วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 74 (เกริ่นนำ) : วันมาฆบูชา

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน

เป็นการอรุณสวัสดิ์ในวันพิเศษทางพุทธศาสนาในไทยนะครับ

 

ที่ต้องกล่าวว่าเป็นวันพิเศษของพุทธศาสนาในไทย ก็เพราะว่า

มาฆบูชา ไม่ได้เป็นวันพิเศษทางศาสนาของคนทั้งโลกนะ

 

และแม้ในไทยเอง ก็ขึ้นอยู่กับกษัตริย์แต่ละพระองค์

ว่าจะมีความเป็นอุปถัมภกของพระศาสนา

หรือว่าเห็นค่า เห็นความสำคัญวันใดของศาสนา

ท่านก็ตั้งเอาวันนั้น มาเป็นวันสำคัญแห่งชาติ

 

อย่างเช่น วันมาฆบูชา

จริงๆ แล้วเดิมที ไม่ได้เป็นวันสำคัญทางศาสนาในไทยนะ

แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่สี่

ท่านได้ศึกษาธรรมะ เป็นกษัตริย์ที่มีความสนใจธรรมะอย่างสูง

 

แล้วท่านก็มองว่า วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญที่อยากให้คนไทยได้จดจำ

ก็เลยตั้งเป็นวันหยุด แล้วก็เป็นวันสำคัญแห่งชาติ

ก็เลยเกิดการจดจำกันขึ้นมาว่า พุทธศาสนามีวันมาฆบูชาด้วย

 

ทีนี้ อย่างถ้าให้มองว่า วันมาฆบูชาสำคัญอย่างไร?

 

ถ้าจำแค่ว่า มีพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑๒๕๐ รูป

มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

นี่ยังไม่ได้รู้อะไรเลยนะ ยังไม่ได้เข้าใจอะไรเลย

 

จริงๆ แล้วพุทธศาสนาทุกพุทธกาล

ศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ มีวันมาฆบูชาแบบนี้แหละ

แต่ที่ได้ชื่อเป็นวันมาฆบูชา เพราะว่าตรงกับปฏิทินของอินเดีย

เดือนอินเดีย เป็นเดือนมาฆ

ของไทย ตามจันทรคติ ก็เป็นกุมภาฯ บ้าง มีนาฯ บ้าง อะไรแบบนี้

 

แต่ถ้าหากว่าเรามองว่าทุกพุทธกาล มีวันประชุมสงฆ์แบบนี้

เราต้องจำว่า จริงๆ แล้วนี่ เป็นวันประกาศนโยบายทางพุทธศาสนา

 

ถ้าเทียบง่ายๆ ก็เหมือนการประกาศนโยบายของบริษัททั่วไปนั่นแหละ

 

อย่างถ้าหากว่า มีคนที่ริเริ่มอยากจะทำธุรกิจ ให้ใหญ่โตระดับโลก

ก็ต้องรวบรวมเอาบุคลากรสำคัญแผนกต่างๆ มาไว้

ทั้งตัวเอง ที่เป็นประธานบริษัท

มีไอเดียจะขายสินค้าอะไร ทำธุรกิจแบบไหน

หรือจะต้องมีฝ่ายบริหารที่จะเข้าใจคน รู้จักคน

ต้องมีฝ่ายเทคนิค ผลิตสินค้า หลายอย่างมารวมตัวกัน

 

แล้วให้นโยบายว่าบริษัทจะทำธุรกิจแบบไหน

มีนโยบายว่าจะเชิงรุก หรือเชิงรับ

ที่จะขยายออกไประดับประเทศ หรือระดับโลกอย่างไร

 

หรืออย่างถ้าเปรียบเทียบให้ใกล้เคียง

เข้ามาเป็นระดับความเชื่อ หรือระดับศรัทธา

เอาในทางลบแล้วกัน จะได้เกิดความจำได้ง่ายๆ

 

อย่างบางลัทธิ บางความเชื่อบอกว่า

ถ้าใครไม่มาเชื่อแบบที่ตัวเองเชื่อ ก็ฆ่าทิ้งได้

ชีวิตไม่มีความหมาย ชีวิตเหมือนมดปลวก

ชีวิตที่มีค่า คือชีวิตที่มาเชื่อแบบที่ตนเองเชื่อเท่านั้น

 

อย่างนี้มีจริงๆ แล้วก็ถ้าประกาศนโยบายแบบนี้

โดยรวมเอาคนที่มีความรู้ความสามารถ

ที่จะสนองตอบกับนโยบายแบบนี้ได้

ก็เป็นความเดือดร้อนของคนในโลก

คนที่ตายแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ตายแบบไม่มีความผิด

ตายทั้งไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดอะไรถึงตาย

 

แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการประชุม เป็นการรวมตัวกัน

เป็นการประกาศนโยบาย ในแบบที่

จะทำให้เกิดความเดือดร้อนไม่เลือกหน้า

 

ส่วนพุทธศาสนา ..คือแรกเริ่มเดิมที พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้

เพราะพระองค์มีจุดมุ่งหมายว่า

จะให้องค์ท่านเอง เป็นบุคคลที่จะสามารถพ้นทุกข์ได้แน่นอน

แล้วก็เอาความสามารถพ้นทุกข์นี้มาประกาศ

 

ตัวนี้เป็นตัวตั้งเลย ตั้งแต่พระองค์เริ่มบรรพชา

 

ทีนี้ พอพระองค์ตรัสรู้ได้ ตรงนี้แหละที่มีความหมายขึ้นมาว่า

พระองค์จะสถาปนาพุทธศาสนาอย่างไร

ถึงจะมี brand แบบพุทธ .. brand ของคนที่สามารถพ้นทุกข์ได้

 

พระองค์ไม่สามารถที่จะทำได้ตามลำพังของพระองค์เองนะ

ต้องมีบุคคลที่เป็นพยานยืนยันว่า พระองค์พ้นทุกข์ได้จริงก่อน

แล้วเขาพ้นทุกข์ตามได้

 

ทีนี้ก็ อย่างที่รู้ๆ นะครับว่า มีพระอัญญาโกณฑัญญะ

ที่เป็นสาวกองค์แรกให้พระองค์

ว่านิพพาน มีจริง การพ้นทุกข์มีจริง

 

จากนั้น ท่านใช้เวลาเก้าเดือน .. ทั้งหมดเก้าเดือนนะ นับแต่วันตรัสรู้ สามารถที่จะโปรดบุคคลผู้ควรโปรด

ได้เป็นพระอรหันต์ มีจำนวนมากมาย

 

แต่จะมีพระอรหันต์แบบที่มี power เป็นพิเศษ

อยู่ทั้งหมดด้วยกัน ๑๒๕๐ รูป

ที่พระองค์โปรดด้วยพระองค์เองให้บรรลุอรหัตผล

แล้วก็ใช้วิธีบวช โดยบอกว่า เธอจงมาเป็นพระเถิด เธอจงมาเป็นสงฆ์เถิด ..

 

เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือบวชโดยพระองค์ท่านเอง

 

ทีนี้ ถ้ามองอย่างแบบนึกย้อนกลับไป ถ้านึกไม่ออก

นึกถึงหนังซีรีส์ หรือหนังอะไรสักเรื่องที่ออกแนวไซไฟ ลึกลับ

ที่มีคนรู้กัน โดยไม่ต้องนัดหมายเป็นคำพูด

มีจำนวนสมาชิก หรือจำนวนบุคคล มากพอ ที่จะรวมกันเป็นพลัง

เป็นปึกแผ่น ก่อตั้งพระศาสนา

ทำให้พระศาสนามีความเป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้

 

๑๒๕๐ รูปนั้น ที่เป็นพระอรหันต์ล้วนๆ และมีอภิญญาหกด้วย

ไปประชุมกัน โดยไม่ได้นัดหมายเป็นคำพูด เป็นวาจา

แต่รู้กัน ด้วยใจของผู้มีอภิญญา

 

อันนี้ต้องอาศัยความเข้าใจด้วยนะว่า ผู้มีอภิญญา ท่านสื่อถึงกันได้

หรือสามารถรับรู้ความสำคัญของวันเวลา

ที่.. อย่างบอกว่าวันนี้ เหมาะ

แล้วก็ ๑๒๕๐ รูปนั้นสามารถรู้ได้ตรงกัน

 

ทีนี้ พอมาประชุม ไม่ได้มาแค่แสดงความกตัญญู

จริงๆ แล้ว ความกตัญญูในใจของพระอรหันต์ที่มีต่อพระพุทธเจ้า

ล้นเหลืออยู่แล้ว มีทุกวันอยู่แล้ว

และอยากแสดงความกตัญญูพร้อมกันอยู่แล้ว

 

แต่ในวันนั้น จริงๆ แล้ว

สาระสำคัญที่เป็นแก่นสารสูงสุดก็คือ

พวกท่านรวมพลังกันมา เพื่อที่จะมารับฟังว่า

นโยบายของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร

 

ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ให้โอวาทปาติโมกข์

คือคำสอนที่เป็นสาระสำคัญว่า พุทธศาสนา ควรให้เป็นอย่างไร

เวลาที่เหล่าอรหันต์ไปประกาศศาสนา

 

ซึ่งท่านก็บอกแนวมาว่า ให้ละบาป บำเพ็ญบุญ ทำจิตให้ผ่องใส

 

ท่านไม่ได้สอนเหล่าพระอรหันต์

เพราะเหล่าพระอรหันต์ท่านทราบอยู่แล้ว ว่าจิตผ่องใสเป็นอย่างไร

ไม่จำเป็นต้องมาละบาปอีกแล้วด้วย

 

แต่ว่าท่านประกาศเป็นนโยบายของพุทธศาสนาว่า

พุทธศาสนาควรจะมีแนวทาง มีนโยบาย การเผยแผ่พระสัทธรรม

ด้วยรูปแบบที่ว่า ให้จำว่า

 

ไม่เอาบาป ละบาปให้ได้ก่อน

แล้วค่อยทำความเข้าใจว่า จะบำเพ็ญบุญได้อย่างไร

 

เอาเครื่องขวางออกไปก่อน แล้วค่อยปูทางให้ตัวเองเดิน

จนกระทั่งถึงเป้าหมายปลายทางคือจิตที่ผ่องใส

 

แล้วท่านก็ตรัสถึงแนวทางเช่นว่า ศาสนาพุทธไม่มีการกล่าวร้าย

ถ้าศาสนาไหน สาวกหรือว่ามีสานุศิษย์ของใคร เขามาสนใจพุทธศาสนา

ก็ขอให้มาสนใจด้วยการที่เราเผยแผ่

เอาความจริง เอาจุดหมายปลายทางคือนิพพานมาเป็นตัวตั้ง

แล้วก็ค่อยๆ ไต่ลำดับไปตามความเหมาะสมแต่ละบุคคล

ว่าถ้าจะเริ่มทำความเข้าใจ

ทำความเข้าใจจากการละบาปก่อน

แล้วมาบำเพ็ญบุญ แล้วก็ทำจิตให้ผ่องใส ในขั้นสุดท้าย

 

ไม่ใช่ไปกล่าวร้าย ไม่ใช่ไปโจมตี ให้ใครเสียหาย ..

ตัวนี้ คือถ้าหากอยู่ในยุคนี้

แล้วไม่รับทราบนโยบายข้อนี้ของพระพุทธเจ้าในวันมาฆบูชา

ถือว่า ไม่ได้เอาตามพระพุทธเจ้า แล้วเหล่าสาวกที่เป็นชั้นแรก

 

คือว่า ถ้าตั้งหน้าตั้งตาประกาศหลักธรรมคำสอน

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว

แล้วก็โดยไม่โจมตีใคร ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาไปอาละวาด ฟาดวงฟาดงา

บอกว่าคนนั้นผิด คนนี้ไม่ใช่ ของเขาดีคนเดียว

อย่างนี้ ไม่ใช่นโยบายของพุทธ

 

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องของการปรับความเข้าใจ

ถ้าใครเข้าใจผิด หรือใครสอนผิดทาง

อันนี้เราชี้แจงไปตามลำดับได้

แต่ไม่ใช่ เริ่มต้นขึ้นมาโจมตีก่อน อวดศักดาก่อน

อย่างนี้ ไม่ใช่นโยบาย ของพุทธศาสนานะครับ

 

วันมาฆบูชาที่แท้จริง

ก็เหมือนกับเป็นวันประกาศนโยบายของศาสนา

โดยมีเหล่าพระอรหันต์ ที่มีอภิญญาหก

แล้วก็ได้รับการบวชโดยพระพุทธเจ้า โดยตรง

มาเป็นสักขีพยาน มาประชุมกัน รับนโยบายของพระพุทธเจ้า

 

นี่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำความเข้าใจ

 

ปัจจุบัน มาจำกันว่าเป็นวันแสดงความกตัญญูบ้าง

หรือว่าบานปลายมามีแนวคิดว่า

เป็นวันแห่งความรักทางพุทธศาสนาด้วยซ้ำ

 

ถ้าหากว่าได้ย้อนทบทวนกลับไป

ถึงเหตุปัจจัยของความสำคัญของวันนี้

ที่จะบอกว่า วันนี้ เป็นวันสำคัญอย่างไร

 

เราก็จะได้ระลึกว่า

เรากำลังทำตามที่พระพุทธเจ้าวางนโยบายไว้

ในวันที่มีการรวมหมู่ รวมเหล่า

รวมพลัง ที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา ซึ่งวันนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

เกิดได้ครั้งเดียว

วันประกาศนโยบายเกิดขึ้นได้ครั้งเดียวในพุทธกาลหนึ่งๆ

 

แต่ละพุทธกาล ก็จะมีชื่อเรียกวันสำคัญวันนี้ต่างๆ กันไป นะครับ

ไม่ใช่วันมาฆบูชาอย่างเดียว

 

มาฆ นี่เป็นเดือนของอินเดีย แล้วก็อย่างถ้าว่ากัน

วันนี้มีความสำคัญอย่างไรกับห้องวิปัสสนานุบาล

ก็คือวันที่เรามาทบทวนกันว่า สองพันกว่าปี เกือบสามพันปี

 

เราอยู่ในยุคที่มาช้า ถ้าคิดเป็นเวลา

เหมือนมาช้า ไม่ทันพระพุทธเจ้า

แต่ยังทันคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่หรือเปล่า

และที่สำคัญที่สุดคือ

เราเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติกันอยู่หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าเราแน่ใจว่า จิตเรามีความเป็นไปได้

มีความพร้อม อยู่ในทิศทางที่จะเป็นพยาน

ให้กับพระพุทธเจ้าและพระสาวก

ก็ถือว่า เป็นวันที่ดีงาม

เป็นฤกษ์งามยามดี ของห้องวิปัสสนานุบาล

________________

ไลฟ์วิปัสสนานุบาล EP 74

วันมาฆบูชา 15 กุมภาพันธ์ 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=xjJcQ-aXLDA

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น