วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนวันเสาร์สามทุ่มนะครับ

 

คืนนี้ เราจะมาพูดหัวข้อที่หลายท่านก็คงจะมีความรู้สึกท้อแท้อยู่ เพราะทำสมาธิมา บางคนทำกันมาสามสิบปี ไม่เคยที่จะรู้สึกภาคภูมิเลย ว่าตัวเองประสบความสำเร็จกับการทำสมาธิ นั่งสมาธิกับเขาได้ เพราะว่ารู้สึกว่าตัวเองจิตอ่อน

 

แล้วก็ คนมักจะเข้าใจว่า การทำสมาธิต้องอาศัยพรสวรรค์ ต้องอาศัยพลังติดตัว ต้องอาศัยจิตที่เข้มแข็งอะไรมากๆ แต่จริงๆ แล้วนี่ ที่จะมีจิตเข้มแข็งขึ้นมา พ้นจากความจิตอ่อนได้ ก่อนอื่นใดเลยต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

ถ้าตราบใดยังมีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่ ตราบนั้น การทำสมาธิอย่าว่าแต่ชาตินี้นะ เกิดอีกกี่ชาติก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวในการทำสมาธิเสมอ

 

เรามาดูกันนะว่า ความเข้าใจผิดที่นำไปสู่การทำสมาธิล้มเหลว มีอะไรอยู่บ้าง

 

วันนี้ ลิสต์มาแค่ 5 ข้อ แต่จริงๆ อาจมีมากกว่านี้นะ แต่ความเข้าใจผิดทั้ง 5 ข้อนี้ เกิดจากประสบการณ์ตรงของผมเอง แล้วก็การสังเกตผู้คนมาเป็นจำนวนมากๆ นี่นะ พบว่า 5 ข้อนี้แหละที่สำคัญที่สุด แล้วก็ทำให้คนเริ่มต้นขึ้นมาก็ผิดเลยนะ ก้าวแรกก็พลาดเลยในการทำสมาธิ

 

ก้าวแรก ที่คนส่วนใหญ่นึกกันไม่ถึงคือ ความเข้าใจผิดว่าสมาธิคือของวิเศษนอกจิต

 

อันนี้คือบางทีไม่ได้เป็นภาษาพูด หรือว่าจะนึกคิดตามกันง่ายๆ นะ คนจะรู้สึกว่าสมาธิเป็นของสูงส่ง เป็นของนอกตัว เป็นของนอกจิต เป็นของอะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่พิเศษผิดธรรมดา ที่เหมือนกับเป็นสวรรค์ประทาน เหมือนกับแสงสว่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรแบบนั้น

 

ไม่เข้าใจว่า สมาธิ จริงๆ แล้ว คือจิตชนิดหนึ่ง เป็นดวงจิตดวงหนึ่ง

 

ตราบเท่าที่เรายังเข้าใจไม่ถูกนะ ตราบนั้น ความเข้าใจผิดข้อนี้จะลากความเข้าใจผิดข้ออื่น ตามมาแบบไม่มีที่สิ้นสุดเลย

 

ที่จะพูดถึงความเข้าใจผิดข้ออื่นๆ ต่อจากนี้ไป ก็ตามหลังความเข้าใจผิดข้อแรกมาทั้งนั้นเลย

 

หลายคนคงนึกไม่ถึงนะ แต่ถ้าสำรวจดูดีๆ คุณจะไม่รู้สึกว่า สมาธินี่เป็นจิตของคุณ จะนึกว่า สมาธิคืออะไรอย่างหนึ่ง ที่ทั้งชีวิตเอื้อมไม่ถึง ไม่มองว่า สมาธินี่ เกิดอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าคุณมีโฟกัสที่ดีพอ แล้วก็ใจเย็นพอ ทำให้มีโฟกัสให้ต่อเนื่องนานพอ จะเกิดสมาธิขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว

 

พอเราไปนึกถึงว่า คำว่าสมาธิ จะต้องเป็นการนั่งหลับตา เอามือซ้อนมือ แล้วก็มีสภาพนิ่งๆ เหมือนหุ่นปั้น เหมือนก้อนหิน แล้วข้างในจะเป็นปรากฎการณ์อะไรไม่รู้ รู้แต่ว่าไม่ใช่จิต ไม่ใช่ของปกติธรรมดาที่ใครๆ เขาก็มีกัน

 

เสร็จแล้วจะตามมาด้วยการที่ว่า ถ้าหากเราไม่ได้นั่งทำท่าเคร่งขรึมสักครึ่งชั่วโมง หรือว่าไม่ได้กักตัวที่จะให้สภาพร่างกายอยู่นิ่งๆ ถือว่าไม่ใช่สมาธิ อย่างอื่นนี่ เป็นแค่การที่เรามีใจจดจ่อ อยู่กับงาน หรือว่าเรามีความสนุกที่จะอยู่กับการเล่น

 

คำว่ามีสมาธิอยู่กับการเล่นกีฬา การเล่นดนตรี หรือการทำงานนี่ จะไม่เหมือนกับความเข้าใจเรื่องการมีสมาธิแบบหลับตา มันต่างกันนะ ก็เลยทำให้คนคนหนึ่ง ไม่ใส่ใจที่จะเคยชินอยู่กับการโฟกัสเวลาทำงาน

 

เวลาทำงานนี่ ทำเล่นๆ ทำเหมือนกับ อยากทำก็ทำ ไม่มีอารมณ์ก็ไม่ทำเต็มที่ ไม่ใส่ใจที่จะโฟกัส หรือเวลาเล่น เล่นเกม หรือดูหนังฟังเพลง ก็ปล่อยอารมณ์เรื่อยเปื่อย เลยจะมีความเข้าใจที่ผิดว่า การทำสมาธิ เริ่มต้นตอนนั่งอยู่หน้าหิ้งพระเท่านั้น

 

แล้วอันนี้นี่ สำคัญเลยนะ พอเข้าใจผิดอย่างนี้ ก็จะนึกว่าไม่ต้องอาศัยทุนจากที่อื่นมาก็ได้ คือมานั่งหลับตาทำสมาธิเอาหน้าหิ้งพระ ถือว่าเป็นภารกิจในการนั่งสมาธิแล้ว

จริงๆ แล้วนี่นะ ถ้าคุณเข้าใจถูกต้องว่า สมาธิจิต คือจิตธรรมดาๆ ของเราๆ ท่านๆ คุณจะใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ดูว่าตัวเองนี่ ทำงานมีโฟกัสไหม ใส่ใจตั้งแต่ตรงนั้น หรือเวลาเล่น ดูว่าเราปล่อยใจเรื่อยเปื่อย ถือว่าไม่ใช่ภารกิจหลัก ถือว่าเป็นเวลาปล่อยใจปล่อยจิตปล่อยใจ ตรงนี้นี่นะ ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสมาธิจิตทั้งหมดเลย

 

เห็นไหม คือถ้าคุณมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สมาธิคือจิตชนิดหนึ่ง คุณจะใส่ใจกับจิตในทุกขณะระหว่างวัน ว่าเป็นจิตที่มีโฟกัส หรือเป็นจิตที่หลุดจากโฟกัสในขณะหนึ่งๆ

 

แล้วจิตที่มีโฟกัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเรื่องงาน หรือเรื่องเล่น เวลาที่มานั่งสมาธิหน้าหิ้งพระ อันนั้นแหละ คุณจะเห็นเลยนะ ความต่าง โครงสร้างพื้นฐานที่ก่อร่างมาทั้งวัน จะมีความหนาแน่น จะเหมือนมีต้นทุน จะเหมือนคุณรู้ตัวเองเลยว่า มีความสามารถในการเริ่มก้าวแรก นั่งสมาธิแบบหลับตา ด้วยการที่โฟกัสถูกจุด โฟกัสได้ดีพอ มีกำลัง

 

ไม่อย่างนั้น จิตไม่มีกำลังโฟกัส จะทำตัวเหมือนกับตอนที่เล่นเกม ปล่อยใจฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย เห็นเป็นเวลาพักผ่อน เห็นเป็นเวลาที่ไม่ต้องสอบทำคะแนน ไม่ต้องทำงานเอาเป้า ไม่ต้องทำภารกิจอะไรที่จะได้เงินได้ทองมา

 

คนนะ ต้นทุนในการโฟกัสมักจะไปผูกอยู่กับสิ่งล่อใจ มักจะไปผูกอยู่กับรางวัลอะไรบางอย่างเช่นเงินทอง ความเคยชินแบบนี้ เลยทำให้คุณรู้สึกว่าเวลาในการนั่งสมาธิ ไม่มีความสามารถที่จะโฟกัส เพราะไม่ใช่เงินไง ไม่ได้สิ่งที่จะทำให้คุณมีหน้ามีตาในสังคมขึ้นมา หรือว่าไม่ได้ทำให้คุณมีฐานะ ตำแหน่ง ชื่อเสียงอะไรขึ้นมา เหมือนกับที่เราเคยชินกับการโฟกัส เพื่อที่จะเอาเงินเอาทอง หรือว่าเอาตำแหน่งชื่อเสียงการงานนะ

 

ความเข้าใจผิดข้อต่อไป ก็คือว่า เข้าใจผิดที่นึกว่า สมาธิ .. ตอนนี้เราพูดถึงสมาธิหลับตาแล้วนะ .. สำคัญผิดคิดว่า เราเริ่มนับหนึ่งกันที่ความกระเสือกกระสนอยากจะสงบ

 

คือถ้า ใจอยากสงบ นึกว่าอันนั้นคือก้าวแรกที่ถูกต้อง

 

อันนี้ เขาไม่พูดกันนะ คืออาการทางใจ ไม่เอามาแฉกัน ไม่เอามาเปิดโปงกัน ไม่เอามาคุยกัน ก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วนี่ คนส่วนใหญ่ตั้งความรู้สึกไว้อย่างนี้จริงๆ ก้าวแรกนี่อยากจะเอาความสงบ แล้วความอยากนี่ คือสวนทางกับสมาธิ ความอยากเป็นต้นเหตุของความปั่นป่วนทางจิต

 

จริงๆ แล้ว สมาธิเริ่มต้นนับหนึ่งกันที่สติ

 

พูดคำนี้นี่ ดูเหมือนง่ายนะ ดูเหมือน เอ้า ก็ตั้งใจมีสติ  ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ง่ายๆ แบบนั้น สติจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากว่า เรายังมีจิตใจอยากเอานั่นเอานี่อยู่ ยกตัวอย่างเช่น อยากจะสงบ ทั้งๆที่ยังไม่พร้อมจะสงบ ความอยากนี้แหละที่ทำให้ไปไม่ถึงไหน

 

ถ้าหากว่าคุณเริ่มต้นที่ใจ สำรวจเข้ามา นับหนึ่งกันที่ตรงนี้ ดูว่าตอนนั้น กำลังมีสติอยู่ หรือว่ามีความอยากอยู่ คุณจะพบความจริงว่า นี่กำลังตั้งต้นผิดแล้ว หรือว่านี่ตั้งต้นได้ถูกต้องแล้ว

 

ถ้าตั้งต้นที่ถูกต้องแล้วเป็นอย่างไร กลับมาจากทำงาน หรือว่าตื่นขึ้นมา เพิ่งผ่านพ้นความฝันที่ยุ่งเหยิงมา สำรวจใจตัวเองเข้าไป ยังปั่นป่วน ยังฟุ้งซ่าน แล้วมีสติ ยอมรับความจริงอย่างใจเย็น วางใจเป็นกลางว่า นี่ที่การหายใจตอนนี้ ในใจยุ่งเหยิงปั่นป่วน แล้วก็ไม่มีความอยากที่จะเอาชนะความฟุ้งซ่าน ไม่มีความอยากที่จะเอาให้จิตให้ใจตัวเองสงบได้เดี๋ยวนี้

 

พอไม่มีความอยาก จะมีแต่ความรู้ตรงตามจริง ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในจิต

 

พอเกิดสติเห็นอะไรตามจริง ใจจะเย็น ไม่ร้อน ไม่ปั่นป่วน ไม่มองว่าความฟุ้งซ่านนี่คือศัตรูร้าย แต่มองว่าความฟุ้งซ่าน ก็เป็นเครื่องตั้งของสติได้เหมือนกัน

 

ตรงนี้แหละ ที่คุณจะเริ่มเข้าทางสมาธิแบบพุทธได้ คือเห็นว่า ลมหายใจต่าง ระดับความฟุ้งซ่านก็ต่างได้ ลมหายใจนี้กำลังฟุ้งจัด อีกลมหายใจต่อมา ฟุ้งน้อยลง อีกลมหายใจต่อมา ความฟุ้งสงบลง เหลือแต่จิต เหลือแต่ใจที่มีความรู้นิ่งๆ อยู่ แล้วก็อีกลมหายใจต่อมากลับฟุ้งขึ้นมาอีก

 

ตรงนี้จะไม่มีความตื่นเต้น ไม่มีความยินดี แล้วก็ไม่มีความเสียใจ เวลาที่กลับฟุ้งซ่านขึ้นมา ไม่เสียใจแม้แต่นิดเดียว เวลาที่กลับสงบลง ก็ไม่มีความตื่นเต้นดีใจ มีแต่สติที่เห็นอยู่ รู้อยู่ว่า กำลังมีความฟุ้งซ่านที่ลมหายใจไหน กำลังมีความสงบที่ลมหายใจใด

 

ตัวสตินี่ สำคัญมาก มันจะเป็นชนวนของสมาธิ เป็นชนวนของสมาธิได้อย่างไร เป็นชนวนตรงที่ว่า สติ จะทำให้จิตไม่ว้าวุ่น

 

ตอนมีสติ มาปรุงแต่งให้จิตไม่ว้าวุ่น ตอนนั้น เป็นสมาธิอ่อนๆ ขึ้นมาแล้ว คือยังไม่ได้ตั้งมั่น เป็นสมาธิแบบมีวิตกวิจารณ์ ยังไม่ได้มีปีติ มีสุขนะ แต่จะมีพื้นฐานสำคัญที่สุด นั่นก็คือ ความไม่ว้าวุ่นของจิต อันนี้เป็นข้อที่ต้องจำนะ

 

ถ้าคุณยังเข้าใจผิดอยู่ นึกว่าเริ่มต้นนับหนึ่ง ด้วยอาการทางจิตที่อยากจะเอาความสงบตรงนั้น ไม่มีทางนะ ชาตินี้ ทั้งชาติเลย ไม่มีทางก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จอย่างใหญ่ในทางสมาธิได้เลย

 

ความเข้าใจผิดข้อที่สี่ ข้อต่อมานะ บอกว่า คนพอนั่งสมาธิไป ต้องมีเข้าสักครั้งที่ฟลุ้ค มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เอื้อให้จิตรวมลงเป็นสมาธิได้ ต้องมี ไม่ว่าจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักนั่งสมาธิที่กระจอกแค่ไหนก็ตาม ถ้านั่งไปเรื่อยๆ ทู่ซี้ไป เหมือนกับทำไม่หยุด วันหนึ่ง ต้องมีปัจจัยลงตัว ที่ทำให้เกิดสมาธิที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า จิตรวมตัวได้ จิตเป็นกระแสอะไรอย่างหนึ่งที่ผนึกตัวเข้ามา แล้วก็เป็นความสงบ ความนิ่ง ความใส ความสว่าง

 

ตรงนี้ ด้วยความไม่รู้ของมนุษย์ ก็มักจะยึดว่า เราประสบความสำเร็จแล้ว พอประสบความสำเร็จทางสมาธิขั้นไหน ก็พยายามไปแปะป้าย แบบว่าเอาคำศัพท์ไปกำกับไว้ว่า เราประสบความสำเร็จสมาธิขั้นไหน แล้วคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าตัวเองได้ฌานกันทั้งนั้น ทั้งที่เป็นสมาธิแบบนิ่ง แช่แข็ง ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ นึกว่าได้ฌาน หรือว่านึกว่าได้สมาธิขั้นสูงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็เข้าใจเอาตามอัตโนมัติสัญชาติญาณดิบๆ แบบคนที่ยังเข้าใจไม่จริง ว่า ถึงสมาธิขั้นไหนแล้ว ก็แปลว่าเราได้สมบัติเป็นสมาธิขั้นนั้น ติดตัวไว้แล้ว

 

อันนี้ไม่เข้าใจว่าสมาธิจิตเป็นของไหลนะ เหมือนน้ำที่พร้อมจะไหลลงต่ำ  หรือไหลไปปนเปื้อนกับมลพิษในชีวิตประจำวัน เช่นหลงระเริงไปกับการพูดคุย ออกอ่าวเรื่อยเปื่อย ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกไว้เป็นอาการเพ้อเจ้อ คือพูดแบบไม่มีเป้าหมาย พูดแบบไม่รู้เลยว่า มีหลักฐาน ไม่มีหลักฐาน พิสูจน์ได้ หรือพิสูจน์ไม่ได้ เอามันเข้าว่า เอาเรื่องเสียๆ หายๆ ของคนอื่น มาโขกมาสับกัน ให้เป็นที่ครื้นเครงอะไรแบบนั้น โดยที่ไม่รู้ตัวว่า จิตแบบนั้น ทำให้เกิดความแส่ส่าย เกิดความเคยชินที่จะเข้าโหมดแส่ส่าย หาโฟกัสไม่เจอ

 

ถึงแม้ว่าเคยทำสมาธิได้ดีมาก่อน ก็เหมือนทำไม่เคยเป็น แต่นี่ เรานี่ มนุษย์นี่ หลงไป เข้าใจไปว่า เคยทำสมาธิได้ดีแล้ว ถือว่าฉันเคยทำได้ เอาไปคุยโม้โอ้อวด บอกว่าฉันเคยทำได้ขั้นนั้นขั้นนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นขั้นที่ตรงตามบัญญัติหรือเปล่าก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่ามีความภูมิใจไว้แล้ว ว่าตัวเองทำสมาธิได้ แล้วสมาธินั้น เป็นสมบัติของฉันแล้ว ปล่อยจิตปล่อยใจเลย ระหว่างวันไม่ระวังจิตไม่ระวังใจ

 

แต่ถ้าเราเข้าใจให้ถูกต้อง กลับไปข้อแรกเลย เข้าไปทำความเข้าใจว่า สมาธิคือ จิตดวงหนึ่ง คือจิตชนิดหนึ่ง นี่จะมองออกเลยนะ อ่านเกมออก ว่า จิตถ้าส่วนใหญ่ ไหลไปกับมลพิษในชีวิตประจำวัน ก็ยากที่จะกลับมาตั้งเป็นสมาธิขึ้นมาได้

 

ถ้ามีดวงจิตส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน เป็นจิตเพ้อเจ้อ เป็นจิตที่แส่ส่าย ซัดส่าย เป็นจิตที่ไม่คุมอะไรเลย ไม่มีเป้าหมายอะไรเลย อยากพูดอะไรพูด อยากทำอะไรทำ แบบนี้นี่ จิตก็อยู่โดยมากเป็นจิตฟุ้งซ่าน จิตเลอะเลือนนะ ที่จะหวนกลับมาพัฒนาเป็นสมาธิจิตนี่ ยากมาก

 

ข้อสุดท้าย คือจริงๆ ไม่ใช่ท้ายสุด ยังมีข้ออื่นๆ อีก สาเหตุปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่นั่งสมาธิกันล้มเหลวนะ

 

ข้อห้านี่ ก็คือ คน ต่อให้นั่งสมาธิถูกแล้ว นั่งสมาธิเป็นแล้ว ก็ยังไปหลงกับดัก ไปติดเข้าอีกกับดักหนึ่ง คือ ความนึกว่าสมาธิเป็นของวิเศษวิโส คือขนาดออกจากสมาธิมาแล้วนะ เคลื่อนออกจากสมาธิดีๆ มาแล้ว ก็สำคัญว่า ตัวเองมีศักดิ์ศรี วิเศษวิโสเหนือคนธรรมดา

 

คือไม่เข้าใจว่า สมาธิ เป็นของสูง ที่คู่ควรกับจิตที่อ่อนโยน นุ่มนวล มีความนอบน้อมถ่อมตน ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็มีความอ่อนโยน ไม่ทะนงตัวต่อคนธรรมดาทั่วไประดับเดียวกัน หรือแม้แต่ระดับที่ล่างกว่า

 

คือคนนี่ ถ้ายังเข้าใจอยู่ว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้ตัวเองยิ่งใหญ่ ทำให้ตัวเองเหนือกว่ามนุษย์มนาทั้งหลาย ตราบนั้นจิตก็จะกระด้าง แล้วจิตที่กระด้าง มันสูงได้ไม่ถึงที่สุด มันจะเตี้ยๆ เหมือนกับคนหลังค่อม ที่มีเพดานจำกัด ยืดตัวตรงขึ้น สูงสง่างามถึงที่สุดไม่ได้

 

แต่ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สมาธิเป็นของสูง แล้วก็คู่ควรกับความอ่อนโยน อ่อนน้อม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตัวนี้ก็จะคู่ควรกับการเข้าถึงสมาธิขั้นสูงแบบพุทธได้เช่นกัน

 

สมาธิขั้นสูงแบบพุทธ มีความสามารถที่จะรู้ความไม่เที่ยงของจิต มีความสามารถที่จะรู้ความไม่คงสภาพอยู่ของจิต แล้วก็มีความสามารถที่จะรู้ความไม่ใช่ตัวเดิมของจิต

 

คือถ้าตราบใดยังกระด้างอยู่ ยังยโสโอหังอยู่ ยังทะนงว่า ข้าทำสมาธิได้ดี ก็จะยึดมั่นถือมั่นอยู่กับจิตที่เที่ยง ที่ทน ที่เป็นตัวของตน วันยังค่ำ จะไม่มีความสามารถที่จะเขยิบขึ้นไป ก้าวล้ำขึ้นไปเห็นความไม่เที่ยงของจิต เพราะโดนเพดาน โดนกำแพงของอัตตามานะกักไว้

 

ทีนี้พอคน ถ้าได้มีจิตที่อ่อนโยน แล้วก็ไม่ถือตัวถือตน แล้วก็พิจารณาใส่ใจ เห็นความไม่เที่ยงของจิต ก็เห็นจิตแสดงความไม่เที่ยง นี่จิตกำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ที่ชั่วโมงนี้ แล้วก็เสื่อมถอยลงมา กลายเป็นความคิดๆ นึกๆ ก็ยอมรับความจริงได้ ไม่มีความทะนงใดๆ เห็นแต่ว่าสภาวะหรือธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมดา รู้สึกว่าไม่ได้มีตัวตน ไม่ได้มีบุคคลอะไรที่เลิศลอยเพริดแพร้ว หรือว่าเหนือกว่ามนุษย์มนาที่ไหนเขา

 

ตรงนี้ถึงจะถึงจุดของความส่องสว่าง เยี่ยงสมาธิจิตที่มีความบริสุทธิ์แท้จริงได้ นี่แหละคือความสำเร็จที่จะทำสมาธิแบบพุทธขึ้นมา

 

สรุปคร่าวๆ ง่ายๆ นะ ว่า ที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิกันล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิแบบพุทธก็เพราะว่า เข้าใจผิด สำคัญผิด

 

ข้อแรกเลย นึกว่าสมาธิเป็นของนอกจิต ทั้งที่จริงๆ แล้วสมาธิเป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตดวงหนึ่ง

 

ข้อสอง เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิเกิดเฉพาะตอนที่นั่งหลับตา แล้วก็ตั้งอกตั้งใจทำสมาธิ กักบริเวณตัวเองสักครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สามชั่วโมง

จริงๆ แล้วสมาธิเป็นจิตดวงหนึ่ง แล้วสมาธิเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่อยู่ระหว่างวัน ทำงานทำการ หรือเล่นสนุกอะไรต่างๆ

 

ความเข้าใจผิดข้อที่สาม คือ เริ่มนับหนึ่งทำสมาธิ ด้วยความกระเสือกกระสน อยากจะเอาความสงบ คือมีความรู้สึกไง ว่าสมาธิเป็นของวิเศษ เป็นของที่จะต้องเอามาเข้าตัว อันนี้ก็จะมีความอยาก เหมือนกับที่เราอยากได้ของเล่น อยากได้เงินทอง อยากได้ตำแหน่งหน้าที่การงาน

แต่จริงๆ แล้วนี่ คือจิต ขอแค่เรารักษาจิต ให้โฟกัสอยู่กับสิ่งที่ควรโฟกัสได้ แค่นั้นแหละ มีทุน มีโครงสร้างพื้นฐานที่หนาแน่น ที่จะเป็นสมาธิได้แล้ว

 

ความเข้าใจผิดข้อที่สี่ ก็คือนึกว่า ได้สมาธิขั้นไหนแล้ว ก็จะถือว่าเป็นสมบัติของเราแล้ว เป็นสมบัติตายตัว ทั้งๆ ที่สมาธิเป็นของไหลนะครับ ไหลลงต่ำด้วย พร้อมที่จะไหลลงต่ำ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะครับ จิตเป็นธรรมชาติที่เหมือนน้ำ พร้อมที่จะไหลลงต่ำ ถ้าเราไม่ระวัง ถ้าเราไม่สำเนียกเลย ไม่ใส่ใจเลยว่า ขณะนี้จิตลอยไปถึงไหนแล้ว จิตเหม่อไปถึงไหนแล้ว หรือว่าจิตแส่ส่ายเพ้อเจ้อไปถึงไหนแล้ว จิตจะพัง แล้วก็ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นมาได้

 

ความเข้าใจผิดข้อสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดนะ เป็นข้อสุดท้ายที่เอามาพูดกันในคืนนี้นะครับ ก็คือว่า เรานึกว่าการได้สมาธิ ปรุงแต่งความรู้สึกได้จริงๆ มีความรู้สึกเหมือน คอตั้งหลังตรง มีความสง่างาม ออกมาจากโลกภายใน ราวกับว่า มีปราสาท มีวิมานเพริดแพร้วอยู่ภายใน ทำให้หลงสำคัญไปว่าตัวเองเหนือกว่าชาวบ้านเขา

ตรงนี้นี่ พอรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าชาวบ้านเขา จะมีความกระด้างก่อตัวขึ้นมา แล้วก็จะทำให้ เราไม่สามารถเข้าถึงสมาธิขั้นสูงแบบพุทธได้

สมาธิขั้นสูงแบบพุทธคือการเห็นว่า แม้แต่จิตก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถทรงรูปอยู่ แล้วก็ไม่ใช่ตัวใคร ไม่ใช่ตัวเขา ไม่ใช่ตัวเรา ตรงนี้ ถ้าจะไปถึงสมาธิจิตขั้นสูงแบบพุทธได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีความกระด้างกระเดื่อง ไม่มีความสำคัญตัวว่า เพริดแพร้วพรรณราย เหนือกว่าใครเขา

 

วันนี้ ในหัวข้อ เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิแล้วล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จกันนะครับ

_____________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

วันที่ 21 พ.ย. 2563

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0DbIiBPTiqA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น