศนาธรรมของท่าน แล้วเราเอามาต่อยอดเป็นความรู้ความเข้าใจที่มันลึกซึ้งขึ้นด้วยการสังเกตลมเข้า ลมออก ลมเข้า ลมออก อย่างหลวงปู่ท่อน ท่านก็เคยพูด “แค่เห็นลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก เดี๋ยวมันก็เป็นสมาธิไปเอง” เนี่ยถ้าฟังเฉยๆนะครับอาจจะไม่ได้อะไรที่มันเป็นสมาธิขึ้นมา แต่ถ้าฟังเสียงของท่านเองเนี่ย แล้วคือจิตของท่านผ่านตรงนั้นมาแล้ว พอพูดออกมาแล้วกระตุ้นให้เราเกิดความเข้าใจตาม เกิดความรู้สึกว่ามีประสบการณ์ตามท่านได้ง่ายๆ อันนั้นแหละ คือรับเอาสมบัติของท่านมา พอเรารู้สึกว่าฟังท่านที่พูดว่า ลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก แล้วเกิดสมาธิ มันก็ตั้งมั่นตามได้ง่ายๆ นี่เป็นตัวอย่างว่าฟังเทศน์ในขณะที่นั่งสมาธิเป็นประโยชน์ได้อย่างไรนะครับ
แต่ไม่ใช่ฟังอยู่ตลอดนะ
เราก็ต้องหวังที่จะพึ่งพาตัวเอง ต่อยอดด้วยการทำสมบัติให้ตัวเองด้วย
เป็นสมบัติของเราจริงๆนะครับ อย่าเป็นแต่ลูกน้อยที่คอยขอตังค์จากพ่อแม่ ให้เป็นคนที่ทำมาหากินเองได้ด้วยในทางธรรมนะครับ
-----------------------------------------
๑๖
มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด
คำถาม : ถ้าเรานั่งสมาธิดูลมหายใจ และฟังธรรมะไปด้วยจะกระทบต่อการภาวนาหรือทำให้ภาวนาช้าไหม? เพราะรู้สึกว่าเวลานั่งสมาธิแล้วไม่ได้ฟังธรรมครูบาอาจารย์ เหมือนจะขี้เกียจไม่ค่อยอยากนั่ง ถ้านั่งก็จะนั่งไม่ได้นาน
ระยะเวลาคลิป ๔.๕๙ นาที
รับชมทางยูทูบ
https://www.youtube.com/watch?v=YN75A57QrZg&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=21
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น