วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เขียนให้คนเป็นเทวดา (ดังตฤณ)

ดังตฤณ
มกราคม ๒๕๕๐

. เขียนนำ

มีคนเคยขอให้ผมไปบรรยายภายใต้หัวข้อเช่น เขียนธรรมะอย่างไรให้น่าสนใจซึ่งครั้งนั้นชื่อหัวข้อกลายเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผมเอง เนื่องจากยังไม่เคยคิดให้ชัดเลย ว่า เขียนอย่างไรสิ่งที่ดูไม่น่าสนใจ หรือไม่อยู่ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ และน่ารับรู้ขึ้นมาได้
ถามเข้ามาที่ใจตัวเอง สืบไปแล้วพบว่าปัจจัยสำคัญสูงสุดในชีวิตนักเขียนของผมคือ อยากสื่อสารธรรมะหมายความว่าอะไรที่ผมเคยสงสัยและได้รับคำตอบแล้วจากพระพุทธเจ้า ก็อยากให้คำตอบนั้นเป็นที่รับรู้กับคนทั้งโลก
ความอยากสื่อสาร ต่างจากการอยากเขียน อยากระบายอารมณ์ และอยากให้คนอื่นรู้ว่าเรารู้ ถ้าตั้งต้นกันด้วยใจจริงคือ อยากสื่อสารสิ่งที่ตามมาจะเข้าที่เข้าทางของมันเอง เขียนอะไรก็เป็นไปเพื่อการทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างคนเขียนกับคนอ่านทั้งสิ้น ไม่ใช่เขียนเหมือนคนยืนพึมพำกับตัวเอง หรือเขียนเหมือนคนยืนบ่นให้คนแปลกหน้าจำใจฟังกัน
แต่แรกคิดว่าจะตั้งชื่อหนังสือเป็น วิธีเขียนธรรมะให้น่าสนใจทว่าเมื่อพิจารณาแค่ชื่อหนังสือ ก็รู้สึกแล้วว่าไม่น่าสนใจพอ เลยคิดใหม่ว่าผมต้องการให้เนื้อหาของหนังสือเกิดผลอย่างไร คำตอบคือต้องการให้เกิดนักเขียนธรรมะประเภทโดนใจคนอ่านขึ้นมามากๆ
อะไรที่โดนใจคนอ่าน? ก็สิ่งที่คนอ่านอยากได้ไง
คนอ่าน หรือคนทั้งโลกต้องการอะไร? ต้องการคำตอบที่ตัวเองสงสัยใคร่รู้ ไม่มีใครอยากได้ยินเรื่องที่ตนเองไม่สงสัยและไม่ใคร่รู้
เมื่อรู้แล้วได้ประโยชน์อะไร? ได้แนวทางที่ถูกต้องในการทำชีวิตให้อยู่ดีและมีสุข และสภาพชีวิตที่อยู่ดีและมีสุขอย่างสมบูรณ์แบบ ก็ถูกเรียกขานมานานว่า สวรรค์
สวรรค์คือสิ่งที่ทุกคนต้องการ สวรรค์ของจริงที่อยู่เบื้องบนอย่างไรก็ต้องเป็นสวรรค์อันชวนอภิรมย์ นรกของจริงที่อยู่เบื้องล่างอย่างไรก็ต้องเป็นนรกอันน่าสะพรึงกลัว แต่โลกนี้ ระนาบความเป็นจริงนี้ อาจเป็นสวรรค์หรือนรก ชวนอภิรมย์หรือน่าสะพรึงกลัวก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ เป็นเทวดาหรืออสุรกาย
ถ้าอยากให้โลกนี้เป็นสวรรค์บนดิน ก็มีทางเดียว คือทำให้มนุษย์กลายเป็นเทวดาก่อนตายกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้!
และเมื่อจับจุดนี้เป็นตัวตั้ง ก็ต้องถามต่อว่าแล้วอะไรทำให้คนๆหนึ่ง กลายเป็นเทวดาขึ้นมา คำตอบก็คือ ธรรมะนั่นเอง ธรรมะทำให้คนเป็นเทวดา และเทวดาจะสร้างสวรรค์ขึ้นมาเอง
จากนั้นก็มาถึงคำถามสำคัญอันโยงเข้ากับหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ เขียนอย่างไรให้ธรรมะเข้าไปอยู่ในใจคนซึ่งคำตอบก็คือเขียนให้โดนใจ เมื่อคุณเขียนธรรมะได้โดนใจ ก็เท่ากับเขียนให้คนเป็นเทวดานั่นเองครับ
หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณเริ่มนับหนึ่ง ตั้งแต่วิธีออกตัว วิธีคิดให้ออกว่าจะเขียนอะไร ตลอดไปจนกระทั่งวิธีเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นให้ออกรส โดยรวมอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นคู่มือนักเขียนธรรมดาเล่มหนึ่ง ที่ให้แรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องดีๆ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องแปะป้ายว่าเป็นเรื่องธรรมะก็ได้ ขอเพียงทำให้คนอ่านเกิดความคิดดีๆ แล้วช่วยกันสร้างโลกดีๆขึ้นมาแทนโลกร้ายๆก็แล้วกัน

-----------------------------------------------------

. วิธีออกตัว


          คุณจะวิ่งไม่เป็นด้วยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการวิ่ง และคุณมีสัญชาตญาณในการวิ่งอยู่แล้ว
โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครสอน แต่แน่นอนว่าคุณจะวิ่งได้ดีขึ้นหากรู้หลักการวิ่งที่ถูกต้อง

          การเขียนก็เหมือนกับการวิ่ง คุณอ่านหนังสือเล่มนี้หรือต่อให้อ่านคู่มือนักเขียนอีกกี่ร้อยเล่ม
ก็ไม่ทำให้เกิดงานเขียนขึ้นมาได้ งานเขียนเกิดขึ้นเมื่อคุณนั่งลงแล้วเขียน ขอเพียงคุณทำอย่างนั้น
ถึงแม้ไม่เคยอ่านคู่มือนักเขียนเลยสักเล่ม ก็เกิดงานเขียนขึ้นมาได้

          ทุกคนมีสัญชาตญาณในการสื่อสารอยู่แล้ว ถ้าคุณพูดให้คนอื่นฟังเข้าใจ คุณก็สามารถเขียน
ให้คนอื่นอ่านแล้วเข้าใจได้เช่นกัน

          ส่วนใหญ่คนเราต้องเขียนหนังสือเพื่อสื่อสารในทางใดทางหนึ่ง ถ้าไม่จดหมายก็เอกสารการ
งาน อย่างนั้นนักเขียนต่างจากคนทั่วไปอย่างไร? ต่างกันคือนักเขียนเขียนในสิ่งที่ตัวเอง อยาก
เขียนไม่ใช่สิ่งที่ตัวเอง ต้องเขียน

          เอาล่ะ! เริ่มนับหนึ่งกันที่ตรงนี้เลยครับ ถ้าคุณอยากเป็นนักเขียน ทั้งหมดที่ต้องเริ่มต้นเพื่อ
การออกตัวคือ นั่งลง แล้วเริ่มเขียนอะไรก็ได้ที่ อยากเขียนไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยากบ่น สิ่งที่อยาก
ระบาย ความในใจที่อยากให้ใครสักคนรู้ ฯลฯ คนเราถ้าเขียนสิ่งที่อยากเขียน ก็เหมือนได้พูดใน
สิ่งที่ต้องการ ไม่มีคำว่าอยากหยุด อยากพอ มีแต่จะพรั่งพรูออกมาไม่เลิกเท่านั้น

          ขอให้เขียนอย่าหยุดมือไม่ต่ำกว่า ๕ นาที โดยไม่คำนึงเลยว่าดีหรือไม่ดี อ่านแล้วรู้เรื่อง
หรือไม่รู้เรื่อง ได้ใจความตามลำดับหรือสะเปะสะปะมั่วซั่ว พูดง่ายๆคือให้มือทำงาน ปิดสมองไว้
ก่อน

          
สมัยเราคงหาคนพิมพ์สัมผัสเป็นได้ไม่ยากนัก แน่นอนว่าการพิมพ์สัมผัสจะช่วยให้ความคิด
ของคุณไหลออกมาง่ายกว่าที่ต้องก้มมองแป้นพิมพ์ดีด และเร็วกว่าการเขียนด้วยปากกาดินสอ
หลายเท่าตัว หากยังพิมพ์สัมผัสไม่เป็นก็ขอแนะนำให้หัดเสีย คุณเสียเวลาแค่ไม่เกิน ๗ วันในการ
ฝึกจากช้าไปหาเร็ว แต่ชั่วชีวิตที่เหลือจะได้รับประโยชน์เกินคุ้มแน่นอน ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ช่วยฝึก
พิมพ์สัมผัสมากมาย เลือกเอาสักอันที่ถูกๆมาใช้ คุณจะพบว่ามันเป็นเครื่องมือช่วยออกตัวที่สำคัญ
สูงสุดเลยก็ว่าได้

          คนเราถ้าเขียน ๕ นาทีไม่หยุด อย่างน้อยก็ต้องได้สัก ๑๐ บรรทัด และขอแค่วันละ ๑๐
บรรทัดเท่านั้น ก็หมายความว่าภายใน ๓ เดือน คุณจะผ่านประสบการณ์ ร้อยวัน พันบรรทัด
ซึ่งเท่ากับคุณเขียนหนังสือเล่มเล็กขนาด ๕๐ หน้ากับเขาแล้ว เป็นหนังสือที่จะสอนให้คุณเขียนได้จริงๆ
และเขียนสำเร็จโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆเสียด้วย

          ในตอนต่อไปผมจะพูดถึงวิธีเข้าเส้นชัย คือนำเอาสิ่งที่คุณเขียนมั่วๆเพื่อออกตัวมาทำให้
กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาจริงๆ และเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ก็ขอบอก ณ บรรทัดนี้ว่า
การเขียนธรรมะเป็นคนละเรื่องกันกับการเขียนเพื่อออกตัวจากจุดสตาร์ท การเขียนธรรมะไม่
เหมือนเขียนบ่น ไม่เหมือนเขียนด่า ไม่เหมือนเขียนเถียง ไม่เหมือนเขียนยัดเยียด แต่เป็นการเขียน
ด้วยใจ ใจที่สงบผาสุก มีความเยือกเย็นกลมกลืนกันดีแล้วกับธรรมะอันสว่าง

          ถ้าคุณบอกว่าใจไม่มีความสว่างให้เริ่ม ก็อาจเริ่มจากการเขียนธรรมะได้ครับ หากเขียน
ธรรมะได้ดี ก็มีโอกาสที่ใจคุณจะถูกกล่อมเกลาให้นุ่มนวลลงได้มากทีเดียว 

-----------------------------------------------------

. วิธีเข้าเส้นชัย

บทก่อนเราปิดสมอง เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้มือรัวไม่หยุดสัก ๕ นาที บทนี้เราเปิดสมองให้
ทำงานหลัก แล้วให้มือเป็นข้าทาสของสมองอีกที

ย้ำว่าบทก่อนสำคัญมาก ส่วนที่เหลือของหนังสือเล่มนี้จะมีเนื้อหาสืบเนื่องมาจากการฝึกบท
แรกโดยตรง หากยังไม่เห็นความสำคัญ หรือหากยังไม่ลงมือหัด ก็อยากให้คุณฝึกออกตัวในบทก่อน
สักสองสามหน จนกระทั่งรู้สึกว่าพิมพ์ได้เหมือนพูด รู้สึกว่าปลายนิ้วเหมือนปาก ซึ่งถ้าทำได้อย่าง
นั้น รูปแบบการคิดถ่ายทอดถ้อยคำจะเหมือนพูด ไม่ใช่ว่ากว่าจะได้แต่ละวรรคแต่ละตอนต้องเค้นคิด
ว่าจะเขียนอะไรดีจนเหนื่อย

บางคนพูดเก่ง มีใจความตามลำดับเป็นอย่างดี แต่พอให้มาเขียนกลับเขียนวกวน ไม่ค่อย
เป็นไปตามลำดับ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะระบบความคิดถูกรบกวนด้วย สิบนิ้วอ่อนหัดถ้าหัดพิมพ์
สัมผัสจนมีความสามารถเทียบเท่ากับที่ปากและสมองประสานงานกัน คุณจะไม่กลัวการเป็น
นักเขียน เพราะมันก็ง่ายไม่ต่างจากพูดเล่าอะไรๆให้คนอื่นฟังด้วยปากเปล่าสักเท่าไร

และยิ่งฝึกออกตัวมากขึ้น คุณก็จะยิ่งเห็นข้อได้เปรียบประการสำคัญของการเขียนที่มีอยู่
เหนือการพูด นั่นคือการพูดนั้น เมื่อพูดแล้วหายลับไปในอากาศ หรือแม้บันทึกเสียงไว้ก็ปรับแก้ยาก
ในขณะที่การเขียนหมายถึงการจารึกอักษรไว้ที่ใดที่หนึ่งตั้งแต่ต้น เมื่อจะปรับแก้ก็สะดวก โดย
เฉพาะในยุคที่เราเขียนด้วยซอฟต์แวร์เกี่ยวกับเวิร์ดกันมากกว่าอย่างอื่น การจะตัดแต่งหรือต่อเติม
นั้นแสนง่าย ชนิดที่นักเขียนยุคไหนสมัยใดมาเห็นก็ต้องอิจฉา

มาเข้าใจประเด็นสำคัญกันว่า ทำไมถึงต้องปรับแก้? คำตอบสำหรับคนทั่วไปมักเป็นว่า
เผื่อเจอคำผิดหรือ เผื่อนึกได้ว่าตกหล่นประเด็นไหนไปแต่คำตอบที่แท้จริงของนักเขียนไม่ใช่แค่
นั้น การปรับแก้คือการทำเรื่องเขียนให้เสร็จจริง และคุณจะรู้ว่าเรื่องเขียนเสร็จจริงก็ต่อเมื่อ
มันน่าสนใจพอสำหรับคนอ่าน


นี่เปรียบเหมือนการร่อนทอง ที่เราต้องเอาพลั่วตักดินในแม่น้ำมาใส่เครื่องร่อน เพื่อคัดเอา
ดินและหินทิ้งไปจนเหลือแต่ทองคำ การลงนั่งเขียนมั่วๆสัก ๕ นาทีก็คือการสร้างสายน้ำที่มี
ทองคำซ่อนอยู่ คือจะต้องมีประโยคใดประโยคหนึ่ง วลีใดวลีหนึ่งที่เป็นวรรคทองปะปนอยู่
ในกองขยะเสมอ
 การอ่านครั้งที่สองก็คือการคัดเอาประโยคและวลีที่เป็นขยะทิ้งไปนั่นเอง

หลักการฝึกร่อนวรรคทองมีดังนี้

๑) ให้ทำความเข้าใจว่าแต่ละบทของหนังสือ หรือแต่ละบทความหนึ่งๆนั้น ย่อหน้าแรก
เอาไว้เรียกความสนใจ ส่วนย่อหน้าสุดท้ายคือสิ่งที่คุณอยากให้คนอ่านคิดอย่างไร เข้าใจ
แบบไหน หรือโดนใจเพียงใด
 ฉะนั้นคุณต้องอ่านทั้งหมดเพื่อหาให้เจอ ว่าที่คุณเขียนไปมั่วๆนั้น
ประโยคไหนสามารถเรียกความสนใจได้ ให้เอาประโยคนั้นไปขึ้นต้นย่อหน้าแรก ส่วนประโยคไหนที่
กระตุ้นให้ได้คิด ได้นึก ได้รู้สึกตามทิศทางที่คุณต้องการสูงสุด ก็ให้เอาประโยคนั้นไปขึ้นต้นย่อหน้า
สุดท้าย

ในการทำอย่างนี้ คุณอาจสร้างหน้าเปล่าขึ้นมาใหม่ คัดเอาประโยคน่าสนใจมาตั้งต้นเป็น
อันดับแรก เคาะเว้นบรรทัด แล้วคัดเอาประโยคชวนคิดมาไว้เป็นอันดับต่อมา เพียงเท่านี้คุณก็จะ
ตั้งต้นออกตัวได้อย่างเห็นเส้นชัยแล้ว

๒) กลับไปอ่านส่วนที่เหลือ คุณน่าจะเห็นภาพรวมว่าที่เขียนทั้งหมดนั้น มีประเด็นอะไรที่
จับต้องได้ ก็คงประเด็นเหล่านั้นไว้ ส่วนประเด็นไหนอ่านแล้วไร้สาระ ไม่สมเหตุสมผล หรือกระทั่ง
ทำให้รู้สึกแย่ ก็ลบทิ้งไปเลยอย่าเสียดาย เพราะสิ่งที่เหลืออยู่ทั้งหมดคือทอง ซึ่งแม้จะน้อยนิด แต่
คุณก็เอาไปคิดต่อยอดได้

เมื่อคัดประเด็นได้เรียบร้อย จากนั้นก็มาคัดกันในระดับของประโยคกันต่อ อ่านแล้วคัดเอา
ประโยคซึ่งเคยเห็นที่อื่นบ่อยๆออก เหลือไว้เฉพาะที่เห็นน้อยหรือไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย ส่วน
ที่คุณเขียนได้ แต่ไม่ค่อยเห็นหรือไม่เคยเห็นที่อื่น คือส่วนที่คุณคิดเอง ไม่ได้ตามใคร หาก
ฝึกคัดเลือกเฉพาะส่วนที่เป็นคุณจริงๆไว้เช่นนี้ งานเขียนในระยะยาวของคุณจะไม่ซ้ำแบบ
ใคร และคุณจะไม่นึกอยากลอกเลียนใครด้วย

เมื่อคัดได้ส่วนที่ดีไว้แล้ว ให้นำไปวางไว้ระหว่าง ย่อหน้าออกตัวกับ ย่อหน้าเส้นชัยใน
ข้อก่อน คราวนี้การทำงานทางความคิดของคุณจะต่างไป เพราะความคิดส่วนที่ดีที่สุดถูกคัดแยก
ออกมาจากกระแสขยะทางความคิดแล้ว

๓) เรียบเรียงถ้อยคำให้กลายเป็นเรื่องเป็นราว คือมีต้น มีกลาง มีปลาย อย่าเพิ่งคำนึงว่าจะ
ให้ดีเลิศ รายละเอียดวิธีเขียนอื่นๆจะทยอยตามมาในส่วนที่เหลือของหนังสือเล่มนี้ ที่เรากำลังพูดกัน
ในบทปัจจุบันคือการฝึกมือใหม่ให้ออกตัวและเข้าเส้นชัยแบบง่ายๆ เรียกความมั่นใจว่าใครๆก็ทำได้
กันก่อน

เมื่อเขียนจบ ให้รอสักพัก อาจเป็นชั่วโมงหนึ่ง หรืออาจจะครึ่งวัน เอาแบบรอความรู้สึก
อยากกลับไปอ่านอีกทีว่าเมื่อครู่ก่อนเขียนอะไรไปบ้าง ถึงตรงนั้นให้อ่านทบทวนในฐานะของคนอ่าน
เมื่อกันตัวเองไว้ในฐานะคนอ่านที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ก็จะเกิดข้อสงสัย และอยากซักถามคน
เขียนตามจุดต่างๆ คุณจะเห็นอย่างถนัดชัดเจนว่าประโยคหรือคำใดคลุมเครือ สื่อความหมายไม่
ชัดเจน อยากให้คนเขียนแก้ใหม่ให้กระจ่าง

จุดเหล่านี้แหละที่จะเรียก นักเขียนในตัวคุณออกมาตอบคำถามตัวคุณในภาคคนอ่าน ก็
ขอให้แก้ไขจนกว่าจะไม่เหลือจุดคลุมเครือสำหรับคนอ่านอยู่อีกเลย

การเขียนเรื่องให้เสร็จภายในวันเดียวจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เชื่อมั่น ว่าคุณสามารถเขียนอะไร
แล้วเสร็จ เพราะหากเริ่มฝึกด้วยการเขียนทิ้งไว้แล้วค่อยกลับมาเขียนใหม่ในวันต่อๆมา จะทำให้คุณ
ขาดความเชื่อมั่นว่าจะทำได้จริง เขียนได้เสร็จ และที่สำคัญอาจไม่มีวันสำเร็จเลย เพราะขี้เกียจ หมด
ไฟเสียก่อน

ถ้าคุณทำให้เรื่องมั่วๆไม่ค่อยปะติดปะต่อ กลายเป็นระเบียบ มีต้นมีปลาย และมีจุดดึงดูด
น่าสนใจได้ในวันเดียว ขอให้ถือว่านั่นคือการเข้าเส้นชัยครั้งแรก เส้นชัยแรกย่อมก่อให้เกิดความ
สนุกและเชื่อมั่นว่าคุณก็ทำได้ คุณเป็นนักเขียนได้! 

-----------------------------------------------------

. วิธีตั้งชื่อเรื่องให้แตกต่างและโดนใจ


ในบทแรกคุณฝึกออกตัว ซึ่งจะเป็นการใช้มือทำงาน ปิดสมองไว้ชั่วคราว ฉะนั้นหากสังเกตใจตัวเอง
จะไม่มีความคิดว่า "ไม่รู้จะเขียนอะไร" เพราะมือมันขยับไปเองได้เหมือนปากพูด ส่วนบทที่สองเป็น
การฝึกเข้าเส้นชัย ถ้าคุณหัดร่อนทองออกมาจากกรวดหินดินทรายเป็น สังเกตใจตัวเองอีกทีจะ
พบว่าปราศจากความคิดว่า "ไม่รู้จะจบอย่างไร" เช่นกัน เพราะในกองทองย่อมมีสักก้อนที่โดดเด่น
พอจะเป็นบทสรุปทางความงามเสมอ

การเข้าเส้นชัยด้วยวิธีร่อนทองทำให้คุณรู้ว่าความคิดส่วนใหญ่ของคนเราเต็มไปด้วยเรื่องไร้สาระและ
ขยะส่วนเกิน และนั่นน่าจะทำให้คุณตระหนัก ว่าคนที่เขียนอะไรแล้วเอาหมด เสียดายไปหมด ไม่มี
ทางเป็นนักเขียนที่ดีได้เลย นักเขียนที่ประสบความสำเร็จทุกคนต้องฝึกร่อนทอง หาวรรคทอง
จากกองขยะด้วยกันทั้งสิ้น
 พวกเขาไม่เสียดมเสียดายกำลังงานและเวลาที่หมดไปกับการเขียนทิ้ง
เขียนขว้าง เพราะมันไม่ใช่ความสูญเปล่า แต่นั่นคือช่วงแห่งการใช้เวลาฝึกตนให้เป็นผู้ คิดเป็น
และ คัดเป็นต่างหาก

เมื่อคิดเป็นและคัดเป็น คุณจะพบว่าตัวเองเกิดความสามารถในการตั้งชื่อเรื่องให้โดนใจกับเขาได้
เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องอาศัยพรสวรรค์หรือรอโชคช่วยเหมือนชะตาจับยัดแต่อย่างใด

อย่าลืมว่าบทนี้เราพูดถึง วิธีตั้งชื่อเรื่องให้แตกต่างและโดนใจฉะนั้นต้องเน้นกันว่าเราไม่ได้คุยกัน
แค่ หลักการตั้งชื่อให้ตรงตามแนวเรื่องแต่เป็นการค้นหาแรงปะทะที่มีพลังพอจะเตะตาสะดุดใจคน
เห็นในวินาทีแรก ท้าทายให้เขานึกอยากอ่านเพื่อพิสูจน์ว่าเนื้อหาสมชื่อหรือไม่ ซึ่งคุณไม่อาจตั้งชื่อ
ได้ขนาดนั้นตราบเท่าที่ไม่เคยฝึกคิดและคัดให้มัน ใช่เสียก่อน

๑) วิธีคิด 

หมายถึงการจงใจคิดให้แตกต่างและโดนใจ โดยคุณมีทิศทางและขอบเขตเนื้อหาอยู่ก่อนแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะเตรียมเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไปในที่ใหม่ๆ อยากให้คนอ่าน
เกิดแรงบันดาลใจอยากเปลี่ยนบรรยากาศให้ชุ่มปอด คุณก็อาจใช้คำว่า ท่องเที่ยวเป็นตัวยืนโรง
คิดๆๆว่ามีคำแวดล้อมหรือคำเกี่ยวข้องอะไรอยู่บ้าง ทั้งที่เป็นคำนามและคำกริยา

หากคิดไม่ออกหรือขี้เกียจคิด ก็อาจใช้วิธีง่ายๆ โดยเข้าไปที่ google.com แล้วค้นหาคำว่า ท่องเที่ยว
เอาดื้อๆนั่นแหละ คุณจะพบเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับคำว่าท่องเที่ยวมากมาย และในแต่ละเว็บก็จะมี
คำหลักๆมาเสนอให้เลือก อย่างในส่วนของคำนามก็เช่น เทศกาล ที่พัก โรงแรม สายการบิน ในประเทศ
นอกประเทศ อากาศ ฯลฯ รวบรวมมาเยอะๆ ถ้าถึงร้อยคำได้ยิ่งดี

จากนั้นก็รวบรวมคำกริยาที่ปรากฏในเว็บไซต์เหล่านั้น เช่น เดินทาง ค้นหา เช่า เดินป่า ดำน้ำ ฯลฯ
คุณอาจเขียนคำเหล่านี้ใส่กระดาษหรือใส่โปรแกรมเวิร์ดก็ได้ ขอให้เห็นแล้วจุดประกายความคิดได้
หลากหลาย ฉีกกรอบจำกัดออกไปมากๆก็แล้วกัน

อย่างในกรณีนี้ ผมบอกแล้วว่าเราต้องการเขียนเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้
ชุ่มปอด เมื่อมาเจอคำว่า อากาศเข้า ก็นึกถึงอาการของนักท่องเที่ยว เมื่อลงจากรถก็มัก สูด
อากาศกันด้วยความสดชื่น ผมก็ได้ไอเดียแรกทันทีว่าชื่อเรื่องอาจเป็น สูดอากาศใหม่ซึ่งให้ทั้ง
ข้อมูลและแรงบันดาลใจในตัวเอง

หากจะเขียนบทความผมอาจเอาเลย ไม่เสียเวลาคิดให้มากมายไปกว่านี้ แต่ถ้าเป็นการเขียนหนังสือ
ก็อาจจำเป็นต้องตั้งชื่อด้วยเทคนิควิธีเดียวกันเอาไว้เผื่อเลือกอีกสักสิบชื่อ หรืออาจเป็นร้อยชื่อถ้ายัง
ไม่แตกต่างและโดนใจพอ

ขออนุญาตใช้หนังสือตัวเองเป็นการยกตัวอย่างแบบเปิดเผยกลเม็ดเคล็ดลับ เพราะรู้แน่ๆว่ามีราย
ละเอียดที่มาที่ไปอย่างไร

ครั้งหนึ่งผมอยากเขียนแนวการปฏิบัติธรรม เพื่ออ่านเข้าใจง่าย ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้าตั้งชื่อ
แบบมีคำว่า การปฏิบัติธรรมหรือ สติปัฏฐาน ๔อยู่ด้วยคงน่าเบื่อและเห็นๆกันอยู่กลาดเกลื่อน
แล้ว ผมต้องการชื่อที่แปลกออกไป และที่สำคัญต้องสะดุดตาหน่อย แต่คิดอยู่หลายอาทิตย์ จนแล้ว
จนรอดก็ไม่รู้สึกว่าใช่เสียที

คิดเล่นๆ คิดเรื่อยๆ และหวังว่าจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กระตุ้นให้ผลไม้แห่งความคิดสุกงอมและหล่นลงมา
โดนใจเข้าเอง

ต้องเล่าให้ฟังเป็นพื้นสักนิดหนึ่ง จากความคุ้นเคยกับแวดวงการภาวนาปฏิบัติธรรมมานาน ผม
ทราบดีว่าข้อสงสัยในใจคนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร เช่น นักภาวนามือใหม่อยากรู้ว่าตนมีสิทธิ์บรรลุ
ธรรมได้ในชาตินี้ไหม ความเป็นเพศหญิงจะเหมือนเครื่องขวางการบรรลุธรรมหรือไม่ แล้วถ้าบรรลุ
ธรรมจะต้องใช้เวลานานสักกี่สิบปีกัน ฯลฯ

คำถามเกี่ยวกับจุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมเหล่านี้ ถามกันมานาน แล้วก็มีคำตอบที่ตอบกัน
มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เป็นที่เปิดเผยในที่โล่งแจ้งกันสักที ต่างก็งึมงำๆอยู่ในที่
ลับเฉพาะกลุ่มย่อย น้อยแห่งจะอ้างอิงพุทธพจน์ซึ่งปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตรแท้ๆ อันมี
ใจความโดยสรุปคือถ้าใครก็ตาม เจริญสติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าประทานไว้อย่างเต็มที่ อย่าง
ช้าภายในเจ็ดปีต้องบรรลุธรรมขั้นสูงสุด เป็นพระอรหันต์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นพระอนาคามี
ไม่ต้องวนกลับมาเกิดให้ลำบากในภพมนุษย์นี้อีก

ผมทราบคำตอบอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดจะนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือ กระทั่งวันหนึ่งกำลังอ่านใบโฆษณา
หนังสือใหม่ พบหนังสือเล่มหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ถนัด แต่ประมาณว่า ๘๐ วันเพื่อการเป็นกุ๊กมือฉมัง ที
แรกผมอ่านผ่านๆ แต่แล้วก็ฉุกคิดว่าผมเขียนหนังสือและบทความมาหลายเรื่อง ยังไม่เคยขึ้นต้นชื่อ
หนังสือด้วยตัวเลขสักที อีกหน่อยน่าจะคิดทำกับเขาบ้าง คงเท่ดีเหมือนกัน

ความคิดที่ผุดขึ้นโดยอัตโนมัติในลำดับถัดมา คือเชื่อมโยงแนวการปฏิบัติธรรมเข้ากับตัวเลข ผมแค่
นึกนิดเดียวว่าตัวเลขใดเชื่อมโยงกับการปฏิบัติธรรมภาวนาในพุทธศาสนาบ้าง คำตอบก็โพล่งออก
มาทันทีว่าเลข ๗ กล่าวคือพระพุทธเจ้าตรัสถึงระยะเวลาในการเจริญสติให้เข้าถึงมรรคผล ว่าอย่าง
ช้า ๗ ปี อย่างกลางประมาณ ๗ เดือน และอย่างเร็วประมาณ ๗ วัน ต้องได้มรรคได้ผลขั้นสูงเป็น
แน่แท้

ถ้าเอาอย่างกลางๆสำหรับคนทั่วไป ก็ต้องว่า ๗ เดือนสามารถบรรลุธรรมกันได้ ผมตาสว่างและได้
ชื่อหนังสือ ๗ เดือนบรรลุธรรมในฉับพลันนั้นเอง ชื่อหนังสือยังจุดประกายให้เห็นโครงสร้างและ
เนื้อหาทั้งหมดอีกด้วย การนี้ผมควรแต่งเรื่องเล่าประสบการณ์ของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ได้รับแรง
บันดาลใจให้เข้าสู่โลกของการปฏิบัติธรรมภาวนา และฉายให้เห็นว่าผ่านวันผ่านเดือนของการปฏิ
บัติตามพระพุทธองค์สอน แล้วเกิดประสบการณ์ภายในอย่างไร ผ่านอุปสรรคไปได้ท่าไหน ใช้เวลา
นานช้ากี่วันกี่เดือน จึงบรรลุธรรมตามระยะแห่งพุทธพยากรณ์ในมหาสติปัฏฐานสูตร

เนื้อหาของทั้งเรื่องแม้เป็นสิ่งที่ผูกขึ้นแบบนวนิยาย ทว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมก็ล้วน
เป็นประสบการณ์ตรงของครูบาอาจารย์ ตลอดจนผมเองและสหายธรรมหลายต่อหลายท่าน ฉะนั้น
จึงไม่น่าแปลกใจที่คนอ่านได้อ่านแล้ว รู้สึกว่าเข้าใจ ไขปัญหาและข้อสงสัยต่างๆได้เป็นขั้นๆ และที่
สำคัญคือเชื่ออย่างมีเหตุผลรองรับ ว่าพุทธพยากรณ์ในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นจริงได้อย่างไร

สรุปคือด้วย วิธีคิดคุณอาจได้ชื่อหนังสือที่เป็นทั้งคำตอบให้กับข้อสงสัยของคนส่วนใหญ่ และเป็น
ทั้งคำท้าให้พิสูจน์ความจริงอันเป็นแก่นสารของพุทธศาสนา ขอเพียงจับประเด็นถูกว่าสิ่งใดน่ารู้ สิ่ง
ใดเป็นข้อสงสัยของคน สิ่งใดที่เห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจ ถ้อยคำทั้งหมดล้วนลอยรอในอากาศอยู่
แล้ว ทำอย่างไรคุณจึงจับฉวยพวกมันมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจคนอ่านให้ได้เท่านั้น

๒) วิธีคัด

หมายถึงการใช้ชีวิตตามปกติ รับการกระทบจากโลก และปล่อยให้เกิดปฏิกิริยาทางความคิดตาม
สบาย ไม่คาดคั้นตัวเองว่าจะต้องได้ชื่อเรื่องเด็ดเมื่อนั่นเมื่อนี่ ขอแค่มีสติคอยดักความรู้สึกพิเศษที่
เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่ปล่อยให้หลุดลอยไปเปล่าๆ คุณจะพบว่าตามธรรมชาติแล้ว เมื่อใดเกิด
ความรู้สึกพิเศษ เมื่อนั้นมักมีกลุ่มคำหรือวลีพิเศษเกิดร่วมด้วยเป็นเงาตามตัว
 ถ้าวลีใดวลี
หนึ่งแตกต่างและโดนใจมากพอ มันก็อาจเขยิบฐานะจากคลื่นลมในหัวมาเป็นชื่อหนังสือติดปากคน
ได้ง่ายๆ

ยกตัวอย่างของจริง มีอยู่วันหนึ่ง ผมได้รับโทรศัพท์ขอให้เขียนอะไรสั้นๆให้คนใกล้ตายได้อ่าน ซึ่ง
วูบหนึ่งผมนึกเห็นดีเห็นงาม เพราะที่ผ่านมาเขียนให้แต่คนเป็นซึ่งนึกว่าจะ เป็นไปอีกนาน ไม่เคย
ตั้งใจเขียนให้คนที่นึกว่าจะ ตายอยู่รอมร่อสักที

แต่ผมก็คิดไม่ออก ไม่ตกลงใจว่าจะเขียนอะไร เนื่องจากช่วงนั้นมีงานจองเวลาทำงานของผมหลาย
ชิ้นอยู่แล้ว กระทั่งนานเป็นเดือน จู่ๆก็แวบนึกถึงญาติของผู้ขอขึ้นมา ว่าเสียชีวิตไปหรือยัง กับทั้ง
เกิดความเสียดายขึ้นมาอย่างประหลาด ที่จนแล้วจนรอดผมก็คิดไม่ออกสักทีว่าจะเขียนอะไรให้คน
ใกล้ตายได้อ่าน

ขณะคิดนั้นผมกำลังเดินไปอาบน้ำตามปกติ ความรู้สึกที่ผสมกันระหว่างความอยากเขียนให้คนใกล้
ตายอ่าน กับความเสียดายถ้าหากบุคคลผู้นั้นเสียชีวิตไปเสียก่อนผมเขียนเสร็จ ก็เกิดเป็นอาการ
คัดคำมาผสมกันโดยไม่ตั้งใจ

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อหนังสือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่านและที่กล่าวมาข้างต้นก็คือต้นตอ
ของชื่อหนังสือเล่มนี้ มันคือวันที่ผมไม่ได้ใช้ความสามารถทางการคิด แต่รู้จักคัดเอาวรรคทองที่ลอย
ผ่านเข้ามาในหัวไว้ ไม่ปล่อยให้หลุดลอยไปก็เท่านั้น

ตอนอาบน้ำผมนึกครึ้มที่คิดชื่อเรื่องได้ แม้ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่ามันจะน่าสนใจสำหรับคนทั่วไปสัก
แค่ไหน อย่างน้อยก็เกิดโครงสร้างหนังสือขึ้นมาแล้ว คือคำถามพื้นๆ เช่น คนเราอยากรู้อะไรบ้าง
ชนิดที่ถ้าไม่ได้คำตอบแล้วน่าเสียดายหากตายไปเสียก่อน?

เกิดมาเป็นอย่างนี้เพราะอะไร? ตายแล้วไปไหนได้บ้าง? ถ้ายังต้องอยู่ควรทำอย่างไรดี? นี่แหละที่
คุยกันไม่จบ พุทธเรามีคำตอบให้คนที่ยังไม่ตาย เพียงแต่คนส่วนใหญ่แม้ชาวพุทธที่ไปวัดเกือบทุก
อาทิตย์ ก็ไม่ทราบจะหามาจากไหน

มีเกร็ดอยู่นิดหนึ่งที่ถือโอกาสเล่าให้ฟัง ตอนอยู่ในห้องน้ำผมนึกว่าได้ชื่อเรื่องน่าสนใจอย่างนี้คงไม่
หนีจากหัวผมไปไหนแน่ แต่พอออกจากห้องน้ำก็แทบลืมอย่างสนิทว่าเมื่อกี้คิดอะไรออก แบบว่ามัน
เป็นการผสมคำที่ผมเคยได้ยินมาจากไหน เวลาผ่านไปไม่กี่นาทีจึงเลือนหาย คล้ายกับที่คุณชะล่าใจ
นึกว่าจะสามารถจดจำเลข ๑๐ หลักได้ แต่ความจริงคืออาจจะไม่ได้

ผมรู้แต่ว่าถ้าปล่อยให้ชื่อนั้นหลุดลอยไปกับสายลม ก็คงเป็นความน่าเสียดายอย่างไม่มีอะไรเกิน ยัง
โชคดีครับ หลังจากเค้นนึกอยู่พักใหญ่ก็จำได้ รีบปรี่ไปที่โต๊ะหนังสือเพื่อจดไว้ทันที ไม่ปล่อยให้หลุด
จากหัวซ้ำสองอีกแล้ว และนับจากนั้น ผมจะต้องมีอุปกรณ์บันทึกอย่างใดอย่างหนึ่งติดตัวอยู่ตลอด
๒๔ ชั่วโมง ทุกวันนี้แม้เข้าห้องน้ำเพื่ออาบน้ำ คุณก็จะเห็นผมพกพาเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปด้วย
ไม่ใช่เพื่อให้ความสำคัญกับการรอรับโทรศัพท์นักหรอก แต่ไม่อยากให้พลาดทองคำที่อาจผ่านเข้า
มาให้คัดกรองไว้อีกต่างหาก!

ทุกวันนี้ผมเขียนคอลัมน์ คิดจากความว่างลงในเนชั่นสุดสัปดาห์ทุกอาทิตย์ ซึ่งก็จำเป็นต้องตั้งชื่อ
ให้แต่ละตอน คุณอาจเข้าใจว่าผมคิดหรือคัดชื่อเรื่องอาทิตย์ละครั้ง แต่ความจริงคือผม คัดอยู่
ตลอดเวลา แต่ละวันอาจได้ชื่อเรื่องถึงสองสามชื่อ ซึ่งแน่นอนผมบันทึกไว้ ถ้ามันฟังดูน่าสนใจมาก
ผมก็อาจลัดคิว อาจยอมเสียเวลาสักครึ่งวันเพื่อ คิดถึงเนื้อความทันที และมันก็มักจะได้ผล หลาย
ชื่อเรื่องมีพลังแม่เหล็กมากพอจะดึงดูดให้อยากอ่าน ผมเองเมื่อเขียนก็ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ต่าง
ฝ่ายต่างตกอยู่ภายใต้บรรยากาศความน่าสนใจ ทั้งคนเขียนและคนอ่าน

ถึงตรงนี้คุณอาจตั้งข้อสงสัย ว่าอะไรเป็นตัวตัดสินว่าชื่อที่คิดและคัดแล้วนั้น ใช้ได้หรือยัง คำตอบคือ
ความรู้สึกครับ ความรู้สึกเป็นแกนนำสำคัญในการตัดสินว่าชื่อที่คิดและคัดออกมาได้นั้น ใช่หรือ
ไม่ใช่ ขอตั้งข้อสังเกตว่าชื่อเฉี่ยวๆที่แหวกแนว เอาความเก๋ไก๋เข้าว่า โดยไม่สนใจ ความรู้สึกว่าใช่
แล้วหรือยัง มักถูกมองยิ้มๆแล้วผ่านไปโดยไม่มีใครไยดี คุณจำเป็นต้องฝึกคิดและคัดชื่อเรื่องไว้เผื่อ
เลือกมากๆ ใช้ความรู้สึกในการเปรียบเทียบมากๆว่าอันไหน ใช่กว่ากัน

เมื่อผมแนะนำวิธีตั้งชื่อให้น้องบางคนที่มีไฟในการเป็นนักเขียน ผมจะบอกให้เขาหัดผสมคำแวด
ล้อมเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังจะเขียน เอาคำโน้นมาผสมคำนี้อย่าได้หยุด คิดให้ได้สัก ๕๐๐ ชื่อเพื่อคัด
กรองออกมาเลือก ต้องมีสักชื่อที่แตกต่างและโดนใจอย่างแน่นอน และคุณจะพบว่าวิธีสร้างตัวเลือก
นับร้อยเช่นนี้ ต้องได้ผลเสมอ!

ใครบอกคุณว่าชื่อเรื่องไม่สำคัญ ไม่เป็นเหตุให้คุณค่าของหนังสือเพิ่มหรือลดลง ก็ขออย่าได้เชื่อเขา
เด็ดขาดนะครับ ต่อให้เผยแพร่ให้อ่านบนอินเตอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ใช่จะมีใคร
อยากอ่านเรื่องของคุณเพียงเพราะมันเป็นของฟรี อย่างน้อยคนอ่านก็ต้องจ่ายด้วยเวลาใน
ชีวิตของเขา

คิดดูถ้าเป็นตัวคุณเอง เห็นจั่วหัวบทความระหว่าง ศาสนาพุทธอันน่าหวงแหนของเรากับ ศาสนา
ที่มีคำตอบให้กับทุกข้อสงสัยคุณจะเลือกอ่านบทความไหนก่อน? เห็นชื่อบทความแรกคุณอาจนึก
ถึงพวกคลั่งศาสนาที่พร้อมจะพร่ำพรรณนา ว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นสุดวิเศษเพียงใด ในขณะที่เห็นชื่อบท
ความหลังแล้วอยากรู้ว่าคนเขียนจะเขียนตอบข้อสงสัยอันใดให้คุณได้บ้าง

สรุปนะครับ ถ้าเริ่มต้นไม่สะกิดใจ ไม่เตะตา ไม่กระชากความอยากรู้อยากเห็นออกมาจากจิตใจที่
ว่างเปล่าของคนอ่าน ก็คาดหมายได้ว่าเรื่องของคุณจะวางปะปนกับเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครอยากอ่านอีก
เป็นล้านๆ แม้เนื้อหาข้างในอาจน่าสนใจที่สุดในโลกก็ตาม!

-----------------------------------------------------

. วิธีจัดระเบียบเนื้อหา

โครงสร้างของเรื่องราวที่คุณจะเขียนนั้น ไม่ว่าจะเป็นบทความสั้นหรือหนังสือเป็นเล่มๆ ต่างก็มีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือมีช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงสรุปท้าย จะมีก็เพียงวิธีเล่าเรื่องแบบนิยายที่ต้องการล่อความสนใจ เอาบางส่วนของช่วงท้ายมาเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้เกิดการรอคอยว่าพอถึงตรงนั้นจริง เหตุการณ์จะคลี่คลายไปอย่างไร แต่แม้จะใช้วิธีเล่าเช่นนั้น อย่างไรก็ต้องวกกลับมาสู่จุดเริ่มต้น เพื่อให้คนอ่านมองเห็นที่มาที่ไปอยู่ดี

แม้ข้อมูลความรู้และสำนวนของคุณเป็นเลิศ แต่อ่อนเชิงในการลำดับเรื่อง งานเขียนของคุณก็ไม่พ้นโดนบ่น ว่าอ่านแล้วสับสน จับต้นชนปลายไม่ค่อยติด รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง

อะไรทำให้นักเขียนลำดับเรื่องไม่ได้ดีคำตอบง่ายๆคือระบบความคิดที่ขาดระเบียบ และไม่เฉพาะนักเขียนนะครับ คนเราส่วนใหญ่เป็นพวกขาดระบบความคิดที่เป็นระเบียบกันเกือบทั้งนั้น คุณเคยรู้สึกบ่อยแค่ไหน ว่ารู้เรื่องดีหมดแล้ว แต่ไม่ทราบจะเริ่มพูดอย่างไร บางทีอัดอั้นตันใจมากๆก็สารภาพให้คนฟังรับรู้เลยด้วยซ้ำ ว่าคุณเริ่มไม่ถูก ไม่รู้จะตั้งต้นจากตรงไหนก่อน

ปัญหานี้จะถูกขจัดไปโดยเร็ว เพียงคุณฝึกมองไปที่รากของความคิดเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งๆให้เป็น 

ผมยกตัวอย่างแล้วในบทก่อน ว่าได้ชื่อหนังสือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่านมาอย่างไร ก็จะขอใช้ชื่อหนังสือเล่มนี้ในการสาธก นอกจากนั้นจะแนะนำให้คุณรู้จักกับเครื่องมือของนักเขียนชิ้นหนึ่ง ซึ่งตัวผมเองใช้จริงอยู่ทุกวัน เครื่องมือที่ว่าคือ Treepad คุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีเดี๋ยวนี้จากhttp://www.treepad.com/download โดยเลือก TreePad Asia (หากเลือกเวอร์ชั่นอื่นอาจมีปัญหาภาษาไทย) ผมใช้ dungtrin.com เป็นทางเลือกในการดาวน์โหลดให้ด้วย คือhttp://dungtrin.com/treepad.zip โดยจะเป็นเวอร์ชั่น 3.0 (ต่อไปอาจมีใหม่กว่านั้น ถ้าอยากได้ต้องไปเอาที่ไซต์แม่นะครับ)

แม้คุณจะไม่ชำนาญคอมพิวเตอร์และไม่อยากใช้ Treepad ผมก็จะอาศัย Treepad ในการสาธิตวิธีคิดโครงสร้างหนังสือเป็นขั้นๆ ซึ่งเมื่อได้ไอเดียชัดเจนแล้ว คุณก็จะนำไปประยุกต์ใช้กับวิธีคิดโครงสร้างเรื่องสั้นเรื่องยาวต่างๆได้เอง

เมื่อติดตั้ง Treepad เสร็จและเรียกโปรแกรมขึ้นมาใช้ ให้คลิกปุ่ม New คุณจะเห็นช่องว่าง (New Node) เกิดขึ้นมารอให้เขียนอะไรลงไป 


ให้คิดว่าหน่วยแรกที่จะใส่ลงไป คือรากความคิดอันเป็นจุดเริ่มต้นแรกสุดของเรื่อง ซึ่งในที่นี้เรื่องของผมก็คือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่านเมื่อเขียนเสร็จก็เคาะ Enter เป็นอันได้กำหนดรากความคิดเริ่มต้นเรียบร้อย คุณคงเห็นความสำคัญของชื่อหนังสือหรือชื่อบทความมากขึ้น ถ้ายังคิดไม่ออกก็ขอให้ตั้งไว้มั่วๆก่อนได้ พอเขียนเสร็จอาจค่อยเกิดไอเดียแวบขึ้นมาค่อยเปลี่ยนใหม่ยังทัน (สำหรับ Treepad เมื่ออยากเปลี่ยนชื่อโหนดใดๆ ให้คลิกที่โหนดนั้นแล้วคลิกเมนู Edit และเลือก Edit Node Name หรือง่ายกว่านั้นคือคลิกชื่อโหนดที่ต้องการสองครั้ง)

เมื่อได้โหนดแม่เป็นชื่อเรื่องแล้ว สิ่งที่ต้องการคือหัวข้อย่อยหรือบทต่างๆของเรื่อง ซึ่งสำหรับซอฟต์แวร์ เช่น Treepad จะมองเป็นโหนดลูก (child node) วิธีสร้างโหนดลูกคือคลิกที่โหนดแม่ แล้วคลิกปุ่ม Add Child Node 


สิ่งแรกที่ควรมีในหนังสือทุกเล่มคือ คำนำก็เขียนทับ (New Node) ลงไปเป็นอันดับแรก 


จากนั้นก็เข้าสู่เนื้อหา อย่างที่ผมกล่าวในบทก่อนว่าในหนังสือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่านประกอบด้วยประเด็นคำถามน่ารู้ที่ทุกคนควรทราบคำตอบก่อนตาย ๓ ข้อ ข้อแรกได้แก่ เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร?’ นั่นควรเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใต้ คำนำซึ่งวิธีสร้างใน Treepad คือคลิกที่โหนด คำนำแล้วคลิกปุ่ม Add Node After

ถึงตรงนี้คุณคงเข้าใจความแตกต่างอย่างชัดเจนนะครับ คำสั่ง Add Child Node จะเป็นการเพิ่มข้อย่อยลงในข้อหลัก ส่วน Add Node After จะเป็นการเพิ่มข้อหลักระดับเดียวกันขึ้นมา เหมือนดังเช่นที่ คำนำกับ เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไรแยกกันอยู่เป็นต่างหาก ไม่มีข้อใดข้อหนึ่งเป็นส่วนย่อยของกันและกัน

เมื่อสร้างโหนด เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร?’ เสร็จ ก็สร้างโหนดที่เหลือ ซึ่งก็คือประเด็นคำตอบอีก ๒ ข้อ ได้แก่ ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?’ กับ ยังอยู่แล้วจะทำอะไรดี?’ นอกจากนั้นอาจทิ้งทวนเสียหน่อยด้วย บทส่งท้ายซึ่งก็สร้างแต่ละโหนดด้วยวิธีการเดิม คือคลิกปุ่ม Add node After ตามลำดับ 


เมื่อได้ข้อหลักเรียงกันครบ นับจาก คำนำไปจนถึง บทส่งท้ายแล้ว ก็เท่ากับผมได้ขอบเขตเนื้อหาของหนังสือที่ชัดเจน และปรากฏเป็นข้อเรื่องให้เห็นตามลำดับเสียด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่มีประโยชน์มากถ้าคุณรู้ว่าจะเขียนแค่ไหน อะไรมาก่อนอะไรมาหลัง ระบบความคิดของคุณจะเริ่มเป็นระเบียบแล้ว 

อย่างเช่นคราวนี้เมื่อผมคิดถึงหัวข้อ เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร?’ ก็จะนึกถึงเหตุและผลทางกรรมวิบากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เช่น ด้วยกรรมแบบใด เป็นบุญหรือเป็นบาป วิญญาณจึงหยั่งลงในครรภ์มนุษย์ได้ เมื่อคิดออกก็คลิกที่โหนด เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร?’ และคลิก Add Child Node 


จากนั้นก็คิดชื่อข้อเรื่องย่อยเป็น เหตุใดจึงเกิดเป็นมนุษย์?’ แล้วเขียนใส่ลงไปใน New Node นั้นเอง

เมื่อใส่เสร็จก็คิดต่อ ซึ่งต้องใช้เวลาคิดอย่างละเอียดนะครับ มันไม่ได้มาจากการนึกๆว่าจะใส่ๆอะไรลงไปดี แต่ต้องหัดตั้งคำถามกับตนเองว่าเราเคยอยากรู้อะไร และได้คำตอบที่น่าเชื่อถืออันใดมาแล้วบ้าง โครงเรื่องที่เกิดขึ้นจากโจทย์ที่คุณและคนอื่นอยากรู้จะน่าสนใจเสมอ

ภายใต้ข้อ เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไรบรรจุอยู่ด้วยคำถามที่ถามๆกันมานานแบบกระจัดกระจาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมอันเป็นที่มาของเพศ กรรมอันเป็นที่มาของความสวยความหล่อ กรรมอันเป็นที่มาของฐานะความเป็นอยู่ และกรรมอันเป็นที่มาของสติปัญญาความสามารถ

อันที่จริงกรรมอันทำให้มาสู่ความเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ยังมีอีกมาก อย่างเช่น กรรมอันเป็นที่มาของเสน่ห์ดึงดูด และกรรมอันเป็นที่มาของสุขภาพดีๆ ฯลฯ แต่ขืนใส่ไปทั้งหมดจะเยอะไป ไม่อาจจบครบถ้วนในหนังสือเล่มเดียวได้ จึงคงไว้เฉพาะเหตุผลหลักๆของการมาสู่ความเป็นเช่นนี้ และแทรกความรู้ปลีกย่อยอื่นๆให้รวมลงได้ด้วยกัน เช่น เรื่องของเสน่ห์ดึงดูดและสุขภาพดีๆ ก็เหมารวมไว้ในกรรมอันเป็นที่มาของความสวยความหล่อได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกันอยู่

ระหว่างใส่ข้อเรื่องที่ควรใส่ลงไปในส่วนของ เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร?’ จะเสร็จหรือยังไม่เสร็จก็อาจเกิดไอเดีย ว่าควรใส่อะไรลงไปในส่วนของ ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?’ กับ ยังอยู่แล้วควรทำอะไรดี?’ คิดออกอันไหนก็เลือกอันนั้นแล้วคลิก Add Child Node กันสดๆ การทำงานกับ Treepad ช่วยให้คุณไม่ต้องทำงานตามลำดับ แต่ได้ผลออกมาเรียงลำดับชัดเจนอย่างนี้เอง 


หากต้องการสลับตำแหน่งข้อเรื่องใดให้ขึ้นบนหรือลงล่าง เพียงคลิกขวาที่ข้อเรื่องนั้นแล้วเลือก Move และเลือก Up เพื่อนำขึ้นไปข้างบน หรือ Down เพื่อนำลงมาข้างล่างได้เสมอ

ซอฟต์แวร์อย่าง Treepad ช่วยให้เห็นว่าคิดอะไรไปแล้วบ้าง โดยผมไม่จำเป็นต้องเขียนใส่กระดาษ นอกจากนั้นมันยังช่วยให้ผมจัดการกับประเด็นต่างๆ ไม่ว่าเพิ่มเข้าหรือตัดออกได้อย่างง่ายดายกว่าที่จะไปทำกันบนกระดาษมากมายนัก ถ้าอยากเพิ่มข้อเรื่องใหม่เข้าไปเหนือข้อเรื่องใด ก็คลิกข้อเรื่องนั้นแล้วคลิกปุ่ม Add Node Be-fore ถ้าอยากเพิ่มข้อเรื่องใหม่เข้าไปใต้ข้อเรื่องใด ก็คลิกข้อเรื่องนั้นแล้วคลิกปุ่ม Add Node After ส่วนถ้าอยากลบข้อเรื่องใดทิ้ง ก็คลิกปุ่ม Delete Node http://dungtrin.com/mag/5/angel7.jpg หรือง่ายกว่านั้นคือกดปุ่ม De-lete บนคีย์บอร์ดก็ได้

หากผมเขียนโครงสร้างหนังสือใส่เศษกระดาษก็อาจได้ผลเท่ากัน แต่แน่นอนว่าผมแตกประเด็นในเศษกระดาษไม่สะดวกเท่า Treepad และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมคงไม่อาจใส่เนื้อหาทั้งหมดของหนังสือลงในกระดาษแผ่นเดียว ในขณะที่ Treepad ทำได้ ตรงนี้คงเห็นข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจน ว่าคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ช่วยให้ชีวิตนักเขียนยุคนี้สบายกว่าชีวิตนักเขียนยุคก่อนเพียงไร

หากสะดวกดาวน์โหลดมาใช้ก็ดีนะครับ เป็นของฟรีที่ช่วยทุ่นแรงคุณได้ทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือทำสาขาอาชีพไหน การคิดอย่างมีโครงสร้างที่สืบมาจากรากอันเดียว จะช่วยให้ระบบความคิดของคุณเป็นระเบียบชัดเจน แตกความคิดหลักออกเป็นกิ่งก้านสาขาได้โดยไม่หลงทาง เขียนเรื่องใดคนอ่านก็จะรู้สึกว่าไหลรื่นไปหมด ต่อให้คุณเขียนเรื่องที่ไม่ค่อยน่าสนใจ สำนวนงั้นๆ อย่างน้อยคุณจะเป็นคนเขียนได้ "รู้เรื่อง" และทำให้คนอ่านไม่นึกเอือมระอาอยากเบือนหน้าหนีเรื่องต่อไปของคุณครับ

-----------------------------------------------------

. วิธีสร้างจุดยืนให้ตัวเอง

บทนี้จะเป็นรอยต่อระหว่างบทที่ผ่านมากับบทที่เหลือ กล่าวคือบทที่ผ่านมาพูดถึงหลักการทั่วไปที่ทำให้คุณเริ่มเดินก้าวแรกๆเข้าสู่โลกของนักเขียน ส่วนบทที่เหลือชี้ว่าจะสร้าง อาณาเขตเฉพาะตัวได้อย่างไรในโลกของนักเขียนที่คุณเพิ่งเข้ามาถึง

เพื่อที่จะมีจุดยืนของตัวเอง คุณต้องเริ่มจากการรู้ว่าตัวเองกำลังยืนอยู่ตรงไหน ไม่ใช่คอยแต่วิ่งไล่จุดยืนของคนอื่น แน่นอนคุณมีสิทธิ์เงยหน้ามองหาอนาคตที่สูงขึ้นเหนือหัว แต่จะทำเช่นนั้นได้ คุณจำเป็นต้องก้มลงมองดูปัจจุบันอันเป็นพื้นให้เท้าเหยียบยืนเสียก่อน

คนเรามักมองแต่อนาคตเหนือหัว หรือไม่ก็มองเลยไปจ้องดูคนอื่นที่ไกลตัว วิธีมองเช่นนี้จะทำให้ไม่รู้จักจุดยืนของตนเอง เห็นแต่จุดยืนของคนอื่น หรือเห็นแต่อากาศว่างเปล่าที่ใช้ยืนไม่ได้ กระทั่งในที่สุดทั้งชีวิตก็จะขาดจุดยืนของตนเองไปจนตาย

หากคุณผ่านการฝึกออกตัวและฝึกร่อนทองมาหลายครั้ง อย่างน้อยที่สุดคุณจะรู้แล้วว่าตัวเองอยากเขียนอะไรบ้าง และสามารถเขียนอะไรได้ดีบ้าง ซึ่งจากตรงนั้น คุณจะบอกตัวเองถูกว่าเท้าของคุณเหยียบยืนอยู่ตรงไหนได้ถนัดที่สุด

แรกๆเรื่องถนัดของคุณอาจไม่เกี่ยวกับธรรมะ จะเป็นศิลปะ ดนตรี การครัว การท่องเที่ยว การเมือง เทคโนโลยี ฯลฯ ก็ช่างเถิด เพราะไม่ว่าคุณถนัดเขียนถึงสิ่งไหน ถ้าสิ่งนั้นยังต้องเกี่ยวข้องกับ โลกความเป็นจริงในทางใดทางหนึ่ง คุณย่อมเขียนถึงสิ่งที่ถนัดมาเชื่อมโยงเข้ากับธรรมะได้อย่างแน่นอน เพราะธรรมะคือความจริงของทุกสิ่ง ทุกสิ่งจึงต้องเข้าหาธรรมะได้เสมอ

ต่อไปนี้คือหลักการเขียนให้เกิดจุดยืนของตัวเอง ถ้าคุณบอกว่าชีวิตตัวเองไม่มีจุดยืน ก็อาจใช้กลวิธีการเขียนดังต่อไปนี้เพื่อหาจุดยืนให้เจอก็ยังได้

๑) อย่าเขียนในสิ่งที่ไม่รู้

พูดง่ายๆคืออย่าคิดเองเออเอง แต่คิดอย่างมีหลักมีฐาน มีเหตุผล มีมรดกทางความรู้รองรับ

ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านั่นแหละครับ ว่าถนัดอะไรก็เขียนถึงสิ่งนั้นก่อน ถ้าจำเป็นต้องเขียนถึงสิ่งที่ไม่รู้ ก็ขอให้พึ่งพาอินเตอร์เน็ต สารานุกรม ผู้เชี่ยวชาญใกล้ตัว หรือใครสักคนที่เชื่อได้ว่ารู้ดีกว่าคุณ อย่าเพาะนิสัยมั่วนิ่ม การนั่งเทียนเขียนเพียงครั้งเดียวอาจกลายเป็นสไตล์การเขียนถาวรของคุณไปทั้งชีวิตได้ เพราะคนเราติดนิสัยมักง่ายได้สะดวกที่สุด

ความจริงคุณคงไม่ประหลาดใจ เมื่อเห็นใครพูดหรือเขียนถึงสิ่งที่เขาแทบไม่รู้อะไรเลย แต่ก็อุตส่าห์อยากแสดงให้ใครๆเห็นว่าเขารู้ และยิ่งเมื่อคุณคลุกคลีกับวงการธรรมะนานขึ้นเท่าใด คุณก็จะยิ่งเห็นสัจธรรมข้อนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คนๆหนึ่งสามารถชูคอทำตาโต อ้าปากกว้าง ขู่ฟ่อด้วยความมั่นใจว่าตนเองรู้ดีในธรรมะข้อต่างๆ และพร้อมทำตัวเป็นผู้พิพากษา ชี้ว่าคนโน้นถูก ตัดสินว่าคนนี้ผิด โดยมีตนเองอยู่เหนือกว่าทั้งคนถูกและคนผิด

ที่จะไม่ถลำเข้าไปเป็นสหายของมนุษย์เผ่าพันธุ์ดังกล่าว คุณต้องเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกด้วยการให้สัญญากับตนเอง ว่าถ้าไม่รู้จะไม่เขียน และจะยิ่งดีถ้าในชีวิตประจำวันของคุณก็ถือคติเดียวกัน คือไม่รู้บอกว่าไม่รู้ เมื่อรู้แล้วค่อยบอกว่ารู้

ความรู้ยังแยกออกเป็นสองประเภท หนึ่งคือจำเขามา สองคือรู้ด้วยตนเอง แม้คุณไม่อาจอ้างอิงได้ทั้งหมดว่าอันไหนจำเขามา อันไหนรู้ด้วยตนเอง อย่างน้อยก็ขอให้ระลึกทุกย่อหน้า ทุกประโยค ว่าคุณ รู้จริงจากทางไหน คุณจะทราบชัดขึ้นเรื่อยๆว่าการเขียนธรรมะทำให้หลงเข้าใจผิดนึกว่ารู้จริงด้วยตนเองไปหมด ต่อเมื่อหมั่นระลึกไว้เรื่อยๆไม่ขาดสาย ว่าอันนั้นรู้เอง อันนี้จำมา ความหยิ่งทะนงผิดๆเพี้ยนๆก็จะลดดีกรีลง หรือหายสูญไปเสียได้

๒) อย่าเขียนทุกสิ่งที่รู้

การเขียนทุกอย่างที่รู้นั้น หาได้ทำให้คนอื่นชื่นชมว่าคุณรู้มากไม่ ผลของการรู้อะไรแล้วพูดหมด อย่างเบามักโดนมองว่าอวดรู้ น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง หรือหนักกว่านั้นคือเป็นพวกปากไม่มีหูรูด แยกไม่ออกว่าสิ่งไหนควรพูดสิ่งไหนควรเก็บไว้

ขอให้ระลึกไว้ว่าคุณจะแสดงจุดยืนออกมาอย่างชัดเจนที่สุดผ่านการเลือกเฟ้น ว่าสิ่งใดดีที่สุดในความรู้สึกของคุณ สิ่งใดสมควรพูดให้ถูกจังหวะมากที่สุดในเวลาหนึ่งๆ ไม่มีใครพูดได้ทั้งหมดเท่าที่รู้ หรือแม้ทำได้ ก็ไม่มีคนฟังตามเก็บรายละเอียดได้หมดอยู่ดี

บางคนประกาศจุดยืนของตนเอง ว่าข้าพเจ้ามีหลักการอย่างนี้ มีอุดมการณ์ที่ต้องบรรลุให้ถึงอย่างนั้น ทว่าพอฟังเขาพูดเข้าจริง กลับหาแก่นสารอะไรไม่เจอ มีแต่เหวี่ยงแหกวาดทั่วไปหมดทั้งคุ้งน้ำ

ต่อเมื่อหัดคิดออกมาจากรากเหมือนอย่างในบทก่อน และค่อยๆแตกแขนงความคิดออกมาจากรากแก้ว อาการเหวี่ยงแหก็จะลดลงจนกระทั่งหายไปในที่สุด

กล่าวได้ว่าการหัดคัดเลือกเอา สิ่งที่รู้สึกว่าดีที่สุดมาเขียน ก็คือการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของคุณ และจุดยืนที่ชัดเจนก็จะกำหนดความเป็นนักเขียนของคุณในระยะยาวต่อไป

๓) อย่าเขียนแค่สิ่งที่เคยรู้

นิสัยเสียของคนเราประการหนึ่งคือพอรู้อะไรดี หรือทำสิ่งใดสำเร็จ ก็มักอยากหยุดพัก ไม่ขวนขวายใคร่หาอะไรใหม่เพิ่มเติมอีกต่อไป กลายเป็นคนย่ำอยู่กับที่ หมดเรี่ยวแรงเดินไปให้ไกลกว่าจุดที่หลงนึกว่า พอได้แล้ว

เมื่อเริ่มต้นด้วยการหัดมีจุดยืนของตนเอง คุณจะรู้สึกว่าอยู่บนพื้นดินที่มั่นคง ไม่ล่องลอยไปกับวิมานในอากาศ แต่ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า จุดยืนไม่ได้หมายถึงจุดหยุดนิ่งกับที่ จุดยืนคือหลักการหรืออุดมการณ์ และจุดยืนที่บัณฑิตสรรเสริญก็คือการก้าวไปข้างหน้า หาความรุ่งเรือง หาความเจริญเติบโต หรือหาความเป็นที่สุดทุกข์

เมื่อรู้เพิ่มได้ไม่สิ้นสุดก็เขียนเพิ่มได้ไม่สิ้นสุด การรู้เพิ่มอาจเกิดจากการอ่านงานของคนอื่น อาจเกิดจากการใคร่ครวญด้วยจินตภาพของตนเอง ตลอดจนอาจเกิดจากการประจักษ์แจ้งด้วยประสบการณ์ตรง ขอเพียงปลูกนิสัยไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ คุณจะมีสิ่งใหม่บนจุดยืนเดิมได้ทุกวัน

คุณไม่มีทางสดชื่นอยู่กับจุดยืนเดิมไปได้ทั้งชีวิต วันหนึ่งไม่คุณก็คนอ่านต้องเบื่อกันไปข้าง ฉะนั้นอย่ารอให้ความเบื่อหน่ายไล่ตามทัน คุณต้องวิ่งหนีมันเรื่อยๆจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ขอให้จำไว้ว่าไม่มีใครมองเห็นจุดยืนของตนเองอย่างแจ่มชัดก่อนลงมือเขียน ทุกคนจะเห็นหลังจากเขียน คุณจำเป็นต้องเขียนอย่างสนุกมือสักระยะหนึ่ง ด้วยหลักการที่ไม่ง่ายไม่ยาก ๓ ข้อในบทนี้ และเมื่อถึงเวลาที่คุณเห็นจุดยืนของตนเองแจ่มชัด ก็จะพบว่าตรงนั้นไม่ใช่แค่จุดยืนในการเขียน แต่เป็นจุดยืนในการมีชีวิตคุณเลยทีเดียว!

-----------------------------------------------------

. วิธีทำความรู้จักตัวเอง
จากบทก่อนเราคุยกันเรื่องการ เขียนอย่างมีจุดยืนมาบทนี้คุยกันต่อเรื่องการ เขียนเพื่อให้รู้จักตัวเองหากคุณเขียนแล้วรู้จักตัวเองดีขึ้น แปลว่าคุณเริ่มเขียนแบบขจัดเมฆหมอกบดบังใจตัวเองเป็น และเมื่อคุณเขียนขจัดเมฆหมอกบดบังใจตัวเองได้ ก็ย่อมเขียนขจัดเมฆหมอกให้ใครอื่นทั้งโลกได้เช่นกัน เพราะผู้คนตกอยู่ภายใต้เมฆหมอกชนิดเดียวกัน โดยเนื้อแท้ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไรเลย
แต่ถ้ากระทั่งตัวคุณเอง คนที่คุณเห็นจะจะอยู่เดี๋ยวนี้ คนที่คุณสามารถรู้เข้าไปกระทั่งความรู้สึกนึกคิดในหัวเดี๋ยวนี้ คุณยังไม่รู้จัก ไม่อาจอธิบายที่มาที่ไปของความรู้สึก กับทั้งไม่อาจแก้ปัญหาทางใจให้คลี่คลายได้สำเร็จ แล้วคุณจะไปรู้จักใคร คุณจะอธิบายหรือแก้ปัญหาให้ใครอื่นที่มีความลึกลับมากมายปิดบังอยู่อย่างไรไหว?
เริ่มต้นบทนี้คือการสันนิษฐาน ว่ามนุษย์ทุกคนมีเมฆหมอกห่อหุ้มตนเอง ปิดบังตนเองจากการรับรู้ของตนเองอยู่ เพราะมนุษย์ทั้งหลายเคยชินที่จะเข้าข้างตนเอง และมองคนอื่นด้วยอคติกันเกือบทั้งสิ้น กล่าวได้ว่าทั้งชีวิตของคนส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อมองมุมเดียว เห็นอยู่มุมเดียว เท่าที่สายตาและความคิดของตนเองบีบให้เห็น
ฉะนั้นทางที่จะรู้จักตนเอง คงไม่ใช่ด้วยการระบายความในใจเหมือนเขียนไดอารี่ ข้อเท็จจริงคือ การเขียนไดอารี่อาจเป็นการส่งเสริมให้คนชอบเข้าข้างตัวเอง ยิ่งห่างไกลจากการทำความรู้จักตนเองเข้าไปใหญ่ แท้ที่จริงแล้ว คุณจะรู้จักตัวเองได้ดีที่สุดจากสายตาของคนอื่น ไม่ใช่จากสายตาของคุณเอง
แต่การนั่งจับเข่าคุย ขอคำปรึกษา ขอคำวิจารณ์จาก คนอื่นนั้น เขาก็อาจมีเวลาไม่มากพอจะเห็นคุณได้ถนัด หรือบางทีเห็นถนัดแต่เกรงว่าวิจารณ์ตรงไปตรงมาขวานผ่าซากแล้วคุณจะช้ำใจ ฉะนั้นทางออกคือใช้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนดีกว่า ถ้ากล้าวิจารณ์ตัวเอง ก็นับว่าได้คนรู้ไส้รู้พุงคุณมากที่สุดมาใช้งาน ไม่มีใครในโลกเหมาะไปกว่านี้อีกแล้ว
คำถามคือ เขียนอย่างไรจะใช้คนที่รู้ไส้รู้พุงคุณดีที่สุด อันได้แก่ตัวคุณเอง ให้มองคุณด้วยสายตาของคนอื่น ต่อไปนี้คือแบบฝึกหัดเพื่อเขียนให้เข้าเป้าเช่นนั้นครับ
๑) หัดเขียนเถียงตัวเอง
ปกติคนเราจะเข้าข้างแต่ตัวเองและพวกของตัวเอง ไม่ค่อยมีโอกาสได้คิดแบบที่ฝ่ายตรงข้ามคิด ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาแรมเดือนแรมปี จึงค่อยมีโอกาส ตกที่นั่งฝ่ายตรงข้ามคือจำเป็นต้องคิด ต้องพูด หรือต้องทำแบบคนที่คุณเคยด่า หรือคนที่คุณเคยไม่ชอบใจ
การรอให้เหตุการณ์พาไปนั้นอาจไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะคุณอาจลืมความรู้สึกนึกคิดหรืออุดมคติแบบเดิมๆไปแล้ว เช่น คุณเคยด่าทอพวกมีอำนาจวาสนา ว่าไม่เห็นหัวคนไร้อำนาจ เอาแต่ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง เอาเปรียบผู้น้อยทุกวิถีทาง คุณนึกเคียดแค้นชิงชัง คุณประณามเขาสารพัด คุณอยากให้คนมีอำนาจทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ แต่ถึงวันหนึ่งเมื่อมือคุณถืออำนาจเยี่ยงนั้นบ้าง จึงค่อยรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร กับทั้งทราบแก่ใจว่า ความเห็นแก่ตัวที่เป็นเงาตามอำนาจวาสนามานั้น ใหญ่โตยากเอาชนะปานไหน ถึงเวลานั้นคุณจะยืนคนละฝั่ง กลายเป็นคนละคนกับพวกที่ชอบด่า ชอบประณามผู้มีอำนาจวาสนาอย่างสิ้นเชิงแล้ว
ฉะนั้นอย่ารอ ต้องเอากันสดๆ คนเราผ่านประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาทั้งนั้น แม้คุณไม่เคยมีอำนาจวาสนาระดับโกงบ้านโกงเมืองได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ต้องเคยมีอำนาจหรืออิทธิพลพอจะเอาเปรียบใครบางคนใกล้ตัวบ้างเป็นแน่
คราวหน้าเมื่อเกิดเรื่องถกเถียงกับใคร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าขัดใจกันนิดหน่อยหรือถึงขั้นหน้าดำหน้าแดงแทบต้องวางมวยกัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงหรืออยู่นอกวง รอให้สงบสติอารมณ์สักพักแล้วเริ่มลงนั่งเขียน เขียนทุกคำเท่าที่นึกได้ของคุณเป็นย่อหน้าแรก และของเขาเป็นอีกย่อหน้าถัดมา แล้วขึ้นย่อหน้าใหม่เป็นของคุณอีกไปเรื่อยๆ โต้ตอบกันตามที่เคยเกิดขึ้นจริงโดยไม่บิดเบือนคำใดๆ
ขอให้เหตุการณ์โต้ตอบหรือโต้เถียงเกิดขึ้นอีกครั้ง ต่างแต่ว่าคราวนี้ขอให้ใจคุณเหมือนเป็นคนนอก ไม่ถือหางเข้าข้างฝ่ายไหนทั้งสิ้น เขียนเหมือนนักประพันธ์ที่ให้ตัวละครสองตัวทะเลาะกัน โดยนักประพันธ์นั้นหาได้รักหรือชังตัวละครใดเลย
ตัวอักษรอาจปลุกจินตนาการ อาจเร้าโทสะของคุณขึ้นมาอีกรอบ นั่นเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อเกิดโทสะ ขอจงระลึกให้ทันว่าขณะนั้นคุณเกิดอาการเข้าข้างตัวเองขึ้นแล้ว ให้ทำเฉยๆไม่รู้ไม่ชี้ บอกตัวเองว่าคุณกำลัง หัดเถียงตัวเองไม่ว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก วิธีเถียงตัวเองคือ เขียนเพิ่มเติมเหตุผลดีๆเท่าที่จะคิดออกให้กับฝ่ายตรงข้าม เขาพูดคำไหนขาดไปก็เสริมให้ เขาพูดคำใดเกินไปก็ตัดออก จนฟังดูเข้าท่า สมเหตุสมผลที่สุดเท่าที่คุณจะเขียนได้
การทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดมุมมองและอารมณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เขียนไปเพียงครู่เดียวคุณจะรู้สึกเข้าใจฝ่ายตรงข้ามราวกับเป็นฝ่ายสนับสนุนเขา และยิ่งเขียนนานขึ้นเท่าใด ใจคุณจะยิ่งซึมซับรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจนราวกับเป็นตัวเขาเสียเอง ณ จุดนั้นคุณจะเห็นตัวเองถนัดในห้วงมโนทวาร ราวกับเห็นด้วยสายตาภายนอก
ย้ำนะครับว่าความผิดความถูกยกไว้ก่อน เอาทิ้งน้ำไปเลย ข้อนี้เราเน้นแค่เถียงตัวเองให้เป็น การเถียงกับตัวเองจะทำให้รู้จักซัก รู้จักคิดในแบบที่ไม่เคยคิด และคุณอาจโดนคาดคั้นในแบบที่ไม่เคยมีใครทำกับคุณได้มาก่อน เนื่องจากรู้ความลับและเบื้องหน้าเบื้องหลังของตนเองดีกว่าใครในโลก
คุณอาจเคยได้ยินมาว่า รู้เขารู้เรา คิดอย่างศัตรูคิด จะรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่การหัดเขียนเถียงตัวเองอาจพาคุณไปได้ไกลกว่าชนะคนอื่น เพราะถ้าเถียงตัวเองดีๆ คุณอาจชนะตัวเอง ซึ่งแค่ทำได้เพียงครั้งเดียว ก็อาจกลายเป็นชนวนให้มองเห็นและเข้าใจตนเองได้อย่างถ่องแท้
หลังจากนั้นคุณจะพบสัจธรรมข้อหนึ่ง คือยิ่งเขียนมากขึ้นเท่าใด กลุ่มอักษรจะยิ่งเป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นตัวคุณเองมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้กำลังเขียนถึงคนอื่นอยู่ก็ตาม
๒) หัดเขียนจาระไนความรู้สึกฝ่ายตรงข้าม
ปกติคนเราจะเห็นแต่ความรู้สึกของตัวเอง ทราบแต่ว่าตัวเองอยากได้อะไร ไม่เคยรับรู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกแบบไหน อยากได้อะไรจากคุณบ้าง
เริ่มต้นขอให้นึกถึงคนที่ เฉยๆกับคุณ ไม่ได้รักไม่ได้ชังคุณ แล้วเขียนข้อความตามที่คุณคุยกับเขาครั้งสุดท้าย เอาเท่าที่นึกออกทั้งฝั่งคุณและฝั่งเขา แบ่งคำพูดของแต่ละฝ่ายเป็นหนึ่งย่อหน้า และระหว่างย่อหน้าขอให้แทรกเอาคำบรรยายความรู้สึกของอีกฝ่ายที่มีต่อคุณไว้ด้วย ไม่ต้องสนใจว่าผิดหรือถูก คุณรู้ความรู้สึกของเขาตรงจริงหรือคลาดเคลื่อน เพราะ ณ ที่นี้เราต้องการแค่ฝึกเขียนจาระไนความรู้สึกของใครอีกคนที่ไม่ใช่คุณ
ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจเขียนเหมือนฉากหนึ่งในนิยาย นับตั้งแต่คุณก้าวเดินเข้ามา เขาเห็นคุณท่าทางเป็นอย่างไร รู้สึกว่าคุณซอมซ่อหรือขี้เต๊ะ รู้สึกอยากเปิดปากคุยกับคุณหรืออยากไล่คุณไปไกลๆในทันที ฯลฯ
จากนั้นเมื่อเริ่มทักทายประโยคแรก เขารู้สึกอย่างไรจึงตอบคุณอย่างที่เขาตอบ เขาร่าเริงหรือเฉยชา เขาเต็มใจหรือฝืนใจ นึกถึงภาพที่เคยเกิดขึ้นให้ชัด ภาพที่ชัดจะขุดเอารายละเอียดทางอารมณ์ฝั่งของเขามาบอกคุณเอง คุณจะพบว่าบางทีการนึกทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว อาจให้ภาพและอารมณ์ของฝ่ายตรงข้ามชัดเจนกว่าขณะกำลังเกิดขึ้นเสียอีก
เมื่อจบบทฝึกแรกและคุณยังสนุกอยู่ ขอให้เขียนต่อไปเลย เลือกเอาคนที่หมั่นไส้คุณ คนที่คุณคิดว่าเขาริษยาคุณ หรือกระทั่งคนที่คุณมั่นใจว่าเขาเกลียดคุณ ยิ่งบรรยายความรู้สึกของเขาได้ละเอียดลออเพียงใด คุณจะยิ่งเข้าใกล้สัมผัสทางอารมณ์ของมนุษย์อื่นๆมากขึ้นเท่านั้น
แม้คุณพบปะพูดคุยกับใครในโลกความจริงครั้งหน้า ก็เหมือนความสังเกตสังกาของคุณเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เอาแต่ดูอารมณ์ตัวเอง แต่รู้จักดูอารมณ์คนอื่นด้วย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ไม่ว่าจะแผ่วหรือแรง การเห็นอารมณ์ของคนอื่นได้ตามจริง จะทำให้คุณรู้ชัดว่า การเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างแท้จริงนั้นทำกันอย่างไร
ประเด็นคือเมื่อเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็น งานเขียนของคุณจะหลุดจากกรอบของความรู้สึกฝั่งของตนเองได้ อาจจะชั่วขณะหรืออาจจะถาวร ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตนเองให้ต่อเนื่อง
๓) หัดเขียนเพ่งโทษตนเอง
ปกติคนเราจะโทษคนอื่น ไม่อยากโทษตัวเอง แม้ส่วนลึกจะรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองผิด ก็ยังอยากหาแพะรับบาปจนได้ พอพอกนิสัยเพ่งโทษมากเข้า ไม่เอาความผิดเข้าตัวเลย อาการก็อาจหนักเข้าขั้นปิดกั้นไม่รับรู้ความจริงใดๆ คนว่าคุณผิดนั่นแหละผิด คือผิดที่มาว่าคุณผิด ไม่ว่าความผิดนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม
ขอให้นึกถึงเรื่องที่คุณกำลังเป็นคดีหรือเกิดกรณีร้ายกับใครสักคนหรือสักกลุ่ม ไม่ว่าเป็นการทะเลาะเล็กหรือทะเลาะใหญ่ ให้เอาเรื่องนั้นเป็นตัวตั้ง ลำดับให้ถูกว่าเหตุการณ์ตั้งต้นจากใครก่อน จากนั้นจาระไนให้ชัดว่าใครเป็นผู้เสียประโยชน์ และคุณมีส่วนทำให้เกิดการเสียประโยชน์นั้นอย่างไร
ไม่ต้องเว้นนะครับ ถ้าคุณเองเป็นผู้เสียประโยชน์ และไม่ต้องเว้นเช่นกัน แม้คุณมีส่วนแค่ ปรากฏตัวอยู่ในที่เกิดเหตุให้เสียประโยชน์
เรื่องยากที่สุดในโลกอาจเป็นการถอดเกราะบังตาไม่ให้เห็นความผิดของตัวเอง แต่เมื่อผ่านแบบฝึกหัดสองข้อแรกมาได้ ถึงข้อนี้คุณจะรู้สึกว่าง่ายลงมาก และเมื่อผ่านข้อนี้ได้ ก็เหมือนจะไม่มีเกราะใดในโลกที่บังตาคุณได้อีก
เมื่อเก่งกาจขนาดเพ่งโทษตนเองยังทำได้ คุณจะเห็นคนอื่นตามที่เขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่เพราะอยากหรือไม่อยากให้เขาเป็น
เมื่อผ่านแบบฝึกหัดทั้งสามข้อมาได้ ก็ได้ชื่อว่าคุณเริ่มรู้จักตัวเองผ่านสายตาของคนอื่น และเมื่อรู้จักตัวเองผ่านสายตาของคนอื่น สิ่งที่เป็นผลอย่างแน่นอนคือ ใจคุณต้องกว้างขึ้นกว่าเดิมมาก
เมื่อเป็นคนใจกว้าง แล้วกลับมาอ่านหนังสือธรรมะต่างๆดู คุณจะเห็นความจริงประการหนึ่งคือ ธรรมะของคนใจแคบไม่มีทางน่าสนใจ
แก่นสารของการมีชีวิตอยู่ที่จิต ถ้าไม่มีกิเลสบดบังจิตอยู่เลย จิตจะสว่างกระจ่างแจ้งดุจดวงจันทร์ไร้เมฆหมอก คนเราจะเริ่มฉลาดจริงก็ตอนเลิกเข้าข้างตัวเองและมีใจเปิดกว้างรับรู้ความจริง คุณจะเขียนธรรมะได้น่าสนใจก็ต่อเมื่อใจคุณเปิดกว้างอย่างปราศจากอคติ ไม่รักใคร ไม่เกลียดใคร กับทั้งไม่หลงนึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางธรรมะ เป็นผู้พิพากษาธรรมะ
ก่อนจบบทขอทำความเข้าใจทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งนะครับ บางคนเป็นโรคชนิดหนึ่ง แกล้งด่าตัวเอง คนอื่นจะได้ไม่ต้องมาต่อว่าเสริมเติมอะไรอีก เพราะตนเองด่าไว้หมดแล้ว โปรดทราบว่าโรคชนิดนี้ไม่ได้ช่วยให้คุณรู้จักตัวเองดีขึ้น การทำความรู้จักกับตัวเองไม่ใช่การหาเรื่องด่าตัวเอง คุณต้องเขียนทุกคำให้สมเหตุสมผล เมื่อเขียนอย่างสมเหตุสมผล จิตใจคุณจะรู้สึกได้ถึงความเป็นกลางในตัวเอง และเกิดความเห็นกระจ่างราวกับรักษาสายตาจากโรคตาสั้นตายาว กลับคืนเป็นปกติ มองเห็นโลกแจ่มชัดปราศจากหมอกมัวใดๆครับ

-----------------------------------------------------

. วิธีใช้ความฝันให้เป็นประโยชน์

หลังจากทำความรู้จักตัวเองแบบอ้อมๆในบทก่อน บทนี้เราจะทำความรู้จักกับตัวเองตรงๆ และเป็นอะไรที่ตรงจนคุณนึกไม่ถึง กล่าวคือคุณจะส่องดูตัวเองขณะที่กำลังซื่อที่สุด มีกำลังปกป้องตนเองน้อยที่สุด เปิดเผยความรู้สึกชัดเด่นที่สุด
ใช่แล้วครับ เราจะก้าวข้ามพรมแดนของการตื่นเข้าไปสู่เขตความฝัน ซึ่งผู้คนค่อนโลกเห็นเป็นเพียงสายลมและแสงแดดไร้แก่นสาร หลังจากทำแบบฝึกหัดในบทนี้สักสองสามครั้ง คุณจะพบว่าสามารถเข้าใจและอธิบายความรู้สึกของตนเองได้ชัดเจนขึ้น ถ้าสามารถอธิบายความรู้สึกของตนเองได้ชัดเจนขึ้น คุณก็สามารถอธิบายความรู้สึกของคนทั้งโลกได้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน
ขณะตื่นกับขณะฝันมีข้อแตกต่างหลักๆและปลีกย่อยมากมาย แต่เฉพาะที่เราจะเอาประโยชน์กันตรงนี้ ก็ขอเปรียบเทียบเพียงข้อหลักๆ ได้แก่
๑) ขณะตื่น จิตของคุณผูกอยู่กับประสาทหยาบ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ฉะนั้นเพียงมีอะไรผ่านมาล่อตาล่อหูหน่อยเดียว ใจคุณก็หันไปสนใจทันทีแล้ว
ส่วนขณะฝันนั้น หากหลับลึกจิตจะตัดความเชื่อมโยงกับประสาทหยาบไปหมด ต้องเกิดเสียงโครมครามจริงๆถึงจะได้ยินและตื่นขึ้น แต่โดยทั่วไปคนจะหลับไม่สนิทนัก ดังนั้นจิตจึงผูกกับประสาทหยาบแบบครึ่งๆกลางๆ แค่ได้ยินเสียงอะไรนิดหน่อย หรือเพียงพลิกตัวแก้เมื่อย ก็อาจรู้สึกตื่นขึ้นแล้ว
๒) ขณะตื่น จิตของคุณเลือกได้ว่าจะผูกอยู่กับอวัยวะชิ้นไหน ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย คุณจะรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าเป็นตัวคุณจริงๆก็เมื่อมีกำลังสติมากพอจะเลือกหรือตัดสินใจสนใจอะไรได้ แม้เหม่อลอยบ้างก็ตั้งสติใหม่ไม่ยาก
ส่วนขณะฝันนั้น คุณจะไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกน้อย นิมิตภาพและเสียงตลอดจนสัมผัสต่างๆในฝันจะดึงดูดให้ใจคุณเกาะติดกับนิมิตนั้นๆ โดยไม่มีการเว้นพัก หากจิตของคุณซัดส่ายไปทางอื่น ก็หมายถึงนิมิตฝันจะเปลี่ยนแปรไปทันที น้อยมากที่สามารถตั้งสติตัดสินใจกลับมาจดจ่อกับฉากเดิมๆได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง
๓) ขณะตื่น คุณอาจไม่ทราบความรู้สึกของตนเองในแต่ละขณะชัดนัก เพราะเหตุที่จิตของคุณเลือกได้อย่างเสรีเกินไป ว่าจะผูกอยู่กับประสาทส่วนใด หรือจะปล่อยเหมือนว่าวขาดลอยตามลมไปชั่วคราวก็ได้ เช่นยังไม่ทันเสพความรู้สึกที่ได้รับจากการฟังเสียงเพลงสักเท่าไร ใจก็ฟุ้งซ่านเรื่องแฟนเสียแล้ว เว้นแต่เพลงที่คุณชอบ หรือวรรคที่คุณโปรดในเพลงหนึ่งๆ ถึงจะดึงดูดใจให้ติดหนับชั่วขณะ ขอให้ตรงนี้เป็นข้อสังเกตสำคัญ ชีวิตประจำวันของพวกเราผ่านไปโดยไม่ค่อยมีเรื่องน่าสนใจพอจะดึงดูดจิตให้จดจ่อ จิตจึงให้อิสระกับตนเองโดยฟุ้งซ่านถึงสิ่งที่รู้สึกว่าน่าสนใจ หรือไม่ก็เหม่อหายไป กลายเป็นสภาพหดหู่ ไม่รู้ไม่ชี้กับสิ่งใดเลย
ส่วนขณะฝันนั้น คุณบอกตัวเองได้ถนัดว่ากำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ เพราะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเสพอารมณ์นั้นๆเต็มที่ จิตเลือกไม่ค่อยได้ว่าจะเปลี่ยนไปเสพอารมณ์ใดอื่น หลายขณะในฝันคือการเลือกเรื่องที่คุณสนใจมาปรุงแต่งเป็นจริงเป็นจัง บางสิ่งคุณเคยเห็นแล้วและถูกนำมาฉายซ้ำ แต่บางสิ่งคุณยังไม่เคยเห็น หรืออาจไม่มีสิทธิ์เกิดขึ้นเลยในความเป็นจริง ดังนั้นในฝันจึงเต็มไปด้วยเรื่องน่าสนใจ
เมื่อฝันเต็มไปด้วยเรื่องน่าสนใจ ถ้าตื่นขึ้นแล้วลืมหมดก็แปลว่าคุณโยนทิ้งโยนขว้างวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้เขียนไปทุกคืน และในทางตรงข้าม ขอเพียงจดจำความฝันได้ไม่ลืม คุณก็อาจนำมาผสมกับความคิดยามตื่น เพื่อสร้างงานเขียนที่น่าสนใจได้ไม่รู้จบ
คำถามคือทำอย่างไรจะจดจำฝันได้? คำตอบคือให้ความสำคัญกับการระลึกถึงฝัน เพราะตัวการที่แท้จริงที่ทำให้ลืมฝัน ก็คือความไม่ใส่ใจนั่นเอง
ปกติพวกเราไม่ค่อยให้ค่ากับความฝันสักเท่าไร ยิ่งอายุมากขึ้นความสามารถระลึกก็ยิ่งน้อยลง ชั่วเสี้ยววินาทีที่ต่อกันระหว่างจุดจบความฝันกับจุดเริ่มตื่นนอน คนส่วนใหญ่ก็ลืมไปเสียแล้วว่าฝันอะไร คุณสั่งสมความเคยชินที่จะไม่แคร์ ปล่อยผ่านเลยไป น้อยคนสังเกตเห็นโทษในระยะยาวของการลืมความฝัน นั่นคือประสิทธิภาพในการระลึกทบทวนความจำจะยิ่งย่อหย่อนลงเรื่อยๆ
พูดให้ง่ายครับ ที่คนส่วนใหญ่ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งขี้หลงขี้ลืม สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ฝึกปะติดปะต่อชีวิตช่วงหลับกับช่วงตื่นให้ดี สติจึงเสียความคมไปทีละน้อยทุกเช้า ในทางกลับกันหากอยากจดจำเรื่องราวได้มากๆ ก็ต้องฝึกสมองกันทุกครั้งที่ตื่นนอน ซึ่งผมขอให้แนวทางง่ายๆที่ใครก็ทำได้ตามลำดับจากง่ายไปหายาก จะอาศัยเครื่องมือเป็นกระดาษปากกา โปรแกรมบันทึกเสียงในโทรศัพท์มือถือ หรืออื่นๆก็ตามแต่จะสะดวกและถนัด คุณอาจฝึกทีละข้อหรือหลายข้อพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการระลึกของแต่ละคนในแต่ละวันนะครับ
๑) ตัดสินด้วยคำสั้นๆ ว่าฝันที่เพิ่งผ่านมาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ คุณไม่จำเป็นต้องจำได้ว่ารายละเอียดความฝันเป็นอย่างไร ขอให้บอกถูกก็แล้วกันว่ารู้สึกดีหรือรู้สึกแย่ จากนั้นขอให้บรรยายรายละเอียดของความรู้สึก ว่าสุขนั้นสุขอย่างไร ทุกข์นั้นทุกข์อย่างไร เช่นสุขแบบสดชื่น เหมือนเพิ่งได้รับรางวัลที่น่าดีใจ หรืออย่างเช่นทุกข์แบบหมองๆ ไม่ถึงกับอัดอั้นย่ำแย่ แต่ก็ทำให้อยากแช่อยู่กับที่นิ่งๆ ซึ่งขณะสาธยายความรู้สึกอยู่นั่นเอง ความจำเกี่ยวกับฝันก็อาจทยอยผุดขึ้นมาให้ระลึกได้ทีละฉากสองฉาก คุณอาจได้ทราบกลไกการทำงานของจิตจากข้อนี้ว่า ความทรงจำเกิดจากความรู้สึก เมื่อจำความรู้สึกได้ ก็จะค่อยๆคืบคลานเข้าไปสู่รายละเอียดของความทรงจำได้เอง
๒) ตั้งชื่อให้ความฝันด้วยคำสั้นๆ เช่น ถ้าฝันว่าหาทางกลับไม่เจอ หรือเดินทางอ้อมไปอ้อมมาวกวน หรือเห็นตัวเองอยู่ในรถมองไปข้างหน้าโดยไม่ทราบจุดหมาย ก็อาจได้ข้อสรุปมาตั้งชื่อให้ความฝันว่า หลงทางหรือถ้าฝันว่าหันไปทางไหนเจอแต่คนหัวเราะ ยิ้มง่าย และพูดคุยอย่างเป็นกันเองไม่รู้หน่าย ก็อาจได้ข้อสรุปมาตั้งชื่อให้ความฝันว่า งานรื่นเริง’ คุณจะพบว่าเพียงตั้งชื่อให้ความฝันได้ถูก ก็จะเกิดการเห็นภาพรวมของความฝันในทันที แล้วรายละเอียดความฝันก็อาจไหลมาเทมาตามกัน และยิ่งถ้าคุณขยันพอ บันทึกไว้เป็นไดอารี่หน้าละฝัน ก็อาจส่องให้คุณเห็นอย่างแจ่มแจ้งทีเดียว ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตตนเองในแต่ละช่วง
๓) พูดเลียนแบบคำพูดของตัวเองในฝัน ผมหมายถึงพูดออกปากเลยนะครับ เริ่มจากฝันที่คุณระลึกได้ว่าตัวเองพูดอะไรไว้สั้นๆ เอาคำไหนตอนใดก็ได้ คุณจะพบว่าตัวตนในฝันกับตัวตนยามตื่นแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ก็จากการที่คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับตนเองยามฝัน ยิ่งรู้สึกเป็นคนละคนมากขึ้นเท่าไร ก็แปลว่าในคุณมีความขัดแย้งมากขึ้นเท่านั้น เช่นเหตุการณ์ในฝันเป็นเรื่องน่าโมโหและคุณด่าสาดทันที ตื่นขึ้นมาลองด่าแบบนั้นแล้วถามตัวเองว่าเกินเหตุไปหรือเปล่า? ถ้าเป็นเรื่องจริงคุณจะยับยั้งชั่งใจหรือตัดสินใจด่าด้วยคำเดิม? จากนั้นค่อยเขียนสรุปเป็นบันทึก ว่าในฝันคุณเป็นตัวไหน ตื่นแล้วคุณยังเป็นตัวเดิมหรือต่างไปเป็นคนละคน ทำเช่นนี้ไม่แต่จะรู้จักตัวเองดีขึ้น แต่คุณจะทราบด้วยว่าตัวตนที่ยังดิบอยู่ กับตัวตนที่สุกแล้วของคุณขัดแย้งหรือใกล้เคียงกันแค่ไหน
เมื่อฝึกทั้งสามข้อได้สักอาทิตย์หนึ่ง คุณน่าจะเริ่มจาระไนรายละเอียดได้มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งจาระไนรายละเอียดได้มากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งเห็นพัฒนาการในการเขียนเกี่ยวกับนามธรรมได้มากขึ้นเท่านั้น
ดังที่กล่าวแล้วว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะฝันมักแจ่มชัดกว่าขณะตื่น เพราะจิตถูกนิมิตดูดติดไม่ไปไหน เป็นอารมณ์เดียว ไม่เปลี่ยนโฟกัสบ่อย จึงง่ายที่สุดแล้วที่จะรู้จักความรู้สึกของเดี่ยวๆในแต่ละขณะ หากคุณบรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ ก็คงยากที่จะบรรยายความรู้สึกขณะตื่นระหว่างวันให้ดี
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเห็นภูเขาสักลูกในฝัน คุณจะไม่หยุดแค่รู้ว่าภูเขารูปทรงสัณฐานอย่างไร แต่จะอ่านออกด้วย ว่าภูเขาลูกนั้นทำให้คุณรู้สึกอย่างไร เป็นเป้าหมายน่าท้าทาย หรือเป็นสัญลักษณ์บอกความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ทุกนิมิตจะให้ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ความฝันเต็มไปด้วยรูปสัญลักษณ์อธิบายยาก ถ้าอธิบายได้ก็แปลว่าอีกหน่อยจะต้องเขียนเก่งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะโลกความจริงอธิบายง่ายกว่าโลกความฝันมาก
นอกจากนั้น คุณน่าจะมีความทรงจำที่คมชัดขึ้น ระลึกถึงสิ่งที่ผ่านมาได้ง่ายขึ้น ตลอดจนมีพลังในการสังเกตและจดจำรายละเอียดต่างๆในชีวิตประจำวันสูงขึ้น คุณสมบัติเกี่ยวกับการระลึกถึงอารมณ์ที่เป็นอดีตไปแล้วเหล่านี้ จะมีบทบาทสำคัญกับพัฒนาการทางการเขียนของคุณมากมายมหาศาล
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อจะเขียนเกี่ยวกับเหตุผลทางอารมณ์ ความฝันสอนให้พวกเรารู้จักการยอมรับความรู้สึกแบบทื่อๆ ตรงไปตรงมา รักบอกว่ารัก เกลียดบอกว่าเกลียด อยากบอกว่าอยาก เบื่อบอกว่าเบื่อ รากของความรู้สึกเป็นอย่างไรก็เห็นชัดไปตามนั้น ไม่ต้องสร้างเหตุผลซับซ้อนมาบดบังความรู้สึกที่แท้จริงเหมือนอย่างที่จำเป็นต้องหลอกคนอื่นและหลอกตัวเองยามตื่น
และเมื่อคุณบอกถูกว่ารากความรู้สึกแท้ๆเป็นเช่นไร คุณก็จะค่อยๆเรียนรู้ที่จะอธิบายที่มาที่ไปของความรู้สึกนั้นๆตามจริง คนเราถ้าตั้งต้นขึ้นมาจับความรู้สึกแท้จริงของตนเองถูก เมื่อกล่าวถึงเหตุผลแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความรู้สึกนั้นๆ จะมากหรือน้อย จะซับซ้อนหรือเรียบง่าย ก็ย่อมถูกต้องตรงจริงหมดตามไปด้วย
ลองคิดดู ถ้าคุณรู้สึกแข็งๆ ทั้งรู้ว่าส่วนลึกชอบคนๆหนึ่งอยู่ แต่ทิฐิมานะกดทับไว้ไม่ยอมให้ใจรับ คุณก็จะบอกว่าเกลียดคนๆนั้น เสร็จแล้วเหตุผลแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเกลียด ก็จะแฉลบไถลห่างไกลจากความจริง หรือกระทั่งไม่มีมูลความจริงเลยแม้แต่น้อย
หลังจากใช้ประโยชน์จากความฝัน หันมาเข้าใจความจริงเกี่ยวกับตนเองนานขึ้น คุณอาจกลายเป็นนักสังเกต เช่นพบความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตยามตื่นกับชีวิตยามหลับ เห็นว่าฉากฝันที่ถูกนำมาให้คุณเสพนั้น ถ้ามองให้ง่ายสุดก็คือเงาสะท้อนของชีวิตคุณในช่วงหนึ่งๆ จิตทำตัวเป็นกระจกให้ตัวเองเห็นว่าชีวิตโดยรวม กำลังอยู่ในเขตกุศลอันสว่างไสว หรือกำลังอยู่ในเขตอกุศลอันมืดมน
สำหรับคนส่วนใหญ่นั้น ฝันมักครึ่งๆกลางๆ คือไม่สว่างใสไปทั้งหมด ทว่าก็ไม่มืดทึบเสียทีเดียว นั่นก็สะท้อนง่ายๆว่าคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตครึ่งมืดครึ่งสว่างอยู่
ถ้าเวลาระหว่างวันของคุณหมดไปกับความฟุ้งซ่านเสียมาก ฝันอาจสะท้อนเป็นนิมิตวุ่นวายวกวน น่ารำคาญใจ ไม่มีอะไรชัดเจน ผ่านมาผ่านไปปุบปับหาต้นหาปลายไม่เจอ เหตุการณ์ทั้งหลายฟ้องเลยว่าสภาพจิตที่เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านนั้น ช่างไม่น่าพิสมัยสักนิด
ถ้าเวลาระหว่างวันของคุณหมดไปกับการเพ่งโทษผู้อื่น หรือคิดประทุษร้ายผู้อื่นทางกายและวาจา ฝันอาจสะท้อนนิมิตความรุนแรงนานัปประการ คุณอาจเห็นตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่รังแกคนอื่น หรืออาจเห็นตัวเองเป็นผู้น้อยที่ถูกคนอื่นรังแก ความพอใจที่เกิดขึ้นย่อมสลับไปสลับมา เปลี่ยนขั้วไปเรื่อย
แต่ถ้าเวลาระหว่างวันของคุณถูกใช้ไปในการทำงานที่เป็นระเบียบ มีเป้าหมายชัดเจน และสามารถลุล่วงได้ด้วยสติเยี่ยงคนรู้คิด ฝันอาจสะท้อนเป็นนิมิตเรื่องสนุกสนาน เห็นสีสันและได้ยินส่ำเสียงชัดเจน แม้นิมิตเหตุการณ์ธรรมดาก็ชวนบันเทิงเริงใจ มีเหตุผลต้นปลาย เหล่านั้นบอกอยู่ในตัวเองว่าสภาพจิตที่เต็มไปด้วยสติรู้คิดนั้น น่าพิสมัยเพียงใด
และถ้าเวลาระหว่างวันของคุณถูกใช้ไปทำประโยชน์ให้สังคม มีพอแล้ว ไม่ขาดแล้ว ก็เอาแต่ครุ่นคิดว่าจะเผื่อแผ่กับคนอื่นอย่างไรดี ฝันอาจสะท้อนนิมิตสว่างสวยประการต่างๆ คุณอาจเห็นตัวเองยิ้มชื่น เห็นฉากงดงามกว้างขวาง เห็นผู้คนรูปร่างหน้าตาดีที่แย้มยิ้มไปด้วยกัน มีแต่ความรู้สึกปรีดาที่ไม่กลับไม่เปลี่ยน
ถึงตรงนี้คุณจะเข้าใจ เหตุผลทางจิตมากขึ้นกว่าเดิม เข้าใจเรื่องบาปบุญ เข้าใจเรื่องกุศลกับอกุศล ตั้งต้นกันที่จิตคิด แต่ขณะเดียวกันก็อาศัยองค์ประกอบแวดล้อมสารพันมาทำให้คิดแรงหรือคิดเบา
ผมขอยกตัวอย่างที่ตนเองได้ใช้ประโยชน์จากความฝันมาแล้ว คืนหนึ่งผมฝันเห็นผู้หญิงหน้าตาดี แต่อยู่ดีไม่ว่าดี ไม่มีเหตุอันควรให้ต้องพูดจาหยาบคายเหลวไหล ก็พล่ามด่าทอลมแล้งไปเรื่อย ในฝันผมเห็นถนัดว่าเมื่อพูดหยาบแต่ละคำ จิตของเธอก็คล้ายถูกห่อหุ้มด้วยหมอกดำที่ก่อตัวหนาทึบขึ้นทุกที รู้สึกเสียดายแทนที่เธอไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังสร้างโดมมืดขึ้นครอบชีวิตตนเอง ทั้งที่เงียบเฉยอยู่ก็ปลอดโปร่งดีอยู่แล้ว
พอผมตื่นขึ้นมาและคิดทบทวนนิดหนึ่ง ก็เห็นว่านิมิตฝันตรงกันกับโลกความจริงประการหนึ่ง คือจิตอยู่ดีๆ คนเราก็มักทำให้เสียหายด้วยวิธีคิด วิธีพูด และวิธีกระทำต่างๆนานา จึงเกิดไอเดียเขียนกลอนเปล่าสำหรับคอลัมน์ คิดจากความว่างในเนชั่นสุดสัปดาห์ ตั้งชื่อกลอนเปล่าที่ได้มาจากฝันนี้ว่า อยู่ที่จิตและเรียบเรียงเขียนเสร็จภายในชั่วโมงเดียว
ผมขอยกมาให้ดูทั้งหมด เพื่อที่คุณจะได้เห็นว่าผมหยิบจับความฝันมาใช้ประโยชน์อย่างไร ตรงไหน
จิตอยู่ของเขาดีดี
คนเราก็ไปคิดแย่แย่
พลอยทำให้จิตย่ำแย่ไปด้วย
เมื่อจิตไม่อยู่อย่างดี
เอาแต่อยู่อย่างแย่
ก็เป็นแต่ก่อความคิดแย่แย่ออกมา

จิตอยู่ของเขาดีดี
คนเราก็หมั่นพูดหยาบคาย
พลอยทำให้จิตหยาบกระด้างไปด้วย
เมื่อจิตไม่อยู่อย่างดี
เอาแต่อยู่อย่างหยาบ
ก็เป็นแต่ก่อความคิดหยาบหยาบออกมา

จิตอยู่ของเขาดีดี
คนเราก็ชอบทำเรื่องร้ายร้าย
พลอยทำให้จิตร้อนร้ายไปด้วย
เมื่อจิตไม่อยู่อย่างดี
เอาแต่อยู่อย่างร้าย
ก็เป็นแต่ก่อเรื่องร้ายร้ายออกมา

จิตไม่ใช่คน
คนเราไม่ใช่จิต
คนเราเป็นเพียงภพหนึ่ง
จิตเพียงเข้ามาเสวยภพชั่วคราว
ชั่ววินาทีหนึ่ง
ชั่วเดือนหนึ่ง
ชั่วปีหนึ่ง
ชั่วชีวิตหนึ่ง
หาได้มีภพของความเป็นคนเราตลอดไป
กายคนเราเกิดขึ้นเมื่อไร
ภพของความเป็นคนเราก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
กายคนเราแตกดับเมื่อไร
ภพของความเป็นคนเราก็แตกดับเมื่อนั้น

จิตเป็นองค์แรกแห่งภพ
เมื่อคิดอย่างมนุษย์
ก็สมควรเสวยภพมนุษย์
เมื่อคิดเยี่ยงสัตว์
ก็สมควรเสวยภพสัตว์
ง่ายง่ายแค่นี้

เมื่อเสวยภพมนุษย์
แต่กลับลำกระทำตนเยี่ยงสัตว์
จิตก็อยากไปเป็นสหายกับสัตว์
ไม่มีอะไรซับซ้อน

เมื่อเสวยภพสัตว์
แต่กลับลำกระทำตนดั่งมนุษย์
จิตก็อยากไปเป็นสหายกับมนุษย์
นับว่าธรรมดา

จิตไม่ได้มีหน้าตา
แต่หน้าตาเกิดขึ้นจากจิต
จิตเป็นอย่างไร
หน้าตาก็เป็นอย่างนั้น

ต่อเมื่อจิตหัดรู้เข้าข้างใน
เห็นความไม่มีหน้าตาของตน
เห็นแต่ความเป็นกุศลสว่างโล่ง
แล้วเห็นอกุศลมืดทึบปรากฏแทน
เกิดขึ้นโดยความเป็นอย่างหนึ่ง
แล้วดับลงสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ตามแต่จะคิดพูดทำไปอย่างไร
เมื่อนั้นย่อมคิดได้
หายอยากที่จะพูดหยาบ
ทำบาปแล้วไม่นึกชอบ
เห็นรอบแล้วรู้สึกใหม่
ไม่มีสิ่งใดคงทน
ไม่มีตัวตนให้ยึดถือ
ทั่วทั้งโลกคือมายา
หาเหตุให้จิตคิด
ประดิษฐ์คำให้ปากพูด
มีเรื่องให้ลงมือ
ยื้อจิตให้ติดวน
จึงควรดิ้นรนหาทางออก
สำรอกกิเลสทิ้ง

เมื่อเห็นจิตจนวางเฉย
รู้แล้วว่าจิตไม่เคยเป็นใคร
และไม่มีสิ่งใดน่าพิสมัย
จิตก็รู้อยู่กับจิต
จิตก็รู้ว่าตัวเองรู้
รู้ว่าไม่มีผู้ใดอยู่ในจิต

จิตอยู่ดีดี
ไม่มีอะไรเสียหาย
ไม่มีผู้ใดเกิดขึ้น
ไม่มีผู้ใดดับลง
คงไว้แต่ความเห็น
ว่าไม่เป็นไรเลย
ไม่ต้องเป็นอะไรเลย


เมื่อเอาตัวเข้าไปรู้ เข้าไปดูความฝัน อันเป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณเองที่ถูกละเลย คุณจะเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นวันต่อวัน เช่นขณะกำลังเขียน จิตคุณจะเหมือนตกอยู่ในห้วงฝัน ไม่รับกันกับความจริงภายนอก ถ้าจินตภาพของคุณล้มลุกคลุกคลาน ข้อเขียนของคุณก็จะคล้ายฝันที่วกวน แต่ถ้าเห็นทุกสิ่งที่จะเขียนชัดเจนในหัว ข้อเขียนของคุณจะเหมือนถ้อยคำจากปากของคนที่กำลังตื่นเต็ม มีสติพรักพร้อม เข้าใจเหตุผลต้นปลาย ที่มาที่ไปอย่างแจ่มชัด
ในแง่ของธรรมะ พระพุทธเจ้าตรัสว่ากามเหมือนความฝัน เมื่อคุณรู้จักความฝันอย่างลึกซึ้ง เห็นสาระของความฝันมีแค่ฉากหลอกให้ดิ้นรนทะยานอยากไปไขว่คว้า เป็นไปเพื่อความติดหลงอยู่กับความไม่รู้ตัวว่ากำลังฝัน นึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นจริงเป็นจังไปหมด คุณก็จะเขียนธรรมะอย่างมีจุดหมายปลายทาง ว่าเพื่อทำให้ตนเองและคนอ่านตื่นขึ้นเสียที
ข้อเขียนของคุณอาจเริ่มต้นจากความรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ว่ากำลังตกอยู่ในห้วงฝัน แม้กำลังอ่านบรรทัดนี้อยู่เดี๋ยวนี้ หากรู้ได้ชัดว่าตัวคุณเป็นเพียงห้วงหนึ่งของการมีจิต มีกาย มีสิ่งแวดล้อม ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกขึ้นเป็นขณะๆ ไม่ต่อเนื่อง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ก็อาจเกิดสติคล้ายคนใกล้ตื่นขึ้นรำไร
การตื่นขึ้นรู้ว่าตัวตนไม่มี มีแต่ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ของกายและจิต คือเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ยิ่งเขียนคุณจะยิ่งตระหนักว่าถึงไม่ได้หลับก็ฝันได้ หลงได้ และด้วยการเขียนนั่นเอง อาจชักนำไปสู่การตื่นได้ หายหลงได้

-----------------------------------------------------

๙. วิธีเขียนให้เอาไปใช้ได้จริง

บทที่ผ่านมาคุณเรียนรู้ว่าความฝันเป็นอย่างไร ตรงไหนเป็นไปได้ ตรงไหนเป็นไปไม่ได้ในโลกความจริง และผมยกตัวอย่างว่าจะนำส่วนที่เป็นไปได้จริงในความฝันมา คิดต่อให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างไร

หากคุณฝึกกลั่นกรองว่าส่วนใดของความฝันตรงกับความจริง ก็เท่ากับฝึกแยกเอาส่วนเกินที่ไม่จริงทิ้งไป และคุณก็จะพบว่าแม้ยามตื่น ระบบความคิดของมนุษย์เราก็มีทั้งส่วนที่เหลวไหลไร้สาระ กับส่วนที่เป็นแก่นสารน่าให้ความสำคัญ เพราะเอาไปใช้ได้จริง และทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือทำให้พ้นทุกข์ได้

สำหรับบทนี้ ขอบเขตของคำว่า เอาไปใช้ได้จริงจะหมายถึง

๑) การได้แง่คิด คือการทำให้ฉุกใจ เฉลียวใจ มองในมุมที่ต่างไป ที่เคยนึกว่ารู้แล้วก็เปลี่ยนใจใหม่ เช่น หลายคนสำคัญว่าสาวสวย รวย เก่งจะเป็นสุขและภูมิใจในตนเอง ต่อเมื่อคุณเขียนจาระไนรายละเอียดของชีวิตสาวประเภทนี้ได้ตรงตามจริง จนคนอ่านยอมรับว่าคุณสมบัติเลอเลิศอาจนำมาซึ่งทางเลือกอันยุ่งยากน่าสับสน ก็จะเกิดแง่คิดว่าความเลอเลิศเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของทุกข์ ความเลอเลิศจะก่อสุขขึ้นในใจเจ้าตัวได้ต่อเมื่อเจ้าตัวรู้จักใช้ความเลอเลิศในทางสร้างสรรค์ ทำประโยชน์ให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้ มิฉะนั้นก็จะงงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และไม่อยากมีชีวิตได้เท่าๆกับคนไร้คุณสมบัติทั่วไปนั่นเอง

๒) การได้เข้าใจ คือการทำให้รู้เหตุรู้ผลตามที่เป็นจริง เช่น ทราบชัดว่าต้นตอของความทุกข์ทางใจไม่ได้เกิดจากรูปที่ตาเห็น ไม่ได้เกิดจากเสียงที่หูได้ยิน ไม่ได้เกิดแม้จากความคิดที่ผุดขึ้นในหัวให้ใจรู้ แต่เกิดจากความทะยานอยากอันเป็นยางเหนียวในอก ยื่นออกไปยึดติดได้แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่น่ายึด ใคร่จะเก็บรักษาแม้สิ่งที่ไม่อาจรักษาตัวเองไว้ ตราบใดที่ยังมียางเหนียวอยู่ในอก ตราบนั้นใจกับวัตถุภายนอกยังเชื่อมติดกันเหนียวเหนอะ แม้ทำดีแค่ไหน มีบุญมากเพียงใด ก็ไม่พ้นต้องเกิดทุกข์ทางใจ ยางยิ่งเหนียวเท่าไร ใจยิ่งเป็นทุกข์เท่านั้น

๓) การได้ข้อปฏิบัติ คือการทำให้ทราบชัดว่าจะต้องทำอย่างไร ณ จุดที่ตนเองกำลังยืนอยู่ เช่น ถ้าฟุ้งซ่านจัดๆ หมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องของตัวเอง ก็อย่าเพิ่งไปหวังทำสมาธิ อย่าเพิ่งไปหวังทำลายความอยากให้สิ้นจากหัวใจ แต่ให้รู้ว่าเพื่อทำความฟุ้งซ่านให้เบาบาง ต้องลดการพูดพร่ำเพรื่อ ลดการเสพหนังเสพละครที่กระตุ้นความวุ่นวาย กับทั้งหันไปเสียสละแรงและเวลาให้คนอื่นบ้าง รู้จักห้ามใจไม่ให้ทำอะไรตามอำนาจกิเลสสั่ง เมื่อความฟุ้งซ่านและความหมกมุ่นเอาประโยชน์เข้าตัวเบาบางลง จึงค่อยปลอดโปร่งพอจะทำสมาธิกับเขาไหว สลายเมฆหมอกที่บดบังแสงสว่าง พอจะเกิดปัญญาเห็นตามจริง รู้ทางสว่าง มองออกว่าเหล่าพระผู้บริสุทธิ์ท่านทำกันอย่างไรจึงพ้นทุกข์พ้นกิเลสได้เด็ดขาด

ในทางธรรมนั้น คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง ขอเพียงรู้สิ่งที่ดีที่สุด เป็นไปได้จริงที่สุด คุณก็เขียนสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดได้ ไม่ว่าจะให้แง่คิด ให้ความเข้าใจ หรือให้ข้อปฏิบัติกับผู้รับ

และเพื่อรู้สิ่งที่ดีที่สุด คุณไม่อาจฝันเอา คุณไม่ใช่ใช้อารมณ์ แต่คุณต้องอยู่กับชีวิตจริง และใช้สติปัญญารู้จักเหตุรู้จักผล

ต่อไปนี้เป็นกรอบวิธี ใช้ชีวิตเพื่อให้ รู้จักเหตุรู้จักผลอันจะนำไปสู่การเขียนให้อ่านแล้วใช้ได้จริง


๑) ฝึกห้ามใจ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าที่คนเรามองโลกแล้วไม่เกิดแง่คิด ก็เพราะคนส่วนใหญ่ชินที่จะปักใจเชื่ออะไรง่ายๆตามอคติของตัวเองมาตั้งแต่เกิด อย่างเช่นเชื่อว่าใช้ชีวิตให้ผ่านไปวันๆก็พอ อยากได้อะไรก็เร่งหามา ชอบใจใครก็ควรเชียร์ ไม่ชอบใจใครก็ต้องแช่ง คนเราจึงมองไม่เห็นรายละเอียดอื่นๆ กับทั้งไม่มีแก่ใจตั้งข้อสังเกตใดๆทั้งสิ้น รักก็ทำอย่างที่รัก เกลียดก็ทำอย่างที่เกลียด ไม่แตกต่างอะไรจากขณะของความฝันทื่อๆ ตรงไปตรงมา

ขณะตื่นเต็ม สิ่งที่ทำให้คุณเป็นคุณ แตกต่างจากตัวตนดิบๆ ก็คือความยั้งคิดก่อนทำ เมื่อใดก็ตามหากสามารถห้ามใจตัวเองให้อยู่ในกรอบ ในกติกา อันเป็นไปเพื่อความถูกต้อง เป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อน เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขกับตนเองและผู้อื่น ขอให้เขียนแจกแจงอย่างละเอียดว่ามีเหตุผลอันใดอยู่เบื้องหลังการห้ามใจของคุณ และเกิดผลดีอย่างไรบ้าง หลังจากห้ามใจสำเร็จ

การบันทึกแง่คิดอันเกิดจากการห้ามใจตนเองสำเร็จในแต่ละครั้ง จะค่อยๆกลั่นความคิดของคุณให้แยบคายขึ้นเรื่อยๆ และเห็นอะไรได้ตามจริงครอบจักรวาล

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคุณจะตัดสินใครสักคนว่าเป็นอย่างไร เมื่อรู้จักและต้องคบหาใครสักคน คุณจะไม่มองปราดเดียวแล้วคิดอะไรง่ายๆเช่น ยายนี่ท่าทางไฮโซ เอาแต่ใจตัว สมองกลวง หาที่แรดไปวันๆ แต่คุณจะใจเย็น มองให้เห็นรายละเอียดต่างๆ เช่น ภายนอกที่ดูไฮโซนั้น มาจากฐานะทางบ้านหรือความสามารถหาเงินเอง รสนิยมในการเลือกของใช้เป็นอย่างไร วิธีโต้ตอบกับสถานการณ์ต่างๆในแต่ละครั้งเหมือนเดิมหรือผิดแผกแตกต่างตามกรณี เมื่อเกิดปัญหามีวิธีคิดแก้ไขแยบยลหรือมักง่าย ฯลฯ

การไม่ด่วนตัดสินคนจะทำให้คุณพบความจริงร้อยแปด เช่นภาพที่เห็นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ความจริงบางส่วนอาจก่อให้เกิดภาพลวง เมื่อสั่งสมประสบการณ์การเห็นคนเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ถึงจุดหนึ่งคุณจะ รู้จักคนด้วยแง่คิดต่างๆนานา เช่น คนเราเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ต่อให้วิชาโหงวเฮ้งแม่นยำเพียงใด ก็ไม่จำเป็นต้องทำนายลักษณะคนได้ถูกต้องเสมอไป

ถึงวันหนึ่งคุณจะพบว่าคนจริงๆที่มีเลือดเนื้อและวิญญาณนั้น ไม่ใช่พระเอกนางเอกหลังข่าว แต่ละคนรับใช้กิเลสด้วยกันทั้งสิ้น ใครรับใช้มากหรือรับใช้น้อยเท่านั้น กับทั้งเมื่อมองย้อนเข้ามาดูตัวเอง ก็จะไม่คิดว่าตัวเองดีที่สุด

เมื่อใดเลิกอย่าแปะป้ายชอบหรือไม่ชอบใครๆได้อย่างเด็ดขาด คุณจะได้แง่คิดเพิ่มขึ้นแทบทุกวันจากการเห็นพฤติกรรมมนุษย์ แต่เมื่อใดมีความชอบหรือไม่ชอบมาเป็นตัวตั้ง ความเป็นเขาหรือเธอก็จะเหมือนมีม่านมาบดบังอย่างหนาทึบทันที และคุณจะไม่ได้แง่คิดใดๆจากการพบเจอมนุษย์เอาเลย

เมื่อเกิดแง่คิดใด คุณควรเขียนบันทึกไว้ดีๆ เอาให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในที่สุดคุณจะพบว่าโลกนี้เต็มไปด้วยแง่คิดให้คุณเขียนถึงมากมายเหลือคณานับ และแง่คิดของคุณจะล้วนมีค่า เพราะทำให้คนที่ยังไม่คิดได้คิดตาม หรือกระตุกให้คนที่คิดเป็นลบหันมาคิดเป็นบวกได้หลายต่อหลายครั้ง


๒) คบหากับนักปฏิบัติจริง

ถ้าคุณเอาแต่มั่วสุมกับนักทฤษฎีส่วนหนึ่งที่เป็นเสือกระดาษ ดีแต่พูด ชอบที่จะให้คนอื่นทำตามที่ตัวเองพูด แต่ตัวเองไม่ทำในสิ่งที่พูดมาสักอย่าง คุณจะติดนิสัยของคนพวกนี้ และแนวโน้มคือคุณจะเติบโตขึ้นในโลกของธรรมะเยี่ยง นักคิดที่ไม่มีประสบการณ์ตรงเป็นสมบัติติดตัวเอาเลย

แต่หากคลุกคลีกับนักปฏิบัติที่รู้ถูกและทำจริง ไม่อวดตัว ชอบที่จะเตือนตนเองมากกว่าเพ่งโทษผู้อื่น เลือกพูดเฉพาะเท่าที่ทำได้และเห็นประโยชน์สุขแล้ว หรือแม้เมื่อใครให้สอนก็สอนตัวเองไปพร้อมกับสอนคนอื่น คุณก็จะติดนิสัยไปอีกแบบ และแนวโน้มคือคุณจะเติบโตขึ้นในโลกของธรรมะเยี่ยง นักทำที่รู้ไปหมด เห็นไปหมดว่าทำอะไรจริงๆแล้วเกิดผลใดขึ้นจริงๆตามมา ไม่ว่าแง่ดีแง่เสียใดๆ

เมื่อเกิดแรงบันดาลใจอย่างไร งานเขียนของคุณก็จะเป็นไปตามนั้น ถ้าคุณเป็นนักทำ งานเขียนส่วนใหญ่ของคุณจะทำตามได้จริง ส่วนนักคิดไม่มีทางปลอมตัวเป็นนักทำ ถึงปลอมได้ก็เดี๋ยวเดียว ในที่สุดคนก็จับได้ หรือแพ้ภัยตัวเอง ต้องลอกเลียนสิ่งที่นักทำทั้งหลายเขียนไว้ก่อนแล้ว พูดไว้ก่อนแล้ว และจะต้องรู้อยู่แก่ใจไปทั้งชีวิตว่างานของตนก็คือการขโมยงานคนอื่นมาเป็นหน้าเป็นตาให้ตนเองเท่านั้น


การพบปะพูดคุยกับนักปฏิบัติ จะทำให้คุณพบกับความจริงที่โปร่งใสประการหนึ่ง คือไม่มีใครทำอะไรได้ทุกอย่างโดยปราศจากอุปสรรค และทุกคนก็ต้องการรู้วิธีเอาชนะอุปสรรค ซึ่งจะรู้ได้ลึกซึ้งละเอียดลออก็ต่อเมื่อผ่านประสบการณ์มาแล้วเยี่ยงนักทำ กล่าวได้ว่าการเป็นนักทำนั่นแหละ ที่จะช่วยให้คุณรู้วิธีเอาชนะอุปสรรค และการเขียนถึงวิธีการเอาชนะอุปสรรคนั่นแหละ คือสิ่งที่จะทำให้งานเขียนของคุณเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม โอกาสจะสังสรรค์สมาคมกับนักปฏิบัติจริงนั้นอาจยาก เพราะคนปฏิบัติจริงมีน้อย ไม่ว่าปฏิบัติจริงในเชิงเสียสละ ปฏิบัติจริงในเชิงห้ามใจไม่ให้ประพฤติชั่ว ตลอดจนปฏิบัติจริง ในเชิงการภาวนาให้รู้แจ้งเห็นจริงเข้ามาในกายใจ เอาชนะกิเลส ดับทุกข์ดับโศกได้เด็ดขาด

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นไปได้โดยไม่ต้องหวังพึ่งผู้อื่น ก็คือศึกษาให้ดีว่าหลักการเสียสละที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ศีลสัตย์ที่ควรรักษามีอะไรบ้าง การปฏิบัติธรรมภาวนาเขาทำกันท่าไหน แล้วลงมือทำเองให้รู้รายละเอียด ว่าเกิดผลอย่างไรในแต่ละข้อแต่ละขั้น

สรุปคือเมื่อทำตัวเป็นนักปฏิบัติจริง ก็เท่ากับคุณจะได้พบและได้รายละเอียดจากนักปฏิบัติตัวจริงตลอดเวลา และสำหรับแม่บทที่ถูกต้องเกี่ยวกับทาน ศีล และภาวนานั้น ผมจะกล่าวถึงในบทต่อๆไปครับ

-----------------------------------------------------

๑๐. วิธีเขียนเรื่องยากให้อ่านง่าย

แม้คุณจะเขียนเนื้อหาที่สามารถเอาไปใช้ได้จริง แต่ถ้าสำนวนอ่านยาก ต้องพยายามตีความสองสามรอบจึงเข้าใจ อย่างไรงานเขียนของคุณก็จะเป็นแค่อักษรบนหน้ากระดาษที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเอาไปใช้ได้ท่าไหน
ถ้าคุณทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ คุณจะเป็นประตูเข้าเมืองให้คนอื่น แต่ถ้าแค่เรื่องง่ายคุณยังทำให้เป็นเรื่องยากแล้วล่ะก็ คุณจะเป็นกำแพงขวางเมืองสำหรับใครต่อใครโดยไม่รู้ตัว
การทำเรื่องยากให้ง่ายนั้น เป็นงานหินที่ต้องการคุณสมบัติหลายข้อ นับแต่การมีความรู้อย่างลึกซึ้งครอบคลุมตลอดสาย การมีความฉลาดตั้งประเด็นให้กระทบใจ ไปจนกระทั่งการมีศิลปะเลือกคำให้สื่อความหมายได้เห็นภาพ
สรุปคือการจะทำให้คนรู้สึกว่างานเขียนของคุณอ่านง่าย คุณต้องจำหลักการสำคัญไว้ ๓ ข้อ คือ
๑) เขียนออกมาจากมุมมองของคนที่เห็นครอบคลุม เหมือนคุณรู้จักแผนที่ทั้งหมด ก็ย่อมอ่านออกว่าควรใช้เส้นทางสายใด ควรเลี่ยงซอยย่อยไหน จึงจะเข้าสู่เป้าหมาย ทำให้คนอ่านได้สิ่งที่ต้องการเร็วที่สุด ลัดที่สุด เหมาะสมกับใครที่สุด เพื่อจะเห็นได้ครอบคลุม ไม่มีอะไรดีไปกว่าการศึกษาหาความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ คนเราจะเห็นสิ่งใดได้ครอบคลุม ก็ต้องเอาทั้งชีวิตของตัวเองทุ่มให้กับสิ่งนั้นนานพอ
๒) กระตุ้นให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ คือรู้จักตั้งโจทย์ให้กลายเป็นคำถามในใจคนอ่าน ชนิดที่เขานึกอยากรู้คำตอบให้ได้ ใจที่ใคร่รู้ของคนอ่านจะช่วยย่อยของยากให้ง่ายลงอยู่แล้วในเบื้องต้น เพื่อที่จะตั้งโจทย์ได้เก่ง ระหว่างศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติคุณต้องหัดสังเกตว่าคำถามใดเกิดขึ้นบ่อย ทั้งในใจคุณเองและใจคนอื่น
๓) ฝึกอธิบายให้เห็นภาพ ก่อนอื่นต้องรู้จักสังเกตว่าคำตอบแบบไหนก่อให้เกิดจินตภาพชัดในใจคุณเองกล่าวได้ว่าใจที่เห็นภาพได้คือใจที่สัมผัสคำตอบอย่างแท้จริง ฉะนั้นถ้าก่อนเขียนคุณเห็นคำตอบเป็นภาพได้ คุณก็จะเขียนได้ตามภาพที่เห็นในใจ และสิ่งที่เขียนนั้นก็จะมีแรงขับให้เกิดภาพในใจคนอื่นตามไปด้วย
ขอเพียงคุณจำหลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ได้ขึ้นใจ และสามารถเขียนได้ตามหลักการเมื่อใด เมื่อนั้นแม้เขียนเพียงบรรทัดเดียวสั้นๆ ก็อาจบรรจุด้วยคำถามจุดชนวนความสนใจได้แรงพอ กับทั้งมีคำตอบที่กระจ่างอยู่ในตัวพร้อมเสร็จ ราวกับฉายภาพจริงให้คนอ่านดูกันสดๆเดี๋ยวนั้น ดีกว่าอธิบายเป็นคุ้งเป็นแควแล้วไม่เกิดภาพใดขึ้นในใจคนอ่านเอาเลย
ต่อไปคือแม่บทของการ เห็นคำตอบเป็นภาพเพื่อ เขียนให้คนอ่านเห็นภาพตาม
(มีต่อ)

-----------------------------------------------------

๑๐. วิธีเขียนเรื่องยากให้อ่านง่าย (ต่อ)

แม้คุณจะเขียนเนื้อหาที่สามารถเอาไปใช้ได้จริง แต่ถ้าสำนวนอ่านยาก ต้องพยายามตีความสองสามรอบจึงเข้าใจ อย่างไรงานเขียนของคุณก็จะเป็นแค่อักษรบนหน้ากระดาษที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเอาไปใช้ได้ท่าไหน
ถ้าคุณทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ คุณจะเป็นประตูเข้าเมืองให้คนอื่น แต่ถ้าแค่เรื่องง่ายคุณยังทำให้เป็นเรื่องยากแล้วล่ะก็ คุณจะเป็นกำแพงขวางเมืองสำหรับใครต่อใครโดยไม่รู้ตัว
การทำเรื่องยากให้ง่ายนั้น เป็นงานหินที่ต้องการคุณสมบัติหลายข้อ นับแต่การมีความรู้อย่างลึกซึ้งครอบคลุมตลอดสาย การมีความฉลาดตั้งประเด็นให้กระทบใจ ไปจนกระทั่งการมีศิลปะเลือกคำให้สื่อความหมายได้เห็นภาพ
สรุปคือการจะทำให้คนรู้สึกว่างานเขียนของคุณอ่านง่าย คุณต้องจำหลักการสำคัญไว้ ๓ ข้อ คือ
๑) เขียนออกมาจากมุมมองของคนที่เห็นครอบคลุม เหมือนคุณรู้จักแผนที่ทั้งหมด ก็ย่อมอ่านออกว่าควรใช้เส้นทางสายใด ควรเลี่ยงซอยย่อยไหน จึงจะเข้าสู่เป้าหมาย ทำให้คนอ่านได้สิ่งที่ต้องการเร็วที่สุด ลัดที่สุด เหมาะสมกับประสบการณ์ของเขาที่สุด และเพื่อที่คุณจะเห็นได้ครอบคลุม ไม่มีอะไรดีไปกว่าการศึกษาหาความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ คนเราจะเห็นสิ่งใดได้ครอบคลุม ก็ต้องเอาทั้งชีวิตของตัวเองทุ่มให้กับสิ่งนั้นนานพอ
๒) กระตุ้นให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ คือรู้จักตั้งโจทย์ให้กลายเป็นข้อสงสัยใคร่อยากรู้อยากเห็นในใจคนอ่าน ชนิดที่เขาอยากเอาคำตอบให้ได้เดี๋ยวนั้น ใจที่ใคร่รู้ของคนอ่านจะช่วยย่อยของยากให้ง่ายลงได้ตั้งแต่ต้นทางแล้ว และเพื่อที่คุณจะตั้งโจทย์ได้เก่ง ระหว่างศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติก็ต้องหัดสังเกตว่าคำถามใดเกิดขึ้นบ่อย ทั้งในใจคุณเองและในใจคนอื่น
๓) ฝึกอธิบายให้เห็นภาพ คือการเลือกคำและผูกประโยคได้ชัดเจนจนก่อให้เกิดมโนภาพขณะอ่านอย่างแจ่มแจ้ง กล่าวได้ว่าใจที่เห็นภาพได้คือใจที่สัมผัสคำตอบอย่างแท้จริง และเพื่อที่คุณจะเลือกคำและผูกประโยคได้ชัดเจน ก่อนอื่นต้องรู้จักสังเกตว่าคำอธิบายแบบไหนก่อให้เกิดจินตภาพชัดในใจคุณเป็นอันดับแรก ถ้าก่อนเขียนคุณมีมโนภาพชัด คุณก็จะเขียนได้ตามภาพที่เห็นในใจนั่นเอง และสิ่งที่เขียนก็จะมีแรงขับให้เกิดภาพในใจคนอื่นตามไปด้วย
ขอเพียงจำหลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ได้ขึ้นใจ ไม่ว่าเรื่องยากแค่ไหน คุณทำให้ง่ายได้ ดุจนายช่างโยธาทำทางชันให้เป็นทางลาด เดินขึ้นสะดวกสำหรับคนข้างหลัง แม้เขียนเพียงบรรทัดเดียวสั้นๆ ก็ราวกับฉายภาพจริงให้คนอ่านดูกันสดๆเดี๋ยวนั้น ดีกว่าอธิบายเป็นคุ้งเป็นแควแล้วไม่เกิดภาพใดขึ้นในใจคนอ่านเอาเลย
ส่วนที่เหลือของบทนี้ คือแม่บทของการ เห็นคำตอบเป็นภาพเพื่อ เขียนให้คนอ่านเห็นภาพตาม
๑) ฝึกเปรียบเทียบกับตัวอย่างง่ายๆที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว
แม้คนเราจะแตกต่างกันสักแค่ไหน อย่างไรก็ต้องมีประสบการณ์ร่วมที่รู้เห็นมาตรงกัน เช่นทุกคนเคยแช่น้ำเย็น เคยเห็นฟ้าใส
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ผ่านประสบการณ์สมาธิชั้นดี ได้เห็นจิตตนเองตั้งมั่น เปิดกว้างอย่างใหญ่ เมื่อฟังประสบการณ์ตรงของคนเคยผ่านสมาธิชั้นดีจึงฟังไม่รู้เรื่อง เช่นคำว่า ตั้งมั่นอาจชวนให้นึกถึงการนั่งนิ่งขึง เกร็งกำลังเหมือนเบ่งอุจจาระอย่างแน่วแน่ และคำว่า เปิดกว้างอย่างใหญ่ก็อาจชวนให้นึกงงและสงสัยว่ามันจะเหมือนอะไรได้บ้าง อาจไพล่ไปคิดถึงการอ้วนเป็นตุ่มขึ้นมาฉับพลันก็ได้
ฉะนั้นก็เปรียบเข้ากับธรรมชาติที่เห็นง่ายเสียหน่อย เมื่อจะกล่าวถึงความตั้งมั่น ก็กล่าวเสริมว่าตั้งมั่นอยู่ในความเย็น เหมือนวันร้อนๆได้แช่น้ำอยู่นิ่งๆ ความร้อนของอากาศก็รบกวนเราไม่ได้
และเมื่อจะกล่าวถึงลักษณะเปิดกว้างอย่างใหญ่ ก็กล่าวเสริมว่าเปิดกว้างเหมือนออกจากที่มืดอุดอู้สู่ที่โล่งแจ้งฉับพลัน เงยหน้าขึ้นเห็นฟ้ากว้างสว่างใส และความสว่างใสนั้นก็ปรากฏต่อตาอย่างแจ่มชัดต่อเนื่อง หาหมอกมัวหรือเมฆบังมิได้
ในบรรดาเรื่องยากจะอธิบาย ความรู้สึกและสภาพจิตใจของเราเองนี่แหละ ถือเป็นหนึ่งในที่สุด ถ้าคุณอธิบายทุกความรู้สึกของตัวเองได้อย่างชัดเจนด้วยคำพูดง่ายๆ แนวโน้มคือวันหนึ่งคุณจะสามารถเขียนธรรมะให้อ่านง่ายได้ยิ่งกว่าคนเลี่ยงการฝึกบรรยายความรู้สึกของตน
ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าหากปราศจากประสบการณ์ตรง อย่างไรคุณก็คงไม่รู้อยู่ดีว่าจะเปรียบเทียบประสบการณ์ทางจิตแบบหนึ่งๆเข้ากับสิ่งใด ฉะนั้นก็ต้องกล่าวย้ำดังที่เกริ่นแล้วข้างต้น ว่าก่อนจะอธิบายเรื่องยากให้ฟังง่าย คุณต้องผ่านประสบการณ์ตรง รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง เช่นถ้าจะบรรยายเรื่องสภาวะของสมาธิ คุณควรเข้าสมาธิได้เป็นปกติ ดุจเดียวกับที่คนทั่วไปแบมือออกอย่างง่ายดาย และอธิบายถูกว่าความรู้สึกในการแบมือแตกต่างจากความรู้สึกในการกำมือเพียงใด
๒) อาศัยแผนภาพช่วย
ถ้าคุณเป็นประเภทที่จินตภาพไม่อาจเกิดขณะคิดเขียน ก็เอาเศษกระดาษมาวาดภาพเสียเลย ภาพชัดๆจะได้ปรากฏเป็นตัวตั้ง ช่วยประคองให้คุณคิดได้ละเอียดโดยไม่หลงลืม
อย่างเช่นจะเขียนถึงความรู้สึกทั้งหลาย ก็อาจเขียนคำว่า ความรู้สึกแล้ววงไว้เหมือนเป็นวัตถุก้อนหนึ่ง ซึ่งเมื่อคิดคร่าวๆแล้ว ก็จะเห็นว่าความรู้สึกแบ่งได้เป็นสองพวกใหญ่ๆ คือ สุขและ ทุกข์


จากนั้นถามใจตัวเองว่าเวลาสุขสภาพจิตใจเป็นอย่างไร มืดหรือสว่าง กว้างหรือคับแคบ ฯลฯ คิดให้ได้เยอะๆ เมื่อได้ลักษณะของ สุขอย่างใดมา ก็เอาลักษณะตรงข้ามนั้นไปใส่ไว้ใน ทุกข์ด้วย จะเห็นเป็นคู่ๆ
การเขียนเป็นแผนภาพแบบนี้ แม้จะคิดถึงคำใหม่ๆได้เท่าไร คำเก่าๆก็ยังคงอยู่กับที่ไม่ไปไหน แตกต่างจากตอนที่คิดๆเอาในหัว ได้หน้าลืมหลัง อย่างเช่นเมื่อคุณพินิจดูคำว่า กว้างขวางก็อาจนึกออกว่าจะแจกแจงเป็นรายละเอียดใดออกไปอีกได้บ้าง หากคุณผ่านประสบการณ์ทางสมาธิ หรือแม้เคยเอิบอิ่มเบิกบานแรงๆมาก่อน ก็จะนึกถึงคำอันเป็นคุณลักษณะได้เยอะแยะ ตั้งแต่ ปลอดโปร่ง’, ‘ไม่มีสิ่งห่อหุ้มไปจนกระทั่ง ไม่ต้องเพ่งเล็ง
ด้วยการอาศัยแผนภาพเป็นตัวตั้ง คุณจะอธิบายย้อนหน้าย้อนหลังอย่างไรก็ได้ เปรียบเทียบความสุขกับความทุกข์ให้เห็นเป็นดำเป็นขาวแจ่มแจ้งเพียงใดก็ไม่เกินวิสัย ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อเริ่มหลับตาทำสมาธิ ฉันรู้สึกถึงความมืดทึบ คับแคบ ราวติดอยู่ก้นถ้ำโดยมีก้อนหินใหญ่ทับอกอยู่ ฉันอึดอัดและอยากพ้นจากสภาพนั้น แต่ก็ทราบดีว่าความอยากนั่นเอง จะเพิ่มน้ำหนักให้กับหินที่กำลังทับอกตัวเอง
สิ่งที่ฉันทำกับความอยากจึงไม่ใช่ตามใจมัน แต่เป็นการรู้ทันมัน และไม่เปิดโอกาสให้มันงอกเงยไปกว่านั้น หน้าที่ของฉันก็แค่ระลึกเป็นครั้งๆ ว่าขณะนี้ร่างกายต้องการลมหายใจเข้าหรือยัง ขณะนี้ร่างกายต้องการลมหายใจออกหรือยัง หรือขณะนี้ร่างกายต้องการพักลมหรือยัง
ฉันไม่สนใจว่าลมจะสั้นหรือยาว ฉันแค่สนใจว่าตัวเองรู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นลมยาวหรือลมสั้น ด้วยความสนใจเช่นนั้น ในเวลาไม่นานฉันก็รู้สึกปลอดโปร่งขึ้นกว่าตอนแรก
ในความปลอดโปร่ง ฉันยังมีสติรู้อยู่ว่าเป็นแค่ภาวะหนึ่งที่ปรากฏจริง แล้วก็หายไปได้จริงๆ ฉันกลับไปสู่ความอึดอัดใหม่ แต่แล้วด้วยอาการระลึกถึงลมหายใจแบบเดิม ในที่สุดก็กลายมาเป็นปลอดโปร่งอีก เห็นชัดเลยว่าภาวะทางใจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้อย่างนี้
เมื่อจิตไม่ยึดว่าจะต้องโปร่งเสมอ ยอมรับความทึบได้โดยไม่หลงวนอยู่ในความทึบ ในที่สุดก็ถึงจุดหนึ่ง จิตฉันเหมือนเปิดกว้างกว่าเคย กว้างโล่งอย่างไม่เคยเป็น คล้ายออกไปสู่สภาพไร้สิ่งห่อหุ้ม เกิดความตั้งมั่นอยู่เช่นนั้นครู่ใหญ่ ทุกอย่างปรากฏชัดพอที่จะให้รู้ว่าในสภาพเช่นนั้น ฉันไม่จำเป็นต้องเพ่งเล็งสิ่งใดเลย ก็แค่ตั้งอยู่ในอาการรู้เท่าที่จะรู้ได้ มีลมหายใจออกก็รู้ มีลมหายใจเข้าก็รู้ ไม่มีลมชั่วคราวก็รู้
๓) ทำแบบฝึกหัดยากๆ
มองไปรอบๆแล้วถามตัวเองว่ามีสิ่งใดยากจะอธิบายบ้าง? คุณจะพบว่าทุกเรื่องในโลกอธิบายยากไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่อาจมีจินตภาพเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการอธิบายชัดเจนพอ
ขอให้นึกถึงเรื่องที่คุณเคยต้องเกริ่นกับคนอื่นว่า ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรหรือ พูดไม่ถูก ไม่ทราบจะเริ่มต้นจากตรงไหนดีเช่นความรู้สึกที่มีต่อใครสักคน แม้จะยังไม่ทันรู้จักมักจี่ แต่ก็รู้สึกครึ่งๆเสียแล้ว คือทั้งอยากพูดด้วยและไม่อยากพูดด้วย หรืออาจนึกชอบระคนชิงชังไปเลย
เหมือนมีคำอธิบายอยู่ในใจ แต่คุณ ขี้เกียจเค้นออกมาเป็นคำพูด แบบฝึกหัดนี้จะช่วยให้คุณเลิกขี้เกียจได้เสียที
อันดับแรก แทนการนึกถึงถ้อยคำเช่น บอกไม่ถูกว่ารู้สึกยังไงกับอีตานี่ขอให้ตัดคำว่า บอกไม่ถูกทิ้งไปเป็นอันดับแรก เหลือแค่ ความรู้สึกที่มีให้กับอีตานี่เขียนใส่กระดาษแล้ววงกลมล้อมรอบไว้ ถึงตรงนี้คุณได้แก่นของสิ่งที่ต้องการอธิบายแล้ว
จากนั้นให้แตกออกเป็นสองขั้วเป็น ชอบและ ชัง’ ห้ามเขียนเฉพาะฝ่ายชอบหรือฝ่ายชังไม่ว่าคุณจะตัดสินว่าหนักไปทางชอบหรือชัง ขอให้ใส่เข้าไปทั้งคู่
จากนั้นก็ค่อยๆใส่ รายละเอียดของความชอบและความชังเข้าไปทีละเรื่อง คุณจะค่อยๆนึกออกอย่างน่าแปลกใจ เช่นฝ่ายชอบอาจประกอบด้วยคุณสมบัติคือ เนื้อตัวสะอาดและ พูดจาสุภาพและฝ่ายไม่ชอบอาจประกอบด้วยคุณสมบัติคือ หน้าตาเจ้าเล่ห์และ จริงจังจนน่าอึดอัด
คุณจะค่อยๆเห็นความขัดแย้งทางความรู้สึกของตัวเอง และพบว่าไม่มีใครเลยที่คุณมองเขาในด้านลบหรือด้านบวกอย่างเดียว แต่คุณจะฝังใจกับความรู้สึกที่เด่นชัดเสมอ เมื่อฝังใจกับความรู้สึกใด ความรู้สึกที่เหลือจะถูกกลบทับไว้ ต่อเมื่อคุณหัดแจกแจงความรู้สึกออกมาเป็นแผนภาพ ก็จะมีคำอธิบายชัดเจนตลอดสาย ชวนให้เกิดความเข้าใจทั้งกับตนเองและผู้อื่น
ความต่างกันของนักเขียนอยู่ที่การฝึกสื่อสารให้เข้าใจง่าย มีลำดับจากต้นชนปลายไม่วกวน ทักษะของการสื่อสารตามลำดับไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสอนคุณได้ทั้งหมด คู่มือนักเขียนทั้งหลายเป็นเพียงตัวช่วยแนะแนว การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในระยะยาวเมื่อคุณลงนั่งเขียนมากขึ้น และขยันทบทวน สังเกตสังกางานเขียนของตนเองว่าอ่านแล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง
ยังมีอีกหลักการที่น่าแนะนำเป็นการทิ้งท้ายสำหรับบทนี้ครับ นั่นคือให้คิดว่าทุกคนโง่เหมือนกันหมด รวมทั้งตัวคุณเองด้วย อย่านึกว่าตัวเองฉลาด แล้วก็อย่ากลัวว่าคนอื่นจะฉลาดขนาดเห็นคุณอธิบายง่ายๆแล้วเหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายเจ้าของสวนอย่างเขา
แต่ละคนเข้าใจเร็วช้าต่างกันก็จริง ทว่าก็เริ่มมาจากจุดเดียวกันคือความไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย ขอให้คิดอย่างนี้ และวิธีอธิบายของคุณจะละเอียดลออไปเองครับ

-----------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น