วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล วันพิเศษ : EP 67

*** เป็นการถอดคำแบบ Real time ฉะนั้นอาจไม่ได้เก็บครบทุกคำนะคะ ***

พี่ตุลย์ : (พระบูรณพุทธ) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็เป็นพระที่เป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิบูรณพุทธนะครับ

 

ตอนแรกก็ลำบากใจ เพราะรู้สึกว่าองค์ท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เหมือนท่านเป็นพยานวัตถุ ที่ใกล้ที่สุดกับการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

 ก็ลำบากใจนิดหนึ่งเพราะที่ตั้งอาจไม่เหมาะสมนัก

ถ้าจะได้บูชาอยู่แค่คนเดียว หรือแค่ครอบครัวเดียว

 

ผ่านมาสองปี (ที่ได้รับองค์พระมา) ..

เมื่อสี่เดือนที่แล้ว เรามาช่วยกันทำให้มูลนิธิบูรณพุทธ สมชื่อบูรณพุทธ

เลยรู้สึกว่า อยากให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

โดยเฉพาะเรื่องของจิตวิญญาณแบบพุทธกลับมา

ซึ่งก็มีทางเดียวคือ เราทำความรู้จัก

และร่วมกันเป็นสักขีพยานให้กับพระพุทธเจ้า

นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติกัน

 

โดยมีความคาดหวัง มีจุดมุ่งหมาย มีการบรรลุธรรม ตรัสรู้ธรรม

ที่พระพุทธเจ้าท่านปรารถนา ให้เกิดขึ้นกับพระสาวกทั้งหลาย

รวมทั้งพวกเราด้วย ไม่ว่าจะอยู่ห่างจากพุทธกาลนานแค่ไหน

 

ถ้าหากว่าเรายังมาทำ ร่วมทำกันในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน

ซึ่งก็ยืนยันนะว่าตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติ ในทางมรรคมีองค์ ๘

โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์

 

เราร่วมกันเป็นสักขีพยานให้พระพุทธเจ้า อย่างน้อยในแนวทางปฏิบัติ

เพื่อถางทางการบรรลุมรรคผลนี่นะ ร่วมกันมาสี่เดือน

ซึ่งถือว่า พวกเราร่วมกันสร้างบารมีให้พระพุทธศาสนา ได้กลับมา ...

 

คือจริงๆ แล้วพระพุทธศาสนายังมีความสว่างอยู่ และยังมีผู้ปฏิบัติได้ดีอยู่

ก็เหมือนว่าพวกเราเอาใจของเราเอง กลับไปหาพระพุทธเจ้านะครับ

เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า พวกเราก็ยังไม่ได้มีจิตพรากจากขันธ์

ยังไม่ได้เป็นสักขีพยานขั้นสูงสุดให้กับพระพุทธเจ้า

ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์กัน

 

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายนี้แล้ว

และร่วมกันสร้างความเจริญ ลากจูงกันมา

มีความเจริญมาร่วมกันในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมานี้

ก็ถือว่ามีบารมีพอที่จะมาบูชา องค์พระ

ที่แกะสลัก จากกิ่งไม้พระศรีมหาโพธิ์ด้วยกันแล้วนะครับ

 

จากเดิมองค์ท่านมีชื่อนะว่า พระไตรโลกนาถเชียงแสนสิงห์หนึ่ง

ที่ท่านอ.วุฒิกรตั้งชื่อให้ไว้

(ดูคลิปที่มาขององค์พระได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=43eifLnsEJM)

 

แต่เนื่องจากท่านมอบมาให้เป็นพระประจำมูลนิธินะครับ

ก็มาเรียกกันง่ายๆ จำกันง่ายๆ สั้นๆ ว่า พระบูรณพุทธ

 

เดี๋ยวเรามาบูชาพระองค์ท่านร่วมกัน

แล้วแต่อัธยาศัยและความสะดวกของแต่ละท่าน

เพราะอาจไม่สะดวกด้วยกันทุกท่านนะครับ

แต่แม้ได้ย้อนกลับมาดู ก็ถือว่าเป็นสักขีพยาน

การที่อัญเชิญท่านมาประดิษฐานในห้อง

ที่ผมจะได้ไลฟ์วิปัสสนานุบาลไปนะครับ

 

(สวดมนต์บทอิติปิโสร่วมกัน)

 

ในลำดับต่อไป เราก็มาไลฟ์แบบที่เราได้ยินได้ชมกันทุกวันนะ

แล้วก็ท่านที่มาไลฟ์ ก็มาเรียนรู้ไปด้วยกัน ในแนวทางของอานาปานสติ

จะมีมือไกด์ช่วย หรือจะเดินจงกรม จะธรรมดา หรือหลับตาก็ตาม

 

เรามาเริ่มกันนะครับ... วันธรรมดาๆ ของเราวันหนึ่ง

ที่จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะอัญเชิญพระบูรณพุทธ

มาเป็นองค์ประธาน เป็นศูนย์รวมจิตใจ ที่จะให้ระลึกถึงพระพุทธคุณนะครับ

ว่าที่เราทำๆ กันอยู่นี้ มีการสืบทอดมา

และเรายังคงเป็นส่วนหนึ่ง ของสาวกพระพุทธเจ้า

ที่จะสืบทอดคำสอนในทางปฏิบัติของพระองค์ต่อๆ ไปนะครับ!

 

--------------------------------

 

โจ

 

พี่ตุลย์ : รอบนี้หยุดยืน แล้วดูว่าใจเรามีอาการเล็งไว้อย่างไร

ทางหนึ่ง มีอาการเล็งออกไปเบื้องหน้า อีกทาง มีอาการแผ่ออก

 

ทีนี้ ขอให้โจจับความรู้สึกสบายๆ ใสๆ ที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่ช่วงกลางอก แผ่ออกไป

ตัวนี้จะทำให้อาการเล็งในหัวเบาบางลง

 

พอเรารู้สึกถึงสายตาที่มองตรงไปข้างหน้า

แล้วสามารถสัมผัสได้ถึงช่องว่าง ระหว่างร่างกายนี้กับผนังห้องได้

ก็จะรู้สึก ถึงธาตุดิน ที่เป็นฝั่งนี้ และธาตุดินที่เป็นฝั่งโน้น

 

เมื่อรู้สึกว่า ธาตุดินมีลักษณะคงรูปคงร่าง มีหัวตัวแขนขาที่ฝั่งนี้

และธาตุดินที่มีลักษณะเรียบเบื้องหน้า คั่นระหว่างกลางด้วยช่องว่าง

ตัวนี้คือเรารู้สึกถึงความเป็นธาตุดินจริงๆ ว่า

ไม่ได้มีแต่ฝั่งนี้ฝั่งเดียว หรือฝั่งโน้นฝั่งเดียว

แต่มีทั้งสองฝั่ง มีความเป็นวัตถุทั้งคู่

 

พอรู้สึกถึงความเป็นวัตถุทั้งคู่ แล้วมีอากาศว่างเป็นตัวคั่น

เราจะรู้สึกถึงธาตุดินนี้ ที่แตกต่างจากธาตุดินเบื้องหน้า

คือมีลมหายใจประกอบด้วย

 

ปกติลมหายใจ จะให้ความรู้สึกว่า เป็นการหายใจเข้าองเรา

แต่ถ้าหากเราทำความรู้สึกว่า ลมหายใจนี้ มีลักษณะพัดเข้าพัดออก แตกต่างจากช่องว่าง ระหว่างธาตุดินนี้ กับธาตุดินอีกฝั่ง

แตกต่างจากลักษณะธาตุดิน ที่มีความคงรูปคงร่าง

 

ลมหายใจมีรูปทรงไม่แน่ชัด ตั้งแต่เริ่มจนออกหมด

ตอนเข้ามาเป็นสายยาว ตอนระบายออกไปก็เป็นสายอีกเหมือนกัน

 

การเห็น การรู้สึกออกมาจากจิตตรงๆ

นี่คือธาตุดิน นี่คืออากาศธาตุ และนี่คือลมหายใจ

ต่างจากการคิดๆ เอา การเล็งๆ เอาว่า

นั่นธาตุดิน นี่ธาตุน้ำ นั่นธาตุลม ธาตุไฟ

 

จะไม่ใช่การคิดอีกต่อไป

แต่เป็นการสัมผัสตรงๆ ว่านี่ธาตุดินจริงๆ ด้วย

 

พอเรารู้สึกถึงความเป็นธาตุดิน ฝั่งนี้กับฝั่งโน้น

เห็นเป็นวัตถุ ไม่เห็นเป็นบุคคล

สภาวะที่ตามมาถัดจากนี้ ก็จะสักแต่เป็นธาตุด้วยเช่นกัน

 

คราวนี้ลองกลับตัว

ถามตัวเองว่า อะไรเป็นผู้กลับตัว?

สิ่งที่กลับตัวอยู่นี้ คือธาตุดิน

 

แล้วอะไรเป็นสิ่งที่สั่งให้ธาตุดินกลับตัว?

นั่นแหละจิต

 

คราวนี้เดิน แล้วดูว่าเท้าที่กระทบ

จังหวะเท้ากระทบ ที่เราสามารถรู้สึกออกมาได้จากจิตใสๆ ตรงๆ

เป็นลักษณะของธาตุดิน ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเจตจำนง

 

เจตจำนงอยู่ที่ไหน?

มีธาตุเดียวที่มีเจตจำนงได้ ก็คือจิต

เรารู้อยู่ที่จิตแล้ว ถ้ารู้อยู่ที่จิต

และรู้สึกถึงความใสๆ ออกมาจากกลางอกได้

อะไรๆ ที่ถูกรับรู้ ก็จะถูกรับรู้ออกมาตรงๆ

 

พอกลับตัวแต่ละครั้ง ลืมตาขึ้นนิดหนึ่งได้

เพื่อให้เห็นว่า ที่อยู่ตรงหน้าของเรา มีรูปทรงอย่างไร

มีความเป็นธาตุดิน รูปทรงสีสันอย่างไร

เปิดตาแป๊บหนึ่งแล้วหลับตา เดินเลย

เพื่อที่จะให้เห็นว่า ธาตุดินนี้ เคลื่อนไปหาธาตุดินอีกฝั่ง

จากฝั่งหนึ่งไปหาอีกฝั่ง

 

ตอนนี้อยู่ในโหมดรู้แล้ว .. โหมดคิด โหมดเล็ง ในหัวจะเบาลงแล้ว

 

และเราลองดูว่าสิ่งที่จะปรากฏเด่น

ค่อยๆ ปรากฏเด่นขึ้นมาแทน คือความรู้สึกออกมาจากกลางอก

 

ทีนี้ เราทำความรับรู้ออกมาจากกลางอก

ออกมา ไม่ใช่เข้าไปนะ

อาการที่บอกว่าจ้องเข้าไป

ก็คืออาการที่เราจะรู้สึก กลางอกยุบลงไป

 

แต่ถ้าหากรู้ออกมา จะมีลักษณะแผ่ออก

จะมีลักษณะรับรู้ความกว้าง บริเวณพื้นที่ที่อยู่ด้านหน้า ซ้าย ขวา

 

ถ้าหากมีความว่าง ถ้ามีความรู้ประกอบอยู่ด้วยพร้อมกัน

จิตจะรู้สึก สัมผัสถึงความเป็นธาตุดินของกายนี้ ได้ถนัดชัด

และถ้าหากสัมผัสความเป็นธาตุดินของกายนี้ได้ชัด

ก็จะพลอยสัมผัสรู้สึกถึงธาตุดิน ที่อยู่รอบด้านได้ง่ายด้วย

 

อย่างตอนนี้ เรายืนประจันอยู่กับธาตุดินฝั่งหนึ่ง

ในความรู้สึกรับรู้เป็นอย่างไร จำไว้ หันกลับ

พอมีอาการหันหลังกลับ

เราจะรู้สึกถึงธาตุดิน ที่เมื่อกี้เพิ่งหันหน้าเข้า

ตอนนี้กลายเป็นหันหลังให้ แล้วเดินไป

 

พอเดินไป เราจะรู้สึกถึงธาตุดินอีกฝั่งหนึ่ง

ที่เราค่อยๆ เข้าใกล้มัน แล้วก็ออกห่างมาจากธาตุดินฝั่งเดิม

 

การได้มีจิตที่มีความส่องสว่าง มีความใส ไร้ความคิด

มีแต่จิตที่รับรู้อยู่ มีแต่อาการใสๆ ที่เปิดออก แผ่กว้างออก

 

ถ้าทรงอยู่ในอาการนี้เรื่อยๆ ได้

จะยิ่งเห็นชัดถนัดว่า นี่ธาตุดินที่เป็นฝ่ายเคลื่อน

เป็นธาตุดินที่ครองอยู่ด้วยจิต

ไม่ใช่ธาตุดินที่ตั้งนิ่งๆ เฉยๆ เหมือนกับผนังห้อง

 

แต่ว่าโดยจิต โดยตัวจิตเอง มีความสามารถรับรู้

รู้ว่าธาตุดินที่ตัวเองครองอยู่ ที่เป็นวัตถุหมายเลขหนึ่ง

กำลังอยู่ในท่าไหน

วัตถุอื่นๆ มีความสัมพันธ์อย่างไร

 

ความสัมพันธ์ก็คือ

วัตถุหมายเลขหนึ่ง ไปเดินชนวัตถุหมายเลขสอง หมายเลขสามได้

นี่คือความรับรู้ของจิต และจะเกิดความรู้สึกว่า

ธาตุดินนี้ ที่มีความคงรูป มีหัวตัวแขนขา

ก็มีความเสมอกัน กับธาตุดินที่ไม่ได้อยู่ในรูปทรงนี้

อยู่ในรูปทรงของผนังเรียบ ในรูปทรงของพื้นที่ใช้เดิน

แต่ก็เป็นธาตุดินเสมอกัน เพราะกินพื้นที่ว่างในอากาศเหมือนกัน

และมีความคงรูปคงร่างเหมือนกัน มีความแข็งเหมือนกัน

 

ตอนนี้ จะเริ่มรู้สึกเหมือนกับธาตุดินอยู่ห่างๆ ออกไปนิดหนึ่ง

เพราะจิต พอมีอาการรู้แบบเทียบเคียง ว่า

มีธาตุดินฝั่งนี้ มีธาตุดินฝั่งโน้น

จิตจะเริ่มแยกตัวออกมา

อยู่ในฐานะผู้ไม่เกี่ยวข้องกับธาตุดินทั้งหลาย

ไม่ว่าจะเป็นธาตุดินหมายเลขหนึ่ง หรือว่าสอง สาม สี่

จิตจะมีความรู้สึกว่าเป็นอิสระจากธาตุดินอยู่

 

พอเรารู้สึกถึงความแผ่กว้างของจิต

รู้สึกถึงความผ่องใส ชัดเจนของจิต

สิ่งที่จะได้เป็นข้อเทียบเคียงก็คือ

ธาตุดินมีลักษณะคงรูปคงร่าง โดยไม่ต้องรักษา

แต่จิตมีสภาพที่แผ่รัศมีออกไปเป็นวง เอาแน่เอานอนไม่ได้

ขึ้นกับกำลังของจิต

 

ถ้าจิตไม่มีกำลังมา ก็ทรงอยู่ในภาวะแผ่ไม่ได้นาน

ก็จะมีอาการที่เหมือนหดตัวเข้ามา

หรือเหมือนมีอาการยับยู่ยี่ คล้ายกระดาษยับยู่ยี่

 

แต่ถ้าหากว่าจิตเรา มีกำลัง มีความตั้งมั่น

และแยกออกมาเป็นต่างหากได้

จากธาตุดินหมายเลขหนึ่ง สอง สาม สี่

 

ความรู้สึกจะเป็นอีกแบบ

รู้สึกเหมือนกับจิตมีความเป็นเอกเทศ

จิตมีความเป็นอิสระ จิตมีความส่องสว่าง

 

ลักษณะของความเป็นจิต ที่ต้องรักษาไว้ด้วยกำลัง

จะแตกต่าง ยิ่งเห็นถนัด ยิ่งเห็นชัด

เปรียบเทียบกับธาตุดินมากเท่าไหร่

จะยิ่งเห็นว่ามันไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนกัน

ไม่เหมือนเดิมกับตัวเอง และไม่เหมือนกันกับธาตุดิน

 

พอความคิดเข้ามา เห็นไหม จิตก็จะแปรไป

ลักษณะแผ่จะกลายเป็นฟุ้งๆ ยุ่งในหัว

แต่ถ้าหากเรารับรู้ตามจริง ตามที่กำลังมีความปรุงแต่งฟุ้งๆ ยุ่งๆ ว่า

จิตนี้เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งได้ ต่างจากธาตุอื่นๆ

 

อย่างธาตุดิน จะถูกปรุงแต่งด้วย ร้อน หนาว

หรือธาตุลม จะถูกปรุงแต่งด้วยการหายใจสั้น หรือยาว

ส่วนตัวลมหายใจ ที่สั้นหรือยาวนี้

ก็จะไปปรุงแต่งจิตอีกที ให้มีความฟุ้งซ่านบ้าง มีความสงบบ้าง

 

ลองแชร์หน่อยเมื่อกี้เห็นอะไรอย่างไรบ้าง

 

โจ : ตอนเดิน รู้สึกตัวที่เป็นธาตุดินที่หนึ่ง กับผนังข้างหลังห่างออกจากกัน

และมีอากาศกั้นตรงกลาง ตอนกลับหลังหัน

ก็รู้สึกกำแพงที่เคยอยู่ด้านหน้า ก็ไปอยู่ด้านหลัง

พอเดินมาอีกฝั่ง ก็รู้สึกว่ามีของ มีกล้อง มีจอคอมฯ

พอฟุ้ง ความรู้สึกแบบนี้ก็หายไปนิดหนึ่ง

แต่พอยืนไปสักพักก็จะรู้สึกได้ใหม่

 

พี่ตุลย์ : ตัวนี้แหละที่อยากให้สังเกต

ถ้ามีความฟุ้งขึ้นมาปรุงแต่งจิต

ความเป็นธาตุจะหายไป แต่ความเป็นเราจะกลับมาแทน

แล้วพอทำไปอย่างนี้เรื่อยๆ

จะสามารถเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตเลย

จิตฟุ้ง จิตขุ่น ธาตุก็หายไป กลายเป็นตัวเราแทน

 

พอความฟุ้งหายไป กลับมามีความใสของจิต

ความรู้สึกในธาตุ ความสัมผัสในธาตุที่เราได้ฝึกไว้ดีแล้ว

ก็จะกลับมา แล้วจะกลับมาเรื่อยๆ

 

พูดง่ายๆ ยิ่งจิตมีความตั้งมั่น

ยิ่งมีความใสสว่าง กระจ่างพร้อมรู้มากเท่าไหร่

ไม่ว่าจากนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรืออยู่ระหว่างวัน

ก็จะสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นธาตุหก

 

ตัวนี้ ที่พอสังเกตต่อๆ ไปจะยิ่งเห็นชัดขึ้นๆ

อย่างตอนแรก โจยังเดินแบบไม่แน่ใจ

ว่าตัวเองเห็นอะไร หรือควรเห็นอะไร

 

แต่พอเดินไป เรารู้ด้วยจิตที่ใส และเงียบจากความคิดได้ระดับหนึ่ง

ไปยืนประจันกับผนัง จะเห็นชัดเลยว่าเป็นธาตุดิน

และรู้สึกถึงช่องว่างระหว่างธาตุดิน

 

อย่างตอนที่พี่บอกว่ากลับมาฟุ้ง

อย่าปล่อยให้เสียโอกาส เราสามารถรู้ได้ว่า

ธาตุวิญญาณ หรือธาตุรู้ เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้ยู่ยี่ได้

ดูโดยความเป็นอย่างนั้น

 

แล้วพอเราฝึกโดยอาการแบบนี้ ขึ้นต้นแบบนี้

สิ่งที่จะตามมาคือ เรามีความรู้สึกว่าอยู่ระหว่างวัน

เวลาใจว่างๆ สว่างๆ แผ่กว้างออกไป

จะเห็นเหมือนกับ นี่ก็ธาตุดิน นั่นก็ธาตุดิน

แล้วความรับรู้ภายใน จะบอกว่า

นี่ไม่ใช่ตัวเดียว อย่างที่เราเข้าใจตั้งแต่แรก

 

เวลาคนเราจะมีปัญหาอะไรก็ตาม

จะเริ่มมาจากการนึกว่า (เรา) นี่มีอยู่แค่หนึ่งเดียว

เป็นศูนย์กลางจักรวาลหนึ่งเดียว

 

ต่อเมื่อเราทำความรับรู้ว่า

มีธาตุดินฝั่งนี้ มีธาตุดินฝั่งนู้น ฝั่งอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล

การรับรู้จากจิต ที่มีความนิ่งว่างมากพอ

จะรู้สึกว่า ไม่มี ความเป็นตัวเรา ที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล

มีแต่วัตถุที่เรียงราย แวดล้อมอยู่

 

แล้วความสำคัญของวัตถุนี้จะลดลง เทียบเท่ากันกับวัตถุอื่นๆ

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีจิตเสมอกับธาตุดิน

และความปรุงแต่งจิต ที่จะเกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาระหว่างนั้น

จะถูกลดความสำคัญลงไปด้วย

 

จากเดิมที่รู้สึกว่า การนึกคิดอะไรขึ้นมา

ความคิดในหัวนี้ สำคัญที่สุดในโลก คนอื่นจะมาแตะต้องไม่ได้

จะกลายเป็นแค่เศษฝุ่น เศษละออง ที่ปลิวอยู่ในธาตุดินนี้

ปลิวอยู่ในส่วนบนสุดของธาตุดินนี้

 

และเกิดความรู้สึกว่า ลมแล้งในหัวไม่มีค่า

ไม่มีราคา ไม่มีความหมาย

เว้นแต่จะทำหน้าที่เป็นกลจักรหนึ่ง

ที่ทำให้โลกหมุนไปตามปกติของมัน

 

ตัวที่เรารู้สึกถึงความเป็นธาตุหกนี้

จะมีความสัมพันธ์กับขันธ์ห้า มีจุดตัดตรงที่ความคิดปรุงแต่ง

 

อย่างธาตุหก ถ้าจิตเราเรียบใส

ไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน ไม่มีความปรุงแต่งในเชิงตัวตนใดๆ เลย

สิ่งที่จะปรุงแต่งไปก็คือ รับรู้ว่า

มูลฐานดั้งเดิมเลย มีอยู่แค่นี้

ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณธาตุ

 

แต่พอมีความปรุงแต่งวิญญาณธาตุ

มีความปรุงแต่งขึ้นมาว่า นี่ตัวเรา มีความรู้สึกในเราตรงนั้น

ถ้าเราสามารถมีสติเห็นได้ ก็จะเห็นโดยความเป็นขันธ์ห้า

นี่คือเรื่องของความเข้าใจนะ

 

โจ : เวลานั่งสมาธิสลับกับเดินจงกรม แล้วรู้สึกหัวใจเต้นแรง ปกติไหมครับ บางครั้งนิ่งเหมือนลมหายใจยาวหายไปเลย

 

พี่ตุลย์ : ตอนหัวใจเต้นแรง ในขณะที่นั่งหรือเดิน

 

โจ : บางครั้งรู้สึกได้ตอนนั่งครับ

 

พี่ตุลย์ : อาจเป็นช่วงที่ปรับตัวเฉยๆ

คล้ายว่า อาจนั่งเร็วไป หรืออาจเดินเหนื่อยๆ มา แล้วจับจังหวะไม่ถูก

ไปพยายามกดให้นิ่งโดยไม่รู้ตัว ลองสังเกตแล้วกัน

แต่ดูแล้วไม่ได้มีปัญหา หรือน่าระวังอะไร

 

---------------

 

เปรม

 

พี่ตุลย์ : อันดับแรก ที่แตกต่างจากครั้งก่อน

คือมีความรู้เห็น มีมุมมองที่ต่อเนื่อง จิตมีกำลัง

และเป็นกำลังแบบใส สว่าง

 

ความต่อเนื่อง จะปรับมุมมอง

ให้เกิดการสัมผัสถึงการเป็นจิตง่ายขึ้น

 

พอเริ่มตั้งต้นจากความสว่าง เบา ใส ที่เกิดเรื่อยๆ เป็นปกติได้

จิตเปรมจะพิจารณาอะไร ก็จะรู้สึกว่าเห็นถนัด

 

อย่างนั่งตอนไลฟ์อาจไม่ดีเท่านั่งคนเดียว เป็นเรื่องธรรมดา

 

แต่ถ้ามองเอาเฉพาะความแตกต่างจากเดิม

ที่บอกได้ก็คือ มีความใส ชัดขึ้น จิตเห็นตัวเองได้ถนัดขึ้น

 

ความต่อเนื่อง มีความสำคัญในแง่ที่ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส

ตัววิริยะ หรือความเพียร ก็คือความต่อเนื่อง นั่นแหละ

ความต่อเนื่อง คือความก้าวหน้า

เพราะมีวิริยะที่พอดี ไม่เร่งไป หรือหย่อนไป

 

ถ้าความเพียรพอดี ไม่เร่ง ไม่หย่อนไป

ผลที่ปรากฏชัดคือคุณภาพของจิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเปิดพร้อมรู้ จะมีมากขึ้น

 

ลองกำหนดแบบนี้นะ รู้อยู่ที่จิตแบบนี้เป๊ะๆ

ไม่ต้องไปพยายามให้เป็นอย่างอื่น

 

รู้เข้ามาที่จิต หายใจออก

ด้วยความปลอดโปร่งของจิต ไม่ปรุงแต่ง

ไม่มีอะไรเป็นส่วนเกินจิต

เวลารู้สึกถึงจิต ควบคู่ไปกับลมหายใจได้

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีสติ เป็นผู้รู้ว่า

จิตเป็นอย่างนี้อยู่ ลมหายใจเป็นอย่างนี้อยู่

 

การรับรู้เข้าไปตรงๆ ตามจริง ว่าจิตเป็นอย่างนี้อยู่

และไม่มีความพยายามส่วนเกินใดๆ

ส่วนเกินที่คงค้างอยู่ ก็จะถูกรู้ตามไปด้วย

 

พอส่วนเกินที่คงค้างอยู่ถูกรู้

มีสติ เห็นว่าเป็นส่วนที่ไม่ต้องมีก็ได้

ในที่สุดจะหายไป กลายเป็นจิตโล่งๆ

เป็นจิตที่ไม่มีการปรุงแต่งส่วนเกิน

 

ตอนที่จิตมีความกว้าง สว่าง ใส ในแบบไม่มีส่วนเกิน

และรู้สึกถึงลมหายใจออก ควบคู่ไปด้วย

จะมีสองส่วน สามส่วนปรากฏขึ้น

 

มีจิต ปรากฏเป็นตัวตั้ง

มีลมหายใจ ปรากฏเป็นเครื่องประกอบสติ

เครื่องประกอบสติ ที่ปรุงแต่งสติดีแล้ว

สตินั้นแหละ จะทำให้เกิดความรู้สึกแยกออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู

 

ตอนที่จิตแผ่ออก มีกำลัง มีความรู้สึกอุ่นๆ ขึ้นมา

ถ้ามองอย่างมีสติว่า นี่คือลักษณะอาการแบบหนึ่งของจิต

นี่คือลักษณะที่จิต ทรงอยู่ในภาวะแบบหนึ่ง

ก็จะถูกเห็น ถูกรู้ว่าจิต มีความต่างไปเรื่อยๆ

ทั้งขนาด ทั้งอุณหภูมิ

จะมาในรูปของธาตุไฟในกาย

ที่จะรู้สึกควบคู่กันไป เหมือนจิตอบอุ่น

 

จริงๆ จิตไม่ได้อบอุ่น แต่ธาตุไฟในกายแผ่ออกมา

และพอเรารู้สึกถึง ..

 

หลักการง่ายๆ เลย ถ้ารู้สึกถึงธาตุไฟ ไออุ่น

ก็พิจารณาว่า ธาตุดินนี้ มีไออุ่นประกอบอยู่ มีธาตุไฟประกอบอยู่

 

อย่าจ้องไปที่ความอุ่นอย่างเดียว

เพราะจะทำให้เราหลงเข้าไปในความเป็นธาตุไฟ

ที่มาดึงความสนใจให้จิตไปปัก ไปโฟกัสอยู่

 

แต่ถ้ารับรู้ว่า กายนี้คือส่วนของธาตุดินกำลังขยับอยู่

มีท่าหายใจ มีการใช้มือไกด์

และ มีธาตุไฟ ไออุ่นประกอบอยู่

 

ก็จะได้เห็นไปพร้อมกันว่า ธาตุดิน ธาตุลม กับ ธาตุไฟ

ประกอบอาศัยอยู่ด้วยกัน

ธาตุไหนปรากฏเด่นก่อน โฟกัสธาตุนั้น

ธาตุไหนไม่เด่น ก็ยังไม่ต้องดู

 

อาศัยลมหายใจ เป็นเครื่องประกอบสติอยู่เรื่อยๆ ว่า

กำลังเกิดอะไรขึ้น หายใจออก

กำลังเกิดอะไรขึ้นหายใจเข้า

 

พอทำปกติ น่าจะดีกว่านี้ แต่ก็เห็นอยู่

เราจะรู้สึกด้วยตัวเองว่า พอทำต่อเนื่อง จะมีความใสมากขึ้นเรื่อยๆ

และเวลาเห็นเห็นจากจิตที่มีความชัดเจน

อย่างเมื่อกี้ รู้สึกถึงธาตุไฟที่อุ่นขึ้นมาไหม (รู้สึกครับ)

 

ถ้ามีไออุ่นหรืออะไรขึ้นมา ถ้ารู้ไป

มีไออุ่นหายใจออก มีไออุ่นหายใจเข้า รู้พร้อมประกอบไป

จะทำให้มีความคงตัว และทำให้เราเห็นถนัดว่า

สักแต่เป็นภาวะร่วมกันอยู่ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ

 

เปรม : ระหว่างวัน บางทีก็รู้สึกตัว หรือมีสติเป็นช่วงๆ

แต่บางทีก็สงสัยว่าควรใช้อะไรเป็นเครื่องอยู่

 

พี่ตุลย์ : จิตเปรม ช่วงนี้ถ้าสังเกต

แม้เราไม่ได้อาศัยเครื่องอยู่ระหว่างวัน ก็ใสๆ ขึ้นมาได้เอง

แต่ในใสๆ จะฟุ้งๆ มีโฟกัสที่ random ไปเรื่อยๆ ว่าคิดเรื่องไหน

 

ถ้าเอาคำตอบพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า

ให้เอาอานาปานสติ เป็นเครื่องอาศัย

เป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่

เพราะถ้ามีอานาปานสติเป็นเครื่องอยู่แล้ว

มารจะได้ช่องเข้าแทรกได้ยาก

 

การที่เราพิจารณา เช่น

ใจใสๆ อยู่ หายใจออก ใจใสๆ อยู่หายใจเข้า

นี่ก็ใกล้เคียงกับสมาธิที่ตั้งใจทำแล้ว

 

หรือถ้าขยายขอบเขตไปกระทั่งว่า

จิตฟุ้งซ่านอยู่หายใจออก จิตฟุ้งซ่านหายใจเข้า

นานขึ้นๆ บ่อยขึ้นๆ เปรมจะพบว่า

เครื่องอยู่ระหว่างวันที่ พระพุทธเจ้าให้ไว้ ใช้ได้จริง

 

ใช้อานาปานสติได้ จะทำได้ชั่วชีวิต ขอแค่มีความเคยชิน

ที่เราปลูกฝังไว้ เจริญอานาปานสติ

เห็นว่ามีความสุข หายใจออก มีความสุข หายใจเข้า

นี่เป็นแบบฝึกหัดอย่างง่าย

 

แต่ถ้าจะขยายขอบเขตไปในระหว่างวัน ต้องฝึกเพิ่ม

อาศัยชีวิตประจำวันเป็นเครื่องฝึก

ฟุ้งซ่านหายใจออก ฟุ้งซ่านหายใจเข้า

เห็นว่าความฟุ้งซ่านในแต่ละลมหายใจ ไม่เท่ากัน

ก็จะค่อยๆ มีศิลปะในการรู้แบบครึ่งๆ

 

ตอนแรกๆ ลมหายใจอาจเข้ามาแทนที่เลย หรืออยู่ 70%

แต่ถ้าทำไปๆ อาจเหลือ 50:50

แต่พอจิตเริ่มคงตัว เริ่มชำนาญจริง อาจมาที่จิต 70%

ส่วนลมหายใจที่เหลือ 30% หรือ 20%

 

แรกๆ จะสับสนกันทั้งนั้น

คิดถึงลมหายใจปุ๊บ จะมา 90-100% เลย

แต่คนที่ชำนาญแล้วจะอยู่ 50:50

แต่ถ้ามีอาการอยู่ตัว จิตทรงตัวได้

ลมหายใจจะเหลือ 20-30% และเป็นลมหายใจที่คงเส้นคงวา

ทำให้จิตมีเครื่องตั้ง มีเครื่องเกาะ

 

เราจะรู้สึกลึกๆ ว่าวิหารธรรมที่แท้จริง

ก็คือจิตตั้งอยู่ตรงนี้ (ประมาณกลางอก)

และใต้ไปจากสำนึก จะระลึกได้เอง ที่เรียกว่าเป็นอนุสสติ

 

ที่เรียกว่าอานาปานสติ ก็เพราะตรงนี้ .. เป็นเครื่องอยู่

เป็นอะไรที่รองลงไปจากความคิดตั้งอกตั้งใจ

 

ตราบใดยังมีความคิดตั้งใจดู ตราบนั้นก็ยังเห็นตัวเราๆ ตลอดเวลา

แต่เมื่อไหร่ที่ลมหายใจ ไปตั้งอยู่ในอนุสสติได้

ภาวะทางกายทางใจจะประสานงานกันเอง

มีฝั่งนี้ที่เป็นลมหายใจ และมีอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นผู้รู้ลมหายใจ

และรู้แบบธรรมชาติว่า จังหวะออก จังหวะเข้าเมื่อใด

 

ที่สำคัญที่สุดคือ เราสามารถเอามาใช้รับรู้ได้ว่า

สภาพปรุงแต่งจิต ณ ขณะนั้นๆ เป็นอย่างไร

ตรงนี้คือประโยชน์สูงสุดของอานาปานสติ

เพราะอยู่ระหว่างวันเราจะไม่หลงไปไหน

และเต็มใจอยู่ ด้วยแบบไม่ต้องฝืน หรือออกแรง

 

-------------------

 

นิด

 

พี่ตุลย์ : หลักการคือ มีความสุข เบา

เรารู้ว่า มีความสุข หายใจเข้า

รู้ว่ามีความสุขหายใจออก

ตรงที่สุขไปถึงจุดหนึ่ง จะรู้สึกถึงความผ่องใส

เหมือนฟองสบู่ ที่ใสเบา แผ่ออกไป

ตรงนี้แหละที่เราจะรู้สึกถึงจิต

 

รู้มาที่จิตหายใจออก

อาการรู้ว่า จิตกำลังมีความผ่องใส

แล้วหายใจเข้า ควบคู่ไปด้วย

รู้สึกถึงลมหายใจเข้าไปด้วย รู้สึกถึงลมหายใจออกไปด้วย

เราจะรู้สึกถึงความเป็นเครื่องกำกับสติ

 

ยิ่งมีความต่อเนื่องมากเท่าไหร่ ความชัดเจนจะยิ่งปรากฏเท่านั้น

 

อะไร เป็นตัวหล่อเลี้ยงให้การรับรู้ดำเนินไป

คำตอบคือ ความรู้สึกเป็นสุขที่จิตไม่ต้องไปวุ่นวาย

กระสับกระส่าย หรือแส่ออกไปรู้โลกภายนอก

พอใจอยู่กับความอิ่ม ความปีติ ความสุขของตัวเอง

 

เมื่อจิตไม่วอกแวก ไม่ดิ้นรน ไม่ซัดส่าย

นั่นแหละที่จะมีความอยู่ตัว ที่เรียกว่า รู้สึกถึงความวิเวก

 

อาการไม่ดิ้นรน คือความวิเวก

และเมื่อวิเวกต่อเนื่องนานเข้า จะชุ่มฉ่ำ ปีติ

หล่อเลี้ยงให้ภาวะทางกายยืดหยุ่น

และภาวะทางใจตั้งอยู่ได้โดยไม่ลำบาก

การรู้สึกถึงภาวะทางใจที่ตั้งอยู่ได้โดยไม่ลำบาก

นั่นแหละความพอใจยิ่งยวด

 

เมื่อเกิดความพอใจ ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมคนถึงนั่งสมาธิได้นาน

นั่งไปเพื่อรับรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในนาทีนี้ ลมหายใจนี้

สักว่าเป็นภาวะ ที่จิตถอนตัวออกมาก็ได้

ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วม ไปยึด ไปเกาะเกี่ยวพัวพัน

 

ตอนที่เหมือนกับใจแยกออกมา

ตอนนั้นแหละ ที่จิตทำตัวเป็นผู้รู้ภาวะ

เหมือนภาวะ รู้ตัวว่าเป็นภาวะ

ขันธ์ห้า รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ห้า

 

นิด : ครั้งก่อนพี่ตุลย์ให้ไปสังเกตจุดเข้าสมาธิ ทำไปแล้วมือหาย

 

พี่ตุลย์ : จะเหมือนแสง เหมือนอะไรที่โปร่งใส ใช่ไหม

นี่ก็เป็นตัวสะท้อนว่าจิตเราผ่องใส

อย่างเมื่อกี้ พี่บอกว่ารู้ที่จิตผ่องใส แล้วจิตรู้ตัวเองว่าเป็นภาวะ

แต่อาจยังไม่ได้ตั้งเห็นสักว่าเป็นภาวะได้ต่อเนื่อง

 

ประเด็นคือ เรามาถูกทิศทางแล้ว

เพราะเมื่อเรารู้ได้ว่า จิตผ่องใส มีแต่สภาวะของจิตบ่อยเข้า

จะกลายเป็นความเคยชิน ชำนาญว่า

เราไปรู้ภาวะนั้นได้เรื่อยๆ เป็นปกติ

 

อย่างตอนนี้ พอรู้สึกถึงความผ่องใส แป๊บหนึ่ง

ตอนเอามือลง ความรู้สึก ก็จะกลับมาเป็นตัวนิดเหมือนเดิม มีตัวเรา

แต่พอทำไปเรื่อยๆ จิตผ่องใสจะตามมา

แม้วางมือลงก็จะรับรู้คงเส้นคงวา

 

และความผ่องใสนี่ เปลี่ยนขนาดได้

กว้างได้ หดแคบได้ หรือขุ่นๆ ขึ้นได้

โดยเฉพาะตอนรู้สึกเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

 

ตอนเข้าสมาธิ มีพัฒนาการก็คือ

พอทำมาต่อเนื่อง เราไม่ต้องออกแรงมากเหมือนช่วงก่อน

พอไม่ออกแรง ก็จะไม่ตื่นเต้น ไม่คาดหวัง ว่าอันไหนดีไม่ดี

ก็จะมีพัฒนาต่อเองว่า เมื่อเข้าสมาธิ

จะจับจุดได้ว่า เริ่มจากตรงนี้ก็ใช้ได้แล้ว

ไม่ต้องเริ่มจากจุดโน้น เริ่มจากตรงที่เป็นอยู่ก็ใช้ได้

 

ไม่อย่างนั้นทุกคนที่นั่งสมาธิ จะเหมือนพยายามเขย่ง

หรือกระโดดไปจุดที่เรายังไปไม่ถึง

 

ตอนที่จิตดีๆ และมีความรู้สึกเป็นปกติกับจิตดีๆ

ขึ้นต้นมาจะรู้สึกเกือบดีแล้ว

แล้วก็ทำต่อโดยที่ไม่คาดหวังอะไรเลย

แล้วเห็นว่าที่เกือบดี พลิกกลายเป็นดีได้ภายในเวลาไม่นาน

 

พอทำได้บ่อยๆ จะรู้สึกเลยว่าเราทำสมาธิเป็นแล้ว

และเป็นสมาธิแบบพุทธด้วย

 

นิด : รู้ว่าจิตพอใจกับความสุขที่ทำเมื่อกี้ และรู้สึกร้อนๆ ที่มือนิดหน่อย

 

พี่ตุลย์ : ตอนแรกๆ ต้องอาศัยความพอใจ

ถ้าไม่พอใจจะไม่อยากทำสมาธิหรอก

 

แต่เมื่อเข้าฝักแล้ว ก็พิจารณาความพอใจนั้น เป็นส่วนเกิน

สิ่งที่คงค้างอยู่คือ ปีติสุข ระดับที่เป็นอยู่จริงๆ

 

แล้วก็ดูว่าปีติสุขนั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ถ้าขยาย ใหญ่ออกไปไม่มีประมาณ

ก็เห็นว่านี่ ความไม่เที่ยงขาขึ้น

แต่ถ้าจะเสื่อมลง ดูกระปริบกระปรอย อิ่มใจเล็กๆ น้อยๆ

ก็ดูว่าเป็นความเสื่อม ความไม่เที่ยงขาลง

 

ส่วนความอุ่นที่ฝ่ามือ อย่าไปโฟกัส อย่าไปสนใจมาก

แค่เข้าใจว่า นั่นเรียกธาตุไฟ

 

เรากำลังเห็นธาตุไฟ ปรากฏพร้อมอยู่กับธาตุดิน

เพราะบอกถูกว่าร้อนที่มือ แปลว่า

รู้ธาตุดิน ของความเป็นมือว่าอุ่นขึ้น

มีธาตุไฟมาผสมอยู่ก็เบ่งบานขึ้นมากกว่าเดิมที่มือ ก็รู้ไป

 

พอรู้ธาตุดินไปพร้อมธาตุไฟ แล้วอย่างไรต่อ

ถ้าร้อนๆๆ อย่าตกใจ แต่ให้บอกตัวเองว่า

ตราบใดที่ใจยังเย็นอยู่ ธาตุไฟไม่มีทางมาเกินใจที่เย็นนั้นได้

 

ที่ร้อนๆ นั่นไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง

ธาตุไฟก็เป็นอนิจจัง มีมากมีน้อย มีกำเริบขึ้นมา มีหดตัวลงไป

ไม่ใช่มีแต่ธาตุดินที่แสดงความเกร็งบ้างผ่อนคลายบ้าง

 

นิด : ระหว่างวันเวลาคิดจะเห็นว่าเบื้องหลังความคิด มีตัวเราอยู่เต็มๆ

 

พี่ตุลย์ : พอเรารู้โดยความเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องรู้อย่างอื่น

รู้แค่ว่ามีตัวตน ยอมรับไป เพื่อที่จะเห็นชัดๆ ว่า

ภาวะรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ เป็นอะไรที่หนาๆ ขึ้นมา

หรือเป็นอะไรที่ทึบๆ มืดๆ ก็รู้แค่นั้น

ว่าสภาวะของตัวตนหน้าตาแบบนี้

 

พอสภาวะตัวตนหายไป

จะด้วยเพราะเหม่อ หรือมีสติรู้พร้อมลมหายใจ

เราก็เห็นความไม่เที่ยงของตัวตนได้

 

ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆ ไป อย่าคาดหวังว่าเราจะปราบได้ง่ายๆ

--------------------

 

พงศ์

 

พงศ์ : ตอนนี้นึกถึงท้องฟ้าให้โปร่งว่าง ไปคลอเคลียกับแสง แล้วปีติ

 

พี่ตุลย์ : เป็นแค่ความอิ่มใจธรรมดา ไม่ได้ปีติแบบฉีดซ่าน

ก็รู้ไปตามจริงว่ากำลังมีภาวะแบบนั้น

 

ตอนเห็นฟ้า เอาเฉพาะแหงนหน้าสุด

จะเห็นได้ว่าจิตแผ่กระจายออก

ถ้าปีติเกิดตอนนั้นจะเป็นแบบฉีดซ่าน

 

แต่ถ้านั่งนิ่งเฉยๆ ต้องถึงจุดที่ภาวะร่างกายยืดหยุ่นจริง

 

ถ้าเห็นทั้งฟ้าจริง จะรู้สึกว่า

จิตมีอาการเปิดออก สงัดสงบจากความคิด

ภาวะทางกาย จะเหมือนกับทั้งๆ ที่เรายกมือ

แต่จะเหมือนไม่มีน้ำหนัก(แขน) ทั้งที่เรายกขึ้นไป

เป็นรูปหลอก ไม่มีน้ำหนัก

และรู้สึกถึงความใสกว้าง ข้างบน

 

อันนั้นแหละ คือสภาพหนึ่งของจิตที่ว่าง ใส

ยิ่งใสเท่าไร จะยิ่งพบว่า

ตัวจิตเองคืน หรือคายความรู้สึกในตัวตน

ออกมามากเท่านั้น

 

พอพิจารณาว่า จิตเป็นแค่สภาวะหนึ่ง

จะเห็นถนัดว่า สภาวะที่เรียกว่าจิต ไม่ใช่บุคคล

 

ของพงศ์ตอนใจเปิด จะมีภาวะที่เรียกว่า

การกระตุ้นให้จิตเปิดออก จิตเดิมกลับมา

และถ้าเข้าสมาธิ ในขณะที่จิตเปิดกว้างเท่าฟ้า

ตรงนั้นที่จะรวมจริง

 

ปีติอ่อนๆ ตรงนี้

เราพิจารณาเป็นภาวะหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

อยู่ในขอบเขตแบบนี้ และอยู่แป๊บหนึ่ง

พิจารณาไปแค่นั้น

 

แต่ตอนรู้สึกฟ้าทั้งฟ้าและใจเปิดออกจริง ฉีดซ่านจริง

ก็ดูว่า นี่คือเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตรวมลงอย่างใหญ่ของจริง

และตอนแผ่ซ่านออกไป จะเหมือนน้ำพุที่ฉีดไปทั้งฟ้า

จะไม่แคบ เป็นอีกอย่างไปเลย

 

ฐานจิตได้อยู่แล้ว ขอแค่เข้าถูกทางและมีกำลังมากพอ

 

พงศ์ : ช่วงนี้ไปเคล้าเคลียกับแสง พยายามดูในชีวิตประจำวันมากขึ้น

แต่รู้สึกไม่คืบหน้า

 

พี่ตุลย์ : ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้า และเราอยู่ถูกทิศทาง

 

เรามีสองส่วน ส่วนทิศทางที่ถูกต้อง

กับส่วนที่ เราสะสมเรื่องคิดเอง เออเองมาเยอะ

เอาเข้าจริง ยังอยู่ในจุดที่ยังลักลั่นนิดหนึ่ง

ระหว่างทิศที่ถูกจริง กับทิศที่คิดเอง

 

ทีนี้จะไปถึงจุดที่ถูก ที่ตกลงกันได้ว่า

จะไม่มีส่วนของความคิดเราเอง หรือทิศทางที่ถูกต้อง

ต้องอยู่ตรงกลาง ตรงที่จิตรวมอย่างใหญ่จริง

ตรงนั้น พอ reset ใหม่ มุมมองจะต่างไปอย่างสิ้นเชิง

จะรู้สึกว่าไม่มีบุคคลมาพิจารณา

อันไหนถูก อันไหนผิด ใช่ ไม่ใช่

 

จิตจะทำตัวอีกแบบคือ ไม่เข้าโหมดคิด

แต่อยู่ในโหมดรู้อย่างเดียว เกิดอะไรตามจริง  

 

สมาธิเราไม่มีปัญหานะ

แม้จะทำแบบ ทำเองคิดเอง จิตก็รวมได้ แม้จะยังรวมเล็กๆ

แต่จิตรวมใหญ่ต้องอาศัยกำลัง

และอาศัยการที่จิตเปิดมากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ

_______________

วิปัสสนานุบาล วันพิเศษ : EP67 (รอบเช้า)

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=VjY3u_7TT1A

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น