วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ต้องอยู่ในครอบครัวที่คนมีอัตตาสูง รู้สึกหดหู่เวลาโดนกระแทกอารมณ์ใส่ ควรทำอย่างไรคะ?

คำถาม : ต้องอยู่ในครอบครัวที่คนมีอัตตาสูง แสดงความไม่พอใจเวลาเราคิดไม่ตรงกับเขาเสมอ อยากจะปล่อยวาง แต่ทำใจไม่ได้เสียที รู้สึกหดหู่ เวลาโดนกระแทกอารมณ์ใส่ ควรทำอย่างไรคะ?

ช่วงถาม-ตอบ
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ประตูผ่านโลก
21 ตุลาคม 2560
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/55wXILRjVaE

ดังตฤณ:  
ช่วงหลังๆ มีคำถามแบบนี้มาเยอะนะ
คือ จริงๆแล้วเนี่ย ถ้าเราเจอคนที่ทำงานประมาณนี้ มันยังไม่แย่เท่าเจอคนที่บ้านทำใส่ เพราะว่า ที่ทำงาน บางทีมันอยู่ในใจเราว่าเป็นสนามรบ ที่มีการแข่งขันกันทางธุรกิจ มีการแข่งขันกันเองระหว่างเพื่อนร่วมงาน มีการบีบคั้นจากหัวหน้า มีการพยศจากลูกน้อง คือ พูดง่ายๆว่า ใจเราไม่คาดหวังมากอยู่แล้วว่าที่ทำงานจะเป็นสถานที่ที่อบอุ่น เข้าไปแล้วเกิดรู้สึกแสนดี อยากเข้าไปทั้งเจ็ดวัน ไม่หยุดเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่คาดหวัง

แต่คำว่า "บ้าน"  เนี่ย มันทำให้เราเกิดความคาดหวัง เพราะว่าตั้งแต่เล็กจนโต บ้านเป็นสถานที่เอาไว้พักนอน เวลาหนาวก็เอาผ้าห่มมาห่มให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เวลาเนื้อตัวสกปรก ก็เป็นที่ไว้ชำระร่างกาย และมีที่ส่วนตัว มีมุมโปรดของเรา หรือพูดง่ายๆว่าเป็นโลกของเรา ซึ่งถ้าหากว่าโตแล้วมีความสามารถที่จะเลี้ยงตัว แล้วซื้อบ้าน ซื้ออะไรเป็นของตัวเอง ก็จะรู้สึกว่า นี่แหละ คือความเป็นเรา  คือความเป็นเราไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปร่างหน้าตา จะรวมถึงสภาพแวดล้อมที่ห่อหุ้มตัวเราอยู่ด้วย และเป็นของๆเรา เป็นที่ๆเราได้อยู่กับตัวเองเต็มที่

แต่ถ้าหากว่ายังต้องอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ยังต้องอยู่กับพ่อแม่พี่น้อง ต้องอยู่ในฐานะผู้อาศัย หรือ ในฐานะผู้ให้ "เขา" อยู่ก็ตาม บางที มันเกิดความรู้สึกว่า "เขตความเป็นเรา" เขตความอบอุ่นใจ เขตความรู้สึกแสนดี เนี่ย มันมีอยู่ในที่แคบๆจำกัด คือแค่ "ห้องนอน" ของเราเท่านั้น พอออกนอกเขต บางที่ต้องยื้อแย่ง เช่น น้องดูทีวีอยู่ เราก็เล่นเกมไม่ได้ หรือว่าพี่ใช้คอมพ์ เราไม่มีสิทธิ์ใช้ ต้องรอคิว หรืออย่างกรณีที่เป็นคำถามนี้ คือ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า บ้านเป็นที่ๆเราจะเกิดความรู้สึกว่าเหมือน "ตกนรกหมกไหม้" ได้
อันนี้ขอใช้คำนี้ เพราะมันเป็นความรู้สึกของหลายๆคนที่เจอกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่พูดไม่ดี พูดกระแทก แบบพยายามทำให้รู้เลยว่าตั้งใจให้ เจ็บช้ำน้ำใจ หรือด่าว่าให้เกิดความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง แบบนี้ มันเหมือน "ตกนรกอยู่ที่บ้าน"

บางทีนะ เรามีสนามรบ อยู่ที่ที่ทำงาน เราหวังว่าจะกลับมาอยู่ในที่ๆมันสงบ มาพักรบ แต่ไม่ใช่ หนีเสือ ปะจระเข้ มันยิ่งกว่านั้น คือกลับมาตกนรกเลย ไม่ใช่ไปแค่เข้าสนามรบ เพราะฉะนั้น ตรงที่บอกว่า ขอคำแนะนำ จะทำใจยังไง? หรือจะให้พูดยังไง? คือ ลองมาหมดทุกวิธีแล้ว มันไม่มีอะไรดีขึ้นเลยนะ อันนี้ขอบอกตรงๆเลยนะว่า วิธีที่ทำให้ "นรกทางใจ" มันหายไปเลยนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่มันอยู่ที่บ้านเนี่ยนะ มันไม่ใช่สนามรบ มันเป็นเหมือนกับ ..เค้าจะเรียกว่าอะไร? .."ที่ลงโทษ" หรือไม่ก็ "ที่ตบรางวัล" นี่พูดให้เข้าใจแบบชัดเจนเลยนะ

บางทีเนี่ย คำว่า "บ้าน" มันมีอยู่สองอย่าง ไม่สวรรค์ ก็นรก ขึ้นอยู่กับว่าเราเคยได้สร้างบ้านแบบไหนมา? ทำให้คนในครอบครัวมีความรู้สึกแบบไหน? นะ อันนี้ทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อน เพื่อที่จะให้เกิดความรู้สึกว่า โอเค มันมีเหตุผลอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลัง คือไม่ใช่ว่าอยู่ๆเรามาตกอยู่ในภาวะแบบนี้ บางคนทำไม พ่อแม่เค้าดี๊ดี  ดีตั้งแต่ลูกยังเด็ก จนลูกแก่เฒ่า ไม่เคยว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจ มีแต่อธิบายให้เป็นเหตุเป็นผล  ถ้าตำหนิ ก็ตำหนิแบบที่ทำให้รู้คิดมีปัญญามากขึ้น ทำให้คิดเป็น ไม่ใช่ดุด่าให้เจ็บแสบ นะ

อันนี้ก็เราเคยทำมาอย่างไรนะ เราก็ต้องมาอยู่กับผลแบบนั้น อันนี้ ถ้ามองด้วยความเชื่อแบบนี้  ด้วยความศรัทธา ในวิบากแห่งกรรม ในผลแห่งกรรม เราจะมีความรู้สึกว่า สภาพที่เป็นอยู่เนี่ย มันคือ วิธีใช้กรรมแบบหนึ่ง พอมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็ให้สังเกตไปเรื่อยๆว่าการใช้กรรมของเราเนี่ย มันมีข้อแตกต่างได้นะ

ถ้าหากว่า เราทุกข์ร้อน เรารู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ เรารู้สึกดิ้นเร่าๆ พยายามที่จะเอาชนะกรรมเก่า ไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวรนะ  พ่อแม่ไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวร แต่เป็นวิธีใช้กรรมเก่าของเรา

วิธีที่เราโต้ตอบเนี่ย เป็นวิธีที่ดุเดือด ดึงดัน จะเอาชนะ หรือว่าเป็นวิธีที่จะค่อยๆอ่อนโอนผ่อนตาม ทำให้ผู้ใหญ่เนี่ย มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราไม่ได้หงอ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แข็ง คือมันอยู่ตรงกลางๆ นะ

คือเราต้องมีคำพูดที่สั้น ชัดเจน แสดงถึงความเข้มแข็งของจิตใจนะ เวลาที่จะโต้ตอบท่าน แต่ต้องไม่เจือด้วยความโกรธ ถ้าเวลาที่ท่านหลุดคำพูดขึ้นมาว่า ปีกกล้าขาแข็งแล้วเหรอ เราต้องหยุด แต่ต้องหยุดอย่างสง่างาม ไม่ใช่ หยุดด้วยอาการที่หยุดแบบอัดอั้นตันใจ ราวกับลูกหนูที่ถูกบีบ จนตัวแทบไม่เหลือ ต้องหยุดในลักษณะที่ทำให้ท่านสัมผัสได้ถึงความสงบของใจ ซึ่งอันนี้ต้องฝึก

การปฏิบัติธรรมที่บ้านเนี่ย มันมีตรงนี้ด้วย คือถ้าเราทำไว้ในใจว่า เราจะฝึก นี่ก็คือ การปฏิบัติธรรมทันที

คือตั้งแต่นาทีที่เราตั้งใจว่า เราจะฝึกที่จะหยุดโต้ตอบ ฝึกที่จะมีความสงบเป็นการตอบโต้ผู้ใหญ่ ให้ท่านรู้สึกถึงความสงบ นาทีนั่นแหละ สิ่งที่เราตัดสินใจนั่นแหละ ที่เราลงมือทำนั่นแหละ คือ การปฏิบัติธรรมที่บ้าน

ผลของการปฏิบัติธรรมที่บ้านกับผู้ใหญ่ที่ชอบขึ้นเสียง ที่ชอบพูดจาให้เจ็บใจ เราจะค่อยๆเห็นวันต่อวัน ไม่ใช่แค่วันสองวันนะ..วันต่อวัน เป็นเดือนๆเป็นปีๆ เราจะรู้สึกเหมือนว่าท่านได้รับความสงบจากเราไป เหมือนท่านหยุดเป็น เหมือนที่เราหยุดเป็นมาแรมเดือนแรมปี

นี่แหละ คือ วิธีโต้ตอบกับผลกรรมเก่าของเรา เป็นวิธีโต้ตอบอย่างแท้จริงเลย โต้ตอบในแบบจะทำให้อะไรๆมันดีขึ้น นี่เรียกว่าเป็นบุญใหม่ เป็นกรรมใหม่ เป็นของใหม่

แต่ถ้าหากว่า เราโต้ตอบในแบบว่าจะทำให้อะไรๆมันแย่ลง หรือว่าร้ายอยู่อย่างนั้น คาราคาซัง นั่นคือว่า เราไม่ได้ใช้กรรมเก่าเลยนะ แทบจะไม่ได้ทำให้ของเก่ามันหมดสิ้นไป เพราะว่าการโต้ตอบกับพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่มีพระคุณ ยังไงเราก็เสียเปรียบนะ ยังไงเราก็ต้องกลับไปรับผลอีก ยังไงเราก็ต้องกลับไปอยู่วงจรนี้อีก มันไม่ช่วยให้ดีขึ้น ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

แต่เมื่อไร เราตั้งใจจะปฏิบัติธรรมที่บ้าน เราจะดีขึ้นทันที เห็นนาทีนี้เลย แล้วจะดีขึ้น ในกาลต่อๆไปที่จะตามมาข้างหน้าด้วยนะครับ

คือ ผมเน้นที่ใจนะ ใจเนี่ยเป็นสิ่งที่มันส่งผ่านถึงกันได้ เป็นกระแสที่ส่งผ่านถึงกันได้ ถ้าเรามีความสงบ ในขณะที่คนอื่นมีความวุ่นวาย เค้าจะวุ่นวายน้อยลงตามเรา ถ้าเรามีความเยือกเย็น ในขณะที่คนอื่นเค้าร้อนแรง เค้าเสียดแทงเหลือเกิน ความเย็นของเรา จะทำให้เค้ารู้สึกว่านึกคร้านที่จะมาทิ่มแทงต่อนะ  อันนี้ จะเป็นสิ่งที่เห็นผล หลังจากบารมีของเราที่บำเพ็ญในการปฏิบัติธรรมที่บ้านได้มากพอ..นานพอนะครับ

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น