วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ขอวิธีฝึกสติเบื้องต้น ที่สามารถทำได้ตลอดเวลา

 ดังตฤณ :  วิธีเจริญสติเบื้องต้นนะครับ ก็ตั้งข้อสังเกตเอาว่า .. คิดอย่างนี้ก็ได้ว่า ลมหายใจนี้เรากำลังมีความสุข หรือว่ามีความทุกข์ เป็นลมหายใจแห่งความสุข หรือว่าเป็นลมหายใจแห่งความทุกข์

ถ้าเป็นลมหายใจแห่งความสุข มันจะรู้สึกเบา มันจะรู้สึกโล่ง มันจะรู้สึกว่าเนื้อตัวผ่อนคลาย ถ้าเป็นลมหายใจแห่งความทุกข์ มันจะรู้สึกว่าอึดอัดหนักตัว หรือว่ามีความไม่สบายอยากดิ้น ร่างกายอยากแสดงอาการกระสับกระส่าย จิตใจไม่สามารถที่จะโฟกัสอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วยความพอใจ มันจะมีความระส่ำระสาย

พอเราเริ่มต้นเจริญสติด้วยวิธีสังเกตดูว่าลมหายใจนี้กำลังเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันจะได้ข้อสังเกตขึ้นมาว่า ความสุขและความทุกข์ในแต่ละลมหายใจมันไม่เท่ากัน อันนี้คือหลักง่ายที่สุดเลยเพื่อที่จะได้เห็นว่า ใจของเรามันกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ในตัวเอง เมื่อเราเห็นบ่อยๆว่าสภาวะทางกายสภาวะทางใจ มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ ใจของเราจะเบาลงจากอาการยึด

คนเราค้นหาวิธีกันมากี่หมื่นกี่แสนปีก็ไม่ทราบว่า ทำอย่างไรมันจะเบาได้จริง ทำอย่างไรมันจะมีความสุขได้จริง เพราะไม่เคยมีใครพบคำตอบที่แท้จริง เอามาเถอะวิธีอุบายทั้งหลายแหล่มันทำได้แป๊บเดียว ทำได้ชั่วคราวหรือทำไม่ได้หมด แต่พระพุทธเจ้ามาเพื่อมาบอกง่ายๆว่า เริ่มต้นสังเกตจากลมหายใจก่อน แล้วลมหายใจนี้มันมากับความสุข หรือมันมากับความทุกข์ในแต่ละลมหายใจ นี่อย่างนี้ง่าย แล้วก็เป็นไปได้จริงที่เราจะถอนจิตออกมาจากความยึดมั่นถือมั่น

ที่เรายังยึดมั่นถือมั่นเพราะอะไร พระพุทธเจ้าชี้แจงว่า เป็นเพราะเรานึกว่า มีตัวเราอยู่ มีตัวเราที่เที่ยง มีความรู้สึกแบบที่เราเป็นอยู่นี่ จะสุขหรือทุกข์ก็ตาม นึกว่ามันเที่ยง

สังเกตมั้ย? คนที่มีความทุกข์ในชีวิตมากๆ มักจะจมอยู่กับความรู้สึกทรมานใจว่า คงไม่มีทางพ้นจากความทุกข์ตรงนี้ไปได้หรอก นี่คือนึกว่าความทุกข์มันเที่ยง แล้วก็ใจจดใจจ่อย้ำคิดอยู่อย่างนั้นว่า ความทุกข์มันไม่มีทางหายไปจากชีวิตของเรา มันก็เลยเป็นซึมเศร้า

ส่วนคนที่หลงระเริงในความสุข ก็คงมีแต่ความคาดหมายว่า ขอความสุขตรงนี้จงอย่าได้หายไปจากชีวิตเรา นี่ก็คือนึกว่าความสุขจะเที่ยงได้ จะอยู่ตรงนี้ได้ตลอดไป เห็นมั้ยว่าอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นผิดๆนี่แหละ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าควรทำลายทิ้ง

แล้วพอเราเริ่มต้นจากการสังเกตง่ายๆและเป็นไปได้จริงว่า ลมหายใจนี้ กำลังเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ แค่นี้มันออกตัวได้แล้ว แล้วก็จะออกตัวไปได้ไกล ถ้าหากว่าเราทำไปเรื่อยๆโดยไม่หยุดนะครับ

ส่วนใหญ่ทำแล้วจะหยุด เพราะไม่รู้ว่าจะดูไปทำไม แต่ถ้าเห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เงื่อนของการยึดมั่นถือมั่น เงื่อนของการมีความอยากโน่นอยากนี่ ไม่มีที่สิ้นสุดก็เพราะนึกว่าความสุขมันเที่ยงได้ หรือที่เป็นซึมเศร้าก็เพราะจมอยู่กับอาการยึดว่า ความเศร้าความทุกข์นี้คงหายไปจากชีวิตเราไม่ได้หรอก นี่มันง่ายๆแค่นี้เอง เงื่อนมันเหมือนกับเส้นผมบังภูเขา ทำยังไงเราจะเล็งตามาโฟกัสที่เส้นผมตรงนั้น แล้วก็เห็นว่า เส้นผมมันบังอยู่ ถึงต้องรอมหาบุรุษอย่างพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ถึงจะมาบอกอะไรง่ายๆ เงื่อนง่ายๆตรงนี้ให้เรารู้ได้

-------------------------------------------

๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อภัยแต่ไม่คบ จบเวรไหม?

คำถาม : สวัสดีค่ะ เพิ่งเข้ามา คิดว่าคุณดังตฤณน่าจะเคยพูดแล้ว ขอวิธีฝึกสติเบื้องตนที่สามารถทำได้ตลอดเวลา หากมีใครแชร์ลิงค์มาก็ยินดี

ระยะเวลาคลิป      ๔.๒๖   นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=1QC7Owott2E&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=5

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น