วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อภัยแต่ไม่คบ จบเวรไหม?

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อภัยแต่ไม่คบ จบเวรไหม?

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

 

สำหรับคืนนี้ ก็เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยที่สุดคำถามหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้นัดหมายกัน ไม่ได้รู้ว่าเคยมีคนถามมาแล้ว ผมเคยตอบไปแล้ว

 

ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ใจอยากรู้กันเยอะมากเลยว่า ถ้าว่ากันตามหลัก บอกอภัยไปแล้ว ใจนี่ ยกโทษให้แล้ว ปากอโหสิไปแล้ว กล่าวไปแล้วว่า ถือว่าสิ่งที่ติดค้างคาใจอยู่ จะเป็นความอาฆาตพยาบาท จะเป็นการผูกเวรกันมากี่ภพกี่ชาติ ขอให้ยกเลิกในชาตินี้ปัจจุบันนี้ชีวิตนี้ ถือว่าขอให้เป็นชีวิตแห่งการตัดภัยตัดเวร ที่ผูกกับคนอื่นมา โดยเจอใครก็ตาม มีเหตุการณ์กระตุ้นให้ต้องทำร้ายจิตใจกัน ทางวาจา หรือว่า แม้กระทั่งทำร้ายกันทางร่างกายให้เจ็บปวดนี่ ขอเป็นอันยุติ

 

เพราะว่าศรัทธาแล้ว เชื่อแล้วว่า การเดินทางไปในสังสารวัฏ ไม่ได้มีแค่ชีวิตเดียว แต่มีเป็นอนันตชาติ มีชีวิตที่ไม่จำกัด ในระหว่างแห่งอนันตชาตินั้น ถ้าขืนเราผูกเวรไปมากๆ ก็เท่ากับเกิดทีไร ก็ต้องมีเหตุการณ์ หรือว่าไปอยู่ในภพที่มีการทำร้ายกัน ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ก็เลยโอเค เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วว่า ชาตินี้จะมีความเจ็บช้ำน้ำใจอะไรมาแค่ไหนก็ตาม ขออโหสิให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

 

ทีนี้ เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ มันไม่ง่ายเหมือนตอนหลังสวดมนต์ ใจกำลังสบายๆ ใจกำลังเป็นกุศลพร้อมให้อภัย ในทางปฏิบัติแล้ว เอาเข้าจริงเราทำใจได้ยาก แล้วข้อสังเกตทางใจนี่ บางทีรบกวนจิตใจ บางทีเหมือนกับบอกว่า อยากเป็นนักให้อภัยเหมือนกับ ครูบาอาจารย์ เหมือนกับพระพุทธเจ้า เหมือนกับท่านๆ ที่เราเคยเห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจ

 

แต่ในหัวก็อดรื้อฟื้น รื้อฝอยหาตะเข็บขึ้นมาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คนสงสัยกันมากที่สุดก็คือว่า ถ้าเป็นเพื่อน ถ้าเป็นญาติ ถ้าเป็นคนสนิท คนเคยสนิท แล้วมีเหตุให้โมโหโกรธากัน ประกาศไม่เผาผีกัน แล้ววันหนึ่ง อยากญาติดี อีกฝ่ายมาขอโทษ แต่ใจเราที่อภัยไปแล้ว ก็ยังมีความรู้สึกรังเกียจ มีความรู้สึกว่า ไม่เอาล่ะ ไม่อยากที่จะเห็นหน้า ไม่อยากที่จะคบต่อ

 

ก็เลยสงสัยตัวเองว่า แบบนี้เขาเรียกว่า ให้อภัยแล้วหรือยัง มันสะอาดจากความพยาบาท ที่จะเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิแล้วหรือยัง หรือว่า บางทีไม่ถึงอบายภูมิ แต่นำไปสู่การต่อเวรต่อกรรมกันอีก ไม่มีที่สิ้นสุด สงสัยตัวเอง

 

ก็เลยเป็นที่มาของโจทย์ในคืนนี้นะครับว่า ถ้าอภัย แต่ไม่อยากคบ ถือว่าจบเวรแล้วหรือยัง

 

ก่อนอื่น ทำความเข้าใจอย่างนี้นะ เอาตามคอมมอนเซนส์ (common sense) ไม่ต้องไปอ้างถึงความถูกความผิดตามตำราไหนๆ เลย เอาตามที่เรารู้สึกได้ด้วยสามัญสำนึกเลยว่า เวลาที่เรายังคุมแค้นอยู่ ความคุมแค้นนี่เป็นของร้อน เป็นของที่หนักอก มันหนักอึ้งนะ ความรู้สึกอยู่ตรงนี้จริงๆ

 

เวลาที่เรารู้สึกจุกอก ความจุกอกนั่นแหละ หนักหรือเบา ... เราบอกได้ทันที ตอบได้ทันใดโดยไม่ต้องคิดเลยนะ มันหนัก แต่ถ้าอภัย ในความหมายของการปลดภาระ ปลดพันธะทางอารมณ์อาฆาต จริงๆ จะเหมือนยกภูเขาออกจากอก มันเบา

 

ถ้าคุมแค้นจะหนัก ถ้าอภัยจะเบา ... ถือเป็นตัวตั้งที่เราจะเอามาใช้เป็นจุดสังเกตตั้งแต่เริ่มต้น

 

ถ้าเราอาศัยข้อเท็จจริงทางธรรมชาติ ทางความรู้สึกตรงนี้เป็นจุดสังเกตเริ่มต้น ที่จะพูดในขั้นต่อๆ ไป ก็ง่าย เข้าใจได้ง่าย

 

พอเรานึกออกว่า การอภัย ถ้าอภัยจริง ใจจะเบา เบาใจนี่คือหลักฐานของการอภัยจริง เราก็จะได้ข้อสังเกตต่อว่า ความเบามีหลายแบบ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เราคิดจะให้อภัยเลยนะ

 

สังเกตเข้ามาในอก จะรู้ได้ ตอบตัวเองถูกเลยว่า เบาชนิดไม่เหลือน้ำหนักเลย เบาหวิวโล่ง หรือว่า เบาแบบที่คล้ายๆ กับว่ายังมีก้อนหินอยู่ แต่ก้อนหินนั้นลดขนาดลง เบาลง ให้รู้สึก คือยังมีอะไรเสียบ มีอะไรคา มีอะไรที่ยังอึ้งๆ อยู่ ไม่ได้เบาโล่ง

 

ตรงนี้ ถ้าเราตอบตัวเองถูก ณ จุดเกิดเหตุเลยนะ ณ จุดที่เราบอกว่าเราอภัยแล้ว ไม่ต้องไปตอบคำถามใครเอาภาพ แต่ตอบคำถามตัวเองเอาความจริงว่า มันเบาโล่ง หายไปหมดเลย ไม่เหลือน้ำหนักเลย หรือว่ายังมีน้ำหนักอยู่ คล้ายกับก้อนหินที่ลดขนาดลงเท่านั้น อันนี้เราตอบตัวเองถูก

 

ทีนี้พอสังเกตตัวเองได้ที่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่ตัดสินว่า แบบนี้นี่ สงสัยเราไม่มีทางอภัยได้จริง มันคาอยู่อย่างนี้แหละ คงเป็นแบบนี้ไป เลิกไม่ได้ ตัดไม่ขาด ไม่ใช่นะ เราจะอาศัยตัวตั้งตัวนี้นี่ เป็นจุดสังเกตวันต่อวัน หรือชั่วโมงต่อชั่วโมง หรือกระทั่งลมหายใจต่อลมหายใจได้

 

คือพอเราฝึกที่จะดู ฝึกที่จะยอมรับความจริง ตั้งแต่วาระแรกเลยว่า เราเบาโล่งหมดจดแล้ว แล้วไม่กลับหนักขึ้นมาอีกเลย อันนี้แสดงว่าอภัยจริง ชัวร์ ของแท้ อาจเพราะว่าต้นทุนเราดี เราแผ่เมตตาเก่ง เราสวดมนต์จนมีความสุขเอ่อล้น แล้วก็อยากอยู่กับความสุขนั้น ไม่อยากอยู่กับความทุกข์ที่ไปผูกใจไว้กับใคร ก็เลยเหมือนกับขาดจริง โล่งจริง ซึ่งพอฝึกแผ่เมตตา ฝึกให้อภัยเป็นทานบ่อยๆ จะไปถึงจุดนั้นได้จริง คือพอตั้งใจตัดแล้ว ตัดเลย ไม่กลับมาอีก

 

แต่ทีนี้ ถ้าเรายอมรับตามจริงว่า เรายังเป็นผู้ที่ต้องฝึกอยู่ ก็จะเห็นว่า แม้แต่กระทั่งตอนแรก บอกว่าเบาแล้ว แต่กลับมาหนักได้ ก็ยอมรับตามจริงว่ามันกลับมาหนัก อย่าไปปฏิเสธ หรือหวงภาพว่า ฉันนี่ เก่ง อภัยเก่ง เบาแล้วเบาเลย ไม่ต้องไปหวงภาพนั้น ภาพนั้นไม่มีประโยชน์กับเส้นทางไปสู่นิพพานนะ

 

แต่ความจริงต่างหากที่ว่า เบาไปในจุดเริ่มต้น แล้วกลับมาหนักใหม่ อันนี้มีประโยชน์ คือพอมีสติรู้แล้วยอมรับตามจริงได้ จะเอามาใช้เจริญสติต่อ แล้วทำให้ความโกรธหรือความพยาบาทนั้น เป็นอุปกรณ์ในการที่เราจะทำให้สติเจริญขึ้น เห็นความไม่เที่ยง

 

ทีนี้อย่างในทางอีกทางหนึ่ง สำหรับคนส่วนใหญ่ก็คือว่า วันแรกที่ตั้งใจอภัย มันไม่เบาหรอก จะมีความคาๆ อยู่ มีความรู้สึกหน่วงๆ หนักๆ อืดๆ ฝืดๆ ฝืนๆ ไม่โล่งจริง ก็ยอมรับไปว่า ที่บอกว่าอภัยนี่ ยังไม่หมดจด ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำท่าทำทางว่าจะเป็นก้อนหินที่เล็กลง แล้วกลับใหญ่ขึ้นมาได้อีก

 

พอรู้อย่างนี้ เราได้ตัวตั้งที่จะอาศัยใช้เป็นเครื่องมือเจริญสติ อย่างที่ผมเคยบอกบ่อยๆ ว่า ภาวะทางอารมณ์ ภาวะในกายใจอันใด เกิดขึ้นบ่อยๆ ปรากฏบ่อยๆ ภาวะนั้น อาศัยใช้เจริญสติได้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เอามาทำให้เกิดพุทธิปัญญาได้

 

คือพอเรายอมรับตามจริงตั้งแต่ต้นเลยว่า ที่บอกอภัยๆ ไปนี่ แค่รู้สึกเบาลง แต่ไม่ใช่รู้สึกว่าโล่งหมด พอสังเกตไปเรื่อยๆ โดยไม่ตั้งความอยากให้มันเบา แต่ ใส่ใจ ยอมรับว่ามันยังหนักอยู่แค่ไหน เอาสเกลใหญ่ก่อนเลย วันต่อวัน

 

วันนี้ ยังรู้สึกอึ้งๆ ยังรู้สึกว่าอยากหวนกลับไปเอาคืน ก็ยอมรับไป แต่ต่อมา พอเริ่มคุ้นว่าความรู้สึกที่ยังเคืองๆ ยังเหมือนกับ อยากจะกลับไปเล่นงานอยู่ เป็นความรู้สึกในอกที่แน่นๆ แต่แน่นไม่เท่ากัน ในแต่ละวัน แล้วพอชำนาญขึ้น พอรู้ทางมากขึ้น จำได้มากขึ้น ว่า ความหนักประมาณอย่างนี้ พอเกิดขึ้นแล้วจะก่อให้เกิดความคิดไม่ดี อยากกลับไปประทุษร้ายอย่างไร

 

ยอมรับไปตามจริง จนกระทั่งเราสามารถเห็นได้ชั่วโมงต่อชั่วโมง หรือนาทีต่อนาทีว่า ความหนักความเบาที่เกิดขึ้นในอก แตกต่างกันอย่างไร ส่วนใหญ่มาตอนทีเผลอ ตอนว่างๆ ตอนกำลังไม่ได้คิดอะไร แล้วอยู่ๆ มันหวนกลับมาเฉยๆ

 

เสร็จแล้ว ถ้าในช่วงที่กำลังใจจดใจจ่ออยู่ว่า เอ๊ะ ความพยาบาทนี้เมื่อไหร่จะหายไป เมื่อไหร่จะเบาลงอะไรต่างๆ นี่ คราวนี้เราจะเริ่มที่จะสังเกตได้ถึงระดับลมหายใจต่อลมหายใจ คือ ลมหายใจนี้ มีความรู้สึกเหมือนเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา ทั้งๆ ที่คล้ายจะมอดดับไปแล้ว กลับเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาที่ลมหายใจนี้ เราก็รู้ว่า ลมหายใจนี้เป็นลมหายใจแห่งความโกรธ เป็นลมหายใจแห่งความเคือง ยังไม่ได้อภัย ยังไม่ได้มีความอยากจะให้ทานโดยการปลดพันธะตรงนี้ไป

 

ลมหายใจต่อมา จะเริ่มมีความชัดเจนแจ่มกระจ่างมากขึ้น ว่าอารมณ์เคือง มีความพลุ่งพล่าน มีความวกวน มีอะไรคล้ายเป็นควันดำ ที่ลอยขึ้นมาบดบังทัศนวิสัยทางใจ ไม่ให้โล่ง ให้เบา ไม่ให้โปร่ง

 

ยิ่งดูไปหลายลมหายใจเข้า แต่ละลมหายใจยิ่งบอก ยิ่งเกิดความเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่า มีความต่าง ในทางเบาลง หรือว่า กระพือหนักขึ้นมา ยอมรับให้หมด แล้วความสามารถในการเห็นเป็นขณะๆ ลมหายใจนั้นแหละ ในที่สุด จะทำให้เกิดข้อสรุปแบบที่เป็นพุทธิปัญญาว่า ความเคืองนี้ เราจะเคยคิดอภัย หรือไม่อภัยก็ตาม จะยังคงอยู่ตรงนั้น

 

ความเคือง กับ การอภัย บางทีไม่เกี่ยวกัน เพราะว่าตอนอภัย จะมีน้ำจิตที่คิดจะล้างเวร ล้างภัยจริงๆ แต่ตอนที่หวนกลับไปคิดอีก ตอนนั้น ไม่ใช่วาระเดิมแล้ว แต่กลายเป็นว่า ความคิดความทรงจำ ความปรุงแต่งอันเป็นอกุศลนี่ มันหวนกลับมาของมันเอง เหมือนบูมเมอแรงที่เราขว้างไปแล้วมันร่อนกลับมาโดยที่เราไปสั่งมันไม่ได้ ว่าจงอย่าร่อนกลับมา

 

เห็นบ่อยๆ จนกระทั่งเกิดความเข้าใจขึ้นมาจริงๆ ว่า นี่ที่เขาเรียกว่าอนัตตา นี่ที่เขาเรียกว่ามันไม่เที่ยง พอแค่ไม่กี่วัน ถ้าฝึกจริงๆ ถ้าดูจริงๆ แล้วเห็นซ้ำไปซ้ำมา เห็นบ่อยๆ จริงๆ มันจะปรากฏว่า ความเคืองความพยาบาท คล้ายกับวัตถุอะไรก้อนหนึ่ง ที่ขยายใหญ่ขึ้นได้ แล้วกลับหดแคบลงได้

 

เห็นความไม่เที่ยงได้อย่างชัดเจนแบบนี้เมื่อไหร่ ความอยากจะยึด ใจนี่ ก็ถอยแล้ว ไม่เอาแล้วกับความพยาบาทตรงนี้

 

ฉะนั้น คือจะได้ข้อสรุปกับตัวเอง เป็นคำตอบให้ตัวเองว่า จะคบต่อหรือไม่คบต่อนี่ไม่สำคัญ ไม่เกี่ยวกันนะ

 

ถ้าไม่อยากคบเพราะไม่อยากเกิดอกุศลซ้ำรอยเดิม หรือว่าไม่อยากคบเพราะว่าใจทิ้งไปแล้ว ไม่อยากเอาแล้วแบบนี้ จะเป็นชายก็ดี หญิงก็ดี เป็นแฟนเก่า หรือเพื่อนเก่า หรือจะญาติสนิทมิตรสหายที่ไหนก็ตาม คือการไม่อยากคบต่อไม่ได้แปลว่าเราจะผูกพยาบาท

 

วัดกันที่ใจนี่ ถ้าใจเบาอยู่ ไม่ได้คิดอยากกลับไปประทุษร้ายหรือเอาคืน ถึงแม้จะไม่อยากคบต่อ ก็ถือว่าให้อภัยแล้ว ให้อภัยจริงแล้ว

 

พูดง่ายๆ ใจเบาจริง ดูที่ใจอย่างเดียว ใจเบาจริง ไม่กลับหนักขึ้นมาอีก แล้วหลังจากฝึกเจริญสติแล้ว แผ่เมตตาแล้วอะไรแล้ว จนกระทั่งไม่เหลือน้ำหนักของก้อนหินก้อนเดิมแม้แต่นิดเดียว เจอหน้าเจอตาอะไร ก็ไม่เป็นไร เจอก็ยิ้มๆ แล้วก็สามารถแผ่ความสุขให้ได้ด้วย แต่ไม่ต้องคบต่อ

 

แค่นี้ก็จะได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า เวร ภัย ที่ผูกกันไว้ ทางฝั่งของเราตัดแล้ว ตัดเวรตรงนี้แล้ว ไม่ต้องไปใช้กรรมใช้เวรในแบบที่จะต้องมาประทุษร้าย โดยมีฝ่ายของเราเป็นตัวเริ่ม เป็นตัวตั้งอีก

 

ฝ่ายของเราเหมือนกับถอนตัวออกมาจากวงจรของภัยเวรแล้ว นะ

____________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อภัยแต่ไม่คบ จบเวรไหม?

วันที่ 31 ต.ค. 2020

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=fOISCxq5eFI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น