วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

นั่งสมาธิโดยการสังเกตจิตที่เคลื่อนออกจากกาย ถ้ามีเสียงอะไรเล็กน้อยแล้วชอบตกใจ ควรทำอย่างไรดี?

 ดังตฤณ :  ตอนที่มีสมาธิ คุณนึกถึงสภาพที่มันไม่พร้อมจะเคลื่อนนะ เรียกว่าเป็นการมีสมาธิแบบแช่แข็ง ถ้าเป็นสมาธิในแบบรู้ตัวจริงๆ มันจะมีสติ แล้วก็มีความยืดหยุ่นที่สูงกว่าตอนเรามีจิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆแบบนี้

เพราะฉะนั้น อาการตกใจมาก ต้องทำให้คุณรู้ตัวเองว่า ที่แท้แล้วเรามีสมาธิแบบแช่แข็ง มีสมาธิในแบบที่มันพร้อมจะกระตุก หรือพร้อมที่จะมีจิตหด ไม่ใช่พร้อมจะมีความรู้ตื่น ไม่ใช่พร้อมจะมีความยืดหยุ่น ไม่ใช่มีความพร้อมที่จะเบิกบาน

ทีนี้ถามว่า แก้ยังไง?

มันไม่ใช่แก้ด้วยการอยู่ๆไปดัดจิตให้มันอ่อนลง ไม่ใช่อยู่ๆไปพยายามทำให้จิตมีสภาพยืดหยุ่น แต่เป็นการสังเกต ณ ขณะที่มีความตกใจ คือตอนตกใจมันไม่สามารถทำอะไรได้หรอก แต่หลังจากตกใจ มันมีอาการเข้าที่เข้าทาง กลับมาสู่สภาพปกติเป็นสมาธิ แบบที่คุณนิยามว่าเป็นสมาธิได้เร็วแค่ไหน

ถ้าหากว่าตกใจสะดุ้ง แล้วรู้สึกว่ากลับเป็นปกติได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว นั่นแสดงว่า ณ ขณะที่มีอาการตกใจนั้น อุเบกขามันเข้ามาแทนที่อาการตกใจ พูดง่ายๆว่า มีสติมีความระลึกรู้ได้ ไม่ใช่ว่าตกใจแล้วจิตหด หรือว่าจิตหายไปเลย ไม่ใช่เสียขวัญ ไม่ใช่ตัวสมาธิกลายเป็นของที่บุบสลาย หรือว่าคล้ายๆกับของที่มันถูกทุบตีแล้วมันบู้บี้ไป แต่เป็นสิ่งที่กลับฟื้นฟูเข้าสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว จิตที่มีสติ จิตที่มีอุเบกขา มันจะมีลักษณะอย่างนี้

แต่ถ้าหากว่า คุณตกใจจากเสียงอะไรเล็กน้อย แล้วมันหายไปเลย เตลิดไปเลย นั่นแสดงว่าไม่มีสติ แล้วก็ยังไม่มีกำลังของอุเบกขามากพอ ให้รู้ตัว แล้วก็ยอมรับตามจริงว่า สภาพจิตมันเป็นของมันอย่างนั้น พอรู้แล้วยอมรับแล้วว่าสภาพจิตของเรามันยังกระตุกง่าย มันยังหดตัวง่าย แล้วเกิดอะไรขึ้น?

ครั้งต่อมาให้สังเกตอีก แล้วอาการตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะสังเกตนั่นแหละ จะทำให้สติเกิดเร็วขึ้น อุเบกขากลับมาไวขึ้น ถ้าอุเบกขากลับมาไวขึ้น คุณจะรู้สึกเลยว่า เราตั้งใจไว้แล้ว ทำใจไว้แล้วว่าจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แล้วก็กลับเข้าที่ กลับเข้าสู่สภาพเดิมที่มีก่อนหน้าจะเกิดเสียงและตกใจนะครับ ลองไปทำดู แล้วจะเข้าใจว่าที่ผมพูด มันคือสภาวะแบบไหน

จิตเนี่ยนะ คุณรู้กลไกทำงานของมันอย่างหนึ่ง เราเตรียมใจไว้อย่างไร มันจะสีสติดัก ณ เวลาที่จะเกิดเหตุการณ์ตรงนั้นขึ้นมาจริงๆล่วงหน้า คือมีสติล่วงหน้าที่จะรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า อย่างที่คนมักจะถามว่า ถ้าเกิดปรากฏการณ์ อย่างเช่นความสว่าง หรือเกิดการไปเห็นภาพนิมิต แล้วควรจะทำอย่างไร ถ้าไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน คนจะหลง ร้อยทั้งร้อยจะหลงไปตามนิมิต หรือหลงไปตามความสว่างความโอภาสที่มันเกิดขึ้นมา แล้วก็ตื่นเต้น เกิดความรู้สึกว่า เอ๊ะ! นี่มันเป็นภาวะอะไรที่มันวิเศษ

แต่ถ้าเราเตรียมใจล่วงหน้าว่า นั่นคือการปรุงแต่งของจิต เพื่อที่จะมาหลอกล่อให้เราเขวออกจากทางสมาธิ เวลาเกิดอะไรเหล่านั้นขึ้น จิตมันจะเฉยๆเป็นอุเบกขา เพราะเตรียมไว้แล้วล่วงหน้า

การเตรียมไว้แล้วล่วงหน้าจึงสำคัญมากว่า เกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไร จะเปรียบเหมือนกับคนปกติก็ได้ เช่นบอกว่า ถ้าขับรถไปแล้วเจออะไรที่มันเข้ามาดักหน้ากะทันหัน จะให้ทำยังไง ถ้าหากว่าไม่ได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้า ก็หักหลบ ถ้าหักหลบ รถก็คว่ำกัน

แต่ถ้าเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่าเราจะถือพวงมาลัยตรงๆ แล้วก็ตั้งสติไม่ตกใจ แล้วก็เหยียบเบรค คืออะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ถ้าหากว่ามันมาแบบกะทันหัน เราก็จะมีความรับรู้ว่า พอถึงเวลามันเกิดขึ้นจริงๆ มันจะถือพวงมาลัยตรงได้ แล้วก็ทำใจในแบบที่มันไม่ตื่นเต้นตระหนกได้นะครับ อันนี้ก็ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่าในชีวิตประจำก็เหมือนกัน ถ้าเราเตรียมใจอะไรไว้ล่วงหน้า ดักไว้ล่วงหน้า เรียนรู้ไว้ก่อนว่าอะไรๆมันก็เกิดขึ้นได้ แล้วเผื่อไว้ในใจ ทำไว้ในใจ อย่างนี้ มันจะเหมือนกับมีอนุสติ มันจะมีอะไรที่มันแฝงอยู่ในส่วนลึก พอเกิดขึ้นจริงปุ๊บ มันก็เหมือนกับเป็นการลั่นไกตัวที่เราเตรียมไว้ โปรแกรมที่เราเตรียมไว้มาใช้งาน แล้วมันก็จะถูกนำขึ้นมาใช้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปคิด ณ จุดเกิดเหตุซ้ำอีกว่า จะเอายังไง จะทำยังไงนะครับ

-----------------------------------------------

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงงาน

คำถาม : นั่งสมาธิโดยการสังเกตจิตที่เคลื่อนออกจากกาย ถ้ามีเสียงอะไรเล็กน้อยแล้วชอบตกใจ ควรทำอย่างไรดี?

ระยะเวลาคลิป    ๗.๑๓ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=OkhUTi8fFog&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=9

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น