ดังตฤณ : อันนี้เป็นหลักการเลยนะครับ การที่คนๆหนึ่งจะเห็นว่า กายใจนี้เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน มีอยู่ด้วย 2 สาเหตุหลักๆ
๑ คือเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในกายใจนี้ จะเป็นลมหายใจก็ตาม หรือว่าจะเป็นสภาพจิตก็ตาม จะเป็นความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตามอย่างใดอย่างหนึ่ง เห็น ณ ขณะที่มันหายไปแล้วเรารู้สึกเห็นอยู่ในห้วงมโนทวาร เห็นเป็นนิมิตเลยว่า อย่างลมหายใจเป็นสาย พอสายลมหายใจนั้นหายไปดับไป เรารู้ทันทีว่า นี่!ลมหายใจล่วงดับไปแล้ว ลมหายใจหนึ่งมันดับหายไปแล้ว นี่มันก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาในจิตว่า ลมหายใจนี้ไม่ใช่ตัวตน
๒ หรือเห็นเป็นสภาวะทางใจ เวลามีความสุขมันเบ่งบานสดชื่น แล้วความสดชื่นชัดเจนตรงนั้น ความเบ่งบานที่แจ่มชัดตรงนั้น ที่ปรากฏเป็นนิมิตต่อใจนั้น เหมือนกับดอกไม้บานมันหุบลง ก็เห็นว่าเวทนาตรงนั้น ความสุขตรงนั้น มันไม่เที่ยง นี่ก็เริ่มเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนแล้วนะครับ
ดูจิตไปเรื่อยๆเนี่ย คุณใช้เป็นคำไม่ได้นะครับ
คุณต้องบอกตัวเองถูกว่า
สิ่งที่คุณเห็น หน้าตาเป็นยังไงด้วย อย่างถ้าบอกว่าเห็นจิต เห็นจิตแบบไหน
เป็นกุศลหรือว่าอกุศล มันมีความสว่างกว้างเพียงใด หรือว่ามีความมืดคับแคบกว่ากันเท่าไหน
มันต้องบอกได้ด้วย ไม่ใช่บอกว่าดูจิต ดูคำว่าดูจิตเนี่ย มันกว้างเหลือเกินนะครับ
ดูจิต พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะครับ ให้เริ่มฝึกดูจากการที่ พอราคะเกิดขึ้นในจิต รู้ว่าราคะเกิดขึ้นในจิต พอราคะหายไปจากจิต รู้ว่าราคะหายไปจากจิต ถ้ามีโทสะเกิดขึ้นในจิต รู้ว่ามีโทสะเกิดขึ้นใจจิต รู้ตามจริง ยอมรับตามจริง แล้วถ้าโทสะนั้นหายไปจากจิต ก็ให้รู้ว่าโทสะหายไปแล้วจากจิต
การที่เราดูผ่านกิเลส จะเป็นราคะก็ตาม จะเป็นโทสะก็ตาม มันทำให้เห็นว่า สิ่งที่เหลือหลังจากที่กิเลสหนึ่งๆหายไปแล้วก็คือ จิตที่ปราศจากกิเลสแบบนั้นๆ พูดง่ายๆว่าจากการเห็นอาการทางใจที่ไม่โล่ง กลายเป็นใจที่มันโล่งว่างสว่าง แล้วก็ปราศจากกิเลสแบบหนึ่งๆ
หลักการของพระพุทธเจ้าที่ให้ดูจิต เริ่มดูอย่างนี้ เริ่มดูโดยการเปรียบเทียบ ซึ่งคุณดูแบบนั้นหรือเปล่า แล้วถ้าดู ดูแล้วเห็นยังไง นี่!ตรงนี้ที่มันต้องมาคุยกันจริงๆ คือไม่ใช่แค่บอกว่าดูจิตไปเรื่อยๆแล้วเมื่อไหร่มันจะเห็นความไม่ใช่ตัวตนเสียที คุณอาจจะไม่ได้ดูจิตเลยก็ได้นะที่ผ่านมา
คุณจะรับหลักการมาอย่างไรก็ตาม หรือว่าฟังคำสอนที่ถูกต้องมาแบบไหนก็ตาม แต่ถ้าหากว่าคุณตอบตัวเองไม่ถูกว่า คุณเห็นอะไร แล้วเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หรือว่าโดยความเป็นของปรุงประกอบเข้าด้วยกัน ถ้าอธิบายไม่ถูก มันก็อาจจะไม่ได้ดูจิตก็ได้นะครับ ดูภายในขอบเขตกายใจก็คือ
๑ เห็นความไม่เที่ยง
๒ เห็นโดยความเป็นของปรุงประกอบ
ต้องประชุมกันด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ที่จะโกรธ
อยู่ๆมันโกรธขึ้นมาเองไม่ได้ ต้องมีต้นเหตุของความโกรธมากระทบทางหู ทางตา
แล้วจิตมันเกิดเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา พระพุทธเจ้าให้ดูว่า
ถ้าต้นเหตุของฟืนไฟคือไม้มาสีกัน แล้วเกิดไฟลุกขึ้นมา ถ้าแยกไม้ออกจากกัน
ไฟก็ดับไปหายไป นี่ท่านให้ดูโดยความเป็นของปรุงประกอบกันแบบนี้
ถ้าเราเห็นในลักษณะนี้คือ มีสิ่งมากระทบ แล้วก็เกิดโทสะขึ้นมา พอสิ่งกระทบหายไป โทสะก็ดับตาม นี่อย่างนี้เรียกว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดการเห็นว่าโทสะมันเป็นอนัตตา
ลักษณะการเห็นเนี่ย
ถ้าเราบอกถูก ถ้าเรานิยามได้ชัดเจน มันจะเป็นเครื่องประกันว่า สิ่งที่เราดูๆ
สิ่งที่เราฝึกๆอยู่ เราฝึกอยู่จริงๆ เห็นจริงๆ ดูจริงๆนะครับ!
-----------------------------------------------
๓๑
ตุลาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน อภัยแต่ไม่คบ จบเวรไหม?
คำถาม : ดูจิตไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่ที่เราจะเริ่มเห็นความไม่ใช่ตัวเราคะ?
ระยะเวลาคลิป ๔.๕๙ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=SkbCIJdJwXE&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=7
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น