วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ฝึกอานาปานสติอย่างเดียว อานาปานสติเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาใช่ไหม เริ่มฝึกอานาปานสติอย่างเดียวเพียงพอใช่ไหมคะ?

 ดังตฤณ :  อันนี้เป็นคำถามที่ดีนะครับ บอกว่า (ทวนคำถาม) ฝึกอานาปานสติ ถ้าฝึกอย่างเดียวเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาใช่มั้ย เริ่มฝึกอย่างเดียวเพียงพอใช่มั้ย?

เพียงพอครับ อันนี้ยืนยันนะ ถ้าหากว่าเราจะทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ ท่านสอนมาแบบนี้นะครับ ท่านไม่ได้สอนให้บริกรรมเป็นคำใดๆ ไม่ได้สอนให้เพ่งเข้าไปว่ามีจุดกระทบที่ตรงไหน ไม่ได้สอนว่าให้นับว่าเป็นไปได้กี่ลมแล้ว

แต่ท่านสอนให้สังเกตว่า ขณะนี้ลมเข้าอยู่ หรือออกอยู่ แล้วก่อนที่จะมาสังเกตลม ท่านให้ดูสถานที่ด้วย สภาพแวดล้อมมันเอื้อมั้ยกับความวิเวก ถ้าหากว่ามันเอื้อให้เราอยู่กับตัวเองคนเดียวสบายๆได้ นั่นถือว่าสภาพแวดล้อมใช้ได้

แล้วเวลานั่งดูด้วยว่าคอตั้งหลังตรงหรือเปล่า พระองค์ตรัสไว้นะ ก่อนที่จะสอนอานาปานสติว่า นั่งขัดสะหมาดคือเอาขาไขว้กัน แต่ไม่ได้สอนให้เอามือซ้อนมือนะครับ คือจริงๆแล้วทำยังไงก็ได้ให้ไหล่มันเปิด มันจะดีที่สุดนะครับ เสร็จแล้วให้สังเกตว่า ขณะนี้ลมหายใจมันกำลังปรากฏว่าเข้าอยู่หรือว่าออกอยู่ และลมหายใจที่เข้าอยู่ออกอยู่นั้น มันสั้นหรือว่ายาว ถ้ายาวท้องมันจะป่องออกมาตอนลมเข้า ป่องออกมานิดนึง แล้วเวลาที่ระบายลมออกท้องก็จะยุบ นี่อย่างนี้นะครับ

ที่พระพุทธเจ้าให้สังเกตง่ายๆ ลมยาวก็คือเราสดชื่นนั่นแหละ จริงมั้ยล่ะ เป็นความจริงสากลนะ ถ้าลมสั้นมันก็จะรู้สึกเหมือนกับเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางทีมันก็เฉยๆ บางทีมันก็รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เราตั้งใจที่จะดูลมหายใจ หากว่าลมหายใจสั้นอยู่ตลอด มันจะรู้สึกอึดอัดแน่นอน

ทีนี้คือความหมายของสมถะและวิปัสสนา อยู่ในการสังเกตลมได้พร้อมไปด้วยเลย พอเริ่มต้นขึ้นมา เรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ แล้วเรามาสังเกตลมหายใจพบว่า ตอนที่ฟุ้งซ่าน ตอนที่มีอะไรมวนๆแน่นๆอยู่ในหัว ลมมันจะสั้น มันเกิดความรู้สึกอึดอัด เกิดความรู้สึกไม่สบาย พอสังเกตแบบนี้มันก็จะค่อยๆได้ข้อมูล เก็บตกขัอมูลเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นว่า เวลาที่เวลาผ่านไป เราหายใจเป็นครั้งๆ ลมหายใจมันไม่ได้สั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเรานั่งคอตั้งหลังตรง แล้วสังเกตลมหายใจอยู่ เวลาท้องป่องขึ้นมา มันลากลมหายใจได้ยาวขึ้น

แล้วเวลาที่เราทำๆไป เห็นลมหายใจมันมีความยาวได้ต่อเนื่องสัก สอง-สาม ลมหายใจ มันเกิดความละเอียดขึ้นมา มันเกิดความรู้สึกสบาย มันเกิดความปลอดโปร่ง มันเกิดความสุขขึ้นมาแทนที่ความอึดอัด นี่ก็เรียกว่าเราเริ่มเห็นตัวเวทนา ที่มันแสดงความไม่เที่ยงควบคู่ไปกับการเห็นลมหายใจว่ามันไม่เท่าเดิม มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จริงๆแล้วยังไม่ถือเป็นวิปัสสนานะ แต่เป็นชนวน เป็นตัวตั้ง เป็นตัวการเริ่มต้นให้สังเกตความต่างทางภาวะที่ปรากฏอยู่ในกายใจ มันยังไม่เป็นสมาธิ มันยังไม่เป็นวิปัสสนา แต่พอทำๆไปแล้วรู้สึกว่า เออแค่สังเกตความต่าง แค่สังเกตเห็นความไม่เที่ยงได้ ใจมันว่างๆสบายๆขึ้นมา เสร็จแล้วเราก็สังเกตว่า ถ้าเราจดจ่ออยู่กับความนิ่ง ความว่าง ความสบายของจิต จนมันเกิดความเป็นสมาธิขึ้นมา นี่ตรงนี้เริ่มเป็นสมถะแล้ว

ความเป็นสมถะ เริ่มต้นตอนที่จิตของเราสบายผ่อนคลาย ร่างกายไม่เกร็งทั่วตัว แล้วเกิดความสงบทางใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่อยากคิดถึงเรื่องอะไร อยากที่จะอยู่นิ่งๆ จิตที่มันอยู่นิ่งๆได้โดยตัวเองไม่ต้องพึ่งพาเครื่องช่วยอะไรทั้งสิ้น ตรงนั้นคือจิตที่มีความเป็นสมถะ

จิตที่มีความเป็นสมถะ ไม่ใช่จิตที่เอาแต่นิ่ง แต่เป็นจิตที่มีความพร้อมรู้ตามจริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นภายในขอบเขตของกายใจนี้ หลายคนท่องกันผิดๆมาหลายปีว่า สมถะคือการที่เอาแต่นิ่ง สมถะคือการพยายามนิ่ง ไม่ใช่นะครับ

สมถะในแบบที่พระพุทธเจ้าสอนนะครับ พระองค์ยกตัวอย่างคนที่ได้โสดาปัตติผลแล้ว แล้วมาทูลถามว่าจะต้องทำอะไรต่อ พระองค์ตรัสว่า ต้องทำทั้งสมถะและวิปัสสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้มันมีคุณภาพมากขึ้น ให้มันทำซ้ำๆ ทำย้ำๆไป

เพราะฉะนั้นสมถะไม่ใช่การเอาแต่นิ่ง ไม่ใช่การทำสมาธิแบบผิดๆ แต่สมถะคือการทำสมาธิแบบพุทธอย่างถูกต้อง จนกระทั่งจิตมีความนิ่งแบบพร้อมรู้ มีความตื่น มีความเบา มีความอ่อนควรที่จะมาจับจุดสังเกตภาวะภายในต่อไป

พอเราสังเกตว่าลมเที่ยงหรือไม่เที่ยง ความอึด ความสบาย ที่มากับแต่ละลมเที่ยงหรือไม่เที่ยง แล้วมันเกิดความปลอดโปร่ง เกิดความว่าง เกิดความเป็นสมถะขึ้นมา ตรงนั้นที่จุดนั้นถ้าหากว่าเรามีสัมมาทิฏฐิเป็นทุนไว้ก่อนล่วงหน้า มันจะเข้ามาประกอบกับจิต แล้วเกิดสติสังเกตขึ้นมาว่า ที่กำลังหายใจเข้า หายใจออกอยู่ ที่มันบอกว่าเป็นลมเข้าบ้าง ลมออกบ้าง ลมยาวบ้าง ลมสั้นบ้าง ด้วยจิตที่เป็นสมาธิมันจะเห็นว่า เป็นแค่สภาพเคลื่อนไหว เป็นสภาพพัดไหว พัดเข้าพัดออก ไม่มีความเป็นบุคคล ไม่มีความเป็นตัวตนอยู่ในลมนั้น เนี่ยแค่เห็นลมหายใจเป็นธาตุ เป็นธาตุลมได้ เป็นวาโยธาตุได้ แค่นี้เป็นวิปัสสนาแล้ว เป็นวิปัสสนา
แบบอ่อนๆแล้ว

เป็นวิปัสสนาเต็มตัวยังไง ตอนที่เรามีความสามารถทางจิตที่ตั้งนิ่งอยู่แบบมีสติ แล้วสามารถรู้ทั่วพร้อมได้ คำว่ารู้ทั่วพร้อมไม่ใช่รู้ละเอียดยิบทุกกระเบียดนิ้วในร่างกาย แต่หมายความว่า เราสามารถรู้ได้ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถนั่ง และในอิริยาบถนั่งนี้ มีลมผ่านเข้าผ่านออกอยู่ โดยไม่มีการนิยามว่า ร่างกายที่กำลังนั่งอยู่ ชื่ออะไร นามสกุลอะไร หน้าตาเป็นยังไง มันเห็นแต่ว่ายกตั้งขึ้นด้วยโครงกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ มีไออุ่นอยู่ แล้วก็มีธาตุลม พัดเข้า พัดออก ไม่มีความเป็นบุคคล นี่ตัวนี้เริ่มเป็นวิปัสสนาแล้ว นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะครับ

คุณจะไปทราบมาจากไหนก็ตาม นิยามของวิปัสสนาเป็นอย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะ ถ้าหากเริ่มต้นเห็นลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่บุคคลได้ ตรงนั้นเริ่มเป็นวิปัสสนาแล้ว เรียกว่ากายานุปัสสนา

จากนั้น มันถึงจะพร้อมพิจารณาในขั้นต่อๆไปคือ มันอาจจะควบคู่กันมาเลยนะ อย่างถ้าสภาวะทางกายมันถูกรับรู้ควบคู่ไปกับความเบาความสบาย นี่เรียกว่าเห็นตัวสุขเวทนา ถ้าหากว่าเรารู้จากจิตที่มีสติตื่นอยู่ เห็นว่าความเบา ความสบาย มันมีเบาขึ้นได้อีก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เบาอยู่แล้ว เบาขึ้นได้อีก นี่เห็นความไม่เที่ยงของความเบาได้ เห็นความไม่เทียงของความสุขความมีปีติได้ นี่ก็เรียกว่ารู้สึกถึงความเป็นเวทนานุปัสสนาแล้ว

และยิ่งถ้าหากว่า มีความสามารถที่จะเห็นตามจริงว่า อาการเบา อาการสุขตรงนั้น มันไม่ได้เที่ยง มันสามารถกลับกลอกกลับกลาย ตกกลับมากลายเป็นคับแคบอึดอัด ไม่รังเกลียดอาการอึดอัด ไม่เสียใจว่าสมาธิของเราเสื่อมลง แต่มีสติเห็นว่าเวทนาเปลี่ยนจากสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา นี่ก็เรียกว่าเป็นวิปัสสนาอีกเช่นกัน ทั้งๆที่เราคิดว่าเรากำลังนั่งหลับตาฝึกอานาปานสติอยู่นี่แหละ เป็นอานาปานสติแบบเดิม

และถ้าอานาปานสติเป็นของติดตัว ลืมตาขึ้นมาแล้วเรายังสามารถรู้สึกถึงอาการเข้าออกของลมหายใจ หายใจเข้าท้องป่องนิดนึง ยาวๆ สบายๆ หายใจออกท้องแฟบลงมา หรือว่าถ้าไม่ได้หายใจเข้าแล้วท้องป่องขึ้น มันก็เป็นลมสั้นๆ เห็นอย่างนี้แม้กระทั่งลืมตาได้ ก็เรียกว่าเรากำลังอาศัยอานาปานสติเป็นศูนย์กลางของสติอยู่นะครับ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เจริญอานาปานสติอย่างช่ำชอง เป็นผู้ที่มารเข้าแทรกไม่ได้ หมายความว่ามารภายนอกมารภายในที่จะรบกวน หรือว่าจะทำให้สติมันเสื่อมถอย หรือว่าไม่ก้าวหน้า มันไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาเล่นงานเรา เพราะอะไร? เพราะว่าลมหายใจเป็นของติดตัวอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เมื่อเราฝึกให้คุ้น เมื่อเราฝึกให้ชินให้ชำนาญแล้ว ก็เท่ากับว่าเรามีพื้นที่ฝึกอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องไปปลีกวิเวกเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องลางานไปไหน แต่ว่าเอาเวลาในชีวิตประจำวันที่กำลังมีอยู่ปรากฏอยู่นี่แหละ มาเป็นเครื่องฝึก นี่คือคุณวิเศษของอานาปานสติ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสย้ำนักย้ำหนาว่าทำไมถึงควรจะทำให้มันเกิดขึ้นแล้วก็ชำนาญไปเรื่อยๆ เราใช้ได้ตั้งแต่มือใหม่หัดวันแรก ไปจนกระทั่งถึงมือเก่าแล้ว เป็นพระอนาคามีแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้วพระพุทธเจ้าก็ยังตรัสให้ใช้อานาปานสติเป็นเครื่องกำกับสติอยู่

สำหรับพระอรหันต์นั้น จริงๆแล้วท่านไม่ต้องฝึกแล้ว ท่านไม่ต้องเรียนแล้ว แต่ว่าท่านอาศัย

อานาปานสติเป็นเครื่องอยู่ให้มีความสุขอยู่ในปัจจุบัน เพราะมันสังเกตไปได้หมดเลยว่า หายใจเข้า-หายใจออกในแต่ละขณะ ตัวความเป็นเวทนาเอียงไปทางสุข หรือว่าเอียงไปทางทุกข์ ตัวของจิตมันกำลังปรุงแต่งไปในทางฟุ้งซ่าน หรือว่ามีความสงบ แล้วก็ตัวของสภาวธรรมที่ละเอียดขึ้นไป คือพอจิตของเรามีความคม มีความสามารถรู้เห็นแจ่มชัด มันจะแยกได้เป็นชั้นๆเลยว่า ตอนที่เราจะหายใจ มีสติหรือไม่มีสติ ถ้ามีสติมันเห็นเลยว่าลมหายใจสั้นหรือยาว เข้าหรือออก

แล้วจากนั้นมันเห็นเลยว่า ที่มาควบคู่กันกับลมหายใจที่มีความยาว ก็คือความสุข แล้วความสุขที่มันเกิดขึ้น มีความเบา มีความสบายอย่างต่อเนื่องไปได้สักพักหนึ่ง ก็ปรุงแต่งให้จิตมีความสงบ มีความใหญ่ มีความกว้าง ไม่มีความฟุ้งซ่านมารบกวนจิตใจเป็นธรรมดา นี่มันก็เห็นนะครับ เห็นหมดเลยว่าสภาวะของรูปเป็นอย่างไร สภาวะของเวทนาเป็นอย่างไร แล้วก็สภาวะของจิตเป็นอย่างไรอยู่ในแต่ละลมหายใจ อันนี้แหละคือสิ่งที่จะพบตรงกันว่า ฝึกอานาปานสติอย่างถูกต้องแล้วมันจะให้ผลเป็นความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็สามารถเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม ได้ครบในที่เดียวนะครับ ไม่ต้องไปฝึกกรรมฐานกองอื่นเลย เอากองนี้กองเดียว ทุกอย่างเบ็ดเสร็จครบถ้วนอยู่ในตัวเองแล้ว

------------------------------------------

๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้อาการปวดเสียวหน้าผากขณะนั่งสมาธิ

คำถาม : ฝึกอานาปานสติอย่างเดียว อานาปานสติเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาใช่ไหม เริ่มฝึกอานาปานสติอย่างเดียวเพียงพอใช่ไหมคะ?

ระยะเวลาคลิป    ๑๓.๓๕ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=AxRv5GcnGtE&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=10

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น