วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

หลักแห่งปัญญา (The power of wisdom, The principle of wisdom)

คุณดังตฤณบรรยายธรรม
ให้กับกลุ่มบริษัท ซีดีจี
ณ อาคารซีดีจีเฮ้าส์ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
๑๐ ม.ค. ๕๗


- วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน 
- การยอมรับตามจริงและยอมรับสภาพกับความไม่เที่ยง
- วิธีการทำสมาธิ - วิปัสสนา
- การเจริญสติในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการภาวนา 

ดูคลิปวิดีโอบรรยายบนยูทูบ

หรือรับฟังเสียงบรรยายบนยูทูบ


หรือดาวน์โหลดเสียงบรรยายแบบ MP3


หรืออ่านไฟล์ถอดเสียงได้ที่นี่...


ต้นเหตุของความฟุ้งซ่าน

ขอสวัสดีตอนเช้ากับทุกท่านช่วงเช้านี่ก็ดีนะ เป็นช่วงที่เราฟังธรรมะกันได้รู้เรื่องมากที่สุดของวัน เพราะว่าเป็นช่วงที่เพิ่งตื่นนะ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรรบกวนจิตใจมากนัก มีความปลอดโปร่งกันอยู่ ยังไม่มีการประชุมอะไรที่หนักหนาสาหัส ยังไม่มีการตัดสินใจในแบบที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า มันฟุ้งซ่าน เรื่องความฟุ้งซ่านนี่ เดี๋ยวผมจะพูดเน้นหนักวันนี้เลย

ผมพบอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเจอมากี่คน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย มีปัญหาทางใจแบบเดียวกันตลอดชีวิต ก็คือเรื่องของความฟุ้งซ่านนี่แหละ

ผมสังเกตนะ เวลาพูดบอกว่า นี่! มีวิธีที่จะทำให้หายฟุ้งซ่าน หูผึ่งกันเป็นแถวนะ แต่พอบอก เออนี่ แต่ละวันนี่ด่ากันน้อยลงได้ไหม? นินทากันน้อยลงได้ไหม? ก็รู้สึกว่ามันห่อเหี่ยวนะ ต้นเหตุของความฟุ้งซ่านนี่ ละไม่ได้ มันเป็นนิสัยมาแต่ชาติก่อน เกิดความรู้สึกว่า มันฝังอยู่ในกมลสันดาน หรือว่าในความรู้สึกส่วนลึกนะ ว่า วันหนึ่งนี่มันจะต้องอย่างน้อยแอบด่าคนสักนิดหนึ่งอยู่ในใจนะ คือ ด่าต่อหน้ากันไม่ได้ ก็ใช้วิธีทางธรรมชาติ ที่ธรรมชาติให้มา คือแอบด่าอยู่ในใจ คิดอยู่ในหัว คิดว่าคงไม่เป็นไร แต่จริงๆเป็น เพราะนั่นก็คือ ต้นเหตุของความฟุ้งซ่านชนิดหนึ่ง

เอาละวันนี้ผมจะมาพูดเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้นะ ที่สนใจกันนี่ เรื่องเกี่ยวกับธรรมะอะไรนี่ บางทีนะ ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าหายฟุ้งซ่าน ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าอยากได้ความสงบสุขที่แท้จริงในชีวิต

คือบางคนนี่บอกว่า รวยแล้วจะมีความสงบ มันไม่ใช่ คนรวยที่ผมรู้จักนะ ไม่ใช่ท่านประธานนะ คือ ผมพูดถึงคนอื่น ท่านประธานคนนี้สนใจธรรมะนะ คือที่เห็นมาจริงๆเลยก็คือว่า คำถามของคนที่อยู่เป็นอันดับหนึ่งในใจ ตอนแรกมันคิดไว้ก่อนว่า ทำอย่างไรจะรวย?”

คนรวยอยู่แล้วน่ะ รวยมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ที่ให้อะไรมาตั้งแต่เกิด หรือบางคนเคยจนมาก่อน แล้วมารวยทีหลัง ก็ไปเจอจุดร่วมกันตอนที่รวยแล้วน่ะ พบว่าสิ่งที่ดีกว่าความร่ำรวยก็คือ ความสงบสุขทางใจแต่มันหาไม่ได้ หาไม่เจอ หาได้เจอแค่แป๊บเดียว คนเราชอบเวเคชั่น (vacation) ชอบวันหยุดกันเพราะอะไร เพราะว่าไปทะเล ไปภูเขา แล้วภูเขากับทะเลมันปรุงแต่งจิตให้เกิดความสงบขึ้นมาวูบหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่า เออ มันดีแฮะ มันแตกต่างจากตอนที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ มันแตกต่างจากตอนที่ต้องมาทะเลาะ ต้องมาถกเถียงกันในห้องประชุม หรือว่าในห้องนอนที่บ้าน เสียงหัวเราะนี่ หัวเราะแผ่วๆ ก็คงบอกอะไรได้หลายอย่างนะ มันเป็นความรู้สึกในใจ ขอหัวเราะหน่อยหนึ่ง เพราะมันเป็นเรื่องจริง มันไม่ใช่แค่ที่ทำงาน มันที่บ้านด้วย ทุกอย่างที่เราเจอในชีวิตนี่มันเหมือนกับแกล้งเราให้ฟุ้งซ่านได้ไม่เลิก พอไปเจอป่าเขา พอไปเจอทะเลกว้างๆ เปิดใจเราให้กว้างตาม มันก็เกิดความรู้สึกที่แปลกแตกต่างไป

เสียแต่ว่าบางคนนะ ขนาดไปเวเคชั่นนะ กำลังลีฟ (leave) อยู่ ไปเจอทะเลนี่ โอเคสดชื่นแล้ว แต่แป๊บเดียวเกิดความรู้สึกผิด มีนะ มีเยอะนะ พวกที่ทำงานมาตลอดทั้งปีนี่ ได้โอกาสหยุดสามวัน แทนที่จะไปสูดอากาศสดชื่นให้เต็มปอด กลับไปเกิดความรู้สึกขณะมองทะเลว่า เอป่านนี้นี่เพื่อนร่วมงานเราเขาลำบากกันแค่ไหน? เรามานั่งสบายอยู่คนเดียวนี่เกิดความฟุ้งซ่านไปอีกแบบหนึ่งนะ แสดงให้เห็นว่าปัญหาคือความฟุ้งซ่าน ต้นเหตุของความฟุ้งซ่านสามารถติดตามคุณไปได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าคุณจะอยู่ในที่พักผ่อน หรือว่ารวยแล้ว คิดว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ต้นเหตุความฟุ้งซ่านมันไม่ได้ไปไหน

________________

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

วันนี้ผมจะพูดถึงต้นเหตุความฟุ้งซ่านสองข้อ ที่สำคัญที่สุด และถ้าหากว่าคุณทำความเข้าใจกับต้นเหตุความฟุ้งซ่านสองข้อนี้ได้ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้หลับตานั่งสมาธิ คุณก็จะมีจิตที่เป็นสมาธิได้

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันว่า จิตที่เป็นสมาธิ คือจิตที่มีความตั้งมั่น ปลอดโปร่ง แล้วก็เปิดกว้าง มีอาการแผ่ออกไป ไม่ใช่มีอาการคับแคบ ไม่ใช่มีอาการวุ่นวาย ไม่ใช่มีอาการสับสน

แต่ทุกคนเวลาที่เริ่มฝึกสมาธินี่นะ จะมีความเข้าใจ จะมีมุมมองตรงกันหมด คือต้องไปนั่งหลับตา ไปนั่งบังคับจิต บังคับใจให้สงบ ไปทำอารมณ์ให้มันเยือกเย็น แกล้งทำให้มันเยือกเย็น แล้วก็นึกว่า นั่นเราผ่านการทำสมาธิมาแล้ว บางคนบอกว่า โอย ทำได้ผลนะ เข้าคอร์สมาเจ็ดวัน สิบห้าวัน แต่กลับมาเหมือนเดิม หรือแย่กว่าเดิมอีก คือมีอาการบ่น ร่ำร้องเรียกหาเวเคชั่น มีอาการอยากจะไปปลีกวิเวก เพื่อที่จะได้เข้าสู่ภาวะที่หลงนึกว่านั่นคือสมาธิที่น่าติดใจ แท้ที่จริงแล้ว ถ้าเรามองเข้ามาที่สภาวะของจิตใจตัวเองนะ มันสามารถที่จะก่อเหตุของสมาธิได้อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งมานั่งทำงานอยู่ทุกวัน

เหตุของความฟุ้งซ่านที่สำคัญที่สุดอันดับหนึ่งเลยก็คือ ความ ไม่รู้จะโฟกัสอะไรดีคุณลองคิดดูนะครับ เวลาที่มีเรื่องสองเรื่องอยู่ในหัวพร้อมๆกัน คนส่วนใหญ่นี่เลือกไม่ถูกว่าจะทำอะไรดี เอาอะไรมาก่อน เอาอะไรไว้ทีหลัง ยกตัวอย่างเช่น ตอนเช้าๆนี่ มีกิ๊กส่งข้อความมาหาบอกว่า เราเลิกกันเถอะ พอมาถึงที่ทำงานนี่ ไม่เป็นอันทำงาน เพราะในใจมีเรื่องอยู่เรื่องเดียวที่กำลังโฟกัสอยู่นี่ ไอ้คำว่าเราเลิกกันเถอะ นี่นะ เจ้านายสั่งงานอะไร ลูกน้องมาปรึกษางานอะไร มันก็มีแต่คำว่า เราเลิกกันเถอะ แทนเสียงของเจ้านาย แทนเสียงของลูกน้อง นี่คือตัวอย่างว่า ต้นเหตุความฟุ้งซ่านอันดับหนึ่งก็คือ ใจนี่มันไม่มีความสามารถที่จะไปโฟกัส กับสิ่งที่ควรจะโฟกัส มันเลือกไม่ถูก

: วิธีที่จะเลือกให้ถูกนะ มันต้องอาศัยการ ฝึกและ เอาของจริงในชีวิตมาเป็นบทฝึกคนส่วนใหญ่เวลาเริ่มต้นทำสมาธิ จะหาอุบายอย่างอื่น อย่างเช่น คิดว่าจะต้องไปนั่งดูลมหายใจ หรือว่าจะต้องมาบริกรรมพุทโธ และสนใจจดจ่ออยู่กับคำว่าพุทโธ หรือว่าลมหายใจตรงนั้นเท่านั้น ซึ่งมุมมองแบบนี้นี่มันอาจจะใช่สำหรับชั่วเวลาประเดี๋ยวประด๋าว ห้านาที สิบนาที แต่ระหว่างวันเป็นสิบชั่วโมงนี่ สภาพจิตของคุณเป็นยังไง มันมีแต่อาการเลือกไม่ถูกระหว่างทางสองแพร่ง ว่าจะเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวาดี ธรรมชาติของจิตที่เกิดขึ้นก็เลยมีอาการสับสนอลหม่าน มีอาการเป๋ไปเป๋มา ซ้ายทีขวาที ถ้าหากว่าคุณไปเอาบทฝึกอย่างอื่น ชั่วเวลาห้านาทีสิบนาทีมา แปลว่าทั้งวันที่ผ่านมานี่ คุณไม่ได้ฝึกอะไรเลย คุณปล่อยให้บทฝึกทั้งหลายมันสูญเปล่า เสียไปเปล่าๆ สิ่งที่ผมจะบอกก็คือว่า ในระหว่างวันแม้กระทั่งตื่นนอนขึ้นมานี่นะ คุณสามารถจะฝึกจิตได้แล้ว ลองสำรวจจิตใจของตัวเองดู เวลาที่ตื่นนอนขึ้นมา ใจมันคิดอะไรก่อน วันนี้อากาศเย็น อยากนอนต่อ มันมีความรู้สึกว่า ไอ้การตื่นนอน ลุกจากที่นอนนี่ เหมือนถูกทำโทษ หรือว่า เหมือนถูกทรมานทารุณกรรมนะ ที่จะไม่ได้ให้นอนต่อ

ไอ้ความรู้สึกเลือกไม่ได้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ตื่นนอน ลืมตาตื่นขึ้นมาเลย แต่ถ้าหากว่าคุณมีโฟกัสที่ชัดเจนในชีวิต เห็นอากาศเย็นๆ เห็นอากาศดีๆ เป็นแค่เหยื่อล่อ แล้วยังมีจุดยืนของชีวิต ยังจำได้อยู่ว่า เราจะต้องทำอะไร แล้วเข้มแข็ง ไม่งับเหยื่อ ลุกขึ้นมาตามเวลาที่มันควรจะลุก แค่นี้เป็นการฝึกจิตแล้ว ฝึกจิตให้อยู่กับเป้าหมายที่ควรจะโฟกัส ฝึกจิตให้อยู่กับสิ่งที่ควรจะทำ นี่เริ่มต้นของวันนะ นี่แค่เริ่มต้นของวัน วินาทีแรกของวันมันได้ฝึกจิตกันแล้ว

ถ้าหากว่าคุณมีความ เคยชินที่จะคือร่างกายนี่ เมื่อถึงเวลาตื่นของเราแล้ว จิตใจของคุณตื่นตาม ไม่มีอาการโอ้เอ้ ไม่มีอาการวอกแวก ลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ แล้วไม่คิดอะไรวอกแวกอย่างอื่นทั้งสิ้น ไม่นึกถึงที่นอน ไม่นึกถึงความฝันที่เพิ่งผ่านมา มีแต่มุ่งไปสู่ก้าวต่อไป นี่แหละคือลักษณะจิต ที่มันเหมาะควรจะได้เป็นสมาธิ พอมาถึงที่ทำงาน สมมติว่า ชีวิตคนเราสมัยนี้มันซับซ้อน เจ้านายอยากได้อย่างหนึ่ง ลูกน้องอยากได้อย่างหนึ่ง แต่ใจเราอยากทำอีกอย่างหนึ่ง มันตีกันยุ่ง มาถึงที่ทำงานปุ๊บนะ ลงนั่ง ถามตัวเองก่อน แล้วจะทำอะไรดี พอมีคำว่าจะทำอะไรดี แล้วคุณสำรวจเข้ามาที่จิตใจตัวเองนะ มันจะรู้สึกแล้วว่าคล้ายๆกับคลื่นรบกวนมันก่อตัวขึ้นมา ไอ้ความชัดเจนแจ่มใสอะไรทั้งหลายมันหายไป การฝึกสมาธิมันก็ทำได้ตอนนี้ ตอนที่รู้ตัวว่ามีอาการพร่าเลือนขึ้นมาในจิตใจ มันมีอาการงงๆ มันมีอาการเบลอๆ ไม่รู้จะหันซ้ายหรือหันขวา ไม่รู้จะเลือกงานชิ้นที่หนึ่ง ชิ้นที่สอง หรือชิ้นที่สามดี ใจอยากอย่างหนึ่ง เจ้านายสั่งอย่างหนึ่ง ลูกน้องขออย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าคุณไม่มองว่า นั่นเป็นคลื่นรบกวนชีวิต แต่เป็นเครื่องฝึกจิตฝึกใจ สิ่งที่คุณจะได้มาก็คือ คำตอบให้ตัวเอง เป็นคำตอบที่เกิดขึ้นอย่างมีจุดหมาย จุดหมายคืออะไร คือทำงานให้เสร็จ ทำงานให้สำเร็จ ทำงานให้ดี ทำงานตามหน้าที่ ทำงานตามที่มันควรจะเสร็จก่อน

: คนส่วนใหญ่ ไม่ได้ฝึกกัน บางทีไปเรียนรู้ บางทีไปเข้าคอร์สอะไรกันเยอะแยะว่าอะไรควรทำก่อน อะไรควรทำหลัง แต่พอเอาเข้าจริงนี่ สภาวะทางใจนี่ พอตัดสินไม่ถูก แล้วมีอาการลังเลอยู่แค่ไม่กี่ชั่วขณะจิต แค่วูบสองวูบ ใจมันไปแล้ว มันหลุดจากสมาธิแล้ว หลุดจากโฟกัสแล้ว ความรู้สึกเบลอๆ นี่มันจะครอบงำ แล้วทำให้รู้สึกสับสนอลหม่าน เหมือนกับคนนั่งเถียงกับตัวเองว่าจะเอายังไงดี จะทำยังไงดี ไอ้นี่ก็สำคัญ ไอ้นั่นก็ทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าคุณฝึกที่จะมองก่อนเลย คือตัดสินนะจากเรื่องของเวลา เพราะว่าการทำงานสมัยนี้นี่ มันมีกรอบของเวลาเป็นตัวบอกชัดเจนว่า แต่ละชิ้นนี่ งานแต่ละชิ้น มันควรจะมีช่วงเวลาให้เสร็จภายในเมื่อนั่นเมื่อนี่ อันนี้มันชัดเจน แล้วคุณสามารถที่จะใช้ความสำคัญของตัวผลของงาน ว่า อันไหนที่ออกมาแล้วนี่ จะทำให้หน้าที่คุณสมบูรณ์ที่สุด คืองานสองงานบางทีมันตีกันนะ มันแย่งเวลาคุณในวันเดียวกันนี่ เหมือนกับแต่ละฝ่ายก็ขอร้องให้เสร็จ ขอร้องให้ออกมา บอกว่าไม่งั้นจะเสียหาย ถ้าหากว่าคุณมีความสามารถ คุณฝึกที่จะเวท (weight) ไว้เรียบร้อยนะว่า อันนี้สำคัญกว่า สำคัญจริงๆ ถ้าไม่เสร็จ ถ้าส่งไม่ทันนี่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเป็นวงกว้างแค่ไหน คือมีการคำนวณ มีการฝึกคิดให้เกิดความขึ้นใจ ให้เกิดความเห็นเป็นภาพนะ ว่า ไอ้นี่เป็นผลเดือดร้อนที่มีความกว้างขวางอีกงานหนึ่ง ถ้าหากฝึกมองไว้อย่างนั้น มันมีการตกลงใจกับตัวเองทันที แล้วไม่มาคิดซ้ำว่า ไอ้นี่งาน ไปมีความห่วง งานที่ยังไม่เสร็จ งานที่ยังไม่ทำ แต่เอาอันนี้ให้เสร็จก่อน

ความรู้สึกว่ามันโฟกัสอยู่กับงานที่ต้องทำให้เสร็จก่อนมันจะมีอยู่หนึ่งเดียว ที่เขาเรียกกันว่าซิงเกิ้ลมายด์ (single-minded) คือ มีใจเดียว ทุ่มเทให้กับสิ่งที่ต้องเสร็จก่อน นี่ก็คือการฝึกสมาธิแล้ว

: ถ้าหากไม่ฝึก คุณจะมีนิสัยหรือความเคยชินแบบหนึ่งที่ก่อนตัวขึ้นมา มีอาการโอ้เอ้ มีอาการสับสน มีอาการห่วงหน้าพะวงหลังไม่เลิกนะ

: เอาล่ะ สรุปว่า การทำสมาธิมันเริ่มจากวิธีที่จะตัดสินใจเลือก ว่า จะทำอะไรก่อน อะไรหลัง ตัดสินว่าอะไรสำคัญกว่า อะไรสำคัญน้อยกว่านี่คือข้อแรก เป็นประเด็นที่สำคัญมาก และมันจะเกิดขึ้นในขณะที่คุณหลับตาทำสมาธิด้วยนะ

ถ้าหากว่าคุณฝึกที่จะเลือกโฟกัสสิ่งที่ถูก สิ่งที่ควร มันจะเป็นนิสัยทางจิต ติดตัวไปในขณะที่นั่งหลับตาทำสมาธิ คือเวลาทำสมาธิ ถ้าคุณตัดสินใจแล้วว่า จะดูลมหายใจอย่างเดียว คุณจะรู้สึกว่า ไอ้คลื่นรบกวนเป็นเรื่องอื่น เรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัวทั้งหลาย มันเป็นเพียงคลื่นรบกวน มันจะเกิดการรับรู้ จะเกิดสติบอกตัวเองถูก ว่านี่เรากำลังตัดสินใจว่าจะอยู่กับลมหายใจอย่างเดียวนะ แล้วเลือกที่จะอยู่กับลมหายใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าพอมีคลื่นรบกวนเข้ามา จิตก็เป๋ไปตามคลื่นรบกวนนั้น มันคือสิ่งที่สัมพันธ์กันนะ ระหว่างการใช้ชีวิตระหว่างวัน กับการใช้ชีวิตเริ่มต้นเตาะแตะนั่งสมาธิ

สาเหตุสำคัญที่ไม่แพ้การเลือกไม่ถูก ที่ทำให้คนฟุ้งซ่านกันตลอดทั้งชีวิตก็คือ อาการโอดครวญ อาการคร่ำครวญอยู่ข้างใน

: คือบางทีนี่นะ คุณคงเคยมีเพื่อนบางคนหน้าตาเขาเหมือนเก็บกด เหมือนกับกำลังมีความทุกข์อยู่ แล้วอมไว้ อมไว้คนเดียว ไอ้ที่เขาเรียกว่าอมทุกข์น่ะ มันเหมือนปากมันป่องๆขึ้นมาจริงๆนะ มันคล้ายๆว่าก้มหน้าก้มตา แล้วก็คล้ายๆปากตูมๆ เหมือนกับมีอะไรอมไว้ในปากน่ะ คือคำพูดที่อยากจะระบาย ที่อยากจะบ่นออกมา มันพูดไม่ออก บอกไม่ถูก ไม่มีใครเป็นที่ระบาย มาที่ทำงานก็ แต่ละคนก็อยากจะบ่นเรื่องของตัวเอง กลับไปที่บ้านก็ แต่ละคนก็อยากจะนอน โอยเหนื่อย โอยเพลีย โทรไปหาเพื่อน เพื่อนก็กำลังวุ่นวาย ทะเลาะกับแฟนอยู่อะไรต่างๆ มันเหมือนกับทุกวันนี้ มีแต่คนอยากจะบ่น มีแต่คนอยากระบาย แต่ไม่ค่อยมีคนอยากรับฟังแล้ว มันเบื่อ มันรำคาญนะ เวลาที่ คุณคงเคยกันทุกคน นั่งฟังใครบ่นอยู่เป็นชั่วโมงๆ แล้วซ้ำ วนลูป (loop) อยู่นั่นแหละนะ คือเรื่องที่พูดไปเสร็จแล้วนี่ มันเหมือนอัลไซเมอร์ ลืมไปแล้วว่าพูดไปเสร็จ กลับมาพูดใหม่ แล้วเสร็จแล้วคือ คุณอุตส่าห์ ...คงเคยมีประสบการณ์ เคยผ่านกันมา...  อุตส่าห์ให้คำแนะนำอย่างดีเลยนะ คิด โอ้โหต้องทำอย่างนี้นะ หนึ่ง สอง สาม สี่ เสร็จแล้ว พอพูดเสร็จ แหมขอบคุณมากเลย ได้ข้อคิดอะไรดีๆ เอ้า วันต่อมา จะทำยังไงดี มันเหมือนกับวนกลับไปที่เก่า ที่ๆคุณเหนื่อยอะ เหนื่อยที่จะต้องมาพูดซ้ำ แล้วเสร็จแล้วพอคุณจะตอบซ้ำนี่ บางทีก็ลืมไปแล้ว คุณให้คำแนะนำอะไรไปบ้าง จิตพร่าเลือนไปด้วย เกิดความรู้สึกเหมือนกับสับสนในชีวิตตามเขาไปด้วย

อันนี้นี่จริงๆแล้ว ถ้าเรามองออกมาจากมุมมองของคนที่ฝึกสมาธิ มันจะเห็นนะว่า คนปัจจุบันนี่มันไม่มีความสุขทางใจเอาเลย มันไม่มีสมาธิกันเอาเลย เพราะว่า หลง หลงผิดทางความคิด นึกว่าการบ่น นึกว่าการระบาย นึกว่าการไปขอคำแนะนำจากใครมานี่ มันจะช่วยให้ตัวเองหายทุกข์ แท้ที่จริงแล้วนะ คุณลองดูว่าจริงไหมนะ ถ้าเกิดขึ้นกับตัวคุณเองมาแล้ว สมมติว่าคุณกำลังมีเรื่องทุกข์ใจ แหมนี่ โดนเจ้านายด่ามา เกิดความรู้สึก มันคล้ายๆมีอะไรมาบีบอกอยู่ แล้วรู้สึกว่า ถ้าไม่ระบายออกไปนี่มันจะตาย มันจะเป็นจะตายให้ได้ พูดง่ายๆว่า มันมีความทุกข์อยู่ในใจ เป็นตัวตั้งต้น มีโทรศัพท์กลางคืนโทรหาเพื่อนที่คิดว่าสนิทที่สุดที่ว่าจะรับฟัง ระบายอะไรได้ พอโทรไปเสร็จ ตอนแรกก็พูดดีๆ เออเป็นไงบ้าง ไม่ได้เจอกันนานนะ ไม่ได้เจอกันนาน คือ สองสามวัน ไม่ได้บ่นมาสองสามวัน มันคิดถึง มันอัดอั้นมาก พอโทรไปถึง เพื่อนก็ โอเค สบายดี สบายตอนที่ไม่ได้เจอกันนั่นแหละ สองสามวันที่ผ่านมาน่ะ มีอะไรให้ช่วยอีกล่ะ ก็เริ่ม อ๋อ มันไม่มีอะไรมากหรอก วันนี้ดีแล้ว คือวันก่อนได้รับคำแนะนำจากเธอ มันช่วยได้มาก แต่เสร็จแล้ววันนี้นะ นี่ แล้วก็พล่ามๆๆ บลาๆๆ ยาวเป็นครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วก็คือบอกว่านี่ ขอบคุณมากเลยนะที่รับฟัง เพื่อนก็ เออ คือฟังมาเงียบๆ ตลอด ไม่รู้จะพูดอะไร ก็พอบอกขอบคุณนี่ ก็ โอเควางแล้วใช่ไหม ไม่ๆๆ เดี๋ยว คือที่ขอบคุณนี่คือ ให้แน่ใจว่ายังอยู่ ไม่ได้หลับไปซะก่อน

นี่ ลักษณะของจิต ถ้าหากว่าคุณเห็น ถ้าเคยเกิดขึ้นกับตัวคุณเองหรือเคยรับฟังคนอื่นอย่างนี้มา มองเป็นอาการทางจิต ถามว่ามันใกล้เคียงกับสมาธิไหม? หรือแม้แต่ใกล้เคียงกับการที่จะหายทุกข์ หายคร่ำครวญบ้างไหม อาการมันวนนะ มันวนลูป ยิ่งกว่าคำสั่งวนลูปในโปรแกรมไหนๆในโลก ฉะนั้นคือ ลักษณะคร่ำครวญ ลักษณะโอดครวญในสิ่งที่มันแก้ไม่ได้ ในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ หรือในสิ่งที่มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไป เสียดายของเก่า มันคืออุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งเช่นกัน ถ้าหากว่าคุณคิดจะฝึกสมาธิ ถ้าหากว่า คุณลองดู ตอบตัวเองนี่ ตอนเย็นก็บ่นพร่ำๆๆไปให้เพื่อนฟังครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง ลองไปนั่งสมาธิดู จะเหมือนกับว่า เข้าไปแดนสนธยา ที่มันเต็มไปด้วยฝุ่น มันเต็มไปด้วยพายุ มันเต็มไปด้วย ความไม่พร้อมที่จะนิ่ง ความไม่พร้อมที่จะสงบ เหมือนกับคลื่นรบกวนที่มันหนาแน่นที่สุดในโลกมากั้นไว้ จากความปลอดโปร่ง จากความตั้งมั่น

: วิธีที่จะแก้ มันไม่ใช่หาคนมารับฟังเสียงบ่น เสียงระบาย แต่มันเป็นการหัดรู้จักปิดปากตัวเองบ้าง คือเวลาที่เกิดความรู้สึกเสียใจ เวลาที่เกิดความรู้สึกเสียดาย เวลาที่เกิดความรู้สึกแย่ๆอะไรขึ้นมานี่ คุณลองดู มันเป็นหลักการของคนปฏิบัติสมาธิจริงๆนะ เริ่มต้นขึ้นมานี่คือมันต้อง มีสติรู้ทันรู้ทันตัวเองว่ากำลังรู้สึกแย่ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เห็นตัวเองมีทุกขเวทนา อาการของทุกขเวทนามันเป็นยังไง บางทีเหมือนมีไม้อะไรมาเสียบในอกนะ เสียบในหัวใจ หรือมีอาการกระวนกระวาย หมุนวน คล้ายๆมีน้ำวนขึ้นมาในอก หรือบางทีมีอาการปั่นป่วนคล้ายๆ ฟ้าแลบขึ้นมาในหัว อะไรก็แล้วแต่ที่คุณสามารถรู้ตัวเองได้ว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ ณ บัดนั้น ณ เวลาที่กำลังมีความทุกข์อย่างที่สุด นั่นแหละเรียกว่า สติ รู้ว่าตัวเองกำลังทุกข์

: พอทุกข์เกิดแรงอัด แล้วอยากจะบ่น อยากจะระบาย โอเค ถ้าระบายสองสามคำ ไม่ให้อกแตกตายไปซะก่อน อย่างนั้นนี่มันก็อาจเป็นการช่วยนะ แต่ถ้าพล่ามๆๆไปเรื่อยๆ วนลูปไม่รู้จบ อาการที่เป็นทุกข์ทีแรก สมมติว่ามีอยู่หนึ่งส่วน หนึ่งชั่วโมงต่อมามันเพิ่มขึ้นเป็นสิบส่วนได้ พูดง่ายๆว่า ทุกข์เพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า!เพราะอาการของจิตนี่มันจะมีลักษณะร่ำร้อง ลักษณะเรียกหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วก็วกวน จนกระทั่งเวลานอนนอนไม่หลับ หรือหลับไปแล้ว มันเหมือนกับฝันต่อในเรื่องที่กำลังกระวนกระวายไม่เลิก

: ถ้าหากว่ามองในมุมของการฝึกสมาธิ เราฝึกสมาธิกันตั้งแต่อยู่ในระหว่างวัน เวลาที่เกิดอาการแย่ๆขึ้นมา รู้ตัวแล้วปิดปาก แล้วเห็นว่าอะไรเป็นงานที่ควรทำเฉพาะหน้าจริงๆแล้วบอกตัวเองนะว่า รุดหน้าต่อไป อาการของจิตที่ไม่ติด ไม่หลง ไม่วนอยู่กับของเก่าที่มันทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว และมีอาการรุดหน้าต่อไป นั่นแหละ คือทิศทางของจิตที่จะเป็นสมาธิ

เชื่อเถอะ มีประสบการณ์กันมาทุกคน อาการคล้ายๆแบบนี้ คล้ายๆว่า เออ ลืมๆมันไปเถอะ ช่างเถอะ ทำสิ่งที่ต้องทำดีกว่า แล้วอาการของจิตมันก็จากที่เป๋ๆ จากที่มันกระสับกระส่าย กลายเป็นโฟกัสตรง พุ่งตรงไปข้างหน้า อาการแบบนั้นคืออาการของสมาธิ

: ทีนี้ถ้าไม่ฝึกให้มันเกิดความเคยชิน คุณจะทำแค่ครั้งสองครั้งโดยบังเอิญ ทั้งชีวิตนี่ บางทีทำแค่ไม่กี่ครั้งโดยบังเอิญ แต่ถ้าตั้งใจฝึกสมาธิแล้ว คุณวางแผนให้ตัวเองทำอย่างนั้นจนเกิดความเคยชิน ทำทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกแย่ๆ อยากบ่น อยากระบาย อยากกระวนกระวายนะ เอาความกระวนกระวายไปแบ่งให้คนอื่นบ้าง เห็นว่าเกิดความรู้สึกแย่ๆที่ใจตัวเอง เห็นอาการวกวน อาการที่มันติดเหมือนเสือติดจั่นนะ แล้วปิดปาก รุดหน้าต่อไป ทำสิ่งที่ควรจะต้องทำเดี๋ยวนั้นนะ ทำสิ่งที่มันจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำสิ่งที่มันจะเป็นการต่อยอดความสำเร็จที่มันผ่านไปแล้ว อะไรก็แล้วแต่ที่มันทำให้ความรู้สึกรุดหน้ามันเกิดขึ้นได้ ทำสิ่งนั้น นี่ก็คือการฝึกสมาธิแล้ว

ถ้าคุณเป็นคนขี้บ่น หรือถึงแม้ว่าไม่บ่นออกปาก แต่ใจมันกระวนกระวายไม่เลิก ลองดู ถ้าหากว่าคุณลองสักสองสามครั้ง แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมานะ ประสบการณ์ภายในมันเหมือนกับว่า หลุดออกจากอาการติดวน แล้วมุ่งไปข้างหน้า ลองนั่งหลับตาทำสมาธิดู มันจะพบว่าอาการของใจนี่ มีความแน่วไป ไม่เป๋ ไม่ซัดส่ายเหมือนอย่างที่ผ่านมา อันนี้พูดถึงเรื่องการทำใจในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มันเป็นอุปสรรค หรือว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของความฟุ้งซ่านนะ เป็นอุปสรรคของสมาธิ เป็นต้นเหตุของความฟุ้งซ่านนะ สองข้อที่ผ่านมาคือ ไม่รู้จะโฟกัสอะไร กับกระวนกระวายไม่เลิก

________________

การยอมรับตามจริงและยอมรับสภาพกับความไม่เที่ยง

ทีนี้ผมจะพูดเรื่อง ความไม่แน่นอนของชีวิตแล้ว ถ้าคุณมีความเข้าใจจริงๆว่าชีวิตมันไม่แน่นอนอย่างไร มันสามารถกำจัดต้นเหตุของความฟุ้งซ่านได้หมด เพราะอะไร เพราะว่าใจ จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีความสุข

บางทีผมชอบที่จะให้สังเกตเข้ามาที่ลมหายใจนะ ว่ามันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่คนนี่ คือฟังแล้วมันไม่ลิงก์ (link) มันไม่ค่อยมีความรู้สึกว่า จะทำได้สักเท่าไหร่ เพราะลมหายใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และคนพิจารณาว่านั่นเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ โดยไม่รู้เลยว่า ถ้าหากไปดูซ้ำๆนี่ ไอ้ลมหายใจที่คิดว่าน่าเบื่อนี่ ภาวะที่สดใส ภาวะที่เป็นสุขมโหฬารมันจะเกิดขึ้นเป็นผลตามมา ผมพูดอย่างนี้ก่อน ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตว่าอะไรๆ มันจะต้องเป็นไปอย่างที่กำลังเป็นอยู่ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เป็นสิ่งที่ทึกทักกันเอง อย่างผมจะยกเรื่องที่หลายๆคนฟังแล้วอาจจะหูตาตื่นได้นะ

ในปี ๑๘๕๙ หรือ พ.ศ. ๒๔๐๒ ที่อเมริกานี่นะ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ปีนั้นนี่ อยู่ๆ มันเกิดความสว่างขึ้นมา คนนึกว่าไฟไหม้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่า อยู่ๆ ทำไมท้องฟ้ามันสว่างขึ้นมาเหมือนไฟป่า หรือว่าอะไร แต่ก็ไม่สนใจกัน อีกสามวันต่อมา วันที่ ๑ กันยายน มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ ริชาร์ด คาร์ริงตัน (Richard Carrington) เป็นนักวิทยาศาสตร์สมัครเล่น ส่องกล้อง คือมีหอดูดาวส่วนตัวเลยนะ รวยมาก ส่องดูดวงอาทิตย์ แล้วก็พบว่า ระหว่างจุดดับของดวงอาทิตย์นี่ มันมีเส้นสีขาวๆปรากฏขึ้นมา และนั่นคือการค้นพบโซลาร์สตอร์ม (Solar Storm) หรือ พายุสุริยะ เป็นครั้งแรกในโลก

ถ้าบอกว่าพบพายุสุริยะนี่คงไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่าหลังจากที่ริชาร์ด คาร์ริงตัน ค้นพบความจริงตรงนี้แล้วว่ามีพายุสุริยะ ๑๗ ชั่วโมงต่อมามันเกิดแสงเหนือแสงใต้ สีเขียว สีแดง สีม่วง เกิดขึ้นทั่วอเมริกาเลย ลากผ่านมาจนถึง ปานามา ฮาวาย สว่างขนาดที่ว่า ตอนกลางคืนนี่ มันสามารถจะอ่านหนังสือได้ คุณลองคิดดู ในชีวิตประจำวัน ถ้าวันหนึ่งเกิดแสงสว่างขึ้นมาในตอนกลางคืนขนาดอ่านหนังสือได้ คุณจะเข้าใจว่าอย่างไร จะคิดว่าอย่างไร หรือว่าสงสัยวาระสุดท้ายของโลกคงจะมาถึงแล้วกระมัง

แต่ผลก็คือ ตอนนั้นที่พายุสุริยะมันแรงขนาดที่ว่า มีอนุภาคส่งมาจากดวงอาทิตย์เป็นพันๆล้านตัน ยิงเข้ามาหาโลก โลกนี่ปกติจะมีสนามแม่เหล็กโลกหุ้มอยู่ จะป้องกันพายุสุริยะอ่อนๆได้ แต่ถ้ามันมีอะไรแรงขนาดนั้นนี่ มันถึงขั้นที่มาเพิ่มไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าในเสาโทรเลข ถึงขั้นทำให้ติดต่อโทรเลขกันไมได้ ไฟดับ ตอนนั้นดับทั่วอเมริกา แล้วก็ยุโรป ไม่สามารถส่งโทรเลขกันได้ ก็เลยเรียกปรากฏการณ์ครั้งนั้นว่าเป็น คาร์ริงตันอีเวนต์ (Carrington Event)

มันน่าตื่นเต้นตรงไหน มันน่าตื่นเต้นตรงที่ว่า ชีวิตมันไม่แน่นอน และมีสิ่งที่มันอยู่เหนือเรา มีอำนาจเหนือเรา อยู่นอกโลกบ้าง อยู่ในโลกบ้าง มาบีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างปี ๑๘๕๙ นี่นะ หรือ พ.ศ. ๒๔๐๒ มันเสียหายแค่โทรเลขส่งไม่ได้ ไม่กี่วัน สามวัน แต่คุณรู้ไหมว่า เมื่อปี ๒๐๑๒ นี่ ตอนเดือนกรกฎาคมนะ มันมีพายุสุริยะ แรงเท่านั้น ระดับนั้น แบบคาร์ริงตันอีเวนต์ เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่เผอิญว่า ตอนที่มันมีโซลาร์แฟลร์ (Solar Flare) มีการพวยพุ่งของลูกไฟออกไปก้อนใหญ่ บังเอิญว่าพระอาทิตย์นี่หันหน้าออกจากโลก ไอ้โซลาร์แฟลร์ตรงนั้น ถ้าหากว่า เกิดขึ้นหลังจากนั้น หรือก่อนหน้านั้นเจ็ดวันนะ พระอาทิตย์หันหน้าเข้าหาโลก รู้ไหมว่า มันจะไม่ใช่แค่โทรเลขหากันไม่ได้นะ ไฟจะดับทั่วโลก แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนะ ถ้าหากว่าไฟดับในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ รู้ไหม คอมพิวเตอร์ของพวกคุณ หรือว่าระบบคอมพิวเตอร์ของพวกคุณ ทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์น่าจะรู้นะว่า คอมพิวเตอร์ใช้ไม่ได้ทั่วโลกสามวัน จะเกิดอะไรขึ้น ความเสียหายมันถึงขั้นที่ว่า ทุกคนหมดเนื้อหมดตัวนะ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก มันอยู่ในสภาวะใกล้หลอมละลาย ถ้าหากว่าไม่มีไฟฟ้าไปเลี้ยงเกิน ๘ ชั่วโมงขึ้นไปนี่ จะเกิดเหตุการณ์แบบฟุกุชิมะขึ้นเป็นพันๆเท่า ฟุกุชิมะที่เดียวทุกวันนี้เขาปวดหัวกันไม่จบว่า มันมีสารปนเปื้อน แล้วก็ไม่รู้ว่าไปถึงไหน จะส่งผลอีกไกลแค่ไหนเพียงใดนะ

ตรงนี้นี่ คือที่พูดขึ้นมา อยากให้รู้ว่าเมื่อกรกฎาคมปี ๒๐๑๒ ที่ผ่านมานี่ เรารอดตายกันหวุดหวิดนะ เจ็ดวัน ถ้าหากว่าโซลาร์แฟลร์ระดับนั้น มันเกิดขึ้นขณะที่พระอาทิตย์หันหน้าเข้าหาโลก เราจะไม่ได้นั่งคุยกันแบบนี้อีกแล้ว มันย้อนกลับไปนู่นเลย ยุคที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วก็อะไรที่บันทึกไว้ในเดตาเบส (database) ทั้งหลาย มันจะหายไปหมด เอามาใช้ไม่ได้ เพราะว่า เขาบอกว่า ถ้าไฟฟ้าดับขึ้นในวันนี้นะ ทั่วโลกพร้อมกัน มันคำนวณไม่ถูก เพราะว่าชีวิตเราแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่ชื่อว่าไฟฟ้านี่แหละ ไฟฟ้าขาดเมื่อใด เราร่วงลงไปที่ไหนก็ไม่รู้

เอาล่ะ นี่ตรงนี้คือ พูดขึ้นมาเพื่อที่จะได้เห็นภาพชัดว่า คำว่าไม่เที่ยงนี่ มันหมายความว่า มีเหตุมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่เหนือความอยากของเรา คอยบีบคั้นชีวิตเราอยู่ตลอดเวลา และถ้าโชคดี เราก็ผ่านมันไปได้ แต่ถ้าโชคไม่ดี เราไม่สามารถจะผ่านมัน เราก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน สิ่งที่พุทธศาสนาสอนนี่นะ บางทีมันไม่ใช่เรื่องมาพูดแค่ว่า เออนี่ อะไรๆมันไม่เที่ยง อะไรๆนี่มันไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้มันเป็นหรอก แต่พระพุทธศาสนาสอนวิธีที่จะรับความเปลี่ยนแปลง พูดง่ายๆว่า ฝึกใจไว้ก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ฝึกที่จะยอมรับความจริง ที่กำลังปรากฏอยู่ตรงหน้า ซึ่งความจริงที่แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงในชีวิตของเราก็คือ ลมหายใจนี่แหละ ถ้าใครรู้ลมหายใจเป็น เท่ากับคุณรู้ความไม่เที่ยงได้ถูกต้อง ตรงตามจริง ณ เวลาสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ณ จุดเกิดเหตุ

ตรงนี้พระพุทธเจ้าถึงได้คะยั้นคะยอมากๆเลยว่า จงมารู้ลมหายใจเถิด รู้ว่าลมหายใจนี่ เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก รู้ในขณะนี้นะ เวลาที่ลมหายใจเข้า รู้ ว่ามันเข้า เวลาที่ลมหายใจออก รู้ ว่ามันออก เพื่อที่จะได้เห็นต่อไปว่า ไอ้ที่มันเข้า ที่มันออกนั้น เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น เป็นไปตามธรรมชาติความต้องการของกาย ไม่เป็นไปตามการบังคับ หรืออยากให้เป็นไปของใครทั้งสิ้น ถ้าหากคุณสามารถเข้าถึงความจริงของลมหายใจได้ มันหมายความว่า คุณพร้อมจะเข้าถึงความจริงของจักรวาลทั้งจักรวาลได้เช่นกัน ถ้าหากคุณสามารถยอมรับความจริง ที่ลมหายใจมันแสดงความไม่เที่ยงอยู่ คุณก็สามารถยอมรับความจริงแม้ว่า จะมีข่าว นี่ เดี๋ยวสิ้นเดือนนี้โลกจะแตก คือไม่ใช่ว่า ปล่อยมือ ปล่อยเท้า ทอดมือทอดเท้านะ ก่อนโลกจะแตก คุณสามารถทำอะไรที่ดีที่สุดได้ แต่ทำอะไรที่ดีที่สุดโดยไม่มีอาการคร่ำครวญ ไม่มีอาการโอดครวญ เสียดมเสียดายอดีตที่ผ่านมา แล้วก็ทำอะไรที่ดีที่สุด แบบคนที่สามารถเลือกถูก เลือกเป็น ว่าจะทำอะไรก่อน จะทำอะไรหลัง เพื่อที่จะให้จิตวิญญาณมันรุดหน้าต่อไป ยกชั้น ยกระดับ สูงขึ้นต่อไป

เพื่อที่จะเป็นแนวทาง วันนี้ผมจะมาพูดเรื่องของการนั่งสมาธิ ในช่วงกลางนะ เดี๋ยวหลังจากนั่งสมาธิร่วมกันเสร็จ เราก็จะมาเข้าสู่ช่วง Q&A กัน

________________

วิธีการทำสมาธิ-วิปัสสนา
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการภาวนา

หลักการนั่งสมาธินี่มันไม่ยากหรอก ถ้าหากคุณนั่งถูกนะ เริ่มต้นขึ้นมา ง่ายๆเลย อย่างตอนนี้ พวกคุณไม่ต้องลงไปนั่งขัดสมาธิที่พื้นกันหรอกนะ เอาแค่เรานั่งคอตั้งหลังตรง อยู่บนพนักเก้าอี้นี่ แล้ววางเท้าราบกับพื้น ถ้าคุณรู้สึกถึงอาการนั่งสบายๆ ผ่อนคลายได้ นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้น เป็นที่ตั้งของจิตที่เป็นสมาธิดีๆแล้ว แต่ถ้าสำรวจตามจริงแล้วพบว่า ร่างกายมันยังเครียด มันยังเกร็ง มันยังไม่อยู่ในอาการพร้อมที่จะคอตั้งหลังตรงแบบสบายๆ เราก็มาเริ่มสำรวจไล่กัน ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ที่สำคัญที่มันสะท้อนภาวะพื้นจิตพื้นใจ อันได้แก่ฝ่าเท้า ลองดูว่าฝ่าเท้าที่วางราบกับพื้นนั้นน่ะ มีอาการเกร็ง มีอาการที่กล้ามเนื้อมันขมวดอยู่ไหม มันมีอาการงองุ้มอยู่ไหม ฝ่าเท้านี่ ถ้าหากว่าฝ่าเท้ามีอาการงอ มีอาการงุ้มนะ เราก็ปล่อยให้มันแบสบาย วางราบกับพื้นซะ คุณจะเห็นนะว่า เกิดความรู้สึกสบายขึ้นมาที่พื้นจิตพื้นใจ

ฝ่าเท้านี่มันเป็นเครื่องสะท้อนเลยว่า พื้นจิตพื้นใจของเรายังเกร็งอยู่หรือเปล่า ยังฟุ้งซ่านอยู่หรือเปล่า พอเห็นฝ่าเท้าสบายนี่ สติมันก็เริ่มเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัว นี่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ยังไม่ได้ตั้งใจทำสมาธิ ยังไม่ได้ข่มใจให้สงบ แต่มันรู้สึกสบายขึ้นมาได้แล้ว แค่เห็นว่าฝ่าเท้าวางราบอยู่กับพื้นสบายๆนี่เรียกว่า สติเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัว อย่างถูกต้อง

จากนั้นสำรวจขึ้นมาว่า ฝ่ามือ วางราบอยู่กับหน้าตักนี่ ดูนะว่ามีอาการกำไหม ดูนะว่ามันรู้สึกเกร็งที่หลังมือหน่อยๆไหม ถ้าหากว่ามีอาการเกร็งแม้แต่นิดเดียวนั่นแหละ สะท้อนว่า กล้ามเนื้อมันยังทำงานอยู่ ฝ่ามือมันยังทำงานอยู่ จิตใจมันยังไม่อยู่ในสภาวะที่สบายพร้อม ก็ให้แบฝ่ามือ ให้มันพัก ให้มันผ่อน ให้มันสบาย เหมือนกับฝ่าเท้าเสีย

ถ้าหากว่า ฝ่าเท้ากับฝ่ามือ มีอาการสบายผ่อนคลายขึ้นมา คุณจะรู้สึกว่าสบายขึ้นมาครึ่งตัว

จากนั้นไล่ขึ้นมาจุดสุดท้าย ถ้าหากมีอาการขมวด มีอาการตึงอยู่ที่ขมับ ถ้ามีอาการรู้สึกเคร่งๆอยู่ที่หน้าผาก ก็ลองคลายดู บางคนบอกว่าคลายไม่ได้ มันติดอยู่อย่างนั้นเหมือนกับหน้าผากเป็นพังผืดนะ เหตุผลก็เพราะว่ามันเครียดมาทั้งชีวิต มันเกร็งจนกระทั่งคลายไม่ออก ก็ไม่เป็นไร แต่คนส่วนใหญ่พอดูขึ้นมาถึงส่วนของใบหน้านะ มันจะรู้สึกเริ่มผ่อนคลายตาม เหมือนคนยื่นหน้าออกไปหาท้องฟ้ากว้างๆ รู้สึกว่ามันสบายขึ้นมาทั้งตัว เพราะอะไร เพราะว่าสามจุดสำคัญของร่างกายคือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แล้วก็ใบหน้านี่มันรวมเอามัดเนื้ออื่นๆไว้หมดเลย ถ้าหากว่าสามจุดนี้ผ่อนคลายนะ มัดเนื้ออื่นๆ ก็พลอยสบายตามไปด้วย

เมื่อสบายแล้ว ก็ให้รู้ว่า นั่นน่ะ เป็นภาวะของสติที่อยู่กับเนื้อกับตัว สติมันเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัว เข้ามาอยู่กับของจริงที่เป็นปัจจุบัน

แต่ถ้าหากว่าเริ่มเครียดขึ้นมาอีก พอนึกถึงใบหน้าของตัวเองขึ้นมา มันนึกถึงงานขึ้นมาทันที ก็ให้กลับไปนับหนึ่งใหม่เลย ตั้งแต่ตั้งต้น ตั้งแต่ฝ่าเท้า ดูว่ามันมีอาการงองุ้มไหม หรือว่ามันมีอาการเกร็งอยู่ไหม ถ้าหากว่าผ่อนคลายฝ่าเท้า ผ่อนคลายฝ่ามือ ซ้ำไปซ้ำมา กลับไปกลับมาหลายๆรอบเข้าจะพบว่า สติที่มันอยู่กับเนื้อกับตัว มันเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น มันมีความรู้สึกว่าปลอดโปร่ง มีความสุข ผ่อนคลายจริงๆมากขึ้น จนกระทั่งใบหน้านี่ มันพลอยที่จะผ่อนคลายตามไปด้วย

เอาล่ะพอร่างกายมีสภาวะที่อยู่ในความอ่อนสลวย อยู่ในความสบายพร้อมแล้วนี่ ก็ให้สังเกตต่อไปว่า โดยธรรมชาติของร่างกาย มันมีอาการเรียกร้องลมหายใจ แต่ปกตินี่ คนนั่งสมาธินะ จะเรียกร้องขึ้นมาเอง ทั้งๆที่ร่างกายยังไม่ได้อยากจะได้ลมหายใจ แล้วก็ไปเร่งด้วยกิเลส ด้วยความอยากนะ อยากจะได้ลมหายใจเดี๋ยวนี้ อยากจะเอาลมหายใจยาวอย่างเดียว แต่จริงๆแล้ว พอเรามาสังเกตด้วยความผ่อนคลาย สบาย แล้วก็ไม่มีความอยากแล้วนี่นะ เราจะเห็นว่าร่างกายไม่ได้ต้องการลมอยู่ตลอดเวลา ถ้าถึงเวลาที่มันจะต้องการลมนี่ มันจะรู้สึกขาดลม แล้วค่อยลากลมหายใจเข้ามา มันจะเกิดความสบาย พอลมหายใจอัดเข้าไปเต็มอกนะ เกิดความรู้สึกอยากจะระบายออกมา แล้วระบายออกมาอย่างนี้ค่อยเกิดความสบาย จากนั้นนี่พอระบายลมหายใจไปจนหมด เราสังเกตซ้ำอีกที ร่างกายนี่มันจะเหมือนกับเป็นอะไรโปร่งใส เหมือนแก้วนะ ที่อยู่นิ่งๆของมันได้ ยังไม่ได้ต้องการความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ ยังไม่ได้ต้องการลมหายใจทันที มันสามารถอยู่นิ่งๆ สบายๆ ด้วยความรู้สึกปลอดโปร่งได้ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะถึงเวลาอยากได้ลมใหม่เข้ามาจริงๆ

โดยอาการสังเกตความจริงทางธรรมชาติที่มันเกิดขึ้นในร่างกายแบบนี้ มันจะทำให้เราไม่มีความอยาก มันจะทำให้เราไม่มีอาการเร่งร้อน ตัวนี้แหละที่มันเป็นปฐมเหตุของการเป็นสมาธิจริงๆ

ปฐมเหตุคือการดูอย่างเดียว รู้อย่างเดียว ไม่มีความอยากแปดเปื้อนเจือปน ลมหายใจถึงเวลาเข้า เราก็รู้ว่ามันเข้า ลมหายใจถึงเวลาออก เราก็รู้ว่ามันออก นี่ตรงนี้ ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอานาปานสติสูตร นั้นก็คือ ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจถึงเวลายาว เราก็รู้ ลมหายใจถึงเวลาสั้น เราก็รู้อีก ไม่มีอะไรที่ไม่รู้เกี่ยวกับลมหายใจ พอรู้ๆๆไป จิตมันเหมือนกับจะแยกออกมาจากความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของลมหายใจ เหมือนกับถอยมาเป็นผู้สังเกตการณ์ดูเฉยๆว่า ลมหายใจกำลังเข้าอยู่ ออกอยู่ เดี๋ยวก็ผ่านเข้า เดี๋ยวก็ผ่านออก เดี๋ยวก็ผ่านเข้า เดี๋ยวก็ผ่านออก ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้ แต่ยิ่งซ้ำไปซ้ำมามากขึ้นเท่าไหร่ แทนที่จะเบื่อ มันกลายเป็นความรู้สึกแช่มชื่น มันกลายเป็นความรู้สึกปลอดโปร่งจากอาการฟุ้งซ่าน มันกลายเป็นความแจ่มใสนะ ปราศจากเมฆหมอก ปราศจากความพร่าเลือน ตรงนี้แหละที่จิตนี่เริ่มเป็นผู้รู้ ว่าลมหายใจเขากำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ แล้วก็แสดงให้เห็น แสดงให้เข้าใจด้วยว่า นี่มันเข้ามาจากข้างนอก แล้วจะต้องกลับคืนสู่ความว่างภายนอก ไอ้นี่มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่ธาตุลม มีลักษณะพัดเข้า พัดออก พัดเข้า พัดออก แสดงความไม่เที่ยงอยู่ ตัวนี้แหละที่เรียกว่า พุทธิปัญญา


นี่ หลายคนก็เริ่มเกิดพุทธิปัญญาอ่อนๆนะ คือ เริ่มเห็นว่าลมหายใจมันสักแต่เป็นลมจริงๆ ด้วย แล้วก็มีจิตของเราสว่างเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่เฉยๆ ไม่ได้เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้เข้าไปมีอาการจับคว้ามาทึกทักเอาว่านี่เป็นตัวของมัน เป็นตนของมัน มีแต่อาการเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรในทางเสียประโยชน์นะ หรือว่าได้ประโยชน์ นี่ลักษณะอย่างนี้แหละคือสมาธิ สมาธิเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ สมาธิอันจะเป็นปฐมเหตุให้เราสามารถรู้จักความไม่เที่ยงได้ด้วยอาการของผู้เฝ้าดู ไม่ใช่ผู้เล่นเสียเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น