วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๗ / วันที่ ๒๑ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) จะรู้ได้อย่างไรว่าความพยาบาทในใจเรามันเบาลงไปแล้วจริงๆ โดยในขณะที่เรานึกถึงเรื่องที่ไม่ชอบใจความโกรธเกลียดจะรุนแรงเหมือนไม่มีอะไรผิดไปจากเดิม แต่เมื่อประจันหน้ากันจริงๆที่คิดว่าจะรู้สึกมากกลายเป็นว่าความรู้สึกในใจมันเบาบางลง เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว อะไรเป็นตัวบ่งชี้ได้คะว่า ความพยาบาทในใจเรานั้นมันเบาบางไปจริงๆ?

คนที่เจริญสติมาคำว่าเจริญสติหมายถึงเท่าทันความเป็นจริงเกี่ยวกับกายใจตนเอง โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของที่บ่งบอกอยู่ในตัวเองว่าไม่ใช่ตัวตนไม่มีอัตตา อยู่ในที่ใดๆในหู ในตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็รวมถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ ไม่มีตรงไหนตรงหนึ่งเลยที่ฟ้องว่านี่แหละเราบังคับได้ นี่แหละเราบัญชาได้ มันเป็นอนัตตาทั้งหมด เมื่อเราเห็นความจริงอยู่เรื่อยๆ ใจของเราจะถอนออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นอันมีกายใจเป็นที่ตั้ง เรายึดมั่นความรู้สึกในกายใจเป็นที่ตั้งมาช้านาน จนกระทั่งพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้วก็ชี้ให้ดูว่ามันไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตน ถ้าเรามีศรัทธาในพระพุทธองค์แล้วก็ทำตามที่พระพุทธองค์ตรัสแนะไว้ ในที่สุดก็จะมีอาการทางใจเหมือนๆกันหมด ธรรมชาติของใจเห็นอะไรไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆมันก็ถอนออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นจากสิ่งนั้น เมื่อเราเอาใจ เอาสติ มาจดจ่ออยู่กับความไม่เที่ยงของกายของใจนี้ ในที่สุดมันก็ถอดออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นใจกายใจ

นี่คือหลักธรรมชาติ ถ้าหากว่าเราดูจากมุมมองของพระที่ท่านเห็นคนที่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ท่านจะดูถึงจิต ว่าจิตของคนคนนี้ที่ปฏิบัติมา ได้ผลหรือไม่ได้ผล มันมีความสว่างโดยมากหรือมีความหม่นหมองโดยมาก มีอาการที่ถอนจากความยึด มีลักษณะของความเป็นอิสระมาก โดยมาก หรือว่ามีความยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่นโดยมาก ท่านจะดูกันอย่างนี้ แล้วก็จะตัดสินว่าเราก้าวหน้าขึ้นมาจริงหรือเปล่า หรือว่าเราเป็นแค่คนที่นึกว่าทำๆไป โดยที่ไม่ได้ก้าวหน้าอะไรไปเท่าไหร่แต่สำคัญว่าเราก้าวหน้าไปมาก สำคัญผิดไปรึเปล่า ท่านก็จะทักจะท้วงถ้าเป็นลูกศิษย์ของท่าน แต่ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติเองบางทีจะยังมองตัวเองยังไม่เข้าใจ ยังมองไม่เห็นภาวะโดยรวมของจิตตัวเองก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่ามาถึงไหนแล้ว บอกได้แต่ว่าบางทีเจอของจริงมาทดสอบเข้า ยังกรี๊ดอยู่ ยังมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่นได้อยู่ ยังไฟลุกโพล่งราวกับเอาเบนซินมาราดได้บ้าง แต่พอดูเวลาปกติก็ใจไม่อยากยึดมั่นถือมั่น หรือพอโกรธแล้วใจมันก็ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนกับเอาจริงเอาจังอะไรมากเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนเหมือนปีศาจมันหลุดออกมาจากก้นบึ้งของขั้วหัวใจ แล้วก็ยืนทะมึนขึ้นข้างหลังเรากลายเป็นตัวเรา หรือว่าครอบงำตัวเราให้พูดหรือส่งเสียงหรือว่าทำท่าทำทางในแบบที่ที่นึกไม่ถึงตัวเองตกใจเลยว่าทำไปได้ ต่อเมื่อปฏิบัติธรรมเจริญสติ เจริญสติไม่ใช่นุ่งขาวห่มขาวหรืออยู่ที่วัด แต่อยู่ในเมือง ทำงานอยู่อย่างนี้แหละ เจอผู้คนที่น่าเกลียดน่าชังอย่างนี้แหละ แล้วก็เห็นความเกลียดความชัง เห็นความโกรธ เห็นอารมณ์อยากอาละวาด เห็นๆเห็นหมดนะ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นเห็นหมดนะ เห็นว่าไม่เที่ยง มันเพิ่มระดับได้ มันลดระดับได้ ว่ามันไม่ใช่ตัวตน สั่งไม่ได้ด้วยนะ บางทีมันหายไปแล้วแต่กลับมาอีก

ถ้าเราไม่กลุ้มใจ ถ้าเราไม่ทุกข์ใจว่าทำไมมันไม่หายไปสักที ทำไมมันไม่สิ้นซากไปสักที แต่เฝ้ารู้เฝ้าเห็นอยู่เป็นเดือนเป็นปีนั่นแหละเดี๋ยวมันหายไป เดี๋ยวมันก็กลับมาอีกบังคับไม่ได้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อะไรที่เราสั่งได้อย่างใจ ในที่สุดใจก็เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ คือ ค่อยๆ ถอนออกจากอาการยึดมั่นถือมั่น และประสบการณ์ตรงของเราก็บอกได้อย่างนี้แหละว่ามันมีความต่างไปนะ ถึงแม้ว่าเราจะตรึกนึกขึ้นมาแล้วโกรธเกลียดได้เท่าเดิม แต่เอาเข้าจริงพอเจอของจริงมันเหมือนกับกระทบแล้วเกิดไฟลุกขึ้นมาชั่วขณะเดียวแล้วก็หายไปไม่ได้ต่อเนื่องยาวนาน นี่แสดงให้เห็นสะท้อนให้เห็น จากประสบการณ์ภายในจากความรู้สึกของเรา เรารู้สึกได้ว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง มีความเหนียวแน่นในอาการอาฆาตพยาบาทน้อยลง เราทราบดีกรีของตัวเองยากหน่อย แต่เราบอกตัวเองได้ว่ามันต่างไป ก็น่าพอใจพอแล้ว มันต่างไปนี่แหละ คำว่ามันต่างไปนี่แหละตัวก้าวหน้าแหละ

ส่วนใหญ่คนที่เจริญสติมา คำว่ามันต่างไปไม่ได้หมายความว่ายึดมั่นเหนียวแน่นขึ้น ถ้าหากว่ามาถูกทางจริงๆนะ แต่ถ้าหากว่าเราบอกว่าขยันมากเลยสิบปีแล้ว แต่พอเจออะไรขึ้นมานะ ข้างในนี่แบบจะตาย มีความรู้สึกแบบปวดร้าวทรมาน ทำไมมันยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่นขนาดนี้ แถมต้องมากดอารมณ์โกรธของตัวเอง กลัวคนอื่นเขาจะว่าปฏิบัติธรรมมาตั้งนานทำไมมันยังขี้โกรธ ทำไมมันยังโมโหง่าย โกรธง่ายหายยากขนาดนี้ ก็ล็อกเข้าไปหลายชั้นเลย เจอเข้าไปสองเด้ง เด้งแรกจากตัวเอง เด้งที่สองจากภาพที่ตัวเองสร้างไว้แล้วก็กลัวคนอื่นจะตัดสิน ว่าเรายังไม่ดีพอ เรายังใช้ไม่ได้ เราปฏิบัติธรรมใส่เสื้อขาวนุ่งขาวห่มขาว แล้วก็ทำท่าขรึมๆตอนเวลาพูดคุยกับคนอื่น แต่ปรากฏว่ามีเรื่องจี้นิดจี้หน่อยกลายเป็นฟืนเป็นไฟหน้าดำหน้าแดงขึ้นมา มันก็เลยกลัว กลัวจะเสียภาพ กลายเป็นปฏิบัติธรรมแล้วเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น

แต่ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเรารู้สึกว่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังน้อยลง แล้วก็มีความโกรธได้ชั่วครู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ตัวนี้แหละที่มันสะท้อน เราไม่เห็นจิตของตัวเองก็จริง ไม่เห็นจิตโดยรวมของตัวเองก็จริง แต่สามารถที่จะรู้สึกได้ว่ามันไม่ยึดมั่นถือมั่นเท่าเดิม นี่แหละคือความก้าวหน้า อย่าไปคาดหวังว่าเราหมดความพยาบาทไปจริงหรือเปล่า มันไม่มีทางหมด ตราบใดเรายังไม่ใช่พระอนาคามี ความกระทบกระทั่งมันสามารถเข้าถึงใจได้ ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามีแล้วจิตจะเหมือนสุญญากาศ อะไร อะไรกระทบได้แต่ไม่เข้าถึงใจ กระทบตาได้แต่ไม่เข้าถึงใจ กระทบหูได้แต่ไม่เข้าถึงใจ มันไม่ทำให้เกิดความขัดเคือง มันไม่ทำให้เกิดปฏิฆะ ตัวปฏิฆะนี่ก็คือเกิดความกระทบกระทั่งแล้วก็เกิดความขัดเคืองขึ้นมา



๒) เพิ่งเห็นตัวเองว่า จิตเริ่มบิดเบี้ยวไม่ยอมรับตามจริง เกิดการพากย์มากกว่ารู้เฉยๆ จิตมีโทสะเป็นทุกข์กระวนกระวายค่ะ แต่เหมือนหลอกตัวเองว่ายังรู้อยู่ ขอคำแนะนำว่าควรภาวนาต่อไปอย่างไรดีคะ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกเหมือนกำลังหลงทางไม่ก้าวหน้า จิตซึมๆ และท้อใจค่ะ เป็นเพราะวิบากด้วยหรือเปล่า?

อันดับแรกเลยนะ บอกไว้อย่างนี้นะ ถ้าเรามีปัญหาในเรื่องของการเจริญสติหรือจะมีปัญหาแบบโลกๆอะไรก็แล้วแต่ เราต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจน ตั้งโจทย์ไว้ข้อเดียว อย่าตั้งไว้หลายข้อ อันนี้น้องตั้งไว้หลายข้อเลย บอกว่าเริ่มเห็นว่าจิตบิดเบี้ยวไม่ยอมรับตามจริง มีโทสะ กระวนกระวาย เหมือนหลอกตัวเอง ควรจะภาวนาต่อไปอย่างไรดี แล้วก็ไปใส่คำถามซ้อนเข้าไปอีก มีโจทย์ซ้อนเข้าไปอีกว่ามันเป็นวิบากด้วยรึเปล่า อันนี้แสดงให้เห็นถึงใจที่มันไปจับโจทย์หลายข้อ มันไปสงสัย ว่าตัวเองมาดีแล้วหรือยัง ถูกแล้วหรือยัง นี่มันเป็นวิบากรบกวนรึเปล่า ใจมันเกิดความกังวล ใจมันเกิดความสงสัย ตัวนี้ที่เรียกว่า วิจิกิจฉา เป็นนิวรณ์ เป็นตัวถ่วงความเจริญของสติ ไม่ใช่ตัวที่สนับสนุนให้เราก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ดีกับการเจริญสติของตัวเอง มันเหมือนมันถึงจุดหยุดแล้วจะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่มีคำตอบใดสักคำตอบหนึ่งมาทำให้หายสงสัยไปอย่างสิ้นเชิง และที่จะต้องตอบน้องมันหลายข้อ ควรจะภาวนาอย่างไรต่อไปดี กลัวจะไม่ก้าวหน้า กลัวหลงทาง แล้วมันเป็นวิบากกรรมรึเปล่า มันหลายข้อ เอาที่รวมให้มาเป็นข้อเดียวให้เลยก็แล้วกัน

ที่น้องบอกว่าจิตบิดเบี้ยวไม่ยอมรับตามจริง ตรงนี้เป็นการเถียงตัวเอง แล้วก็เกิดการพากย์มากกว่าจะรู้เฉยๆตัวนี้เป็นโจทย์ข้อที่สำคัญ คือถ้าจะวัดว่า เราเจริญสติมาเห็นอะไรบ้าง น้องตอบได้ ตรงนี้มีความชัดเจนพอสมควรทีเดียว น้องรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีจิตที่บิดเบี้ยว ไม่สามารถยอมรับตามจริงได้ นี่เป็นประโยชน์ นี่เป็นสิ่งที่ถ้าใครเห็นได้ไม่ใช่ว่า นับเป็นหนึ่งในร้อยนะ ต้องนับเป็นหนึ่งในหมื่นหนึ่งในแสนเลย คือที่จะเห็นว่าจิตตัวเองบิดเบี้ยวได้ไม่ใช่เรื่องง่าย คนส่วนใหญ่มีจิตบิดเบี้ยว แล้วก็คล้อยตามไปตามอารมณ์ความรู้สึกบิดเบี้ยวนั่นแหละ แล้วก็ก่อกรรมไปตามจิตที่บิดเบี้ยวนั่นแหละ โอกาสที่จะย้อนกลับมาเห็นราวกลับเป็นอีกบุคคลหนึ่งว่าบุคคลนี้มีจิตบิดเบี้ยวอยู่มันไม่ใช่วิสัยที่จะเกิดกับคนธรรมดาทั่วไป ต้องเจริญสติมา แล้วสามารถที่จะยอมรับสภาพความจริงได้พอสมควรถึงจะเห็นความบิดเบี้ยว ไม่สามารถที่จะต่อติดกับข้อเท็จจริงตรงหน้าได้ แม้แต่อาการที่มันไม่สามารถต่อติดกับความจริง ไม่สามารถยอมรับความจริง ถ้าตรงนั้น ภาวะตรงนั้น ถูกรู้ได้ นั่นแหละเรียกว่าเห็นแล้ว เห็นความจริงแล้ว เห็นสภาพตามจริงว่าจิตของเราบิดเบี้ยว มันเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากมาก

เพราะฉะนั้น ชมตัวเอง อย่าว่าตัวเอง คนที่เห็นจิตตัวเองบิดเบี้ยวได้ มันเริ่มตรงแล้ว มันเริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะดัดให้จิตตรงความจริง สามารถเชื่อมติดได้กับความจริงแล้ว ส่วนที่น้องไปกังวลว่าจิตมันมีแต่การพากย์ มันไม่มีอาการรู้อยู่เฉยๆอันนี้มันก็เป็นธรรมชาติของจิต ที่มันคิดขึ้นมาตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์ อย่าไปเชื่อว่าเราจะเจริญสติแล้ว ความคิดหรือเสียงพากย์มันจะหายไปในทันทีทันใด จิตที่ยังฟุ้งซ่านได้จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ต้องมีเสียงพากย์หรือมีความคิดที่กำกับอยู่กับการรู้ไปทุกครั้ง ต่อเมื่อจิตมีความสามารถตั้งมั่นได้พอสมควรเป็นขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วคราว มันจะมีความรู้สึกเป็นความรู้สึกนิ่งๆสงบเย็น แล้วก็มีอาการไม่คิดมาก ไม่พร้อมจะฟุ้งซ่าน มีแต่อาการที่มันตรง มีแต่อาการที่มันรู้สึกถึงสภาพภายในด้วยความอิ่มใจ ตัวนี้เราเรียกว่า ขณิกสมาธิ เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วเดี๋ยวมันก็รวนเร ปั่นป่วนไปเป็นฟุ้งซ่านได้ใหม่

ลักษณะของจิตที่มีความเป็นสมาธิชั่วขณะได้นี่นะ เสียงพากย์มันจะน้อยลงมีอาการรู้มากขึ้น มีความรู้สึกถึงอาการที่มันสงบอาการที่มันเย็นมากขึ้น แล้วก็สามารถที่จะเห็นภาวะของใจเปลี่ยนจากสงบกลายเป็นร้อน เปลี่ยนจากสงบกลายเป็นฟุ้งได้โดยไม่ต้องคิดไม่ต้องพากย์ แล้วเสียงพากย์มันก็จะกลับมาหรือว่าความฟุ้งซ่าน เสียงของความฟุ้งซ่านมันก็จะกลับมาตามเดิม แต่ถ้าหากว่าจิตของเราเจริญสติไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงขั้นอุปจารสมาธิ คือมีความวิเวก มีความเยือกเย็นกว้าง จิตแผ่กว้างออกไป จิตมีความสบาย จิตมีความโล่งเหมือนกับไม่มีอะไรห่อหุ้ม อันนั้นมันจะมีความตั้งมั่นได้นานขึ้น มันจะมีความสว่าง มันจะมีความเย็นซ่านออกไปเหมือนกับอยู่ในที่ที่เย็นมากๆ ตรงนั้นเราจะมีเสียงพากย์น้อยลงไปอีก มันจะเหมือนแมงหวี่แมงวันหรือว่ามีเครือข่ายใยแมงมุมอะไรเล็กๆน้อยๆเข้ามาปกคลุมอยู่ที่จิตแค่นิดหน่อย ไม่รู้สึกว่าเป็นเสียงพากย์ไม่รู้สึกว่านั่นคือความฟุ้งซ่าน แต่เป็นคลื่นอะไรแบบหนึ่งที่เราจำได้ว่าอย่างนั้นเขาเรียกความคิด มันยังเป็นความคิดอย่างอ่อนๆอยู่

แล้วถ้าหากว่าเราเจริญสติต่อไปเรื่อยๆมีความชำนาญ มีกำลังที่จะรวมกระแสจิตเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว ถึงฌานเป็นอัปปนาสมาธิ จิตรู้อารมณ์เดียวต่อเนื่องยาวนานยาวยืดเลย เป็นนาทีๆ หรือว่าเป็นครึ่งชั่วโมงได้ ตรงนั้นแหละที่เสียงพากย์หรือความคิดจะดับไปอย่างสิ้นเชิง จนกว่าที่จะออกจากฌาน เพราะฉะนั้นสรุปว่า ถ้ามีเสียงพากย์อยู่ตลอดเวลาไม่ใช่รู้เฉยๆอย่าเพิ่งไปตกใจ อย่าเพิ่งไปพยายามทำให้เสียงพากย์มันหายไป ขอให้มองก็แล้วกันว่านั่นเขาเรียกว่าจิตที่ยังไม่เป็นสมาธิ เราได้รู้จักจิตชนิดหนึ่งแล้ว จิตที่ยังไม่เป็นสมาธิ จิตที่ยังคิดได้ มันจะพากย์อะไรให้มันพากย์ไป มันจะรู้อย่างเดียว หรือว่ารู้ไปด้วยมีคำกำกับด้วย ไม่ต้องสนใจ สนใจแต่ที่เราตรงนั้นเรารู้จริงๆหรือเปล่าว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ทั้งในแง่ของสิ่งที่กระทบตาหู ทั้งในแง่ของปฏิกิริยาทางใจที่มันสวนออกไป ถ้าหากว่าเรารู้ตามจริง ไม่ว่าจะพากย์อะไรถือว่าใช่หมด ถือว่าดีหมด มันถูกอยู่แล้ว ถูกต้องตามธรรมชาติของจิตอยู่แล้วที่จะต้องมีเสียงพากย์ มันไม่สามารถรู้ได้เฉยๆตราบใดที่จิตยังไม่เป็นสมาธิจำไว้นะครับ

เรื่องเป็นวิบากรึเปล่า ตั้งแต่มีกายขึ้นมาก็นั้นเป็นวิบากแล้ว ตั้งแต่มีจิตขึ้นมานั้นก็วิบากแล้ว อาการที่มันเกิดขึ้นกับจิตทั้งหลายทั้งแหล่สรุปรวมแล้วมันก็วิบากทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเรากำลังจะอยู่ในเส้นทางของการดับกรรมอยู่ การดับกรรมนี่ก็คือการทำกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมใส ตรงนี้แหละที่ขอให้ทำความเข้าใจไว้โดยรอบ รวมมาที่เดียวเลย เวลาสังเกตจิตตัวเองสังเกตว่ามีความสงสัยไหม ถ้าหากว่ามีความสงสัยให้รู้ระดับความสงสัยและเห็นมันโดยความเป็นของไม่เที่ยงซะ ตรงนั้นแหละจบแน่นอน



๓) ยึดธรรมข้อไหน ที่จะทำให้มีธรรมะข้ออื่นๆครบบริบูรณ์?

(ถาม – อยากทราบว่ายึดธรรมขอใดดีคะ ที่ทำให้เรามีธรรมข้ออื่นๆครบบริบูรณ์ เพราะเป็นคนที่ชอบแยกแยะอะไรเกินไป พอไปจำอะไรเป็นข้อๆแล้วจำไม่ได้ แล้วก็จะกังวลว่าเราทำไม่ครบเลยค่ะ?)

พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ว่าธรรมะข้อเดียวที่รวมธรรมะข้ออื่นๆไว้ หมายถึงธรรมะที่เป็นกุศล ฝ่ายที่เป็นตัวทำให้เจริญ ธรรมะที่ทำให้เจริญมีอยู่ข้อหนึ่งที่เมื่อเกิดแล้ว จะเป็นที่ประชุมที่รวมของธรรมะข้ออื่นๆท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกับรอยเท้าช้าง ย่อมสามารถที่จะรวบรวมรอยเท้าของสัตว์อื่นๆในป่าไว้ในรอยเท้าช้างรอยเดียวได้ ธรรมะข้อนั้นคือสติ ถ้าหากว่าเรามีสติอยู่ ธรรมะทุกข้อมันเกิดขึ้น ประชุมกันลงตรงนั้นแหละ

แต่คนเรามักไม่เข้าใจคำว่า สติ ว่าสติหมายถึงภาวะจริงๆอย่างไรในตัวเรา ปัญหามันอยู่แค่ตรงนี้เอง ถ้าเราเข้าใจว่าภาวะของจริงๆที่เป็นสติที่มันเกิดขึ้น ภาวะภายในที่มันเป็นประสบการณ์ตรงภายใน หน้าตาเป็นอย่างไรแล้ว ตรงนั้นจบเลย ตรงนั้นไม่เป็นปัญหาอีกเลย สำคัญก็ตรงนี้แหละ คือเราต้องทำความเข้าใจเริ่มต้นไว้ว่า นิยามของสติ คือความสามารถที่จะระลึกได้ว่ากำลังมีอะไรปรากฏอยู่เป็นความจริงให้รู้อยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากว่าสตินั้นไปหมายถึงการที่เราไปพยายามขืนตัว เกร็งตัวหรือว่าพยายามบังคับให้ตัวเองอยู่ในภาวะสงบ นั่นไม่เรียกว่าสติ นั่นเรียกว่าความอยากจะสงบ นั่นเป็นปัญหาชนิดหนึ่ง แล้วก็เป็นปัญหาที่ทำให้เนื้อตัวเกร็งแล้วก็มันไปบล็อกความสามารถที่จะระลึกได้ด้วย มันไปบล็อกความสามารถที่จะเกิดสมาธิ มันไปบล็อกความสามารถที่จะยอมรับอะไรตามจริง มันมีแต่ความอยากที่สวนทางกลับความจริง ตอนนี้ไม่สามารถที่จะสงบได้เราก็ไปพยายามดึงดันให้มันจงสงบ จงสงบ จงสงบอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็เลยเกิดความอึดอัด มันก็เลยเกิดความกระสับกระส่ายรวนเรเข้าไปใหญ่

ทีนี้ถ้าเรารู้จักคำว่าสติอย่างแท้จริง ที่บอกว่าสามารถระลึกได้ตามจริงถูกต้องว่ากำลังปรากฏภาวะอะไรในปัจจุบัน ถ้าหากว่าเราฟุ้งซ่านอยู่แล้วเรามีความรู้สึกว่า นี่เราอยู่ในท่านั่ง ท่านั่งนี้มีความฟุ้งซ่านมีความปั่นป่วนอยู่ภายในเป็นนามธรรม นี่เรียกว่าสติแล้ว เพราะว่าภาวะความฟุ้งซ่านมันถูกรู้ตรงตามจริง มันไม่ได้ใช้จินตนาการเอาว่าเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ แต่มันใช้ความสามารถในการยอมรับว่าเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่นี่เรียกว่าสตินะ ถ้าหากว่าเรามีสติตามจริง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะไม่แล่นไปตามความฟุ้งซ่าน พอเห็นความฟุ้งซ่านนะจำไว้นะ เราจะไม่แล่นไปตามไปตามความฟุ้งซ่าน เห็นไหมธรรมะข้ออื่นๆเกิดแล้ว เราจะไม่กระวนกระวายไปตามความฟุ้งซ่าน ไม่เอาตัวแล่นไปตามความฟุ้งซ่าน ไม่เตลิดเปิดเปิงไป ไม่ไปหาใครบางคนที่ไม่สมควรจะไปหา ไม่คิดถึงใครบางคนที่ไม่สมควรไปคิด ไม่คิดถึงเรื่องอะไรที่มันยังอยู่ในอนาคต ตรงนี้แหละคือธรรมะข้ออื่นๆเริ่มตามมาแล้ว

ถ้าหากว่าเราไม่แล่นไปตามความฟุ้งซ่านตัวเดียว มันระงับทุกอย่างเลยที่เป็นบาปที่มันเป็นอกุศล มันจะเรียกเอาความรู้สึกอิ่มใจขึ้นมาด้วย พอคนเรานะรู้สึกอิ่มใจอันเกิดจากการเจริญสติ อันเกิดจากการเห็นสภาวธรรมตรงหน้านะ มันจะมีความขยัน มันจะมีความรู้สึกมีแก่ใจ เออ เวลาเขาดูเขาดูกันแค่นี้เอง มันเกิดขึ้นยอมรับว่ามันเกิดขึ้น แล้วเดี๋ยวก็เห็นว่ามันค่อยๆเปลี่ยนระดับ เปลี่ยนดีกรี บางทีมันอาจจะเปลี่ยนขาลงคือลดระดับดีกรีลง หรือบางทีมันก็เปลี่ยนขาขึ้นคือเพิ่มความเข้มข้นขึ้นมา เรามีความพอใจอยู่แค่นั้นแหละ ที่จะเห็นว่ามันเป็นขาขึ้นหรือขาลง อนิจจังขาขึ้นก็ยอมรับว่าอนิจจังขาขึ้น อนิจจังขาลงก็ยอมรับว่าอนิจจังขาลง ไม่ดีใจไม่เสียใจ มีแต่ความรู้สึกเป็นกลาง ตรงความรู้สึกเป็นกลางนั่นแหละคือความรู้สึกอิ่มใจ คือความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมา ถ้าน้องเป็นคนชอบแยกแยะอะไรมากเกินไปก็คือช่างคิดนั่นเอง ถ้าหากว่าช่างคิดเรายอมรับตัวเองว่าช่างคิด แล้วดูสิว่าลักษณะของจิตที่ช่างคิดหน้าตาเป็นอย่างไร มันมีความอึดอัด มันมีความรู้สึกแตกซ่านกระเส็นกระสาย มันมีความรู้สึกเหมือนกับว้าวุ่นไม่รู้จบ มันมีความรู้สึกเหมือนไม่อิ่มใจสักที ไม่ได้อะไรมาอย่างที่ต้องการสักที ลักษณะของใจที่ไปไม่ถึงความสงบก็เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตามจริง แล้วสามารถรับรู้ได้เดี๋ยวนี้ ไม่ได้เป็นอะไรที่ยาก ไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อน ไม่ได้เป็นอะไรที่ลึกลับมหัศจรรย์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

พอเรารู้ด้วยอาการยอมรับ ไม่ใช่รู้ด้วยอาการที่อยากให้มันเกิดภาวะพิสดารอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษ ในที่สุดเราจะเคยชิน ได้เป็นผู้ที่มีชื่อว่าสะสมความเคยชินที่จะมีสติอยู่กับปัจจุบัน ผู้ที่สั่งสมความสามารถในการยอมรับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ากำลังสร้างรอยเท้าช้างขึ้นมา เพื่อที่จะรวบรวมรอยเท้าสัตว์อื่นในป่ามาไว้ที่เดียว ก็คือธรรมข้อเดียว ถ้าหากว่ามีสติได้ สติจะพาธรรมะข้ออื่นๆมารวมไว้ในที่เดียวกัน



๔) เป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองและขี้กังวลมากเลยค่ะ ปีนี้จะต้องไปต่างประเทศเพื่อไปเรียนและไปสอบ มีทั้งเดินทางไปสิงคโปร์และอเมริกากลัวไปหมดเลย จะต้องไปสอบกับไปเรียนกับเพื่อนที่พูดอังกฤษได้ดีมากๆด้วย?

พูดได้ว่าเราเริ่มเปรียบเทียบแล้ว ไปนึกกลัวไปนึกกังวลว่าเราดีไม่เท่าเขา นี่เป็นเรื่องที่ว่าตัวกิเลสคือ มานะ ถือเขาถือเรา มันมารบกวนจิตใจก็ขอให้ดูตรงนี้ คือเมื่อใจของเราเล็งไปที่คนที่ดีกว่าเราตัวเราจะเล็กลง ดูตอนที่มันเกิดขึ้นเลยนะ เมื่อไหร่ที่เรานึกถึงคนที่ดีกว่าเราตัวเราจะเล็กลง เหมือนกับมันเตี้ยลง ร่างกายเราจะสูงกว่าเขาหรือจะต่ำกว่าเขายังไงก็แล้วแต่ แต่พอเล็งไปที่คุณสมบัติที่มันเหนือกว่าเรา ตัวเรามันจะเล็กลง ตัวเรามันจะเหมือนเตี้ยลงทันที ดูเป็นอาการของใจ ดูเป็นปฏิกิริยาของใจที่เกิดจากมานะข้อนี้ไว้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเทียบตัวเองกับคนที่ต่ำกว่าเรา เทียบตัวเองกับคนที่เขาด้อยกว่าเรา เขาสู้เราไม่ได้ด้วยประการใดๆตัวเราจะใหญ่ขึ้นหรือว่ามีความรู้สึกเหมือนเงาร่างมันสูงกว่าเดิม สูงกว่าปกติ นี่คือปฏิกิริยาทางใจที่เกิดจากการมีมานะเช่นกัน เป็นมานะคนละแบบ นี่มานะฝั่งปมเขื่อง เมื่อกี้อันแรกเป็นมานะฝั่งปมด้อย

การที่เราสามารถจะเห็นปฏิกิริยาทางใจของตัวเองแล้วไม่ไปหมกมุ่นกับมัน เห็นแต่พอเราเล็งไปหาคนที่ดีกว่าเรา ตัวเรามันเตี้ยลง แต่พอเราเล็งคนที่เขาต่ำกว่าเรา มันรู้สึกเหมือนกับตัวมันพองขึ้นมาได้ กลายเป็นอาการจริงๆบางทีจิตมันเหมือนอึ่งอ่าง มันพองออกมาเวลาที่ใจเล็งอยู่ที่คนที่เขาด้อยกว่าเรา ตรงนี้อย่างน้อยที่สุดถึงมันจะไม่ได้ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะเริ่มสนุกกับการที่เห็นอะไรบางอย่างที่เราไม่เห็นมาก่อน ทั้งๆที่มันเกิดขึ้นให้รู้สึกมาตลอดชีวิตนั่นแหละ ปมเขื่องปมด้อย มันจะเกิดขึ้นกี่ครั้งกี่หนก็แล้วแต่ เราจะจมไปกับมัน แล้วก็รู้สึกมันเป็นตัวเรา ต่อเมื่อเราเห็นมันเห็น ณ จุดเกิดเหตุว่า มีอาการทางใจไปคิดถึงความสามารถในการพูดอังกฤษได้ดีของเพื่อนปุ๊บ ตัวเรากลายเป็นเหมือนกับคนที่เกือบๆจะเป็นใบ้ขึ้นมาทันที เหมือนพูดไม่ออกขึ้นมาทันที เหมือนเป็นคนไม่มีความสามารถในการพูด ทั้งๆที่จริงมี เพียงแต่ไม่ได้ดีเท่าเขา พอไปนึกถึงคนที่ดีกว่าก็เลยมามีอะไรมาอุดปากไว้ มาปิดปากไว้ มาทำให้ลำคอตีบตันเหมือนกับไม่สามารถพูดอะไรไปได้ นี่เป็นปฏิกิริยาทางใจที่มีผลออกมาทางกาย คือไม่ใช่ไปกำจัดปฏิกิริยานี้ทิ้ง แต่เห็นปฏิกิริยาทำนองนี้ขึ้นมาได้บ่อยๆเราจะมีความรู้สึกราวกับว่าเห็นตัวเองมาจากสายตาของคนอื่น เห็นตัวเองออกมาจากสายตาของบุคคลที่สอง แล้วจะเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนที่มันด้อยกว่าหรือว่าเหนือกว่าคนอื่นน้อยลง

ส่วนเรื่องของความกังวลกลัวจะสอบตก กลัวจะไม่ได้ดีเท่าใคร แล้วก็ไปเร่งใหญ่เลย เร่งไปฝึกซ้อมภาษามากขึ้นแต่ไปเร่งด้วยความเกร็งไม่ใช่เร่งด้วยความสนุก เรื่องภาษาเอาให้สนุกเถอะ อย่าเอาให้มันดีกว่าคนอื่นเลย อย่างเขาพิสูจน์มาแล้วนะ เด็กที่เขาเก่งภาษามาตั้งแต่ช่วงประถมหรือช่วงมัธยมที่เหนือกว่าคนอื่นๆได้ ไม่ใช่ว่าเขามีความสามารถ มีพรสวรรค์หรือว่ามีอะไรมาแต่ไหน แต่เพราะเขาสนุกที่จะอยู่กับภาษาต่างประเทศ อย่างผมเอง ขออนุญาตยกนิดหนึ่ง ตอนมัธยมมีความเด่นมากเลยเรื่องภาษา ไม่ใช่เพราะว่ามีความสามารถในการจดจำแกรมม่า หรือใช้แกรมม่าอะไรได้ดีเลิศเลอ แต่เพราะชอบอ่านหนังสือนอกเวลาภาษาอังกฤษ เผอิญว่าอ่านแล้วติดใจแล้วก็เลยอ่านเรื่อยๆอ่านแบบเหมือนกับหนังสือที่ระดับยากกลางๆแล้วเกิดความรู้สึกว่าไม่มีใครบังคับ มันเหมือนขนมที่จะเปิดภาษาอังกฤษอ่านเอง อ่านทุกคืนแล้วก็คืนละหลายๆหน้า ตอนนั้นจำได้เรื่องที่อ่านแล้วสนุกมาก ‘The Tales of two cities’ ฉบับ simplify อ่านแล้วมีความรู้สึกไม่มีใครบังคับให้อ่าน แต่อยากอ่านเองอยากรู้เรื่องว่ามันจะดำเนินเรื่องไปอย่างไร มันจะจบอย่างไร แล้วมีความรู้สึกซาบซึ้งมาก ราวกับความรู้สึกนะเหมือนกับอ่านนิยายภาษาไทย พอไปถึงความรู้สึกนั้นได้ภาษาอังกฤษจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป มีความรู้สึกว่ามันเป็นอันเดียวกับเรา มันเป็นสิ่งที่จิตของเราจูนเข้าไปติด แล้วอะไรก็แล้วแต่ที่จิตจูนเข้าไปติดมันจะไม่มีความกลัวหลงเหลืออยู่อีกเลย มันจะมีแต่ความเป็นกันเองมีแต่ความเป็นพวกเดียวกัน มีแต่ความรู้สึกที่มันใช่ มันออกมาจากข้างในไม่ใช่ต้องฝืนออกมาจากข้างนอก

ฝืนออกมาจากข้างนอกหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเราไปคิดเปรียบเทียบกับคนอื่นก่อนว่าเราไม่ดีเท่าเขา แล้วก็ต้องไปพยายามดิ้นรนไปฝืนใจพยายามทำให้เท่าเขา นี่แหละเขาเรียกว่ามันออกมาจากข้างนอกไม่ได้ออกมาจากข้างใน ข้างในหมายความว่ายังไง มันมีความรู้สึกเหมือนขนมมีความสนุกที่จะทำ ความเชื่อมั่นจะตามมาเองหลังจากที่เรารู้สึกเหมือนเป็นขนม น้องจะเอาอะไรก็ได้ที่เป็นสิ่งล่อใจให้ชอบภาษาอังกฤษ เช่นถ้าชอบติดตามข่าว ชอบติดตามเทคโนโลยีก็อ่านข่าวหรือว่าเว็บภาษาอังกฤษมากๆพออ่านเราไม่อ่านอย่างเดียวเราออกเสียงด้วย อ่านออกเสียง ถ้าเราบอกว่าไม่ค่อยอยากจะอ่านข่าว ขอเป็นเพื่อนๆ ได้ไหม สมัยนี้ก็มีเครื่องช่วยเยอะนะ อย่าง http://translate.google.com เราสามารถที่จะเอาคำที่เพื่อนๆเขียนเป็นภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ ซึ่งมันอาจจะเพี้ยนๆอยู่สัก ๓๐–๔๐ เปอร์เซ็นต์ หรือว่าเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็เถอะ แต่อย่างน้อยเราได้อ่านเป็นภาษาอังกฤษ แล้วอ่านขอให้อ่านออกเสียง เพราะระบบการเรียนภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดคือการสามารถที่จะอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เอาแต่อ่านได้อย่างเดียว ภาษาอังกฤษจะเข้าไปอยู่ในใจเราจริงๆ เข้าไปถึงจิตถึงใจ มันต้องมีความสามารถที่จะสื่อออกมาจากภายใน มันต้องมีความเป็นอัตโนมัติมากพอ ราวกับว่าเราสามารถเข้าใจถึงภาษาจิตได้ก่อนแล้วค่อยเอาภาษาจิตนั้นเป็นตัวขับดันให้เกิดภาษาอังกฤษออกมา นี่แหละที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราไปไหนไปกันแล้วก็ไม่น้อยหน้าใครถ้าเชื่อมั่นตามนี้



๕) ในขณะที่รักษาศีล ๘ การฟังเสียงธรรมะที่มีเพลงประกอบหรือการฟังบทเพลงสวดมนต์หรือการฟังเพลงสำหรับภาวนาหรือแม้กระทั่งที่ต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงเพลงรบกวนโดยเราไม่มีความยินดีที่จะอยากฟัง อย่างนี้จะถือว่าศีลด่างพร้อยหรือเปล่า แล้วการถวายซีดีธรรมะที่มีเพลงประกอบแด่พระภิกษุสงฆ์ถือเป็นการสมควรหรือไม่?

ตอบคำถามแรกก่อนคือศีล ๘ มีไว้เพื่อที่จะทำให้กายเบาจิตเบา จุดประสงค์หลักเลย คือต้องแม่นข้อนี้ก่อน ศีล ๘ มีไว้เพื่อที่จะทำให้กายเบาจิตเบาไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะทำให้เราปิดกั้นโลกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราปิดกั้นกันที่ความยินดีในกาม กามนี่ไม่ได้หมายถึงเพศสัมพันธ์ หมายถึงกามคุณทั้งห้า ที่จะมาเร้ากิเลสจนกระทั่งเกิดความไม่สงบของจิต จนกระทั่งเกิดความฟุ้งซ่านกระวนกระวายที่จะไปเสพความบันเทิง จุดประสงค์หลักๆมีข้อเดียวข้อนี้เลย เพื่ออะไร เพื่อที่จะทำให้จิตมีความพร้อมที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อโฟกัสอยู่กับที่ใด อารมณ์ที่เป็นประโยชน์ใด ก็มีความสามารถที่จะตั้งมั่น มีความสามารถที่จะเล็ง มีความสามารถที่จะอยู่กับสิ่งนั้นได้อย่างเด็ดเดี่ยวนี่แหละ คือจุดประสงค์หลักของศีล ๘ พอเราเข้าใจจุดประสงค์หลักตรงนี้ชัดเจน ก็ค่อยๆมาตอบคำถามกัน

การฟังเสียงธรรมะที่มีเพลงประกอบหรือเสียงเพลงสวดมนต์อย่างนี้ผิดหรือเปล่า ถ้าใจเราไม่ยินดี ไม่ไปเกลือกกลั้วกับความบันเทิงอันเกิดจากการได้ยิน ไม่ได้เคลิ้ม ไม่ได้ก่อให้เกิดกิเลส อยากจะไปฟังเพลงหวานๆไปฟังเพลงที่เจืออยู่ไปด้วยราคะ หรือไปฟังเพลงด้วยประเภทที่ยั่วยุทำให้เกิดความอาฆาตแค้นคนรักเก่าอะไรแบบนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเพลงประกอบบางเพลงเคยทำให้คนในสมัยพุทธกาลบรรลุธรรมมาแล้วนะ เข้าใจว่าเป็นภิกษุนะ ไม่แน่ใจว่าเป็นภิกษุหรือฆราวาส คนที่แม่นก็คงจำได้นะมันมีอยู่กรณีหนึ่งที่ท่านได้ยินเสียงเพลงจากหญิงที่เดินผ่านละแวกบ้านหรือว่าละแวกวัดอะไรมา แล้วท่านตรึกนึกไปในทางธรรม ตรึกนึกถึงเสียงเพลงที่นางร้องไปในทางธรรม เลยทำให้เกิดความสลดสังเวช ทำให้เกิดความรู้สึกถึงอนิจจัง ความไม่เที่ยงในสังขาร แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่มีตัวตน ท่านก็บรรลุธรรมบรรลุได้โสดาบันหรืออรหันต์จำไม่ได้ แต่สาระมันอยู่ตรงที่ว่า เสียงเพลงถ้าหากว่ามันปลุกให้เกิดรู้สึกถึงความไม่เที่ยง มันทำให้เกิดความฮึกเหิมที่จะหลุดพ้นออกจากกิเลส มันทำให้เราเกิดความอยากจะต่อสู้กับกิเลส นี่แหละอันนี้แหละ เรียกว่าเป็นไปทางเดียวกับธรรมะไม่สวนทางกันแล้วก็ไม่ผิดในเรื่องของศีล ๘

แต่ถ้าหากเจตนาตั้งต้นของเรานึกอยากฟังเพลงขึ้นมาเองแล้วไปเปิดฟัง อย่างนี้แหละผิดศีลแล้วศีล ๘ นะ การที่เราเข้าปะปนอยู่กับที่มีเสียงเพลงรบกวน ยิ่งไม่เข้าข่ายเขาไปใหญ่เลยเพราะเราไม่ได้ตั้งต้นเจตนาที่จะอยากฟัง พอเราฟังเราก็ไม่ได้ส่งใจให้เกิดความยินดีขึ้นมา อย่างนี้ไม่แม้แต่จะด่างพร้อยอย่าว่าแต่จะทะลุ คำว่าด่างพร้อยหมายความว่าเราเริ่มมีความอยากขึ้นมาเองและเจตนาที่จะไปกดปุ่มฟัง นี่คือเริ่มแล้ว ด่างพร้อยแล้วคือมีความอยากจะไปกดจริงๆนะ คือกำลังตั้งใจเดี๋ยวจะไปกดละแต่ยังกดไม่สำเร็จ นี่เรียกว่าศีลยังไม่ทะลุ แต่ว่าด่างพร้อยแล้ว การที่เราไปอยู่ในที่ที่มีคนเขาเปิดเพลงไว้ก่อนแล้วใจเราไม่ยินดีมันไม่มีการเริ่มต้นใช้กำลังใจที่จะไปฟังเพลง ไม่เกิดอะไรขึ้นเลยกับเรา

ส่วนการถวายซีดีธรรมะที่มีเพลงประกอบแด่พระภิกษุสงฆ์ ก็ไม่เป็นไร ก็ไม่เป็นไรเลย แม้แต่อย่างเพลงกราบหลวงตาที่ถวายท่านไป พระท่านก็ฟัง แต่ท่านไม่ได้ฟังเพื่อที่จะเอามากล่อมเกลาให้เกิดความบันเทิงให้เกิดความเคลิ้ม แต่ให้เกิดความระลึกถึงคุณของหลวงตาอะไรแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องตีความกันอย่างชัดเจน เวลาตีความธรรมะ เราต้องดูก่อนต้นรากหรือว่าต้นตอที่มาของธรรมะข้อนั้นๆต้องการให้เราเล็งไปทางไหน ศีล ๘ ต้องการให้เราเล็งไปสู่ความเบากายเบาใจ แต่เรากำลังหนักใจอยู่เรื่องว่าตรงนี้มันไม่ใช่ ตรงนี้มันไม่ถูก ตรงนี้มันไม่ควร นี่เรียกว่าเป็นกิเลสข้อหนึ่ง แต่เมื่อเราจะทำให้กิเลสข้อนี้หายไปเราก็ต้องใช้หลักพิจารณาที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการนี่นะ ง่ายๆเลย ท่านดูว่าใจเรากำลังเล็งไปที่จุดหมายปลายทางแบบไหน เราต้องการที่จะตั้งเป้าประสงค์แบบใด เป้าประสงค์ของพุทธศาสนาโดยหลักก็คือทำให้กายเบาจิตเบา เพื่อที่จะมีความพร้อมในการเห็นตามจริงเพื่อพ้นกิเลสเพื่อดับกิเลส ไม่ใช่เพื่อที่จะแบกไว้ ไม่ใช่เพื่อที่จะกั้น กั้นอันโน้นก็ทำไม่ได้ อันนี้ก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้สักอย่างเดียวขัดกับโลกเขาไปหมด อยู่กับโลกเขาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในเมืองนี่ มันต้องปะปนอยู่กับภาพเสียงสัมผัสที่ค่อนข้างจะเร้ากิเลส เราจะไปขอให้ชาวบ้านเขาอย่าเปิดเพลง จงอย่าสร้างภาพหน้าบันเทิงขึ้นมายั่วใจเราเลย ยั่วตาเราเลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ที่เราจะมีใจพิจารณาสิ่งที่ได้ยินโดยความเป็นของไม่น่ายินดี โดยความเป็นของไม่น่ายึดมั่นถือมั่น



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น