วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี แก้อาการปวดเสียวหน้าผากขณะนั่งสมาธิ

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี แก้อาการปวดเสียวหน้าผากขณะนั่งสมาธิ

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนวันเสาร์สามทุ่ม สำหรับคืนนี้เป็นปัญหายอดฮิตของคนที่นั่งสมาธิ โดยเฉพาะในไทยนะครับ

 

คือ ทำอย่างไรจะแก้อาการปวดหน่วง ปวดเสียว ที่อยู่ระหว่างหน้าผากได้ เพราะพอนั่งสมาธิทีไร มีอาการราวกับว่า มีของหน่วงๆ หนักๆ ไปถ่วงอยู่ที่หน้าผากทุกที บางคนก็นึกว่าเป็นไสยศาสตร์ก็มีนะครับ

 

แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อนั่นเองนะ เวลาที่เราฝึกสมาธิ แล้วเล็งผิด มีอาการภายใน มีมุมมองภายในที่ไม่ใช่ ผลก็ออกมาไม่ใช่เหมือนกัน

 

ถ้าเราทำสมาธิแบบหนัก ผลก็จะกลายเป็นอาการหนักๆ ทางกายได้

 

รูปแบบการนั่งสมาธิในไทย มีส่วนสำคัญ คืออย่างที่สอนกันทั่วไปนี่ สอนกันแนวที่จิตเข้าไปในที่คับแคบนะ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามที่จะดูว่า ลมกระทบที่จงอยจมูกตรงไหน หรือนับลม หรืออะไรต่างๆ แม้กระทั่งการบริกรรม คือไม่ได้มีการสอนให้สังเกต จับจุดให้ถูกว่า ดูอย่างไร ตั้งท่าตั้งทางอย่างไร หรือว่ามีมุมมองภายในอย่างไร แล้วเกิดความรู้สึกว่า มันสบายผ่อนคลาย

 

แล้วพอไม่มีการแนะนำไว้ก่อนนี่นะครับ เมื่อเกิดการปวดเสียว หรือว่ามีอาการหน่วงหน้าผาก ก็ยิ่งไปกังวล แล้วก็ไปสนใจเฉพาะจุดที่ปวดเสียวนั้น ยิ่งเท่ากับเอาจิตไปจดจ่อ อยู่กับทุกขเวทนาในแบบที่ยิ่งรัดแน่นขึ้น แทนที่จะสังเกตทุกขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง กลายเป็นกังวล แล้วก็ยึดอาการทุกขเวทนานั้น โดยความเป็นของที่เที่ยง เป็นของที่รบกวนจิตใจเรา เป็นอุปสรรค เป็นตัวถ่วง เป็นการรบกวนจากสิ่งที่มองไม่เห็นภายนอกหรือเปล่า อะไรแบบนี้

 

ก็เป็นความหลงไปในการทำสมาธิ แบบที่ไม่เอื้อให้เกิดความเบา ไม่เอื้อให้เกิดความสงบ ไม่เอื้อให้เกิดความตื่นรู้

 

เรามาทำความเข้าใจเบื้องต้นพื้นฐานกันก่อนที่ตรงนี้ ถ้าหากว่า คุณเริ่มต้นขึ้นมา จะบริกรรมพุทโธ จะบริกรรมในแบบนับลม หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ดูลมกระทบตรงจมูก ตรงไหนก็แล้วแต่ ลองสังเกตดูว่า จิตของเรา ตั้งอยู่กับการเน้น พยายามทำความจับให้มั่นคั้นให้ตายหรือเปล่า

 

อาการของจิตนี่ ถ้าจิตมีอาการจับให้มั่นคั้นให้ตาย แม้แต่นิดเดียวนะ แม้แต่ที่เรารู้สึกว่า เอ๊ะไม่ได้เพ่งมากไม่ได้ไปซีเรียสมาก แต่ถ้ามีอาการจับให้มั่นคั้นให้ตาย นั่นแหละ ตัวนี้แหละ คือเค้าเงื่อนของการปวดเสียว

 

บางทีไม่ใช่เฉพาะที่หน้าผาก บางทีมีอาการตามไหล่ ตามบ่า หรือตามหลังอะไรแบบนี้นี่นะ ยิ่งคนที่นั่งแบบก้มหน้านี่ตัวร้ายเลย ถ้าหากว่าเรานั่งก้มหน้าด้วย แล้วพยายามที่จะบริกรรมแบบจับให้มั่นคั้นให้ตายด้วย จะปวดคอแน่ๆ แล้วก็ลักษณะของการเพ่ง จะเพ่งเหมือนกับจี้ลงไป

 

คุณลองนึกถึงคนที่กำลังพยายามแก้ปัญหาอยู่ด้วยความจริงจัง จะขมวดคิ้วใช่ไหม แล้วพอขมวดคิ้วนี่ กล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตัวที่อยู่ใกล้ๆ กับคิ้วนี่ ก็จะแน่น ก็จะตึง ก็จะเครียดหนักทั้งหมด

 

ทีนี้ เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อทำสมาธิแบบฝืน จนกระทั่งทุกครั้งที่เราคิดว่าเรากำลังจะนั่งสมาธิ แล้วกล้ามเนื้อเข้าจุดเกร็งโดยที่เราไม่รู้ตัวนี่ ในที่สุดจะเกิดการสะสม เป็นอัตโนมัติ มีการทำงานของกล้ามเนื้อชุดหนึ่งที่เหมือนกับ พอเราตั้งใจว่าเราจะนั่งสมาธิปุ๊บ กล้ามเนื้อชุดนี้จะรัดแน่นทันที ทำงานอัตโนมัติทันที

 

เพราะฉะนั้นนี่ ถึงแม้ว่า คุณจะรู้ตัวแล้วว่า ทำสมาธิมาผิดทาง แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอาการหน่วงเสียว แล้วพยายามที่จะมาปรับให้สบาย อันนี้บางทีสายเกินไป นี่หลายคนเลยบอกว่า ไม่ได้พยายามเพ่งแล้วนะ ไม่ได้บีบบังคับตัวเองแล้ว พยายามปล่อยสบายๆ แต่ก็ยังปวดเสียวอยู่ดี อันนี้เพราะว่าเราสะสมความเคยชินมาจนกระทั่งกล้ามเนื้อทำงานเป็นอัตโนมัติ เข้าช่องเครียดโดยอัตโนมัติของมันแล้ว

 

พอจิตนี่ตั้งต้นทำสมาธิ คิดว่าจะบริกรรมในแบบที่ตัวเองเคยชิน ไม่ว่าจะบริกรรมแบบไหนก็ตาม ก็เกิดอาการขึ้นมาทันที

 

ตัวนี้นี่นะ พอมีความเข้าใจแบบนี้แล้วเห็นภาพรวมแบบนี้แล้วนี่ เราก็จะพอมองออกแล้วว่า จะหาทางออกกันอย่างไร

 

ทางออกคืออย่างไร ก็คือเปลี่ยนวิธี เอาที่เรายังไม่ชิน แล้วก็เอาที่สามารถแก้ทาง คือแทนที่ว่าเราบอกตัวเองว่า จะนั่งสมาธิปุ๊บ แล้วกล้ามเนื้อหน้าผาก ทำงานทันทีนี่ เปลี่ยนเป็นว่า พอเราใช้วิธีใหม่ แล้วมีความผ่อนคลาย มีความสบาย มีความเป็นไปเองตามธรรมชาติขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่า เรากำลังเยียวยา หรือถอนความเคยชินที่สะสมมา ด้วยความเคยชินแบบใหม่ สะสมความเคยชินกันใหม่

 

คือถ้าเราเอาที่ยังไม่ชิน แล้วก็วิธีนั้นทำให้ผ่อนคลายด้วย วิถีจิตและการทำงานของกล้ามเนื้อจะต่างไป เข้าใจนะ

 

พูดง่ายๆ ภาพรวมนะ เดิมทีเราทำสมาธิมาในแบบที่จะดึงกล้ามเนื้อให้ทำงานผิดทาง เปลี่ยนมาเป็นแก้ความเคยชิน ให้การทำสมาธิของเรานี่ เป็นการทำให้เกิดความผ่อนคลายขึ้นมาแทน

 

เอาแบบง่ายที่สุด เราใช้วิธีการสวดมนต์ เพราะถ้าสวดมนต์อย่างถูกต้อง สวดแบบเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำนะ ถ้าหากว่าเราสวดนานพอ แก้วเสียงจะช่วยคลายกล้ามเนื้อใบหน้าลงได้ ลองสังเกตดูนะ แบบที่เราสวดมนต์กันทุกครั้งหลังจากรายการ ก่อนรายการจบนี่นะ พอ อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน ...

 

ลักษณะของแก้วเสียงที่เปล่งออกมาเต็มปากเต็มคำ จะช่วยให้กล้ามเนื้อใบหน้าผ่อนคลาย คุณลองสังเกตดู ยิ่งถ้าใครมีความชำนาญ ตั้งจิตไว้ถูก อย่างบอกว่าก่อนสวดเราไม่ได้หวังจะขอพรอะไรทั้งสิ้น เราไม่ได้กะจะเอาอะไรจากการสวดทั้งสิ้น นอกจากถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา

 

จิตที่ถูกปรุงแต่ง ด้วยความตั้งใจจะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา อยากสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นจิตที่เป็นมหากุศล

 

และจิตที่เป็นมหากุศล ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน เมื่อใจเป็นมหากุศลแล้ว ร่างกายย่อมผ่อนคลาย และมีสภาพคล้อยตาม จูนติดกับความเป็นมหากุศลของจิตด้วยเช่นกัน

 

พอเรารู้สึกได้ถึงกล้ามเนื้อที่ผ่อนคลายทั่วใบหน้า กล้ามเนื้อที่ผ่อนคลายทั่วตัวนะ ให้บอกตัวเอง สังเกต จับจุดให้ถูกว่า ลักษณะของการตั้งจิตไว้แบบนี้แหละ ที่เปิดกว้าง สบายๆ นี่ เราจะใช้เป็นชนวนของสมาธิ

 

ประเภทมานั่งเพ่ง จะเอาความสงบ หรือจะกำจัดความฟุ้งซ่านให้ได้ ภายในอึดใจเดียว ... เลิก ไม่เอานะ

 

นอกจากนั้น ก็ยังมีแนวหนึ่ง ที่เราสามารถเอาไปปรับใช้ คือสังเกตบ่อยๆ สังเกตไล่ขึ้นมาจากล่างขึ้นมาหาบน สังเกตว่า ฝ่าเท้าของเรา วางราบอยู่กับพื้น มีอาการจิก มีอาการเกร็งหรือเปล่า

 

ถ้ามีอาการเกร็ง ก็ปล่อยให้คลาย เราจะรู้สึกว่าสบายขึ้นมาทันที พื้นจิตพื้นใจอยู่ที่ฝ่าเท้าของเรานะ ฝ่าเท้าเราเป็นอย่างไร พื้นจิตพื้นใจของเราก็เป็นอย่างนั้น

 

ทีนี้พอฝ่าเท้าผ่อนคลายดี เราก็ผ่อนคลายฝ่ามือ จะวางมือไว้บนหน้าตัก หรือว่าจะทำอย่างไรของคุณก็แล้วแต่ อย่างที่ผมทำนี่ จะวางมือไว้บนหน้าตัก คือเดิมขึ้นมา ผมก็นั่งเอามือซ้อนมือนั่นแหละ คือจริงๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เอามือซ้อนมือ ของไทยเราเอามาทำกัน

 

แล้วมือซ้อนมือ คุณลองสังเกต แต่ละคนอาจไม่เหมือนกันก็ได้ บางคนทำได้ก็โอเค อนุโมทนา แต่คนส่วนใหญ่พอมือซ้อนมือ ไหล่จะห่อแล้วหน้าจะก้ม ตัวนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เราจะบริกรรม หรือดูลมหายใจอย่างไรก็แล้วแต่ จะเข้าสู่ความเคยชินที่จะเพ่ง

 

ทีนี้ถ้าเราสังเกต ฝ่าเท้า ฝ่ามือผ่อนคลายแล้ว สบายขึ้นมาครึ่งตัวแล้ว ก็สำรวจใบหน้า ถ้าหากว่ายังตึงอยู่ไม่เลิกนั่นแสดงว่า คุณสะสมความเคยชินมาในแบบที่ค่อนข้างจะหนักพอสมควร แต่ถ้าเราค่อยๆ ฝึกที่จะไล่ขึ้นมา ฝ่าเท้า ฝ่ามือ ใบหน้าผ่อนคลายทั้งหมด ก็จะค่อยๆ เข้าสู่ความเคยชินแบบใหม่นะครับ

 

แล้วก็พอเราเริ่มต้นขึ้นมา สวดมนต์แบบเปล่งแก้วเสียง ถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา จนกระทั่งจับจุดถูกแล้วว่า ตั้งจิตไว้อย่างไร ที่ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ แล้วเราก็ดูอาการตอนนั้น ตอนที่รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ก็คือตอนที่เราเชิดหน้านิดหนึ่ง ไม่ใช่ก้มหน้า แล้วอกผายไหล่ผึ่ง ไม่ใช่ไหล่ห่อ

 

พอเราเงยหน้า แล้วรู้สึกถึงลมขึ้นมาเมื่อไหร่ ให้สังเกตว่า การรู้ลมของเรา ณ จุดนั้น ณ เวลานั้น เป็นการรู้ที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย แบบเดียวกันกับตอนที่เราสวดมนต์ถวายแก้วเสียงหรือเปล่า ถ้าสบาย ถ้าผ่อนคลาย แบบเดียวกัน ก็ให้ถือว่า รู้อย่างนั้น ใช่

 

นี่ เห็นไหม มีจุดอ้างอิงนะ มีแกนอ้างอิง มีเรเฟอร์เรนซ์ (reference) นะครับว่าทำแบบนั้นถึงจะถูก

 

ไม่อย่างนั้น อยู่ๆ บอกว่าให้พยายามสบายๆ ให้พยายามผ่อนคลาย จะไม่มีแกนอ้างอิง ไม่รู้จะเอาไปเทียบกับอะไร แต่พอเราสวดแบบถวายแก้วเสียงเป็น คราวนี้มีจุดอ้างอิงทางจิตว่าด้วยอารมณ์แบบนี้ ประมาณนี้ ถึงจะเป็นที่สบาย ถึงจะเป็นชนวนเริ่มต้นของสมาธิได้

 

ทีนี้ ก็ต้องสังเกตตามจริงด้วยว่า ทำๆ ไปความเคยชินแบบเดิมๆ กลับมาหรือเปล่า ก็ดูง่ายๆ เลยว่า ขนาดไหนที่จะเกิดอาการหน้าผากตึงๆ ขึ้นมา จากเดิมที่ผ่อนคลายสบายแล้ว กลายเป็นตึงๆ ตัวนี้เราก็สังเกตหมดเลย ว่า ถ้าทางอาการของเรานั่งหลังงอหรือเปล่า หรือว่าไหล่ห่อหรือเปล่า ก้มหน้าอยู่หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่ารู้เป็นขณะๆ ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของความเครียด นี่คือจุดเริ่มต้นของความเกร็ง แล้วเราปรับให้ถูกต้องได้ เราก็จะเข้าใจแล้ว คือเข้าใจขึ้นมาจริงๆว่า จะทำให้การนั่งสมาธิของเราเป็นไปในแบบที่มีสติ รู้ตัวว่า กำลังเข้าช่องผิด แล้วก็มีสติ รู้ทันว่า แบบนี้เป็นอาการที่เริ่มจะเข้าสู่โหมดเครียด โหมดที่กล้ามเนื้อจะรัดตัว หรือว่ามีสติ รู้พร้อมว่า อย่างนี้ต่างหากที่เป็นอาการสบาย อย่างนี้ต่างหากที่จะทำให้เรานั่งสมาธิแล้วเกิดความสงบขึ้นมาจริงๆ สงบจากความอยากได้อยากมี อยากดีอยากเป็น

 

เป็นการสงบขึ้นมาจากการมีสติ รู้ทันว่า ณ ขณะหนึ่งๆ เราตั้งจิตไว้ในแบบที่จะทำให้เกิดความผ่อนคลาย แล้วพร้อมตื่นรู้ นี่ก็คือแนวทางนะครับ

 

พูดง่ายๆ นะ ถ้าเราจะแก้อาการหน่วงเสียว เราต้องเลิกทำแบบเดิมนะครับ แล้ววิธีที่จะเลิกทำแบบเดิม โดยรู้ตัวว่า ทำใหม่แล้วถูกต้องนี่ ก็ต้องมีแกนอ้างอิงนะครับ คือวิธีใหม่ที่สามารถเป็นที่ประจักษ์ต่อเราได้ เกิดประสบการณ์ทางจิต ประสบการณ์ทางกายได้ว่า อย่างนี้ถึงจะสบาย อย่างนี้ถึงจะเป็นไปเพื่อความรู้พร้อมนะ

___________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี แก้อาการปวดเสียวหน้าผากขณะนั่งสมาธิ

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=P7ThbVEHG3s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น